ห้องสมุดฝรั่งเศส บทบาททางสังคมกับเหตุผลของการมีอยู่

1,544 views
7 mins
March 25, 2022

          ปัจจุบัน ห้องสมุดส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เก็บรักษาหนังสือหรือพื้นที่อ่านอีกต่อไป แต่อยู่ในฐานะผู้ให้บริการและสร้างประสบการณ์ทางวัฒนธรรม บางแห่งยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของพลเมืองด้วย

          ในประเทศฝรั่งเศส ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา เริ่มจากห้องสมุดไม่กี่แห่ง ก่อนจะขยายไปยังห้องสมุดแห่งอื่นๆ ในประเทศอย่างต่อเนื่อง กล่าวเฉพาะเรื่องของทรัพยากร ห้องสมุดแบบดั้งเดิมหลายแห่งพัฒนาเป็น ‘ห้องสมุดมัลติมีเดีย’ ซึ่งมีทั้งหนังสือเล่ม หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงการป็นแหล่งข้อมูลสารสนเทศครบวงจร มีสื่อมัลติมีเดียอื่นๆ ที่ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของคนยุคใหม่ ทั้งภาพยนตร์ สารคดี เพลง หนังสือเสียง ส่วนเรื่องของการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ จะเห็นได้จากการริเริ่มจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์กัน เช่น นิทรรศการ การประชุม เวิร์กชอป และการฝึกอบรม

          แนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้บทบาทห้องสมุดที่มีต่อสังคมมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับบริบทของห้องสมุดแต่ละแห่ง เช่น การเป็นศูนย์วัฒนธรรมและแหล่งพักผ่อนของเมือง การเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์ของชุมชนที่ยังคงรักษาคุณค่าดั้งเดิมและประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของเมือง และการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน

          ห้องสมุดฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นส่วนเดียวกันกับสิ่งอำนวยความสะดวกของเมือง ตอบโจทย์ปัญหาหรือความต้องการตามบริบทชุมชน ออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงการใช้งาน ออกแบบบรรยากาศที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้อย่างอิสระ และออกแบบบริการให้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะด้านวัฒนธรรม มีตัวอย่างที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ห้องสมุดสื่อ เมืองโคลอมบส์ (Media Library in Colombes)

          ห้องสมุดแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ชุมชนแห่งใหม่ ในย่าน Fossés Jean/Bouviers ของเมืองโคลอมบส์ ใกล้กับกรุงปารีส สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริม ฟื้นฟู ยกระดับคุณภาพประชาชน และเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของเมือง

          ในด้านการออกแบบ ผนังด้านนอกอาคารโดดเด่นด้วยการปูแผ่นวัสดุโลหะผสม (metal composite) สีทองส่องประกาย ขณะที่การตกแต่งภายใน ใช้วัสดุชนิดเดียวกันโทนสีขาวเพื่อเพิ่มความสว่างไสว ส่วนด้านบนของอาคาร มีการติดตั้งแผงป้ายไฟ LED ขนาดใหญ่ แสดงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในเมือง ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและกระชับความสัมพันธ์กับชุมชน

          พื้นที่ภายในถูกออกแบบให้มีความโปร่งโล่ง รายรอบด้วยบานกระจกขนาดใหญ่ทั่วทั้งอาคาร บริเวณโถงกลางมีสวนหย่อมที่ช่วยให้ความร่มรื่น มีบันไดเชื่อมจากส่วนต้อนรับไปยังชั้นบนซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องสมุดและแกลเลอรี ผังภายในมีลักษณะคล้ายก้นหอย แทนสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวไปสู่ความก้าวหน้าของสังคม ผ่านความรู้ วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ของผู้คนต่างวัย

Media Library in Colombes
ห้องสมุดสื่อ เมืองโคลอมบส์ (Media Library in Colombes)
Photo : Sergio Grazia/Brenac & Gonzalez & Associés

ห้องสมุดในศูนย์วัฒนธรรมโอโน (Auneau Cultural Center)

          แนวทางการออกแบบห้องสมุด ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตลาดในบริเวณใกล้เคียง ด้านหน้าอาคารมีลานกว้างขนาดใหญ่ทอดยาวไปยังจัตุรัสกลางเมือง ช่วยเชื่อมพื้นที่ระหว่างห้องสมุดและศูนย์กลางของชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ตอบโจทย์ทั้งกิจกรรมทางวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง

          พื้นที่ภายในอาคารออกแบบเพื่อรองรับกิจกรรมและความต้องการอันหลากหลาย ชั้นล่างเป็นพื้นที่ส่วนกลาง มีที่นั่งตามมุมต่างๆ เหมาะสำหรับการพบปะพูดคุยและผ่อนคลายตามอัธยาศัย ชั้นสองเป็นส่วนของห้องสมุด โดดเด่นด้วยผนังกระจกขนาดใหญ่ที่มองเห็นวิวเมือง มีส่วนที่เป็นห้องประชุมและสำนักงานแยกออกมาต่างหาก ชั้นบนสุด บริเวณห้องใต้หลังคา ใช้เป็นห้องซ้อมเต้นและยิมนาสติก

          ตัวอาคารออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พื้นผิวอาคารด้านนอกทำจากคอนกรีตประสิทธิภาพสูง เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิภายใน และใช้พลังงานหลักจากแผงโซลาร์เซลล์

ห้องสมุดสื่อ เมืองทียงวีลล์ (Media Library in Thionville)

          ห้องสมุดแห่งนี้มุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบของห้องสมุดมัลติมีเดีย และเป็นพื้นที่หย่อนใจสำหรับผู้คนในย่านทียงวิลล์ (Thionville) ตัวอาคารถูกออกแบบโดยใช้เส้นสายที่โค้งมนและพลิ้วไหว เพื่อสร้างความรู้สึกอิสระ ผ่อนคลาย สวนทางกับวิธีคิดในการออกแบบบอาคารแบบเดิมๆ ที่เน้นรูปทรงเรขาคณิต

          จุดเด่นของห้องสมุด คือการออกแบบและจัดวางลำดับการเข้าถึงพื้นที่ เมื่อก้าวเข้ามาในบริเวณห้องสมุด ผู้ใช้งานจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่ค่อยๆ คลี่คลายจากความเป็นเมืองอันวุ่นวาย สู่ความปลอดโปร่งจากธรรมชาติ ไล่ตั้งแต่ลานด้านนอกที่สามารถเดินเล่นลัดเลาะไปตามตัวอาคาร พื้นที่อเนกประสงค์ด้านในรายล้อมด้วยหนังสือและมุมพักผ่อนตามอัธยาศัย โดยมีไฮไลต์อยู่ที่บริเวณดาดฟ้า ซึ่งออกแบบให้เป็นสวนลอยฟ้าขนาดย่อม มีพื้นที่ให้ตั้งวงปิกนิก มีมุมให้เอนหลังนั่งอ่านหนังสือ หรือใครอยากงีบหลับก็ไม่มีใครว่า

          ห้องสมุดมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่น ห้องเล่าเรื่อง ห้องเรียนภาษา ห้องเล่นวิดีโอเกม ห้องศิลปะ สตูดิโอดนตรี รวมถึงร้านอาหารและคาเฟ่ ทั้งหมดนี้เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตที่หลากหลาย โดยมีบรรยากาศที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างอิสระ

Media Library in Thionville/Eugeni PONS
Photo : Eugeni PONS
Photo : Eugeni PONS
Photo : Eugeni PONS

ห้องสมุดอเล็กซี เดอ ตอกเกอวีลล์ (Bibliothèque Alexis de Tocqueville)

          ห้องสมุดประชาชนในแคว้นนอร์มังดีแห่งนี้ มีพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ใจกลางย่านประวัติศาสตร์ของเมือง ผังอังคารได้รับการออกแบบเป็นรูปกากบาท โดยส่วนปลายทั้งสี่ด้านชี้ไปยังจุดสำคัญต่างๆ ในเมือง เช่น โบราณสถานแห่งอาบเบอี โอ ดามส์ (Abbaye-aux-Dames) ทางทิศเหนือ และสถานีรถไฟกลางของเมือง ทางทิศใต้

          ส่วนพื้นที่ภายใน มีการแบ่งโซนหนังสือออกเป็น 4 สาขา แยกไปตามแกนของอาคารทั้ง 4 แกน ได้แก่ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วรรณกรรม และศิลปะ โดยพื้นที่ทั้ง 4 ด้านจะมาบรรจบกันที่ห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่บริเวณจุดตัดกลางอาคาร วัสดุรอบอาคารเน้นการใช้บานกระจกขนาดใหญ่ เผยให้เห็นทิวทัศน์ด้านนอก ตั้งแต่สวนสาธารณะ ทางเดินเท้า ลานริมน้ำ รวมถึงทัศนียภาพของเมืองโดยรอบที่อยู่ไกลออกไป

          ในส่วนของบริการสารสนเทศ มีทั้งหนังสือเล่มและหนังสือดิจิทัลรวมกว่า 120,000 ฉบับ ใช้ระบบขนส่งและลำเลียงหนังสืออัตโนมัติ ช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ ทำให้พวกเขามีเวลาอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีห้องใต้ดินสำหรับเก็บเอกสารสำคัญและของสะสมทางประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ

ห้องสมุดมัลติมีเดียเมโมแห่งโมแนง (MéMo Médiathèque of Monein)

          ตั้งอยู่ใกล้กับศาลากลาง ในเมืองโมแนง เมืองชนบททางใต้ของฝรั่งเศส ออกแบบภายใต้แนวคิดสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของเมือง เน้นความเชื่อมโยงระหว่างสถาปัตยกรรมแบบใหม่และแบบเก่า มีการผสมผสานวัสดุสมัยใหม่อย่างคอนกรีต โลหะสีดำ กับวัสดุดั้งเดิมอย่างกำแพงหินโบราณ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น คุ้นเคย และส่งเสริมให้ชาวเมืองเกิดความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของ

          อาคารห้องสมุดได้รับการปรับปรุงและออกแบบให้กลมกลืนกับบ้านที่อยู่ติดกัน พื้นที่ชั้นล่างมีลานขนาดใหญ่ที่เดินทะลุออกไปสู่จัตุรัสกลางเมืองได้ บริเวณชั้นสองเป็นส่วนของห้องสมุดและห้องอ่านหนังสือ มีผนังกระจกยาวตลอดช่วงของอาคาร ทำให้มองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของเมืองได้อย่างเต็มตา

          นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ไว้ให้บริการด้วย เช่น ห้องกิจกรรม ห้องทำอาหาร รวมถึงสวนเล็กๆ สำหรับนั่งพักหย่อนหย่อนใจที่ตั้งอยู่ด้านหลังของอาคาร

ห้องสมุดสื่อและสวนแห่งเมืองเปลิสซาน (Media Library and Park Pélissanne)

          ห้องสมุดในแคว้นโพรวองซ์แห่งนี้ คืออีกตัวอย่างหนึ่งของห้องสมุดที่นำอาคารเก่ามาบูรณะได้อย่างน่าประทับใจ ตั้งอยู่ในอาคารประวัติศาสตร์ Maureau Mansion ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1642 บริเวณใจกลางสวนสาธารณะของเมือง

          การออกแบบคำนึงถึงสองมิติหลักที่คาบเกี่ยวกัน คือการรักษาคุณค่าดั้งเดิมของอาคารเก่าแก่ที่จะได้รับการฟื้นฟู และการสร้างส่วนต่อขยายเพื่อเติมเต็มประโยชน์ใช้สอย โดยเคารพในบริบททางประวัติศาสตร์ของพื้นที่และภูมิทัศน์อันอุดมสมบูรณ์งดงาม

          ในการปรับปรุงอาคารเก่า ผู้ออกแบบได้รักษาโครงสร้างและผังห้องดั้งเดิมไว้เกือบทั้งหมด ขณะที่ส่วนต่อขยาย แบ่งเป็นพื้นที่ 2 ชั้นขนาดใหญ่ ออกแบบให้ตอบรับการใช้งานที่ยืดหยุ่น บริเวณชั้นสองมีผนังส่วนหนึ่งที่เว้าเป็นแนวโค้ง เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่อายุกว่าร้อยปีเอาไว้ และใช้วัสดุกระจกใสบานใหญ่ ทำให้ผู้ใช้บริการได้สัมผัสกับบรรยากาศของแมกไม้สีเขียวภายนอกอย่างเต็มตา

          ส่วนปลายสุดของอาคาร เป็นทางเดินที่เชื่อมจากห้องสมุดไปยังจัตุรัสใจกลางเมือง ปรับมาจากบ้านเก่าหลายหลัง โดยเจาะช่องระหว่างคูหาให้เป็นทางเดิน ปรับหลังคาเดิมให้เป็นกระจก เกิดเป็นเส้นทางสัญจรที่ปลอดภัยและสว่างด้วยแสงธรรมชาติ ผู้อำนวยการห้องสมุดกล่าวว่า “หลังจากปรับปรุงอาคารและเปิดให้บริการ มีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นสองเท่า แทบทุกคนบอกว่าห้องสมุดเป็นของขวัญที่สวยงามสำหรับชาวเปลิสซาน”

Media Library and Park Pélissanne
Photo : Eugeni Pons
Media Library and Park Pélissanne
Photo : Eugeni Pons
 ห้องสมุดสื่อและสวนแห่งเมืองเปลิสซาน (Media Library and Park Pélissanne)  Photo : Eugeni Pons
Photo : Eugeni Pons

ห้องสมุดคือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

          ห้องสมุดส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส นอกจากจะสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุดแล้ว ยังมีเจตจำนงที่จะให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น

          ห้องสมุดมัลติมีเดียในเมืองเครเตย (Médiathèques de Créteil) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปารีส ในย่าน Mont Mesly ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของกรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานที่มีทักษะน้อย บรรณารักษ์ของที่นี่จึงพยายามจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและกิจกรรมที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย โดยแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรภายนอกที่เข้ามาช่วยสนับสนุนสารสนเทศเรื่องการจ้างงานและการรู้หนังสือ มีการจัดเวิร์กชอปต่างๆ เช่น การอ่าน การคำนวณ คอมพิวเตอร์ งานหัตถกรรม และการแสดงดนตรีเพื่อความหย่อนใจ

          Elisabeth Rozelot หัวหน้าบรรณารักษ์ กล่าวว่า “ห้องสมุดคือพื้นที่ตรงกลางระหว่างบ้านและที่ทำงาน หน้าที่ของห้องสมุดคือการสอนให้คนรู้จักความเป็นพลเมือง และพัฒนาความคิดของพวกเขา ด้วยความสามารถในการเลือกกิจกรรมพักผ่อน การพบปะผู้อื่น และการมีส่วนร่วมในสังคม”

          เช่นเดียวกับ ห้องสมุดหลุยส์ มิเชล (Louise Michel Library) ในย่าน Réunion ที่นำเสนอแนวคิด ‘ห้องสมุดที่เหมือนบ้าน’

          “เรามุ่งหวังให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งพึ่งพิงในการใช้ชีวิต นี่คือเรื่องสำคัญที่สุดเป็นอย่างแรก ส่วนเรื่องวัฒนธรรมเป็นปัญหารอง” Hélène Certain หัวหน้าบรรณารักษ์กล่าว “สิ่งสำคัญสำหรับเราคือการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้ใช้ เพราะนอกจากห้องสมุดสาธารณะแล้ว แทบจะไม่มีสถานที่ใดในเมืองที่เปิดให้ทุกคนเข้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในห้องสมุดมีเครื่องทำความร้อน และไม่มีใครเฝ้าอยู่หน้าประตูเพื่อตรวจสอบตัวตนของคุณ”

          Anne Verneuil บรรณารักษ์ห้องสมุดอองแซง (Library in Anzin) กล่าวเสริมในประเด็นเดียวกันว่า

          “พูดได้เลยว่า ห้องสมุดเป็น ‘บ้านหลังที่สอง’ เพราะคนในท้องถิ่นมากกว่าหนึ่งในสี่ของที่นี่ไม่มีงานทำ บางคนไม่มีเงินแม้แต่จะจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต บางคนก็อาศัยในบ้านที่เล็กคับแคบเกินไป หลายคนจึงเข้ามาห้องสมุดทุกวัน เพียงเพื่อให้ได้พบปะพูดคุยกับใครบ้างเท่านั้น พวกเขาไม่มีสถานที่อื่นให้ไปแล้ว”


ที่มา

Andrew Ayers. Media Library and Park in Pélissanne by Dominique Coulon & Associés. [Online]

Dominique Coulon & associés. Thionville, Media library [Third-Place]. [Online]

Eric Baldwin. Building Knowledge: New French Libraries Designed for Cultural Exchange. [Online]

Frédéric Potet. France’s libraries discovering a new lease of life beyond just books. [Online]

Mathieu Girard. Bibliothèque Alexis-de-Tocqueville à Caen : l’histoire d’un joyau de l’architecture modern. [Online]

Phil Morehart. Moving Beyond the “Third Place” IFLA forum examines library designs that embrace the community. [Online]

Cover Photo : Eugeni Pons

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก