ลูค ดุกเกิลบี (Luke Duggleby) คือช่างภาพชาวอังกฤษผู้คร่ำหวอดในวงการภาพถ่ายเชิงสารคดี ผลงานซีรี่ส์ภาพถ่าย ‘For those who died trying’ (แด่นักสู้ผู้จากไป) ที่ถ่ายทอดโศกนาฎกรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย ได้จุดกระแสความสนใจให้ชาวไทยได้ตระหนักถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่น่าเป็นห่วง1
ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้พบปะพูดคุย ลูคบอกเล่าประสบการณ์การถ่ายภาพและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานที่เขารัก เป็นการแบ่งปันมุมมองของคนที่ใช้กล้องและภาพเพื่อสื่อสารเรื่องราวในโลกที่อีกหลายคนอาจมองข้าม
ทราบว่าคุณอยู่เมืองไทยมานานกว่า 15 ปีแล้ว อะไรเป็นแรงจูงใจ และคุณมีแง่มุมความประทับใจต่อประเทศไทยอย่างไร
ผมปักหลักอยู่ที่ประเทศไทยมานานกว่า 15 ปีแล้ว ผมเคยมาเที่ยวไทยครั้งแรกสมัยเด็กๆ กับครอบครัว ผมตกหลุมรักที่นี่ทันที มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบายนะ แต่ผมรู้สึกอุ่นใจเมื่อได้อยู่ที่นี่มากกว่าที่บ้านเกิดในประเทศอังกฤษเสียอีก และคิดว่าประเทศไทยคือที่ที่ผมควรอยู่
คุณคิดว่าประสบการณ์การถ่ายภาพครั้งไหนที่ท้าทายที่สุด? และครั้งไหนที่น่าประทับใจที่สุด?
ยากเหมือนกันนะถ้าจะให้เลือกแค่หนึ่งเดียว เพราะการถ่ายภาพทุกครั้งก็ล้วนแต่มีความท้าทายพอๆ กัน ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป ถ้าให้พูดถึงความท้าทายในแง่กายภาพหรือการเดินทางแล้วล่ะก็ ผมยกให้ทริปหนึ่งในสมัยที่ผมเพิ่งจะเริ่มต้นอาชีพช่างภาพใหม่ๆ ในธิเบต ตอนนั้นผมไปถ่ายภาพพิธีกรรมโครา หรือ การกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ของผู้แสวงบุญชาวทิเบตรอบๆ แนวเทือกเขาเพื่อนำภาพมาใช้ในโปรเจกต์หนังสือ
มันใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์ ผมต้องแบกสัมภาระต่างๆ กินอาหารแบบเดียวกับที่ผู้แสวงบุญกิน และเดินทางผ่านช่องเขา 2 แห่งที่ระดับความสูงกว่า 5,000 เมตร แล้วสมัยนั้นผมใช้แต่กล้องฟิล์ม ไม่มีกล้องดิจิทัล ซึ่งก็มีความท้าทายในแบบฉบับของมันเอง ทริปนั้นเป็นหนึ่งในทริปที่หฤโหดที่สุด แต่มันก็เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่แสนคุ้มค่า
จากผลงานภาพถ่ายและสารคดีของคุณ ทำไมคุณถึงสนใจประเด็นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” และ “คนชายขอบ” เป็นพิเศษ
เมื่ออาชีพของผมก้าวหน้า ผมเริ่มจะมองเห็นพลังแฝงของภาพถ่ายที่จะมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างการตระหนักรู้ต่อประเด็นบางอย่าง ผมต้องการให้ภาพถ่ายของผมมีความหมายและเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้คน ดังนั้น ผมก็เลยผันตัวจากการเป็นช่างภาพสายท่องเที่ยวมาเป็นช่างภาพสารคดี คอยบันทึกประเด็นและเรื่องราวในเอเชียที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก ผมไม่รู้หรอกว่าผลงานของผมจะช่วยสังคมได้จริงไหม แต่ผมหวังลึกๆ ว่ามันจะทำคุณประโยชน์ได้บ้าง
ในฐานะช่างภาพ และผู้ผลิตสารคดี คุณมีเทคนิคในการเล่าเรื่องหรือถ่ายทอดเรื่องราวอย่างไร
งานของผมคือการลงไปสัมผัสคลุกคลีกับชุมชน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกสบายใจกับการปรากฏตัวของผมเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าคุณจะกลับไปที่ชุมชนเดิมซ้ำๆ กี่ครั้งก็ตาม แต่คุณก็ยังเป็นคนนอกเสมอ และคุณต้องจำเรื่องนั้นให้ขึ้นใจ กุญแจสำคัญคือการทำให้ชาวบ้านยอมรับคุณในฐานะคนนอก
พึงระลึกไว้ว่าการที่คุณเป็นคนเมืองหรือเรียนจบปริญญา นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะรู้ดีกว่าใครเขา ตรงกันข้าม พวกเขารู้ดีกว่าเราหลายเรื่องเลย
ฉะนั้นคุณจะต้องทำตัวให้เหมือนนักเรียน ให้พวกเขาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ชีวิต และประสบการณ์ ถ้าชาวบ้านเห็นว่าคุณมีความจริงใจ และตั้งใจไปที่นั่นเพื่อเรียนรู้หรือช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ พวกเขาก็จะเปิดใจรับคุณได้ง่ายขึ้น และนั่นจะช่วยให้คุณทำความเข้าใจพวกเขาได้ดีขึ้น และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้แม่นยำยิ่งขึ้น
อยากให้คุณช่วยแบ่งปันหนังสือที่คุณชื่นชอบ และมีนักคิดนักเขียนในไทยที่คุณสนใจบ้างไหม?
ผมเพิ่งได้อ่านหนังสือ 2 เล่มผลงานของยูวัล โนอาห์ ฮารารี ‘Sapiens: A Brief History of Humankind’ และ ‘Homo Deus: A Brief History of Tomorrow’2 อ่านสนุกจนวางไม่ลงเลยล่ะ ผมคิดว่ามนุษยชาติก้าวมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป มันไม่ใช่แค่เรื่องความยั่งยืนในการบริโภคเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีการที่เราจะปฏิบัติต่อผู้อื่นและต่อโลกด้วย เราต้องเปลี่ยนแปลง และหนังสือ 2 เล่มนี้อธิบายหลายอย่างว่าทำไมมนุษย์เราถึงได้เป็นเช่นทุกวันนี้ และอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ถ้าให้พูดถึงหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยที่ผมได้อ่านในระหว่างการค้นคว้าข้อมูลล่ะก็ ผมประทับใจงานเขียนของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น3 ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่แบบวิพากษ์
มุมมองของคุณต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในฐานะช่างภาพ คุณมีวิธีในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาฝีมือและผลงานอย่างไร
ในฐานะช่างภาพ คุณจะพัฒนาฝีมือได้ก็ต่อเมื่อคุณทำงานหนัก เรียนรู้จากคนอื่นๆ และตั้งคำถามกับตัวเองว่า…ฉันจะทำได้ดีกว่านี้หรือไม่? และคำตอบก็คือ ‘ใช่สิ!’
ในหัวผม คุณไม่มีทางได้รูปถ่ายที่เลอเลิศหรือผลงานที่สมบูรณ์แบบ แต่มันน่าจะถ่ายได้ดีกว่านี้อีก หรือทำยังไงให้แสงสวยกว่านี้ เป็นต้น และนี่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ผมไปต่อ พยายามพัฒนาฝีมือตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
สมัยนี้ทุกคนทำอะไรเร่งรีบไปหมด และในโลกของการถ่ายภาพ ผมพบว่าเดี๋ยวนี้ช่างภาพหลายคนเร่งสร้างชื่อเสียง อยากเป็นที่ยอมรับไวๆ จนพวกเขาไม่ยอมแบ่งเวลาให้กับการพัฒนาฝีมือ เรียนรู้ และปรับปรุงผลงาน และท้ายที่สุดมันจะฉุดรั้งไม่ให้พวกเขาเก่งขึ้น
ก่อนจากกัน อยากให้คุณช่วยเล่าถึงผลงานล่าสุดสักหน่อย
ผลงานที่ชุมชนราษีไศล ในจังหวัดศรีสะเกษ เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ที่ผมกำลังทำอยู่ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กร Earth Journalism Network ที่นี่เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และต่อสู้เรียกร้องค่าชดเชยมานานเกือบ 30 ปี ราษีไศลมักจะถูกบดบังโดยชุมชนปากมูลที่มีขนาดใหญ่กว่า และมีเรื่องราวการต่อสู้ที่เข้มข้นกว่า ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่เราจะให้ความสนใจแก่พวกเขาบ้าง
โปรเจกต์ของเรานำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ของพวกเขา รวมไปถึงประเด็นเรื่องเขื่อนที่ส่งผลกระทบวงกว้างต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ผมยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ภาพถ่ายโดยการสแกนฟิล์มเนกาทีฟเป็นพันๆ ชิ้นที่พวกเขาถ่ายไว้ในระหว่างการรณรงค์ต่อสู้เมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้วก่อนจะมีกล้องดิจิทัล
การทำความรู้จักช่างภาพสักคน ผลงานภาพถ่ายคือสิ่งแสดงตัวตนของเขาได้ดีที่สุด และนี่คือผลงานที่ลูคคิดว่าโดดเด่นและสะท้อนความเป็นตัวเขา ผู้สนใจผลงานของลูค ติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.lukeduggleby.com/
หลังการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในย่านเยาวราชที่มีผู้ป่วยเพศชายเสียชีวิต 1 ราย เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครได้เข้ามาฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงในพื้นที่แพร่ระบาด และให้คำแนะนำประชาชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปี 2562 เป็นปีที่โรคไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ส่วนผสมของการระบาดตามฤดูกาลและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มียอดผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นแสนๆ ราย จนกระทั่งระบบสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชนถึงขีดจำกัด ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนจนที่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล
ปอเหลือและปอวิกาล เฝ้ารอความช่วยเหลือหลังจากเรือของพวกเขาล่มกลางอ่างเก็บน้ำห้วยโทงระหว่างออกไปหาปลาในตอนเช้ามืด ไกลออกไปจากชายฝั่งร่วมกิโลเมตร ณ จุดที่ระดับน้ำลึก 5 เมตร พวกเขาลอยคอเกาะขอบเรือที่พลิกคว่ำอยู่นาน 20 นาทีจนกระทั่งมีชาวประมงคนหนึ่งรุดหน้ามาช่วยชีวิตพวกเขา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ลูคไปบันทึกภาพขบวนการเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองแร่โพแทช อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อปี 2562 ซึ่งลูคเล่าว่าขณะนั้นตัวเขาอยู่บนเรือเล็กลำนี้ด้วย ชาวบ้านสองคนนั่งอยู่ตรงหัวและท้ายเรือ ขณะที่ลูคนั่งอยู่ตรงกลาง เมื่อเรือเสียศูนย์มวลน้ำก็ไหลทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว ลูคว่ายน้ำออกห่างจากเรือพร้อมกับชูกล้องขึ้นฟ้าเพื่อบันทึกภาพนาทีระทึก เขาคิดในใจว่าไหนๆ จะต้องเสียเลนส์กล้องและโทรศัพท์มือถือไปแล้ว ก็ขอชดเชยด้วยรูปถ่ายสวยๆ สักรูปก็แล้วกัน
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้งบรรจุใหม่และชำนาญการเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา 4 วันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ในหลักสูตรพิเศษที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีแลนด์ พวกเขาจะได้เรียนรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่การปฐมพยาบาล การใช้อุปกรณ์นำร่องบอกทิศทาง การใช้อาวุธ และยุทธวิธีการจับกุม หลักสูตรจะสิ้นสุดลงด้วยการลาดตระเวนบริเวณรอบๆ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ
พนักงานของบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด (จิม ทอมป์สัน) กำลังทำงานอยู่ในโรงงานปั่นด้ายที่จังหวัดนครราชสีมา พนักงานในห้องนี้จะสาวเส้นใยออกจากรังไหมแล้วนำมาร้อยไว้บนหลอดด้าย กิจการค้าผ้าไหมที่โด่งดังที่สุดในประเทศไทย และมีลูกจ้างราวๆ 2,700 คนแห่งนี้ ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน จิม ทอมป์สัน ผู้มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมทอผ้าไหมของไทยให้รุ่งเรืองในคริสต์ทศวรรษ 1950-1960 นายห้างจิมหายตัวอย่างลึกลับระหว่างการเดินป่าในประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2510 และผู้ที่มารับช่วงกิจการต่อก็คือเพื่อนร่วมงานของเขา วิลเลียม บู๊ทซ์ ที่ปลุกปั้นบริษัทให้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกจวบจนปัจจุบัน
เชิงอรรถ
[1] ซีรี่ส์ภาพถ่าย ‘For those who died trying (and those who endure)’ ที่ถูกเผยแพร่บนแฟนเพจ Artteller เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 มียอดการแชร์บนแพลตฟอร์ม Facebook กว่า 97,000 ครั้ง
[2]ชื่อภาษาไทย เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind) และ โฮโมดีอุส: ประวัติย่อของวันพรุ่งนี้ (Homo Deus: A Brief History of Tomorrow)
[3]ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) เป็นศาสตราจารย์ สาขาวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอคือผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด คลิกอ่านประวัติย่อของเธอได้ที่ https://alc.wisc.edu/staff/tyrell-haberkorn-2/