โครงงานอย่างง่ายกับการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

7,303 views
5 mins
October 27, 2022

          ความท้าทายของการสอนประวัติศาสตร์ คือ ความไม่ชอบวิชาประวัติศาสตร์ของนักเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากวิธีการสอนของครู โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูจำนวนน้อย ครูหลายท่านไม่ได้สอนวิชาเอกของตัวเอง ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งต่อครูผู้สอนและตัวนักเรียน ไม่เฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ แต่รวมถึงวิชาอื่นที่มีจำนวนหน่วยกิตน้อย เช่น วิทยาการคำนวณ ศิลปะ การงานอาชีพ ดนตรี นาฏศิลป์ หน้าที่พลเมือง เป็นต้น ครูแต่ละท่านมีความถนัดในวิชาเอกที่ไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าการสอนวิชาอื่นครูสามารถทำได้ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ลึกซึ้งเท่ากับการได้เรียนกับครูผู้สอนที่สอนตรงวิชาเอกนั้นจริงๆ ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยที่ไร้การแก้ไข เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างช้านาน

          คาบเรียนแรกของวิชาประวัติศาสตร์กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง การแนะนำรายวิชาและเนื้อหาที่จะเรียนได้สร้างความสงสัยให้กับนักเรียนอย่างน้อยหนึ่งคน เด็กชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยกมือขึ้นพร้อมถามด้วยคำถามที่น่าประทับใจว่า

           “ครูครับ เราเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไม ในเมื่อมันเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ทำไมเราไม่เรียนวิชาปัจจุบัน หรือวิชาอนาคต”

          เพียงคำถามแค่คำถามเดียวนี้เองที่ทำให้อึ้งไปกับกระบวนการคิดอันลึกซึ้งของนักเรียน นั่นนะสิ เราเรียนประวัติศาสตร์ไปทำไมกัน หากการศึกษาไม่ใช่การพัฒนากระบวนการคิด เป็นที่แน่นอนว่าสิ่งนั้นไม่อาจเรียกว่าการศึกษาได้อีกต่อไป หัวใจของการเรียนประวัติศาสตร์จึงผุดขึ้นมาผ่านการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยจะต้องใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ ผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยใช้โครงงานเป็นฐาน

          เมื่อได้แนวทางการสอนแล้ว จึงดำเนินการวางแผนการจัดการเรียนรู้ กำหนดระยะเวลา จัดหาสื่อและวัสดุอุปกรณ์ แต่เนื่องจากไม่ใช่คนในพื้นที่ จึงเริ่มด้วยการสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่สามารถนำมาประกอบการสอนผ่านโครงงานเป็นฐานได้ สอบถามผู้นำชุมชน พระภิกษุสงฆ์ ผู้รู้ในชุมชน เพื่อเตรียมการสำหรับการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยสามารถอธิบายได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. การกระตุ้นความสนใจ

          เป็นการกระตุ้นนักเรียนให้เกิดความสนใจในประเด็นทางประวัติศาสตร์ หรือเนื้อหาที่จะเรียน โดยเริ่มจากการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะนักเรียนไม่ค่อยรู้สึกร่วมกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ครั้นจะเริ่มด้วยปัญหาหรือเรื่องราวที่นักเรียนสนใจก็ดูจะเป็นเรื่องยาก จึงเริ่มด้วยการใช้ภาพข่าวและการตั้งคำถาม

          เนื่องจากหลายปีก่อนในหมู่บ้านพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ จึงให้นักเรียนที่พอทราบเหตุการณ์เล่าให้ฟัง เมื่อเพื่อนหนึ่งคนเริ่มเล่า ก็เกิดการถกเถียง เล่าเสริม เติมแต่งเหตุการณ์ เกิดผู้รู้ ผู้เห็นเหตุการณ์จริง กระทั่งเกิดความสนใจที่มากพอจึงโยงเข้าสู่การศึกษาความเป็นท้องถิ่น

2. การกำหนดปัญหา

          เป็นการเลือกกำหนดปัญหาที่จะศึกษา โดยปัญหานั้นจะต้องเกิดจากตัวนักเรียนเองผ่านการกระตุ้นความสนใจโดยครูผู้สอน แต่เอาเข้าจริงครูก็ต้องตะล่อมเยอะเหมือนกันกว่าจะได้เป็นปัญหาที่สงสัยร่วมกัน นั่นแสดงให้เห็นว่านักเรียนยังขาดการตั้งคำถามซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ และเมื่อได้ปัญหาจากการตะล่อมของครูแล้ว จึงนำมาซึ่งชื่อโครงงานการจัดกิจกรรมประกอบการเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง “ประวัติ ความเป็นมาของบ้านธาตุ  ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ”  ซึ่งนักเรียนทั้งระดับชั้น จำนวน 19 คนร่วมกันจัดทำ

3. การวางแผน

          นักเรียนแบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติงานตามความถนัดและสนใจ จากนั้นร่วมกันเขียนโครงร่างของโครงงาน โดยครูใช้การสนทนาประกอบการแสดงขั้นตอนของโครงงาน แต่เนื่องจากการทำโครงงานเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักเรียน จึงกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับครูเช่นกัน ครูต้องร่วมดำเนินการในทุกขั้นตอน กระตุ้นอย่างหนักหน่วงในทุกหน้าที่  โดยเฉพาะในเรื่องของวัตถุประสงค์ หลักการและเหตุผล วิธีการดำเนินงาน และการติดตามประเมินผล ซึ่งโครงงานการจัดกิจกรรมประกอบการเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง “ประวัติ ความเป็นมาของบ้านธาตุ  ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ”  มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

          1) เพื่อศึกษาประวัติ ความเป็นมาของบ้านธาตุ ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

          2) เพื่อศึกษาที่มาของชื่อบ้านธาตุ ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

          3) เพื่อศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับพระธาตุ ในวัดธาตุวนาราม

โครงงานอย่างง่ายกับการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
Photo: พิพัฒน์ คุณวงค์

4. การลงมือปฏิบัติ

          เมื่อได้โครงร่างโครงงานแล้ว จึงดำเนินการจัดทำแบบสัมภาษณ์ โดยอาศัยวัตถุประสงค์ของโครงงานมาเป็นข้อคำถาม จากนั้นให้นักเรียนแต่ละคนนำแบบสัมภาษณ์ไปใช้กับบุคคลในครอบครัวหรือชุมชน ซึ่งนักเรียน 1 คน สัมภาษณ์บุคคลในชุมชนอย่างน้อย 2 คน

          จากนั้นครูดำเนินการประสานไปยังวัด และติดต่อวิทยากรผู้รู้ในเรื่องที่จะศึกษา โดยเข้าไปติดต่อขอใช้ศาลาวัดเป็นห้องเรียนชั่วคราว ใช้การสอบถามพระภิกษุในวัดเพื่อหาวิทยากรหรือปราชญ์ผู้รู้ในเรื่องที่จะศึกษา ทำหนังสือขอใช้สถานที่ และหนังสือเชิญวิทยากร พร้อมทั้งนัดวันเวลา  โดยในการดำเนินการต้องพาตัวแทนนักเรียนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้งานและรู้สึกมีส่วนร่วม แม้ว่าในบางครั้งจะยุ่งยากไปบ้างก็ตาม

          ในวันที่ลงพื้นที่ปฏิบัติกิจกรรม ครูใช้การเสริมแรงและสนับสนุนให้นักเรียนรู้จักการตั้งคำถาม สืบเสาะหาข้อมูลจากวิทยากร แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการนำข้อมูลมา วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดหมวดหมู่ และเชื่อมโยงข้อมูลในด้านต่างๆ   และจากการสัมภาษณ์วิทยากรพบว่า มีการใช้ความคิดเห็นส่วนตัวของวิทยากร มีการพูดนอกประเด็นที่ศึกษาในหลายครั้ง แต่ครูจะไม่เข้าไปอธิบายเพิ่มเติม ดึงเข้าประเด็นที่ศึกษา หรือร่วมถามคำถามในประเด็นที่สงสัย เพราะเป็นการให้นักเรียนได้เรียนรู้และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน สิ่งที่เห็นแล้วรู้สึกประทับใจคือ นักเรียนหลายคนเลือกที่จะไม่เชื่อข้อมูลจากวิทยากรทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าบางเรื่องเกินจริง ไม่สมเหตุสมผล และอยู่นอกประเด็นที่ศึกษา

โครงงานอย่างง่ายกับการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
Photo: พิพัฒน์ คุณวงค์
โครงงานอย่างง่ายกับการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
Photo: พิพัฒน์ คุณวงค์

5. การสรุปและนำเสนอ

          เมื่อได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์วิทยากร บุคคลในท้องถิ่น และลงพื้นที่แล้ว นำข้อมูลที่ได้มาหาจุดร่วม (ประเด็นที่สอดคล้องกัน) แล้วร่วมสรุปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้พร้อมทั้งจัดทำรูปเล่ม ซึ่งการสรุปนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับข้อมูลที่หลากหลาย  การจัดหมวดหมู่ของข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากสำหรับการสรุปข้อมูล จากนั้นร่วมกันจัดทำรูปเล่มโดยครูเข้าไปมีส่วนร่วมเช่นเคย แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด และความจำเป็นด้านระยะเวลาเรียนที่มีน้อยจึงไม่ได้ให้นักเรียนสร้างผังโครงงาน และนำเสนอต่อชุมชน แต่ยังคงไว้ซึ่งกระบวนการตามขั้นตอนการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน

          สำหรับจุดอ่อนในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยใช้โครงงานเป็นฐานในครั้งนี้ มีให้เห็นอยู่หลายประการ คือ

          ประเด็นที่ 1 การแบ่งกลุ่ม ซึ่งสมาชิกในกลุ่มมีจำนวนมากเกินไป ทั้งนี้เนื่องมาจากเป็นการทำโครงงานครั้งแรกจึงใช้การทำโครงงานร่วมกันทั้งชั้นเรียน ซึ่งจะปรับปรุงการแบ่งกลุ่มในครั้งต่อไป

          ประเด็นที่ 2 คือ การใช้หลักฐานที่ยังไม่มีความหลากหลาย และน่าเชื่อถือมากพอ เพราะเป็นเพียงการใช้หลักฐานจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน และวิทยากรเพียงเท่านั้น

          ประเด็นที่ 3 คือ การสร้างผังโครงงาน และการนำเสนอสู่สาธารณะที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

          และประเด็นสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ คือ การสะท้อนผลกิจกรรม ควรให้นักเรียนได้สะท้อนผลถึงสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ สิ่งที่ประทับใจ และสิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรค เพื่อจะได้ทราบว่าการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ในครั้งนี้สร้างความพึงพอใจ ความรู้ และทักษะต่างๆ ให้กับนักเรียนมากเพียงใด  ซึ่งจุดอ่อนข้างต้นจะดำเนินการแก้ไขในครั้งต่อไป

          จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้น ทำให้นักเรียนได้ทราบ และเข้าใจในประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น และคงเป็นเสี้ยวหนึ่งของการสร้างสำนึกรักท้องถิ่นให้กับนักเรียนผ่านการลงมือปฏิบัติ ได้ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ จากการกำหนดหัวเรื่องที่จะศึกษา การรวบรวมหลักฐาน การประเมินคุณค่าของหลักฐาน การวิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดหมวดหมู่ข้อมูล การเรียบเรียงและนำเสนอ ซึ่งช่วยพัฒนากระบวนการคิดให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี

          นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการใช้สมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ ผ่านการลงพื้นที่และลงมือปฏิบัติ ซึ่งการศึกษาโดยใช้โครงงานเป็นฐานนั้นสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน สอดรับกับแนวทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นการศึกษาที่เตรียมความพร้อมสำหรับประชากรในอนาคต

โครงงานอย่างง่ายกับการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
Photo: พิพัฒน์ คุณวงค์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก