คุยกับ มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิง มองเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ต้องการ ‘โอกาส’

2,022 views
November 7, 2022

          จากอดีตถึงปัจจุบัน ‘เชียงใหม่’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของหลายๆ คน และยิ่งไปกว่านั้น เชียงใหม่ยังเป็น ‘เมืองในอุดมคติ’ ที่นักลงทุน นักธุรกิจ อีกทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานจากระยะไกลหรือที่เรียกว่า Digital Nomad อยากจะมาปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ภาพลักษณ์ของเชียงใหม่คือเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม เมืองแห่งความสร้างสรรค์ บ้างก็มองเห็นเชียงใหม่เป็นเมือง ‘สโลว์ไลฟ์’ ที่มาเยือนครั้งไหนก็รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ได้เติมพลังราวกับหลุดเข้าไปในอีกห้วงของเวลา

          มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิง ฝรั่งตาน้ำข้าวชาวเยอรมันที่ลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่เนิ่นนานกว่าทศวรรษ ก็มีมุมมอง และความคาดหวังต่อหัวเมืองทางเหนือแห่งนี้ไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญก็คือเขาไม่ได้เพียงเฝ้ารอให้ความหวังกลายมาเป็นความจริงโดยปาฏิหาริย์ เพราะเขาได้ลงมือทำทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ เพี่อให้เชียงใหม่ในวันนี้มี ‘โอกาส’ มากกว่าเมื่อวาน และเพื่อให้เชียงใหม่ในวันพรุ่งนี้ มีโอกาสเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

          ในวันนี้นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือหลายคนคงรู้จะจัก ‘คุณมาร์ติน’ เป็นอย่างดี เพราะเขาปรากฏตัวในเวที หรือกิจกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเชียงใหม่ไปสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ และเมืองนวัตกรรมอยู่เสมอ มาร์ตินและทีมงานเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่มานานหลายปีแล้ว บทบาทของเขาที่มีต่อเชียงใหม่นั้น หากต้องการอรรถาธิบายให้ครบ คงต้องลากยาวหลายบรรทัด เพราะเขาเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) เป็นคณะกรรมการเชียงใหม่สร้างสรรค์ (Creative Chiang Mai) และยังเป็น License Holder ของงาน TEDxChiangMai จึงมีโอกาสผลักดันให้เกิดงานและโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อย

          ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราได้มีโอกาสคุยกับคุณมาร์ติน ร่วมด้วยทีมงานสาวแกร่ง คุณแคท และคุณกิ่ง เพื่อทำความเข้าใจว่า สิ่งที่พวกเขาทำเพื่อเชียงใหม่ทุกวันนี้ มีอะไรเป็นเป้าหมายและแรงบันดาลใจ

จุดเริ่มต้นของการตกหลุมรักเมืองเชียงใหม่

          “ผมว่าเชียงใหม่มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เราอยากทำอะไรดีๆ ให้กับจังหวัด เพื่อนๆ ที่ตั้งบริษัท หรือว่าใครต่อใครที่ผมรู้จัก ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่แบบถาวร ต่างคนต่างมากันด้วยเหตุผลอื่น เพื่อธุรกิจ เพื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนนานาชาติ แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ก็รักเชียงใหม่ อยากจะทำอะไรเพื่อเชียงใหม่”

          มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิง ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ การตลาด นโยบาย และเทคโนโลยี ที่จับพลัดจับผลูมาปักหลักอยู่ที่เชียงใหม่นานถึง 12 ปี ตอบคำถามด้วยภาษาไทยที่ชัดเจนราวกับเจ้าของภาษา เมื่อถูกถามถึงเหตุผลในการเลือกที่จะมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่

          “ผมคิดว่าเชียงใหม่มีแรงดึงดูดหลายอย่าง ด้วยไลฟ์สไตล์ ด้วยวัฒนธรรม เมืองมันมีความหลากหลายสูง เป็นเมืองที่มีอะไรสำหรับทุกคน ทั้งกิจกรรมแอดเวนเจอร์ วัฒนธรรมทั้งใหม่และเก่า มี ‘Urban Texture’ ค่อนข้างเยอะ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายๆ คนชอบ แม้แต่คนเชียงใหม่เองที่ออกไปทำงานที่อื่น อัตราคนที่อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดก็สูงมาก”

          นับว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาร์ตินตกหลุมรักเมืองเชียงใหม่ไม่ได้แตกต่างไปจากนักท่องเที่ยว หรือประชากรในภูมิภาคอื่นๆ นัก นั่นคือบรรยากาศที่เต็มไปด้วยสีสันทางวัฒนธรรม แต่มาร์ตินได้ทิ้งประโยคที่น่าสนใจเอาไว้

          “ความจริงแล้วผมรักเมืองไทย ถ้าผมอยู่กรุงเทพฯ ผมก็คงพยายามที่จะทำอะไรดีๆ ให้กับกรุงเทพฯ เหมือนกัน แต่ที่นั่นกิจกรรมมันเยอะ มีคนหลายๆ คนร่วมกันทำงานอยู่แล้ว ผมก็คงจะเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง พออยู่ที่เชียงใหม่ สิ่งที่เราพยายามช่วยกันผลักดันมันมองเห็นผลได้ชัดเจนกว่า เชียงใหม่มีความพร้อมอยู่มาก ขาดแค่เพียงโอกาส….”

          คำตอบนี้ชี้ชวนให้สงสัย เมืองเชียงใหม่ที่ใครต่อใครมองว่าเป็นเมืองสำคัญอันดับที่ 2 ของประเทศ อดีตเมืองหลวงของอาณาจักรทางเหนือที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ เมืองแบบนี้ขาด ‘โอกาส’ อย่างนั้นหรือ เมื่อแรกเริ่มพวกเราตั้งใจจะมาถกประเด็นในเรื่องบทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ ใครจะคิดว่าคำนี้จะกลายมาเป็นแกนกลางของบทสนทนาที่อัดแน่นไปด้วยสาระนานหลายชั่วโมง เมื่อคุณมาร์ตินและทีมงานช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้ภาพของเมืองเชียงใหม่ค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นในห้วงจินตนาการของคนฟัง

กำเนิดอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

          มาร์ตินเน้นย้ำว่าอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งนี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่รู้จักกันในนาม CMU STeP

          “เมื่อ 10-15 ปีที่ผ่านมา รัฐมีความพยายามที่จะใส่แนวคิด ‘นวัตกรรม’ ลงไปในระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมภายในประเทศ เลยเริ่มต้นด้วยการทำงานในลักษณะของการสร้าง node ในพื้นที่รอบนอก แต่ด้วยความที่ประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องศักยภาพของส่วนภูมิภาค ก็มีแค่มหาวิทยาลัยที่สามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางได้ จากนั้นก็มีการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ใน 3 พื้นที่ คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา แล้วจึงเกิดเครือข่ายในจังหวัดอื่นๆ ตามมา อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือจึงเป็นการทำงานที่เชื่อมเครือข่ายมหาวิทยาลัยรวม 13 แห่ง”

          จากงานสายกลยุทธ์ การตลาด และเทคโนโลยี มาร์ตินโยกย้ายมาทำงานในสายนวัตกรรม R&D และความคิดสร้างสรรค์ ความเชี่ยวชาญของเขาจึงเติมเต็มในสิ่งที่ประเทศไทยกำลังต้องการได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่ปรึกษาในการก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และที่ปรึกษาอาวุโสของ CMU STeP ที่ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่บุกเบิกกันมาตั้งแต่ก้าวแรก มาร์ตินจึงมองเห็นภาพรวมของการผลักดันให้เกิด ‘นวัตกรรม’ ในอุตสาหกรรมของประเทศไทย สามารถบอกเล่าให้เราฟังได้ทุกขั้นตอน

          “ตั้งแต่ก่อตั้งมา CMU STeP ก็พยายามเปิดกว้างกับเอกชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในตอนนั้นแนวทางการทำงานเป็นแบบ Triple Helix คือ เน้นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน กับสถาบันการศึกษา มาถึงตอนนี้ก็กลายเป็นแบบ Quadruple Helix คือมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมมือด้วย”

          บทบาทของ CMU STeP คือ เป็นตัวกลางประสานระหว่างภาคส่วนต่างๆ เชื่อมภาคธุรกิจที่มีปัญหา เข้ากับภาคการศึกษาที่มีแนวคิด ทฤษฎี แต่ยังไม่มีพื้นที่ทดสอบสมมติฐาน เมื่อความต้องการประสานสอดคล้องกันแบบนั้น ความร่วมมือจึงเกิดขึ้นเพื่อทำลายล้างสิ่งที่เรียกว่า ‘สุสาน R&D’ หรืองานวิจัยที่ทำแล้วตั้งอยู่บนหิ้ง การทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมคือมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเข้าไปแก้ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่เกิดภาวะลำไยล้นตลาด ผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘น้ำตาลลำไย’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อหาทางไปต่อให้กับชาวสวน และผู้ประกอบการ

          เมื่อเราตั้งคำถามว่าอัตราความสำเร็จของความร่วมมือของภาคการศึกษากับภาคธุรกิจนั้นวัดได้อย่างไร มาร์ตินในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสจึงตอบว่า

          “คงต้องบอกว่า ถ้าร่วมมือแล้วก็ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะถ้าไม่สำเร็จก็จะไม่ได้เงินมาดำเนินโครงการ”

          นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการเดินเข้ามาพร้อมโจทย์หรือปัญหาที่มีอยู่ในมือ ส่วนนักวิชาการก็ใช้องค์ความรู้เชิงวิชาการมาร่วมตั้งโครงการที่ใช้นวัตกรรมแก้ปัญหา เมื่อสามารถเขียนข้อเสนอโครงการที่มองเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ มีโมเดลธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนได้จริง ภาครัฐถึงจะให้เงินทุนสนับสนุน

          “เราก็ต้องคอยพิจารณาดูว่านักวิชาการคนไหนทำงานกับภาคเอกชนได้บ้าง แล้วก็ต้องคัดกรองว่าธุรกิจไหนทำงานร่วมกับภาคการศึกษาได้เช่นกัน ในช่วง 3-4 ปีแรก เหมือนกับเป็นการทำลิสต์รายชื่อของทั้งสองฝั่ง”

          “ผลงานของเรามันก็ไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมไปเสียหมด เพราะในหลายๆ กรณี สิ่งที่ STeP เข้าไปช่วยแก้ปัญหาไม่ใช่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่เป็นกระบวนการด้วย อย่างการลดสารเคมีตกค้างในเมล็ดข้าว ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่เป็นการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรม”

          ‘NSP Inno Store’ คือสถานที่ที่ CMU STeP ตั้งใจจะใช้นำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จ ทำให้นามธรรมกลายมาเป็นรูปธรรม ในร้านจึงเต็มไปด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ของการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคธุรกิจและภาคการศึกษามีหลากหลาย ทั้งของใช้ ของบริโภค ผลิตภัณฑ์จากกระเทียมสกัด อาหารเหนือและผลไม้แบบฟรีซดรายเพื่อส่งออก สบู่แชมพูสมุนไพร และผลิตภัณฑ์คอลลาเจน

          หากนับการเกิดใหม่ของสตาร์ทอัปเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ มาร์ตินบอกว่า CMU STeP ได้สร้างสตาร์ทอัปเลือดใหม่ถึงกว่า 200 รายแล้ว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ให้นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจจะเข้าสู่วงการสตาร์ทอัปได้มาแลกเปลี่ยนไอเดียกับรุ่นพี่ในวงการ นับว่าเป็นการทำงานที่ ‘แอคทีฟ’ เพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ มีการสร้างความร่วมมือกับเอกชนอย่างแข็งขัน และสิ่งที่ผู้บริหารได้เน้นย้ำเสมอก็คือ

          “เราต้องทำงานเชิงนามธรรมควบคู่ไปด้วย คือสอนแนวคิด สร้างความเข้าใจเรื่องนวัตกรรม เพราะไม่อย่างนั้น เขาก็รับเอาเทคโนโลยีไปใช้อย่างเดียว ไม่เกิดการวิจัยและพัฒนาต่อไปในอนาคต เรียกได้ว่าเราพยายามสร้าง Innovation Absorption หรือ Innovation Literacy คือเราต้องจัดงานสัมมนา อีเวนต์ การอบรม เพื่อให้ไอเดียในส่วนที่เป็นความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี และส่วนที่เป็นการสร้างความตระหนักด้วย”

          เมื่อถามถึงเสียงตอบรับจากการดำเนินงานด้าน ‘Innovation Literacy’ ที่ผ่านมา มาร์ตินตอบว่า

          “ก็นับว่าดี เมื่อฝั่งสถาบันศึกษามองเห็นว่าทุนจากเอกชนหรือเงินสนับสนุนจากโครงการทำให้อาจารย์คนหนึ่งทำอะไรได้มากกว่าเดิมก็มองเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ทดลองไอเดีย เมื่อเอกชนมองเห็นว่านวัตกรรมนั้นสำคัญ สามารถแก้ไขปัญหาที่เขาพบเจอได้ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบมากขึ้น”

คุยกับ มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิง มองเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ต้องการ ‘โอกาส’
คุยกับ มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิง มองเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ต้องการ ‘โอกาส’

เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์

          “เชียงใหม่สร้างสรรค์ เป็น ‘แนวคิด’ ไม่ใช่โครงการ เพราะโครงการนั้นมีวันจบเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ แต่แนวคิดจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ”

          หลังจากพูดคุยเรื่องบทบาทของนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี บทสนทนาก็ไหลเลื่อนมาถึงอีกบทบาทหนึ่งของมาร์ติน คือคณะกรรมการเชียงใหม่สร้างสรรค์ หรือ Creative Chiang Mai ซึ่งหากถามว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คำตอบคือ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทําหน้าที่เป็นสํานักเลขานุการของเชียงใหม่สร้างสรรค์ และในด้านบทบาทหน้าที่นั้น มาร์ตินก็ยืนยันถึงความเชื่อมโยงของงานที่ทำอย่างหนักแน่น

          “ทั้งเรื่องนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตอบโจทย์ที่ผมพูดเอาไว้ตั้งแต่แรก มันคือการสร้างโอกาส สร้างงาน ให้กับคนเชียงใหม่”

          คณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์จัดตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2553 ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรอื่นๆ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังกำหนดให้ ล้านนาสร้างสรรค์ เป็นยุทธศาสตร์เชิงรุกที่มีผู้บริหารทำหน้าที่ดูแล ผลักดัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคการศึกษายึดไว้เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกับภาคชุมชน และภาคเอกชนต่อไป

          “เชียงใหม่สร้างสรรค์ จะนิยามคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้กว้างกว่า 15 สาขาของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ประเทศไทยนิยามเอาไว้ คือนอกจากสายวัฒนธรรม สายคราฟต์ สายงานศิลปะแล้ว เรามองถึงการส่งเสริมด้าน Digital กับ IT ด้วย ประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมเยอะ การตีความเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยอาจจะเน้นไปในทางผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม ผมมองว่าเชียงใหม่เป็น Digital Cluster ลำดับที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ ถึงการพัฒนาจะยังห่างกันอยู่ แต่ก็เป็นเมืองที่ Digital Nomad อยากมาทำงาน มี CAMT (วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี) เป็นภาคการศึกษาที่ทำหน้าคอยส่งเสริม ผลักดัน มันก็น่าจะเป็นไปได้”

          การมองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้กว้างกว่างานสายศิลปวัฒนธรรม คือหนทางที่มาร์ตินคิดว่าน่าจะเป็นการช่วยเปิดทางให้ผู้ประกอบการในพื้นที่และหอการค้าเข้ามามีบทบาทกับ เชียงใหม่สร้างสรรค์ มากขึ้น ทั้งนี้มาร์ตินอยากให้ความร่วมมือและทิศทางในการพัฒนา นำไปสู่การสร้างโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำที่หลากหลาย และมีค่าตอบแทนที่ยุติธรรม

          “ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะเข้าไปทำงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ถ้าเราขยายช่องทางให้มากขึ้น นักศึกษาจบใหม่ก็คงไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่นกันหมด ผมคิดว่านอกจากสาขาที่กำหนดในนิยามอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้ว ธุรกิจอื่นหลายๆ ธุรกิจก็ต้องการการขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน”

          ภารกิจของเชียงใหม่สร้างสรรค์ จึงไม่ใช่การส่งเสริมงานศิลปะเท่านั้น เว็บไซต์ ‘สล่าเมด’ (salahmade) ที่ใช้คำพื้นถิ่น ‘สล่า’ ซึ่งแปลว่าช่างฝีมือ มาตั้งเป็นชื่อเว็บไซต์สองภาษาที่รวบรวมเรื่องราวของผู้ผลิตงานฝีมือสร้างสรรค์ในเชียงใหม่ จึงมีเป้าหมายที่มากกว่าการรวบรวมผลงานของผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์นับร้อยราย

          “เราทำเว็บไซต์นี้ขึ้นเพื่อต้องการจะสอน และกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญเรื่อง Digital Marketing ด้วย เราทำเรื่อง Storytelling ให้เขาเห็นความสำคัญของการทำสื่อ ทำคลิปวิดีโอ มีเวิร์กชอปให้คนเห็นความสำคัญ เผื่อในอนาคตมีการขยายธุรกิจ มีการสร้างความร่วมมือแบบ B2B (ธุรกิจต่อธุรกิจ) จะได้มีข้อมูลพื้นฐานเพียงพอ”

          นอกจากงานอีเวนต์ การสัมมนา อบรม และเว็บไซต์ สิ่งที่ เชียงใหม่สร้างสรรค์ผลักดันให้เกิดขึ้น คือ รางวัล ‘Creative Design Award’ (CDA) ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบและบุคคลทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือได้ร่วมส่งผลงานการออกแบบเข้าประกวด สร้างความรู้สึกของการมีส่วนร่วมให้กับช่างฝีมือในพื้นที่ และสร้างการรับรู้ของการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

          “เราทำมาได้สิบปีแล้ว ถือว่าเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงาน Chiang Mai Design Week”

          เชียงใหม่สร้างสรรค์ก่อตั้งมายาวนานเกินทศวรรษ ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่รางวัลนี้กำเนิดขึ้น และมาร์ตินก็ยังยืนยันว่า ถึงแม้งบประมาณจะจำกัดกว่าแต่ก่อน และการสนับสนุนของพันธมิตรโดยส่วนมากจะมาในรูปแบบ ‘In-kind’ หรือความช่วยเหลือที่ไม่เป็นตัวเงินเสียมากกว่า แต่เขาและทีมงานอีก 3-4 คนก็พร้อมจะทุ่มเทแรงกาย แรงใจ กันต่อไป

          เมื่อเป้าหมายของการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ คือให้มีโอกาสและงานที่สามารถรองรับลูกหลานคนในพื้นที่ได้ การได้ถือ License ของ TEDxChiangMai ของมาร์ตินจึงถือว่าเป็นการเติมเต็มที่มีความหมาย

          “TEDxChiangMai ตอบโจทย์เรื่องเชียงใหม่สร้างสรรค์มาก TEDx เป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนเชียงใหม่ได้ขึ้นมาเป็น Speaker มาเล่าเรื่องราวของเขา และยังมี Speaker ที่มาจากต่างประเทศด้วย ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองแบบ Outside-in และ Inside-out พอจบงานผู้ฟังกับวิทยากรก็ไปร่วมลงมือทำอะไรด้วยกัน เราพยายามเลือกหัวข้อที่เป็นช่องว่างของเชียงใหม่ อย่างช่วงก่อนหน้าเราก็เคยชวนคุยกันเรื่องเมตาเวิร์ส ก่อนที่จะถูกพูดถึงในวงกว้างแบบทุกวันนี้”

          หากถามว่ามาร์ตินมีเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกเชิญ speaker อย่างไร เขามีหลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างจะชัดเจน  “ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องเชิญคนดังมาพูดนะ แต่ต้องเป็นคนที่ให้แรงบันดาลใจหรือไอเดีย บางทีคนที่เรารู้สึกประทับใจ ฟังแล้วได้กลับไปคิดต่อ อาจจะไม่ใช่คนที่เราตั้งใจมาฟังแต่แรกก็ได้”

จุดเชื่อมโยงของงานทุกชิ้น

          มาถึงตอนนี้เราเริ่มมองเห็นจุดเชื่อมโยงของงานทุกชิ้นที่มาร์ตินและทีมงานได้ลงมือทำ เป้าหมายปลายทางของงานเหล่านั้นก็คือเพิ่มโอกาสให้คนเชียงใหม่ได้มีงาน มีอาชีพที่มั่นคง และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ก้าวทันกระแสโลก งานทุกชิ้นจะแทรกแนวคิดของการทำธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ เพื่อติดอาวุธให้คนในพื้นที่มีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าเคียงคู่กับพันธมิตรนอกพื้นที่

          งานประจำของ CMU STeP ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงกลไกการให้ทุนที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอื่นๆ หรือหน่วยงานเช่น depa หรือ NIA แต่หากจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ แค่เงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐคงยังไม่เพียงพอ การดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนมีปัจจัยอื่นที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

          “เราให้ความสำคัญกับการตลาดมาก นอกจากเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับหน่วยงานภาครัฐแล้ว ก็พยายามจะเชื่อมพวกเขากับนักลงทุนในกรุงเทพฯ กับต่างประเทศด้วย” โจทย์ตั้งต้นและจุดยืนของ CMU STeP และ เชียงใหม่สร้างสรรค์ จึงชัดเจนและเป็นสารที่แทรกอยู่ในทุกย่างก้าว ทุกการกระทำ

เชียงใหม่กับการฟื้นฟูตัวหลังภาวะเศรษฐกิจซบเซา

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมืองที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหารแบบเชียงใหม่ ได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ที่ผันผวนของโลกจนเศรษฐกิจชะลอตัวมายาวนาน ธุรกิจสร้างสรรค์ในส่วนที่อิงกับมรดกวัฒนธรรมก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะลูกค้ากลุ่มสำคัญคือนักท่องเที่ยว

          ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน เชียงใหม่สร้างสรรค์ และ CMU STeP จับมือกับองค์กรด้านการท่องเที่ยวเพื่อร่วมกันพูดคุยมองหาทางออกของปัญหา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นภารกิจหลักโดยตรง แต่ผลของการสัมมนาก็ทำให้มองเห็นว่ามีช่องทางให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเมืองได้ เช่น โครงการ Lanna Gastronomy ที่เป็นหนึ่งในนโยบายเชิงรุก สามารถช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และผู้ผลิตอาหาร

          “ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องสร้างแรงบันดาลใจใหม่ให้กับเขา ต้องบอกว่า มา…มาเหนื่อยกันอีกครั้งเพื่อให้ได้สิ่งนั้น เราเคยจัดงานเสวนาที่รวมผู้ประกอบการด้านคราฟต์ เสริมกำลังใจในการมองหาโอกาสใหม่ มาวางแผนพูดคุยกันว่าจะทำอะไรกันบ้าง ให้เขามองเห็นความหวัง เห็นโอกาส และเป็นช่องทางที่จะสื่อสารว่ากลับมาครั้งนี้ ประเด็นเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องคิดถึงในการทำธุรกิจแล้ว”

          “เราชวนมาคุยกันเพื่อดูว่าเปิดประเทศแล้วพร้อมไหม หรือมีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยน พอหันกลับมามองดูก็เลยเห็นว่ามีเรื่องความยั่งยืนที่ควรจะเพิ่มเข้ามาในภารกิจของเรา ผู้ซื้อเริ่มเลือกสิ่งที่ดีต่อโลก แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นอีกนิด”

          เมื่อคุยกันมาถึงตรงนี้ มาร์ตินก็ได้วิเคราะห์ภาพรวมของนโยบาย ‘ความยั่งยืน’ ในประเทศไทยจากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา

          “เรื่องความยั่งยืนในประเทศไทย เราทำแบบ Ad Hoc กันมานาน หรือไม่ก็ทำให้อยู่ในรูปแบบของกิจกรรม CSR บางทีก็มองหากิจกรรมที่สอดคล้องกับ SDGs แต่ยังไม่ถึงขั้นปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) แต่การพูดถึงเรื่องความยั่งยืนในตอนนี้ ก็คงจะยากนิดนึง เพราะธุรกิจต่างๆ ก็ยังอยู่ใน Survivor Mode ขอให้มีเงินเข้ามา แบบไหนก็ต้องยอมเพื่อให้ประคับประคองธุรกิจได้ก่อน เราต้องพยายามเข้าไปสร้างบาลานซ์ ยอมรับว่าทำได้ยากขึ้น แต่ยังไงก็ต้องทำ ต้องให้ความสำคัญ เพราะถ้าไม่นึกถึงความยั่งยืน ในระยะยาวธุรกิจคงอยู่รอดไม่ได้”

          “นอกจากเรื่องความยั่งยืนแล้ว คำว่า Resilience หรือความยืดหยุ่น ล้มแล้วลุกเร็ว ก็เริ่มเข้ามามีความสำคัญในระดับนานาชาติแล้ว ไม่แน่ว่าหลังจาก SDGs เรื่องที่โลกให้ความสำคัญต่อไปอาจจะเป็นเรื่อง Resilience ก็ได้”

คุยกับ มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิง มองเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ต้องการ ‘โอกาส’

แล้วเราจะช่วยเติมเต็มเชียงใหม่อย่างไรดี

          เมื่อ ‘โอกาส’ เป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาของเราในวันนี้ เราก็คงต้องใช้คำนี้เพื่อสรุปประเด็นที่กำลังพูดคุยกันอยู่ ในฐานะที่ปรึกษาของ CMU STeP ที่พบเจอกับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาชน และมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นรอบด้าน มาร์ตินได้สรุปเอาไว้สั้นๆ

          “คนเชียงใหม่ต้องการโอกาส ต้องการพัฒนา แต่ก็ไม่ได้อยากจะเป็นเหมือนกรุงเทพฯ และไม่ได้อยากเป็นเมืองสโลว์ไลฟ์ตลอดเวลาเหมือนที่คนนอกมอง”

          เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมเชียงใหม่ถึงต้องการโอกาส เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทุกอย่าง ผู้คนอาจมองเห็นภาพสวยงามที่บ่งบอกว่าเชียงใหม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย ความจริงแล้วรายได้เฉลี่ยต่อหัวของเชียงใหม่ต่ำกว่าจังหวัดข้างๆ แบบลำพูนที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่เสียด้วยซ้ำ

          “เศรษฐกิจและตลาดแรงงานของเชียงใหม่อ่อนแอกว่าที่ใครๆ คิด แต่ในแง่ของโอกาส เชียงใหม่ยังเป็นตัวแทนของจังหวัดในภูมิภาค ถึงแม้ว่าโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เมืองรองอย่างเชียงใหม่ต้องมีชีวิตชีวาเพื่อให้สามารถกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาไปยังเมืองเล็กๆ รอบนอกได้ ที่ผ่านมานักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ในเชียงใหม่ เมื่อเรียนจบแล้วยังต้องหางานทำในกรุงเทพหรือภาคตะวันออก ในฐานะที่เป็นชาวเยอรมัน ผมกำลังหาวิธีลดความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาคนี้ เพราะคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย”

          แล้วมาร์ตินก็เล่าให้เราฟังถึงความพยายามของรัฐบาลเยอรมันที่กระจายความเจริญ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการพัฒนาไปไว้ตามเมืองต่างๆ แต่ละเมืองมีจุดเด่นและกิจกรรมหลักแตกต่างกันไป ทั้งเมืองไอที เมืองศูนย์ราชการ เมืองอุตสาหกรรม

          “ผมคิดว่าคำว่า ‘Deconcentration’ น่าจะเป็นคำที่อธิบายวิธีการเติมเต็มเชียงใหม่ที่ดีนะ ทุกวันนี้กิจกรรม และการลงทุนต่างๆ ยังกระจุกแน่นอยู่ที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ถ้าเชียงใหม่ หรือภูมิภาคอื่นๆ ได้รับการกระจายกิจกรรมออกมา ลดการกระจุกตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ โอกาสในการทำงานก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น คนที่เรียนจบมาสูงๆ ก็จะมีงานทำ มีโอกาสอยู่ในพื้นที่ เป็นการเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ดี”

          นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่สำคัญเท่าเทียมกันก็คือ

          “บางทีก็ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน เราอยากได้ความเข้าใจจากภาครัฐด้วย สิ่งที่เราทำ เราเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคของเราเอง ทั้งเรื่องนวัตกรรม เชียงใหม่สร้างสรรค์ บางครั้งการตัดสินใจ และคนทำงานยังมาจากส่วนกลาง การมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการทำงาน ก็เป็นหนึ่งในโอกาสที่เชียงใหม่ต้องการ”

          “ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้เชียงใหม่เป็นแซนด์บ็อกซ์ ลดเงื่อนไขบางอย่างลง เพื่อคาดหวังผลและการเปลี่ยนแปลง อย่างเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ ถ้ายังกลัวว่าคนต่างประเทศจะแย่งงานคนไทย ลองทำแซนด์บ็อกซ์เพื่อเสี่ยงดูไหม สร้างกลไกเข้ามาควบคุมแล้วปรับโครงสร้างหรือข้อบังคับบางอย่าง เช่น ถ้าเขาเข้ามาลงทุนก็สร้างเงื่อนไขว่าต้องมี Accelerator Program ให้กับคนในพื้นที่นะ หรือว่าให้รับนักศึกษาฝึกงาน ให้จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ผมว่าแบบนี้จะกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมและโอกาสขึ้นมาได้อีกทางหนึ่ง”

          บทสนทนาสิ้นสุดลงตรงนี้ แต่บทบาทของ CMU STeP และ เชียงใหม่สร้างสรรค์ยังไม่สิ้นสุด อนาคตของเมืองเชียงใหม่ อยู่ในมือของคนหลายคน โอกาสจากภายนอกนั้นสำคัญมาก แต่โอกาสที่คนในพื้นที่จะมองเห็นตัวตน สะท้อนปัญหาภายใน แล้วแผ้วถางเส้นทางไปสู่โอกาสก็สำคัญไม่แพ้กัน

          หากยังมีกำลังกาย กำลังใจ มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิง พร้อมกับคนในพื้นที่ที่ยังมีไฟ ก็คงยังอยู่ตรงนี้พร้อมกับความหวังว่า สักวันหนึ่งสิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะนำพาเชียงใหม่ไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

คุยกับ มาร์ติน เฟ็นสกี้-สตาล์ลิง มองเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ต้องการ ‘โอกาส’

ที่มา

Photo Cover : อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก