มาตรการส่งเสริมการแปลของ LTI Korea ที่ผลักดันนักเขียนไปไกลถึงเวทีโลก

206 views
5 mins
March 12, 2025

          ฮัน คัง (Han Kang) นักเขียนหญิงชาวเกาหลีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี 2024 จากผลงาน ‘The Vegetarian’ ที่มีเรื่องราวสะท้อนสังคมชายเป็นใหญ่ในบริบทสังคมปัจจุบันของเกาหลีผ่านตัวละครหญิงที่ตัดสินใจทานมังสวิรัติและเลิกทำอาหารจากเนื้อสัตว์โดยถาวร จนกลายเป็นประเด็นร้อนในครอบครัว และก่อนหน้านี้ยังเคยได้รับรางวัล Man Booker International ประจำปี 2016 ร่วมกับผู้แปลงานของเธอที่ชื่อ เดบอราห์ สมิธ (Deborah Smith) อีกด้วย

          หลังจากประกาศผลรางวัลเพียงแค่วันเดียว ร้านหนังสือใหญ่ๆ ในเกาหลีเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มายืนเรียงต่อแถวเพื่อซื้อหนังสือของ ฮัน คัง หนึ่งในนักอ่านแฟนประจำบอกเอาไว้ว่า “ชอบอ่านนิยายและบทกวีของฮัน คัง อยู่แล้ว พอรู้ว่าได้รางวัลก็ตรงมาซื้อหนังสือเลยค่ะ ทุกทีจะยืมจากห้องสมุด แต่คราวนี้รู้สึกว่าควรจะซื้อรูปเล่มเก็บเอาไว้” ร้านหนังสือบางแห่งเหลือสินค้าจำนวนน้อยจนต้องจำกัดให้ซื้อได้เพียง 1 คน ต่อ 1 เล่ม หลายแห่งจำหน่ายหนังสือจนหมดชั้นจนต้องเปิดให้ลูกค้าสั่งซื้อแบบพรีออร์เดอร์ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่กระตุ้นวงการหนังสือเกาหลีให้ตื่นตัวคึกคัก

          ในแวดวงหนังสือรู้กันดีว่า วรรณกรรมจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติและมีวัฒนธรรมแตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตก เป็นที่รู้จักน้อยยิ่งนักในตลาดหนังสือโลก การคว้ารางวัลใหญ่ถึง 2 รางวัล จึงทำให้ผลงานจากเกาหลีเรื่องอื่นๆ เป็นที่สนใจและถูกจับตามองจากรอบทิศ

          เมื่อพิจารณาจำนวนหนังสือเกาหลีที่ได้รับการตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ระดับโลก คงพอจะเห็นได้ว่า วรรณกรรมเกาหลีทยอยออกสู่สายตาประชาคมโลกมาสักพักใหญ่แล้ว โดยมีหน่วยงานภาครัฐอย่าง Literature Translation Institute of Korea หรือ LTI Korea ช่วยขับเคลื่อนมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ส่งเสริมการแปลและการตีพิมพ์ผลงานนักเขียนเกาหลีในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทั่วโลกได้รู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ภาษา สถานที่ท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการส่งเสริมอุตสาหกรรม K-pop และ K-drama

          ฮัน คัง ก็เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ได้รับการสนับสนุนจาก LTI Korea ทั้งในรูปแบบทุนสำหรับการแปลและค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางเข้าร่วมเทศกาลวรรณกรรมต่างๆ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านวอน (720,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา)

หลายทศวรรษกับความพยายามในการส่งออกวรรณกรรมของเกาหลี

          LTI Korea เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2001 เป็นการเปลี่ยนชื่อมาจาก กองทุนการแปลวรรณกรรมเกาหลี (Korean Literature Translation Fund) ริเริ่มขึ้นในปี 1996 ถือได้ว่าเป็นย่างก้าวสำคัญของการส่งออกหนังสือในประเทศสู่สายตานักอ่านนานาชาติ

          มีเป้าหมายเพื่อผลักดันวรรณกรรมและวัฒนธรรมเกาหลีให้แทรกซึมเข้าไปในเวทีโลก มีโครงการสนับสนุนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การให้ทุนสำนักพิมพ์ต่างประเทศเพื่อแปลหนังสือเกาหลี ส่งเสริมการแปลและการตีพิมพ์ผลงานกับสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ การจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล หรือ Digital Library เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวรรณกรรมเกาหลี และสิ่งที่สถาบันให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ก็คือหลักสูตรสำหรับพัฒนานักแปล ผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษ คือการแปลหนังสือมากถึง 2,032 เล่ม ใน 44 ภาษา กิจกรรมที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือจากประเทศต่างๆ ถึง 1,454 ครั้ง อบรมนักแปลมากถึง 1,490 คน

          ระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2019 – 2023 สถิติการจำหน่ายวรรณกรรมเกาหลีในต่างประเทศมีจำนวนถึง 1.95 ล้านเล่ม โดยแต่ละปีก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการเข้ารับพิจารณารางวัลด้านวรรณกรรม ที่ผลงานเรื่องต่างๆ เริ่มทยอยเข้ารอบมากยิ่งขึ้น เช่น ปี 2022 รวมเรื่องสั้น Cursed Bunny ของ โบรา ชุง (Bora Chung) เข้ารอบ Shortlist ของ International Booker Prize, ปี 2023 We Do Not Part ของ ฮัน คัง ได้รับรางวัล Médicis, ปี 2024 บทกวี Phantom Pain Wings ของ คิม ฮเยซุน (Kim Hyesoon) ได้รับรางวัล National Book Critics Circle Award

          ทว่าตั้งแต่วันประกาศผลรางวัลโนเบล ประจำปี 2024 ที่ผ่านมา ทั้งนักเขียน นักแปล และผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับแวดวงหนังสือเกาหลีหลายคนได้ออกมาพูดคุยกันถึงเรื่องความสำคัญของการแปลและระบบการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างคึกคัก

          จุง ฮายุน (Jung Hayun) นักแปล และรองศาสตราจารย์ด้านล่ามและการแปลที่มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา (Ewha Womans University) กล่าวไว้ว่า

          “ท่ามกลางกระแสนิยมในการแปลหนังสือจากภาษาอื่นเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับโลกหนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือจากเกาหลีได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักอ่านเริ่มสนใจและอยากรู้ว่าวรรณกรรมเกาหลีมีอะไรจะบอกเล่าบ้าง เรียกได้ว่าเราสามารถปักหมุดในแผนที่วรรณกรรมโลกได้แล้ว และผลงานของ ฮัน คัง ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จตรงนี้ได้ดี รางวัลโนเบลนี้สะท้อนถึงความสำเร็จของ LTI Korea ที่ส่งเสริมให้ผลงานจากเกาหลีเป็นที่รู้จักในเวทีโลกมาหลายทศวรรษ”

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยู อินชอน (Yu Inchon) ได้แสดงทัศนะว่า “ความสนใจในวรรณกรรมเกาหลีในช่วงที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพราะนักแปลสามารถถ่ายทอดความงดงามของตัวหนังสือให้กับนักอ่านต่างประเทศได้”

มาตรการส่งเสริมการแปลของ LTI Korea ที่ผลักดันนักเขียนไปไกลให้ถึงเวทีโลก
Photo: Literature Translation Institute of Korea

ส่วนประกอบการแปล

          นักแปล คือองค์ประกอบสำคัญของการส่งออกหนังสือและเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้นักอ่านในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้รู้ว่ายังมีวัฒนธรรมและเรื่องราวที่รอการค้นพบ ในเมื่อนักแปลที่มีประสบการณ์หลากหลายวัฒนธรรมและมี ‘Global Mindset’ ไม่ได้มีจำนวนมากนัก LTI Korea จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานักแปลที่จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของเกาหลีให้กับทั่วโลกได้รับรู้

          นอกเหนือจากศาสตร์และศิลป์ในการแปล อาชีพนักแปลยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ดังที่ แอนทอน เฮอร์ (Anton Hur) นักแปลชาวเกาหลีชื่อดัง เจ้าของผลงานแปล Cursed Bunny และกรรมการ International Booker Prize 2025 เคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ The Korea Times ว่าการแปลมีงานเอกสารและงานแฝงอีกมาก ตั้งแต่การสื่อสารกับนักเขียน สำนักพิมพ์ที่ถือลิขสิทธิ์ ขออนุญาตแปลเพื่อให้ได้ตัวอย่าง เพื่อนำไปเสนอกับสำนักพิมพ์และตัวแทนต่างประเทศ ซึ่งขั้นตอนการ ‘pitching’ นี่เอง ที่เป็นความท้าทายอย่างมากของนักแปลชาวเกาหลี ที่ยังไม่มีผลงานเป็นภาษาอังกฤษ การสร้างนักแปลที่มีความสามารถในการดำเนินการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางจึงเป็นปัจจัยสำคัญ

          ความสามารถและความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของนักแปลในการส่งออกหนังสือ คือปัจจัยสำคัญต่อการทำงาน แต่การสนับสนุนให้นักแปลมีค่าตอบแทนและเงินทุนพอจะหล่อเลี้ยงชีพได้ขณะที่ผลงานยังไม่ถูกซื้อ ก็ถือเป็นภารกิจสำคัญไม่แพ้กัน

          แม้ว่า LTI Korea จะมีงบประมาณสนับสนุนการแปลอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลก็ไม่อาจขยายงบประมาณเพื่อโอบรับความต้องการในการแปลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ตลอดไป โดยในอนาคตอาจมีการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อแสวงหาแหล่งทุนอื่นๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนโอกาสต่างๆ

มาตรการส่งเสริมการแปลของ LTI Korea ที่ผลักดันนักเขียนไปไกลให้ถึงเวทีโลก
Photo: Literature Translation Institute of Korea

ยกระดับ Translation Academy วางแผนกลยุทธ์เพื่ออนาคต

          รางวัลโนเบล ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดแต่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น”

          ชอน ซูยอง (Chon Sooyoung) ผู้อำนวยการ LTI Korea ได้กล่าวไว้ และหนึ่งในแผนการสำหรับอนาคตอันใกล้คือการยกระดับ Translation Academy ให้กลายเป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท เปิดให้ผู้เรียนจากต่างประเทศที่สนใจภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีได้ลงทะเบียนเรียน เพื่อคนกลุ่มนี้จะสามารถกลับไปแปลวรรณกรรมเกาหลีสู่ประเทศของตนเอง

          นับตั้งแต่ปี 2008 หลักสูตรการแปลของ LTI Korea เป็นหลักสูตรระยะสั้น มีผู้เรียนจากต่างประเทศมาลงทะเบียนเรียนเป็นจำนวนมากถึง 80-90% แต่ผู้เรียนเหล่านี้มักจะประสบปัญหาในการขอวีซ่าเพราะจะว่าไปแล้วหลักสูตรนี้ก็เหมือนกับการอบรมสัมมนาระยะยาว และการรับรองจากสถาบันก็ยังมีสถานะไม่เทียบเท่ากับปริญญาบัตรจากหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีโอกาสต่อยอดการทำงานในสายอาชีพมากกว่า ถึงแม้ว่าหลักสูตรการแปลของสถาบันแห่งนี้จะมุ่งเน้นการแปลวรรณกรรม ซึ่งแตกต่างจากการแปลในสถาบันศึกษาอื่นๆ ที่มุ่งเน้นเพื่อการประกอบธุรกิจ หากมีโอกาสได้ขยายหลักสูตรตามแผนก็อาจรวมการแปลเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม เช่น เว็บตูน เข้าไปด้วย

          แผนผลักดันหลักสูตรการแปลระยะสั้นให้กลายเป็นหลักสูตรในระบบเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่อาจเป็นไปได้เนื่องด้วยขัดต่อข้อกฎหมาย รวมถึงความซ้อนทับกับสถาบันการแปลอื่นๆ ที่มีอยู่ การแก้ไขพระราชบัญญัติการส่งเสริมวรรณกรรม (The Literature Promotion Act) ของเกาหลี และความเข้าใจในความแตกต่างของหลักสูตรที่มากขึ้น จะเป็นการปลดล็อกอุปสรรคและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

          โดยชอน ซูยอง เชื่อว่าการผลักดันหลักสูตรให้เข้าระบบ จะเป็นหลักประกันความก้าวหน้าในสายอาชีพนักแปล นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมเกาหลี บุคคลเหล่านี้จะกลายเป็นศูนย์กลางและกำลังสำคัญในการเผยแพร่วรรณกรรมในระดับโลกต่อไป

          สถาบันด้านการแปลแห่งนี้ ยังมีแผนการส่งเสริมให้โลกรู้จักวรรณกรรมเกาหลีมากยิ่งขึ้นโดยการจัดการประชุมนานาชาติ แล้วเชิญนักเขียน นักแปล นักวิชาการ และผู้ประกอบอาชีพด้านหนังสือและสิ่งพิมพ์มาร่วมงาน รวมถึงจัดงานที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนโอกาส เช่น Seoul International Writers’ Festival เพื่อขยายโอกาสไปถึงหนังสือประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น วรรณกรรมสำหรับวัยรุ่น หรือ วรรณกรรมจากนักเขียนไกลบ้าน

          นอกจาก LTI Korea แล้วหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการแปลวรรณกรรมเกาหลี ยังมีมูลนิธิแดซัน (The Daesan Foundation) ผลงานของ ฮัน คัง ก็ได้รับการสนับสนุนจาก 2 หน่วยงานนี้ โดย The Vegetarian ซึ่งผลิตกับสำนักพิมพ์ Portobello Books ในสหราชอาณาจักรและเรื่องอื่นๆ ของเธอที่แปลเป็นภาษายุโรปได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิแดซัน ขณะที่ LTI Korea สนับสนุนการแปลผลงานของ ฮัน คัง ถึง 76 รายการ ใน 28 ภาษา

วิดีโอ New Chapter of Korean Literature as World Literature


ที่มา

บทความ “Revised law green-lights launch of literary translation graduate school” จาก koreatimes.co.kr (online)

บทความ “Han Kang’s Nobel win spotlights role of translation in expanding literary horizons” จาก koreatimes.co.kr (online)

บทความ “Where is LTI Korea headed after Han Kang’s Nobel win?” จาก koreaherald.com (online)

บทความ “New LTI Korea president aims to globalize Korean literature following Han Kang’s Nobel win” จาก koreatimes.co.kr (online)

บทความ “Han Kang’s Nobel Prize and Korean Literature as World Literature” จาก korea.fas.harvard.edu (online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก