‘Melbourne Connect’ เชื่อมโยงคน พื้นที่ และความรู้ จุดกำเนิดนวัตกรรม

733 views
5 mins
March 1, 2021

          เมื่อกล่าวถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน Mixed-use Project เราอาจคุ้นเคยกับโครงการที่รวมเอาห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการใช้ประโยชน์บนพื้นที่อย่างสูงสุด แต่ที่เมลเบิร์นได้มีโครงการที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นมาตรฐานใหม่ของการออกแบบเพื่อสร้างศูนย์รวมแห่งการเรียนรู้และการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสู่การสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้อย่างครบวงจร

Melbourne Connect

          Melbourne Connect เป็นโครงการพื้นที่สร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของย่านนวัตกรรมแห่งเมลเบิร์น (Melbourne Innovation Districts) โดยมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น The University of Melbourne ร่วมกับกลุ่มบริษัทเอกชนที่นำโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Lendlease พัฒนาจากสถานที่ซึ่งอดีตเคยเป็นโรงพยาบาลรอยัลวีเมนส์ (Royal Women’s Hospital) ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนน Swanston และ Grattan ตรงข้ามกับมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ได้รับการอนุมัติสร้าง ค.ศ.2017 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลาย ค.ศ.2020

          สถานที่แห่งนี้ได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมโอกาสในการทำงาน สร้างแรงบันดาลใจและผสานเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ทุกแง่มุมของ Melbourne Connect คำนึงถึงการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยืดหยุ่น กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และมุ่งหวังให้ผู้คนได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ผู้เช่าสามารถเข้าถึงโปรแกรมกิจกรรมต่างๆ และบริการสนับสนุนการเรียนรู้เพิ่มเติม มีพื้นที่กลางแจ้งเพื่อการทำงานแบบบูรณาการที่ผนวกรวมการทำงานและการพักผ่อนสู่คุณภาพชีวิตที่สมดุล

           พื้นที่ใช้สอยของโครงการมีขนาด 74,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างกว่า 500 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะสามารถสร้างการจ้างงานโดยตรงได้มากกว่า 3,000 ตำแหน่ง และจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 5,000 ตำแหน่ง

แนะนำโครงการ Melbourne Connect

อาคารอัจฉริยะเพื่อชีวิตอัจฉริยะ

           ตัวโครงการเน้นวัสดุการออกแบบด้วยกระจกจากพื้นถึงเพดาน เพื่อสร้างการรับรู้ที่โปร่งโล่งและได้รับทิวทัศน์ที่สวยงาม ขณะเดียวกันบานกระจกที่มีลักษณะเป็นแผงสามเหลี่ยมจะมีส่วนทึบแสงที่ปรับองศาให้พอดี เพื่อควบคุมปริมาณแสงแดดที่ส่องผ่านเข้ามายังตัวอาคารได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการออกแบบให้มีการใช้ระบบพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานลง 33% มีที่กักเก็บน้ำฝนเพื่อนำน้ำมาผ่านกระบวนการและไว้ใช้สอยภายในอาคาร

          รูปแบบของโครงการประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 5 หลังเชื่อมต่อกัน โดยมีใจกลางเป็นพื้นที่เปิดโล่งสาธารณะที่เรียกว่า ‘Oculus’ ภายในอาคารจะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับผู้เช่า ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัป ซึ่งผู้เช่าทั้งหมดนี้จะเชื่อมต่อกันด้วย พื้นที่ส่วนกลางที่เรียกว่า ‘superfloor’ มีลักษณะเป็นแผ่นพื้นขนาดใหญ่ คล้ายเฉลียงเชื่อมถึงกันล้อมรอบพื้นที่เปิดโล่งส่วนกลาง ซึ่งไว้สำหรับใช้งานร่วมกัน มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การนั่งทำงาน การประชุม สัมมนา จัดแสดงงาน เป็นต้น

          มีห้องปฏิบัติการทดลองต้นแบบ ‘FabLab’ เพื่อการทดลองและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และพื้นที่เช่าสำหรับร้านค้า ร้านอาหาร ศูนย์รับดูแลเด็ก รวมไปถึงห้องพักสำหรับนักศึกษา และบุคคลทั่วไป พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ที่จอดรถจักรยานและที่จอดรถชั้นใต้ดินที่กว้างขวางปลอดภัย เชื่อมต่อการเดินทางด้วยสถานีรถรางและรถประจำทาง และจะใช้เวลาเดินเพียงไม่กี่นาทีจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งใหม่ Parkville ซึ่งจะเปิดให้บริการใน ค.ศ. 2026

Science Gallery หอวิทยาศาสตร์แห่งแรกของออสเตรเลีย

          นอกจากนี้ภายในโครงการยังเป็นที่ตั้งของ หอวิทยาศาสตร์แห่งเมลเบิร์น Science Gallery Melbourne บนขนาดพื้นที่กว่า 3,800 ตารางเมตร ซึ่งตั้งเป้าหมายเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการและการเรียนรู้ที่ทันสมัยแห่งศตวรรษ มีพื้นที่จัดนิทรรศการ โรงละคร ห้องเวิร์กชอป (workshop) และพื้นที่ส่วนกลาง ร่วมกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์รับรู้และช่วยในการเชื่อมต่อกันระหว่างคนรุ่นใหม่ วิลเลียม สมาร์ต (William Smart) ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ Smart Design Studio ผู้ออกแบบหลักได้กล่าวไว้ว่า

          “เมื่อพื้นที่แห่งนี้แล้วเสร็จ คาดหวังว่าจะสามารถเชิญชวนให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่สนุกสนาน กระตุ้นกระบวนการคิด หอวิทยาศาสตร์แห่งนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจและเปรียบดังผืนผ้าใบผืนใหม่สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานอันจะบอกเล่าเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานเข้ากับศิลปะและนวัตกรรม”

ภาพจำลองบรรยากาศของ หอวิทยาศาสตร์แห่งเมลเบิร์น Science Gallery Melbourne
ภาพจำลองบรรยากาศของ หอวิทยาศาสตร์แห่งเมลเบิร์น Science Gallery Melbourne
Ptoto : Peter & Ruth McMullin Galleries, Science Gallery Melbourne opening 2020

พื้นที่อิสระเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรม

          จะเห็นได้ว่าตัวโครงการให้ความสำคัญกับการสร้างให้มีพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างหลากหลาย เพื่อจุดประกายและกระตุ้นการแลกเปลี่ยนทางความคิด ดังคำกล่าวของ ศาสตราจารย์จิม แมคคลัสกี (Jim McCluskey) รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น

          “เพราะนวัตกรรมนั้นจะเกิดขึ้นจากการทำงานและสภาพแวดล้อมที่มีชีวิตชีวา ที่ซึ่งผู้คนได้รับการสนับสนุนให้แบ่งปันทักษะและความคิดในขณะที่พวกเขาทำงานและเข้าสังคมร่วมกัน”

          โดยคาดหวังว่าการผสมผสานของผู้คนและความคิดนั้นจะจุดประกายความรู้และวิธีการใหม่ๆ ในการทำสิ่งต่างๆ

ชิ้นส่วนเติมเต็มย่านนวัตกรรม

          Melbourne Connect คือสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ของสังคมการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ของเมลเบิร์น เกิดจากความร่วมมือของสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ประชาชน และการสนับสนุนจากส่วนกลาง สะท้อนผ่านการออกแบบพื้นที่ซึ่งคำนึงถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่เดิม หน้าที่การใช้งานและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งเป็นอาคารอัจฉริยะและประหยัดพลังงาน

           โครงการนี้เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มภาพรวมของย่านนวัตกรรมแห่งเมลเบิร์น เพื่อเป็นศูนย์กลางใหม่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้และการสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย แต่สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนทัศนคติและกระตุ้นความมีชีวิตชีวาทางความคิด เพื่อให้นักวิจัย นักศึกษา และคนทำงานสามารถมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เกิดแรงดึงดูดและผลักดันให้มีการค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและธุรกิจสร้างสรรค์ จนกลายเป็นโครงข่ายของสังคมความรู้ที่เข้มแข็งและขับเคลื่อนเมืองไปสู่อนาคต


ที่มา

Lendlease. Project: Melbourne Connect.

Melbourne Connect. https://melbconnect.com.au/

Hayball. Melbourne University Innovation Precinct, Student Accommodation.   

URBIS. Projects Carlton Connect Initiative.

RMIT University. Melbourne Innovation Districts launched. (2017)

Matters. The Melbourne Innovation Districts. (2019).

WOODS BAGOT. Well Connected: Melbourne Connect.

Coer Photo : Weyne Yew on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก