ห้องสมุดยังมีชีวิต พิพิธภัณฑ์ยังไม่ตาย? : ความท้าทายของแหล่งเรียนรู้ยุคโควิด-19

2,537 views
10 mins
December 29, 2021

          หลายปีที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่าพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนยุคใหม่ กำลังเคลื่อนไปสู่แนวทางการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended learning) มากขึ้น คือการเรียนรู้แบบต่อหน้าในสถานที่จริง ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์และสื่อสารสนเทศสมัยใหม่ เป็นเหตุให้พื้นที่หรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวตามให้ทัน

          ในต่างประเทศ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นมาสักระยะแล้ว ทั้งการปรับตัวของห้องสมุดที่มุ่งสู่การเป็นพื้นที่สาธารณะ เอื้อให้ผู้คนได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์และใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น พร้อมให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้คน เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการนำเสนอเนื้อหาและสร้างประสบการณ์แปลกใหม่แก่ผู้เข้าชม

          ที่เห็นได้ชัดอีกอย่าง คือการเกิดขึ้นของ ‘ห้องเรียน’ รูปแบบใหม่ๆ ที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องนั่งเรียนอยู่แต่ในห้องอีกต่อไป การเติบโตขึ้นของ EdTech Startup และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่างๆ คือสิ่งที่ช่วยยืนยันแนวโน้มดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

          ทั้งนี้ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จุดแข็งของแหล่งเรียนรู้แบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์กันแบบซึ่งหน้า กลับกลายเป็นความท้าทายใหม่ที่ต้องเร่งแก้ปัญหา สถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้หลายแห่งต้องปิดทำการถาวร ทว่าหลายแห่งก็สามารถปรับตัวและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ท่ามกลางวิกฤติ

          หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือการนำแนวคิด ‘โรงเรียนในพิพิธภัณฑ์’ มาปรับใช้ เพื่อแก้ปัญหาการจัดหาพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ สามารถศึกษาต่อได้ตามปกติในช่วงโควิด-19

          ย้อนไปในเดือนสิงหาคม 2019 พิพิธภัณฑ์เด็กหลุยเซียน่า สหรัฐอเมริกา ได้เปิดทำการอาคารใหม่ขนาดกว่า 34,000 ตารางเมตร กลางสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ทว่าในเดือนมีนาคม 2020 พิพิธภัณฑ์ต้องปิดทำการชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ซีอีโอและเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ จึงได้ศึกษาแนวทางการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น กระทั่งไปพบบทความหนึ่งใน New York Times ที่นำเสนอวิธีที่โรงเรียนย้ายชั้นเรียนมาอยู่กลางแจ้ง เพื่อรับมือกับการระบาดของวัณโรคเมื่อ 100 ปีก่อน จุดประกายให้พวกเขานึกถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่อาจตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนำพิพิธภัณฑ์มาทดลองใช้เป็นพื้นที่รองรับนักเรียนหลังเลิกเรียน พื้นที่เพื่อการสอนแบบกลุ่ม ศูนย์การเรียนรู้ปฐมวัย ศูนย์กวดวิชา จนนำมาสู่แนวคิดการเชิญโรงเรียนต่างๆ ให้มาใช้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับการเรียนรู้เต็มเวลา

          หันกลับมามองประเทศไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายภาคส่วน ในการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้เท่าทันยุคสมัย แม้ในภาพรวมอาจยังไม่ครอบคลุมและเป็นเอกภาพดังที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่หลากหลายเคสที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นสัญญาณที่ดีว่าอย่างน้อยๆ แนวโน้มการพัฒนาพื้นที่หรือแหล่งเรียนรู้ (Learning space) ในประเทศไทย อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ในอนาคต

          เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น The KOMMON ได้รวบรวมความเคลื่อนไหวและปรากฏการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ พร้อมมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่เรามีโอกาสพบปะพูดคุยในรอบปีที่ผ่านมา

ห้องสมุดไทยยังมีชีวิต?

          ในขณะที่ห้องสมุดทั่วโลก ทยอยกันปรับตัวตามกระแสการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยการเป็นพื้นที่ที่ตอบสนองการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น มีสื่อสารสนเทศและบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดอยู่แค่หนังสือ มีการออกแบบพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เป็นมิตรกับชุมชนมากขึ้น หลายแห่งประสบความสำเร็จจนสามารถพลิกบทบาทจากแหล่งเรียนรู้ยุคเก่าที่กำลังจะตาย ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย คำถามที่น่าสนใจคือห้องสมุดในประเทศไทย ปรับตัวตามกระแสดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหน

          ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าคิดว่า ห้องสมุดจะไม่ตาย ต่อเมื่อมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งหากมองในแง่นี้ ภาพรวมของห้องสมุดในประเทศไทย อาจใกล้เคียงกับความตายมากกว่าความอยู่รอด

          อย่างไรก็ดี ดร.ชาตรี ชี้ว่า ภาวะดังกล่าวไม่ได้แปลว่าห้องสมุดไทยไม่ปรับตัว ปัญหาคือการปรับตัวส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในห้องสมุดภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ มักเป็นการพัฒนาในเชิงกายภาพมากกว่า ขณะที่แก่นของห้องสมุดแบบดั้งเดิม ยังไม่เปลี่ยนแปลงเท่าทันโลกเท่าใดนัก

          “ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดแบบไหน ถ้ายังอยู่ในหมวดของห้องสมุดรัฐไทย ตัวโครงสร้างการบริหารจัดการ รวมถึงการบริการ ยังมีรากของระบบราชการฝังอยู่ไม่มากก็น้อย ถามว่ารากของระบบราชการคืออะไร ก็คือการที่เขาไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนที่ให้บริการ (service) ประชาชน แต่จะมองว่าประชาชนคือผู้ที่จะต้องเข้ามาขอร้อง ขอใช้บริการ ขอความช่วยเหลือ ทัศนะแบบนี้จะอยู่ตรงข้ามกับการมี service mind อย่างแน่นอน”

          “ดังนั้นเมื่อเราเข้าไปในห้องสมุดประเภทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต เราจะรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้เลย จะกลัวว่าเดี๋ยวทำอะไรผิดหรือเปล่า เวลาถามอะไรก็มักจะโดนเจ้าหน้าที่บ่นหรือแสดงอาการไม่พอใจ นี่คือรากของปัญหาที่ใหญ่ที่สุด สิ่งเหล่านี้อาจดำรงอยู่ได้ในศตวรรษที่ 20 แต่ในศตวรรษที่ 21 มันไม่ได้แล้ว เพราะการเรียนรู้มันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ห้องสมุดในรูปแบบเดิมๆ จึงมีปัญหา เกิดช่องว่างมากขึ้น และยิ่งถอยห่างจากประชาชนไปเรื่อยๆ”

          อย่างไรก็ดี นับแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เรื่อยมา แนวโน้มหนึ่งที่เกิดขึ้น คือผู้คนหันมาใช้บริการห้องสมุดออนไลน์ หรือห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับที่ห้องสมุดสาธารณะหลายแห่ง เปิดให้บริการ e-library อาทิ

          – หอสมุดแห่งชาติ มีห้องสมุดดิจิทัล หรือ D-Library ที่รวบรวมองค์ความรู้รวมกว่า 17,000 เรื่อง ทั้งหนังสือออนไลน์ เอกสารโบราณ สิ่งพิมพ์หายาก องค์ความรู้และสิ่งพิมพ์หอสมุดแห่งชาติ ฯลฯ และ NLT Smart Library ที่ประกอบด้วย Single search ทรัพยากรสารสนเทศของหอสมุดแห่งชาติ, หนังสือพิมพ์ วารสาร นิตยสารออนไลน์ รวมถึง e-book จากสำนักพิมพ์ต่างๆ

          – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 
ให้บริการห้องสมุดออนไลน์ ประกอบด้วย งานวิจัยฉบับสมบูรณ์ E-Library ที่รวบรวมงานวิจัยในรูปแบบดิจิทัล  Research Café แพลตฟอร์มสำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิจัยจาก สกสว.

          – ห้องสมุดออนไลน์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีข้อมูลจากงานวิจัยที่ได้รับทุน ของ สกว. โดยแบ่งหมวดหมู่ 18 หมวด อาทิ ประชาคมอาเซียน, อาหาร, สิ่งแวดล้อม, ความเหลื่อมล้ำ, ปฏิรูปการศึกษา, ธรรมภิบาล เป็นต้น

          – ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้บริการสารสนเทศออนไลน์หลากหลายหมวดหมู่ โดยเน้นไปที่เรื่องเกี่ยวกับการเงิน การลงทุน และบริบทที่เกี่ยวข้อง ทั้งไทยและต่างประเทศ

          – TK Public Online Library โดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ให้บริการครอบคลุมทั้งหนังสือ นิตยสาร และสื่อการเรียนรู้ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ

          นอกจากที่ยกตัวอย่างมา ยังมีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายแห่งที่เป็นของสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงภาคเอกชน แต่ส่วนใหญ่มักจะมีข้อจำกัดในด้านการเข้าถึง สงวนไว้เฉพาะสมาชิกที่สังกัดองค์กรนั้นๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป และเมื่อพิจารณาจากการทดลองใช้งานจริง จะพบว่าระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐหลายแห่ง ยังมีปัญหาในแง่ระบบการใช้งานที่ซับซ้อนและยากต่อการสืบค้น

          ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะช่วยให้คนเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีประเด็นที่ต้องระมัดระวังในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน ดังกรณีที่นักเขียนนามปากกา ‘จอมรวินทร์’ และ ‘ณัฐณรา’ ออกมาตีแผ่การละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของเจ้าตัว ซึ่งถูกนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตในห้องสมุดออนไลน์หลายแห่ง ทั้งห้องสมุดประชาชนและห้องสมุดของ กศน.

          นอกจากการให้บริการห้องสมุดออนไลน์ อีกบริการหนึ่งซึ่งแพร่หลายมากขึ้นในช่วงโควิด-19 คือบริการ Book delivery มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีบริการส่งตำราและหนังสือให้นักศึกษาทางไปรษณีย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น TULIB Delivery โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Book@Home Delivery โดย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ Free Delivery โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เช่นเดียวกับห้องสมุดอีกหลายแห่งที่ให้บริการในลักษณะเดียวกัน อาทิ TK Book Delivery โดยทีเคพาร์ค, BMA Library Network “Book Delivery บริการยืมระหว่างห้องสมุด” โดย สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เป็นบริการจองหนังสือระหว่างห้องสมุดของกรุงเทพมหานครทั้ง 36 แห่ง โดยผู้อ่านสามารถรอรับหนังสือได้ที่ห้องสมุดสาขาใกล้บ้านภายใน 5 วัน, โครงการ Book ถึงบ้าน โดย TK ยะลา บรรณารักษ์บริการจัดส่งหนังสือเองถึงที่ถึงบ้าน วันละ 1 รอบ

          ย้อนไปช่วงกลางปีที่ผ่านมา The KOMMON ได้จัดทำโครงการ ‘Librarian Creator บรรณารักษ์นักสร้างสรรค์’ เปิดเวทีให้บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดทั่วประเทศ ร่วมแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาบริการของห้องสมุด

          ผลปรากฏว่ามีหลายห้องสมุดที่ปรับรูปแบบการให้บริการในช่วงโควิด-19 ได้อย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่คิดค้นระบบ Virtual Library พาทัวร์ห้องสมุดผ่านเกม The Sims 4 ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักศึกษาเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับอีกหลายห้องสมุดที่พยายามทดลองและคิดค้นวิธีใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการของตน

          ห้องสมุดอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ คือห้องสมุดที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับชุมชน แม้ในประเทศไทยจะยังไม่แพร่หลายนัก แต่ก็มีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับ ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ และ ห้องสมุดจินดา

          ครูต้อม-ชโลมใจ ชยพันธนาการ เจ้าของห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทห้องสมุดในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้ห้องสมุดอาจไม่ใช่แหล่งค้นคว้าหาข้อมูลเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่เป็นสถานที่ที่ผู้คนจะได้เข้ามาผ่อนคลาย โดยมีหนังสือเป็นตัวตั้ง บางประโยคที่เธอเล่าให้ฟัง สะท้อนภาพของห้องสมุดส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้อย่างเป็นอย่างดี

          “มีคนที่เคยทำงานห้องสมุด เขามาที่นี่แล้วชอบมาก บอกว่าเหมือน ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ เลย นี่คือวลีที่หน่วยราชการพยายามโปรโมตกันเมื่อหลายปีก่อน มันสะท้อนว่าคนทำงานเองก็รู้ตัวว่าห้องสมุดแบบที่เป็นอยู่ มันไม่ค่อยมีชีวิต เหมือนห้องสมุดผีดิบ ก็เลยต้องทำให้มันมีชีวิตขึ้นมา”

          หากถามว่า ห้องสมุดประชาชนแห่งศตวรรษที่ 21 ควรมีหน้าตาเป็นแบบไหน ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะฉายภาพให้เห็นชัด คือห้องสมุด Dokk1 ประเทศเดนมาร์ก ที่ยังคงบทบาทของ ‘พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้’ ไว้ได้ การให้บริการขยายขอบเขตจากการสืบค้นและยืมคืนหนังสือ กลายเป็นพื้นที่สนับสนุนการเข้าถึงความรู้และสารสนเทศ ตลอดจนกิจกรรมเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงทางวัฒนธรรม จัดนิทรรศการศิลปะหรือความรู้ จัดอบรมพัฒนาทักษะใหม่ สอนภาษา เปิดพื้นที่สำหรับนัดเจรจาทางธุรกิจหรือตลาดงาน ประกวดแข่งขันสร้างสิ่งประดิษฐ์ อภิปรายพูดคุยเรื่องการเมือง ฯลฯ

          ในแง่นี้ ความหมายของพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ของห้องสมุดประชาชน จึงแตกต่างไปจากเดิม และถูกเรียกขานด้วยชื่อที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนบริบทหรือตัวตนของการเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ อาทิ “ห้องนั่งเล่นของเมือง” “ออฟฟิศสาธารณะประจำเมือง” “พื้นที่แห่งประชาธิปไตย” “ศาลาประชาคมของชุมชน” “พระราชวังของสามัญชน”

พิพิธภัณฑ์ไทยยังไม่ตาย ?

          เมื่อเอ่ยถึงคำว่า พิพิธภัณฑ์ ภาพจำที่ฝังอยู่ในหัวของคนไทย อาจไม่ใช่สถานที่ที่น่าอภิรมย์เท่าใดนัก เนื่องด้วยภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์จำนวนไม่น้อยในประเทศไทย ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์แบบดั้งเดิม คือเป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณ นำเสนอข้อมูลและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แบบเรียบง่าย ต่างจากพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศที่มีความหลากหลายสูง ทั้งในแง่เนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอที่ดึงดูดสนใจ

          รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นไว้ว่า ฟังก์ชันที่สำคัญอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ คือการส่งต่อเรื่องราวของคนธรรมดา เรื่องราวที่ยึดโยงกับคนทั่วไป และไม่จำเป็นต้องนำเสนอแต่เรื่องเก่าๆ เสมอไป

          “เวลาเราไปดูพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในไทย มันมีเรื่องราวนะ ไม่ใช่ไม่มี แต่มักจะเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้ยึดโยงกับคนทั่วไป และวิธีการนำเสนอก็ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกสนุกไปกับมัน ความสนุกอาจไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยมันต้องทำให้คนเกิดความรู้สึกร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้น ปัญหาของพิพิธภัณฑ์ไทยคือการพยายามยึดโยงกับบางสิ่งมากเกินไป ผลที่ตามมาคือมันมักจะไม่สนุก ถ้าลองเทียบกับประเทศในเอเชีย เช่นญี่ปุ่น เขาสามารถนำเทพเจ้ามาทำเป็นกิมมิค ทำเป็นขนม หรือหาวิธีแปลกๆ ที่ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งนั้นได้”

          “พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องนำเสนอแต่เรื่องเก่าเท่านั้น แต่สามารถเล่าเรื่องปัจจุบันได้ด้วย เช่น พูดถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน หรือความคิดความฝันของคนรุ่นใหม่ การมีเรื่องราวปัจจุบันจะทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่แห้งแล้งจนเกินไป

          “อีกเรื่องที่สำคัญคือ พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเล่าแต่เรื่องดีๆ เท่านั้น พิพิธภัณฑ์พูดถึงเรื่องแย่ๆ ได้ พูดถึงความอัปลักษณ์ได้ พูดถึงความโหดร้ายได้ พูดถึงความสำเร็จและบทเรียนต่างๆ ได้ และท้ายที่สุด ไม่จำเป็นต้องจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งก็ได้ แต่พิพิธภัณฑ์ไทยส่วนใหญ่มักจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เริ่มจากการชี้ให้เห็นปัญหา แล้วสุดท้ายต้องมีคนมาช่วยแก้ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องลงเอยแบบนั้นเสมอไป ปัญหาไหนยังแก้ไม่ได้ ก็บอกว่าแก้ไม่ได้ หรือทิ้งเป็นคำถามให้คนคิดต่อก็ได้ว่า ถ้าเป็นคุณจะแก้ยังไง”

         อย่างไรก็ดี แนวโน้มหนึ่งที่น่าสนใจนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ต้องปิดทำการไปโดยปริยาย คือการที่พิพิธภัณฑ์หลายแหง่พัฒนาระบบ ‘พิพิธภัณฑ์เสมือน’ (Virtual Museum) ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนยังสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ของพิพิธภัณฑ์ได้ภายใต้สภาวะล็อคดาวน์

          ในฝั่งของภาครัฐ กรมศิลปากรได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาประยุกต์ใช้กับงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลมรดกศิลปวัฒนธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านระบบ Virtual Museum พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ซึ่งสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 42 แห่งทั่วประเทศ และระบบ Virtual Historical Park เพื่อเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง 12 แห่ง

          ด้านองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ทำพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง 360 องศา เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้วิทยาศาสตร์แก้ประชาชน ผ่านหลายแพลตฟอร์ม ได้แก่

          – Virtual NSM ประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ  

          – Virtual Futurium  ศูนย์นวัตกรรมแห่งอนาคต แหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งอนาคตที่เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมใหม่ 7 นวัตกรรม พร้อมแนะแนวอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 20 อาชีพ 

          – Virtual Exhibition 19 สุดยอดนิทรรศการแห่งปีที่ถูกรวบรวมไว้ที่นี่ที่เดียว อาทิ สูงวัยใกล้ตัว (Aging Society), ธรรมชาติบันดาลใจ, วิทยาศาสตร์ติดถ้ำ, นาทีนี้ต้องดิจิทัล (Digital Now) เป็นต้น

          – Virtual Exhibition Clean Energy Life “ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้นของทุกคน” สร้างความตระหนักรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันด้านพลังงานสะอาด รวมถึงกิจกรรมการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

          ด้านมิวเซียมสยาม มีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง โดยใช้หลักในการจัดงานแบบ ‘Play+Learn =เพลิน’ เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมนิทรรศการ ขณะนี้มีนิทรรศการให้รับชมมากมาย ทั้งนิทรรศการถาวรเรื่อง ‘ถอดรหัสไทย’ นิทรรศการหมุนเวียนอีกหลายเรื่อง เช่น นิทรรศการว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ นิทรรศการ ‘ไทยทำ…ทำทำไม’ รวมถึงนิทรรศการเคลื่อนที่และนิทรรศการพิเศษ เช่น เรื่องภาพถ่ายหนองคาย-เวียงจันทน์ ร้อยสัมพันธ์

          ในส่วนของ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน จัดทำนิทรรศการเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยี VR นำเสนอผ่านรูปแบบ virtual tour ภายใต้แนวคิด ‘#อยู่บ้านดูงานศิลป์ ศิลปะจะไม่ห่างไกลคุณ’ สามารถรับชมนิทรรศการต่างๆ ภายในหอศิลป์ได้แบบ 360 องศา โดยเข้าชมผ่านฟีเจอร์พิเศษบนเว็บไซต์

          อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ เกิดจากความร่วมมือของสถาบันการศึกษา กับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์ คือโครงการ VR Siam ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่นำเนื้อหาและวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ 10 แห่งมาต่อยอดด้วยเทคโนโลยี VR พร้อมพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันพิพิธภัณฑ์เสมือน เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการเรียนรู้ให้กับผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ โดยสามารถเข้าชมได้ทุกที่ ทุกเวลา

          องค์ความรู้จากโครงการนี้ ยังถูกนำไปเปิดสอนเป็นหลักสูตรออนไลน์ ในวิชาการสร้างโมเดลจากภาพถ่ายด้วยเทคนิค Photogrammetry Online และ วิชาสภาพแวดล้อมเสมือนจริงด้วยภาพ 360 องศา Virtual Reality Online

          นอกจากโครงการต่างๆ ที่ไล่เรียงมา ในรอบปีที่ผ่านมา เรายังได้เห็นตัวอย่างที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์แก่ผู้ชม หนึ่งในนั้นคือนิทรรศการระดับโลกอย่าง Van Gogh. Life and Art ซึ่งจัดแสดงที่โรงแรม River City Bangkok เมื่อปลายปี 2563 นำเสนอผลงานศิลปะและชีวิตของแวนโกะห์ผ่านสื่อผสมผสานออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ขณะที่ผลงานของนักออกแบบชาวไทย ก็มีหมุดหมายที่ควรบันทึกเช่นกัน โดยเฉพาะนิทรรศการ ‘กล่องฟ้าสาง’ ที่นำเสนอเศษเสี้ยวของเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านกล่องใบเล็กๆ ที่บรรจุความทรงจำหม่นเศร้าเอาไว้ จุดประกายให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ อย่างแพร่หลาย

          ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบนิทรรศการดังกล่าว คือ Eyedropper Fill สตูดิโอที่เชี่ยวชาญงานด้าน ‘ออกแบบประสบการณ์’ (Experience Design) ผ่านการใช้สื่อผสมผสานและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เจ้าของผลงาน Journey Within You นิทรรศการอินเทอร์แอคทีฟที่ช่วยชุบชูใจใครหลายคนในช่วงล็อคดาวน์

          วรรจนภูมิ ลายสุวรรณชัย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ให้สัมภาษณ์กับ The KOMMON ว่าความท้าทายของคนที่ทำงานด้านนี้ คือการทลายกรอบคิดและความหมายเดิมๆ ของสิ่งที่เราคุ้นเคย

          “อย่างกล่องฟ้าสาง โจทย์ของมันคือการทำนิทรรศการที่พูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พอเราคิดคอนเซ็ปต์ออกมาว่า จะทำนิทรรศการที่อยู่ในกล่อง คนก็งง ไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นนิทรรศการได้ยังไง พวก supplier หรือ stakeholder จะเกิดคำถามทันทีว่า แล้วมันจะออกมาเวิร์คได้ยังไง แต่เรารู้ เรานึกออก เรามีขั้นตอนที่ชัดเจนว่าจะทำยังไง ความยากคือการสื่อสารหรืออธิบายให้คนที่ทำงานกับเรา ที่อาจชินกับการทำงานแบบตามสูตรเป๊ะๆ ให้เขาเข้าใจ”

          “แต่ถ้ามองในมุมของคนดูหรือผู้รับสาร วัดจากฟีดแบ็กของงานแต่ละชิ้นที่เราทำออกไป เรากลับรู้สึกว่าคนสมัยนี้ ต้องการอะไรแบบนี้มากขึ้น หลายอย่างที่เราทำ ดูเป็นของใหม่ก็จริง แต่ความใหม่ไม่ได้แปลว่าคนจะไม่เก็ต ในมุมกลับกัน คนทำคอนเทนต์หรือนักออกแบบเองก็ต้องปรับตัวตามโลกด้วย”

          “เรารู้สึกว่าความสามารถในการ re-define หลายสิ่งหลายอย่างของคนไทย ยังค่อนข้างต่ำ ทำให้เวลาเราจะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอะไรบางอย่าง จึงเปลี่ยนค่อนข้างยาก เหมือนมันเป็นวิธีคิดที่ฝังอยู่ในรากวัฒนธรรมของเรา ที่มักจะสงวนบางสิ่งบางอย่างไว้ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เป็นวิธีคิดแบบ fixed mindset ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาหรือสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า ถ้าเทียบกับห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องตั้งคำถามเดียวกันว่า เราจะปรับตัวยังไงให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ จะ re-define ตัวเองยังไงให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนไป”

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก