4 กลวิธีสร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์

1,931 views
7 mins
April 26, 2023

          ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา การออกแบบการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามความเป็นไปของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี หรือพัฒนาการของเทคนิควิธีการถ่ายทอดความรู้ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งพยายามหลุดออกมาจากกรอบเดิมของการจัดแสดงนิทรรศการ ที่นำโบราณวัตถุมาตั้งเรียงรายแล้วป้อนข้อมูลด้วยตัวหนังสือ เพื่อก้าวไปสู่วิธีการสื่อสารแบบใหม่ ที่คำนึงถึงศาสตร์แห่งการเรียนรู้มากขึ้น การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ด้วยเทคนิคพิเศษต่างๆ เช่น ใช้สื่อผสมผสาน หุ่นตัวละคร แสง สี เสียง หรือแม้กระทั่งใช้ธีมพิเศษในการนำชม (Costume Interpretation) เป็นสิ่งที่ค่อยๆ เกิดขึ้นเพื่อทำให้การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ไม่น่าเบื่อในสายตาของผู้ชม

          หากพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โลกพบเจอกับสถานการณ์ต่างๆ และก่อกำเนิดนวัตกรรมมากมาย กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์จึงต้องปรับตัวตามอย่างเร็วรี่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับ ‘สาร’ ที่แฝงอยู่ในการนำเสนอของพิพิธภัณฑ์ให้สะท้อนความเชื่อและค่านิยมตามยุคสมัยมากขึ้น สร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ไปจนถึงออกแบบวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ

          แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ มีผลต่อการออกแบบนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์อย่างไร นั่นคือคำถามที่เหล่าพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกตั้งโจทย์ให้ตัวเองขบคิด จนเกิดเป็นการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย และคือที่มาของสิ่งที่เราอยากเล่าในบทความนี้ด้วย

          พิพิธภัณฑ์เปลี่ยนผ่านตัวตนก้าวข้ามสู่ยุคสมัยใหม่อย่างไร มีมากกว่าการยกคอลเลกชันมาไว้ในโลกออนไลน์หรือไม่ มาร่วมเดินทัวร์พิพิธภัณฑ์ไปพร้อมกัน ผ่านตัวอย่างเหล่านี้

1. ดึง ‘คอลเลกชันส่วนตัว’ ออกมาจากคลัง ตั้งใจตีความนำเสนอใหม่

          เป็นเรื่องปกติสำหรับพิพิธภัณฑ์ ที่งานศิลปะหรือสื่อการเรียนรู้จะผสมผสานกันทั้งในรูปแบบของนิทรรศการถาวรและนิทรรศการชั่วคราว เพื่อสร้างความหลากหลายของคอนเทนต์ และดึงดูดให้ผู้ชมกลับมาเยี่ยมเยียนพิพิธภัณฑ์ได้เรื่อยๆ

          แต่เมื่อโลกเปลี่ยนผ่าน มีปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมหลายประการที่ทำให้พิพิธภัณฑ์หันมาใช้ประโยชน์จากคอลเลกชันของตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านการเดินทางในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้โปรแกรมการจัดนิทรรศการต่างๆ ต้องเลื่อนออกไป แม้ว่าข้อจำกัดด้านการเดินทางจะหมดไปแล้ว แต่ข้อจำกัดด้านงบประมาณก็ยังส่งผลต่อพิพิธภัณฑ์หลายแห่งมาจนถึงตอนนี้

          เมื่อผนวกกับความต้องการของผู้ชมในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการเรียนรู้อัตลักษณ์ของสถานที่ที่เดินทางไปเยือนอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น แนวโน้มในช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ คือการนำวัตถุที่เคยถูกเก็บเงียบอยู่ในคลังออกมาจัดแสดงพร้อมตีความนำเสนอใหม่ สร้างความหลากหลายทางการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์หลายแห่ง มีโบราณวัตถุในคลังที่ยังเป็นขุมทรัพย์ซ่อนเร้นอยู่ไม่น้อย หากมองอย่างผิวเผิน การจัดแสดงคอลเลกชันจากวัตถุในคลังอาจลดความหลากหลายจากการหมุนเวียนนิทรรศการอย่างที่เคยเป็น แต่ช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ทีมงานของพิพิธภัณฑ์สามารถ ‘ออกแบบ’ และตีความนิทรรศการถาวรให้เกิดประสบการณ์ หรือองค์ความรู้ใหม่ผ่านกาลเวลาได้อย่างน่าสนใจ

          เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะคลีฟแลนด์ ที่เกิดไอเดียอยากนำวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ แต่ไม่เข้ากับหมวดหมู่ใดๆ ทำให้ไม่เคยถูกนำออกมาจัดแสดง มาสร้างเป็นนิทรรศการใหม่ในชื่อ ‘Stories from Storage’ ซึ่งมีทั้งภาพศิลปะในยุคกลาง ภาพวาดทังกาจากทิเบต ไปจนถึงตุ๊กตาสัตว์จากสงครามระหว่างกรุงเวียนนา

          วัตถุทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย โดยมีภัณฑารักษ์ 20 คนมาช่วยกันสร้างธีมในการนำเสนอ ร้อยเรียงเรื่องราวที่เกิดจากการตีความเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล บ้างก็เป็นธีมกว้างๆ บ้างเป็นความสนใจเฉพาะตัวของผู้ออกแบบนิทรรศการ เช่น Things That Don’t Fit (Here) เป็นการนำเสนอศิลปวัตถุที่มาจากนอกยุโรป Replication and Reinterpretation, Old and New บอกเล่าเรื่องราวผ่านโบราณวัตถุยุคกรีกและโรมันโบราณ และ Paper Airplanes เป็นนิทรรศการภาพเก่าของสถานที่สำคัญในโลก นิทรรศการจะพาผู้ชมเดินทางผ่านพื้นที่และเวลาไปเยือนสถานที่ต่างๆ ในภาพคล้ายกับการโบยบินไปกับเครื่องบิน เช่น ภาพหินสลักของกษัตริย์ราเมซิส ที่กรุงธีบส์ ประเทศอียิปต์

เมื่อโลกที่เปลี่ยนผ่านส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ วิธีชมงานศิลปะสุดล้ำจึงเกิดขึ้น
Green Tara, c. 1260s. Central Tibet. Thangka; gum tempera, ink, and gold on sized cotton; 52.4 x 43.2 cm. The Cleveland Museum of Art, Purchase from the J. H. Wade Fund by exchange, from the Doris Wiener Gallery, 1970.156
ภาพวาดทังกาจากทิเบต ถูกจัดแสดงในธีม Green Tara and the Art of Protection
Photo : The Cleveland Museum of Art
เมื่อโลกที่เปลี่ยนผ่านส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ วิธีชมงานศิลปะสุดล้ำจึงเกิดขึ้น
Red-Figure Kylix (Drinking Cup): Dionysos and Satyr (interior); Satyrs and Maenads (sides A, B), c. 480 BC. Attributed to Douris (Greek, Attic, active c. 500–475 BC) or Painter of London E 55. Ceramic; diam. 29.6 cm. The Cleveland Museum of Art, Hinman B. Hurlbut Collection, 1915.718
ถ้วยที่ถูกจัดแสดงในธีม Replication and Reinterpretation, Old and New
Photo : The Cleveland Museum of Art

          นิทรรศการนี้ยังเป็นการสร้างความตระหนักให้กับผู้ชมถึงการอนุรักษ์วัตถุต่างๆ ว่าของเพียงหนึ่งชิ้นก็เต็มไปด้วยเรื่องราวให้ผู้คนเรียนรู้ได้ ยิ่งพอนำของที่ดูจะเข้ากันไม่ได้มารวมกันจนมากพอที่จะจัดเป็นนิทรรศการ เนื้อหาจึงพลอยสนุกสนานไปด้วยเพราะความหลากหลาย เกิดเป็นส่วนแสดงที่ประสบความสำเร็จ

          ดังนั้น การนำมรดกวัฒนธรรมในคลังมาจัดนิทรรศการ โดยสื่อความหมายให้เด่นชัดและน่าสนใจพอ ก็อาจเป็นปัจจัยดึงดูดคนให้มาพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ดังนั้นนิทรรศการถาวรจึงตอบโจทย์และทำให้ผู้ชมมี ‘ภาพจำ’ ที่ชัดเจนต่อพิพิธภัณฑ์มากขึ้นด้วย

นิทรรศการ Stories from Storage ที่ถูกจัดขึ้นและสร้างเป็นธีมย่อยต่างๆ โดยมีภัณฑารักษ์เป็นผู้นำเสนอ

2. คิดให้ไกลกว่าการจัดนิทรรศการ

          ในยุคสมัยนี้ผู้คนเสพข่าวสารและความรู้จากหลายช่องทาง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พิพิธภัณฑ์ต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ชมให้มากกว่าเดิม พิพิธภัณฑ์จึงไม่ได้จำกัดการถ่ายทอดความรู้ให้อยู่แค่ใน ‘พื้นที่’ ของตนเองเท่านั้น แต่ยังต่อยอดคำว่า ‘นิทรรศการ’ ให้อยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งออนไซต์และออนไลน์ประยุกต์เทคนิคการนำเสนอและกระบวนการจัดนิทรรศการให้มีความหลากหลาย

          เพราะในบางครั้ง กระบวนการจัดนิทรรศการเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเรื่องเล่าในนิทรรศการได้อีกด้วย

          ยกตัวอย่างเช่น Serpentine Galleries ที่ใจกลางกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โปรเจกต์  ‘General Ecology’ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมผ่านสื่อหลายแขนง โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นเพื่อต่อยอดปณิธานของแกลเลอรีที่มุ่งให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโลก จากความร่วมมือระหว่างศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักเขียน นักออกแบบ ที่มาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงาน และออกแบบวิธีนำเสนอผ่านการจัดแสดงที่ไม่ใช่นิทรรศการแบบดั้งเดิม

          กิจกรรมถ่ายทอดความรู้มีตั้งแต่การจัดงานเสวนาในโลกออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ พอดแคสต์ ไปจนถึงการฉายภาพยนตร์ เรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์ที่เกิดจากการหลอมรวมระหว่างศิลปะ และวิทยาศาสตร์ รวมถึงนำเสนอแบบข้ามศาสตร์ไม่จำกัดรูปแบบ

          หรือ Metropolitan Museum of Art ที่พาการเรียนรู้ศิลปะไปสู่อีกขั้น มากกว่าการเดินชมงานเฉยๆ นั่นคือพวกเขาใช้ ‘เกม’ แบบอินเทอร์แอคทีฟบนเว็บไซต์ ในชื่อ Murder at the Met: An American Art Mystery ที่จะจำลองให้ผู้เข้าชมสวมบทเป็นนักสืบในการไขปริศนาที่เกิดขึ้นในแกลอรี่ พร้อมแฝงความรู้เกี่ยวกับภาพวาด ประติมากรรม และมัณฑนศิลป์ในส่วนของ New American Wing Galleries ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Metropolitan Museum of Art เข้าไปด้วย

4 กลวิธีสร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์
เกมแบบอินเทอร์แอคทีฟ มีชื่อว่า Murder at the Met: An American Art Mystery

          นอกจากนิทรรศการหน้าบ้าน กระบวนการจัดนิทรรศการเองก็เป็นสื่อในการประสานความร่วมมือ หรือก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้เช่นกัน เทคโนโลยี AI สามารถถูกนำมาผนวกเข้ากับระบบหลังบ้านของพิพิธภัณฑ์ได้ เช่น The National Museum ประเทศนอร์เวย์ ใช้ Curatron หรือซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ภัณฑารักษ์สามารถจัดระบบข้อมูล ออกแบบ หรือแม้กระทั่งสร้างนิทรรศการออนไลน์และออฟไลน์ได้ สิ่งที่ได้จากการใช้ Curatron คือ ผู้ชมและศิลปินสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการนิทรรศการได้ด้วยการแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามผ่านแพลตฟอร์ม ระบบ AI จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลงานศิลปะกว่าพันชิ้นในคอลเลกชัน จัดหมวดหมู่ และคัดเลือกธีมนิทรรศการยอดนิยม ช่วยให้นิทรรศการที่เกิดขึ้นมาจากความคิดเห็นของผู้ชม เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการออกแบบนิทรรศการแบบประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

          พิพิธภัณฑ์หลายแห่งเปิดรับกระบวนการเหล่านี้พร้อมไปกับยุคสมัย นอกจากนำไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน และประหยัดต้นทุน ความหลากหลายในการนำเสนอความรู้

3. ยกระดับคุณภาพและประสบการณ์ในการชม

          ด้วยความที่ยุคนี้ทุกคนสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนรู้ผ่านการชมด้วยตาตัวเองหรือผ่านหน้าจอ สิ่งที่พิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันควรทำอย่างยิ่ง คือการสร้างประสบการณ์ในการชมคอลเลกชันให้มีคุณภาพ เพื่อให้ประสิทธิภาพของการเรียนรู้เกิดขึ้นสูงสุด ทุกวันนี้จึงมีการปรับเทคนิคในการนำเสนอให้สอดคล้องกับ ‘Mode of Learning’ นั่นคือ ครอบคลุมทุกรูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยภาพ เสียง ข้อความ หรือการลงมือทำ แทนที่จะเล่าเรื่องด้วยวัตถุและข้อความหลายบรรทัด

          พิพิธภัณฑ์หลายแห่งจึงใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ และคัดสรรเนื้อหาที่จะบอกเล่าให้อยู่ใน ‘ธีม’ ที่น่าสนใจ ไม่ยัดเยียดข้อมูลให้กับผู้รับสารมากเกินไป ในทศวรรษที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์อาจใช้หุ่นจำลอง แสง สี เสียง รถราง หรือแม้กระทั่ง ‘คน’ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการนำชม แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีอาจช่วยนำพาผู้ชมให้เรียนรู้ประเด็นที่ยากต่อการเข้าใจได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

          ยกตัวอย่างเช่น Smithsonian National Museum of Natural History พิพิธภัณฑ์ในวอชิงตัน ดี.ซี. ได้จัดนิทรรศการที่ชื่อ “Eternal Life in Ancient Egypt” โดยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับผู้ชมอย่างสมจริงที่สุดด้วยเทคโนโลยี AR ให้ผู้เข้าชมได้ลองไปสำรวจหลุมฝังศพและสิ่งประดิษฐ์ของอียิปต์โบราณราวกับเดินทางไปดูที่สถานที่จริง

          และที่ American Museum of Natural History มีการใช้เทคนิคที่หลากหลายในการสร้างประสบการณ์ ทั้งไกด์นำชมแบบ VR ในคราบสาวแอฟริกัน ที่ออกมาให้ความรู้พร้อมชวนพูดคุย ภาพโปรเจกชันของไดโนเสาร์ยุคครีเทเชียสทั้งฝูง ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าสัตว์โลกล้านปีที่น่าเกรงขามอยู่ใกล้เพียงเอื้อมมือ หรือกิจกรรม T. rex Skeleton Crew ที่ผู้ชมสวมแว่น VR แล้วสามารถเข้าไปประกอบร่างกระดูกไดโนเสาร์ได้ประดุจเป็นนักบรรพชีวินวิทยา

นิทรรศการ T.rex: The Ultimate Predator จัดขึ้นที่ American Museum of Natural History

T. rex Skeleton Crew หรือ T. rex VR Experience กิจกรรมที่สร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้ชมพิพิธภัณฑ์

4. ประสานความร่วมมือรอบด้าน

          ในปัจจุบันแนวโน้มในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการใดๆ ก็ตาม คือการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ แทนที่จะทำงานตามพันธกิจอย่างโดดเดี่ยว พิพิธภัณฑ์ได้สนองตอบการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการมีบทบาทใหม่ในชุมชนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่พิพิธภัณฑ์ถูกมองว่าเป็นสถานที่สำหรับแสดงงานศิลปะ ก็เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการ

          ประการแรก คือ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งค้นพบว่าสามารถจัดงานที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้มากกว่าที่คิด เช่น ในกรณีของ Museum of Fine Arts ที่เมือง Boston และ Brooklyn Museum ที่มีโครงการเพื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน และพาบุคลากรของพิพิธภัณฑ์เข้าไปสร้างองค์ความรู้ศิลปะในชุมชน

          Brooklyn Museum นอกจากจะมีสิทธิพิเศษให้กลุ่มโรงเรียนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฟรีแล้ว และยังมีการจัดเตรียม Toolkit หรือชุดการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ด้วย โครงการสาธารณะที่พวกเขาใช้ศิลปะในการสื่อสารเรื่องความยุติธรรมในสังคมให้กับชุมชนด้วย สำหรับ Museum of Fine Arts ทำงานกับองค์กรระดับชุมชนกว่า 12 องค์กร และดำเนินโครงการส่งเสริมให้เยาวชนเข้าถึงและเข้าใจงานศิลปะมากขึ้น

เมื่อโลกที่เปลี่ยนผ่านส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ วิธีชมงานศิลปะสุดล้ำจึงเกิดขึ้น
Toolkit ชุดการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ
Photo : Brooklyn Museum
เมื่อโลกที่เปลี่ยนผ่านส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ วิธีชมงานศิลปะสุดล้ำจึงเกิดขึ้น
การ์ดความรู้ภายในกล่อง Toolkit
Photo : Brooklyn Museum
ส่วนหนึ่งของ Toolkit หรือ ชุดเครื่องมือการสอน คือการพานักเรียนไปมีส่วนร่วมในงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมจีน

          นอกจากทำงานร่วมกับชุมชนแล้ว การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีหน้าที่คล้ายคลึงกันก็เป็นแนวทางในการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะองค์กร GLAM (Gallery, Library, Archives และ Museums) ที่ร่วมมือกันสร้างโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ สำรวจหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อแบ่งปันทรัพยากร ปรับปรุงประสบการณ์ของผู้เข้าชมและพัฒนานวัตกรรมสำหรับการจัดการ การอนุรักษ์ และการเข้าถึงทางวัฒนธรรมในรูปแบบของ GLAM Labs

          ตัวอย่าง GLAM Labs ที่น่าสนใจ เช่น Europeana Labs แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปิดบริการให้ผู้ชมได้เข้าถึงมรดกทางวัฒนธรรมหลายล้านรายการจากพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ห้องสมุด และหอจดหมายเหตุทั่วยุโรป โดย Europeana Labs เกิดขึ้นผ่านชุมชนของนักพัฒนา นักออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่ทำงานร่วมกันในโครงการและความคิดริเริ่มเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรดิจิทัลในภาควัฒนธรรมนั่นเอง

          หลักฐานดังที่กล่าวมาบ่งชี้ว่า ต่อจากนี้พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นแค่สถานที่แสดงงานศิลปะ แต่สามารถเป็นได้แม้กระทั่งพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน  โรงเรียนจำลองให้ทุกคนได้มาเติบโตผ่านประสบการณ์ ไปจนถึงพื้นที่ทำงานของสหวิชาได้ กล่าวคือถอดความเป็นพิพิธภัณฑ์ออก แล้วมองตัวเองเป็นน้ำที่พร้อมลื่นไหล โดยใช้สื่อที่ตัวเองถนัด

          ทั้ง 4 ข้อนี้ล้วนสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกระบวนการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ที่เป็นหลักฐานอย่างดีว่าพิพิธภัณฑ์เองก็ต้องเปลี่ยนผ่านตามกระแสโลก อีกทั้งถ้ามองตามหลักในการออกแบบการเรียนรู้ ความต้องการและพฤติกรรมของมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ออกแบบต้องคำนึงถึง เมื่อรวมกับตัวช่วยทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่อย่าง AI และระบบออนไลน์ พิพิธภัณฑ์จึงมีรูปแบบนิทรรศการที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ และคงจะพัฒนาไปไม่หยุดยั้งสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สิ้นสุด


ที่มา

บทความ “10 Ways for Museums to Survive and Thrive in a Post-Covid World” จาก nytimes.com (Online)

บทความ “After a Covid Contraction, Museums Are Expanding Again” จาก nytimes.com (Online)

บทความ “Change is Required: Preparing for the Post-Pandemic Museum” จาก aaslh.org (Online)

บทความ “How the Pandemic Changed Museums Forever (or Did It?)” จาก news.usc.edu (Online)

บทความ “How Will Covid-19 Change the Way Museums Are Built?” จาก smithsonianmag.com (Online)

บทความ “Exploring the impact of museum learning and engagement” จาก le.ac.uk (Online)

บทความ “Metropolitan Museum Creates Mobile Detective Game” จาก metmuseum.org (Online)

Cover Photo : Dinos Alive Exhibition

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก