หลายคนอาจคุ้นเคยกับชื่อของอลัน ทัวริง (Alan Turing) ในหนัง The Imitation Game (2014) ที่เล่าชีวประวัติของนักคณิตศาสตร์คนสำคัญชาวอังกฤษ ผู้คิดค้นการถอดรหัสอีนิกมา ทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเร็วขึ้น และช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก
แต่ท้ายสุดในปี 1952 ทัวริงกลับถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรในข้อหา ‘รักร่วมเพศ’ ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายสำหรับอังกฤษในยุคนั้น เขาถูกไล่ออกจากงาน ได้รับแรงกดดันทางสังคมรอบทิศ และพบจุดจบน่าเศร้าในอีก 2 ปีต่อมา
ปี 1954 ทัวริงในวัย 41 ปี เสียชีวิตอยู่ในบ้านพัก ชันสูตรพบสารไซยาไนด์ในร่างกายเป็นจำนวนมาก ผลไต่สวนการเสียชีวิตชี้ว่า เขาฆ่าตัวตาย
หลังจากนั้นเมื่อกระแสการต่อสู้เรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศแพร่หลายขึ้น ในปี 1957 มีการตีพิมพ์รายงานของคณะกรรมการว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศและการค้าประเวณี หรือ ‘Wolfenden Report’ นำเสนอหลักฐานที่ยืนยันว่าการรักร่วมเพศไม่สามารถถูกมองว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บ และควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย จนในที่สุดปี 1967 อังกฤษได้ยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน
กระโดดมาปี 2010 อังกฤษออกกฎหมายให้ความคุ้มครองพนักงาน LGBTQ+ จากการเลือกปฏิบัติ การคุกคาม และการตกเป็นเหยื่อในที่ทำงาน ปี 2014 อังกฤษผ่านกฎหมายคนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ และในปี 2017 อังกฤษประกาศใช้กฎหมาย ‘อลัน ทัวริง’ เพื่อยกเลิกความผิดฐานรักร่วมเพศ และลบชื่อผู้ต้องหากรณีนี้ในอดีตออกจากประวัติอาชญากรรมทุกคน
ฟังเผินๆ แล้วอังกฤษมีความก้าวหน้าไม่น้อยในเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ (อย่างน้อยก็มากกว่าไทย) แต่เมื่อหันไปอ่านงานวิจัย LGBT in Britain – Hate Crime and Discrimination ในปี 2017 กลับพบว่ายังมีคนอังกฤษจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้าน LGBTQ+ และการต่อต้านนั้นไปไกลกว่าแค่ความเกลียดชังหรือการใช้ความรุนแรงตามท้องถนน แต่รวมไปถึงพื้นที่และบริการสาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าใกล้บ้าน โรงยิม โรงเรียน หรือสถานที่สักการะ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การโจมตีทางวาจาหรือทางร่างกายต่อ LGBTQ+ เพิ่มขึ้นเกือบ 80%
1 ใน 5 ของ LGBTQ+ เคยประสบกับอาชญากรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดจากความเกลียดชังเนื่องจากรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ และคนข้ามเพศ 2 ใน 5 เคยประสบกับอาชญากรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดจากความเกลียดชังเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยอาชญากรรมและเหตุการณ์ที่ต่อต้าน LGBTQ+ 4 ใน 5 ไม่ได้รับการรายงาน โดยกลุ่ม LGBTQ+ ที่อายุน้อยมักลังเลที่จะไปพบตำรวจ
“ฉันถูกผู้ชายลวนลามในขณะที่ฉันกำลังจับมือกับคู่รักที่เป็นเลสเบี้ยน เขาคว้าตัวฉันจากด้านหลังแล้วพุ่งเข้ามาหาฉัน จากนั้นก็พูดจาลวนลาม” เสียงเล่าจากเฟรยา ในงานวิจัย
“ฉันเคยประสบกับเหตุการณ์ที่มีผู้หญิงคนหนึ่งไม่ยอมใช้ห้องน้ำต่อจากฉัน ทั้งที่มีคนต่อคิวกันยาวเหยียด ราวกับว่าฉันเป็นตัวเชื้อโรค ชายหรือหญิงทั่วไปไม่รู้ว่าพวกเขามีสิทธิพิเศษแค่ไหนที่ไม่ได้ถูกถามรายละเอียดเรื่องความรัก หรือไม่ต้องรู้สึกหวาดระแวงคนรอบข้างเมื่ออยากแสดงความโรแมนติกกับคนรัก” ราเชลเล่า
นอกจากนี้งานวิจัยของ Albert Kennedy Trust ยังพบว่าคนหนุ่มสาวมากถึง 24% ที่เสี่ยงต่อการไร้บ้านระบุว่าตนเองเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดย 77% กล่าวว่าได้รับการปฏิเสธจากครอบครัวและโดนล่วงละเมิดหลังจากที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ
มากไปกว่านั้น ปี 2017 เดอะการ์เดียน สื่อใหญ่ของอังกฤษยังออกบทความเกี่ยวกับการปิดตัวของสถานที่จัดงานพบปะสังสรรค์ของกลุ่ม LGBTQ+ หลายแห่งในลอนดอน เนื่องจากค่าเช่าที่พุ่งสูงขึ้นจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงบาร์และคลับเกย์กว่า 150 แห่งที่ทยอยปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2000-2016 ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ
เราจึงเห็นได้ชัดว่า ในความเป็นจริง พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มนี้ในอังกฤษนั้นมีน้อยเพียงไร แม้แต่พื้นที่สาธารณะก็มีความเสี่ยงที่จะโดนคุกคาม และการปิดตัวของสถานที่สำหรับ LGBTQ+ ในลอนดอน เมืองหลวงที่เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติ ยิ่งตอกย้ำสถานการณ์ย่ำแย่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ
บทความนี้จึงพาไปรู้จักพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชาว LGBTQ+ ในลอนดอน คือ ศูนย์ชุมชน LGBTQ+ ลอนดอน (London LGBTQ+ Community Centre) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มจิตอาสา และร้านหนังสือ Gay’s the World ร้านหนังสือ LGBTQ+ ที่เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ ทั้งสองแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่รวมตัวเพื่อพักผ่อน แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้พัฒนาตัวเอง แลกเปลี่ยนความรู้ ขับเคลื่อนสังคม พร้อมไปกับการสร้างจุดยืนของตนเอง
ศูนย์ชุมชนที่ยึดหลักงานวิจัย เปิดพื้นที่สบายใจให้ชาว LGBTQ+ และคนทุกกลุ่ม
ถ้าให้ลองนึกภาพสถานที่พบปะสังสรรค์ของชาว LGBTQ+ หลายคนอาจนึกถึงผับบาร์ เพลงแดนซ์กระหึ่ม และเครื่องดื่มมึนเมา ซึ่งไม่ต่างกันนักกับภาพจำของชาวลอนดอนเมื่อพูดถึงสถานที่สำหรับ LGBTQ+
แต่ศูนย์ชุมชน LGBTQ+ ลอนดอนนั้นต่างออกไป เพราะพวกเขาเริ่มต้นจากการทำแบบสำรวจอย่างจริงจังเกี่ยวกับรูปแบบของพื้นที่ที่ชาว LGBTQ+ ต้องการ ซึ่งพบว่า มากถึง 94% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการสิ่งอื่นนอกเหนือจากสถานบันเทิงยามค่ำคืน
“ฉันเคยไปบาร์เลสเบี้ยนแห่งหนึ่งในโซโหกับคู่รักของฉันและเพื่อนผู้หญิงอีกสองคน เราคงเป็นแก๊งชะนีที่อายุมากที่สุดในบรรดาสาวๆ อายุราว 20-30 ปี แล้วคิดดูว่าถ้าหากคุณอายุสัก 50 ปี คุณจะไปที่ไหนได้อีก หากคุณอยากพบปะผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง” ผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งกล่าว
ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามอีกคนบอกว่า “ถ้าฉันแค่อยากจะดื่ม ใช่ มันมีพื้นที่แบบนั้นอยู่ ถ้าฉันต้องการมีเพศสัมพันธ์ พื้นที่แบบนั้นมีมากพอ แต่สิ่งที่ฉันอยากได้จริงๆ คือสถานที่ที่ให้ ‘ความเป็นเพื่อน’ กับฉัน แค่นั่งคุยกันแบบเรียบง่าย โดยไม่โดนกดดันให้ลงเอยด้วยการมีเซ็กซ์หรืออะไรแบบนั้น”
งานวิจัยยังระบุว่าลักษณะพื้นที่ที่ชาวชุมชนต้องการคือ ครอบคลุม LGBTQ+ ทุกกลุ่ม มีราคาไม่แพง เข้าถึงได้ง่าย สงบ เป็นมิตร และตั้งอยู่ใจกลางเมือง รวมทั้งอยากให้เป็นสถานที่ที่ชาวชุมชนมารวมตัวกันได้ และสามารถจัดงานหรือทำกิจกรรมที่ตอบสนองต่อกลุ่มเฉพาะแต่ละกลุ่มของชาวชุมชน
“…คนที่เข้ามาใช้บริการที่นี่ เมื่อพวกเขาเดินผ่านประตูเข้ามาเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ยังเป็นคนที่ไม่แม้กระทั่งจะเปิดปากพูด เพราะกลัวเกินกว่าที่จะพูด ฉันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของพวกเขา แต่เมื่อเริ่มมาที่นี่…พวกเขาก็สร้างมิตรภาพและพูดคุยกัน นั่นคือการเสริมแรงให้กับฉัน เพราะฉันสนับสนุนและทำงานเพื่อพวกเขา” เมแกน คีย์ (Megan Key) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ชุมชน LGBTQ+ ในลอนดอน กล่าว
หลังจากที่โครงการศูนย์ชุมชน LGBTQ+ ลอนดอนจัดระดมทุนในปี 2017 ต่อมาปี 2018 โครงการระดมทุนได้ถึง 100,000 ปอนด์จากการบริจาคของชาวชุมชนกว่า 2,000 คน อันเป็นจำนวนมากพอที่จะสร้างพื้นที่ถาวร
“พื้นที่ของเราแบ่งเป็นสัดส่วน เงียบสงบ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิก ที่นี่ไม่ได้วนเวียนอยู่กับการเที่ยวกลางคืน การดื่มเหล้า หรือยาเสพติด และไม่ได้ผูกติดอยู่กับกิจกรรมหรือบริการใดเป็นพิเศษ นี่คือพื้นที่ที่ชาวชุมชนสามารถเข้ามานั่งชิลล์ได้เหมือนห้องนั่งเล่น” ซาราห์ มัวร์ (Sarah Moore) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ชุมชน LGBTQ+ ในลอนดอน และผู้อำนวยการคนปัจจุบันกล่าว
เมแกนเสริมว่า เธอเคยเป็นผู้จัดการกองทุนของ Birmingham LGBT ศูนย์ดูแลสุขภาวะแห่งแรกในประเทศสำหรับ LGBTQ+ ที่ดำเนินการมากว่า 11 ปีแล้วและได้รับรางวัลมากมาย มีโปรเจกต์ล้นหลามไปหมด แต่ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ ยากที่จะรวมศูนย์กิจกรรมหลากหลายนี้ไว้ได้ มันจึงกันผู้คนบางประเภทออกไป ผู้คนมักจะไม่รู้ว่าจะไปหาโปรเจกต์ที่มีความเฉพาะทางได้ที่ไหน ดังนั้นพวกเธอจึงมองหาประสบการณ์ที่ตอบโจทย์นอกเมืองที่สนับสนุนคนตัวเล็กตัวน้อย
ตอนแรกพวกเขาเริ่มจากการเป็นศูนย์ชุมชนแบบป๊อปอัพชั่วคราว ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่มีระยะสัญญา 6 เดือน แต่เมื่อได้รับผลตอบรับที่ดีมากจึงนำไปสู่การขยายสัญญาหลายครั้ง และท้ายสุดสภาเขตซัทเธิร์ก (Southwark) ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ชุมชน ได้เสนอสัญญาเช่า 5 ปีให้แก่ศูนย์ และขณะเดียวกันทางศูนย์ก็ได้รับการสนับสนุนจากชาวเมืองท้องถิ่นและชาวชุมชน LGBTQ+ อย่างกว้างขวาง
“เราคงจะไม่อ้างว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญหรอก เราเป็นแค่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเควียร์ที่มีเป้าประสงค์แรงกล้า เราไม่ได้ตอบได้ทุกเรื่อง จากการริเริ่มโครงการแบบป๊อปอัป เราก็เห็นว่าเราทำสิ่งนี้ต่อไปในระยะยาวได้ จะทำยังไงให้มันเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมที่สุดสำหรับทุกคน
เรามีทีมที่หลากหลาย เราเป็นทรานส์ เป็นไบเซ็กชวล เป็นเลสเบี้ยน เป็นคนขาว คนผิวสี เราพยายามอย่างมากที่สุดที่จะเป็นตัวแทนของชุมชนให้ได้ และมันก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง” เมแกนกล่าว
เล่นโยคะ ชมรมการอ่าน เรียนภาษา ออกกำลังกาย หรือแค่นั่งเฉยๆ ศูนย์แห่งนี้ก็พร้อมต้อนรับ
ศูนย์ชุมชน LGBTQ+ ลอนดอน ตั้งอยู่บนถนนฮอปตัน เขตซัทเธิร์กประกอบด้วยคาเฟ่ พื้นที่เลานจ์ และพื้นที่จัดประชุม เปิดให้แก่บุคคลทั่วไปตั้งแต่วันพุธถึงวันอาทิตย์ และสำหรับการจองแบบกลุ่มเฉพาะในวันจันทร์และวันอังคาร บรรยากาศภายในศูนย์เต็มไปด้วยผู้คนที่มาพักผ่อน สงบใจ พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุย ขอคำแนะนำ หาแหล่งข้อมูล สร้างความสัมพันธ์และพบเพื่อนใหม่
“ตอนเริ่มต้นโปรเจกต์ในเดือนแรกๆ มีคนมาเข้าร่วมราว 150-200 คนในแต่ละครั้ง เราจัดการอบรม 5 ครั้งด้วยกัน และเราอยากจะฟังว่าชุมชนคิดอย่างไร ผู้คนคิดว่าอยากจะให้ศูนย์นี้ทำงานด้วยวิธีไหน และเรามีขั้นตอนที่ค่อนข้างจะเป็นประชาธิปไตยในการระดมสมอง ในระหว่างกระบวนการ เรารับฟังตลอด เพราะฉันคิดว่าเราต้องรู้ว่าเรามีสิทธิพิเศษ” ซาราห์กล่าว
ทางศูนย์ทำงานร่วมกับองค์กรการกุศล ชุมชน และองค์กรต่างๆ เพื่อให้บริการเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต การประชุมแบบไม่ประสงค์ออกนามสำหรับผู้ติดยาเสพติด และการตรวจสุขภาพทางเพศ เช่น DoIt London ซึ่งเป็นศูนย์บริการตรวจเชื้อ HIV และแจกถุงยางฟรี หรือ ACT UP London กลุ่มนักเคลื่อนไหวรวมตัวเพื่อทำงานเพื่อเป้าหมายในการหยุดเชื้อ HIV ผ่านกิจกรรมน่าตื่นเต้นมากมาย โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการประท้วง เช่น F*ck off This is my Culture กิจกรรมการประท้วงประจำปีที่จัดเป็นปาร์ตี้ให้กับไอคอนชาวเควียร์
นอกจากนี้ทางศูนย์ยังเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กชอป เสวนา กิจกรรมการอ่านและฟิล์มคลับ โยคะ หรือนั่งสมาธิ จนถึงการมาพบปะพูดคุยกัน หรือจะมานั่งเงียบๆ สงบใจเพียงลำพัง พิเศษยิ่งขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม จะมีอาหารค่ำวันคริสต์มาสฟรีสำหรับผู้สูงอายุ LGBTQ+ และคนไร้บ้านจำนวน 70 ที่อีกด้วย
จนถึงขณะนี้ ศูนย์ชุมชนได้รับการตอบรับในทางบวกอย่างล้นหลาม จากการสำรวจพบว่า 86% ของผู้เยี่ยมชมรู้สึกปลอดภัยอย่างยิ่ง 74% ของผู้เยี่ยมชมมีประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม และจำนวนมากอยากให้ศูนย์ยังคงเปิดอยู่ตราบเท่าที่เป็นไปได้ พวกเขาได้รับเงินสนับสนุนเรื่อยๆ จนศูนย์เริ่มขยับขยายเป้าหมายที่จะต่อชีวิตไปอีกถึง 5 ปีหรือมากกว่านั้น
“นี่คือพื้นที่ที่กลุ่มคนทุกกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกัน…เป็นสถานที่ใจกลางกรุงลอนดอนที่ชาว LGBTQ+ รู้สึกเหมือนกับเป็นเครื่องช่วยชีวิต บริการและพื้นที่ของทางศูนย์ไม่ซ้ำใครและมีคุณค่ามหาศาล ทำให้ฉันรู้สึกได้พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ต้อนรับกลุ่ม LGBTQ+ ชาวอินเดียและเอเชียใต้ในการรวมตัวกันทำกิจกรรมสนุกๆ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน” หนึ่งในผู้เยี่ยมชมระบุ
“ฉันชอบมาที่ศูนย์เพื่อเรียนรู้ ในฐานะคนออทิสติกฉันพบว่ามันยากที่จะอยู่ในพื้นที่ชุมชน เนื่องจากสภาพแวดล้อมมักจะมีเสียงดังเกินสำหรับการโฟกัสสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง หรือบางครั้งก็เงียบเกินไปจนสมองของฉันไม่ได้รับการกระตุ้น แต่ศูนย์แห่งนี้มีความสมดุลที่พอเหมาะพอเจาะ มีผู้คนมากพอที่จะทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่ก็ไม่มากจนน่าเวียนหัว ใครสักคนที่นั่นยินดีจะคุยกับคุณเสมอ แต่ถ้าคุณต้องการเวลาส่วนตัว นั่นก็เป็นไปได้ทุกเมื่อเหมือนกัน” ผู้เยี่ยมชมอีกคนกล่าว
“ความรู้สึกของเราคือ อยากให้ไทยและทุกเมืองมีสเปซแบบนี้ แต่รู้เลยว่าไม่ง่ายเพราะมันต้องได้การสนับสนุนจากรัฐด้วย มันไม่ใช่สเปซเชิงพาณิชย์ สไตล์คาเฟ่ ร้านหนังสือ มีหนังสือให้อ่าน มีกิจกรรมหลากหลายให้ทำ มันโอบรับความหลากหลายของทุกคน ใครอยากทำอะไรก็มาทำ มันคือ Third Space จริงๆ
ต่างประเทศจะมีพวกห้องสมุดที่ใครๆ ก็เข้าได้ ไม่มีกฎมากมาย ไม่มี Dress Code แต่อาจไม่ใช่สเปซที่จะมีกิจกรรมเฉพาะเหมือนที่นี่ที่เป็นเหมือนครอบครัวชาวเควียร์ ส่วนใหญ่กิจกรรมฟรีหมด ดูหนัง คลาสศิลปะ ถ่ายรูป เลกเชอร์ ภาษา โยคะ ออกกำลังกาย เวลาจะมีเดินขบวนอะไร ที่นี่ก็เป็นจุดนัดพบ ศูนย์อยู่ในพื้นที่ที่สะดวกสุดๆ คือมองเห็นมหาวิหารเซนต์ปอล ติดริมน้ำ ใกล้หอศิลป์เทตโมเดิร์น เดินทางง่าย ติดสถานีรถไฟ มีรถบัสผ่านหลายสาย
สำหรับคนตัวคนเดียวที่กลัวไม่มีเพื่อนก็ไปแจมได้ มันช่วยเชื่อมคนในชุมชนได้ การมีพื้นที่เชิงกายภาพแบบนี้ทำให้กิจกรรมต่างๆ ง่ายขึ้น เพราะส่วนใหญ่สเปซของเควียร์อยู่ในออนไลน์ การมีสเปซออฟไลน์ให้คนมาเชื่อมโยงกันจริงๆ เป็นเรื่องดี ไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่แบบ nightlife เท่านั้น”
จูน–วรรษมน ไตรยศักดา ช่างภาพและนักศึกษาปริญญาโทชาวไทย ผู้ทำงานด้าน LGBTQ+ และสิทธิมนุษยชนให้ความเห็น เธอเป็นอีกคนที่ได้โอกาสไปใช้งานพื้นที่นี้บ่อยครั้ง
ความครอบคลุมของกิจกรรม สามารถสังเกตได้จากขาประจำมากมายจากหลากหลายสัญชาติ เพราะศูนย์แห่งนี้มีเป้าหมายในการสร้างชุมชน LGBTQ+ ที่มาจากทั่วโลก รวมไปถึงผู้ลี้ภัยด้วย เช่น Queer China UK กลุ่มเควียร์ชาวจีนในอังกฤษที่จะจัดแคมเปญผู้ที่พูดและเรียนภาษาจีนมาเรียนรู้ภาษาจีนกลางร่วมกันแบบไม่เป็นทางการ The LGBTQ Indian Network UK (Gay Indian Network) ชุมชนอินเดียพลัดถิ่นที่จัดกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมอินเดียและเอเชียใต้ เช่น ชมรมหนังสือ รวมตัวนักกิน สนับสนุนสุขภาพจิต หรือชมรมดูภาพยนตร์บอลลีวูด หรือ Queer Refugees Unite กลุ่มสตรีและนอนไบนารีผู้ลี้ภัย สนับสนุนให้ผู้ที่มีเพศสรีระเป็นผู้หญิงที่กำลังหาที่อยู่อาศัยได้มีโอกาสนั่งคุยกันในพื้นที่ปิด
เป้าหมายในปี 2023 คือการสานต่อแนวคิดและดำเนินโปรเจกต์ที่คนสมัครล้นทะลักไปแล้ว เช่น ด้านสุขภาพจิต หรือสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเสริมพลังให้กับชุมชนผ่านการทำแคมเปญและการเคลื่อนไหวทางสังคม
“ในชีวิตประจำวันของฉัน ฉันเป็นผู้จัดการวางแผนกลยุทธ์ ถึงแม้ว่าฉันจะมีอิทธิพลมากพอ แต่ก็ยังเป็นแค่ต้นทุนขนาดเล็กในองค์กรภาคประชาสังคมขนาดใหญ่ระดับชาติ ฉันจึงรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยาก ในระดับที่เล็กลงมา ชาวเควียร์ เงินจากการระดมทุนจากชาวเควียร์ด้วยกัน และพันธมิตร คือสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการจัดการดูแลตัวเอง อาชญากรรมจากความเกลียดชังในประเทศนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับชาวเควียร์ แต่กับกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ด้วย ดังนั้นนี่คือหนทางสู้กลับของเรา กุมชะตาชีวิตของตัวเอง และจัดหาพื้นที่เล็กๆ ให้คนได้หายใจเข้า-ออก แม้จะไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ยังดี” เมแกนแสดงความคิดเห็นเอาไว้
Gay’s The Word ต้องสู้มากเท่าไหร่ ถึงจะได้ร้านหนังสือเพื่อชาว LGBTQ+
สถานที่สำหรับชาว LGBTQ+ อีกแห่งที่น่าสนใจและมีประวัติศาสตร์มายาวนานคือร้านหนังสือ ‘Gay’s The Word’ ร้านหนังสือ LGBTQ+ ที่เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ
ย้อนกลับไปในปี 1967 เมื่ออังกฤษยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน กระแสเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเริ่มเฟื่องฟู มีกลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิด้านต่าง ๆ ของ LGBTQ+ และกำเนิดเป็นงานไพรด์ครั้งแรกขึ้นในปี 1972
แต่…ในอีกทาง อคติการเหยียดเพศของผู้คนจำนวนมากก็ยังดำเนินควบคู่กันไปด้วย
ปี 1979 ร้านหนังสือ ‘Gay’s The Word’ เกิดขึ้นโดยกลุ่มนักสังคมนิยมเกย์ที่ใช้ชื่อว่า ‘Gay Icebreakers’ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากร้านหนังสือ LGBTQ+ ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอยู่ก่อนหน้า
จุดเด่นของ Gay’s The Word คือการวางตัวเป็นร้านหนังสือที่เป็นมากกว่าแค่ร้านหนังสือ เพราะพวกเขาอยากให้ร้านเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ LGBTQ+ และเปิดให้เป็นสถานที่นัดพบปะของชุมชนชาว LGBTQ+ ด้วย ตัวอย่างการรวมตัวครั้งสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเชิงสังคมที่เกิดขึ้นใน ‘Gay’s The Word’ คือการรวมตัวของสหภาพที่รวมเอาทั้งเกย์ เลสเบี้ยน และคนงานเหมืองมาไว้ด้วยกันในนาม LGSM (Lesbians and Gays Support the Miners)
อาจฟังดูแปลก แต่กลุ่มคนเหล่านี้มีจุดร่วมคือการเป็นผู้ถูกกดขี่ เนื่องจากในปี 1984 เศรษฐกิจอังกฤษชะงักงันทำให้ต้องมีการปิดหลุมเหมืองจำนวน 20 หลุม จนทำให้คนงานเหมือง 20,000 คนต้องตกงานกะทันหัน
“เหตุผลที่ฉันสนับสนุนคนงานเหมืองมากก็เพราะพวกเขาลงไปในเหมืองนั่นและทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ฉันไม่มีวันทำ พวกเขาขุดแร่ขึ้นมาเพื่อสร้างเชื้อเพลิงและทำให้เกิดไฟฟ้าสำหรับพวกเราทุกคน” แอชตันกล่าว
และนั่นจึงเกิดเป็นการสไตรก์นัดหยุดงานของคนงานเหมืองเป็นเวลาถึง 1 ปีเต็ม ส่วนหนึ่งคือการสนับสนุนของกลุ่ม LGSM ในการระดมเงินบริจาคจากทั้งงานไพรด์ ร้านหนังสือ Gay’s the Word รวมถึงผับบาร์เกย์ต่างๆ รวมทั้งคอนเสิร์ตการกุศล
เรื่องราวการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่ม LGSM ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘Pride’ ในปี 2014 หนังสามารถคว้ารางวัล BAFTA (British Academy Film Awards) ปี 2015 สาขาผู้กำกับและผู้เขียนบทหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และอีกหลายรางวัลทั่วโลก
จากบทความ LGBT History Month: How One Bookshop Battled Homophobic Attacks While Supporting The Miners Strike ระบุว่าการสไตรก์ครั้งนี้กลายเป็นหนึ่งในข้อพิพาททางอุตสาหกรรมที่ยาวนานที่สุดและอาจสร้างความเสียหายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอังกฤษ
และนี่คือหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของความก้าวหน้าเรื่องสิทธิ LGBTQ+ ในอังกฤษ เมื่อกลุ่มคนงานเหมืองเองก็เริ่มสนับสนุน รับรอง และมีส่วนร่วมในงานไพรด์ จนไปถึงการที่พรรคแรงงานในเมืองบอร์นมัทประชุมพรรคและลงมติให้พรรคสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ ในปี 1985
เผชิญมรสุมที่ทำให้ต้องปรับตัว
จนถึงปัจจุบัน ร้านหนังสือ ‘Gay’s The Word’ บนถนนมาร์ชมอนต์ เขตบลูมส์เบอรี ลอนดอน เปิดทำการมาแล้วเป็นปีที่ 44 ผ่านเหตุการณ์ทั้งการถูกแจ้งข้อหาว่าเป็นร้านขายหนังสือโป๊ ผ่านการถูกทุบร้าน ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ที่เสี่ยงต่อการต้องปิดตัว
ย้อนไปในอังกฤษช่วงยุค 80s ยังไม่มีร้านหนังสือแห่งไหนกล้าวางขายหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ แต่ Gay’s The Word วางขายวรรณกรรมเควียร์หลากหลายประเภทอย่างเปิดเผย และนำเข้าหนังสือจำนวนมากที่ตีพิมพ์จากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอังกฤษเวลานั้นยังไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ไหนตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับ LGBTQ+ เมื่อกระแสตอบรับดีจึงทำให้เกิดสำนักพิมพ์ LGBTQ+ ในอังกฤษตามมาอีกหลายเจ้า ร้านหนังสือแห่งนี้จึงเข้ามามีบทบาทต่อชุมชนชาว LGBTQ+ อย่างมาก
จิม แมคสวีนีย์ (Jim MacSweeney) ผู้จัดการร้านคนปัจจุบันเล่าว่า ในปี 1983 เคยมีโอกาสเข้าร่วมการแลกเปลี่ยนถกเถียงที่ Gay’s The Word ซึ่งนำโดย กลุ่ม Gay Icrebreakers
“บทสนทนาเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อฉันในการค้นพบและพัฒนาตัวเองในฐานะเกย์ ที่นี่ (Gay’s The Word) เป็นที่ที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตของฉัน” แมคสวีนีย์กล่าว
ต่อมาเมื่อเขาเห็นตำแหน่งว่างของร้านในปี 1989 จึงไม่รีรอที่จะสมัครงาน แม้ตอนแรกจะคิดแค่ว่าอยากทำเพียงไม่กี่ปี แต่กว่าจะรู้ตัวเขาก็อยู่เฝ้าที่นี่มานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว
แน่นอนว่าไม่มีอะไรจะราบรื่นได้ตลอดไป มรสุมใหญ่ลูกแรกมาเยือนร้านในปี 1984 เมื่อ Gay’s The Word ถูกกล่าวหาว่าเป็นร้านหนังสือโป๊ นำเข้าหนังสือที่ไม่เหมาะสม และถูกยึดสินค้าในคลังรวมมูลค่าหลายพันปอนด์ มีทั้งผลงานของเทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams), กอร์ วิดัล (Gore Vidal), คริสโตเฟอร์ อิเชอร์วูด (Christopher Isherwood) และฌอง เจเนต์ (Jean Genet) รวมทั้งคู่มือการช่วยตัวเอง ‘Joy of Gay Sex’ และ ‘Joy of Lesbian Sex’ ก็อยู่ในบรรดาหนังสือที่ถูกยึด
เหล่ากรรมการของร้านถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการนำเข้าหนังสืออนาจาร และร้านเองก็ต้องเผชิญกับกลุ่มคนที่ต่อต้านและไม่พอใจ หน้าต่างร้านถูกปาอิฐใส่ มีคนแอบย่องเบาเข้าไปทำความเสียหาย ฯลฯ
ขณะเดียวกัน คนอีกกลุ่มซึ่งมีจำนวนไม่น้อยก็ตระหนักถึงความสำคัญของ Gay’s The Word ในฐานะพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการรวมตัวของกลุ่ม LGBTQ+ พวกเขารวมตัวกันรณรงค์เพื่อแก้ต่างให้กับข้อกล่าวหาดังกล่าว มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อขับเคลื่อนแคมเปญ ระดมเงินได้กว่า 55,000 ปอนด์ โดยมีนักเขียนชื่อดังหลายคนร่วมบริจาคสนับสนุน มีบทความรณรงค์เรื่องนี้ตีพิมพ์ในหลายสื่อ มี ส.ส.หลายคนไปเยี่ยมที่ร้านหนังสือ และผลักประเด็นเข้าสู่สภา จนในที่สุดข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ถูกปัดตกไป
ถัดมาในปี 2007 มรสุมใหญ่ลูกที่สองก็มาเยือน แม้ Gay’s The Word จะเป็นร้านหนังสือที่มีชื่อเสียง แต่ผู้คนจำนวนมากเริ่มหันมาสั่งซื้อหนังสือทางออนไลน์แทนการไปซื้อที่ร้าน ประกอบกับค่าเช่าที่ราคาพุ่งสูง ทำให้ร้านต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว จึงได้เกิดการทำแคมเปญระดมทุนเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งมีทั้งนักเขียนและคนมีชื่อเสียงหลายคนเข้าร่วม พวกเขาร่วมกันพูดถึงร้านหนังสือแห่งนี้ในแง่มุมที่หลากหลาย
อาลี สมิธ (Ali Smith) นักเขียนนิยายรางวัล Whitbread Award กล่าวว่า “มันจะเป็นความสูญเสียทั้งทางการเมือง วัฒนธรรม ชุมชน และผู้คน หากร้านนี้ปิดตัวลง”
ซาราห์ วอเตอร์ส (Sarah Waters) นักเขียนผู้เข้าชิงรางวัล The Booker Prize ระบุว่า “สำหรับฉันมันเป็นมากกว่าร้านหนังสือ มันคือหนึ่งในสถานที่ที่คุณจะไปทันทีที่ถึงลอนดอน มันคือจุดนัดพบที่สำคัญ และทำให้ผู้คนได้รับพลังจากการมาเยือนที่นี่ มันสำคัญมากที่จะมีพื้นที่เชิงกายภาพในรูปแบบนี้”
เอ็ดมันด์ ไวท์ (Edmund White) นักเขียนอเมริกัน ผู้แต่ง ‘A Boy’s Own Story’ กล่าวว่า “นี่คือร้านที่ขายหนังสือเกี่ยวกับเกย์มานานหลายปีในแบบที่หาไม่ได้ในร้านหนังสือทั่วไป แม้แต่ในร้านหนังสือที่มีหมวดเกย์ก็ตาม พนักงานรู้จักหนังสือดี และให้คำแนะนำได้ คงจะน่าเสียดายมากหากต้องเห็นร้านปิดตัวลง”
ผลตอบรับของแคมเปญนั้นไปไกลกว่าที่ร้านคาด เมื่อทั้งสื่อเล็กสื่อใหญ่จำนวนมากต่างลงข่าวเรื่องความเสี่ยงที่ร้านจะปิดตัว และได้เห็นผู้คนมากมายร่วมสนับสนุนและบริจาค
ต่อมาในช่วงโควิดแพร่ระบาด แม้ร้านต้องปิดตัวลงหลายอาทิตย์ แต่ผู้จัดการร้านยืนยันว่าก่อนหน้านั้นร้านได้รับความสนใจที่ดีมาโดยตลอดจนไม่ต้องเป็นกังวล
“เมื่อร้านหนังสือได้รับอนุญาตให้เปิดอีกครั้ง พวกเรายุ่งกันมาก แต่เราก็เริ่มสร้างเว็บไซต์สำหรับการทำธุรกรรมการเงินครั้งแรกของเราด้วย เราจึงสามารถส่งหนังสือไปได้ทั่วประเทศ แม้ว่าการจัดการโรคระบาดของรัฐบาลจะน่าหวาดหวั่น แต่พวกเขากลับสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กด้วยเงินช่วยเหลือและนโยบายอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก” แมคสวีนีย์กล่าว
ร้านหนังสือที่ทำให้คุณโดดเดี่ยวน้อยลง
จนถึงตอนนี้ Gay’s The Word ก็ยังคงยืนหยัดให้บริการทั้งการขายหนังสือหน้าร้านและออนไลน์ รวมถึงมีกิจกรรมในรูปแบบอื่นที่ทำร่วมกับกลุ่มหรือองค์กรต่างๆ
ปัจจุบันมี 4 กลุ่มที่จัดกิจกรรมร่วมกับ Gay’s The Word กลุ่มแรกคือ Lesbian Discussion Group ซึ่งจัดงานพูดคุยแลกเปลี่ยนมานานกว่า 40 ปีเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องเพศ การเมือง วิถีชีวิต และหัวข้อเฉพาะอื่นๆ ของเลสเบี้ยน
กลุ่มที่สอง Black Lesbian Discussion Group ซึ่งก่อตั้งเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเลสเบี้ยนผิวดำทุกคน มีการสนทนาในหัวข้อต่างๆ และจัดงานสังสรรค์ในบรรยากาศที่ไม่ใช่งานปาร์ตี้ กลุ่มที่สาม Trans London ซึ่งจะมีการพบปะทุกเดือนในฐานะกลุ่มสนทนาและสร้างการสนับสนุนสำหรับสมาชิกทุกคนในชุมชนทรานส์ และกลุ่มสุดท้าย London LGBT Book Group กลุ่มเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือ LGBTQ+
Gay’s The Word ยังเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้สนใจในประเด็น LGBTQ+ ทั้งเรื่องการ Come out หรือเปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ ตลอดจนคำแนะนำทางการแพทย์ เรื่องทางกฎหมาย และแนะนำช่องทางติดต่อกับกับองค์กร LGBTQ+ กลุ่มเฉพาะต่างๆ
“แหล่งข้อมูลของ Gay’s The Word มักถูกใช้โดยครู บรรณารักษ์ และนักวิชาการเพื่อค้นหาหนังสือ LGBTQ+ โดยมีเจ้าหน้าที่ร้านที่รู้จักหนังสือหลากหลายประเภทคอยให้คำแนะนำเพื่อค้นหาหนังสือที่ดีที่สุดและตรงกับความต้องการ” หน้าเว็บไซต์ Gay’s The Word ระบุ
ส่วนสุดท้ายคือการทำงานร่วมกับองค์กร Educate & Celebrate ซึ่งเป็นองค์กรที่รับจัดงานอบรมเพื่อสร้างความรู้ ทักษะ และเสริมความมั่นใจเกี่ยวกับเรื่องเพศและเพศสภาพ โดย Gay’s The Word เป็นผู้จัดหาหนังสือชุด ‘PRIDE Book Collections’ ให้กับโครงการฝึกอบรมแก่โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยม ในหัวข้อ ‘การอยู่ร่วมกันและความยุติธรรมทางสังคม’
นี่คือร้านหนังสือ LGBTQ+ ที่แตะแทบทุกประเด็นอย่างกว้างขวาง และการเป็นพื้นที่สำหรับแหล่งข้อมูล การรับฟัง ให้ความช่วยเหลือ ถกเถียง ไปจนถึงสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคม พร้อมพนักงานร้านผู้รอบรู้คอยให้คำแนะนำ จึงอาจกล่าวได้ว่า Gay’s The Word ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วในฐานะที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับชาวชุมชน LGBTQ+ ในลอนดอนอย่างแท้จริง
ยูลิ เลนนาร์ต (Uli Lenart) ผู้จัดการร้านอีกคนกล่าวว่า ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นทรัพยากรทางสังคมที่สำคัญ “เราพบวัยรุ่นบางคนที่หลั่งน้ำตาเดินเข้ามาในร้าน นั่นทำให้เรารู้สึกว่าอยากให้สถานที่แห่งนี้ทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง” เขาบอก
“ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของบรรดาเควียร์ทุกคน ตั้งแต่ป้ายประกาศข้างประตูหน้าซึ่งเต็มไปด้วยการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานเขียนของผู้หญิง จนถึงการบำบัดของกลุ่มเกย์ และรายการแดร็กโชว์ ส่วนในร้านก็มีตู้หนังสือที่อุทิศให้กับประวัติศาสตร์ของกลุ่ม LGBTQ+ มีวรรณกรรมแนวเลสเบี้ยน และบทกวีของกลุ่มนิวเวฟ รวมถึงนิทรรศการเล็ก ๆ เกี่ยวกับป้ายสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ ช่วงยุค 80s และขาดไม่ได้คือนิยายที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วอีกมากมาย” คอลิน ครัมมี่ (Colin Crummy) นักเขียนคอลัมน์กล่าว
“Gay’s the Word เป็นร้านหนังสือที่ทำโดยพวกเราเพื่อพวกเรา เป็นที่เก็บบันทึกที่มีชีวิต บอกเล่าความคิดและจินตนาการของชาวเควียร์ เป็นเสมือนเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างและให้กำลังใจเราเสมอ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมร้านหนังสือนี้ถึงได้รับการขนานนามว่าเป็นที่พักใจและที่หลบภัย” นีล แมคเคนนา (Neil McKenna) นักข่าวและนักเขียนเล่าความในใจ
ที่มา
วิดีโอ “This is why we need an LGBTQ+ Community Centre in London” (Online)
บทความ “อลัน ทัวริง” บิดาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร เพราะรักเพศเดียวกัน” (Online)
บทความ “A short history of LGBT rights in the UK” (Online)
บทความ “Authors campaign to save Britain’s only gay bookshop” จาก theguardian.com (Online)
บทความ “Celebrating 40 years of Gay’s The Word, London’s glorious LGBTQ bookshop” จาก dazeddigital.com (Online)
บทความ “LGBT History Month: How One Bookshop Battled Homophobic Attacks While Supporting The Miners Strike” จาก huffingtonpost.co.uk (Online)
บทความ “LGBT London: what venue closures mean for the capital’s future” จาก theguardian.com (Online)
บทความ “LGBTQ+: แต่งงานเพศเดียวกัน, บริจาคเลือด, ห้ามบำบัดแก้เพศวิถี ประเด็นเด่นในปี 2020” จาก bbc.com (Online)
บทความ “London’s design community comes together to furnish new LGBTQ+ Community Centre” จาก gscene.com (Online)
บทความ “The 1975 back new centre for London’s LGBTQ+ community” จาก theguardian.com (Online)
บทความ “The Famed London Bookshop At The Heart Of The LGBT+ Rights Movement • Gay’s The Word” จาก secretldn.com (Online)
บทความ “The importance of Gay’s the Word, the first place I’ll be going after lockdown” จาก penguin.co.uk (Online)
บทความ “Episode 4: London LGBTQ+ Community Centre” จาก queerspaces.uk (Online)
บทความ “A NEW QUEER LONDON: LGBTQ+ Communities and Spaces beyond Covid-19” จาก londonlgbtqcentre.org (Online)
บทความ “akt release studies on lgbtq+ youth homelessness” จาก akt.org.uk (Online)
บทความ “LGBT in Britain – Hate Crime and Discrimination” stonewall.org.uk (Online)
เว็บไซต์ Gay’s The Word (Online)
เว็บไซต์ The London LGBTQ+ Community Centre (Online)