หากเดินเข้าไปในคาเฟ่แห่งหนึ่งกลางเมืองนครศรีธรรมราช ใกล้กับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร คุณอาจจะพบกับภาพวาดและผลิตภัณฑ์ที่นำเสนองานจิตรกรรมไทยร่วมสมัยดูโดดเด่นสะดุดตา ลายเส้นตัดขอบคมชัด ภาพ 2 มิติแบบลายไทย แต่สีสันสดใสตัดกันฉับ สะท้อนวิถีชีวิตปัจจุบันของชาวปักษ์ใต้ ตัวคาแรกเตอร์บางตัวในภาพวาดมี คิ้วโก่งดังคันศร แขนอ่อนดังงวงช้าง แต่ใส่เสื้อสายเดี่ยวกับกางเกงขาสั้น ซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปจ่ายตลาด
ที่นี่คือ มโนสุข ที่ควบรวมฟังก์ชัน Art Studio | Gallery | Café ไว้ด้วยกัน พื้นที่สร้างสรรค์แห่งนี้ คือผลผลิตของ เขม-ณัฏภัทร หมื่นมโน และ เอฟ สิริณีนาถ ชำนาญเพชร์ คู่รักศิลปินที่หล่อหลอมความรักศิลปะ แล้วริเริ่มลงมือทำ เพื่อให้นครศรีธรรมราช มีพื้นที่สำหรับงานศิลปะอย่างจริงจังเสียที
“ช่วงเริ่มต้นของมโนสุข คือ เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะ ภาพวาดจิตรกรรม และเป็นแกลเลอรีให้นักสะสมและผู้สนใจงานศิลปะเข้ามาชมและซื้อผลงาน ต่อมาเริ่มมีคนสนใจเข้ามามากขึ้น ก็เลยเพิ่มส่วนของคาเฟ่กับเวิร์กชอปศิลปะขึ้นมา เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้คนเข้ามาทำงานศิลปะ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกเหมือนได้คุยกับตัวเองเวลาทำงานพวกนี้”
ทั้งเขมและเอฟชื่นชอบศิลปะมาตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านการเรียนรู้จากสถาบันศึกษา เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงาน จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีลายเซ็นเป็นของตัวเอง ภาพจิตรกรรมไทยร่วมสมัยคือผลงานของเขม ส่วนภาพที่สะท้อนความอ่อนโยนของสตรีและวิถีความเป็นแม่ในสังคมไทยคือผลงานของเอฟ
“ผมโตมากับครอบครัวศิลปะ คุณพ่อเป็นช่างเขียนป้าย อย่างป้ายโรงหนัง ป้ายโฆษณา โตมากับพวกพู่กัน สี นอกจากนี้ที่นครฯ ยังมีสิ่งที่ส่งเสริมงานศิลปะคืองานประเพณีต่างๆ อย่างประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เขียนภาพพระบฏ ประกวดเรือพระ ประกวดกระทง เรือพวงมาลา ศิลปะมันอยู่กับแต่ละประเพณี ครอบครัวผมก็ทำงานเหล่านั้นส่งประกวดอยู่แล้ว
“ส่วนทางเอฟคุณแม่ก็ชอบจัดบ้าน ตกแต่ง DIY เลยอาจจะซึมซับนิสัยตรงนั้นมา จนรู้ตัวว่าอยากเรียนศิลปะ เลยพยายามหาข้อมูลว่าที่ไหนที่เราจะได้เรียนสายศิลปะโดยตรง ที่นครฯ ก็คือใกล้ที่สุด”
เขมเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ที่เริ่มเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ “จุดเริ่มต้นความสนใจมาจากช่วงที่ผมขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพฯ รู้สึกคิดถึงบ้าน ปรับตัวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ค่อนข้างยาก พอคิดถึงบ้านแล้วมันสงบสุข เลยอยากจะสร้างผลงานที่สะท้อนวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของบ้านเกิด”
จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การค้นพบแนวทางของตนเอง “ตอนแรกลายเส้นของผมก็จะเป็นจิตรกรรมแนววิถีชีวิตแบบจิตรกรรมไทย จนพี่คนหนึ่งที่นครฯ เขาบอกว่าให้ลองวาดภาพตัวเขาโดยใช้ลายเส้นในแบบของเราดู ก่อนหน้านี้จิตรกรรมไทยจะมีกรอบอะไรบางอย่างที่ครอบไว้ เช่น ทำแบบนี้ถึงจะถูก มันไม่สามารถเอาความร่วมสมัยมาอยู่รวมกันได้ สุดท้ายเราก็ลองฉีกกฎนั้นดู ก็เลยกลายเป็นงานร่วมสมัยขึ้น แปลกใหม่ เป็นที่สนใจ”
ผลงานของเขมสะท้อนวิถีชีวิตชาวปักษ์ใต้ ช่วงแรกๆ ก็เริ่มจากวาดภาพตามแรงบันดาลใจที่พบในนครศรีธรรมราชก่อน ต่อมาจึงเริ่มออกเดินทางตามหาแรงบันดาลใจ เช่น ถ้าเดินทางไปสงขลา ก็เอาความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่นั่นมาวาดภาพ ทุกวันนี้มีผลงานจำหน่ายในร้านมากมาย ทั้งภาพวาด ภาพรีปรินท์ สติกเกอร์ โปสต์การ์ด พวงกุญแจ จำหน่ายทั้งทางหน้าร้านและออนไลน์ ทุกเทศกาลหรืองานประเพณีสำคัญก็จะมีผลงานใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ
กว่าจะมาถึงวันนี้ เขมเปิดเผยว่าเขาก็เคยรู้สึกลังเลใจที่จะเปิดอาร์ตสเปซมาก่อน “เมื่อพูดถึงงานศิลปะกับเมืองนครศรีธรรมราช ผมออกจะท้อสักนิดหนึ่งในช่วงแรกๆ ผมคุยกับคุณพ่อ ถามว่าถ้าผมจะเปิดแกลเลอรีศิลปะดูสักทีจะเป็นอย่างไร คุณพ่อถามกลับมาคำเดียว คิดว่าพี่ชายของเราจะไปดูงานศิลปะไหม ถ้าเขายังหาเช้ากินค่ำ ผมก็เลยเข้าใจว่างานศิลปะเป็นเรื่องที่ต้องอิ่มท้องก่อนถึงจะอิ่มใจ แต่ถ้าไม่ทำมันก็ไม่เกิดขึ้นสักที สนองความคิดของตัวเองด้วย เพราะนครฯ เป็นเมืองที่มีงานศิลปะมากมายอยู่แล้ว แต่ไม่มีพื้นที่ให้งานศิลปะเหล่านั้นอยู่ได้”
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือตอนที่เขมไปฝึกงานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ “มีอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ พรใจ ใจมา เป็นอาจารย์ศิลปะชื่อดังที่นั่น ท่านพูดว่าเชียงใหม่แข็งแรงได้ในเชิงศิลปะก็เพราะมีศิลปินรุ่นใหญ่รวมตัวอยู่ด้วยกัน แล้วท่านก็ถามว่าที่นครฯ มีไหม ผมบอกว่า มีครับ แต่ไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ต่างคนต่างทำงานของตัวเองไป อาจารย์ท่านเลยบอกว่า ลองกลับไปที่บ้านสิ ไปสร้างที่นั่น”
อย่างน้อยในตอนนี้ ทั้งเขมและเอฟก็คิดว่า ทิศทางของคนทำงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ในเมืองนครฯ กำลังเป็นไปในทางที่ดีขึ้น “คุณสุรเชษฐ์ แก้วสกุล นักวิชาการของที่นี่เคยกล่าวว่า ศิลปิน ช่างฝีมือ เต็มบ้านเต็มเมืองนครฯ แต่เราส่งออกช่างศิลป์ ไปสร้างบ้านสร้างเมืองให้ที่อื่นกันหมด ปัจจุบันเหลือศิลปินในพื้นที่น้อยมาก ตอนนี้มีพี่น้องหลายๆ คนเข้ามาร่วมมือกัน ในอนาคตอาจจะเห็นช่างในนครฯ เต็มบ้านเต็มเมืองก็ได้”
“ผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของเเรงขับเคลื่อนศิลปะในนครฯ อยากให้ที่นี่เป็นเมืองของศิลปะ เพื่อในอนาคต…เด็กศิลป์เรียนจบ ก็กลับมาทำงานที่บ้านได้…”