ปลุก Maker Culture แบบไทยๆ ด้วยการสร้าง Maker Space แบบไทยทำ

1,575 views
6 mins
July 7, 2022

ลองจินตนาการว่าเราหลับไปเมื่อ 5 ปีก่อน แล้วตื่นขึ้นมาในตอนนี้ คงจะสับสนงงงวยไม่น้อย ทั้งกับการทำงานจากที่ไหนก็ได้แค่มีไวไฟ วิถีชีวิตที่ไม่พกเงินสด ยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังตีตลาด หรือมีหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ฯลฯ และหากถามถึงอีกห้าปี สิบปีข้างหน้า เราก็คงจินตนาการไม่ออกว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความคิดสุดสร้างสรรค์

แต่กว่าจะออกมาเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนวิถีชีวิต จุดเริ่มต้นอาจมาจากการลองผิดลองถูก โดยไม่ต้องกลัวความล้มเหลว ซึ่งคือหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมนักคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกลุ่มเมกเกอร์ (Maker) หรือนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์สิ่งล้ำๆ ขึ้นมาเองแบบ DIY โดยมีเมกเกอร์สเปซ (Maker Space) เป็นแหล่งบ่มเพาะและเอื้อให้เกิดการลงมือทำ

แต่เมกเกอร์สเปซจะไม่มีทางเติบโตได้ หากในเมืองนั้นขาดวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์ (Maker Culture) ที่ให้อิสระในการคิดและการแสดงออก ฉะนั้น นอกจากการพยายามสร้างพื้นที่ให้เกิดขึ้นเพื่อรวบรวมผู้คนที่สนใจ การปลุกปั้นชุมชนนักสร้างสรรค์แล้ว การให้เสรีภาพในทุกๆ ย่างก้าวของชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

สร้างพื้นที่ให้คนได้ออกไอเดียเปลี่ยนโลกด้วยเมกเกอร์สเปซ

เมกเกอร์สเปซ คือพื้นที่สำหรับคนทุกวัยเพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจด้วยการลงมือทำด้วยตัวเอง โดยอาจเริ่มต้นจากการให้แรงบันดาลใจ เสริมสร้างทักษะ ไปจนถึงสนับสนุนให้เกิดอาชีพนวัตกรรมที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คนและสังคม

การเรียนรู้ในเมกเกอร์สเปซไม่เหมือนกับการเรียนเชิงทฤษฎีหรือในตำราเพียงอย่างเดียว เพราะจุดเด่นของเมกเกอร์สเปซคือ การใช้สองมือหยิบจับและทดลองทำจริง ทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด การออกแบบ การสร้างกลไกอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึง Soft Skill อย่างการวิเคราะห์หรือแก้ไขปัญหา เป็นทักษะที่เหมือนกับการว่ายน้ำ หากอ่านหนังสือหรือเปิดยูทูบดูก็พอจะรู้วิธี แต่จะว่ายเป็นไหมคงตอบยาก นอกเสียจากว่าจะได้ลองว่ายเองภายใต้การดูแลของโค้ช เมกเกอร์สเปซคือพื้นที่ที่ทุกคนจะได้ฝึกฝนและสร้างสรรค์ ได้มารวมตัวเรียนรู้ตอบโจทย์การพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่ ไม่มีเครื่องมือ หรือเพื่อนคู่คิด

แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้ต้องควบคู่กันไปกับการสร้างวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์ ที่เกิดได้ด้วยการไม่ปิดกั้นความคิดของทุกคน เป็นพื้นที่ที่ทุกๆ คนไม่ต้องกลัวว่าจะทำผิดพลาด เพราะวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์เชื่อในการทดลองจนกว่าจะเจอคำตอบที่เหมาะสม ไม่มีสิ่งใดผิดพลาด แต่เป็นเพียงการเดินทางของการเรียนรู้นั่นเอง

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การสร้างวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์ต้องเกิดในเมกเกอร์สเปซเท่านั้น ในห้องเรียน ที่บ้าน หรือพื้นที่สาธารณะ ก็สามารถสร้างวัฒนธรรมนี้ได้ ผ่านการให้ทุกคนได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และเปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนไอเดียกันไปมาโดยไม่ถูกตัดสิน

ปลุก Maker Culture แบบไทยๆ ด้วยการสร้าง Maker Space แบบไทยทำ
Photo : Camp Kitaki on flickr

4P เบื้องหลังหลักคิดการสร้างเมกเกอร์สเปซ

ความพิเศษของเมกเกอร์สเปซ ที่ทำให้เกิดความสร้างสรรค์ก็มีหลักคิดเบื้องหลังคือ หลัก 4P ได้แก่ Play – Passion – Project – Peers ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะไปอยู่ในมุมใดของโลกใบนี้ เพราะนี่คือแนวคิดที่จะพาเราไปสนุกกับอิสรภาพทางความคิดจนเกิดเป็นโปรเจกต์เปลี่ยนโลก

หลักการ 4P เป็นหลักการเล่นอิสระในโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เหมาะกับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทาง MIT Media Lab เลยนำหลักคิดนี้ไปต่อยอดเพื่อให้นวัตกรสามารถสร้างสรรค์ไอเดียดีๆ มากมาย ผ่านการให้เหล่านักวิทยาศาสตร์มีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แทนสีเทียน หรือเครื่องควบคุมแทนบล็อกไม้ หลักคิดพื้นที่ฐานเดิมยังคงอยู่ และเป็นหลักการพื้นฐานของเมกเกอร์สเปซที่กำลังแพร่หลายในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่ง P แต่ละตัวล้วนช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมนี้ได้อย่างน่าสนใจ

Play – การเล่น เป็นกระบวนการสำคัญในการเรียนรู้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการมากมาย รวมถึง จอห์น เพียเจต์ และสจ๊วต เบาว์ ถึงขั้นที่มีสถาบันการเล่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการเล่นยังหมายรวมถึงการมองสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องสนุกท้าทายที่จะได้ลองผิดลองถูก โดยไม่มีกรอบอะไรมากั้น

Passion – เมื่อเล่นเยอะๆ ก็จะเจอ ‘ความสนใจ’ จนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เราอยากจะใช้เวลาและความพยายามทำให้สำเร็จ บางครั้งหลายคนคิดว่ามนุษย์ (โดยเฉพาะเด็กๆ) ชอบอะไรง่ายๆ แต่การให้อิสระจนได้ทำงานจากสิ่งที่สนใจ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยกันต่อเติมวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์ให้ไปได้ไกลกว่าเดิม

Project – ลงมือทำ พอสนใจหรือหลงใหลแล้วก็จะพาให้สร้างสรรค์ชิ้นงานที่ทำให้การเรียนรู้แบบเชื่อมโยง ไม่ได้เป็นการเรียนรู้แบบแยกส่วนเหมือนแต่ก่อน ที่มักชวนให้ตั้งคำถามว่าเราจะเข้าใจสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แต่เปลี่ยนเป็น สิ่งที่เราอยากจะทำให้สำเร็จนั้นต้องการความรู้อะไรบ้าง ซึ่งแบบนี้จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจไปพร้อมๆ กับการลงมือ

Peers เพื่อนร่วมทำ เมื่อเริ่มลงมือ กระบวนการถัดไปคือ การเรียกหาคนที่มีความสนใจเดียวกัน ในพื้นที่เดียวกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์มักไม่ได้เกิดจากการนั่งคิดนอนคิดคนเดียว แต่จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดกันและกันต่างหาก

สิ่งที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมนักสร้างสรรค์จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป เพราะมีเมกเกอร์สเปซไม่น้อยที่กำลังพยายามผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง

FabCafe x TCDC – พื้นที่ทดลองที่นักออกแบบจับต้องไอเดียได้

ณ พื้นที่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ย่านเจริญกรุง ในอาคารไปรษณีย์กลางสุดคลาสสิก ส่วนหนึ่งคือเมกเกอร์สเปซที่เป็นสนามเด็กเล่นของเมกเกอร์สายออกแบบมารวมตัวกัน ภายใต้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center) โดยใน FabCafe x TCDC มีเครื่องมือครบครัน ทั้งเครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ฯลฯ พ่วงด้วยอีเวนต์น่าสนใจอยู่เสมอ เช่น เวิร์กชอป FAB RACERS เพื่อการเป็นผู้ประกอบการ หรือ  Make a Game : Retro Style สำหรับคนที่สนใจเกมย้อนยุคได้มาเขียนเกม 8 bit ด้วยกันอีกครั้ง

สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า “ที่นี่คือเมกเกอร์สเปซที่แท้จริง” ไม่ได้อยู่ที่เครื่องไม้เครื่องมือครบครัน แต่เป็นบรรยากาศการสร้างวัฒนธรรมนักสร้างสรรค์ ที่เปิดให้ทั้งคนสายเทคโนโลยีและนักออกแบบได้มาปะทะสังสรรค์กัน จนเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดกรอบ จากผลงานจากกระดาษสเก็ตช์สู่สิ่งที่จับต้องได้ การได้มาลงมือทำที่เมกเกอร์สเปซแห่งนี้ จึงช่วยให้ทุกคนได้มีอิสระในการคิดสร้างสรรค์ที่ไม่จำกัดอยู่ที่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง

Makerspace Thailand เชียงใหม่ – การรวมตัวและลงมือของกลุ่มเมกเกอร์เมืองเหนือ

ไม่ไกลจากถนนเมืองมูลนัก เมื่อเดินลัดเลาะมาก็จะเจอกับโกดังเก่าที่มีเสาสีสันสดใส และเหล่าเมกเกอร์ที่มารวมตัวกันเป็นประจำ ที่น่าตื่นเต้นก็คือภายในมีทั้งการจัดแสดงชิ้นงานสุดเจ๋ง โต๊ะทำงานตัวหนาทนทานทุกการใช้งาน อุปกรณ์งานไม้ เครื่อง CNC และเลื่อยขนาดใหญ่ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ รวมถึงกระดานดำเต็มฝาผนังให้คิดวางแผนได้เต็มที่ รองรับงานหลากหลายตามความสนใจ

ด้วยความเป็นพื้นที่ที่พร้อมเปิดรับทั้งคนหน้าใหม่ และการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นของคนที่เคยมาใช้บริการ ทำให้ที่นี่ไม่มีการกีดกันใครออกไปจากพื้นที่ หรือแบ่งโซน แต่พร้อมเรียนรู้ไปด้วยกัน แลกเปลี่ยนทักษะและเครื่องไม้เครื่องมือกันแบบไม่มีกั๊ก

Home Of Maker – เมกเกอร์สเปซสายไอที ที่เปิดพื้นที่ให้ตั้งแต่เด็กตัวจิ๋วถึงผู้ใหญ่นักลงมือ

เมื่อนึกถึงฟอร์จูนทาวน์ ท่านอาจนึกถึงการไปซื้อ-ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และร้านซ่อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และแม้หน้าตาของ Home Of Maker โดยกราวิเทคไทยอาจจะดูคล้ายๆ อย่างนั้น แต่บรรยากาศและวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่แห่งนี้บ่งบอกชัดว่า ที่นี่คือคอมมูนิตี้ของชาวไอทีที่มาพูดคุย แลกเปลี่ยน หรือทดลองประกอบนั่น เปลี่ยนนี่ ได้ตามความสร้างสรรค์และความสนใจ ตามนิยามของเมกเกอร์สเปซที่ให้คนที่สนใจมาลองใช้เครื่องมือต่างๆ ลองเขียนบอร์ด Arduino โดยมีวิศวกรมืออาชีพช่วยดูแล รวมทั้งกิจกรรมเวิร์กชอปทุกเดือนในช่วงสุดสัปดาห์

ไม่ว่าเราจะเป็นนักศึกษา คนธรรมดาทั่วไป หรือแม้แต่นักเรียนเด็กๆ ตัวจิ๋ว ที่นี่ก็ฝึกทักษะ STEM ให้ผ่านการเล่น ยกตัวอย่างเช่น การฝึกเขียนวงจรรถบังคับแบบเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

FabLab KX Knowledge Xchange Center – ผสานข้ามศาสตร์ สู่นักสร้างที่คิดเป็นทำเป็น

ปิดท้ายด้วยพื้นที่สายไอทีอีกหนึ่งแห่งจากทีม FabLab ที่ปิ๊งไอเดียสร้างพื้นที่ให้คนทำซอฟต์แวร์ได้มาใช้ในรูปแบบ Co-Working Space และมีความเชื่อมั่นใน ‘วิธีคิดแห่งนักสร้าง’ และบ่มเพาะเมกเกอร์ยุคใหม่ ให้ทั้งคิดเป็นและทำเป็นในคนเดียว แต่ไม่ต้องทำคนเดียว ‘เพราะรวมกันสร้างสรรค์ได้มากกว่า’  

ภายในจึงเต็มไปด้วยการผสมผสานงานดิจิทัลเข้ากับงานไม้ งานเหล็ก งานดีไซน์ งานไฟฟ้า ไปจนถึงงานศิลปะ! รองรับเหล่าเมกเกอร์ตั้งแต่ ป.1 จนถึงวัยเกษียณที่เข้ามาเรียนรู้  แถมนอกจากเครื่องไม้เครื่องมืออันครบครันแล้ว ยังมีการจัดแสดง งานเสวนา และเวิร์กชอปหลากหลายที่มีหัวข้อผสมผสานจากหลายศาสตร์ เพื่อดึงความสนใจจากคนหลากหลายแบบ


ที่มา

บทความ “รีวิว MAKER SPACE เชียงใหม่” จาก teerapat.com (online)

บทความ “ห้ามพลาด 5 เมกเกอร์สเปซ พื้นที่ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์” จาก sdthailand.com (online)

เฟซบุ๊ก MakerStation (online)

เว็บไซต์ MakerStation (online)

Cover Photo : FabCafe Bangkok

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก