เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักหลวงพระบางในฐานะเมืองมรดกโลกที่มีอาคารเก่าแก่ชวนมอง พร้อมบรรยากาศเรียบง่ายที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นกันเอง รอยยิ้มของผู้คนและเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ ประกอบสร้างให้เมืองทรงเสน่ห์และมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
ว่าด้วยเรื่องราวของหอสมุดแขวงหลวงพระบาง
บนถนนศรีสว่างวงศ์ ไม่ไกลจากพระราชวังเก่าหลวงพระบาง มีตึกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคม ที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส อวดโฉมให้ผู้คนได้เห็นความงดงามอันแสดงถึงเอกลักษณ์หนึ่งของเมืองและถูกใช้เป็นที่ตั้งของหอสมุดแขวงหลวงพระบาง
ลานปูนใต้ต้นหูกวาง มีเด็กกลุ่มใหญ่วิ่งเล่น อวดภาพวาดจากฝีมือตนเอง และร้องเล่นเต้นกันอย่างสนุกสนาน ช่วยเสริมบรรยากาศครื้นเครงร้องเรียกให้ผู้ที่สนใจต้องตบเท้าเข้าไปเยี่ยมชม
แสงดาว บุนสะหวัน เจ้าหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมนอกสถานที่และเรือสมุดเคลื่อนที่ หอสมุดแขวงหลวงพระบาง ยืนยิ้มต้อนรับอย่างเป็นมิตร พร้อมเชิญให้เข้าไปชมห้องเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ
การพูดคุยด้วยภาษาไทยปนลาวทำให้ทราบว่า หอสมุดแขวงหลวงพระบางเปิดให้บริการตั้งแต่ ค.ศ. 2004 ขึ้นตรงต่อแผนกแถลงข่าววัฒนธรรมและท่องเที่ยวหลวงพระบาง โดยการสนับสนุนจาก Shanti Volunteer Association หรือ SVA ประเทศญี่ปุ่น แสงดาวเล่าว่า “ก่อนจะย้ายมาใช้สถานีตำรวจคุ้มครองพระราชวังเป็นหอสมุดแขวงหลวงพระบางเช่นในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ของ SVA ประเทศญี่ปุ่นได้เข้ามาบูรณะตึกที่ทำการไปรษณีย์เพื่อเปิดเป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับเด็ก”
ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 เมื่อเจ้าหน้าที่จากอเมริกันทาดดำหรือสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำนครหลวงเวียงจันทน์ขยายพื้นที่รับเด็กและเยาวชนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งห้องลาว-อเมริกา หรือ America Corner ที่บรรจุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาเอาไว้ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาหาความรู้
ในแต่ละปีจะมีโครงการสอบคัดเลือกเยาวชนไปศึกษาต่อ โดยใช้กระบวนการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งแสงดาวเล่าขยายความให้ฟัง “ระยะเวลาของการไปศึกษามีตั้งแต่ 3-6 เดือน และ 1-2 ปี โดยเด็กที่เข้าสอบส่วนใหญ่เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย”
อย่างไรก็ตาม มีคำกล่าวทิ้งท้ายจากแสงดาวว่า “อยากจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนหลวงพระบางเข้ามาใช้ห้องลาว-อเมริกามากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนที่นี่ยังมีปัญหาด้านทักษะการเขียนภาษาอังกฤษอยู่มาก”
ขวบปีที่เติบโตพร้อมเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงานจากต่างประเทศ ส่งผลให้หอสมุดแขวงหลวงพระบางได้รับการจัดระบบและสร้างระเบียบในปี 2014 จากอาสาสมัครของหน่วยงานกาชาดออสเตรเลีย ตามที่แสงดาวเล่าว่า “จากที่เราไม่เคยรู้เกี่ยวกับประเภทของหนังสือ พอได้รับมาก็นำไปวางไว้บนชั้นแบบปะปนกัน เมื่ออาสาสมัครจากองค์การกาแดงออสตาลีเข้ามา ก็ช่วยจัดทำทะเบียนหนังสือแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดมุมหนังสือเพื่อดึงดูดการเข้าใช้บริการ เช่น มุมเอเชีย นอกจากนี้ ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนทักษะการพูดพัฒนาขึ้นมาก”
Summer แสนสุข
พี่จันทรา สุริยะศักดิ์ ผู้รับผิดชอบหน่วยงานหอสมุดแขวงหลวงพระบาง มีความเห็นว่าหอสมุดควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านสร้างทักษะการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจาก “ทุกวันนี้เด็ก ๆ ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่มักจะติดโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ พื้นที่แหล่งเรียนรู้เช่นหอสมุดประจำแขวงจึงควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดึงพวกเขาออกจากหน้าจอมาจดจ่อในการทำกิจกรรมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน”
ย้อนกลับไปในปี 2014 อันเป็นปีแรกที่หอสมุดเริ่มประกาศรับสมัครเด็ก ๆ เข้ามาทำกิจกรรมในช่วง Summer ซึ่งตรงกับเดือนมิถุนายน – สิงหาคมของทุกปี
สำหรับปี 2023 แสงดาวเล่าว่า “มีเด็กมาลงทะเบียนไว้ถึง 200 คน โดยแต่ละคนจะเสียค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลา 3 เดือน เป็นเงิน 50,000 กีบ หรือ 87 บาท พร้อมรับถุงผ้ารักษ์โลกสำหรับนำไปใช้” ตามแนวคิดของพี่จันทราที่ว่า “อยากให้เด็ก ๆ นำถุงผ้ามาใช้ในการเช่าหนังสือและซื้อของเพื่อลดการใช้ถุงปราสติก (พลาสติก)”
ในทุกวันกิจกรรมจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เวลา 08.30 น. เมื่อเด็ก ๆ พร้อมหน้ากันที่ห้อง เพื่อรอเรียนภาษาอังกฤษ โดยรุ่นพี่ที่ได้ทุนสนับสนุนไปฝึกฝนทักษะด้านภาษา ณ ศูนย์ภาษาอังกฤษวัดศรีพุทธบาท จากอาจารย์ชาวต่างชาติ แต่หากวันใดมีอาสาสมัครชาวต่างชาติเข้ามาให้ความรู้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เปิดให้ทุกคนได้โต้ตอบกับเจ้าของภาษาตัวจริงเสียงจริง ดังที่แสงดาวเล่าว่า “ในบางครั้งก็จะมีนักท่องเที่ยวฝรั่งที่ใจดี อาสาเข้ามาสอนภาษาอังกฤษที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเน้นทักษะการโต้ตอบสื่อสาร”
จนเมื่อเวลา 09.30 น. จึงเป็นช่วงของกิจกรรมการเล่านิทาน ผู้สอนแต่ละคนจะพกเทคนิคเฉพาะมานำเสนอ ดังเช่นแสงดาวที่ใช้วิธีการเล่านิทานโดยให้เด็ก ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมผ่านการสมมติบทบาทเป็นตัวละครหนึ่งของเรื่องนั้น ๆ และแต่ละครั้งจะเล่าไม่จบ เพราะเห็นว่า “วิธีการดังกล่าวช่วยให้เด็ก ๆ จดจ่ออยู่กับเนื้อหาในนิทาน และการเล่าไม่จบจะช่วยสร้างความอยากรู้และกระตุ้นให้เด็กไปหาหนังสือมาอ่านด้วยตนเองต่อไป”
ก่อนเข้าสู่ภาคบ่ายเด็ก ๆ จะนำอาหารที่เตรียมจากบ้านมานั่งรวมกลุ่มและรับประทานร่วมกัน เมื่อเสร็จเรียบร้อย จึงแยกย้ายไปทำกิจกรรมตามที่สนใจ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายทั้งการเต้น รำ ละคร และศิลปะ ความสนุกที่เลือกได้ด้วยตนเองทำให้บรรยากาศของการเรียนครึกครื้นและตื่นตัว
ในฐานะผู้สอนศิลปะที่นับว่าเป็นกิจกรรมยอดฮิตเพราะมีเด็กมาเรียนอย่างล้นเหลือ จนแสงดาวภูมิใจและเล่าด้วยน้ำเสียงเจือความสุขให้ฟังว่า “เด็กบางคนจะมีฝีมือในการเลือกภาพและวางต่อกันอย่างสวยงาม ซึ่งแสดงถึงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ จนบางครั้งบางคราอยากจะนำผลงานมารวบรวมเพื่อจัดเป็นนิทรรศการดูสักครั้ง”
เมื่อจบภาคเรียนฤดูร้อน หอสมุดแขวงหลวงพระบางจะจัดกิจกรรมอันเป็นเสมือนการสรุปบทเรียน ดังที่แสงดาวเล่าว่า “หอสมุดของเราจะจัดเวทีให้เด็ก ๆ ขึ้นไปแสดงความสามารถ ซึ่งมีทั้งการรำ การเล่านิทาน และแสดงละคร โดยจะจัดขึ้นตั้งแต่เช้าจรดเย็นเป็นเวลา 1 วันเต็ม ผู้ปกครองก็จะเข้ามาร่วมชม ความรื่นเริง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสดใจ ผสมพร้อมด้วยความทึ่งที่ได้เห็นบุตรหลานของตนกล้าแสดงออก ทำให้ผู้ปกครองเกิดความชื่นใจและส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ณ หอสมุดแขวงหลวงพระบางในปิดเทอมถัดไป”
เรือสมุดแห่งความรู้
เมื่อการส่งเสริมความรู้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เจ้าหน้าที่ประจำหอสมุดแขวงหลวงพระบางจึงต่างทุ่มเททำงานกันต่อเนื่อง ดังนั้น ในช่วงเปิดภาคเรียนจึงนำเรือสมุดล่องน้ำอูและน้ำของ (แม่น้ำโขง) ออกบริการด้านการศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก Community Learning International (CLI) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 ดังที่แสงดาวช่วยขยายความให้ทราบว่า “โครงการนี้เป็นของชาวอเมริกัน ที่ต้องการขับเคลื่อนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน จึงเข้ามาเป็นเครือข่ายทำงานร่วมกับหอสมุดแขวงหลวงพระบาง”
เรือสมุดลำแรกนั้นประจำอยู่แขวงหลวงพระบาง ล่องตามลำน้ำโขง โดยออกเดินทางขึ้นเหนือผ่านเมืองจอมเพชรและปากอู ล่องใต้ผ่านเมืองจอมเพชร หลวงพระบาง และเมืองนาน โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 30 วัน เพื่อนำความรู้ไปบริการแก่เด็กในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกว่า 50 แห่ง
สำหรับเรือสมุดลำที่สองซึ่งประจำอยู่ที่ตำบลหนองเขียว จะล่องตามลำน้ำอูเพื่อบริการในพื้นที่เมืองงอย โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 15 วัน และสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่เด็กในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงกว่า 40 โรงเรียน
การทำงานบนเรือสมุดจะเกิดขึ้นปีละ 1 ครั้ง โดยมีสมาชิกในการเดินทางครั้งละ 4 คน ประกอบด้วย กัปตันเรือที่ต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือ เชี่ยวชาญร่องน้ำโขงและร่องน้ำอู และเจ้าหน้าที่หอสมุดแขวงหลวงพระบางจำนวน 3 คน ก่อนออกเดินทางแต่ละครั้งทุกคนจะต้องเตรียมเสื้อผ้าและวัตถุดิบสำหรับนำไปประกอบอาหารรับประทานบนเรือ จากนั้นจะช่วยกันนำถุงผ้าใส่หนังสือห้อยไว้ตามที่ต่าง ๆ ข้างเรือ
“เมื่อเรือสมุดจอดเทียบท่า เด็ก ๆ จะกุลีกุจอช่วยกันขนของขึ้นไปยังโรงเรียน แม้เส้นทางจะยากลำบาก เพราะตลิ่งเทียบเรือมีลักษณะสูงชัน โดยเฉพาะลำน้ำอูที่โอบล้อมด้วยภูเขา ซึ่งโรงเรียนบางแห่งตั้งอยู่บนดอยสูง แต่ด้วยน้ำใจของเด็ก ๆ ก็ทำให้งานที่ต้องใช้แรงกลายเป็นความสนุกขึ้นมา” แสงดาวเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าเปื้อนรอยยิ้ม
หลังจัดเตรียมสิ่งของจนแล้วเสร็จ จึงชักชวนเด็ก ๆ มาอ่านหนังสือและทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เล่านิทาน พร้อมทั้งแจก สมุด ดินสอ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ก่อนรอนแรมไปยังโรงเรียนต่อ ๆ ไป
รถตุ๊กตุ๊กบรรทุกหนังสือ
“เมื่อเด็ก ๆ ใช้เวลาว่างไปกับการวิ่งเล่นเพื่อความสนุก ดังนั้น คงจะดีไม่น้อยหากเจ้าหน้าที่หอสมุดเข้าไปเติมเต็มช่วงดังกล่าวให้กลายเป็นเวลาแห่งความรื่นรมย์และเปี่ยมคุณภาพ โดยทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านผ่านการเล่านิทาน” ข้อสังเกตซึ่งกลายเป็นเป้าหมายหลักที่พี่จันทรามุ่งเน้นและสานต่อเจตจำนงนำความรู้ขึ้นสู่เส้นทางบก
ปี 2014 จึงนำรถตุ๊กตุ๊กมาใช้บรรทุกหนังสือ ออกบริการเล่านิทานเพื่อส่งเสริมการอ่านและแจกจ่ายถุงหนังสือให้กับเด็กในโรงเรียนรอบเขตเทศบาลเมืองหลวงพระบาง ปากอู เมืองนาน จอมเพชร โดยเน้นเส้นทางที่สามารถไปกลับได้ภายใน 1 วัน
แสงดาวเล่าถึงบทบาทการทำงานของหอสมุดแขวงหลวงพระบางให้ฟังว่า “เพื่อให้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านบรรลุผล เราจึงทำงานร่วมกับเครือข่ายทางการศึกษา โดยสอบถามและรวบรวมรายชื่อของโรงเรียนที่พร้อมรับความรู้จากรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมในช่วงเช้า 1 โรงเรียน และช่วงบ่ายอีก 1 โรงเรียน โดยเด็ก ๆ จะได้ฟังนิทานครบทุกเรื่องเพราะแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะเวียนใช้หนังสือไม่ให้ซ้ำเล่ม”
ก่อนการสนทนาจะจบลง แสงดาวกระซิบว่า “ทุกคนที่มาหลวงพระบางก็สามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กน้อยลาวได้คือกันเด้อเอื้อย”
คำบอกเล่าดังกล่าวทำให้ต้องตั้งใจฟังอีกครั้ง จนได้ความว่า “นักท่องเที่ยวทุกชาติทุกภาษาสามารถเข้ามายังหอสมุดแขวงหลวงพระบางเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการเรียนสำหรับส่งมอบให้เด็กในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ หากใครต้องการเดินทางไปกับเรือสมุดหรือรถตุ๊กตุ๊กเพื่อไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ก็สามารถทำได้ โดยทุกคนมีสิทธิ์เลือกโรงเรียนที่ต้องการด้วยตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกโรงเรียนห่างไกลเพราะเชื่อว่าไม่ค่อยมีคนเข้าถึง”
ข้อความข้างต้น ทำให้นึกย้อนถึงคำพูดของพี่จันทราที่ว่า “หากเด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับหนังสือ สักวันหนึ่งพวกเขาจะหยิบหนังสือสักเล่มขึ้นมาอ่าน โดยเจ้าหน้าที่ของหอสมุดจะต้องทำหน้าที่กระตุ้นและปลูกฝังความรู้สึกรักการอ่านให้เกิดขึ้น” แนวคิดดังกล่าวคงเป็นหนึ่งคัมภีร์ที่ทุกคนยึดถือปฏิบัติเพื่อสร้างนิเวศทางการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นแก่เด็ก ๆ อันเป็นดอกผลที่สำคัญของประเทศ
ที่มา
Cover Photo : Luang Prabang Library