พิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบประสบการณ์ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับนิทรรศการ ด้วยนวัตกรรมและการเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า

2,148 views
8 mins
November 16, 2021

          โดยทั่วไปแล้ว พิพิธภัณฑ์มักเป็นสถานที่จัดเก็บวัตถุหรือข้าวของต่างๆ ซึ่งบ่งบอกร่องรอยอดีตที่ผ่านมา หรือนำเสนอเรื่องราวเฉพาะด้านที่มีความสำคัญต่อสังคม ลำพังวัตถุจัดแสดงคงไม่สามารถบอกเล่าคุณค่าหรือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังได้ทั้งหมด ทว่าต้องอาศัยภัณฑารักษ์ที่มีความรู้ความสามารถ ประกอบกับการออกแบบนิทรรศการให้จุดประกายความอยากรู้ และดึงดูดผู้ชมให้มีส่วนร่วมกับเนื้อหาให้มากที่สุด

          ในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงไม่น้อยให้กับแหล่งเรียนรู้ประเภทพิพิธภัณฑ์ ไม่เพียงแต่มอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่ยังช่วยกระชับรอยต่อระหว่างเรื่องราวในอดีตหรือประเด็นที่ดูเหมือนไกลตัว ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสอย่างลึกซึ้ง จนเกิดแรงบันดาลใจทางอารมณ์และสร้างความทรงจำอย่างไม่มีวันลืมดังเช่นแนวทางในการออกแบบของ ‘Local Projects’ ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก

พลังเรื่องเล่า อารมณ์ และความทรงจำ

          Local Projects เป็นสตูดิโอออกแบบประสบการณ์ที่ทำงานให้กับสถาบันทางวัฒนธรรมต่างๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2002 โดย จาค็อบ บาร์ตัน (Jacob Barton) นักออกแบบชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่องด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างลงตัว

          เขากล่าวถึงแนวคิดในการทำงานไว้ว่า “เราไม่ได้มีสไตล์การออกแบบที่เป็นแบบฉบับของเราเอง แต่งานที่ออกมาคือการพัฒนากรอบคิดเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของลูกค้าที่เฉพาะเพาะจงในแต่ละแห่ง นั่นคือนิยามของความเป็น ‘local’ เราเริ่มต้นทุกโครงการด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญสำหรับลูกค้า แม้จะต้องทุ่มเทพลังอย่างมากเพื่อการทำความเข้าใจเชิงลึก แต่เรารู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องรับฟังและไตร่ตรอง ก่อนจรดปากกาลงบนกระดาษ สิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อผลลัพธ์ความสำเร็จที่มีความหมายต่อลูกค้า”

          Local Projects ทำงานเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับสถาปนิกที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย เช่น แฟรงก์ เกห์รี (Frank Gehry) ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงแหกคอกเป็นเอกลักษณ์, ดิลเลอร์สโคฟิดิโอ+เรนโฟร (Diller Scofidio+Renfro) สตูดิโอออกแบบสหวิทยาการอเมริกันที่ผสานรวมเอาสถาปัตยกรรม ทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง เข้าไว้ด้วยกัน และบีอาร์ก อินเกิลส์ (Bjarke Ingels) สถาปนิกหนุ่มชาวเดนมาร์กที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืน

          บาร์ตัน เผยเคล็ดลับในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ให้ประสบความสำเร็จไว้ว่า “เราคิดว่าวิธีที่ได้ผลมากที่สุด คือการออกแบบพื้นที่ให้ดึงดูดอารมณ์และให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้โดยการลงมือทำ แม้ต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์หรือข้อจำกัดของพื้นที่ไปบ้าง สิ่งที่ผู้เข้าชมต้องการมากที่สุดคือการได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่สำคัญ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการทำให้เรื่องราวเหล่านั้นยังคงตราตรึง เป็นความทรงจำที่มีพลัง ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของพวกเขา”

          การออกแบบที่มีความละเมียดละไมและไฮเทคของ Local Projects ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่พื้นที่ที่ตายแล้วหรือถูกลืมเลือนไปในยุคดิจิทัล แต่กลับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปเยี่ยมชม โดยกวาดรางวัลการออกแบบทั้งระดับชาติและนานาชาติกว่า 100 รางวัล ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัล Innovation by Design 2021 ประเภท รางวัล Design Company of the Year & Best Design North America

          ตัวอย่างผลงานการออกแบบที่โดดเด่นของ Local Projects ได้แก่

อนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ 9/11 (National September 11 Memorial & Museum), เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

          อนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ 9/11 ถูกสร้างขึ้นบริเวณ ‘Ground Zero’ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและสดุดีความกล้าหาญของผู้ที่เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น จากเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2011

          ซุ้มภาพภายในอาคารบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนาทีต่อนาที มีการรวบรวมเสียงคำให้การของผู้คน 417 คนจากทั่วโลกว่าพวกเขาอยู่ที่ไหนและรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับรู้ข่าววินาศกรรม คำพูดเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความสะเทือนใจของผู้คนนับพันล้านคน นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอวิดีโอการให้สัมภาษณ์ของบุคคลระดับชาติ ซึ่งต้องตอบคำถามยากๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ช็อกโลกที่เกิดขึ้น โดยพิพิธภัณฑ์ได้เปิดให้ผู้เข้าชมนิทรรศการลองตอบคำถามดังกล่าวด้วย

          รายชื่อผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ถูกจารึกไว้ มีการวิจัยเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียชีวิตเหล่านั้น แล้วนำข้อค้นพบที่ได้มาออกแบบและจัดเรียงโดย Jer Thorp ศิลปินชาวแคนาดา โดยใช้อัลกอริทึมแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของพวกเขาอย่างมีความหมายบนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ผู้ที่มาร่วมงานสังสรรค์งานเดียวกัน เป็นต้น

          คานเสาชิ้นสุดท้ายของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ถูกนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของผู้ที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายซากปรักหักพัง ในฐานะสัญลักษณ์แห่งความหวังและการอุทิศตนเพื่อผู้อื่น ใกล้กันมีสมุดดิจิทัลให้ผู้เยี่ยมชมเขียนข้อความความทรงจำและความหวัง แล้วฉายลงบนพื้น ข้อความทั้งหมดจะถูกจัดเก็บไว้ในคลังดิจิทัลของพิพิธภัณฑ์อย่างถาวร

          นิทรรศการของอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ 9/11 เป็นผลงานการออกแบบที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Local Projects โดยถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่น่าเข้าชมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และมีผู้เข้าชมจำนวนหลายล้านคน

คลิปวิดีโอตัวอย่างนิทรรศการการจัดแสดงภายใน อนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์ 9/11(National September 11 Memorial & Museum) โดย Local Projects

พิพิธภัณฑ์ค่ายทหารไฮด์ปาร์ค (Hyde Park Barracks Museum), เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย

          ค่ายทหารไฮด์ปาร์ค ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการบริหารระบบขนส่งทางทหารและสถานที่กักขังนักโทษของสหราชอาณาจักร สถานที่แห่งนี้ยังมีความหมายในฐานะประจักษ์พยานของการล่าอาณานิคม และการสร้างบ้านแปงเมืองโดยนักโทษและผู้อพยพ ซึ่งยังคงส่งผลกระทบทางความรู้สึกต่อชาวอะบอริจินในปัจจุบัน

          ผู้มาเยี่ยมชมจะได้ทำความรู้จักกับนักโทษวัยหนุ่ม ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวกระบวนการพิจารณาคดีของเขา การตัดสินลงโทษในศาลอังกฤษ และการถูกส่งตัวมายังออสเตรเลีย มีห้องจำลองบรรยากาศเรือบรรทุกนักโทษเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกถึงการพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนไปตลอดกาล มีการฉายภาพพาโนรามาจำลองเมืองซิดนีย์ในปี 1815 บริเวณที่นักโทษถูกนำขึ้นฝั่ง การทำงานและพักผ่อนของนักโทษ การปรากฏตัวของชาวอะบอริจิน และฉากอื่นๆ ทั่วเมือง

          นอกจากนี้ยังมีตู้จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ของนักโทษ แบบอินเทอร์แอคทีฟ เช่น ให้ผู้เยี่ยมชมเลือกฉายภาพรอยสักต่างๆ ของนักโทษไว้บนร่างกายของตนเอง นิทรรศการพยายามเน้นย้ำถึงการล่าอาณานิคมและความรุนแรงที่กระทำต่อชาวอะบอริจิน โดยฉายภาพบนจอทรงกลมที่อยู่รายล้อมเสาทั้ง 9 ต้น ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของเมืองซิดนีย์ในปัจจุบันที่มีความทันสมัย ผ่านการนำเสนอภาพสีสันสดใส ราวกับจงใจปิดบังความทรงจำอันแสนขมขื่นในอดีต

คลิปวิดีโอตัวอย่างนิทรรศการการจัดแสดงภายใน พิพิธภัณฑ์ค่ายทหารไฮด์ปาร์ค (Hyde Park Barracks Museum) โดย Local Projects

พิพิธภัณฑ์วิหารมิทรัส (London Mithraeum), เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ

          วิหารมิทรัส เป็นสถานที่บูชาเทพเจ้าที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อเกือบสองพันปีก่อน ถูกค้นพบโดยบังเอิญขณะกำลังก่อสร้างอาคารใหม่บนพื้นที่ในปี 1954  ในชั้นดินลึกลงไป 7 เมตร มีศิลปวัตถุกว่า 600 ชิ้นที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของยุคโรมัน รวมทั้งหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่มีการเรียกชื่อดินแดนบริเวณนี้ว่า ‘Londinium’ ซึ่งตรงกับชื่อเมืองลอนดอน โบราณสถานทั้งหมดถูกขุดย้ายแล้วถูกประกอบสร้างใหม่ในพื้นที่ห่างออกไปราว 100 เมตร เพื่อหลีกทางให้กับการก่อสร้างอาคาร

          ในปี 2010 บริษัททางการเงินบลูมเบิร์กซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ มีแนวคิดในการฟื้นฟูวิหารมิทรัสขึ้นมาใหม่ โดยจัดทำนิทรรศการไว้ในชั้นใต้ดินของอาคาร Bloomberg SPACE ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท

          ผู้เยี่ยมชมสามารถหยิบจับวัตถุจัดแสดงที่จำลองขึ้นจากเรซิน พร้อมศึกษาเนื้อหาแบบอินเทอร์แอคทีฟจากตู้ดิจิทัล บรรยากาศในห้องชวนให้รู้สึกถึงความความลึกลับ ด้วยเงาประหลาดของใครบางคนที่ปรากฏบนผนังสีขาวรายรอบห้อง เรื่องราวยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อผู้เยี่ยมชมเดินผ่านซากปรักหักพังและดำดิ่งลงไปในโครงสร้างที่ลึกขึ้น ในห้องที่มืดมิด มีการฉายภาพโฮโลแกรมบนผนังที่สร้างจากหมอกควัน เคล้าเสียงดนตรี เสียงน้ำไหล และเสียงสวดมนต์ของลัทธิบูชาเทพเจ้า ซึ่งยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้

คลิปวิดีโอตัวอย่างนิทรรศการการจัดแสดงภายใน พิพิธภัณฑ์วิหารมิทรัส (London Mithraeum) โดย Local Projects

พิพิธภัณฑ์แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน (Fashion for Good), เมืองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์

          พิพิธภัณฑ์ด้านนวัตกรรมแฟชั่นเพื่อความยั่นยืนแห่งแรกของโลก นำเสนอความสำคัญของอุตสาหกรรมแบบหมุนเวียน การใช้วัสดุชีวภาพในงานออกแบบเครื่องแต่งกาย และการมองหาทางเลือกในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน

          เมื่อก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ผู้เยี่ยมชมจะได้พบกับทางเดินกระจก ที่สะท้อนข้อเท็จจริงของอุตสาหกรรมสิ่งทอในปัจจุบันและสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต จากนั้นจะได้รับสายรัดข้อมือ RFID เพื่อเข้าถึงและสร้างปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาต่างๆ ของนิทรรศการ เช่น ทดลองออกแบบเสื้อยืดด้วยวัสดุและการออกแบบที่ยั่งยืนด้วยตัวเอง ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกได้ว่าจะเซฟไฟล์ดิจิทัลกลับบ้าน หรือจะสั่งผลิตเสื้อยืดตัวเดียวในโลกเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก ในราคา 20 ยูโร

          นิทรรศการนำเสนอประวัติศาสตร์ของสิ่งทอ กระบวนการผลิตเสื้อผ้า ซึ่งกว่าจะถึงมือผู้บริโภคต้องผ่านมือผู้ผลิตกว่า 100 คน มีการจัดแสดงแบรนด์แฟชั่นที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนหมุนเวียนกันไป พร้อมกับเรื่องราวของนักนวัตกรรมทั่วโลกกว่า 50 คน ที่มีส่วนในการมองหาทางออกใหม่ๆ ให้กับวงการสิ่งทอ

คลิปวิดีโอตัวอย่างนิทรรศการการจัดแสดงภายใน พิพิธภัณฑ์แฟชั่นเพื่อความยั่งยืน (Fashion for Good) โดย Local Projects

พิพิธภัณฑ์ ‘โลกแห่งถ้อยคำ’ (Planet Word Museum), เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา 

          Planet Word ตั้งอยู่ในอาคารเก่าแก่ของโรงเรียนแฟรงคลินใกล้ทำเนียบขาว พิพิธภัณฑ์มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้คนทุกวัยเกิดความรักในภาษาและการอ่าน โดยการทำความเข้าใจศิลปะการใช้ภาษาและวิทยาศาสตร์อย่างถ่องแท้ ด้วยความสนุกและมีส่วนร่วม ชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่า “ถ้อยคำมาจากไหน”

          มีการรวบรวมถ้อยคำของนักปราชญ์ นักวิชาการ แร็ปเปอร์ จากทั่วโลก และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจ เช่น ความกังวลของเพลโตที่ว่า การเปลี่ยนวิธีบันทึกประวัติศาสตร์จากมุขปาฐะไปเป็นการจดบันทึก จะทำให้สติปัญญาของมนุษย์ด้อยลง กวีและบทเพลงในยุค 70 ที่ช่วยให้ผู้คนกล้าลุกขึ้นมาพูดความจริงที่ท้าทายอำนาจ ไปจนถึงข่าวปลอมในยุคดิจิทัล

          ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลกที่สามารถสั่งงานด้วยเสียง และสร้างประสบการณ์การใช้ภาษาที่สมจริงด้วยเทคโนโลยีอิมเมอร์ซีฟ เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในอาคาร ผู้เยี่ยมชมจะได้ทักทายกับต้นหลิวพูดได้ ที่คอยส่งเสียงพึมพำถ้อยคำภาษาโบราณ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมลูกโลกที่พูดได้ 22 ภาษา แปรงอิเล็กทรอนิกส์สำหรับระบายลงบนถ้อยคำเพื่อให้ปรากฏเป็นภาพศิลปะ ห้องสมุดมหัศจรรย์ที่หนังสือสามารถโลดแล่นราวมีชีวิต พื้นที่ทดสอบทักษะการพูดในที่สาธารณะ และห้องร้องเพลงคาราโอเกะ เป็นต้น

คลิปวิดีโอตัวอย่างนิทรรศการการจัดแสดงภายใน พิพิธภัณฑ์ ‘โลกแห่งถ้อยคำ’ (Planet Word Museum) โดย Local Projects


ที่มา

เว็บไซต์ Local Projects [online]

เว็บไซต์ Planet Word Museum [online]

เว็บไซต์ Wikipedia [online]

เว็บไซต์ National September 11 Memorial & Museum [online]

เว็บไซต์ Hyde Park Barracks Museum [online]

เว็บไซต์ London Mithraeum [online]

เว็บไซต์ Fashion for Good [online]

How Local Projects Creates The Museums Of The Future: 10 Unforgettable Global Experiences [online]

Jake Barton of Local Projects on designing experiences through storytelling [online]

Cover Photo : DuHon / Planet Word

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก