ห้องสมุดควรถูกออกแบบให้มีหน้าตาอย่างไร หากกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กๆ
คำตอบของห้องสมุดเด็กลิซ-มอห์น (Liz-Mohn-Children’s Library) ห้องสมุดเด็กแห่งใหม่ล่าสุดของเมืองกือเทอร์สโล (Gütersloh) ประเทศเยอรมนี คือพื้นที่ห้องสมุดจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงออกและเรียนรู้ ด้วยการออกแบบที่น่าดึงดูดใจ เพื่อนำเสนอทั้งสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยและคาดไม่ถึง
ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านประวัติศาสตร์ของเมือง เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดเมืองกือเทอร์สโล ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1984 ด้วยเงินบริจาคของนักธุรกิจเจ้าของสำนักพิมพ์ จนเกิดห้องสมุดซึ่งเป็นที่ร่ำลือทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติว่าเป็นสถาปัตยกรรมห้องสมุดแบบโมเดิร์นแห่งแรกๆ ในยุโรป
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ห้องสมุดเมืองกือเทอร์สโลมีการบูรณะปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนรู้ของผู้คน ล่าสุดเมื่อปี 2021 มีการปรับปรุงพื้นที่ชั้นใต้ดินให้กลายเป็น ‘ห้องสมุดสำหรับเด็กลิซ-มอห์น’ (Liz-Mohn-Children’s Library)
บริษัท Aat Vos ซึ่งรับหน้าที่ในการออกแบบและตกแต่งภายใน ได้นำทฤษฎีการเรียนรู้แบบพหุปัญญา (Multiple Intelligence) มาเป็นแนวคิดหลัก บนพื้นฐานความเชื่อว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลากหลายด้าน เด็กทุกคนสามารถพัฒนาปัญญาแต่ละด้านให้สูงขึ้นได้ ถ้ามีการฝึกฝนที่ดี มีการให้กำลังใจที่เหมาะสม ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
การปรับปรุงห้องสมุดใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เจาะลึกความเข้าใจผู้ใช้บริการ เพื่อให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่เด็กอายุ 0-12 ปี ได้เล่นและเคลื่อนไหวอย่างมีความสุข
บริเวณชั้นใต้ดิน มีลักษณะเปิดโล่งและเชื่อมต่อกับพื้นที่ชั้น 1 เด็กๆ สามารถมองเห็นแกลเลอรีและความเคลื่อนไหวของผู้คน โดยไม่รู้สึกถูกแยกขาดจากกัน เส้นทางภายในห้องสมุดเด็กได้รับการออกแบบให้เหมือนกับการเดินทางสำรวจดินแดนมหัศจรรย์ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบทละครคลาสสิกของกุสตาฟ เฟรย์แท็ก (Gustav Freytag) นักประพันธ์ชาวเยอรมัน ชั้นหนังสือดูลึกลับราวกับป่าในเทพนิยาย ระหว่างผนังและชั้นหนังสือถูกเว้นให้มีช่องว่างเพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าไปเล่นซ่อนตัว
ห้องสมุดมีบรรยากาศที่อบอุ่น ผ่อนคลาย และมีสีสันสดใส ใจกลางห้องสมุดมีที่นั่งแบบอัฒจันทร์ และ ‘สระหนังสือ’ ขนาดใหญ่ บุด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมอ่านนิทาน มีพื้นที่สำหรับเล่นเกมและทำการบ้าน เหนือขึ้นไปบนเพดานมีรังนกขนาดใหญ่ทำจากหวาย เป็นที่อ่านหนังสือที่เด็กๆ ได้ปลดปล่อยจินตนาการอย่างเพลิดเพลิน นอกจากนี้ รายรอบห้องสมุดยังมีช่องเล็กช่องน้อยรูปทรงต่างๆ ที่เหมาะสำหรับการคุดคู้อ่านหนังสืออย่างเป็นส่วนตัวด้วย
ที่มา
บทความ “NEW CHILDREN’S LIBRARY FOR GÜTERSLOH: DISCOVER A WONDERLAND THAT GOES ON BEHIND THE BOOKS” จาก includi.com (Online)