Loftster the Creative Space เป็นคาเฟ่แห่งหนึ่งในใจกลางเมืองโคราชที่ผสานพื้นที่ของอาร์ตแกลเลอรีอยู่ภายใน บริหารจัดการโดย ไดซ์ – พงศกร พิศิษฐวานิช ถึงจะเปิดมาได้ไม่นานนักแต่ผลงานศิลปะอัดแน่นและน่าสนใจจนเป็นที่กล่าวถึง เพราะนอกจากผู้มาเยือนจะได้จิบเครื่องดื่ม ลิ้มรสอาหารและขนมอร่อยๆ แล้ว ยังมีฟังก์ชัน ‘พื้นที่สร้างสรรค์’ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินในท้องถิ่นได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความคิด จัดเวิร์กชอป จับมือกันออกไอเดียใหม่ๆ และร่วมลงมือทำ
“ผมเป็นคนชอบเรื่องการออกแบบมานานแล้ว แต่ไม่ได้จบมาทางนี้โดยตรง อาศัยขอไปเรียนร่วมกับทางคณะสถาปัตยกรรม ของมหาวิทยาลัยในเมืองโคราช และร่วมทำประกวดโปรเจกต์อยู่หลายครั้ง”

และเมื่อเจ้าของคาเฟ่ที่มีใจรักการออกแบบได้มาพบกับกลุ่มศิลปิน 6 ท่าน ซึ่งกำลังตามหาพื้นที่จัดกิจกรรมและแสดงผลงาน จึงได้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่อาร์ตแกลเลอรีเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่น
นิทรรศการในครั้งนั้นเป็นการจุดประกายให้ศิลปินท้องถิ่นเกิดความสนใจ โดยจากศิลปิน 6 ท่านผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรก เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30 ท่านในครั้งที่ 2 และยังเกิดการบอกต่อ ชักชวนเพื่อนฝูงมาเข้าร่วมกลุ่มจนเกิดเป็นชุมชนของศิลปินที่มีสมาชิกกว่า 70 คน
“ลักษณะเฉพาะของ Loftster คือพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่แค่โชว์เคสสำหรับงานศิลปะที่มีอยู่แล้ว คนที่จะมาจัดแสดงผลงานต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ตามธีมที่เรากำหนด” ไดซ์เน้นย้ำแนวคิดหลักของการจัดแสดงผลงานที่นี่ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกิจกรรมที่ผ่านมาให้ฟัง
“ในธีม Rhythm of Love – เราขอให้ศิลปินเลือกเพลงที่ชื่นชอบ แล้วตีความสร้างงานศิลปะจากเพลงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลงรักที่สมหวัง หรือผิดหวัง แบบอกหักรักคุด
ส่วนธีม Trash to Treasure – เราขอให้ศิลปินนำสิ่งที่เป็นขยะมาสร้างงานศิลปะ เพื่อสร้างความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม และยังแสดงถึงว่าขยะก็สร้างมูลค่าในตัวเอง และบางงานสามารถขายได้อีกด้วย
ตอนที่มีคนมาจัด wine tasting ในร้าน เราก็เชิญศิลปินมาวาดภาพโดยใช้น้ำไวน์ และจัดประมูลกันในงาน รายได้นำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่างอำเภอ ในนามของ ผู้ประมูล ศิลปิน ร้านไวน์ และร้าน Loftster ร่วมกัน”
หากสังเกตดู จะเห็นว่าธีมกิจกรรมล้วนมีความเชื่อมโยงกับภาพยนตร์ ดนตรี หรือตัวละครซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น ‘From Voorhees to Myers’ (เป็นชื่อที่ถอดมาจากตัวละครในหนังสยองขวัญธีม Halloween ที่ร้านจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 13 ถึง 31 ตุลาคม) งาน ‘30 café 30 artists’ที่ร่วมมือกับทาง Art and Creative Korat และคาเฟ่อื่นๆ ในโคราชชวนศิลปิน 30 ท่านมาจัดแสดงผลงานในคาเฟ่ 30 ร้าน, หรือแม้กระทั่งธีมที่จัดเนื่องในช่วงการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี Godzilla
“ทุกๆ งาน เราเน้นว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องคิดว่าจะต้องเหมือนในแกลเลอรีใหญ่ๆ อยากให้เป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย ใครๆ ก็รู้จัก แต่อยากให้เกิดจากไอเดียและจินตนาการของตัวเรา”

นอกจากงานศิลปะแล้ว ไดซ์ยังชวนนักสร้างสรรค์มาทลายกำแพงที่แบ่งแยก ‘วิทยาศาสตร์’ กับ ‘ศิลปะ’ เพื่อผลักดันให้ผลงานของคนรุ่นใหม่ฉีกกรอบไปกว่าเดิม “งานผีธีม Haunted ที่ผ่านมาเราใช้คลื่นเสียงที่ความถี่ 170-190 เฮิร์ตซ์ ติดตั้งไว้กับภาพบางภาพ พอปล่อยคลื่นเสียงออกไป คลื่นเสียงความถี่เท่านี้ว่ากันว่าจะทำให้คนที่มาดูรู้สึกอึดอัด จิตตก ก็ลองดู” ซึ่งแนวคิดผสมผสานแบบนี้มาจากความร่วมมือกับ Creative Lab กลุ่มคนรุ่นใหม่ในโคราชที่พยายามหลอมรวมวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะ เข้าด้วยกัน นอกจากการจัดแสดงที่นี่ ตัวไดซ์เองก็ทดลองทำโปรเจกต์เก๋ๆ ใหม่ๆ ร่วมกับนักทดลองลงมือทำในกลุ่มอีกมากมาย
ไดซ์ยังมีแผนการสำหรับอนาคตอีกมาก ทั้งการขยับขยายพื้นที่รองรับกลุ่มศิลปะที่เกี่ยวกับการแสดง อยากทดลองทำงานศิลปะแนวสื่อผสมผสาน และศิลปะจัดวางที่แตกต่างดูไม่เหมือนใคร ที่สำคัญคือเขาไม่ได้คิดจะทำคนเดียว ทุกๆ ผลงานคือการร่วมมือกับเครือข่ายที่มีความคิดสร้างสรรค์ และความถนัดที่แตกต่างกันออกไป
ไดซ์มองว่า Loftster เปิดโอกาสให้คนภายนอกได้สัมผัสผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ และเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้รับฟังความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์จากผู้เสพศิลป์และเพื่อนพ้อง มหาวิทยาลัยในพื้นที่หลายแห่งก็มาร่วมจับมือทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความหมายยิ่งขึ้น “ปกติเวลานักศึกษาแสดงผลงานเพื่อให้อาจารย์ประเมินก็จะมีแค่คนในมหาวิทยาลัยที่มีโอกาสได้ดู ผมบอกว่าจะมาจัดแสดงที่นี่ก็ได้นะ เขาก็สนใจที่จะมาจัดงานกัน เราเลยได้รู้ว่างานของนักศึกษาดีมาก ดีขนาดนี้ทำไมไม่มีใครได้เห็นมาก่อน”
ไดซ์ ทิ้งท้ายเอาไว้ก่อนลาจากเป็นการสรุป “โคราชมีศิลปิน นักคิดสร้างสรรค์ และคนรุ่นใหม่ที่ชอบทดลองอยู่อีกมากนะครับ ข้อเสียคือคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยรู้จักกัน เราก็เลยสร้างพื้นที่เพื่อเพิ่มโอกาสให้เขาได้เข้ามาเจอกัน”






