เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์: ‘การใช้เหตุผล’ ทักษะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

2,522 views
8 mins
August 16, 2023

          มนุษย์มีศักยภาพที่จะใช้เหตุผลในการขบคิด ใคร่ครวญ ตั้งคำถาม ประเมินคุณค่าต่างๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยากรู้อยากเห็น และต้องการรู้ความจริง เป็นของขวัญหรือคำสาปก็ยากจะตอบได้ กว่า 2,600 ปีที่ปรัชญาถือกำเนิดจากธาเลสแห่งไมเลทุส (Thales of Miletus) ผู้ตั้งคำถามต่อความเป็นจริงในธรรมชาติ ถึงโสเครตีสผู้ตั้งคำถามต่อชีวิต

          มองในแง่ประสิทธิภาพ ปรัชญาเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่ไม่สร้างผลิตภาพ (Productivity) แต่มีอายุยืนยาว กิ่งก้านของมันแตกแขนงไปสู่ศาสตร์อื่นๆ ในแง่การตั้งคำถามระดับฐานรากต่อวิชานั้นๆ ในระดับชีวิตประจำวัน เราทุกคนน่าจะเคยถามคำถามใหญ่ๆ (Big Questions) ที่ตอบยากๆ กับตัวเอง อย่าง ‘ฉันเกิดมาทำไม’ หรือ ‘ตายแล้วไปไหน’ ถ้าตอบได้ มันก็มักมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตที่เหลือ

          เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์ จากสาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปลหนังสือ ‘ไม่ใช่เพื่อผลกำไร: ทำไมประชาธิปไตยต้องการมนุษยศาสตร์?’ ของมาร์ทา นุสบาม และ ‘จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติ’ ของปีเตอร์ ซิงเกอร์ เชื่ออย่างหนักแน่นว่ามนุษย์มีความสามารถในการใช้เหตุผล เครื่องมือสำคัญของการใคร่ครวญทางปรัชญา

          เหมือนมาดยังเชื่ออีกว่าการใช้เหตุผลเป็นทักษะสำคัญสำหรับการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย ทั้งในแง่การตรวจสอบตนเองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ มันเป็นทั้งเครื่องมือและอาวุธในเวลาเดียวกันที่ควรหยิบยื่นให้ประชาชน

          ปัจจุบัน วิชาปรัชญามีสอนเฉพาะในระดับอุดมศึกษา คงดีทีเดียวถ้าจะมีการสอนปรัชญาในโรงเรียน เหมือนมาดย้ำเรื่องนี้เสมอเช่นเดียวกับอีกหลายต่อหลายคนที่อยู่ในกระแสธารของการผลักดันประเด็นนี้ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น ถามว่ายากไหม? น่าจะไม่ เพราะมีตัวแบบให้เรียนรู้ในหลายประเทศ แต่ถ้ามองจากตำแหน่งแห่งที่ของรัฐมันก็อาจน่ากลัวเกินไป

          เราจะพาไปรู้จักปรัชญา วิธีการของปรัชญา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแบบไม่ต้องปีนบันได อาจบางที…คุณจะพบว่าปรัชญาไม่ยากอย่างที่คิด

ปรัชญาและวิธีการ

          เรากำลังพูดถึงนักปรัชญาที่วิเคราะห์ ต้องการทำให้ทุกอย่างให้ชัดเจน ขุดคุ้ยทุกอย่างให้ถึงข้อสมมติฐานพื้นฐาน (Basic Assumption) เพื่อจะตีแผ่ ปรัชญามันมีวิธีวิทยาเฉพาะของมัน คือมีการวิเคราะห์แนวคิดและสร้างข้อโต้แย้ง (Arguments) แปลว่าชี้ให้เห็นข้ออ้างอะไร นำไปสู่ข้อสรุปอะไร ไม่มีอะไรซับซ้อน แล้วก็เห็น basic assumption คุณพูดแบบนี้แสดงว่าคุณตั้งสมมติฐานอะไรไว้ มโนทัศน์นี้แปลว่าอะไร เหมือนกับที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบันนี้ว่าปรัชญาว่าอะไร

          ทั้งหลายทั้งปวงทำให้มนุษย์คุยกันรู้เรื่อง เพราะว่าวัตถุของวิชาปรัชญาเหมือนกับวิทยาศาสตร์ศึกษาโลก จิตวิทยาศึกษาจิต วัตถุศึกษาของปรัชญาคือศึกษาการใช้เหตุผลของมนุษย์ วิธีคิดของมนุษย์น่าสนใจ เราอยากจะรู้ว่ามนุษย์คิดยังไง เพราะฉะนั้นเราก็มีวิธีวิทยาที่ทำยังไงให้ง่ายที่สุดให้มนุษย์เข้าใจความคิดของมนุษย์ เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเข้าใจความคิดของมนุษย์ ทำเรื่องยากให้ง่าย เราคิดว่าการที่มนุษย์เถียงกันและพูดกันไม่เข้าใจเพราะมีอะไรบางอย่างที่ไม่เคลียร์ คลุมเครือ เราไม่ชอบ เราคิดว่าถ้าทำอะไรให้เคลียร์ เราจะเข้าใจกัน เราสนใจตรรกะ ข้อสรุปแบบนี้มาจากข้ออ้างอะไร

          จริยศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา วิธีวิทยาไม่มีอะไรต่างกันเลย สร้าง Arguments หรือข้ออ้างนำไปสู่ข้อสรุป มีการหา basic assumption วิเคราะห์มโนทัศน์ เหมือนกันทุกประการ แต่ว่าพื้นที่ของการศึกษาจะเฉพาะลงไป คือศึกษาสิ่งที่มีการให้คุณค่า เช่น ความผิด ความถูก ความเหมาะสม ไม่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่าคุณพูดถึงทฤษฎีอะไร แต่ถ้าเป็นทฤษฎีที่เป็นกระแสหลักในจริยศาสตร์ เขาก็จะถามว่าการกระทำอะไรถูกหรือผิด

          ปรัชญาถาม big questions ใช่มั้ย เราไม่ได้ถามว่าวิธีป้องกันโควิดทำยังไงหรือทำยังไงจะเพิ่มจีดีพี แต่เราถามว่าความยุติธรรมของเศรษฐกิจคืออะไร มันถอยหลังกลับไปถามคำถามรากฐาน (Fundamental Questions) มันไม่ใช่ปรัชญาอย่างเดียวที่ถามคำถามแบบนี้ คนอื่นก็ถาม เช่น คนเขียนนิยาย เขียนวรรณคดีก็ถามว่าชีวิตเกิดมาทำไม กวีนิพนธ์ ไลฟ์โค้ชก็พูด แต่เวลาที่นักปรัชญาถาม ความต่างคือนักปรัชญามีวิธีวิทยาของตัวเองคือการใช้เหตุผลและการสร้างข้อโต้แย้ง

เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์: ‘การใช้เหตุผล’ ทักษะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

เหตุผลและความเป็นพลเมือง

          เวลาที่นักปรัชญา approach โจทย์ อย่างค่านิยม 12 ประการ นักปรัชญาก็จะถามว่า เดี๋ยวนะ เรารู้ว่าคุณคิดอย่างนี้แต่เอาข้อโต้แย้งมาให้ ดูซิ ว่ามันโน้มน้าวเราได้หรือเปล่า ทำไมคนที่ไม่คิดแบบนี้ถึงผิด แล้วถ้าไม่คิดแบบนี้ คิดอย่างอื่นได้มั้ย มันดียังไง แล้วมันมีเกณฑ์อันเดียวมั้ย ไม่ใช่ว่าคุณตื่นขึ้นมาแล้วกตัญญูมันดีเหลือเกินเพราะฉันชอบ มันน่าจะมีเกณฑ์ที่เป็นสากลบางอย่างใช่มั้ย เวลาที่เราพูดอะไรถูกผิดแล้วเราสร้างข้อโต้แย้ง เราก็ไม่ได้ทำตัวเป็นจิ๊กโก๋หน้าปากซอยใช่มั้ย คือฉันจะเอาอย่างนี้และฉันเป็นนายกฯ ฉันจะคิดว่ามี 12 ประการ ไม่ใช่ 24 หรือ 28 มีอะไรมั้ย แล้วแกต้องเชื่อ แบบนั้นคุณก็ใช้อำนาจบังคับไป จบ

          แต่ถ้าคุณพูดถึงการโน้มน้าวคนอื่น พูดถึงการใช้เหตุผล ถ้าคุณจะทำแบบนักปรัชญาก็ต้องคิดว่ามันมีของบางอย่างที่เป็นสากลที่ไม่ใช่เฉพาะคุณชอบ ไม่ใช่ตามอำเภอน้ำใจของคุณ เช่น ถ้าคุณบอกว่า 12 ประการนี้ดี เราก็อยากรู้ว่าฐานของคุณคืออะไร ไม้บรรทัดที่จะวัดว่าอะไรดีหรือไม่ดีคืออะไร และทำไมไม้บรรทัดอันนี้มัน valid สำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่คุณชอบ มันมีความเป็นสากลอะไรบางอย่างที่คุณจะใช้โน้มน้าวคนอื่นที่คิดไม่เหมือนคุณให้เห็นได้ว่าทำไมเขาคิดผิดและทำไมคนอื่นที่ยังไม่ได้ถูกโน้มน้าวมาทางนี้จึงควรเชื่อมาทางคุณ

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครที่ถือครองอำนาจรัฐ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาความเชื่อของตัวเองที่ไม่ได้พิสูจน์โดยใช้เหตุผลที่เป็นสากลแล้วไปกำหนดคนอื่นๆ ได้ ต้องเอาให้ชัดก่อนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร หรือเราจะเป็นรัฐเผด็จการ เป็นรัฐศาสนา เอาเลยค่ะ แต่ถ้าคุณคิดก่อนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แล้วคุณถืออำนาจอธิปไตย คุณไม่มีสิทธิ์เอา comprehensive doctrine หรือความเชื่อของคุณว่าโลกควรจะเป็นอย่างนี้ แล้วอยู่ดีๆ ก็ออกมา 12 ข้อกำหนดให้คนอื่นทำโดยไม่มีข้อโต้แย้งถกเถียงอะไรมาให้เลย ใครไม่เชื่อแบบนี้กลายเป็นคนเลว มันก็ไม่ได้ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ถ้ารัฐจะบังคับหรือแนะนำอะไรประชาชนจะต้องถูกโน้มน้าว

          จริยศาสตร์ถึงแตกต่างจากศีลธรรมจรรยาเพราะมันมีความเป็นสากล มันสามารถตรวจสอบได้ถ้าใครคิดผิด ตรวจสอบได้เพราะมันแสดงข้อถกเถียงให้ดู ถ้าข้ออ้างอันไหนผิด คุณชี้ได้ว่าอันนี้ผิด ปรัชญาถึงได้สำคัญมากสำหรับความเป็นพลเมือง

ปรัชญากับศาสนา

          ปรัชญากับศาสนาต่างกันยังไงในภาษาพูดทั่วไป ถึงแม้มันใคร่ครวญ big questions ในชีวิตเหมือนกัน แต่ปรัชญามีวิธีวิทยา กล่าวคือมีการใช้เหตุผล มีการสร้างข้อโต้แย้ง มีการวิเคราะห์มโนทัศน์ แต่ศาสนาเรียกร้องให้คุณเชื่อเลยว่าคัมภีร์นี้จริง

          ปรัชญาตั้งสมมติฐานอะไรมั้ย ตั้ง แต่เขาระวัง เขาตั้งสมมติฐานน้อย ทฤษฎีของปรัชญาต้องราคาถูก ซื้อง่าย คือเขาไม่ได้เรียกร้องให้คุณเชื่ออะไรเยอะ เช่น ต่อไปนี้นะเรามาเห็นตรงกันมั้ยว่าความสุขเป็นเรื่องดี ความทุกข์เป็นเรื่องไม่ดี เราขอแค่นี้แหละ นี่คือราคาของทฤษฎีเราถูกมากเลย ถ้าคุณซื้อเรานะ ต่อจากจุดนี้เราจะถกเถียงโต้แย้งหมดเลย แล้วคุณใช้เหตุผลที่เป็นสากลเข้าใจว่าเห็นจริงตามได้หมดโดยที่ไม่ต้องเชื่ออะไรอีกแล้ว

          แต่ถ้าบอกว่าเพราะคนไทยในอดีตเชื่ออย่างนี้มา คนไทยกี่คน คุณไปถามแล้วเหรอ คุณไปทำประชามติมาหรือเปล่า เอาหลักฐานมาหน่อย อันนี้ราคาแพง ปัญหาไม่ใช่ว่ามันไม่จริง มันอาจจะจริงก็ได้ คุณอาจต้องไป enlighten ไปนั่งสมาธิอะไรมาแล้วรู้ว่าความดีคืออะไร แต่ประเด็นคือเรายังไม่ได้ enlighten แล้วนั่งสมาธิเห็นความจริงเหมือนคุณ คุณก็ต้องหาเหตุผลสาธารณะ (Public Reason) มาทำให้เราเชื่อได้โดยไม่ต้องแสวงหาหรือเสี่ยงมากในการจะเชื่อ

          อันนี้เป็นความต่างเวลาที่ศาสนาสอนให้เราเชื่ออะไร เขาเรียกร้องเยอะมาก เหมือนทุกอย่างตามอำเภอใจเพราะไม่มีอะไรที่เป็นสากล ขณะที่นักปรัชญาเรียกร้องให้เชื่อน้อยมาก อย่างว่าความสุขเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสามัญสำนึกมาก ทุกคนก็เลยสามารถเชื่อได้และเมกเซนส์สำหรับคนอื่น ปรัชญาจึงทำให้มนุษย์คุยกันรู้เรื่อง

เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์: ‘การใช้เหตุผล’ ทักษะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

เสรีภาพและการตรวจทานความคิด

          จอห์น สจ๊วต มิลล์ เป็นเสรีนิยมคนหนึ่ง เป็นนักอรรถประโยชน์นิยมด้วย เขาบอกว่าคนเราไม่มีใครฉลาดไปหมดหรอก ความคิดของคนเราต้องถูกสอบทานโดยคนอื่นจะได้ชัวร์ว่าเราไม่ได้คิดผิด และแม้ว่าเราฉลาดมากในเรื่องนั้น เราคิดไม่ผิดเลย เราก็รู้ไม่ได้ว่าเราถูกจริงหรือเปล่าจนกว่าจะมีคนอื่นมาเถียงเราและเราสามารถอธิบายได้

          นักปรัชญาสอนลูกศิษย์เสมอว่าเวลาที่เราจะเถียงอะไรหูเราต้องแว่วว่าถ้าคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราเขาจะเถียงว่าอะไร และถ้าเขาเถียงแบบนี้เราจะถกเถียงว่าอะไร ถ้าทำแบบนี้มันก็คล้ายเป็นการตรวจสอบตัวเอง นักปรัชญาก็เชื่อในการตรวจสอบตัวเองมาตั้งแต่ยุคโสเครตีส “The unexamined life is not worth living” การตรวจสอบตัวเองก็คือแบบนี้

          แล้วคนก็นึกว่าปรัชญาเป็นเรื่องของคนที่สบายแล้ว ไม่ใช่ การใช้เหตุผลเป็นอะไรที่มนุษย์มีร่วมกันทุกคน เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์เป็น Rational being ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย ถ้าคุณใช้เหตุผลร่วมกัน มันจะมีความเท่าเทียมกัน คุณจะต้องทำให้คนที่ลำบากที่สุดในสังคมคิด แต่คนที่สบายเกิดมามีอภิสิทธิ์ในสังคม คุณก็ต้องหัดให้เขาตรวจสอบตนเองว่าสิ่งที่เขาทำมันยุติธรรมหรือเปล่า มันไม่ใช่เรื่องที่มีข้าวกินแล้วถึงจะคุย เพราะมันเป็นการถามว่าทำไมบางคนไม่มีข้าวกิน

          แล้วพันธะผูกพันยิ่งหนักหนามากขึ้นถ้าเราไม่ได้ใช้อำนาจที่เป็นของเราคนเดียว แต่เป็นอำนาจที่เป็นของประชาชนทุกคน รัฐบาลต้องอนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก กฎหมายใดๆ ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกมันย่อมเอื้อต่อการเป็นเผด็จการของรัฐบาล มันสำคัญมากที่พลเมืองต้องตรวจสอบรัฐบาลได้ และแม้ว่าเราเชื่อจริง ซึ่งดิฉันคิดว่าเราไม่สามารถรู้ได้เพราะว่าเราปิดปากทุกคนไปแล้ว แต่อนุโลมให้ว่าจริงว่าคนจำนวนมากเชื่อในอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าคิดแบบมิลล์ คนจำนวนมากก็ยังไม่รู้ว่าตนเองคิดถูกหรือเปล่า หรือแค่โดนป้ายยามา ถ้าไม่ยอมให้คนกลุ่มน้อยมาถามคำถามดีๆ แล้วตอบกันอย่างจริงจังโดยไม่ต้องด่าพ่อล่อแม่กันซึ่งเป็นแค่การเบี่ยงประเด็นเฉยๆ สำหรับคนที่เถียงไม่เป็น

          ในปรัชญาเราจะทำให้ข้อถกเถียงของอีกฝ่ายแข็งแรงที่สุดเพื่อที่จะพิสูจน์ว่า แม้ว่าในเวอร์ชันที่แข็งแรงที่สุดของข้อถกเถียง เราก็ยังตอบได้ เขาทำกันแบบนี้เป็นมาตรฐาน แต่ในสังคมไทยมันเหมือนอะไรที่เป็นความคิดของคนที่มีอำนาจรัฐ คนอื่นไม่มีสิทธิ์เถียง หรืออะไรที่เราเชื่อเอาเองว่าเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่โดยไม่มีหลักฐาน เราคิดว่าคนส่วนน้อยไม่มีสิทธิ์ถาม ซึ่งมันประสบปัญหาสามอย่างด้วยกัน

          หนึ่ง-เรารู้ได้ยังไงว่าเป็นคนส่วนใหญ่ สอง-ถ้าคนส่วนน้อยไม่มีสิทธิ์ถามคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่อาจกำลังเบลออยู่ก็ได้และไม่ได้เห็นโลก ไม่ได้ตรวจสอบตัวเอง และสาม-มันเป็น fallacy ว่าสิ่งที่เป็นไม่ใช่สิ่งที่ควรเป็น คนเราอาจเชื่ออะไรผิดๆ ได้ตั้งเยอะ

          สังคมไทยมันไม่เอื้อเพราะมีกฎหมายที่ปิดปากคน และมีรัฐบาลที่มั่นใจแล้ว เขาพูดแบบศีลธรรมจรรยาและมั่นใจว่ามันเถียงไม่ได้ซึ่งประหลาดมาก อยู่ดีๆ ก็มั่นใจ เหมือนเรามั่นใจในศาสนาใดศาสนาหนึ่งว่าศาสนานี้ถูกต้อง ศาสนาอื่นผิด โดยไม่มีหลักฐานอะไรพึงเชื่อได้ว่าศาสนาเราถูก ศาสนาอื่นผิด แต่คนบางคนที่ยึดถือศีลธรรมจรรยามากๆ พวกอนุรักษนิยม ปัญหาไม่ใช่ว่าเขาผิด ปัญหาคือเขาไม่มีเหตุต้องเชื่อว่าเขาถูก เขาไม่รู้ว่าเขารู้ไม่ได้ แต่เขาและรัฐบาลคิดว่าตัวเองต้องรู้

มนุษย์และความอยากรู้ความจริง

          ธรรมชาติของมนุษย์ระแวงตัวเองอยู่แล้ว เราวิวัฒนาการมาอยากรู้ความจริงเกี่ยวกับโลก เพราะฉะนั้นก็มีความเอ๊ะอยู่ในใจ สมมติว่าสิ่งที่เราเชื่อมันผิด เป็นไปได้มั้ย ดิฉันชอบปรัชญากรีกดิฉันก็จะย้อนไปถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากจะแสวงหาความรู้ เป็นเพราะว่าเขากำลังรู้สึกว่าอยู่ในสงครามอะไรบางอย่างหรือเปล่า กำลังเป็นตัวแทนความถูกต้อง เป็นธรรมาธรรมะสงคราม มันเลยไม่มีเวลาให้ฉันมาตรวจสอบตัวเองเพราะคิดไว้ก่อนว่าคนพวกนั้นเป็นคนเลว

          แต่ถ้าเราเชื่อมั่นกันและกันว่าคนที่เราคุยด้วยฉลาดพอ เข้าใจ และคุยอย่างจริงใจที่จะหาความจริงร่วมกัน บทสนทนาก็จะไปได้ แต่ถ้าเราคิดไว้ก่อนว่าคนที่คิดไม่เหมือนเราเป็นคนเลวและเขาต้องรับเงินต่างชาติมา และต่อให้เขารับเงินต่างชาติมาก็ไม่ได้แปลว่าข้อโต้แย้งเขาต้องไม่ดี มันเถลไถลออกนอกเรื่องไปหมด ไม่ได้พิจารณาข้อโต้แย้ง ดิฉันคิดว่าเขาสูญเสียด้านที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ไป มนุษย์ไม่ได้โง่ ไม่มีใครโง่กว่าใคร ทุกคนอยากรู้ความจริง ทุกคนมีความสามารถในการใช้เหตุผลได้ แต่คนที่มีวาระอื่นทำให้รู้สึกว่าจะต้องปราบให้ราบคาบ

          อันนี้คือการฝังหัวมาแล้วเราก็คล้ายๆ เราไม่มีจินตนาการเพียงพอ มันไม่ใช่แค่เรื่องการใช้เหตุผลอย่างเดียวนะ มันเป็นเรื่องจินตนาการว่าทั้งโลกนี้เขาเชื่ออะไรกัน โลกนี้ไปถึงไหนแล้ว ไม่ได้แปลว่าฝรั่งคิดแล้วต้องดี แต่มันมีประโยชน์ อริสโตเติลบอกว่าเราต้องใช้ประสบการณ์ของตัวเองไปเทียบกับชาวบ้าน เพราะความจริงทางจริยศาสตร์ ไม่ได้รู้แบบว่าคิดถูกก็รู้เลย แบบความจริงทางคณิตศาสตร์ มันต้อง Reasonable ในแง่ที่ไปเทียบกับชาวบ้าน คนจำนวนมากไม่มีใครที่ผิดหมดหรอก มันก็ต้องมีที่ถูกบ้าง ชาวบ้านชาวเมือง ประเทศอื่นเขาคิดเรื่องนี้ยังไง และถ้าเราคิดว่าเราถูกแล้วประเทศอื่นผิด ลองดูซิ ว่าคนที่ไม่คิดอย่างนี้ทำไมเขาถึงคิดแบบที่เขาคิดและทำไมเราถึงคิดอย่างที่เราคิด เรามีความชอบธรรมอะไร

          เป้าหมายไม่ใช่ว่าใฝ่หาความจริงสูงสุด เป็นนิพพานหรือโลกุตรธรรม เราเป็นมนุษย์ สิ่งที่ทำได้มากที่สุดคือการหาสิ่งที่ถูกต้องที่สุด มีเหตุผลมากที่สุด ณ จุดที่เราอยู่ เราสามารถเทียบเคียงในสถานการณ์ที่เรารู้ หลักฐานที่เรารู้กับความรู้ทั้งหมดในโลกนี้ แล้วเราเอาข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาดูว่าคนที่มีเหตุมีผลจะมีความคิดอย่างไรและให้เหตุผลปกป้องตัวเองยังไง เราต้องทบทวนความเชื่อของตัวเองอยู่เสมอ เพราะเราต้อง humble (อ่อนน้อมถ่อมตน) มนุษย์ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นพระเจ้า เราคิดผิดก็ได้ ถูกก็ได้ เราจึงต้องเทียบกับคนอื่นว่าทำไมไม่คิดเหมือนเรา

          คนที่ไม่มองชาวบ้านชาวเมืองและไม่ศึกษาจากคนอื่นเลย แล้วคิดว่าสิ่งที่เขาคิดว่าถูกมันถูกโดยที่เอาจริงๆ ก็เถียงไม่ได้ เขาก็เลยต้องไปโจมตีตัวบุคคล เป็นคนไม่รักชาติต่างๆ นานา เป็นการเบี่ยงประเด็นให้เราไม่ต้องตอบข้อโต้แย้งของเขา ดิฉันรู้สึกว่าการเรียนปรัชญาเป็นการให้จินตนาการกับคน ยิ่งคนเรียนปรัชญามาก คุณยิ่งมั่นใจในตัวเองน้อย ซึ่งดี เพราะเมื่อคุณมั่นใจในตัวเองน้อย คุณจะตรวจสอบตัวเอง การตรวจสอบตัวเองเป็นการคิดอย่างระแวดระวัง เป็นลักษณะของมนุษย์ มนุษย์จะเชื่ออะไรก็ตรวจสอบความคิดของตัวเองอยู่เสมอ จึงควรจะเรียนปรัชญาในโรงเรียน

เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์: ‘การใช้เหตุผล’ ทักษะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

สถาบันการศึกษาและทักษะการวิพากษ์

          ปรัชญาควรต้องสอนในโรงเรียน ดิฉันมีความรู้สึกว่านโยบายของรัฐบาลหรือสถาบันการศึกษาคิดว่าการศึกษามีไว้เพื่อป้อนตลาดแรงงาน ซึ่งดิฉันคิดว่ามันโคตรจะเศร้าที่คุณคิดอย่างนี้ คุณต้องคิดว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ เป็นสิทธิพลเมืองที่จะตื่นรู้ ได้ฝึกตัวเองในสายที่ชอบ เพราะฉะนั้นความเป็นพลเมืองในรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยก็คือการทำให้เขาพิจารณาตัดสินเรื่องราวที่เป็นประเด็นสาธารณะกับพลเมืองคนอื่นได้ อันนี้สำคัญมาก เพราะเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตามมันจะมาจากการตั้งต้นคิดที่ถูกต้อง

          การคิดแบบเทคนิคอลไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต สมมติเราทำให้มีคนรวย คิดเรื่องจีดีพี เราควรคิดเรื่องการกระจายรายได้มั้ย ควรคิดถึงความยุติธรรมต่อคนจนมั้ย ควรจะคิดถึงความยุติธรรมในเชิงสิ่งแวดล้อมมั้ย ถ้าเราสร้างเขื่อนเราควรคิดมั้ยว่าจะเกิดความทุกข์อะไรกับสัตว์ หรือพันธะที่เราจะมีต่อคนรุ่นต่อไป มันมี big questions ที่เรายังต้องทำ เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำให้พลเมืองดีเบตเรื่องเหล่านี้อย่างมีความหมาย ไม่ใช่แบบว่ามาด่าพ่อล่อแม่กัน

          เราควรสร้างทักษะการคิดวิพากษ์ให้กับพลเมืองเพราะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเป็นพลเมืองที่ต้องสามารถปกป้องตัวเอง ต้องเข้าใจข้อโต้แย้งของคนอื่น โจมตีข้อโต้แย้งของคนอื่นที่เราไม่เห็นด้วย ชี้ให้เห็นว่าผิดยังไง แล้วเขายอมรับ แล้วคนอื่นจะได้เห็นได้ว่าเราผิดตรงไหน กระบวนการของการครุ่นคิดพิจารณามันนำไปสู่ข้อตกลงที่ยุติธรรมและถูกต้องมากที่สุดเพราะเราไม่ได้คิดคนเดียว ในประสบการณ์ของเรา ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ไม่มีใครอัจฉริยะขนาดไม่คิดอะไรผิดเลย

          สิ่งเดียวที่จะการันตีว่าเราคิดผิดน้อยที่สุดก็คือให้คนอื่นมาช่วยคิด นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องสอนให้พลเมืองแต่เล็กแต่น้อยคิดวิพากษ์ เพราะถึงที่สุดแล้วประเทศเป็นของคุณ และคุณก็ไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศคนเดียว เราก็ต้องคุยกับคนที่คิดไม่เหมือนคุณใช่มั้ย ทักษะนี้ที่คุณสามารถครุ่นคิดพิจารณาร่วมกับคนอื่นได้และทัศนคติที่เคารพความคิดของคนอื่น คนอื่นมีความเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคุณ ทัศนคติแบบนี้ควรจะถูกส่งเสริมในโรงเรียน ไม่ใช่ว่ากลัวครู

          การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาไม่ควรจะคิดว่าทำยังไงเด็กที่โตไปจะเป็นลูกจ้างที่เชื่อฟัง มันเศร้าเกินไป คนมันมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณกำลังคุยกับมนุษย์ ไม่ได้คุยกับเครื่องจักร เขามีสิทธิ์และศักดิ์ศรีเท่ากับคนอื่น ถ้าใช่ คุณก็ต้องสอนให้เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตั้งแต่เด็ก ถ้าครูจะเรียกร้องให้นักศึกษาใส่ยูนิฟอร์ม คุณก็ต้องบอกว่าทำไมต้องใส่ แล้วให้นักศึกษาถาม ถ้าอยู่ในโรงเรียนแล้วไม่มีใครถามเลยว่าทำไมต้องใส่ ถือว่าการศึกษาล้มเหลว

          มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการที่นักศึกษาจบไปแล้วได้งานทำภายในกี่เดือน ผู้ใช้บัณฑิตพอใจหรือไม่ ดิฉันสงสัยว่าถ้าดิฉันสอนนักศึกษาไปดีมาก ไปตั้งสหภาพแรงงาน แล้วผู้ใช้บัณฑิตไม่พอใจ แปลว่าดิฉันสอนไม่ดีหรือไง คลาสปรัชญาถ้าอาจารย์พูดอะไรแล้วนักศึกษาไม่ถามว่าทำไม คือล้มเหลว ต่อให้ไม่ใช่คลาสปรัชญา การศึกษามันต้องทำให้คนคิด ถ้านักศึกษาไม่อยู่ในวัฒนธรรมที่เขาสามารถถาม ต่อไปเขาจะเป็นพลเมืองแบบไหนในรุ่นต่อไป

          คุณอย่านึกว่าประเทศบ้านเมืองนี้เป็นของคนคนเดียวแล้วจะทำยังไงให้ประชาชนไม่ถามคำถาม คิดแบบนั้นก็เศร้าเกินไป ถ้าคิดว่าทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ เป็นพลเมือง คุณก็ต้องทำให้เขาสามารถตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจได้ ครู โรงเรียน ผู้ปกครอง หรือใครก็ตามที่จะบอกให้ลูก นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทำอะไร เขาควรอธิบายมาให้สิ้นสงสัยว่าทำไม โดยใช้เหตุผลสาธารณะ (Public Reason) หรือเหตุผลที่ทุกคนจะซื้อได้

          ความยุติธรรมจะทำยังไงกับความยากจน จะทำยังไงกับคนที่ไม่มีอภิสิทธิ์ ทำยังไงกับสัตว์ ประเด็นสำคัญที่ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเรา แต่เราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นดิฉันสนับสนุนให้มีการสอนปรัชญาในโรงเรียน ให้ฝึกปฏิบัติด้วย คือครูก็ต้องใช้เหตุผลกับนักศึกษา กับนักเรียน พ่อแม่ก็ต้องให้เหตุผลกับลูก ต้องไม่ไปละเมิด รุ่นดิฉันยังถูกตีมือ คนที่ตีก็ไม่ได้มีข้อโต้แย้งอะไร แค่มีไม้เรียวอยู่ในมือ เราต้องเลิกแบบนี้ ต้องให้นักเรียนโต้แย้งมา ถ้าคุณไม่อยากทำสิ่งนี้ก็โต้แย้งมา ถ้าคิดว่าถูกต้องก็ต้องสามารถโต้แย้งให้เหตุผลได้ ก็จบ ถ้าเราปฏิบัติต่อเขาอย่างเคารพ ปฏิบัติต่อเขาเป็นมนุษย์ เขาจะได้โตมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

ปีเตอร์ ซิงเกอร์และจริยศาสตร์ภาคปฏิบัติ

          ปีเตอร์ ซิงเกอร์ เป็นสายอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarian) เป็นตัวอย่างของคนที่คิดได้ละเอียดมาก เคลียร์มาก  ชัดเจน ดิฉันเอาหนังสือของเขาไปสอนนักศึกษาปรัชญา ทำไมเขาอ้างแบบนี้ แล้วข้ออ้างแบบนี้นำไปสู่ข้อสรุปอะไร ถ้าคุณไม่เห็นด้วยจะพูดว่าอะไร แล้วสิ่งที่เขาตั้งสมมติฐานว่าจริงโดยไม่ได้ให้เหตุผลหรือ basic assumption คืออะไร ทุกอย่างมันเคลียร์ ยิ่งถ้าคุณจะเคลมว่าคนอื่นควรจะทำยังไง คุณก็มีพันธะที่ต้องพูดมาให้รู้เรื่องว่าทำไมจึงควรทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ เขาจะเถียงคุณยังไงบ้าง แล้วทำไมสิ่งที่เขาจะเถียงได้ทั้งหมดจึงไม่ดีพอและควรเชื่อเหมือนคุณ

          มันเป็นหนังสือที่สอนวิธีทำปรัชญาได้ชัดเจน และมีเรื่องสิทธิสัตว์ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็น final frontier ของการกดขี่ สาเหตุเดียวที่เรายังกดขี่สัตว์คือ เราเบลอ ถ้ามีคนให้คุณให้เหตุผลปกป้อง คุณปกป้องไม่ได้ ถ้าไม่เชื่อไปอ่านหนังสือปีเตอร์ ซิงเกอร์ว่าทำไม ถ้าคุณบอกว่าเราจะปฏิบัติต่อสัตว์ยังไงก็ได้เพราะสัตว์ไม่ได้เป็นสปีชีส์เดียวกับคุณ มันจะเหมือนกับที่ฝรั่งผิวขาวบอกว่าเราจะปฏิบัติต่อคนผิวดำยังไงก็ได้เพราะไม่ได้ผิวเสียเดียวกับเขา

          ในทาง argument มันมีกฎข้อหนึ่งที่บอกว่า ข้ออ้างเหมือนกันต้องสรุปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณบอกว่าคนที่ไม่เหมือนเราในทางใดทางหนึ่ง เช่น ไม่ใช่สปีชีส์เดียวกับเรา ไม่ใช่เพศเดียวกับเรา ไม่ใช่ sexual orientation เดียวกับเรา เราจะปฏิบัติเขายังไงก็ได้ คุณก็ต้องยอมรับว่าคนที่มีอำนาจเหนือคุณ สมมติฝรั่งมาเอาคุณไปเป็นทาสหรือว่าฮิตเลอร์ฆ่าคนยิว มันก็ถูกต้อง เพราะฮิตเลอร์ไม่ใช่คนยิว คนยิวไม่เหมือนเขา เหมือนกัน

          ต่อให้คุณกินสัตว์มันก็ยังมีอะไรที่คุณทำได้มากกว่านี้ มันไม่มีประโยชน์อะไรที่หมูจะต้องนอนในกรงแคบๆ เรื่องเหล่านี้ไม่ถูกมองเห็น เพราะว่าวิธีของคุณอยู่บนความลำเอียงว่าอะไรที่ไม่ใช่พรรคพวกคุณ คุณจะทำยังไงกับมันก็ได้ แต่พอเวลาคนอื่นมาปฏิบัติต่อคุณแบบนั้นคุณก็ไม่ชอบ คุณก็ต้องถามตัวเองว่าอยากจะเป็น moral being มั้ย อยากเป็นคนที่มีคุณธรรมมั้ยหรือจะเป็นจิ๊กโก๋หน้าปากซอย ฉันจะเอาแบบนี้ใครจะทำไม

เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์: ‘การใช้เหตุผล’ ทักษะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย
หนังสือ จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติ
Photo: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ

การศึกษาและชีวิตที่งอกงาม

          สมัยประถมเด็กๆ ดิฉันแข่งตบยุงเล่นกับเพื่อน แล้วก็เล่าให้คุณน้าฟัง คุณน้าก็ไม่ได้ห้าม ไม่ได้บอกว่าผิดศีล แต่บอกว่าไม่สงสารมันเหรอ ดิฉันจำได้แม่นเลยจากโมเมนต์นั้นดิฉันไม่เคยฆ่าแมลงโดยจงใจอีกเลยและมีทัศนคติเปลี่ยนไปจากคำถามนั้น มันไม่ใช่การสอนสั่งว่า ผิดศีลเดี๋ยวตกนรก แต่ถามให้คิด เราไม่ใช่ไม่สงสาร เราไม่ทันคิด เราไม่คิดว่าความสงสารมันใช้กับยุง เพราะมีคนชี้ให้เห็น จริงๆ ฉันสงสารยุง ฉันรู้สึกผิดที่ฆ่ายุง ฉันจะไม่ทำอะไรแล้ว แล้วดิฉันก็สงสารสัตว์มาตลอด นี่คือการทำปรัชญา มันคือการวิเคราะห์มโนทัศน์ ทำไมคุณถึงคิดว่าคุณสงสารคนแต่ไม่สงสารสัตว์

          มนุษย์มีความสามารถในการใช้เหตุผลอยู่แล้ว เวลาที่เรามีศัพท์ที่เราจะใช้และรู้จักปรับใช้มโนทัศน์ รู้จักวิเคราะห์มโนทัศน์ ความสงสารคืออะไรและประยุกต์กับใครได้บ้างและทำไม ทำไมเราจึงคิดว่าเรามีสิทธิ์จะฆ่าคนอื่นหรือสัตว์อื่น ของแบบนี้อยู่ในตัวเราอยู่เพียงแต่รอให้ถูกปลดปล่อยออกมา

          การศึกษาที่ถูกต้องคือการศึกษาที่ปลดปล่อยศักยภาพที่มีอยู่แล้วของมนุษย์ออกมา แล้วรดน้ำพรวนดินให้เติบโต อันนี้อริสโตเติลเรียกว่าชีวิตที่งอกงาม เพราะเราคิดว่ามนุษย์ไม่ควรโง่ ถ้าเราไม่เอาแบบผู้ปกครองบางคนที่คิดว่ามนุษย์ควรจะเป็นหุ่นยนต์แล้วพูดอะไรก็เชื่อ เราคิดว่าชีวิตมนุษย์ที่เจริญงอกงามคืออะไร มนุษย์รู้จักคิด ถ้าคุณภาพอันนี้ของมนุษย์ถูกรดน้ำพรวนดินให้เจริญงอกงามก็ถือเป็นชีวิตที่ดี แล้วมันไม่ถูกต้องเหรอที่เราคิดว่ารัฐมีหน้าที่ต่อพลเมืองในการปลูกฝังให้พลเมืองมีชีวิตที่ดี แล้วสิ่งสำคัญต่อการมีชีวิตที่ดีคือสร้างการศึกษาที่เหมาะสม ไม่ใช่สร้างนักศึกษาเพื่อไปป้อนตลาดแรงงาน ไม่ใช่ เอาความเป็นมนุษย์ก่อน

          ถ้าสร้างมนุษย์ให้คิดได้ มนุษย์ก็จะคิดทุกเรื่อง

เหมือนมาด มุกข์ประดิษฐ์: ‘การใช้เหตุผล’ ทักษะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก