เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง

1,620 views
7 mins
August 11, 2023

          กล่าวกันว่า “หนังสือคือประตูไปสู่สถานที่อีกแห่งหนึ่ง” เพราะสามารถนำพาผู้อ่านให้รู้จักกับเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น ดินแดนอันห่างไกล ผู้คนต่างวัฒนธรรม หรืออดีตที่ผ่านมานานแล้ว ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า ‘Armchair Travel’ หมายถึงการท่องเที่ยวโดยไม่ต้องออกเดินทางจริงๆ แค่เพียงนั่งอยู่บนเก้าอี้สบายๆ แล้วอ่านหนังสือสนุกๆ สักเล่ม หรือดูภาพยนตร์ดูละคร ก็สามารถเปิดจินตนาการอันน่าตื่นตาตื่นใจ

          ในขณะเดียวกัน หนังสือหลายเล่มก็มีแรงดึงดูดหรือจุดประกายให้ผู้อ่านอยากก้าวเท้าออกจากบ้าน ไปสัมผัสประสบการณ์เช่นเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มโปรด หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้แต่งในดวงใจ เกิดเป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าจดจำ

          มีข้อมูลว่า ในปี 2022 การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม (Literary Tourism) สามารถสร้างมูลค่าราว 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแม้จะไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการท่องเที่ยวทั้งหมด แต่หลายประเทศมองเห็นโอกาสและได้ส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม หลายแห่งขยายผลสู่บริการทัวร์ บริการที่พัก รวมทั้งมีการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมจำหน่ายในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

          แต่สำหรับประเทศไทยภาคส่วนนี้เข้มแข็งแค่ไหน จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องพัฒนา ‘การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม’ ให้แพร่หลาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วนภานนท์ ภาควิชาการท่องเที่ยว อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นในฐานะที่อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวมายาวนาน

บ้านและหลุมศพทำให้ใจเราใกล้กัน

         “คนที่เที่ยวตามรอยวรรณกรรม หรือเที่ยวตามรอยหนังสือ จริงๆ แล้วเที่ยวตามรอยนักเขียนมากกว่า เช่นไปดูบ้านหรือเยี่ยมชมสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนักเขียน เพราะคนอ่านจะพยายามจะเข้าใจความรู้สึกของตัวนักเขียน ณ ขณะนั้น” ในมุมมองของอาจารย์ยุทธศักดิ์ การท่องเที่ยวแนวนี้ในยุคแรกๆ ก็คล้ายกับการแสดงออกถึงความชื่นชมของ ‘แฟนหนังสือ’ ที่มีต่อผู้เขียน

          การเที่ยวตามรอยวรรณกรรม บทกวี หรือนักประพันธ์ เป็นกระแสที่เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18-19 ขณะนั้นการอ่านนวนิยาย บทกวี หรือการชมละครเวทีค่อนข้างแพร่หลายในยุโรป เมื่อพิจารณาถึงตัวบทวรรณกรรมโดยทั่วไปแล้วมักดำเนินเรื่องโดยให้รายละเอียดถึงการกระทำ ความรู้สึกนึกคิด และบทสนทนาของตัวละคร ส่วนการพรรณนาฉากหรือสถานที่ในท้องเรื่องมักมีพอสังเขป เพื่อให้ผู้อ่านได้ซึมซับบรรยากาศไปตามเนื้อเรื่อง แต่อาจไม่ได้ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากออกเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ที่ปรากฏในเรื่อง

          สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมักเป็นบ้านเกิดหรือหลุมศพของนักเขียน เนื่องจากพื้นที่กายภาพเหล่านั้นได้สร้างความรู้สึกที่ใกล้ชิดผูกพันระหว่างผู้อ่านกับนักเขียน ตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เช่น เมืองสแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน (Stratford-upon-Avon) ในประเทศอังกฤษ บ้านเกิดของวิลเลียม เชกสเปียร์ จุดท่องเที่ยวต่างๆ ถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องราวตั้งแต่เกิด พบรัก ทำงาน ย้ายไปลอนดอน จนกระทั่งกลับมาเสียชีวิตที่บ้านเกิด ปัจจุบันเมืองนี้ยังคงเป็นที่นิยมของคอวรรณกรรม โดยมีผู้ไปเที่ยวมากถึง 3 ล้านคนต่อปี ส่วนในออสเตรเลีย สุสานเวฟเวอร์ลีย์ (Waverley Cemetery) มีผู้คนไปเยี่ยมเยือนมากมาย เพราะร่างของนักเขียนและกวีชาวออสเตรเลียผู้มีชื่อเสียงหลายคนถูกฝังไว้ที่นี่ ผู้เข้าชมยังสามารถเดินสำรวจเส้นทางริมผาที่ทอดตัวยาวไปตามชายหาดที่งดงามอีก

เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
บ้านเกิดวิลเลียม เชกสเปียร์
Photo: © Shakespeare Birthplace Trust
วิดีโอแนะนำบ้านและสวนของครอบครัวเชกสเปียร์

เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
สุสานเวฟเวอร์ลีย์ที่ฝังศพนักเขียนและกวีชาวออสเตรเลียผู้มีชื่อเสียง
Photo: Waverley Council Cemetery
วิดีโอแนะนำสุสานเวฟเวอร์ลีย์

เรื่องสนุก ปลุกใจให้อยากไปเที่ยว

          ในต่างประเทศมีวรรณกรรมหลายเรื่องที่ตัวบทมีศักยภาพที่จะสร้างการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นได้ อาจเป็นเพราะเนื้อเรื่องสนุกชวนให้คิดและอยากติดตาม มีฉากน่าประทับใจ หรือกล่าวถึงสถานที่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่นวรรณกรรมเรื่อง รหัสลับดาวินชี (Da Vinci Code) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2003 สามารถสร้างกระแสการท่องเที่ยวทั่วภูมิภาคยุโรปตั้งแต่ยังไม่ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปะและประวัติศาสตร์

          มีสถิติว่า ก่อนที่หนังสือถูกวางจำหน่าย โบสถ์รอสลิน (Rosslyn Chapel) ในเอดินบะระ ซึ่งถูกผูกเรื่องให้เกี่ยวข้องกับการตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ เคยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงปีละ 30,000 คน ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 180,000 คนต่อปี ส่วนพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์มีผู้เข้าเยี่ยมชมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ราว 7.3 ล้านคน ในช่วงปี 2005 นอกจากนี้ยังมีผู้คนมากมายเดินทางไปเยือนเมืองอองบัวส์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของดาวินชี และเที่ยวชมความงดงามของอาคารเก่าแก่ต่างๆ ในลอนดอน

เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
โบสถ์รอสลินที่ถูกเขียนถึงใน รหัสลับดาวินชี
Photo: Rosslyn Chapel

          วรรณกรรมระดับโลกอีกเรื่องหนึ่งที่สนุกและดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย คือนิยายสืบสวนเรื่อง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ฉากสำคัญของเรื่องอยู่ที่ทาวน์เฮาส์เลขที่ 221บี ถนนเบกเกอร์ เมืองลอนดอน ในช่วงราวปลายศตวรรษที่ 19 ประเด็นที่น่าสนใจคือ อันที่จริงแล้วบ้านเลขที่ดังกล่าวไม่ได้มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ทว่ากระแสความนิยมในวรรณกรรมเรื่องนี้ ทำให้เมืองตัดสินใจแก้ไขแผนที่จนมีบ้านเลขที่ 221บี ขึ้นมา แฟนคลับจากทั่วโลกส่งจดหมายมายังที่อยู่นี้ จนต้องมีการจ้าง ‘เลขาของเชอร์ล็อก โฮล์มส์’ เพื่อทำหน้าที่ตอบจดหมายโดยเฉพาะ 1 อัตรา ส่วนบ้านอีกหลังหนึ่งในละแวกใกล้กันซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายกับที่ปรากฏในวรรณกรรม ได้ถูกดัดแปลงให้เป็น พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ภายในมีนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับตัวละคร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ทั้งหนังสือ หมวก เสื้อผ้า และของใช้แบบนักสืบ ด้านหน้าอาคารติดป้ายสีฟ้าไว้ว่าบ้านเลขที่ 221บี เช่นกัน

เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
ห้องนั่งเล่นของ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพิพิธภัณฑ์
Photo: Public Domain
เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ณ บ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์
Photo: Hulki Okan Tabak จาก Pixabay

จอแก้ว-จอเงิน ผลักดันการท่องเที่ยวให้เฟื่องฟู

          ในยุคที่วรรณกรรมถูกดัดแปลงเป็นบทละครทางโทรทัศน์และบทภาพยนตร์ ฉากในเนื้อเรื่องซึ่งแต่เดิมมีการพรรณนาไว้พอสังเขปถูกสื่อสารผ่านกระบวนการโปรดักชันจนออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวที่สวยงามและแจ่มชัด โดยผู้ชมไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการปรุงแต่งด้วยตัวเองเหมือนตอนอ่านหนังสือ เงื่อนไขนี้เอื้อให้เกิดกระแสนิยมการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์หรือ ‘Film Tourism’ ซึ่งแพร่หลายอย่างกว้างขวางในหมู่ชนชั้นกลาง โดยนักท่องเที่ยวอาจไม่ได้มีประสบการณ์ในการอ่านวรรณกรรมเล่มนั้นๆ โดยตรง

          อาจารย์ยุทธศักดิ์ มองถึงเงื่อนไขของการต่อยอดวรรณกรรมไปสู่ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวว่า “คนดูหนังดูละครแล้วอยากจะไปเที่ยวก็ต่อเมื่อฉากมันขายฝันขายจินตนาการหรือเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญในเรื่อง …ถ้าเป็นแค่ฉากเดินผ่านตลาดก็คงไม่ได้อยากทำให้ใครไป การถ่ายทำพยายามทำให้เราเชื่อมโยงกับหนังผ่าน Emotion ทำให้เราอยากไปตรงนั้น”

          อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวที่เกิดจากการ ‘บูม’ ด้วยสื่อวัฒนธรรมกระแสนิยม ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเติบโตอย่างยั่งยืน ดังที่แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งมีชื่อเสียงจากหน้าจอในชั่วระยะหนึ่งแล้วก็เลือนหาย

          “ธรรมชาติของการท่องเที่ยวทุกที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ยิ่งหากมาพร้อมกับ Pop culture บางทีถูกจุดขึ้นมาแค่วูบเดียวก็ดับ คนดูหนังดูซีรีส์แล้วอยากไปเที่ยว แต่พื้นที่ยังไม่ทันเตรียมตัว พอไปถึงก็จะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไร ถ้าอยากให้มันตั้งอยู่นานขึ้นก็ต้องมีการวางแผนพัฒนาหรือสนับสนุน และศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง”

          ตัวอย่างการท่องเที่ยวของประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์อย่างชัดเจน เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งมีผู้คนทั่วโลกหลั่งไหลมาเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 40% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2000 และ 2006 อันเนื่องมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings สถานที่ซึ่งตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ชมภาพยนตร์ เช่น ภูเขาเมาท์โอเวน (Mount Owen) ซึ่งใช้ถ่ายทำตอนที่เหล่าพันธมิตรแห่งแหวนเดินทางผ่านป่าเขาลำเนาไพร ทั้งที่จริงๆ แล้ว เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนฉากดังกล่าวมาจากเทือกเขาในสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีอุทยานในเขตเวลลิงตันซึ่งใช้ถ่ายทำเรื่องราวอาณาจักรของเผ่าเอลฟ์ และหมู่บ้านฮอบบิทซึ่งถูกเนรมิตขึ้นในฟาร์มแห่งหนึ่งในภูมิภาคไวกาโต หลังการถ่ายทำจบที่นี่ได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพเดิมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
หมู่บ้านฮอบบิท
Photo: Raelle Gann-Owens on Unsplash
เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
Photo: Hobbiton™ Movie Set Tours

ตำนาน การอ่าน และการท่องเที่ยวในไทย

          เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย อาจารย์ยุทธศักดิ์กลับคิดว่า การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเท่าไรนัก “แม้หนังสือนิราศก็ไม่เคยถูกนำมาทำเป็นเส้นทางท่องเที่ยวอย่างแท้จริง การท่องเที่ยวมักจะเกิดขึ้นเป็นจุดๆ เช่น ตรงนี้เคยเป็นที่ประทับ หรือแหล่งที่เคยเสด็จ สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งเกี่ยวข้องกับผู้เขียนแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในวรรณกรรมโดยตรง”

          แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า วรรณกรรมไทยไม่ได้มีผลต่อการท่องเที่ยวเอาเสียเลย องค์ประกอบต่างๆ ทั้งความเชื่อ ตำนาน วัฒนธรรม วรรณกรรม ละคร หรือภาพยนตร์ มีความโยงใยแน่นแฟ้นจนบางครั้งก็แยกไม่ออกว่า สิ่งที่เป็นแรงดึงดูดและผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวนั้นคืออะไรกันแน่

          “การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับวรรณกรรม มันเกิดขึ้นหลังจากที่ถูกแปลงเป็น Pop Culture หรือภาพยนตร์ หรือซีรีส์… อย่างเรื่องมะเมียะ ที่มีคนตามไปดูหลุมศพของเจ้าน้อยกันใหญ่” อาจารย์กล่าวถึงตำนานรักข้ามแดนของเจ้าน้อยเชียงใหม่กับสตรีชาวพม่า ที่กลายมาเป็นงานเขียนและละครในยุคต่อมา “นักท่องเที่ยวอาจจะไม่ได้รู้จักตัวละครจากการอ่านเพียงอย่างเดียว เพียงแต่มันเปลี่ยนจากตำนาน มาสู่วรรณกรรม และไปสู่สื่อรูปแบบอื่นๆ”

          นอกจากนี้ยังมีตำนาน เรื่องเล่า และวรรณกรรมพื้นถิ่นอีกหลายเรื่อง ที่ก่อให้เกิดเรื่องเล่าประจำแหล่งท่องเที่ยวขึ้นในภาคเหนือ เช่น ตำนานสาวบัวบาน ที่เล่าเรื่องราวของครูสาวเชียงใหม่ผู้หลงรักหนุ่มเมืองกรุง แต่ท้ายที่สุดก็ผิดหวังในรักและจบชีวิตลงที่น้ำตกห้วยแก้ว เรื่องนี้ถูกเล่าขานต่อๆ กันจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในยุคสมัยหนึ่ง อย่างไรก็ตามญาติของผู้เสียชีวิตซึ่งปรากฏชื่อในตำนานได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมว่า รายละเอียดตามคำเล่าขานไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
วัดบุปผาราม หรือ วัดสวนดอก สถานที่เก็บกระดูกของเจ้าน้อยศุขเกษม
เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
น้ำตกห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่
Photo: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

‘วัฒนธรรมการอ่าน’ หัวใจของการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม

          อาจารย์ยุทธศักดิ์วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านกับการท่องเที่ยวไว้ว่า “ผู้อ่านที่อ่านแล้วมีการคิดวิเคราะห์ ถกเถียงกับตนเองหรือตัวบทที่อ่าน จินตนาการจะถูกสร้างขึ้นในสมองโดยปริยาย มันมักนำไปสู่ความสงสัยว่าอะไรอยู่เบื้องหลังของเรื่องราวเหล่านั้น ทำให้อยากเข้าไปติดตามหรือท่องเที่ยว แต่สำหรับสังคมที่นักอ่านส่วนใหญ่ยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นด้วยตนเอง การตั้งวงอภิปราย เช่น บุ๊กคลับ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เกิดกระบวนการดังกล่าว”

          เหตุผลหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมในประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคส่วนที่เติบโตเหมือนในหลายประเทศที่วัฒนธรรมการอ่านเข้มแข็งกว่า นั่นเพราะการอ่านในประเทศเหล่านั้นไม่ได้อ่านเพียงเอาความหรือเพียงผิวเผิน แต่เป็นการอ่านเชิงลึกและยังมีกิจกรรมต่อยอดเพื่อให้ซึมซับดื่มด่ำในวรรณกรรมมากขึ้นไปอีก

          เมื่อถามว่า ในประเทศไทยจะเกิดการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมได้หรือไม่ อาจารย์ประเมินว่า ไทยมีศักยภาพที่จะผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมขึ้นมาได้ เช่น สถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับนักเขียน แต่จำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การคัดเลือกหนังสือที่สามารถจุดประกายให้คนเกิดความรู้สึกอยากออกไปเที่ยว การสำรวจเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวที่ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีวงอภิปรายเกี่ยวกับหนังสือและการอ่าน

          “เราแทบจะไม่มีการสอนแนวคิดทางสังคมที่อยู่ในหนังสือ การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมจะช่วยสร้างประโยชน์ 2 ฝั่ง คือถ้าเราอ่านเพื่อการวิเคราะห์การท่องเที่ยวจะกลายเป็นผลพลอยได้ และถ้าเรามุ่งการอ่านเพื่อการท่องเที่ยว ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมการอ่านก็จะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา”

          การท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมจึงเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าและควรได้รับการสนับสนุน แม้ว่าจะไม่ใช่สายแมสดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่เป็นสายนิช (Niche) ที่มีผู้สนใจเฉพาะกลุ่ม จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมองย้อนกลับมาสู่สังคมไทย คงจะพอเปรียบเทียบได้ว่าปัจจัยของการเกิดขึ้นและการพัฒนาการท่องเที่ยวที่แตกต่างในสองบริบท ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องรากฐานการอ่าน ในความเป็นจริงแล้ว หากผู้มีอำนาจสักคนต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวประเภทนี้เกิดขึ้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ย่อมเทงบประมาณลงไปสร้างเส้นทางท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่หากสิ่งที่ปรากฏไม่ได้งอกงามออกมาจากวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มข้นดังที่อาจารย์ยุทธศักดิ์ได้กล่าวไว้ มันก็คงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่แตกต่างอะไรไปจากแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นแล้ว

เที่ยวตามรอยวรรณกรรม เมื่อหนังสือจูงมือเราออกไปท่องโลกกว้าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วนภานนท์
Photo: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วนภานนท์


ที่มา

บทความ “Da Vinci Code keeps Rosslyn Chapel visitor numbers high” จาก theedinburghreporter.co.uk (Online)

บทความ “Literary tourism market to grow to USD 2.96 billion by 2032, says FMI” จาก indiaoutbound.info (Online)

บทความ “Literary tourism: Opportunities and challenges for the marketing and branding of destinations?” จาก core.ac.uk (Online)

บทความ “The Impact (Economic and Otherwise) of Lord of the Rings/The Hobbit on New Zealand” จาก forbes.com (Online)

บทความ “The Mystery of 221B Baker Street” จาก smithsonianmag.com (Online)

บทความ “What to Know About the Waverley Cemetery Tour in Bronte” จาก brontenews.com.au (Online)

บทความ “ความจริงไม่ตาย ปริศนาวังบัวบาน” จาก thaipbs.or.th (Online)

บทความ “สแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน เมืองแห่งมหากวี” จาก the101.world (Online)

เว็บไซต์ Southeastern Literary Tourism Initiative (Online)

Cover Photo: Hobbiton™ Movie Set Tours

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก