‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก บ้านพักใจของหนุ่มสาวผู้ไร้โอกาส

891 views
6 mins
August 20, 2024

          ความปรารถนาสูงสุดของ ‘เจี๊ยบ’ วิทยากร โสวัตร คือการเขียนหนังสือ

          ส่วนความฝันของ ‘ท็อฟฟี่’ ศินีนาฏ โสวัตร หญิงสาวคนรัก คือการมีร้านหนังสือที่เปรียบเหมือนบ้านอันอบอุ่นของนักอ่าน คือสถานที่สร้างสรรค์งานเขียนของสามี คือพื้นที่ปลอดภัยของลูกสาวทั้งสอง และเพื่อสะสางความฝังใจในวัยเยาว์ของเด็กสาว ที่ถูกกีดกันจินตนาการและการอ่านด้วยความอัตคัดขัดสนของชีวิต

          10 เจตจำนงของร้านหนังสือ ‘ฟิลาเดลเฟีย’ จึงหยั่งลึกไม่คลอนแคลน นั่นคือ ไม่ว่าเธอหรือเขาจะร่ำรวยหรือยากไร้ การอ่านหนังสือคือสิทธิที่ไม่ควรถูกพราก

          “ร้านหนังสือคือความฝันของภรรยา แต่วิธีวิทยาของร้าน บุคลิกของร้านคือเรา เรามีวิธีคิดบางอย่างคืออยากให้ร้านหนังสือเป็นพื้นที่สร้างองค์ความรู้หนึ่ง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการจัดเสวนา นั่งคุยกันกับผู้คน การคัดหนังสือเข้าร้าน หนังสือที่ถูกปฏิเสธโดยรัฐ หนังสือที่ถูกลดพื้นที่ มันจะมีพื้นที่ในร้านเราเสมอ”

          ถ้อยคำของเขามีเชิงอรรถที่น่าสืบสาว ผ่าน 3 ช่วงเวลาชีวิตของวิทยากร นับตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กชายที่จำต้องห่มผ้ากาสาวพัสตร์เพื่ออาศัยอารามวัดเป็นที่ร่ำเรียนเขียนอ่าน ต่อมาในวัยหนุ่ม เขาปรารถนาใช้ชีวิตในฐานะโลกียชน ผจญความฉูดฉาดของมนุษย์ในโลกกว้าง ก่อนลงหลักปักฐาน สร้างงาน สร้างฐานะ เลี้ยงดูบุตรี พร้อมกับการหยั่งรากแก้วประชาธิปไตยให้มั่นคงท่ามกลางพายุโหมซัดทางการเมือง

Make yourself at home ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก และบ้านของหนุ่มสาวผู้ยากไร้โอกาส

สามเณรผู้อหังการ

          ด้วยความยากไร้ของครอบครัว การเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาจึงกลายเป็นเรื่องยากอย่างไม่อาจเลี่ยง ในประเทศที่ออกแบบให้ประชาชนต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเพื่อเข้าถึงความรู้ เหตุผลนี้ทำให้ในปี 2533 วิทยากรตัดสินใจบวชเป็นสามเณรเพื่ออาศัยช่องทางการศึกษาในการยกระดับชีวิต โลกของการอ่านของเขาเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น

          “มนุษย์เราถูกพัฒนาได้ด้วยการศึกษา เรามั่นใจเรื่องนี้มาก แต่โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของคนอย่างผมมันไม่มี คิดดูว่าบ้านอยู่ห่างจากตัวเมือง 8 กิโลเมตร แต่เราได้เข้าเมืองแค่ 2 ครั้งต่อปี คือครั้งที่ป่วยจนยาในหมู่บ้านรักษาไม่หาย กับอีกครั้งคืองานกาชาด แค่นั้นเอง

          “เมื่อได้บวชเรียน หนังสือที่เราอ่านจริงๆ จังๆ และมีบทบาทมากๆ ในชีวิตคืองานวิชาการ เป็นงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นหนังสือที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจ พูดง่ายๆ ว่า ช่วงก่อนอายุ 17 เราเป็นนักอ่านงานวิชาการ เช่น งานของพระยาอนุมานราชธน งานของเสฐียรโกเศศ, นาคะประทีป ฯลฯ งานเหล่านี้มีอิทธิพลกับเราสูง”

          อิทธิพลของหนังสือส่งผลต่อวิธีคิดและบุคลิกภาพของวิทยากรอย่างชัดเจน เช่นการถูกวิจารณ์ว่ามี ‘ลักษณะรุนแรง’ ในความหมายของการกล้าโต้เถียงและวิจารณ์ข้อเท็จจริงกับผู้หลักผู้ใหญ่ เขากลายเป็นเด็กอหังการ ในสังคมที่ยึดมั่นถือมั่นกับลำดับชั้นอาวุโสเป็นสรณะ

          “นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่ค่อยเชื่อใจใครในเรื่องความรู้ ข้อดีคือเรามั่นใจว่าเราแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง แล้วไม่ไปผูกคำตอบอยู่กับปรมาจารย์คนใดคนหนึ่ง แต่ข้อเสียก็คือ ความคิดแบบนี้ทำให้เราโตช้า เพราะแทนที่จะเปิดใจกับทุกสิ่ง เรากลับไม่ค่อยเปิดใจ”

Make yourself at home ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก และบ้านของหนุ่มสาวผู้ยากไร้โอกาส

อ่านเพื่อชำระสะสาง

          ในอีกด้าน อุปนิสัยรักการอ่าน ตั้งคำถาม และการแสวงหาความรู้  ได้คลี่คลายความสงสัยและกระตุ้นสำนึกอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเรื่อง ความเป็นไทย-ความเป็นลาว และการถูกกดทับโดยรัฐรวมศูนย์

          “เรื่องสำนึกถึงการกดทับมันมาจากประสบการณ์ตรง เช่น การที่เราต้องไปหาสำนักเรียนที่ใหญ่ขึ้น มันทำให้เราต้องไปอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ ได้เห็นลักษณะคนเขมรเหยียดคนลาว เพื่อนคนเขมรก็มักจะหลอกให้เราพูดคำเขมรผิดๆ พอเรามารู้ความหมายตอนหลังก็ตกใจนะ (หัวเราะ) แล้วก็พวกคำเหยียดคำล้อว่า ไอ้พวกลาวกินปลาแดก สกปรก

          “เราก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า เฮ้ย มันเหยียดกันทำไม มันคืออะไร เพื่อนก็อธิบายไม่ได้ว่าพูดแบบนั้นทำไม จนวันหนึ่งเราได้อ่านงานของ คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่อง ถกเขมร เราจึงรู้เลยว่า อ๋อ เพราะคนเขมรไม่มีวัฒนธรรมเกลือ เขาอยู่ในลุ่มน้ำที่เป็นทะเลสาบใหญ่ มีปลาตัวใหญ่ เมื่อคึกฤทธิ์เดินทางไปเขมร เขาพบว่าปลาเน่าเยอะมากเลย นั่นเพราะเกลือไม่พอ สรุปคือคนเขมรทำปลาแดกไม่เป็น เขาจะทำเป็นแค่แดดเดียว ปลาจ่อม กุ้งจ่อมเล็กๆ เพราะเขาไม่เชี่ยวชาญวิถีของเกลือ แต่คนลาวบ้านเราอยู่กับเกลือ มันก็เลยต้องใช้วัฒนธรรมเกลือ”

          การถูกกระทำในลักษณะเหยียดหยาม เร่งเร้าให้เขาค้นหาความหมายและสัญญะที่ซ่อนอยู่ระหว่างถ้อยคำ จนกระทั่งพบว่า ‘ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย’ คือคำหลอกลวง

          “เราชาติเชื้อลาว มันคือการแบ่งแยกและปกครอง เป็นการรวมศูนย์อำนาจ มันคือโครงสร้างของรัฐที่รวมทุกอย่างเป็นชาตินิยม เราเข้าใจพัฒนาการของรัฐมากขึ้น มันทำให้พวกเราขัดแย้งกัน เห็นการถูกกดทับจากส่วนกลาง”

          เขายกตัวอย่างขยายความ ผ่านเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงในวงการพระสงฆ์ที่มักใช้วิธีส่งแมวมองมาทาบทามสามเณรหัวดีตามต่างจังหวัด ไปจำพรรษาในเมืองหลวงเพื่อเรียนธรรม หากวัดใดมีพระเณรที่สามารถสอบได้พระปริยัติธรรมและมีสมณศักดิ์ ย่อมส่งผลกับงบประมาณของวัด และมีผลต่อฐานันดรศักดิ์ของเจ้าอาวาสไปโดยปริยาย

          “หรือพอเราอ่านวรรณกรรม วรรณคดี และมหากาพย์มากขึ้น เราเห็นว่าวรรณกรรมลาวในอีสาน คนไทยจะเรียกว่าวรรณกรรมท้องถิ่น เช่นเรื่อง สังสินไซ, ขุนเจือง ซึ่งมันมีโครงสร้างเป็นมหากาพย์ หากเราไปเปรียบเทียบกับวรรณคดีไทย เราไม่เห็นว่าเรื่องไหนมีโครงสร้างเป็นมหากาพย์เลย

          “เราเริ่มวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เคยถูกทำให้เทิดทูน ถูกทำให้ยอมรับมัน ถูกทำให้รู้ว่ามันยิ่งใหญ่กว่า เราเริ่มสะสางความรับรู้ผิดๆ ในวัยเด็กและวัยหนุ่ม ที่ถูกกระทำโดยการศึกษาไทย มุมนี้อาจเป็นลักษณะของการโกรธแค้นก็ได้ว่า พวกคุณหลอกเรานี่หว่า”

          ถึงจุดหนึ่ง วิทยากรตัดสินใจลาสิกขา มุ่งหน้าสู่ชีวิตเยี่ยงโลกียชน เขาอยากเป็นนักเขียน อยากเขียนหนังสือ อยากเผชิญหน้ากับโลกกว้าง เขาเลือกเอนทรานซ์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลายเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องศิลปวัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม จึงไม่แปลกใจนักที่ในร้านหนังสือ ฟิลาเดลเฟีย  ในปัจจุบัน กลายเป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์ทางสติปัญญาของนักศึกษา นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม และเป็นวงสนทนาที่เชื่อมโยงชีวิต ประเด็นทางสังคม และหนังสือเข้าด้วยกัน หรือพูดให้ถึงที่สุด ฟิลาเดลเฟีย กลายเป็นบ้านหลังที่สองของหนุ่มสาววัยแสวงหาทั่วสารทิศ

Make yourself at home ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก และบ้านของหนุ่มสาวผู้ยากไร้โอกาส

ความยากไร้ของร้านหนังสือ

          ปี 2552 ฆาตกร (The Murderers) เรื่องสั้นว่าด้วยความวิบัติของการสร้างเขื่อนปากมูล ของ วิทยากร โสวัตร ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด

          14 มกราคม 2552 ปีเดียวกันนั้น ฟิลาเดลเฟีย ถือกำเนิดขึ้น หลังวิทยากรลาออกจากงานกองบรรณาธิการนิตยสารทางเลือกฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลจำเป็น นั่นคือ เขามีลูก และปรารถนาอุทิศเวลาให้ลูกอย่างเต็มกำลัง เช่นเดียวกับการกลับมาสานความฝันของภรรยา ก่อร่างสร้างฐานที่มั่นรองรับครอบครัวที่กำลังขยายในช่วงวัยที่สมควร

          ฟิลาเดลเฟีย เริ่มต้นจากการเช่าห้องแถวเล็กๆ ประกอบด้วยชั้นหนังสือเพียง 4 ชั้น ยาวชั้นละ 3.5 เมตร ก่อนขยับขยายสู่การสร้างบ้านและร้านหนังสือในที่เดียวกัน วันเวลาผ่านไป รายได้และมิตรสหายก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ กับปริมาณหนังสือที่รายเรียงเต็มฝาผนังบ้าน

          ช่วงแรกรายได้จากการขายหนังสือที่ผูกกับเปอร์เซ็นต์จากระบบสายส่งหนังสือ ถือว่าน้อยนิด และไม่เพียงพอในการจุนเจือครอบครัว รายได้เสริมของเขาคือการเขียนคอลัมน์เล็กๆ และรายได้จากอาชีพพยาบาลของภรรยา อย่างน้อยที่สุด ฟิลาเดลเฟีย ต้องไม่ขูดรีดขูดเนื้อคนทำงาน เลี้ยงดูตัวเองได้ และปันผลกำไรได้ในที่สุด

          เขาค่อยๆ ปลดแอกตนเองจากระบบสายส่งหนังสือ โดยการลดพื้นที่หนังสือจากสายส่ง และเลือกซื้อหนังสือเข้าร้านด้วยทุนตัวเอง เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ภายในร้านเป็นหนังสือของร้าน อีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ของงานเขียนอีสาน

Make yourself at home ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก และบ้านของหนุ่มสาวผู้ยากไร้โอกาส

Make yourself at home ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก และบ้านของหนุ่มสาวผู้ยากไร้โอกาส
Make yourself at home ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก และบ้านของหนุ่มสาวผู้ยากไร้โอกาส
Make yourself at home ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก และบ้านของหนุ่มสาวผู้ยากไร้โอกาส

          “วันนี้ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย อยู่ได้ด้วยตัวเอง ออกดอกออกผลกับเราแล้ว เรามีเวลาไปเที่ยว มีรายได้ มีเงินตั้งกองทุนของร้านที่สามารถซื้อหนังสือเอามาหมุนเวียนได้ เรามีเงินฝาก มีเงินลูก เงินเมีย เงินใช้ส่วนตัว กินอยู่ดีขึ้น ร้านเริ่มมีชื่อเสียงทั้งในฐานะร้านหนังสือและแหล่งการเรียนรู้ เราสามารถทำงานแค่ 10 เดือนต่อปี อีก 1 เดือนคือเวลาที่เราจะไปทำงานสาธารณะ เช่นเดือนพฤศจิกายนทั้งเดือนในปี 2565 เราหมดไปกับการล้างบ้านหลังน้ำท่วมอุบลฯ ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา

          “ส่วนอีก 1 เดือนคือเวลาท่องเที่ยว พักผ่อน ซึ่งเราก็ทำได้แล้ว ตัวเลขบัญชีในร้านของเราอยู่ในระดับที่มีเงินเหลือ ตอนนี้ร้านหนังสือมันครบทุกมิติที่ผมต้องการแล้ว ดังนั้น อีก 10 ปีถัดจากนี้ เราจะให้เวลาตัวเองเขียนหนังสือเต็มที่”

          ฟิลาเดลเฟีย ตั้งกองทุนขนาดย่อมชื่อว่า ‘ปันกันอ่าน’ อาศัยรายได้ส่วนหนึ่งของร้าน และการระดมทุนจากผู้มีกำลังทรัพย์และอยากสนับสนุนการอ่าน โดยมีเป้าหมายว่า หากเยาวชนคนใดไม่มีเงินเพียงพอในการซื้อหนังสือ เขาเหล่านั้นสามารถเดินเข้ามาที่ร้านแห่งนี้ และขอใช้สิทธิ์เบิกเงินจากกองทุนเพื่อซื้อหนังสือไปอ่านได้

          กองทุนนี้ไม่ซับซ้อน อาศัยการบอกต่อและขายแนวคิดกับผู้คน  จนถึงวันนี้มีเยาวชนและนักอ่านที่ใช้สิทธิ์ในกองทุนรวมแล้วกว่า 100,000 บาท

          “เราจะบอกเด็กๆ ทุกคนนะว่าไม่ต้องอาย ตรงไปตรงมาเลย เราก็เคยเป็นเด็ก เราอยากได้หนังสือแต่ไม่มีเงินซื้อ เรามีความสามารถพิเศษที่จะไม่ทำให้เด็กๆ ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ขอ ไม่รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า บางทีมีเด็กเดินเข้ามาในร้าน ผมก็ถามเลยว่ากินข้าวหรือยัง เดินมาตักข้าวกินในครัวเลย ทุกคนที่มา ฟิลาเดลเฟีย มันคือมิตรภาพ ดูจากการออกแบบร้านหนังสือคุณก็พอจะรู้แล้วว่า เราไม่ได้ออกแบบให้มันเป็นร้าน แต่มันคือบ้าน”

          กลับไปยังจุดตั้งต้น ฟิลาเดลเฟีย เกิดจากความฝันของเด็กสาวคนหนึ่งที่ไม่มีเงินซื้อหนังสืออ่าน เกิดจากความอัตคัดยากไร้ของเด็กหนุ่มที่กระหายความรู้ เกิดจากโครงสร้างที่กีดกันโอกาสไปจากอุ้งมือของเด็กๆ ในประเทศ

          “แล้วในวันหนึ่ง เมื่อลูกคนเล็กเรียนจบวันแรก ลูกจะไม่ได้เงินจากเราสักบาทเดียว เขาต้องหาเงินด้วยตัวเอง ลงหลักปักฐานตามทางของเขา ฟิลาเดลเฟีย จะเป็นพื้นที่สาธารณะ หากในวันนั้นมหาวิทยาลัยอุบลฯ มีศักยภาพ ผมก็จะบริจาคให้มหาวิทยาลัย ให้คนได้ใช้ประโยชน์ในวันที่ผมและเมียตายแล้ว”

Make yourself at home ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ร้านหนังสือของคนรัก และบ้านของหนุ่มสาวผู้ยากไร้โอกาส


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก