ความล้มเหลวของ ‘หมู Ookbee’ บทเรียนความย่อยยับที่อยากแบ่งปัน

24,318 views
7 mins
January 11, 2021

          ถ้าลงทุนทำธุรกิจไป 150 ล้าน แล้วเจ๊งยับใน 18 เดือน! คุณจะท้อแท้สิ้นหวัง หยุดฝัน หรือสรุปหาบทเรียนแล้วลุกขึ้นเดินหน้าต่อ?

          สำหรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีจิตใจผู้ประกอบการนั้น ความผิดพลาดล้มเหลวหาใช่เหตุผลที่จะถอยหลัง หากแต่เป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และมองเห็นหนทางปรับปรุงแก้ไข หรืออาจตัดสินใจเปลี่ยนไปทดลองวิธีการและแนวทางใหม่ๆ

          เช่นเดียวกับ หมู – ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทอุ๊คบี (Ookbee) ซึ่งดำเนินธุรกิจหนังสืออิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของไทย กว่าที่เขาจะมายืนอยู่ได้ดังเช่นทุกวันนี้ ก็ลองผิดลองถูกมาแล้วหลายอย่าง (รวมถึงเงินทุนที่หมดไป 150 ล้านบาทภายในเวลาปีครึ่ง) กระทั่งรู้จักกลั่นกรองความรู้จากความล้มเหลวมาสู่สถานะเจ้าของธุรกิจมูลค่าพันล้าน ในวัยเพียงสามสิบปลายๆ จนกลายเป็นไอดอลของสตาร์ทอัพและคนมีฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองในยุคปัจจุบัน

          แน่นอนว่า ความสำเร็จในธุรกิจเทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup) ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเอื้ออำนวยของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นผลลัพธ์ได้เร็วและสามารถตัดสินใจได้ฉับไวขึ้น

          แต่ใช่หรือไม่ว่า อีกสาเหตุหนึ่งนั้นมาจากแนวคิดการทำธุรกิจที่กลับตาลปัตรไปจากคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่มีต่อข้อผิดพลาดหรือความล้มเหลว

          นี่เป็น mindset อีกชุดหนึ่งของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งไม่อายที่จะบอกเล่าถึงความบรรลัยวายป่วงที่ตนเองเป็นผู้ก่อ เพราะมองว่าความผิดพลาดล้มเหลวที่ผ่านมานั้นคือประสบการณ์อันแสนล้ำค่าที่อยากแบ่งปันให้คนอื่นรับรู้ เพื่อจะได้เป็นแรงผลักดันให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่เดินหน้าลงมือทำตามความคิดที่เชื่อ โดยก้าวข้ามอุปสรรคสำคัญซึ่งคอยรบกวนอยู่ภายในจิตใจของนักเริ่มต้นทุกราย

ช่วยแนะนำตัวเองสั้นๆ ให้คนรู้จัก ‘หมู อุ๊คบี’

          จริงๆ ผมเป็นวิศวกรครับ เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนปริญญาโทเรียนวิศวกรรมอุตสาหการที่ AIT (Asian Institute of Technology) ตั้งแต่เด็กผมชอบเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี ไปหัดเรียนเขียนโปรแกรมกับเพื่อนๆ ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ ตอนเป็นนักศึกษาก็เริ่มรับงานเขียนโปรแกรม พอเรียนจบมาก็เลยเปิดบริษัทรับจ้างพัฒนาโปรแกรมชื่อบริษัท IT Works ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังดำเนินการอยู่

          ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติที่วิชาชีพที่เราเรียนมากับสิ่งที่เราชอบอาจจะไม่ตรงกัน เพราะทักษะส่วนใหญ่ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาในเวลาไม่กี่ปี เราไม่ควรเอาเรื่องที่เรียนแค่ 4 ปี ตอนเราอายุช่วง 10 ปีปลายๆ มากำหนดทิศทางการดำเนินชีวิตของเรา อยู่ที่ว่าความชอบของเราคืออะไร เราสนใจอะไร ก็ไปศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมแล้วก็เอามาใช้ในการประกอบอาชีพ

บริษัทอุ๊คบี มีความเป็นมาอย่างไร

          ประมาณปี 2552-2553 สมาร์ทโฟนเริ่มเข้ามาในตลาด ก่อนหน้านี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในเมืองไทยไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง สมาร์ทโฟนจึงเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องแรก เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่เราสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นมา แล้วกระจายไปยังลูกค้าโดยตรง ตอนแรกนั้นเกิดไอเดียที่จะทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอีบุ๊ค ก็เลยตั้งชื่อบริษัทว่าอุ๊คบี ซึ่งเป็นคำผวนของคำว่าอีบุ๊ค

          ตลอด 6-7 ปีผ่านมา เราขยายผลิตภัณฑ์และการบริการออกไปยังสื่อรูปแบบต่างๆ จนปัจจุบันบริษัทอุ๊คบีทำธุรกิจเกี่ยวกับอีบุ๊คไม่ถึง 20% เวลานี้ส่วนใหญ่เป็นงานเพื่อความบันเทิงหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นนิยาย การ์ตูน ดนตรี อย่างล่าสุดเรามีแอพพลิเคชั่น จอยลดา ที่ให้คนเขียนและอ่านนิยายในรูปแบบแชทเหมือนอ่านในไลน์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก และวางแผนไว้ว่าจะทำออกมาให้เป็นซีรี่ส์

กว่าจะมาถึงตรงจุดนี้ เคยผ่านเรื่องที่ล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จบ้างไหม

          มีเยอะเลยครับ ส่วนใหญ่เป็นในระดับโครงการ (Project) เรียกว่าเป็นการทดลองเล็กๆ กับผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ถ้าเปิดตัวไปสองสามเดือนแล้วเราก็พอจะรู้แล้วว่าไปต่อได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องคัดทิ้งเป็นเรื่องปกติ กระบวนการนี้เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ซึ่งเรากันเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับทำโครงการใหม่ๆ อยู่แล้ว

          ความผิดพลาดในสเกลใหญ่หน่อยก็มี อย่างเมื่อต้นปีที่ผ่านผมเพิ่งปิดบริษัทชื่อ อุ๊คบีมอลล์ (Ookbee Mall) เพื่อทำธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ ตอนเริ่มต้นผมมีไอเดียว่า อุ๊คบีมีฐานลูกค้าอยู่หลายล้านคนซึ่งเราพอจะรู้ไลฟ์สไตล์ของเขา อย่างเช่น คนอ่านหนังสือรถก็ต้องมีรถ อ่านหนังสือบ้านก็ต้องมีบ้าน อ่านหนังสือสัตว์เลี้ยงก็ต้องมีสัตว์เลี้ยง เลยคิดว่าเราจะสามารถขายสินค้าทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ให้เขาได้หรือเปล่า นอกเหนือไปจากการขายหนังสือ ปรากฏว่าการลงทุนครั้งนี้ทำให้เงิน 150 ล้านบาท หมดไปในเวลาแค่ 18 เดือน มันเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการแข่งกันขาดทุน เพราะต้นทุนในการหาลูกค้าสูงกว่าเงินซื้อสินค้าที่ลูกค้าจ่ายให้เรา เว้นเสียแต่ว่าจะมีทุนหนาจริงๆ และเหลือจำนวนผู้ค้าที่เหมาะสมเพียงไม่กี่ราย ตลาดธุรกิจนี้ถึงจะไปรอด

          บทเรียนที่ผมได้รับไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่ยังมีเรื่องความสัมพันธ์กับพนักงาน เพราะหลายคนเป็นเพื่อน เป็นรุ่นน้อง ที่ผมชวนเขาให้ลาออกจากบริษัทดีๆ มาลองทำงานในบริษัทใหม่ด้วยกัน พวกเขาต่างก็มีค่าเสียโอกาส แล้วพอมันไปไม่รอด ความฝันเป็นของผมก็จริงแต่มันส่งผลสะเทือนต่อคนรอบข้าง ผมก็ต้องพยายามบริหารจัดการให้ดีที่สุด วางแผนล่วงหน้า 6 เดือนก่อนปิดบริษัท เพราะมีเพื่อนร่วมงานเกือบร้อยคนที่ต้องจากกันไป ผมช่วยติดต่อกับหลายๆ บริษัทโดยตรง ว่ามีที่ไหนสามารถรับคนจากที่นี่ไปทำงานต่อได้บ้าง จนกระทั่งครบทุกคน รวมทั้งเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้จนครบถ้วน

แล้วธุรกิจหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ถือว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

          แม้แต่ธุรกิจอีบุ๊คผมก็มองว่าเป็นความล้มเหลวของบริษัทครับ เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ใหญ่อย่างที่เราคิด เราอยู่ในสังคมที่หนังสือ Best Seller พิมพ์หลักไม่กี่พันไม่กี่หมื่นเล่ม แล้วอีบุ๊คของเราก็หวังแค่ 5-10% ของหนังสือไม่กี่พันเล่มนั้น พอถึงจุดหนึ่งที่มาถึงทางตัน เราก็ต้องเปลี่ยนไปสร้างอะไรใหม่ๆ เพื่อให้ตัวบริษัทไปต่อได้ ศัพท์ของสตาร์ทอัพเรียกว่า Pivot

          ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีความเร็วสูงมาก โซเชียลเน็ตเวิร์คที่เราเคยเห็นทั้ง MSN Hi5 หรือ My Space ที่เหมือนว่าจะดูดีในตอนแรกต่างก็ค่อยๆ ทยอยล้มหายตายจากไป ตอนที่ภาพยังไม่ชัดเราก็ต้องลองทำ โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอนาคตจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า บทเรียนพวกนี้ต้องสะสมกันไปเรื่อยๆ แล้วก็ต้องสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่

นักธุรกิจรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพควรมีมุมมองต่อความล้มเหลวอย่างไร

สตาร์ทอัพเนี่ยสนับสนุนให้คนล้มเหลว ถึงขั้นมีคำว่า Fail Fast เลยนะครับ วิธีคิดแบบนี้มันเกิดจากโลกปัจจุบันสิ่งที่มีค่ามากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของเวลา มีสถิติว่า SME ทั่วๆ ไปมีโอกาสอยู่รอดไม่ถึงครึ่งหลังจากผ่านไป 4-5 ปี แต่สตาร์ทอัพนี่ยิ่งกว่า SME เพราะเป็นธุรกิจใหม่ เรื่องใหม่ ถึงแม้จะเติบโตรวดเร็วแต่ก็มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะฉะนั้นโอกาสล้มเหลวก็สูงกว่าและเร็วกว่าด้วย

          แต่ผมมองว่า เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เราสามารถทดลองทำอะไรในสเกลที่เราไม่ได้ล้มเหลวจนหมดเนื้อหมดตัว ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงตั้งต้นเราอาจต้องลงทุนความรู้ด้วยเงินส่วนตัวของเรา แต่พอถึงจุดที่ต้องเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องลงทุนมากขึ้น ก็อาจจะมี Venture Capital หรือคนอื่นเข้ามาร่วมเสี่ยงกับเรา

          นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ยังสามารถเปิดเพจในเฟซบุ๊ค ลงโฆษณาด้วยเงินไม่กี่ร้อยบาท แต่เข้าถึงคนหลายแสนหลายล้านคน โดยสามารถกำหนดเพศ อายุ การศึกษา ที่อยู่ และความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย แม้ว่าสินค้าอาจจะยังไม่เริ่มผลิต ยังไม่ได้เริ่มหาโรงงาน แต่สามารถลองโพสต์ว่าเราจะขายของชิ้นนี้ราคานี้ แล้วให้ผู้ที่สนใจอินบ็อกซ์มา ถามว่าความล้มเหลวสูงสุดของการทดลองนี้อะไร คือเงิน 500 บาทกับเวลาครึ่งวันครับ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่มีทางทำได้ คุณต้องเปิดโรงงานผลิตขึ้นมา อาจจะเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างไม่กี่ชิ้น แล้วเอาไปทดลองทำวิจัยการตลาดก่อน จากนั้นค่อยนำไปตั้งวางขายถึงจะรู้ว่ามีคนซื้อจริงๆ หรือเปล่า ซึ่งเป็นการลงทุนที่ใหญ่มาก

นอกจากเรื่องเงินทุนที่อาจไม่ได้ล้มเหลวจนน่ากลัวเหมือนในอดีตยังมีความล้มเหลวเรื่องไหนที่ควรต้องระมัดระวังหรือคำนึงถึงอีกบ้าง

          น่าจะเป็นเรื่องของเวลา และต้นทุนค่าเสียโอกาส เช่นถ้าต้องลาออกจากบริษัทที่มีเงินเดือนประจำมาทำงานตามความเชื่อ ซึ่งแต่ละคนมีความเชื่อความฝันที่สามารถทดลองในระดับที่ไม่เหมือนกัน

          นอกจากนั้นก็มีความเสี่ยงที่มากับโลกเทคโนโลยี เนื่องจากบางกรณีมันก็มีเส้นบางๆ คั่นระหว่างเรื่องความถูกต้องเห็นพ้องกันทางสังคมหรือทางศีลธรรมกับความถูกต้องของกฎหมาย คือเป็น Grey Area อย่างเช่น Airbnb ที่คนนำบ้านมาปล่อยให้เช่า หรือ Uber ที่คนนำรถยนต์ของตัวเองมารับจ้างสาธารณะ ซึ่งโดยส่วนตัวผมสนับสนุนให้ลองทำไปก่อน เพราะเราไม่สามารถเอากฎหมายเก่าๆ มาสร้างข้อจำกัดให้กับนวัตกรรม อย่างผมเองก็มีธุรกิจหนึ่งที่ทำร่วมกับเพื่อน คล้ายๆ Airbnb ชื่อ FavStay ให้เจ้าของบ้านนำที่พักของตนเองมาให้เช่าออนไลน์ ต่างกันตรงที่บางรายอาจมีบ้านพักอยู่ต่างจังหวัดซึ่งเขาอาจไม่มีเวลาไปทำความสะอาดหรือไปพักอาศัยอยู่ตลอดเวลา เราก็มีบริการช่วยจัดการดูแลและหาคนเช่าให้ในช่วงที่บ้านว่าง เรารู้ว่าธุรกิจแบบนี้ยังไม่สามารถทำได้ในบริบทของกฎหมายไทย ก็ต้องใช้วิธีไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์แทน อะไรอย่างนี้ครับ

          แต่ก็มีอีกหลายตัวอย่างที่คนใช้เทคโนโลยีไปในทางด้านมืด (Dark Side) เช่น คนทำเว็บไซต์ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม หรืออย่างเร็วๆ ก็นี้มีแฮ็กเกอร์ที่ล็อคเซิร์ฟเวอร์แล้วเรียกเงินค่าไถ่เพื่อปลอดล็อค ดังนั้น ในการทำงานคุณจะต้องมีขอบเขตทางศีลธรรม รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ Grey แต่เป็น Dark ต้องไม่เอาเทคโนโลยีไปข้ามเส้น

อะไรคือเคล็ดลับที่จะบอกได้ว่าถึงแม้จะเจอข้อผิดพลาดหรือความล้มเหลวแต่ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าไปต่อได้

          กลับไปเรื่องเดิมว่า เรามีข้อจำกัดเรื่องความเสี่ยงใช่ไหมครับ วิธีการของสตาร์ทอัพคือเราทดลองกับเรื่องจริง เราอยากจะขายของเราก็ออกไปขายจริงๆ แล้ววัดผลกันทุก 2 สัปดาห์ ในโทรศัพท์มือถือของผมจะมี Dashboard อยู่ การวัดผลทุกอย่างจะแสดงแบบเรียลไทม์ให้เห็นเลยว่ายอดขายเป็นอย่างไร มีคนใช้งานเท่าไร คนจ่ายเงินเท่าไหร่ มีค่าโฆษณาเท่าไหร่ และคนใช้งานแล้วยังใช้ต่อเนื่องหรือเปล่า

          พูดง่ายๆ เลยครับ เรียกว่าลองยิงมั่วๆ ยิงรัวๆ ไปก่อน แต่ถ้ายิงโดนแล้วให้ลองยิงซ้ำๆ วิธีการแบบนี้มันเหมาะกับโลกปัจจุบันเพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สตาร์ทอัพไม่ควรคิดแบบบริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ ที่ทำแผน 5 ปี 10 ปี มันไกลเกินไป เพราะ 4 เดือนจะไปรอดหรือเปล่ายังไม่แน่นอนเลย ดังนั้นเราต้องใช้วิธีการวัดผลให้เร็วที่สุด คือทำปุ๊บมีผลสะท้อนกลับเลย พอรู้ผลแล้วก็ปรับปรุงแก้ไขทำให้มันดีขึ้น

          เราอาจจะไม่ต้องดูผลลัพธ์ทุกวันก็ได้ เอาแค่ทุกๆ 2 สัปดาห์ เดือนหนึ่งก็จะได้ 2 รอบ ถ้าเราตั้งเป้าว่าทุกๆ รอบควรจะต้องดีขึ้น 5% พอทำได้ก็เป็นเหมือนการเก็บดอกเบี้ยสะสม แทนที่จะคิดดอกเบี้ยทุก 1 ปี ก็ให้เหลือ 2 สัปดาห์ สตาร์ทอัพลงมือทำเร็ว วัดผลเร็ว จึงเติบโตเร็ว ปีหนึ่งอาจจะหลายสิบเท่า

ในอนาคตอุ๊คบีจะมีผลิตภัณฑ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง

          กำลังจะมีพอดคาสต์ (Podcast) แบบ Q&A ครับ คือเรามีแพลตฟอร์ม LinkedIn ที่สามารถสืบค้นได้ว่าใครมีความเชี่ยวชาญในเรื่องอะไร เช่น หมอ พยาบาล ทนายความ ดีไซน์เนอร์ โปรแกรมเมอร์ ฯลฯ ก็เลยเกิดไอเดียว่า น่าจะเปิดให้คนทั่วไปเข้าไปตั้งคำถามหรือขอคำปรึกษากับคนเหล่านี้ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญที่คอยตอบคำถามสามารถตั้งราคาสำหรับคำตอบได้ตามเวลาที่ให้คำปรึกษา มีการจัดระดับและการให้คะแนนผู้เชี่ยวชาญ และถ้าตอบคำถามไม่ได้ก็มีระบบตรวจสอบเพื่อคืนเงิน

           แน่นอนว่าในโลกอินเทอร์เน็ตมีฟอร์แมตมากมายที่คนสามารถค้นหาคำตอบได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่าง Wikipedia หรือพันทิป ทุกวันนี้โลกของความรู้ส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารทางเดียว รวมทั้งมั่นใจขึ้นว่าผู้ที่เข้ามาตอบคือตัวจริงในเรื่องนั้นๆ เราอยากสร้างรูปแบบที่มีปฏิสัมพันธ์และประยุกต์กับความสนใจหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีความเป็นส่วนตัว เป็นการทำให้ความรู้เข้าถึงคนแล้วมันมีมูลค่าขึ้นมา

มีอะไรจะฝากถึงสตาร์ทอัพหรือคนรุ่นใหม่ที่อยากเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ

          อย่างแรกต้องทดลองทำครับ การล้มเหลวไม่ได้หมายความว่าเสียไปหมดทุกอย่าง แต่เป็นเหมือนกับการใช้เงินซื้อความรู้ที่เราจะนำไปใช้ในระดับต่อไป อย่างที่สอง ทุกวันนี้ถ้าเรามีไอเดียที่น่าสนใจก็มีโอกาสที่จะมีคนมาร่วมความเสี่ยงในการลงทุนกับเรา พอมีข้อ 1 กับข้อ 2 ได้ มันยากมากที่เราจะล้มแล้วลุกขึ้นไม่ได้

          ถ้าวันใดวันหนึ่งคุณล้มเหลวแล้วไม่มีแรงลุกขึ้นยืน ก็อยากให้สร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง สมมุติว่าเราไปเยี่ยมและคุยกับคนป่วยที่ใกล้ตาย เขาคงจะไม่ได้พูดคุยกับเราว่าชีวิตนี้เขาทำอะไรล้มเหลวมาบ้าง แต่เขาจะบอกว่าเสียดายเรื่องอะไรที่ยังไม่ได้ทำมากกว่า เพราะฉะนั้นตอนนี้อยากทำอะไรก็ขอให้ลองลงมือทำดูครับ


เผยแพร่ครั้งแรก พฤศจิกายน 2560
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ กล่อง (2561)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก