Mekong Review ความแตกต่างอย่างคล้ายกันของเรื่องเล่าระหว่างเรา

172 views
5 mins
March 27, 2024

          “ผมเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเอง” 

           ‘มินห์ บุย โจนส์’ (Minh Bui Jones) เล่าในพอดแคสต์ ‘Men In This Town’ ด้วยน้ำเสียงเนิบช้า ทุ้มนุ่ม จนแทบทำให้นึกถึงสีหน้าและแววตาของเขาเวลาพูดได้ แววตาอ่อนโยนทว่าจริงจัง สีหน้าที่สะท้อนตัวตนที่เป็น เมื่อได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้ว ยิ่งรู้สึกเข้าอกเข้าใจชีวิตของคนพลัดถิ่นมากยิ่งขึ้น

          บุย โจนส์ เกิดที่เวียดนาม อพยพทางเรือมาเพื่ออาศัยอยู่ในออสเตรเลียตั้งแต่ยังเด็ก ใช้เวลาเดินทางรอนแรมนานหลายเดือน เขาเคยเขียนว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาจดจำวัยเด็กได้ชัดเจนอาจเป็นเพราะว่าทุกสิ่งล้วนดูแปลกตา แม้กระทั่งผิวของเขาเองที่สัมผัสอากาศหนาวจนผิวแตก แห้งกร้าน ความเจ็บปวดนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำจนถึงทุกวันนี้ และอีกสารพัดสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาและคนรอบตัว เช่น การได้เห็นพ่อที่เคยเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเอง เป็นผู้นำครอบครัวกลับรู้สึกหวาดกลัวที่จะเข้าสังคมเพราะไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ในขณะที่แม่กลับปรับตัวได้ดีกว่าเพราะเพิ่งจะมีโอกาสได้ออกไปทำงานนอกบ้านเป็นครั้งแรก และมองทุกสิ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง

           “My mom went up and my dad went down.”

          จนกระทั่ง บุย โจนส์ มีโอกาสได้กลับไปเวียดนามกับพ่อ จึงพบว่าบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กระทั่งรู้สึกว่าตนเอง ‘โง่เขลา หูหนวก ตาบอด’ ในอีกประเทศหนึ่ง กลับกลายเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถือในอีกที่หนึ่ง เวลาที่พ่อเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียให้คนรอบตัวฟัง เขาเห็นคนที่มีความมั่นใจ นับถือในตนเองกลับมาอีกครั้ง เขารู้สึกว่าความสามารถในการสื่อสารนั้นทรงพลังเหลือเกิน และทำให้เขาตั้งคำถามถึงสิ่งที่สังคม ‘Romanticize’ (ทำให้ดูสวยงาม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นไปตามนั้น) นั่นคือ ความชื่นชมของคนรอบตัวที่มีต่อพ่อของเขาในฐานะชายคนหนึ่งที่เคยต่อสู้ในสงคราม ทั้งที่สิ่งที่เขามองเห็นในชีวิตจริงคือ คนคนหนึ่งที่ต้องทิ้งทุกอย่างรวมทั้งความนับถือตนเองไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลย มันไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเลยสักนิด 

          เมื่อเติบโตขึ้น บุย โจนส์ พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัว หรือเฉพาะครอบครัว หากเป็นเรื่องที่ผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะจากเวียดนาม กัมพูชา อิหร่าน ฯลฯ หรือคนไกลบ้านล้วนพบเจอ การรู้ว่าตนเองไม่ได้แปลกแยกทำให้เขารู้สึกเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ในดินแดนที่จำแนกเขาและคนที่มาจากต่างถิ่นว่าเป็น ‘คนอื่น’ ความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่ง (belonging) นี้เองทำให้เขาอยากฟังเรื่องราวพวกนี้ให้มากขึ้น และอยากจะเล่าเรื่องราวพวกนี้ออกไป ให้ประวัติศาสตร์มาจากปากพวกเขาเอง 

          ความรักในเรื่องเล่า ปรารถนาที่จะเล่าเรื่อง และ ‘เขียนประวัติศาสตร์’ ด้วยตนเอง ทำให้เขาก่อตั้ง Mekong Review นิตยสารรูปเล่มในขณะนั้น ที่กลายมาเป็นสื่อผสมผสานในปัจจุบัน เพื่อบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนในภูมิภาคเป็นภาษาอังกฤษ

กำเนิด Mekong Review

          เมื่อหลายปีก่อน วรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หาได้ยากยิ่ง แม้กระทั่งกับคนที่อยู่ในภูมิภาคเอง แต่อย่างน้อยมันก็เกิดขึ้นแล้ว Mekong Review คือนิตยสารวรรณกรรมรายไตรมาสที่นำเรื่องราวในแวดวงการเขียนมาสู่นักอ่านในวงกว้าง ตีพิมพ์ผลงานจากหลากหลายประเทศ ทั้งกัมพูชา เมียนมาร์ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียแบบเสรี ไม่ยึดติดกับขั้วอำนาจทางการเมืองหรือธุรกิจ

          บุย โจนส์ มีประสบการณ์ในการทำงานด้านโทรทัศน์และนิตยสารในซิดนีย์ ออสเตรเลีย เขาเคยทำงานในองค์กรด้านสื่อมานานหลายปี ทั้ง The Special Broadcasting Service (SBS) และ The Sydney Morning Herald (SMH) อีกทั้งยังเคยใช้ชีวิตอยู่ในสหราชอาณาจักร กัมพูชา และไทย มาก่อน เขาเคยทำงานด้านนิตยสารมาบ้าง การทำงานกับ The American Review ทำให้เขารู้สึกอยากจะให้มีนิตยสารที่เล่าเรื่องของภูมิภาคเอเชียในแบบนั้นบ้าง

          แรงผลักดันที่ทำให้เกิด Mekong Review มาจากเพื่อนซึ่งเป็นทีมงานผู้จัด ‘Kampot Readers & Writers Festival’ ที่ชักชวนให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในงานเทศกาลหนังสือ เป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดตัวนิตยสารใหม่ในงานเทศกาล ซึ่งจะจัดขึ้นในเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์ครึ่ง แม้จะดูฉุกละหุก แต่ บุย โจนส์ คิดว่าไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะเหมาะสมไปกว่านี้

          “ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ จังหวะ เวลา คือทุกสิ่ง ถ้าคุณทำมันเร็วเกินไปสัปดาห์หนึ่ง หรือทำช้าไปสักสัปดาห์หนึ่ง คุณก็ตกขบวนเรือแล้ว”

          และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Mekong Review บุย โจนส์ เชื่อว่าท่ามกลางงานเทศกาลหนังสือที่ทุกคนกำลังตื่นเต้น กระตือรือร้น และมีพลัง นิตยสารเกิดใหม่คงจะได้รับความสนใจจากมวลชนเป็นอย่างดี

Mekong Review นิตยสารวรรณกรรมเอเชียกับเรื่องราวที่แตกต่างอย่างคล้ายกัน
มินห์ บุย โจนส์
Photo: Gerakbudaya

เติบโต และงอกงาม

          หลายปีที่ผ่านไป Mekong Review ได้เติบโตขึ้นมาก จากนิตยสารที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนในช่วงงานเทศกาลหนังสือในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กลายมาเป็นนิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม และไอเดียใหม่ๆ ที่ได้รับการยอมรับโดยนานาประเทศ เปิดพื้นที่ให้นักเขียน ศิลปิน ช่างภาพ ได้ทดลองนำเสนองานจากมุมมองของตนเอง ไม่ว่าจะในรูปของบทวิจารณ์ บทความ บทสัมภาษณ์ บทกวี เรื่องสั้น โดยจุดร่วมของผลงานเหล่านั้นคือ ความเสรี ไร้ข้อจำกัด

          “ความรู้สึก สี สัมผัส มันสำคัญมาก” บุย โจนส์เล่าถึงความพิเศษบางอย่างของสื่อสิ่งพิมพ์ที่แลกมาด้วยปัญหาสารพัดอย่างของการจัดหากระดาษ โรงพิมพ์ การขนย้าย การกระจายสต๊อกข้ามประเทศ จนค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นสื่อผสมผสานในท้ายที่สุด แต่ก็ยังคงการตีพิมพ์ไว้เป็นรายไตรมาส และฉบับรวมเล่มพิเศษตามวาระ เช่น ฉบับพิเศษอย่าง “Hong Kong: Reports from the Protest” ที่บันทึกเรื่องราวของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของฮ่องกงเพื่อคัดค้านไม่ให้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์นี้ ถูกเล่าโดยน้ำเสียงของมหาอำนาจเพียงฝ่ายเดียว 

          Mekong Review ถ่ายทอดเรื่องราวศิลปะ วรรณกรรม วัฒนธรรม การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมในเอเชีย ผ่านงานเขียนของผู้คนที่มาจากภูมิภาคนี้ เพื่อที่จะรวบรวมประวัติศาสตร์ผ่านความรู้สึกคิดและเรื่องเล่าจากคนต้นเรื่อง เช่น งานเขียนของ พิม หวังเดชะวัฒน์ นักเขียนชาวไทยที่ผลงานหนังสือเล่มใหม่เพิ่งถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปต่อยอดเป็นซีรีส์ในแพลตฟอร์มชื่อดังก็ได้ฝากผลงานภาคสนามอย่าง ‘Life as a shopping mall’ (วัฒนธรรมห้างสรรพสินค้า) ‘Slum hip-hop’ (ฮิปฮอปจากชุมชนแออัด) ‘Covering Up Violence’ (การแต่งกายและความรุนแรง) ‘Fried and fabulous’ (อาหารสิ้นคิด) ฯลฯ ที่ล้วนสะท้อนระบบค่านิยมและโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมในประเทศไทยผ่านเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้คน  หรือบทกวีของ ซะการีย์ยา อมตยา ที่ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ (อ่านผลงานของพิม หวังเดชะวัฒน์, ซะการีย์ยา อมตยา และนักเขียนชาวไทย หรือชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคนอื่นๆ ได้ที่ Mekong Review By Country, Thailand)

Mekong Review นิตยสารวรรณกรรมเอเชียกับเรื่องราวที่แตกต่างอย่างคล้ายกัน
พิม หวังเดชะวัฒน์
Mekong Review นิตยสารวรรณกรรมเอเชียกับเรื่องราวที่แตกต่างอย่างคล้ายกัน
ซะการีย์ยา อมตยา

          นอกจากนี้ยังมีงานของนักเขียนจากภูมิภาค ที่นักอ่านไทยอาจไม่คุ้นชื่อ แต่เมื่อได้ลองอ่านงานสักชิ้นแล้วอดไม่ได้ที่จะติดตามงานชิ้นอื่นๆ เช่น งานของ ‘Mai Huyền Chi’ นักเขียนหญิงเวียดนามที่เขียนบทวิจารณ์หนังสือสงครามเวียดนามเล่มสำคัญอย่าง The Quiet American ที่เผยให้เห็นมุมมองของสตรีที่มีต่อสงครามและผลกระทบตกค้างอย่างที่ไม่ค่อยเห็นในงานชิ้นไหน

          บุย โจนส์ อธิบายว่าสิ่งที่เขามองหาในงานเขียน คือความงามของภาษา และสารที่แฝงอยู่ในงานเขียน งานชิ้นนั้นต้องสื่อสารกับผู้อ่านได้ชัดเจน งานเขียนไม่ว่าจะประเภทใด หากขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้วย่อมไม่สามารถชวนคนอ่านให้เข้าถึงสาระสำคัญของเรื่องเล่านั้นได้

          อาจฟังดูไม่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลักในการสื่อสาร แต่ บุย โจนส์ ก็เชื่อมั่นว่าภูมิภาคนี้ยังมีเรื่องราวให้บอกเล่าอีกมาก มากพอจนทำให้เขาสามารถจัดทำ Mekong Review ฉบับพิเศษที่ชื่อว่า The Best of Mekong Review ที่วางจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือทั่วโลก 

          แม้บุย โจนส์ จะเห็นพลังของการเล่าเรื่องและการเรียนรู้ผ่านเรื่องเล่าจากพ่อของเขา การทำงาน Mekong Review ทำให้เขายิ่งเชื่อมั่นในการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านปากของผู้คนได้มากขึ้นกว่าเดิม ดังที่เขาเขียนไว้ในคำนำของ The Best of Mekong Review ว่า 

          “เรื่องราวที่เราเล่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งหรือเรื่องจริง ล้วนสร้างขอบเขตความคิด กลายเป็นภูมิวิสัยทัศน์ของเรา เราปักหมุดในจุดที่เราชอบและขีดฆ่าสิ่งที่เราไม่ชอบออกไปในแผนที่นี้ เรื่องราวของเอเชียที่ชาวตะวันตกเป็นผู้บอกเล่าตลอดห้าร้อยปีที่ผ่านมานั้นฉวัดเฉวียนอย่างมาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของตัวละครจากคนป่าเถื่อน ชาวนาชาวไร่ มาเป็นศิลปิน นักปฏิวัติ ผู้ประกอบการ ตัวละครอาจเปลี่ยนแปลงแต่พล็อตเรื่องก็ยังคงเดิม นั่นคือชาวตะวันตกนั้นเหนือกว่าชาวตะวันออก” 

          บุย​ โจนส์ ไม่มีเจตนาที่จะสลับขั้วอำนาจให้ใครเหนือกว่าใคร แต่เราได้เห็นผ่านงานเขียนทาง Mekong Review ที่ต่อต้านการแบ่งขั้วนี้ และตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ที่เราเคยได้ฟัง ได้อ่านจนฝังหัวมา และค่อยๆ วาดภาพความเข้าใจใหม่ผ่านความคิด ผ่านเรื่องราวของเราเอง

          หลังจากต่อสู้กับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมานานหลายปี เกือบจะปิดกิจการหลายหน ในที่สุด Mekong Review ก็ถูกซื้อกิจการต่อโดยชาวฮ่องกงที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลียในปี 2022 ด้วยความหวังจะต่อลมหายใจให้กับนิตยสารที่บอกเล่าเรื่องราวจากอีกมุมหนึ่งของโลก บรรณาธิการ (Managing Editor) คนปัจจุบันคือ เคิร์สเตน ฮัน (Kirsten Han) ที่มารับหน้าที่และสืบทอดปณิธานของ Mekong Review ที่จะเป็นพื้นที่เสรีในการนำเสนอเรื่องราว เธอเป็นหนึ่งในรายชื่อที่ บุย โจนส์ได้แนะนำเจ้าของคนใหม่เอาไว้ ว่าเป็นบุคคลที่ควรจะเชิญมาร่วมงานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจรับหน้าที่บรรณาธิการเต็มตัวเพื่อที่จะทุ่มเทให้กับงานนี้ได้อย่างเต็มที่ เต็มเวลา

          “ฉันยังไม่มี KPI หรือกรอบของงานอย่างชัดเจน แต่เขา (Mekong Review) เป็นเหมือนลูกน้อยของฉัน และฉันก็ต้องดูแลลูกคนนี้ต่อไป” ฮัน กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อปลายปี 2023

          จนถึงวันนี้..พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวเอเชียยังคงอยู่ แม้ Mekong Review จะเป็นเรื่องราวประจำภูมิภาค หาก ‘ความหลากหลาย’ ทำให้เราเห็นว่าเรื่องราวของผู้คนไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนล้วนมีความซับซ้อนต่างกันไป และในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่า บริบททางสังคมล้วนหล่อหลอมชีวิตผู้คนจนไม่ใช่ความบังเอิญที่เรื่องราวของเรา…และเขาจะแตกต่างอย่างคล้ายกัน

Mekong Review นิตยสารวรรณกรรมเอเชียกับเรื่องราวที่แตกต่างอย่างคล้ายกัน
Photo: Mekong Review


ที่มา

บทความ “Interview with Minh Bui Jones” จาก apwrityers.org (Online)

บทความ “The Power of Literature” จาก khmertimeskh.com (Online)

บทความ “Threatened Mekong Review’s Legacy Lives On” จาก kiripost.com (Online)

เว็บไซต์ Mekong Review (Online)

Cover Photo: Mekong Review

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก