ปัจจุบัน ห้องสมุดหลายแห่งประสบปัญหา “ไม่มีผู้เข้าใช้” และที่สำคัญยิ่ง “ไม่มีผู้อ่านหนังสือ” เหมือนแต่ก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของเว็บไซต์และแหล่งความรู้ออนไลน์ต่างๆ ทำให้บรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุดต้องปรับตัวตามสถานการณ์และพยายามคิดหาวิธีใหม่ๆ ที่จะเป็นการกระตุ้นให้มีผู้อ่านเข้ามาใช้บริการห้องสมุด หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับห้องสมุด เช่น กิจกรรมการอ่านออนไลน์ ห้องสมุดเคลื่อนที่ อ่านหนังสือ E-book หรือแม้กระทั่งการทำห้องสมุดให้เป็นร้านคาเฟ่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้มากขึ้น
ในการทำงานของบรรณารักษ์ยุคใหม่ จะต้องสืบเสาะหาความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารงานห้องสมุด ซึ่งคําว่า ‘นวัตกรรม’ (Innovation) ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิม ซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น หรืออีกความหมายหนึ่ง นวัตกรรมคือการนําเสนอสิ่งใหม่ที่มีคุณประโยชน์สนองตอบความต้องการของมนุษย์หรือชุมชน และช่วยให้การดำรงชีวิตง่ายขึ้น
ในแง่ของคนทํางานห้องสมุด การนํานวัตกรรมซึ่งเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือนําสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เป็นการช่วยให้การดําเนินงานของห้องสมุดมีความคล่องตัว สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มคุณค่าหรือส่งเสริมภาพลักษณ์ห้องสมุดยิ่งขึ้น ตัวอย่างต่อไปนี้อาจเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ของห้องสมุดโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ แต่เปี่ยมด้วยความภูมิใจที่สามารถดึงนักเรียนให้เข้าห้องสมุดมากขึ้น
แม้ว่าตัวบรรณารักษ์เองจะเป็นคนที่เกิดในยุคเก่า แต่ก็พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยมีหลักการนํานวัตกรรมมาใช้คือ สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งใหม่ มีแนวคิดใหม่ และที่สำคัญคือ ‘บริการใหม่’ ซึ่งเป็นหัวใจของการดําเนินงานห้องสมุด
เวลาว่าง ท่องโลกกว้างกับห้องสมุด
ห้องสมุดยุคก่อนมักจะมีกฎที่ว่า เข้าห้องสมุดจะต้องเงียบ มีมารยาท ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น แต่เมื่อบรรณารักษ์ต้องปฏิบัติหน้าที่ดําเนินงานห้องสมุดยุคใหม่ จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เท่าทันคนสมัยใหม่ โดยเฉพาะนักเรียนยุคใหม่ เราต้องรู้เท่าทันเขา ทำตัวเป็นเพื่อนเขา เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจ
กิจกรรม “เวลาว่าง ท่องโลกกว้างกับห้องสมุด” จึงเกิดขึ้น เป็นกิจกรรมง่ายๆ เพียงแค่นักเรียนมีคาบว่างจากการเรียนก็สามารถเข้ามาเปิดโทรทัศน์ เครื่องเสียง เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แล้วเข้าช่อง YouTube เพื่อเปิดรายการที่นักเรียนต้องการจะดูได้ อาจเป็นรายการสารคดีน่ารู้, ภาพยนตร์ที่สนใจ ข่าวประจำวัน ฯลฯ ถึงแม้กิจกรรมนี้จะเป็นนวัตกรรมง่ายๆ แต่ก็ดึงดูดความสนใจของนักเรียนให้เข้าห้องสมุดได้มากขึ้น ทำให้ห้องสมุดที่เคยเงียบนั้นไม่เงียบอีกต่อไป แต่ก็มีขอบเขตว่าต้องไม่ได้เปิดเสียงดังจนรบกวนผู้อื่นที่ใช้ห้องสมุดในมุมอื่นๆ แม้ว่าบางครั้งจะเกิดศึกย่อมๆ จากการแย่งกันเปิดรายการที่ตนเองอยากดู แต่เราสามารถตกลงกันได้โดยการแบ่งเป็นช่วงเวลา
กิจกรรมนี้นอกจากจะทำให้นักเรียนเกิดความผ่อนคลายแล้ว ยังเป็นการดึงดูดให้นักเรียนเข้ามาใช้ห้องสมุด ทำให้ห้องสมุดไม่เงียบเหงา พร้อมแฝงกิจกรรมส่งเสริมการอ่านได้อีกด้วย เพราะเมื่อนักเรียนเข้ามาที่ห้องสมุด เขาจะหยิบหนังสือที่เขาสนใจมาเปิดอ่าน แม้จะเป็นการอ่านแบบผ่านๆ เพราะความสนใจอยู่ที่รายการที่เขาตั้งใจจะมาดู แต่อย่างน้อยเขาก็ได้หยิบหนังสือมาอ่าน
สมุดจิ๋วกับคิวอาร์โค้ด
กิจกรรมการอ่านผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) เป็นความร่วมมือระหว่างบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียน กับบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนประจําอําเภอ ซึ่งไม่ใช่แค่ห้องสมุดประชาชนประจําอําเภอเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่มีห้องสมุดประชาชนถึง 2 แห่งที่มาร่วมเป็นเครือข่าย มีพี่น้องผองเพื่อนบรรณารักษ์ที่ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนในการส่งข่าวสาร ความรู้ ลิงก์คิวอาร์โค้ด รวมถึงสื่อส่งเสริมการอ่านต่างๆ ให้แก่ห้องสมุดโรงเรียน
วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ คือการส่งเสริมการอ่านผ่านสื่อออนไลน์ในช่วงที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด และส่งเสริมการนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน วิธีการคือนําความรู้ต่างๆ มาจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพียงใช้กล้องโทรศัพท์มือถือส่องที่รูปรหัสคิวอาร์โค้ด ผู้ใช้ก็สามารถรับข้อมูลต่างๆ ตามต้องการ
ในกิจกรรมนี้ ครูบรรณารักษ์จะพิมพ์คิวอาร์โค้ดที่ได้มาจากบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนทั้ง 2 แห่ง มาให้นักเรียนนํามาติดลงใน “สมุดจิ๋ว” สมุดเล่มเล็กที่ทำจากกระดาษ A4 เพียงแผ่นเดียว นํามาพับเป็นสมุดให้ดูน่ารัก ใช้งานง่าย และพกพาสะดวก โดยให้นักเรียนที่เลือกเรียนวิชาเพิ่มเติมงานห้องสมุดกับการศึกษาค้นคว้ามาช่วยกันพับ ออกแบบรูปเล่ม และนําคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่ได้มาติดและตกแต่งสมุดจิ๋วให้สวยงาม จากนั้นจึงนําไปมอบให้แก่เพื่อน ครู ผู้ปกครอง หรือคนในชุมชนได้อ่าน
นอกจากนี้ บรรณารักษ์ยังส่งลิงก์และคิวอาร์โค้ดความรู้ดังกล่าวไปยังกลุ่มต่างๆ ทั้งทางกลุ่มไลน์ (Line) กลุ่มแชทในเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือเพจของห้องสมุด เพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่านอีกทางหนึ่งด้วย โดยความรู้ที่สร้างขึ้นในคิวอาร์โค้ดนั้นจะเป็นความรู้ที่ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ที่กําลังเกิดขึ้น เช่น ความรู้เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 การดูแลและป้องกันรักษาสุขภาพ ความสวยความงาม พืชสมุนไพร รวมถึงหนังสือ E-book ที่น่าสนใจ เป็นต้น เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านเรื่องที่เขาสนใจได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น
รู้จัก เข้าใจ นำไปใช้
การนํานวัตกรรมต่างๆ มาใช้กับห้องสมุด จะประสบผลสำเร็จได้ บรรณารักษ์จะต้อง “รู้จัก เข้าใจ และนําไปใช้”
“รู้จัก” คือการรู้ว่าโปรแกรมต่างๆ นั้นสามารถใช้งานด้านใดบ้าง เช่น โปรแกรมสำหรับดูหนัง ฟังเพลง เว็บไซต์ที่น่าสนใจ เพื่อนํามาประยุกต์ใช้กับบริการในห้องสมุด
“เข้าใจ” คือ การรู้ว่า โปรแกรมใดเป็นโปรแกรมลิขสิทธิ์ โปรแกรมใดสามารถใช้ได้ฟรี
“นําไปใช้” เป็นการนํานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของห้องสมุดแต่ละประเภท
เรื่องบางเรื่องเราอาจไม่เก่ง หรือขาดความชํานาญ แต่เราสามารถไปถามผู้รู้ ซึ่งรวมถึงคนยุคใหม่ที่เกิดมาในยุค 4.0 เป็นเจเนอเรชั่น ซี (Generation Z) เด็กกลุ่มนี้เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอํานวยความสะดวกมากมาย เรียกว่าเป็นเด็กยุคเทคโนโลยีนั่นเอง เราสามารถศึกษาและเรียนรู้ได้กับเด็กๆ เหล่านี้ได้ ไม่ต้องอาย เพราะถึงแม้เราจะเป็นคนยุคเก่า เป็นคนเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ (Generation X) แต่หัวใจเราไม่เก่าตามตัว สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และนํานวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของห้องสมุดได้
แม้กระทั่งการเรียนรู้จากสื่อสังคมออนไลน์ การเข้าร่วมเครือข่ายบรรณารักษ์ ก็เป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้เราได้รับความรู้ ความคิดเห็น หรือวิธีการแก้ไขปัญหาของห้องสมุดหลายๆ แห่งที่อาจพบเจอปัญหาเหมือนๆ กัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่บรรณารักษ์จะสามารถนําวิธีการหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับห้องสมุดของตัวเองได้ เพราะสุดท้ายแล้วการเรียนรู้ย่อมไม่มีวันสิ้นสุด…