มนุษย์ หุ่นยนต์ และอาชีพของวันพรุ่งนี้

616 views
5 mins
October 28, 2021

          ที่ผ่านมา หลายคนอาจรู้จัก McKinsey & Company ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำระดับโลก ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กรใหญ่ที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนานหลายองค์กร ล่าสุด กลุ่มเป้าหมายของแมคคินซีย์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่เหล่ากลุ่มคนทำธุรกิจอีกต่อไป แต่ขยับไปสู่คนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะเจนเนอเรชั่น Z หรือคนที่เกิดปลายยุค 90s เรื่อยมาจนปี 2010 ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ในธีม ‘McKinsey for Kids’

           ประเด็นที่ถูกหยิกมานำเสนอ มีตั้งแต่เรื่องงานในอนาคต การลดปริมาณขยะอาหาร (food waste) รวมถึงการทำความเข้าใจความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นสำคัญในโลกอนาคต ที่สำคัญคือมีวิธีการนำเสนอที่เข้าใจง่ายและเป็นมิตร มีฟังก์ชัน interactive ที่กระตุ้นให้ผู้อ่านเพลิดเพลินกับเนื้อหามากขึ้น

          ในบทความ McKinsey for Kids: Hungry fish, baffled farmers, and what happened next เขียนบรรยายแนะนำตัวเองต่อกลุ่มเป้าหมายรุ่นเยาว์ว่า “เธออาจจะยังเป็นเด็ก และอาจได้ยินชื่อแม็กเคนซีย์มาบ้าง อาจเพราะพ่อแม่ของพวกเธอทำงานที่นี่ก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างนั้น พวกเธออาจยังไม่เข้าใจนักว่าเราทำอะไรกันแน่ แต่ไม่เป็นไร เธอไม่ได้สงสัยเพียงคนเดียว เพราะผู้ใหญ่หลายคนเองก็ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้เหมือนกัน โดยทั่วไปเรามีหน้าที่ช่วยแก้ไขปัญหา บริษัทต่างๆ จะมาขอคำแนะนำจากเราเมื่อพวกเขาเจอปัญหายากๆ แล้วไม่แน่ใจว่าต้องจัดการเรื่องเหล่านั้นอย่างไร”

‘อาชีพใหม่’ เกิดขึ้นตลอดเวลา

         อาชีพแห่งอนาคต คือหนึ่งในหัวข้อที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ หลายคนอาจจินตนาการไม่ออกว่าความชอบหรือทักษะที่ตัวเองมีอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถต่อยอดเป็นอาชีพแบบไหนได้บ้างในอนาคตอันใกล้

          ในประเด็นนี้ แมคคินซีย์ตั้งสังเกตว่าถึงโลกอนาคตว่า ภาพจำทั้งหลายที่เด็กๆ เคยรับรู้มา จากทั้งอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าเป็นจะการใช้ชีวิต รูปแบบอาชีพและการทำงาน จะแตกต่างจากวันนี้โดยสิ้นเชิง ข่าวดีคือมันไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก เพราะหากมองย้อนไปในอดีต หลายอาชีพที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ก็เพิ่งถือกำเนิดมาเมื่อไม่นานนี้เอง

          เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น แมคคินซีย์ยกตัวอย่างสาขาอาชีพในปัจจุบันที่ไม่เคยมีอยู่มาก่อนในอดีตอันไกลโพ้น แต่ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อได้จังหวะเวลาอันเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพสังคมและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นตามลำดับ เช่น ก่อนหน้าการมาเยือนของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงศตวรรษที่ 18 ชาวนาที่เคยใช้สัตว์ทำการเกษตรเป็นหลัก ต้องหันมาเรียนรู้เรื่องการใช้รถเกี่ยวข้าวแทน เนื่องจากต้นทุนถูกกว่าและรวดเร็วกว่ามาก

          ในทางกลับกัน อาชีพการงานหลายอย่างก็ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น คนที่รับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ถูกทดแทนด้วยเครื่องยนต์ขนาดยักษ์ซึ่งทำงานได้เร็วกว่าและเรียกร้องแค่น้ำมันกับคนขับหนึ่งคน เรื่อยมาจนถึงยุคอินเทอร์เน็ตที่สร้างสายอาชีพใหม่ๆ อย่างบล็อกเกอร์ ที่เขียนงานเผยแพร่ลงในช่องทางออนไลน์ ไล่มาจนถึงวล็อกเกอร์ ที่อัดวิดีโอเล่าเรื่องราวต่างๆ ของตัวเอง เช่นเดียวกับการที่บริษัทต่างๆ เริ่มหาลู่ทางในการลงทุนกับอาชีพใหม่ๆ เหล่านี้มากขึ้น

          จะเห็นได้ว่า การมาถึงของสายอาชีพใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี แน่นอนว่าแมคคินซีย์ก็เล็งเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยมีการเก็บข้อมูลและทำวิจัยมากว่าสามสิบปี ว่ามีกิจกรรมใดในแต่ละสายอาชีพบ้างที่จะถูกแทนค่าด้วยหุ่นยนต์ เช่น อาชีพพยาบาล ซึ่งแต่เดิมต้องทำหน้าที่หลายส่วนควบคู่กันไป ทั้งส่วนที่ต้องอุ้มหรือยกผู้ป่วยขึ้นเตียง, ดูแลความเรียบร้อยบนเตียง แมคคินซีย์เห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้สามารถให้หุ่นยนต์มาทำแทนได้ โดยที่อาชีพพยาบาลก็ไม่ได้หายไป เพราะยังมีบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ เช่น การพูดคุยสื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัว หรือในงานสายโรงแรม อนาคตอาจมีการใช้หุ่นยนต์เป็นผู้ขนของและเสิร์ฟอาหารแทน เป็นต้น

          ประเด็นสำคัญที่แมคคินซีย์พยายามชี้ให้เห็น คือหุ่นยนต์หรือเครื่องกลสมัยใหม่ จะไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ไปทั้งหมด (และยังย้ำกับเด็กๆ ด้วยว่า มันไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่เห็นในโทรทัศน์หรอกนะ!) หากแต่มันจะเข้ามามีส่วนร่วมในหลายๆ สาขาอาชีพ รับหน้าที่จัดการกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายหรือกิจกรรมรายวันทั่วไป ตลอดจนกิจกรรมที่เสี่ยงจะทำให้เกิดอันตรายต่อบุคลากร เช่น อาชีพนักขุดเหมือง ซึ่งเสี่ยงเจอทั้งอากาศเป็นพิษหรือสารต่างๆ หุ่นยนต์จะเป็นผู้ลงไปขุดแทน โดยที่มนุษย์อยู่ในห้องควบคุม

          อย่างไรก็ดี มีบางสายงานที่หุ่นยนต์อาจเข้ามาทดแทนแบบเต็มตัว เช่น งานสายการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และงานที่ต้องใช้ระบบตอบโต้อัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนคนทำงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวกว่า 100 ล้านคน โดยผู้คนจำนวนนี้อาจต้องหางานใหม่ภายในปี 2030 หรืออีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า เนื่องจากงานเหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้แรงหรือทักษะของมนุษย์อีกต่อไปแล้ว

ทักษะแบบไหน คือหัวใจแห่งอนาคต

          จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมา แมคคินซีย์เสนอว่า การคาดการณ์อนาคตและแนวโน้มธุรกิจต่างๆ ในแต่ละประเทศทั่วโลก เป็นสิ่งที่ควรตระหนักไว้ เช่น ในประเทศจีนซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับเงินดูแลจากภาครัฐ ทำให้เดาได้ว่าภายในปี 2030 สายอาชีพด้านการพยาบาลและสุขภาพจะเพิ่มขึ้นราว 121% ขณะที่ฝรั่งเศสมีแนวโน้มต้องการงานที่ต้องใช้ทักษะและความชำนาญสูงเป็นพิเศษ เช่น ผู้เชี่ยวชาญสาขาใดสาขาหนึ่ง ขณะที่ความต้องการด้านอาชีพเสมียนหรือนักบัญชีจะลดน้อยลง, อินเดียมีแนวโน้มว่าจะต้องการคนทำงานภาคเกษตรลดน้อยลง แต่งานด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ คมนาคม จะเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ส่วนในสเปน แมคคินซีย์คาดการณ์ว่าในอีกสิบปีข้างหน้า คนทำงานด้านบาร์เทนเดอร์และพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ อาจต้องหางานใหม่เนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว เป็นต้น

          เมื่อเห็นแนวโน้มอาชีพในอนาคตแล้ว คำถามที่ตามมาคือ ทักษะแบบไหนคือหัวใจแห่งการประกอบอาชีพในอนาคต โดยแมคคินซีย์ได้ทำการสำรวจความเห็นพนักงานและหัวหน้างานสายอาชีพต่างๆ หลายร้อยชีวิต เกี่ยวกับทักษะที่พวกเขาคิดว่าจะกลายเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต ปรากฏว่าทักษะสำคัญที่หลายคนให้คำตอบตรงกัน คือทักษะในเรื่องการสื่อสาร การเข้าสังคม และการจัดการอารมณ์ รองลงมาคือทักษะการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ เป็นต้น

         ทั้งนี้ แมคคินซีย์วิเคราะห์ว่า การที่หลายคนให้คำตอบเรื่องการสื่อสาร เข้าสังคม และการจัดการอารมณ์ มาเป็นอันดับต้นๆ นั้น เพราะในอนาคตหากหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่กิจกรรมบางอย่างในแต่ละสายงาน อาจส่งผลให้ความเป็นมนุษย์ เช่น อารมณ์ขัน หรือความเห็นอกเห็นใจในการสื่อสารหายไป คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะการเข้าสังคมและการจัดการอารมณ์ทั้งของตัวเองและของคู่สนทนาด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้

6 สายงานที่น่าจับตา

          จากข้อมูลที่ไล่เรียงมา แมคคินซีย์ยังเสริมด้วยว่า การแนะนำให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักอาชีพอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถือเป็นสิ่งจำเป็น และได้ชี้เป้า ‘งานแห่งอนาคต’ ที่น่าสนใจ แบ่งออกเป็น 6 สายอาชีพ ดังนี้

          1. นักออกแบบเกม

          เกมเป็นอุตสาหกรรมที่น่าจับตาอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าในอนาคต นักออกแบบเกมหรือคนที่มีความเข้าใจในเกมแต่ละประเภท จะเป็นที่ต้องการของห้างร้านต่างๆ ที่จัดจำหน่ายเกมอย่างสูง เนื่องจากสายอาชีพนี้สามารถทำให้เกมกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและน่าเล่นมากยิ่งขึ้น

          2. ช่างตัดเสื้อออนไลน์

          ถ้าการสั่งเสื้อผ้าทางอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่หลายคนทำกันเป็นปกติในปัจจุบัน ลองนึกดูว่าในอนาคตมันจะยิ่งได้รับความนิยมขนาดไหน แนวโน้มหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ คือธุรกิจขายเสื้อผ้าออนไลน์ จะขยับไปสู่การสั่งตัดเสื้อที่มีบริการวัดตัวและให้คำแนะนำเรื่องขนาดผ่านทางออนไลน์ หน้าที่ช่างตัดเสื้อที่ช่วยผู้คนคำนวณรูปร่างและเสื้อผ้าจึงเป็นอาชีพที่น่าจับตาทีเดียว

          3. นักออกแบบขยะ

          สำหรับคนที่ชอบงานรีไซเคิล นำของเก่าให้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ สายงานนี้ก็น่าจับตา แถมยังท้าทายเอามากๆ ด้วย เพราะในอนาคต ราอาจต้องนำสิ่งของที่ผู้คนทิ้งหรือไม่ใช้แล้ว เช่น ขยะต่างๆ มาดัดแปลงให้ใช้งานได้อีกครั้ง เพื่อลดจำนวนขยะต่อโลกให้น้อยลง

          4. ผู้ควบคุมโดรน

          ทุกวันนี้เราอาจคุ้นเคยกับโดรน ในฐานะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เคลื่อนไหวในอากาศได้อย่างอิสระ และถูกนำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ในอนาคตมีแนวโน้มว่ามันจะกลายเป็นสิ่งสามัญที่คนทั่วไปมีไว้ใช้งาน ไม่ว่าจะถ่ายรูป รดน้ำในแปลงผัก หรือใช้จับตาดูสวนข้าวโพดขนาดยักษ์ อาชีพที่น่าจับตาคือคนที่สามารถควบคุมโดรนต่างๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญและตอบโจทย์การใช้งานแบบเฉพาะทาง

          5. นักจัดยา

          ในอนาคต หากเราป่วยไข้และจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อรักษาร่างกาย เราไม่จำเป็นต้องกินยาทีละหลายกำมืออีกต่อไปแล้ว เพราะอาจมีอาชีพนักจัดยาที่มีความสามารถในการปรุงยาไม่กี่เม็ดเพื่อรักษาอาการต่างๆ ของเราได้โดยเฉพาะ

          6. นักให้คำแนะนำด้านการเงินดิจิตอล

          ปัจจุบันเราได้เห็นบทบาทและการเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลมากมาย และจะยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต จนอาจเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ใช้งานได้แบบสากล ดังนั้นตำแหน่งผู้ให้คำแนะนำด้านการเงินดิจิทัล จึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่มองข้ามไม่ได้

          ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การที่คนรุ่นใหม่สามารถจินตนาการถึงอาชีพและวิถีชีวิตของตัวเองในภายภาคหน้า ย่อมเป็นผลดีกับทั้งตัวเองและสังคมในอนาคต แม้วันนี้พวกเขาจะยังเป็นเด็ก แต่ในอีกสิบปีข้างหน้า พวกเขาจะกลายเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนโลกใบนี้—โลกที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ อาจวิ่งตามเขาไม่ทันแล้ว


ที่มา

McKinsey for Kids: I, Robot? What technology shifts mean for tomorrow’s jobs [online]

McKinsey for Kids: Hungry fish, baffled farmers, and what happened next [online]

Cover Photo by Jezael Melgoza on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก