Walking Trip เดินเพื่อเรียนรู้และเข้าใจเมือง

523 views
6 mins
April 20, 2023

          ท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนระอุและความอันตรายของถนนในกรุงเทพฯ ‘การเดิน’ น่าจะเป็นกิจกรรมที่ใครหลายคนได้ยินแล้วเป็นต้องส่ายหัว แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองที่โครงสร้างพื้นฐานของมันดูจะไม่เอื้อต่อสองเท้าของเราด้วยแล้ว กล่าวคือ กรุงเทพฯ ทำให้กิจกรรมการเดิน ‘แปลกแยก’ กับชีวิตประจำวัน

          ทว่าการเดินกับความเป็นเมืองไม่ควรจะถูกแยกขาดจากกัน ในขณะเดียวกัน คุณค่าที่การเดินมีกับเมืองก็สามารถเป็นได้มากกว่าแค่รูปแบบหนึ่งของการเดินทาง แต่มันคือ ‘แนวทาง’ ในการเรียนรู้ ศึกษา และทำความเข้าใจกับเมืองในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และการเมืองในชีวิตประจำวัน พูดอีกอย่างคือ การเดินเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้รู้จักเมืองของเรามากขึ้นนั่นเอง

          ผ่านบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปทำความรู้จักกับ MIC Walking Trip ตัวอย่างหนึ่งของการใช้การเดินเพื่อทำความรู้จักกับกรุงเทพฯ ในมุมต่างๆ โดยศูนย์ข้อมูลมติชน (Matichon Information Center) ซึ่งอยากจะแบ่งปันข้อมูลและถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ ซึ่งอาจไม่เคยเป็นที่รับรู้มาก่อนเกี่ยวกับเมืองหลวงแห่งนี้ให้เป็นที่รับรู้มากขึ้นภายใต้การจัดกิจกรรม

ความท้าทายของศูนย์ข้อมูลมติชน

          อย่างที่รู้กันว่า มติชนคือสื่อเจ้าใหญ่ที่ภายในเครือประกอบด้วยหนังสือพิมพ์ สำนักพิมพ์ ไปจนถึงสื่อออนไลน์ ซึ่งศูนย์ข้อมูลมติชน (Matichon Information Center) ก็ถือเป็นห้องสมุดข่าวสารขนาดใหญ่ (Journal Library) ของมติชนที่รวบรวมข่าวสารและข้อมูลต่างๆ ไว้ตลอดระยะเวลา 40 กว่าปี 

          แต่แม้ว่าในคลังของมติชนจะมีข่าวสารเก็บไว้มากมาย โดยที่ศูนย์ข้อมูลมติชนเองก็เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงห้องสมุดเพื่อสืบค้นข้อมูลได้อย่างอิสระ รวมถึงการเปิดเว็บไซต์ให้ผู้ที่สนใจสามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับข่าวสารต่างๆ จากศูนย์ข้อมูลมติชนได้ ทว่าในยุคที่สื่อหลายๆ เจ้าถูก Disrupt ด้วยโซเชียลมีเดีย และพฤติกรรมการเสพข่าวที่เปลี่ยนไป การพาข้อมูลไปให้ถึงผู้คนกลายเป็นความท้าทายที่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน คำถามคือ แล้วศูนย์ข้อมูลมติชนต้องทำอย่างไรเพื่อให้ความรู้ที่มีอยู่ในมือไปถึงคนกลุ่มใหม่ๆ

          MIC Walking Trip คือยุทธศาสตร์ใหม่ของศูนย์ข้อมูลมติชนในการพาข้อมูลข่าวสารที่มีไปถึงคนกลุ่มใหม่ๆ รวมถึงต่อยอดความเป็นไปได้ให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยที่รูปแบบของกิจกรรมนี้คือการจัดทริปพาผู้คนไปเดินตามย่านในกรุงเทพฯ ควบคู่ไปกับการบรรยายเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับย่านนั้นๆ เพื่อให้ผู้ร่วมทริปได้รับรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาและคุณค่าของชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ 

          ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลมติชนได้จัด MIC Walking Trip มาแล้วหลายครั้ง โดยที่ในแต่ละครั้งไม่เพียงแต่จะพาไปย่านที่แตกต่างกันไปเท่านั้น หากศูนย์ข้อมูลมติชนยังได้ชักชวนบรรดานักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการให้มาร่วมเดินในฐานะมัคคุเทศก์ที่จะคอยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้นๆ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่า กรณีศึกษาที่น่าสนใจของ MIC Walking Trip คือการ ‘สร้างคอนเซปต์’ ให้กับกิจกรรมนี้ซึ่งพัฒนามาจากหนังสือในเครือมติชนนั่นเอง

ก่อร่างเป็นบางกอก

          คอนเซปต์ที่ว่าคือ ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ ซึ่งต่อยอดมาจากงานศึกษามานุษยวิทยาชื่อ ก่อร่างเป็นบางกอก (Siam Melting Pot) ของเอ็ดวาร์ด แวน รอย นักมานุษยวิทยาผู้มากประสบการณ์ และแปลโดยยุกติ มุกดาวิจิตร นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของไทย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนนั่นเอง อย่างคร่าวๆ งานเขียนเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของ ‘บางกอก’ เมืองหลวงของไทยในฐานะพื้นที่ซึ่งรวบรวมความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ ไว้ด้วยกัน โดยที่ความหลากหลายเหล่านี้ก็ต่างปฏิสัมพันธ์จนก่อร่างสร้างกรุงเทพฯ ที่เรารู้จักในปัจจุบันขึ้นมานั่นเอง

          พูดอีกอย่างคือ หนังสือเล่มนี้พาเราไปสำรวจความหลากหลายของกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้มีแต่ ‘คนไทย’ หากประกอบสร้างขึ้นจากตัวละครต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นจีน แขก มอญ ซึ่งชาติพันธุ์เหล่านี้ก็ล้วนมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมกรุงเทพฯ ขึ้นมา ในแง่นี้ กรุงเทพฯ จึงไม่ต่างอะไรกับหม้อต้มขนาดใหญ่ที่หลอมรวมความหลากหลายในมิติต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน

          รศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร เคยได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้บนเวทีเสวนา ‘ก่อร่างเป็นบางกอก : เบื้องลึกเบื้องหลังนานาชาติพันธุ์ในบางกอก’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า 

          “เมื่ออ่านจบ เราจะยิ่งสงสัยว่ามันมีด้วยเหรอคนไทย ใครกันแน่คือคนไทย ชวนให้งงไปกันใหญ่ ผมสงสัยว่าถ้าสืบย้อนกลับไปสัก 1-2 เจเนอเรชัน คงพบว่ามาจากที่อื่น ดังนั้น กรุงเทพฯ จึงไม่ต่างจากที่อื่นในโลก โดยเฉพาะการเป็นเมืองใหญ่ที่เกิดจากคนนอก จากคนร้อยพ่อพันแม่ ไม่มีใครอ้างความเป็นเจ้าของกรุงเทพฯ ได้”

          “กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างขึ้นมา หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกถ่อมตัวมากขึ้นว่าไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ บรรพบุรุษของเราคือคนร้อยพ่อพันแม่ เราเป็นสาแหรกความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงคนเต็มไปหมด มันเป็นรากฝอยที่เชื่อมโยงถึงกัน”

MIC Walking Trip ยุทธศาสตร์ใหม่ของศูนย์ข้อมูลมติชนที่ชวนเราไปเดินเพื่อเข้าใจเมือง
หนังสือก่อร่างเป็นบางกอก (Siamese Melting Pot)

          ผ่านข้อความนี้ ยุกติได้ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นกรุงเทพฯ ที่เรารับรู้กันนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นมุมมองที่คับแคบจนมองไม่เห็นความซับซ้อนของตัวละครต่างๆ ก็มีส่วนในการประกอบสร้างเมืองแห่งนี้ ซึ่งข้อดีของหนังสือเล่มนี้ก็คือการพยายามชี้ให้เห็นความหลากหลายของกรุงเทพฯ ที่เรามักจะมองข้ามไปนั่นเอง

          ศูนย์ข้อมูลมติชนได้หยิบประเด็นนี้มาต่อยอดจนเกิดเป็น MIC Walking Trip ชุดก่อร่างเป็นบางกอกซึ่งชักชวนผู้คนให้มาร่วมเดินสำรวจย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อเรียนรู้ความหลากหลายที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้

          ตัวอย่าง MIC Walking Trip ชุดก่อร่างเป็นบางกอกที่ผ่านมานั้นก็เช่น ‘ย่านการค้านานาชน ‘จีน-แขก’ @คนคลองสาน’ ซึ่งได้ชวนธีรนันท์ ช่วงพิชิต ประธานกรรมการมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสานมาเป็นผู้บรรยาย ซึ่งจะพาไปลัดเลาะตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ที่หากไม่ใช่คนในพื้นที่ก็อาจไม่รู้จัก ผ่านสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันหลากหลายในชุมชนนี้ ไม่ว่าจะเป็น ‘มัสยิดเซฟี’ ของพ่อค้าชาวอินเดียจากเมืองกุจราตซึ่งเดินทางมาค้าขายในสยามหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ‘โกดังเกลือแหลมทอง’ ซึ่งเป็นโรงเกลืออายุ 80 ปีที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของการค้าเกลือในอดีต ไปจนถึง ‘คฤหาสน์ฮวกหลี’ คฤหาสน์เก่าแก่ทรงเก๋งจีนของตระกูลหวั่งหลีที่ยังคงสภาพไว้ได้อย่างสมบูรณ์

MIC Walking Trip ยุทธศาสตร์ใหม่ของศูนย์ข้อมูลมติชนที่ชวนเราไปเดินเพื่อเข้าใจเมือง
มัสยิดเซฟี หรือ มัสยิดตึกขาว
MIC Walking Trip ยุทธศาสตร์ใหม่ของศูนย์ข้อมูลมติชนที่ชวนเราไปเดินเพื่อเข้าใจเมือง
บรรยากาศภายในมัสยิดเซฟี
Photo : Matichon Information Center
MIC Walking Trip ยุทธศาสตร์ใหม่ของศูนย์ข้อมูลมติชนที่ชวนเราไปเดินเพื่อเข้าใจเมือง
โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ อีกหนึ่งในสถานที่เยี่ยมชมประจำ MIC Walking Trip ชุด ก่อร่างเป็นบางกอก : ‘ย่านการค้านานาชน ‘จีน-แขก’ @คนคลองสาน’
Photo : Matichon Information Center

          อีกทริปหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘ย่านเก่าปากคลองบางกอกน้อย’ ซึ่งได้ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมมาอาสาเป็นผู้นำทริปและพาเดินเล่นในย่านฝั่งธน ผ่าน ‘วัดภุมรินทร์ราชปักษี’ วัดร้างฝั่งธนฯ ที่สร้างขึ้นก่อนกรุงเทพฯ จะสถาปนา ไปจนถึง ‘มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์’ มัสยิดเก่าแก่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวมุสลิมในชุมชนบางกอกน้อย

MIC Walking Trip ยุทธศาสตร์ใหม่ของศูนย์ข้อมูลมติชนที่ชวนเราไปเดินเพื่อเข้าใจเมือง
วัดภุมรินทร์ราชปักษี
Photo : Matichon Information Center
MIC Walking Trip ยุทธศาสตร์ใหม่ของศูนย์ข้อมูลมติชนที่ชวนเราไปเดินเพื่อเข้าใจเมือง
วัดภุมรินทร์ราชปักษี
Photo : Matichon Information Center

          หรือกระทั่งผู้เขียนเองก็เคยมีโอกาสได้ไปร่วม MIC Walking Trip อยู่ครั้งหนึ่งเหมือนกัน โดยทริปที่ผู้เขียนได้ไปเข้าร่วมนั้นชื่อว่า ‘เยาวราชที่ซ่อนเร้น เจ้าพ่อ เจ้าสัว เจ้าสำนัก’ ซึ่งได้อาจารย์สมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมจีนและช่ำชองเยาวราชเป็นอย่างดีมาเป็นผู้นำทริป

          ความน่าสนใจของทริปนี้ คือการมองไปยังพื้นที่เยาวราชที่ในปัจจุบันมักจะถูกรับรู้ในฐานะย่านสตรีทฟู้ดชื่อดัง ทว่าอาจารย์สมชายกลับพาผู้เขียนไปทำความรู้จักกับด้านมืดของเยาวราชที่มักไม่ค่อยมีคนพูดถึงนัก ย้อนกลับไปยังอดีตที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่ของการช่วงชิงอำนาจภายใต้อิทธิพลของเจ้าพ่อ เจ้าสัว และเจ้าสำนักต่างๆ ที่ล้วนขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์ที่แตกต่างกันไป

          แน่นอนว่า การได้รับรู้ประวัติศาสตร์ของเยาวราชในมุมที่ต่างออกไปถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย ทว่ามากไปกว่านั้น ผู้เขียนมองว่าคุณค่าที่ทริปนี้มอบให้คือการนำเสนอให้เห็นตัวละครอื่นๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่มักจะถูกมองข้ามไปจากการรับรู้ของสาธารณชน

MIC Walking Trip ยุทธศาสตร์ใหม่ของศูนย์ข้อมูลมติชนที่ชวนเราไปเดินเพื่อเข้าใจเมือง
MIC Walking Trip ชุด ‘เยาวราชที่ซ่อนเร้น เจ้าพ่อ เจ้าสัว เจ้าสำนัก’
Photo : Matichon Information Center

ในเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย

          บนเวทีเสวนาหนังสือก่อร่างเป็นบางกอก รศ.ดร.ยุกติยังได้กล่าวไว้ว่า 

          “มีใครสงสัยไหมว่า เกิดอะไรขึ้นในกรุงเทพฯบ้าง มีการจัดการในเชิงอำนาจหลายอย่าง สมัยก่อนวิธีที่รัฐปกครองชุมชนชาติพันธุ์คือตั้งคนของพวกเขาเองให้เป็นหัวหน้าติดต่อกับชนชั้นนำ คนเหล่านั้นก็ถูกรวบอำนาจ ตัดอำนาจ สร้างระบบบริหารใหม่ ถ้าขัดขืน ความรุนแรงก็เกิด ผู้นำชุมชนชาวจีนถูกสังหารไปเท่าไหร่ ต่อให้ไม่เป็นอั้งยี่ก็ตาม หรือกรณีของชาวลาว ซึ่งเป็นกำลังการผลิตหลักของสยาม คนลาวถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือ อีสาน และในลาวเอง นอกจากเป็นการกวาดต้อนคนมาเป็นกำลังการผลิตให้ตัวเองในกรุงเทพฯแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดกำลังของอีกฝ่ายด้วย ลาวถูกกระทำย่ำยี ถูกย้ายไปตามอำเภอใจ พอถึงช่วงเปลี่ยนแปลง ฝรั่งเข้ามา ความเป็นลาวถูกทำให้หายไปอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นี่คือกระบวนการเปลี่ยนให้ทุกคนกลายเป็นไทย ซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ด้วย”

          “บางคนอาจไม่รู้ว่าโบสถ์คริสต์ข้างบ้านอยู่มาก่อนตั้งกรุงเทพฯ เช่น โบสถ์เก่าย่านสามเสนของชาวโปรตุเกสซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือมอญ ก็อยู่ใจกลางพระนครมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดมอญที่สำคัญที่สุดคือวัดชนะสงคราม ซึ่งวังหน้าทรงรื้อฟื้นขึ้นมา ดังนั้น ความหลากหลายยังอยู่ สิ่งน่าสนใจซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงคือสิ่งที่ถูกทำให้เลือนรางไป ไม่ค่อยคำนึงถึงความหลากหลายที่เคยมี”

          คำพูดของ รศ.ดร.ยุกติ นั้นสะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของ MIC Walking Trip ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ บ่อยครั้งที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักมักจะลดทอนรายละเอียดบางอย่างในอดีตลงไป เพื่อให้เรื่องราวเข้าใจง่าย และรับใช้หน้าที่ของมันอย่างชัดเจน โดยที่กระบวนการลดทอนที่ว่าก็ได้ลบเลือนตัวละครต่างๆ ล้วนมีส่วนในการประกอบสร้างกรุงเทพฯ จนกลายเป็นเมืองหลวงที่เรารู้จักในปัจจุบัน  เช่นเดียวกับที่ว่า เครือข่ายที่ผู้คนซึ่งหล่นหายไปในประวัติศาสตร์ต่างก็เคลื่อนไหวอยู่นั้น ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของการปฏิสัมพันธ์ที่คอยขับเคลื่อนเมืองๆ หนึ่งให้ดำเนินไป

          ไม่ว่า MIC Walking Trip จะพาไปเปิดเปลือยประวัติศาสตร์ของชุมชนใด หรือบอกเล่าเรื่องราวดำมืดแค่ไหน หากผู้เขียนก็รู้สึกว่า คุณูปการสำคัญของกิจกรรมนี้คือการชี้ให้เห็นโฉมหน้าที่หลากหลายของกรุงเทพฯ ซึ่งบ่อยครั้งมักจะถูกหลงลืม หรือจงใจปกปิดในฉากหลัง ทว่าผ่านกิจกรรมนี้เอง ที่ศูนย์ข้อมูลมติชนก็ได้พาเราไปเรียนรู้เรื่องราวที่เลือนหายไปเหล่านั้น เพื่อท้ายที่สุดแล้วมันจะกลับมาอธิบายคำถามที่แสนจะสามัญว่า ถึงที่สุดแล้วความเป็นไทยคืออะไร ชาติไทยประกอบสร้างขึ้นจากอะไร และกรุงเทพฯ คือเมืองของใคร

          ย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้นที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ถึง MIC Walking Trip ว่าคือกลยุทธ์ของศูนย์ข้อมูลมติชนในการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ที่มีให้กับคนกลุ่มใหม่ ในฐานะผู้ที่เคยมีโอกาสเข้าร่วมในทริปนี้ ผู้เขียนมองว่า ศูนย์ข้อมูลมติชนทำสำเร็จในการบอกเล่าข้อมูลข่าวสารที่ตัวเองมีผ่านรูปแบบกิจกรรมที่เข้าถึงง่าย แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ การที่ศูนย์ข้อมูลมติชนเลือกจะใช้การเดินเป็นสิ่งที่คอยขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ นั่นเพราะการเดินนี่แหละคือแนวทางที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมืองและสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ได้เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านกิจกรรมนี้ การเดินได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนมองเห็นหลายๆ พื้นที่ซึ่งหากไม่ใช้การเดินเท้าก็จะไม่สามารถเข้าถึงได้

          หากพ้นไปจากข้อมูลประวัติศาสตร์มากมายที่ได้รับรู้จากทริปนี้แล้ว ผู้เขียนคิดว่าอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือศูนย์ข้อมูลมติชนได้ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า การเดินมีความสำคัญต่อการเข้าใจสังคมที่เราอาศัยมากมายเพียงใด


Cover Photo by Waranont (Joe) on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก