ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเมือง หรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่กระจายตัวอยู่ในเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ บรรยากาศและการใช้งานมักมีลักษณะเป็นทางการ มีข้อกำหนดในการใช้งานที่เคร่งครัดตายตัว
อย่างไรก็ตาม การสร้างห้องสมุดขนาดเล็กที่แทรกตัวอยู่ในชุมชนอย่างเป็นมิตร เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เริ่มปรากฏให้เห็นในหลายประเทศ ความพิเศษคือไม่ได้เป็นเพียงที่อ่านหนังสือหรือค้นคว้าเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่นต่อการใช้งาน ตั้งแต่การพักผ่อนหย่อนใจ พบปะเสวนา จัดเวิร์คช็อป จัดนิทรรศการ หรือกระทั่งการประชุมหมู่บ้าน ผ่านกระบวนการการออกแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานจริง
ในบทความนี้ The KOMMON จะพาไปสำรวจแนวคิดการออกแบบห้องสมุดชุมชนจาก 4 ประเทศในเอเชีย ซึ่งนอกจากจะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงาม ร่วมสมัย ห้องสมุดเหล่านี้ยังกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างน่าสนใจ
ห้องสมุดป่าแห่งปัญญา ฮันเนะ (Hannae Forest of Wisdom – Seoul, South Korea)
ห้องสมุดป่าแห่งปัญญา ฮันเนะ สร้างขึ้นเมื่อปี 2017 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการสำรวจความต้องการของคนในชุมชนของสำนักงานเขตโนวอน ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และได้รับความเห็นว่า ชุมชนต้องการพื้นที่ที่เป็นแหล่งพบปะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ประกอบด้วยห้องสมุด สถานรับเลี้ยงเด็ก และร้านกาแฟที่ดำเนินการโดยชุมชน ห้องสมุดแห่งนี้จึงถือกำเนิดขึ้น โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างใกล้ทางเข้าสวนสาธารณะให้เป็นห้องสมุดขนาดย่อม
จาง ยุน กยู (Jang Yoon Gyoo) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกุกมิน และประธานบริหารสตูดิโอ Unsangdong ผู้ออกแบบอาคาร กล่าวถึงพื้นที่ละแวกนี้เป็นเขตที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง ผู้คนมีฐานะค่อนข้างยากจน ที่สำคัญคือไม่มีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นเดียวกับพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ
“เป้าหมายของเราคือการสร้างพื้นที่ที่เชิญชวนให้คนต่างวัยในชุมชน ได้มารวมตัวและมีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน” เขาเล่าถึงกระบวนการทำงานของสตูดิโอ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการประชุมแบบไม่เป็นทางการกับท้องถิ่น เพื่อรับฟังความเห็นและความต้องการของชุมชน
ผลลัพธ์ที่ได้คืออาคารที่อบอุ่นและเข้าถึงง่าย มองจากภายนอกจะเห็นเป็นอาคารสีเทาเงิน โครงสร้างทำจากเหล็กและคอนกรีต ล้อมรอบด้วยกระจกใส มีหลังคาทรงจั่วเรียงซ้อนกันหลายระดับ หากมองจากมุมสูงจะเห็นเป็นตัวอักษรจีน สะกดเป็นคำว่า ‘คน’
เมื่อเข้าสู่ด้านใน จะพบกับชั้นวางหนังสือที่ทำจากไม้ ตั้งเรียงจากพื้นจรดเพดาน ไล่ไปตามแนวหลังคาแต่ละด้าน ด้านบนมีช่องแสงเล็กๆ ที่กระตุ้นให้ผู้อ่านรุ่นเยาว์แหงนหน้ามองท้องฟ้า พร้อมฝันกลางวันถึงเรื่องราวจากหนังสือเล่มโปรด มีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนต่างๆ ไล่ตั้งแต่พื้นที่นั่งอ่านหนังสือ โซนร้านกาแฟ พื้นที่จัดเวิร์คช็อปที่โรงเรียนสามารถพาเด็กๆ มาจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรได้ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นเหมือนห้องเรียนของคนในชุมชน รองรับกิจกรรมหลากหลาย ตั้งแต่อ่านหนังสือ ไปจนถึงงานหัตถกรรมและการจัดดอกไม้
“เราชอบความจริงที่ว่าอาคารนี้ ช่วยให้สมาชิกของชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน” ซิน ชาง ฮุน (Shin Chang Hoon) สถาปนิกหลักอีกคนหนึ่งของโครงการกล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า อาคารนี้เปรียบเหมือน ‘ป่าเทียม’ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มพื้นที่สวนสาธารณะให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากการออกแบบให้เป็นอาคารที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ มีความโปร่งสบาย และทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความผ่อนคลาย
“ที่นี่ไม่ได้มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น แต่เป็นพื้นที่ที่ช่วยขยายจินตนาการของคนๆ หนึ่งให้กว้างไกลออกไป มันช่วยกระตุ้นจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความสุขของเด็กๆ ที่เดินไปมาในห้องสมุด”
ห้องสมุดหมู่บ้านชาวประมงเจียงชาน (Jiangshan Fishing Village – Nanjing, China)
ในประเทศจีน มีโครงการสร้างพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่น่าสนใจหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หนึ่งในนั้นคือโครงการปรับปรุงหมู่บ้านชาวประมงเจียงชาน โดยฟื้นฟูอาคารเก่าในชุมชนให้เป็นห้องสมุด
จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ชนบท สตูดิโอ Mix Architecture ได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงอาคารเก่าในหมู่บ้านชาวประมงเจียงชาน เขตเกาชัน เมืองหนานจิง ให้ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ โดยยังคงรูปลักษณ์ดั้งเดิมของตัวอาคารไว้
จากบ้านหลังเก่าที่ถูกทิ้งร้าง สตูดิโอได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องพัก โรงน้ำชา และห้องสมุดของหมู่บ้าน ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน โดยผนังเก่าถูกปรับเป็นกระจกใสเพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ด้านนอก ตู้หนังสือไม้สูงจากพื้นจรดเพดาน ออกแบบอย่างเรียบง่ายทว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ได้อย่างลงตัว นอกจากส่วนของโรงน้ำชาและห้องสมุด โครงการนี้ยังมีการสร้างห้องน้ำสาธารณะเพิ่มอีก 2 แห่งสำหรับคนในชุมชนอีกด้วย ผู้ออกแบบพยายามรักษาสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยใช้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่มาผสมผสานเท่าที่จำเป็น
หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ พื้นที่แห่งนี้ไม่เพียงกลายเป็นศูนย์กลางในการพบปะและทำกิจกรรมของชุมชนเท่านั้น ผลพลอยได้ที่ตามมาคือทุกคนในชุมชนเริ่มคุ้นเคยกับการไปห้องสมุดมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีมุมมองใหม่ๆ ต่อการฟื้นฟูอาคารเก่าที่ถูกทิ้งร้าง
ผลจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้โครงการปรับปรุงหมู่บ้านชาวประมงเจียงชาน คว้ารางวัล Platinum Design Award ในปี 2018 – 2019 ประเภทรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรม อาคาร และโครงสร้าง มาครองได้อีกด้วย
ห้องสมุดขนาดเล็ก วอรัค คายู (The Microlibrary Warak Kayu – Semarang, Indonesia)
มองกลับมาที่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างอินโดนีเซีย ห้องสมุดวอรัค คายู ในเมืองเซมารัง ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ห้องสมุดแห่งนี้เป็นทั้งพื้นที่อ่านหนังสือและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ออกแบบโดยสตูดิโอ Shau ผู้เคยสร้างห้องสมุดขนาดเล็ก (microlibrary) แห่งแรกในเมืองบันดุง เมื่อปี 2016 โดยใช้ถังไอศกรีมรีไซเคิลเป็นฝาผนัง
สำหรับการออกแบบในครั้งนี้ มีแนวคิดพื้นฐานเหมือนกัน คือการสร้างพื้นที่ชุมชนอเนกประสงค์ ด้วยการออกแบบและใช้วัสดุที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยได้รับทุนจากการบริจาคของมูลนิธิ Arkatama Isvara บริหารจัดการโดย Harvey Center ซึ่งเป็นกลุ่มการกุศลในท้องถิ่น
สถาปัตยกรรมของห้องสมุดแห่งนี้ มีแนวคิดมาจากเรือนพื้นถิ่นใต้ถุนสูง ซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบเอเชียอาคเนย์ เรียกว่า ‘rumah panggung’ ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ทั้งหมด ที่สำคัญคือเป็นไม้ที่ได้รับการรับรองว่ามาจากป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกที่ถูกกฎหมาย
พื้นที่ใต้ถุนของอาคาร มีความโปร่งโล่ง ใช้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ จัดกิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ ได้ มีชิงช้าขนาดใหญ่สำหรับเด็กๆ บริเวณบันไดทางขึ้นออกแบบให้เป็นอัฒจันทร์ เป็นทั้งที่นั่งอ่านหนังสือ และที่นั่งชมการแสดงหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดอยู่บริเวณใต้ถุน ส่วนพื้นที่ชั้นบนเป็นห้องสมุด มีชั้นหนังสือและที่นั่งเรียงราย มีเปลญวนขนาดใหญ่ที่ขึงไว้ให้นอนเอกเขนกได้
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของห้องสมุดแห่งนี้ คือผนัง ซึ่งเรียกว่า ‘Brise Soleil’ พัฒนาขึ้นมาจากระบบการก่อสร้างแบบ Zollinger Bauweise คิดค้นเมื่อปี 1920 ในเยอรมนี ด้วยการประกอบชิ้นส่วนไม้ต่อกันแบบโมดูลาร์ จนเกิดเป็นผนังบังแสง มีการออกแบบให้ดูคล้ายกับเกล็ดมังกร หรือสัตว์ในตำนานของอินโดนีเซียอย่าง ‘วอรัก เงินด็อก’ (Warak Ngendog) ช่องแสงลักษณะนี้ช่วยกรองแสงธรรมชาติไม่ให้เข้ามาในอาคารมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวก
หากมองจากภายนอก ห้องสมุดแห่งนี้ดูคล้ายเครื่องเล่นขนาดใหญ่ มีมุมต่างๆ ให้เด็กๆ เล่นสนุกได้อย่างอิสระ โดยสถาปนิกของโครงการ เล่าเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบว่า “สิ่งสำคัญคือต้องใช้วิธีการหลากหลายในการทำให้ห้องสมุดเป็นสถานที่ยอดนิยม เนื่องจากการอ่านเพียงอย่างเดียว ยังไม่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานในประเทศ”
ห้องสมุดวอรัค คายู ทำหน้าที่เป็นทั้งพื้นที่อ่านหนังสือ และพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้อเนกประสงค์ ขณะเดียวกันก็นำเสนอเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรม การเลือกใช้วัสดุท้องถิ่น รวมถึงเทคนิคการก่อสร้างที่น่าสนใจไปพร้อมกัน และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการท่องเที่ยวของเมืองเซมารังด้วย
ห้องสมุดแห่งนี้เป็นหนึ่งในอาคารที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมแห่งปี 2021 (Building of the Year) จากการโหวตของผู้อ่านประมาณ 200,000 คน ผ่านเว็บไซต์ ArchDaily
ห้องสมุดยีราฟน้อย (Little Giraffe library – Selangor, Malaysia)
จากโครงการห้องสมุดที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นโครงการที่มีแหล่งเงินทุนชัดเจน และใช้ทีมงานออกแบบจากสตูดิโอที่เชี่ยวชาญ แต่มีอีกโครงการหนึ่งจากประเทศมาเลเซียที่แม้จะมีเป้าหมายไม่ต่างจากกรณีศึกษาทั้ง 3 แห่งที่ว่ามา ทว่าด้วยงบประมาณจำกัด ทำให้ชุมชนต้องใช้ความพยายามอย่างสูงเพื่อผลักดันให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมาย และกลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จจากความร่วมมือของภาคประชาสังคมที่น่าสนใจ นั่นคือ ‘ห้องสมุดยีราฟน้อย’ (Little Giraffe library)
ห้องสมุดยีราฟน้อย มีจุดเริ่มต้นจากการตั้งห้องสมุดเล็กๆ ของสโมสรส่งเสริมการอ่าน ในตู้คอนเทนอร์ขนาด 20 ฟุต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลศิลปะเมื่อ 10 ปีที่แล้วของโรงเรียนอนุบาลในชุมชนชาวจีน หมู่บ้าน Batu 11 รัฐเซอลาโงร์ (Selangor) แต่เดิมห้องสมุดดำเนินการโดยครูอนุบาลที่เปิดห้องสมุดเมื่อมาทำงาน ซึ่งจำกัดการเข้าถึงห้องสมุดไว้เฉพาะวันทำการเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ บรรดาคุณแม่จึงเริ่มอาสาเข้ามาช่วยให้บริการ เพื่อให้ห้องสมุดสามารถเปิดทำการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ พร้อมจัดกิจกรรมเล่านิทานและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ
ต่อมาในปี 2017 คณะทำงานห้องสมุดได้นำเสนอแผนปรับปรุงห้องสมุดต่อผู้นำชุมชน โดยจะปรับปรุงบ้านเช่าในชุมชนให้เป็นห้องสมุดแห่งใหม่ ภายใต้เงินทุนก้อนแรกเพียง 5,000 ริงกิตเท่านั้น (ราว 40,000 บาท) ส่วนงานออกแบบปรับปรุง เป็นผลงานของนักศึกษาสถาปัตยกรรมที่มีจิตอาสามาช่วยกันออกแบบ ต่อมาจึงมีเงินทุนเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง จากการระดมทุนทางอินเทอร์เน็ตและความช่วยเหลือของผู้คนในชุมชน บริษัท ห้างร้าน ซึ่งร่วมกันบริจาคเงินและวัสดุอุปกรณ์ รวมเป็นเงินประมาณ 40,000 ริงกิต ทำให้โครงการนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
การปรับปรุงบ้านเก่าที่ทรุดโทรม ภายใต้ความท้าทายของงานก่อสร้างที่มีงบประมาณจำกัด ทำให้ทีมงานต้องพยายามหาแนวทางออกแบบที่เหมาะสมที่สุด ทั้งในเรื่องราคาและประโยชน์ใช้สอย เช่น เลือกใช้ผนังตาข่ายเหล็กแทนโครงสร้างไม้และขอบหน้าต่างซึ่งผุพังเพราะปลวกและความชื้น ฐานล่างของเสาบ้านที่ค่อนข้างทรุดโทรม ถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างโลหะและเสริมความมั่นคงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
ลี ซุน ยุง (Lee Soon Yong) ผู้ดูแลห้องสมุด อธิบายลักษณะของสถานที่แห่งนี้ว่าเป็นตัวแทนของการปรับตัว (adaptive) เพราะพวกเขาต้องปรับการออกแบบให้เข้ากับวัสดุและงบประมาณที่มี ขณะเดียวกันก็อยากส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย ทีมงานจึงพยายามออกแบบให้งานก่อสร้างมีความเรียบง่ายมากที่สุด “เราต้องการให้พวกเขามีส่วนร่วม ดังนั้นเราจึงใช้วิธีการออกแบบที่เรียบง่ายที่สุด แม้แต่คนที่ไม่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างหรือช่างไม้ก็สามารถทำได้”
ผลสัมฤทธิ์จากการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย คืออาคารไม้สีชมพูเขียวสดใส ดูโดดเด่นแปลกตาจากบ้านในละแวกเดียวกัน มีประติมากรรมยีราฟทำจากเหล็กเส้น สูง 20 ฟุต ตามชื่อของห้องสมุดและชมรมแห่งนี้ที่ชื่อว่า ชมรมหนังสือยีราฟน้อย “เราต้องการตั้งชื่อสถานที่ตามชนิดของสัตว์ เพราะเด็กรักสัตว์ เราเลือกยีราฟเพราะมันมองการณ์ไกล ต้องขอบคุณคอที่ยาวของมัน” ลี กล่าว
ในส่วนของการออกแบบพื้นที่ใช้งาน แม้จะดูเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยแนวคิดที่มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ไล่ตั้งแต่การใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายได้เป็นหลัก มีการนำไม้เหลือใช้จากโรงงานมารีไซเคิลเป็นวัสดุตกแต่ง กล่องไม้ที่สร้างจากฝีมือคนในชุมชน ทำหน้าที่เป็นทั้งม้านั่งและที่เก็บหนังสือ สามารถนำมาวางต่อกันได้อย่างอิสระ แทนความหมายของการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างห้องสมุดแห่งนี้จนสำเร็จ
ห้องสมุดแห่งนี้แตกต่างจากห้องสมุดที่เคร่งขรึมส่วนใหญ่ เพราะส่งเสริมให้เด็กๆ นั่งเล่นบนพื้นไม้และปีนป่ายตามชั้นวางต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีโซนร้านกาแฟที่แยกออกมาต่างหาก เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือเป็นพื้นที่สำหรับผู้ปกครองที่รอรับบุตรหลาน และเพื่อเป็นแหล่งรายได้ของสโมสร Little Giraffe Book Club
ห้องสมุดทั้ง 4 แห่งนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการออกแบบห้องสมุดที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างกลมกลืน แม้แต่ละแห่งจะมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน จำนวนเงินทุนไม่เท่ากัน ความเชี่ยวชาญของทีมงานต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกแห่งมีเหมือนกัน คือการเล็งเห็นถึงความสำคัญของห้องสมุด ในฐานะพื้นที่เพื่อการเรียนรู้สาธารณะที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนในชุมชน โดยไม่จำกัดความหมายของห้องสมุดไว้เพียงแค่สถานที่อ่านหนังสือเท่านั้น
ที่สำคัญคือห้องสมุดทุกแห่งออกแบบจากความต้องการของผู้คนในชุมชนอย่างแท้จริง เด็กๆ ต้องการพื้นที่เล่นสนุก ผู้ใหญ่ต้องการพื้นที่พูดคุยหรือทำกิจกรรมเล็กๆ ร่วมกัน แน่นอนว่าโครงการเหล่านี้คงประสบความสำเร็จไม่ได้ หากในกระบวนการทำงานไม่มีการรับฟังเสียงและความต้องการของชุมชน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักดัน สร้างแรงกระเพื่อมทางความคิด จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมในที่สุด ดังคำกล่าวของ คาลิล ยิบราน ที่ว่า “ความรู้น้อยนิดที่ได้ใช้งาน มีค่ามากกว่าความรู้มหาศาลที่อยู่บนหิ้ง” (A little knowledge that acts is worth infinitely more than much knowledge that is idle.)
ที่มา
A’ Design Award & Competition. Jiangshan Fishing Village Renovation. [Online]
Alyn Griffiths. Colliding gabled structures form Hannae Forest of Wisdom community centre. [Online]
Amy Frearson. Microlibrary Warak Kayu features a hammock-style floor and a swing. [Online]
Chrys. Little Giraffe Story House & Little Moment Café. [Online]
Construction. Little Giraffe Book Club. [Online]
DE51GN. SHAU architects designs elevated community library in Indonesia’s central Java using local wood. [Online]
Design Anthology. Hannae Forest of Wisdom. [Online]
Divisare. Mix Architecture Jiangshan Fishing Village Renovation Practice. [Online]
Hana Abdel. Microlibrary Warak Kayu / SHAU Indonesia. [Online]
Lam Jian Wyn. The little library that could. [Online]
Little Giraffe Story House. [Online]
María Francisca González. Hannae Forest of Wisdom / UnSangDong Architects. [Online]
Room. MICROLIBRARY WARAK KAYU อาคารห้องสมุดสาธารณะประหยัดพลังงานแห่งเมืองเซมารัง. [Online]