ในห้องโถงใหญ่ที่มีแสงไฟสลัว ผ้าขาวผืนมหึมาผูกห้อยอยู่บนเพดานและผนัง แวดล้อมด้วยหมอนนิ่มให้นั่งพิงอิงแอบตามอัธยาศัย ประกอบสร้างเป็นมวลความรู้สึกนุ่มฟู อบอุ่น ปลอดภัย ผ่อนคลายจนแทบอยากเอนกายนอนหลับจริงๆ มีเพียงผ้าขาวผืนใหญ่ที่กางไว้เป็นฉากเบื้องหน้า ทำให้รู้ว่ามีหนังกำลังจะฉาย
ห้องนี้คือสถานที่จัดฉาย ‘Mental-Verse จักรวาลใจ’ ภาพยนตร์สารคดีแบบจัดวาง หนึ่งในไฮไลท์ของงาน Bangkok Design Week 2022 ที่ผ่านมา ผลงานของผู้กำกับ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย จาก Eyedropper fill ผู้สร้างสารคดี ‘School Town King’ และงานแสดงแบบจัดวางอีกหลายชิ้นก่อนหน้า
‘อยากกอด’ คือความรู้สึกแรกที่พุ่งขึ้นมาหลังดูจบ
ในฐานะคนที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า การฟังผู้ป่วยโรคนี้เปลือยหมดเปลือกถึงชีวิตที่ผ่านมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยเปิดเผยเงื่อนปมขรุขระในใจอย่างช้าๆ จากเรื่องภายในครอบครัว โยงไปถึงบริบทของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในช่วงนั้นๆ ให้ความรู้สึกเหมือนได้เปิดอกคุยกับเพื่อนในแต่ละช่วงวัย ขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าใจว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่แค่อาการป่วยเพราะสารเคมีในสมอง
แต่เมื่อประเทศนี้ป่วย สังคมนี้ป่วย การป่วยย่อมส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลด้วยเช่นกัน
‘มินนี่’ วัย 24 ปี คือตัวแทนของคน Gen Z ที่เกิดในยุคฟองสบู่แตก เติบโตในยุครัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง และเรียนจบออกมาตกงานในยุคโควิด-19
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริบทของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จะส่งผลกระทบต่อเธอและคนวัยเดียวกับเธออีกจำนวนมากให้อยู่ในภาวะของความสิ้นหวัง เจ็บปวด ซึมเศร้า จนถึงโกรธแค้น
ช่องว่างระหว่างวัยของเธอกับพ่อยิ่งทำให้การมีชีวิตอยู่ของเธอคือการถูกกดดันและคาดหวังถึง ‘ความเป็นที่หนึ่ง’ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเธอทำพลาด สิ่งที่เธอได้ไม่ใช่กำลังใจ แต่คือคำดูถูกที่พ่อคิดว่ามันเป็นแรงกระตุ้นที่ดี
สำหรับมินนี่ ‘ความรัก’ หรือ ‘คำชม’ ต่างหากที่จะช่วย น่าเศร้าที่เธอแทบไม่เคยได้รับมันเลย
มินนี่เล่าว่าเพื่อนของเธอหลายคนก็ประสบปัญหาเรื่องความคาดหวังไม่ต่างกันเมื่อต้องก้าวเข้าสู่โลกของผู้ใหญ่วัยทำงาน หากทำพลาดเพียงเล็กน้อย หลายคนรับไม่ได้อย่างรุนแรง เพราะความเป็นที่หนึ่งหมายถึงต้องไม่มีความผิดพลาด นั่นเป็นที่มาว่ารุ่นของเธอจึงเป็นรุ่นที่โบยตีตัวเองหนักมาก ขณะเดียวกันก็โอบกอดและให้อภัยความผิดพลาดของตัวเองได้น้อยมากเช่นกัน
“แล้วมินนี่คิดว่าทำไมพ่อถึงทำแบบนี้” ผู้กำกับสารคดีย้อนถามมินนี่
เธอหยุดคิดแล้วตอบว่า พ่อของเธอเองก็คงถูกเลี้ยงดูมาโดยที่ไม่ได้รับคำชมหรือการแสดงความรักเหมือนกัน เพราะนั่นเป็นลักษณะนิสัยของครอบครัวคนจีน ซึ่งเธอก็ไม่เข้าใจว่าทำไมการชมหรือการแสดงความรักในครอบครัวคนจีนถึงเป็นเรื่องยากนัก
‘ฝัน’ วัย 36 ปี คือตัวแทนของคน Gen Y ที่เติบโตมากับชีวิตที่แทบไม่เคยเลือกอะไรได้เอง ตอนเป็นเด็กเขาถูกพามาอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด ก่อนที่ทุกคนในครอบครัวจะตั้งเป้าให้เขาต้องเข้าเรียนม.1 ที่กรุงเทพฯ ให้ได้ เพื่อไปอยู่กับพ่อและแม่ ทั้งที่ตอนนั้นเขาไม่อยากไปอยู่กรุงเทพฯ
เมื่อเข้า ม.1 เขาอยู่ในสังคมโรงเรียนชายล้วน ขณะที่ตัวเขาพบว่าเพศสภาวะของเขาแปลกแยกไปจากคนอื่น จนโดนเพื่อนที่โรงเรียนกลั่นแกล้ง และเมื่ออยู่บ้าน พ่อคือผู้คุมกฎผู้เข้มงวด เขามีหน้าที่เพียงแค่ต้องเชื่อฟัง สิ่งเหล่านี้ทำให้ฝันรู้สึกว่าเขาไม่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้เลย และมีชีวิตอยู่ด้วยการทำตามสิ่งที่คนอื่นคาดหวังอย่างเชื่อฟัง
ความเครียดที่เก็บกดอย่างไม่รู้ตัวทำให้ฝันกลายเป็นคนนอนกัดฟัน เขากัดจนฟันหลุดไป 2 ซี่ และกลายเป็นคนนอนตื่นเช้ามาก แต่ก็ตื่นมาด้วยความรู้สึกหมดแรง เหมือนมีอะไรกดทับที่บ่าอยู่ตลอดเวลา และจมอยู่บนเตียงเป็นเวลานานกว่าจะลุกขึ้นทำอะไรได้
“เราโตมากับนิยามที่ว่า ความรักเท่ากับการเชื่อฟัง แนวคิดนี้ทำให้ความต้องการเราไม่เคยถูกได้ยิน จนเสียงถูกกดไว้ และหายไป เรื่องนี้มันเกิดขึ้นทุกระดับของสังคม ตั้งแต่ความสัมพันธ์ ครอบครัว โรงเรียน จนถึงประเทศ”
‘แม่ณี’ วัย 65 ปี คือตัวแทนของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เป็นภาพสะท้อนแผลลึกฉกรรจ์ของผู้หญิงที่มีบทบาทเป็นทั้ง ‘ลูกสาวที่ดี’ ‘เมียที่ดี’ และ ‘แม่ที่ดี’ ในสังคมชายเป็นใหญ่ที่ให้ภาพชัดเจนที่สุด
แม่ณีเกิดในครอบครัวคนจีนที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว ถูกสอนให้เชื่อฟังความต้องการของพ่อแม่มากกว่าของตัวเอง หากมีแฟนเป็นคนไทย ญาติๆ จะดูถูก แม่ณีจึงเลิกกับแฟนคนไทยเพื่อครอบครัว
“พ่อแม่ต้องมาก่อน แต่เราก็กินข้าวไม่ลงไป 2 เดือน” แม่ณีเล่าถึงความเจ็บปวดในอดีตด้วยน้ำเสียงปราศจากความแค้นเคือง และบอกว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ ที่คนในสมัยนั้นจะคิดถึงพ่อแม่ก่อนตัวเอง
ต่อมาแม่ณีแต่งงานกับคนจีนด้วยกัน ไม่ใช่เพราะอยากแต่ง แต่เพราะค่านิยมสมัยนั้นใครๆ ก็ต้องแต่ง ในนิตยสาร ‘กุลสตรี’ ที่แม่ณีอ่านสมัยยังสาว สอนผู้หญิงให้กราบสามีทุกวัน เชื่อฟังอยู่ในโอวาทของสามี ปรนนิบัติรับใช้แม้กระทั่งถอดรองเท้าให้สามี แม่ณีทำให้ทุกอย่าง ยกเว้นการกราบที่แม่ณีบอกว่าลองทำไม่กี่ครั้งแต่ก็กระอักกระอ่วนใจจนต้องเลิกทำไป
แต่ไม่ว่าแม่ณีจะปฏิบัติตัวเป็นภรรยาที่ดีอย่างไร สามีกลับเป็นคนอารมณ์ร้อนและชอบใช้กำลัง สามีนั้นถูกตามใจเนื่องจากเป็นลูกชายในครอบครัวคนจีน จึงไม่เคยถูกว่าแม้จะทำผิด ดังนั้นเมื่อทำผิดก็จะโทษว่าเป็นเพราะคนอื่นหรือสิ่งอื่นอยู่เรื่อยไป และอาจเพราะแบบนั้น คนที่เหมาะที่สุดที่จะโทษจึงเป็นแม่ณี
แม่ณีเคยเกือบโดนสามีเอามีดฟัน และมีรอยฟกช้ำตามเนื้อตัวอยู่เรื่อยๆ แม่ณีต้องแบกรับการถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ประคับประคองครอบครัวให้ไปต่อ เพื่อให้พ่อ แม่ ลูกอยู่กันพร้อมหน้าตามแบบค่านิยมที่ควรจะเป็น จากความเจ็บช้ำที่สะสมได้แสดงออกมาเป็นอาการแพนิค หวาดกลัวเสียงดัง หวาดระแวงเวลาอยู่ในที่ที่มีคนพลุกพล่าน จนวันหนึ่งที่แม่ณีทนไม่ไหวและเกือบฆ่าตัวตายได้สำเร็จ
“วันนั้นถึงเบสท์จะร้องยังไงแม่ก็คงไม่สนใจแล้ว เพราะมันไม่ไหวจริงๆ”
ด้วยบทสนทนานี้เราจึงได้รู้ว่า ‘แม่ณี’ ก็คือแม่ของเบสท์ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้นั้นเอง โชคยังดีที่แม่ณีนั่งรถเมล์ผิดฝั่ง จากรถที่จะพาเธอไปสู่สะพานเพื่อกระโดดลงไป จึงเป็นรถที่พาเธอกลับบ้านไปหาลูกชายแทน
แล้วเราก็ได้รู้ โดยที่ผู้กำกับไม่ต้องอธิบาย ว่าเหตุใดเขาถึงทำสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะอยากทำความเข้าใจคนเป็นโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงการกลับไปทำความเข้าใจตัวของผู้กำกับเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนในครอบครัวของเขา และมันส่งผลกระทบอย่างไรต่อตัวเขาเอง
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะกล้าเผชิญหน้ากับอดีตที่เจ็บปวดอย่างตรงไปตรงมา
สารคดีเรื่องนี้พาคนดูไปรู้จักโรคซึมเศร้าที่ไม่ใช่แค่ในฐานะโรคซึมเศร้า แต่เห็นชีวิตที่อยู่ในนั้นด้วย ชีวิตที่ผ่านการแตกสลาย และผ่านความพยายามอีกหลายร้อยครั้งที่จะยังมีชีวิตอยู่ ชีวิตที่พยายามค้นหา ทำความเข้าใจ สิ่งที่ประกอบสร้างเราให้เป็นเรา ทั้งครอบครัว สังคม ประเทศ เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะได้มีชีวิตอยู่ในแบบที่ไม่ทุกข์จนเกินไป
‘อยากกอด’ จึงเป็นทั้งความรู้สึกที่อยากกอดบุคคลในสารคดีเหล่านี้รวมทั้งตัวเราเองและทุกคนด้วย ที่ยังต้องมีชีวิตอยู่ในประเทศที่อคติและความเหลื่อมล้ำยังดำเนินไป ประเทศที่คุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน ทั้งเรื่องเพศ ชนชั้น และสถานะทางสังคม ประเทศที่แทบไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับเมื่อคุณล้ม ประเทศที่ผู้เป็นที่หนึ่งเท่านั้นถึงจะอยู่รอด ประเทศที่ผู้น้อยต้องก้มหัวเชื่อฟังผู้มีอำนาจเท่านั้นถึงจะอยู่รอด
ประเทศที่หากจะมีใครสักคนป่วยด้วยโรคซึมเศร้าเราก็คงไม่ประหลาดใจ