เมกเกอร์สเปซกู้วิกฤต: ปรากฎการณ์ที่คนตัวเล็กร่วมกันแก้ปัญหาโลก

261 views
8 mins
July 18, 2022

          ‘เมกเกอร์สเปซ’ (Maker Space) เกิดขึ้นในยุคสมัยของการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ท่ามกลางบริบทที่โลกกำลังอยู่ในคลื่นปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) หรือที่เรียกกันว่า อุตสาหกรรม 4.0 เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ได้เข้ามาผสมผสานกับโลกแห่งการผลิต กระแสสายธารของ เมกเกอร์มูฟเมนต์ (Maker Movement) ทั้งกลุ่มนักสร้างสรรค์และนักนวัตกรรม ได้ร่วมกันก่อให้เกิดเมกเกอร์สเปซขึ้นในทุกที่ทั่วโลก 

          เหล่าคนเจ๋งๆ มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด แบ่งปันประสบการณ์ สุมหัวกันสร้างสรรค์และออกแบบนวัตกรรมต่างๆ ด้วยกัน ความเป็นดิจิทัลที่มีชีวิตชีวาขึ้นทุกวัน ยิ่งสร้างความมั่นใจในทักษะและความเป็นผู้ประกอบการให้สตาร์ทอัปและธุรกิจน้องใหม่

          หัวใจสำคัญของเมกเกอร์สเปซคือ ความรู้และอุปกรณ์ FabLab และ Techshop คือชื่อที่คุ้นเคยกันดีในฐานะของต้นแบบวงการเมกเกอร์สเปซ ทั้งสองสเปซมีสไตล์และกฎเกณฑ์ที่แตกต่าง แต่ล้วนเป็นศูนย์ข้อมูลและศูนย์กลางอุปกรณ์ จำพวก เครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือเครื่องตัดเลเซอร์ หุ่นยนต์ หรือเอไอ แต่แน่นอนว่าเมกเกอร์สเปซไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มมืออาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญในแขนงใดแขนงหนึ่งเท่านั้นถึงจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะที่แห่งนี้ต้อนรับทุกคนขอเพียงมีความสนใจเหมือนกัน 

          ดังนั้นมูฟเมนต์นี้ จึงมีความน่าสนใจในการสร้างนวัตกร และสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในสงบและยามฉุกเฉิน ทั้งยังเป็นต้นแบบของการสร้าง ‘แนวคิด’ ที่รวมกลุ่มคนที่อยากพัฒนาสิ่งที่ตัวเองสนใจโดยการใช้ทักษะที่มีมาช่วยแก้ไข

            ที่สำคัญคือในหลายๆ ครั้ง การประดิษฐ์อะไรสักอย่างอาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาหลักเสียทีเดียว และช่วยสร้างเครือข่ายของเมกเกอร์ทั่วโลกจนพวกเขาเหล่านั้นนำ ‘แนวคิด’ ติดไม้ติดมือกลับไปพัฒนาบ้านของตัวเองได้

เมกเกอร์สเปซปะทะความท้าทาย เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส สร้างสรรค์นวัตกรรมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 

          ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกได้พบกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งวิกฤตจากภัยพิบัติ หรือวิกฤตจากภัยสงคราม ส่งผลให้เมกเกอร์สเปซในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับเขตวิกฤตหรืออยู่ท่ามกลางวิกฤต ต่างร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

          หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2015 เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เหล่าเมกเกอร์ได้ช่วยกันผลิตและซ่อมแซมอุปกรณ์และข้าวของที่จำเป็น และหาโมเดลในการฟื้นฟูเมืองจากภัยพิบัติ ก่อนจะกลายเป็นที่มาของเมกเกอร์สเปซ Nepal Communitere ที่เนปาล หรือที่ฉนวนกาซา เขตแดนข้อพิพาทระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในปี 2016 Glia ได้ผลิตและแจกจ่ายสายรัดห้ามเลือดเพื่อช่วยชีวิตสำหรับเจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินบริเวณฉนวนกาซาที่ผลิตได้ด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ

โรคระบาดใหม่โควิด-19 กระตุ้นเมกเกอร์สเปซให้ระเบิดพลังความคิด 

          วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เมกเกอร์สเปซกลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมีสาเหตุจากการที่โรงงานผลิตปิดตัวลงตามระเบียบหรือมาตรการของแต่ละประเทศ หรือยอดการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการการใช้งาน เกิดเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ที่ทำให้เมกเกอร์สเปซถูกพูดถึงในฐานะผู้กอบกู้สังคม มากกว่านักประดิษฐ์ที่มีแรงผลักดันส่วนบุคคลเหมือนก่อน 

เนปาล: ในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ฟิลด์เรดดี้ (Field Ready) องค์กรไม่แสวงหากำไร ได้ร่วมมือกับหน่วยงานนวัตกรรมหลายๆ แห่งในเนปาล เพื่อซ่อมแซมเครื่องช่วยหายใจที่ชำรุด ผลิตหน้ากาก เฟซชิลด์ป้องกันและชุดกาวน์สำหรับป้องกันโควิด-19 

อิรัก: โมซุลสเปซ (Mosul Space) ได้ผลิตหน้ากากและเกราะป้องกันโควิด-19 เพื่อใช้สำหรับโรงพยาบาลหลายแห่งในอิรัก

บังกลาเทศ: ฟิลด์เรดดี้ (Field Ready) ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นและเมกเกอร์สเปซอีกหลายๆ แห่งเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เผชิญกับภัยโควิด-19 เช่นกัน 

ฟิจิ: ซูวา (Suva) เมกเกอร์สเปซที่ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขฟิจิเพื่อผลิตเฟซชิลด์ป้องกันและฉากกั้นโควิด-19 และจุดล้างมือ

มาลาวี: ทเวนติ เมกเกอร์สเปซในมาลาวีแจกจ่ายเฟซชิลด์ป้องกันโควิด-19 มากกว่า 6,000 ชิ้นให้กับโรงพยาบาลรัฐ โรงเรียน และกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นที่ต้องการ

เอธิโอเปีย: บีไอที (BiT) เมกเกอร์สเปซแจกจ่ายชุด PPE ให้กับโรงพยาบาลท้องถิ่นและศูนย์ตรวจโควิด-19 อีกทั้งยังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เพื่อผลิตเครื่องผลิตออกซิเจนราคาประหยัด  

          ข้อมูลจากฟิลด์เรดดี้ (Field Ready) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีเครือข่ายเมกเกอร์สเปซทั่วโลก ได้คาดการณ์ว่าเมกเกอร์สเปซท้องถิ่นทั่วโลกได้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น เฟซชิลด์หน้ากากป้องกันโควิด-19 ชุดกาวน์ แมส เจลล้างมือ และน้ำยาฆ่าเชื้อ ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีตัดด้วยเลเซอร์ (Laser Cutting) เครื่องจักรเย็บ (Sewing) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) และระบบเซ็นเซอร์แม่พิมพ์ (Molding) ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนเงิน แค่การผลิตชุด PPE จากเมกเกอร์สเปซที่มีมากถึง 48.3 ล้านชุดทั่วโลกก็มีมูลค่าสูงถึง 271 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

FabCafe Bangkok เมกเกอร์สเปซไทย ศูนย์รวมคนเจ๋ง สู้วิกฤตโควิด-19

          เราย่อมจดจำได้ดีว่าประเทศไทยเองก็เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 อย่างหลีกหนีไม่ได้เช่นกัน หนำซ้ำในช่วง 2 ปีแรกของสถานการณ์โควิด เรายังต้องเผชิญกับสภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสมต่อการป้องกันโรคระบาด ส่งผลให้ภาคประชาชนไม่อาจรีรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ หลายชีวิตถูกโรคระบาดซัดให้หายไปโดยยังไม่มีโอกาสได้ลองสู้ หลายคนฝ่าฟันไปได้สักระยะก็ไม่ไหว เพราะเข้าไม่ถึงสวัสดิการได้ทันเวลา ตามสถิติเรามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรวม 4.49 ล้านคน ผู้เสียชีวิต 30,422 คน ยังไม่นับตัวเลขที่มองไม่เห็น

          FabCafe Bangkok คือ พื้นที่สร้างสรรค์และออกแบบนวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลได้จับมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ เช่น วิศวกร นักออกแบบ หรือบริษัทผลิตที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่กำลังขาดแคลนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีใจความหลักคือ การให้ผู้ใช้หรือเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุข แพทย์ และพยาบาล มีส่วนร่วมอยู่ในทุกกระบวนการและทุกขั้นตอน 

          และเพื่อให้เห็นภาพของความเป็น ‘แหล่งประดิษฐ์คิดค้น’ ที่แท้จริง นี่ตัวอย่างการทำงานของ FabCafe ที่แสนจะเป็นรูปธรรม เช่น หน้ากากเฟซชิลด์ป้องกันโควิด-19 FabCafe Bangkok ทดลองและผลิตหน้ากากเฟซชิลด์ป้องกันโควิด-19 ถึง 5 รูปแบบ จากแหล่งที่มาโอเพ่นซอร์สที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Prusa PRO Face Shield Version RC 2 เฟซชิลด์ที่ถูกผลิตด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จาก 3D Print Prusa ที่มีขนาดเล็กและแข็งแรง ใช้เวลาการพิมพ์ประมาณ 3 ชั่วโมง หรือโปรเจกต์โอเพ่นซอร์สเฟซชิลด์สำหรับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้า หรือ COVID-19 Wireframe Face Shield ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีอะไร แค่สองมือก็ผลิตได้แล้ว ความท้าทายอยู่ที่การหาอุปกรณ์ต่างๆ มาให้ครบ อีกทั้งยังเป็นที่ชื่นชอบและใช้งานได้ดีสุด คือฟีดแบ็กจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ได้ใช้ 

          นอกจากนี้ ยังมีโปรเจกต์น่ารักๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนแรงใจของบุคลากรทางแพทย์ก็ยังถูกคิดไว้ควบคู่กับการผลิตเฟซชิลด์ในโปรเจกต์แรก ฝังข้อความให้กำลังใจตรงบริเวณแผ่นอะคริลิกใส โดยมีดีไซน์เนอร์ส่งลายมือเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมากถึง 100 คน ก่อนที่ลายมือเหล่านั้นจะถูกคิดเป็นข้อความให้กำลังใจบุคคลากรทางการแพทย์แนวหน้าที่จำเป็นต้องใช้เฟซชิลด์ เช่น “กราบหัวใจพี่บ่าว” “ขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอและพยาบาลสู้ๆ นะคะ” หรือ “คุณหมอและพยาบาลยืนหนึ่งในใจเรา ขอบคุณในความเสียสละและทำงานหนักเพื่อทุกคน”

          ยังไม่รวมโปรเจกต์บูธตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ถูกสร้างมาขึ้นเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อระหว่างกลุ่มคนเสี่ยงสูงที่มาตรวจเชื้อกับเจ้าหน้าที่ตรวจเชื้อ (COVID-19 Examination Booth) หรือ ชุดระบบ PAPR ที่เป็นเครื่องที่ปกป้องทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ จะสามารถช่วยปกป้องระบบทางเดินหายใจของแพทย์ไม่ให้ติดเชื้อได้ ซึ่งเป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นชัดถึงแรงกระเพื่อมของเมกเกอร์สเปซในภาวะวิกฤต

          เมกเกอร์สเปซจากหลากหลายมุมโลก หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองที่เยาวชนหัวก้าวหน้ากำลังเติบโตขึ้นมาพร้อมกับนวัตกรรมทางความคิด ต่างมีวิกฤตเป็นของตัวเองท่ามกลางพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมที่ทั้งสงบและสั่นไหว 

          วิกฤตระดับโลกที่มาถึงแล้วอย่างโรคระบาดโควิด-19 และที่ยังมาไม่ถึง เขย่าเมกเกอร์สเปซทั่วโลกให้ตื่นตัวและทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น น่าเศร้าที่บางครั้งมนุษย์ต้องสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่เพื่อแก้ไขความสูญเสียมหาศาลที่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นเดียวกันว่า นั่นก็เป็นอีกหนึ่งความหวังของการทำงาน เพื่อรักษาชีวิตที่ถูกหลงลืม

          และในท้ายที่สุด ถ้าเรามองจากโปรเจกต์ข้างต้นที่กระบวนการทำงานไม่ได้มีความสนุกสนานเป็นส่วนประกอบหลัก มีแต่ความท้าทาย ความเร่งด่วน และประสิทธิภาพ เมกเกอร์สเปซจึงทำหน้าที่ในการเป็นห้องสมุดชีวิตที่เติบโต และมีหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ใดๆ ก็ตามในอนาคต

เมกเกอร์สเปซ: สร้างคน สร้างสังคมให้เข้มแข็ง

          เมกเกอร์สเปซเริ่มต้นจากการเป็นแหล่งพื้นที่สำหรับกลุ่มคนที่มีความสนใจร่วมกัน มาเจอหน้ากันเพื่อเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิด สร้างสรรค์ไอเดียล้ำๆ ออกมาเป็นนวัตกรรม หรือข้าวของที่ล้ำสมัย แต่หลายๆ ครั้งเมกเกอร์สเปซไม่ได้เป็นเพียงแหล่งปลุกปั้นพลังความคิด แต่ยังปลุกปั้นพลังใจ จิตวิญญาณของมนุษย์คนหนึ่งได้อีกด้วย 

          งานวิจัยจาก Dundee University ค้นพบว่า เมกเกอร์สเปซไม่เพียงแต่สร้างสรรค์งาน แต่ยังสร้างสังคมที่เข้มแข็ง (Resilience Society) เพราะจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่มาจาก ‘ความสนใจร่วมกัน’ หลายๆ เมกเกอร์สเปซจึงกลายเป็นพื้นที่ช่วยเหลือใครหลายคนที่เดินเข้ามาด้วยหัวใจสิ้นหวัง ท้อแท้ ตกงาน ไร้ความมั่นใจ

          เมื่อพวกเขาจับกลุ่มร่วมตัวกัน พบเจอกันทุกวัน ทำงานร่วมโปรเจกต์ด้วยกันข้ามวันข้ามคืน ก่อนผลงานของพวกเขาจะออกดอกออกผลการช่วยเหลือสังคม จิตวิญญาณของเขาก็ได้รับการเยียวยาด้วยเช่นกัน โดยจากรายงานเล่มเดียวกันพบว่า พื้นที่ที่มีเมกเกอร์มูฟเมนต์สูง มักจะเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการว่างงานสูง  เพราะการมีอยู่ของเมกเกอร์สเปซเป็นเหมือนพื้นที่ให้คนว่างงานได้เข้ามาลงมือทำอะไรบางอย่างจนกลับมามีคุณค่าต่อตัวเองอีกครั้ง

           สอดคล้องกับรายงานการศึกษาจาก FabLab (เครือข่ายเมกเกอร์สเปซที่มีมากกว่า 2,000 แห่งทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี) ยังพบว่าเมกเกอร์สเปซช่วยปลูกฝังความคิดความสร้างสรรค์และทำให้ผู้เรียนรู้เกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเมกเกอร์สเปซช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างสุขภาวะความเป็นอยู่ที่ดีให้กับกลุ่มคนชายขอบได้

          นอกจากในแง่ของปัจเจกชนแล้ว เมกเกอร์สเปซยังเป็นข้อต่อระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานภาคธุรกิจด้วย โดยเฉพาะเมกเกอร์สเปซในพื้นที่ห่างไกลและนอกตัวเมือง เมกเกอร์สเปซกลายเป็นทั้งฮับและเป็นทั้งกระบอกเสียงสำคัญในการไปบอกต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ชุมชนขาดแคลน มีความจำเป็น หรือความต้องการอะไร ทำไมเมกเกอร์สเปซจำเป็นต้องผลิตนวัตกรรมอะไรออกมาเพื่อคนในชุมชนนั้นๆ บทพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดก็ได้แก่ ช่วงเวลาที่มนุษย์พบเจอกับวิกฤตภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะจากมนุษย์ด้วยกันหรือจากธรรมชาติก็ตาม 

          เมกเกอร์สเปซไม่เพียงช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันผ่านความคิดสร้างสรรค์และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลจากหลากหลายสาขาหรือความรู้จากศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ แต่ยังสามารถพัฒนาและผลิตนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ในยามที่เกิดวิกฤตต่างๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาที่ขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือ ส่งผลให้เมกเกอร์สเปซกลายเป็นสถานที่รวบรวมกลุ่มคนที่มีพลัง มีความสามารถ มีศักยภาพในการช่วยเหลือสังคมของตน 

          และจากเหตุผลที่ว่ามานั้น เมกเกอร์สเปซจึงกลายเป็นพื้นที่ที่ไร้อคติด้วยเช่นกัน โดยจากรายงานของ University of Dundee  เปิดเผยว่า FabLab ในไอร์แลนด์เหนือ ได้กลายเป็นพื้นที่กันชนระหว่างกลุ่มชาตินิยมและกลุ่มที่สนับสนุนสหราชอาณาจักร ภารกิจของเมกเกอร์สเปซในที่แห่งนี้ จึงเป็นการนำผู้คนจากทั้งสองฝ่ายของความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือมารวมตัวกันทำกิจกรรมหรือทำงานสร้างสรรค์ด้วยกัน ซึ่งท้ายสุดการร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ก็ได้เกิดเป็นการพัฒนาทักษะในหลากหลายสาขาวิชาให้กับคนเหล่านั้น จนนำมาสู่การสร้างงานสร้างเงินให้กับชุมชนต่อไป

          เช่นเดียวกับช่วงโรคระบาดโควิด-19 เมกเกอร์สเปซกลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมีสาเหตุจากการที่โรงงานผลิตปิดตัวลงตามระเบียบ หรือมาตรการของแต่ละประเทศ หรือยอดการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการการใช้งาน 

          จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เมกเกอร์สเปซไม่เพียงแต่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันผ่านความคิดสร้างสรรค์และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลจากหลากหลายสาขา หรือความรู้จากศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ แต่ยังสามารถพัฒนาและผลิตนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ในยามที่เกิดวิกฤตต่างๆ ขึ้นมาได้อีกด้วย โดยเฉพาะเมกเกอร์สเปซในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาที่ขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือ ส่งผลให้เมกเกอร์สเปซกลายเป็นสถานที่รวบรวมกลุ่มคนที่มีพลัง มีความสามารถ มีศักยภาพในการช่วยเหลือสังคมของตน 

          ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ภาครัฐจะต้องสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือเมกเกอร์สเปซเพื่อให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพลังความคิดอย่างไร้ขีดจำกัดและมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเหมาะสม เช่น การสนับสนุนด้านการลงทุนหรือการระดมทุน การเปิดให้เข้าถึงพื้นที่หรือทรัพยากรการผลิต การพัฒนาและปรับปรุงการประสานงานระหว่างฝั่งอุปสงค์และฝั่งอุปทานการผลิต การเข้าถึงทรัพยากรการผลิต หรือวัสดุในการผลิตอย่างยุติธรรม หรือการปรับปรุงหรือออกแบบกฎหมายที่อำนวยความสะดวกและเอื้อประโยชน์ต่อเมกเกอร์สเปซ

          เพราะไม่แน่ว่าในอนาคต เมกเกอร์สเปซจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบนโลกใบนี้ อาจจะพามนุษยชาติกระโดดเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5.0 ก็ได้

            ใครจะไปรู้ 


ที่มา

บทความ Go make something! The growth of the Maker Movement (online)

บทความ Hacking for Covid-19 with Collaboration and Fabrication: Five FabCafe Bangkok Projects (online)

บทความ ‘Makerspaces’ boost community resilience. It’s time to support them (online)

Cover Photo : 2001 Online on flickr

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก