การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่นานาชาติรวมถึงประเทศไทยเล็งเห็นตรงกันว่าเป็นวาระที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 และประเทศของเราก็พยายามขับเคลื่อนวาระนี้อย่างเต็มที่ แต่เราจะทำอย่างไรให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป และอาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต น่าจะเป็นผู้ให้คำตอบ พร้อมทั้งชวนสำรวจและตั้งคำถามว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตในสังคมไทยควรเป็นไปในทิศทางใด
Lifelong learning ไม่ใช่แค่การ ‘จัดการเรียนรู้’ ให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คำว่า Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษาและการพัฒนาตนเอง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าความหมายของ ‘การศึกษา’ และ ‘การเรียนรู้’ นั้นแตกต่างกัน การศึกษา คือการพัฒนาคนด้วยการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ ขณะที่การเรียนรู้ คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิด และพฤติกรรมของตัวบุคคล
“ถ้าไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาคุณก็จะไม่ได้รับการพัฒนา ขณะที่การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เราดิ้นรนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง อาจจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ผ่านปัญหาในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่แนวคิดใหม่ เป็นสิ่งที่มีติดตัวมนุษย์อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสเข้ามาสู่ระบบการศึกษา คําว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงสำคัญ”
กล่าวโดยสรุป ความหมายของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างง่ายที่สุด คือ กระบวนการที่มนุษย์คนหนึ่งจะเรียนรู้และพัฒนาความคิด จิตใจ และทักษะให้ดีขึ้นในทุกช่วงของชีวิต เมื่อมีคำว่า ‘ตลอดชีวิต’ หลายคนจึงอาจพุ่งประเด็นไปที่การจัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย อาจารย์สุวิธิดาได้ขยายความว่า เท่านี้ยังไม่พอ แต่ต้องครอบคลุมเรื่องของการใช้ชีวิต และการถ่ายทอดวัฒนธรรมด้วย
“เวลาพูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต มันต้องเป็นทุกเรื่องของชีวิต ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน เนื้อหาต้องครอบคลุมทุกเรื่อง ผ่านทุกช่องทาง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ (Life-wide Learning) และที่สำคัญคือเรื่องของความยั่งยืน เราเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้เรามั่นคง ฝังรากให้เผ่าพันธุ์ของเราอยู่ได้ ให้ภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรมของเรายังคงอยู่ ไม่หายสาบสูญไป มันจึงมีเรื่องของการถ่ายทอดและการสื่อสารเข้ามาด้วย (Life-deep Learning)”
เพราะการเรียนรู้ที่ดีต้องถูกสร้าง
การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งของบุคคลและสังคม สองส่วนควรพัฒนาไปด้วยกัน “เราต้องปลุกมโนธรรมสำนึกของคนว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ คุณต้องพัฒนาตัวเอง และจะพัฒนาแบบตามยถากรรมไม่ได้ ต้องเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและทำประโยชน์”
ทัศนคติของตัวบุคคลที่มีต่อการเรียนรู้นั้นสำคัญ เพราะการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐย่อมมีขอบเขตจำกัด “ในท้ายที่สุดแล้ว การจัดการศึกษาของรัฐก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งชีวิต เช่น เรามีการศึกษาในระดับประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย และมหาวิทยาลัย แล้วก็ถึงทางตัน ยูเนสโกถึงใช้คําว่า Embrace Lifelong Learning Culture เพื่อกระตุ้นให้โอบรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะมันยั่งยืนกว่า”
นอกจากทัศนคติของตัวบุคคล อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ “การเรียนรู้ที่ดีไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง มันต้องถูกสร้าง เราจึงต้องสร้างเส้นทาง สร้างระบบนิเวศในสังคมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้คน อย่างเช่นการจัดการให้มีห้องสมุด มีสวนสาธารณะ และพื้นที่เรียนรู้รูปแบบต่างๆ ที่ไม่ไกลบ้าน สมมติว่าเขามีรูปแบบการเรียนรู้แบบตั้งรับ (Passive Learning) แต่อย่างน้อยถ้าใกล้บ้านมีพื้นที่อ่านหนังสือ เวลาเห็นคนอื่นอ่านเขาก็อาจจะอยากอ่านบ้าง”
หน้าที่ของรัฐไม่ใช่แค่ออกนโยบายให้ปฏิบัติตาม แต่คือการตระเตรียมองค์ประกอบต่างๆ เพื่อเอื้อและกระตุ้นให้คนเกิดการเรียนรู้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีของสิงคโปร์ ที่เชื่อว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความสนใจที่แตกต่างกันไป ระบบการศึกษาจึงมีความยืดหยุ่น เน้นส่งเสริมการแสวงหาความรู้ และสร้างทักษะตามการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล
“อย่าง Teach Less, Learn More ของสิงคโปร์ กว่าเขาจะประกาศนโยบายนี้ออกมาได้ เขาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในสังคมเยอะมากเพื่อมารองรับ โอเค คุณใช้เวลาในโรงเรียนไม่ต้องเยอะ ออกมาพิพิธภัณฑ์ มาใช้แหล่งเรียนรู้กันเถอะ เพราะเขาเตรียมพร้อมแล้ว แต่ของเราหยิบเอานโยบายนี้มาใช้ เด็กออกมาจากโรงเรียนแล้วไปไหน ก็ไปห้างเหมือนเดิม”
จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปร่วมทำงานกับ ASEM Lifelong Learning Hub อาจารย์สุวิธิดาเชื่อว่าการสร้างสิ่งแวดล้อมในเมืองให้มี ‘บรรยากาศ’ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้เป็นแนวคิดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องสมุด ในฐานะพื้นที่ศูนย์กลางของการขับเคลื่อนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
“ห้องสมุดแบบเดิมคนเขาก็ไม่เข้า ฉะนั้นก็ต้องมีเรื่องของบรรยากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง การบริการที่ต้องปรับใหม่ คอนเซปต์เดิมอาจจะยังคงมีอยู่ แต่ว่าต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของคน เอาการเรียนรู้ของคนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่มองว่าอยากทำห้องสมุดแบบนี้แบบนั้น โดยเฉพาะ ณ วันนี้ ห้องสมุดเป็น Hub ของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
แล้วอาจารย์ก็ขอแชร์ความฝันถึงสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในห้องสมุด หากมีบริการแบบนี้จริง การเรียนรู้ตลอดชีวิตคงเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้โดยคนทั่วไป ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดอันเลือนราง
“มันจะดีแค่ไหน ถ้าวันนี้ มีคน 3 คน หรือโต๊ะ 3 ตัว ในห้องสมุด คุณลุงคนหนึ่งเดินเข้ามาที่ตัวแรก เจอกับ Learning skill assessor (นักประเมินความรู้หรือทักษะ) คุณลุงได้รู้จักตัวเองว่าตอนนี้ตัวเองมีความรู้ ทักษะ หรือทัศนคติอย่างไรบ้าง จากนั้นก็มาที่อีกโต๊ะหนึ่ง ก็คือ Educational diagnostician (นักประเมินการเรียนรู้) คนนี้จะสามารถบอกได้เลยว่าจุดเด่นของคุณลุงเป็นแบบนี้ จุดด้อยของคุณลุงคืออะไร คุณลุงต้องเพิ่มความรู้เรื่องไหน แล้วก็มาเจอโต๊ะสุดท้าย คือ Educational planning consultant (นักวางแผนการเรียนรู้) ในที่นี้หมายถึงการวางแผนเรื่อง ‘Life project’ คุณลุงอยากพัฒนาตัวเองเรื่องอะไร มาทำแผนด้วยกันเลย แล้วคุณลุงก็จะได้ออกไปทำสิ่งที่ตัวเองถนัด หลังจากนั้นคุณลุงจะกลับมาอีกหรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีคนพวกนี้”
นโยบายที่ดีต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน
ในประเทศที่พัฒนาแล้วนอกจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างเพียงพอ การส่งเสริมด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะวางอยู่บนหลักการที่มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ชัดเจน มีการศึกษาอย่างครอบคลุม อาจารย์สุวิธิดาเล่าถึง ผลการศึกษาจากงานวิจัยเรื่อง ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิตในเอเชียและแปซิฟิก: ผลกระทบเชิงนโยบาย (Lifelong learning in Asia and the Pacific: Policy implications)’ ซึ่งได้รับทุนจากสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Institute for Lifelong Learning) พบว่า นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแต่ละประเทศ มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตในมุมมองด้านเศรษฐกิจ (Economics) และกลุ่มที่ให้ความสำคัญในมุมมองเกี่ยวกับมนุษย์เป็นหลัก (Humanistic Approach) ซึ่งกลุ่มนี้จะเน้นมิติเรื่องการศึกษา
“สิงคโปร์เขาบอกไว้เลยว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเขาเป็นไปเพื่อเศรษฐกิจ เขาจึงมีนโยบาย ทักษะแห่งอนาคต (SkillsFuture) โดยโฟกัสในเรื่อง Reskill, Upskill และ New skill ให้กับคน เพราะสิงคโปร์มองว่าถ้าเศรษฐกิจกิจดี เรื่องอื่นๆ ก็จะดีตาม แต่ในบางพื้นที่ก็มีเป้าหมายของการเรียนรู้ของตลอดชีวิตแตกต่างออกไป เช่น หลายประเทศในยุโรปที่มุ่งเติมเต็มความเป็นมนุษย์ เน้นไปที่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาวะ (Well-being)”
ผลการวิจัยยังสะท้อนอีกว่า รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ กิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับตัวบุคคล และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
“ในหนึ่งประเทศสามารถทำได้ทั้ง 2 รูปแบบ ถ้าประเทศยังไม่พร้อมให้คนพัฒนาด้วยตนเอง สังคมต้องเข้ามาช่วย เช่น ตอนสถานการณ์โควิด-19 ในไทย เราเคยสงสัยไหมว่าเมืองหรือชุมชนที่เราอยู่ ช่วยอะไรเราได้บ้าง ในโลกของการเรียนรู้ก็เหมือนกัน ทำไมเมืองจะไม่สามารถเข้ามาช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง มันถึงเวลาที่จะต้องทำเรื่องนี้แล้ว”
เมื่อถามอาจารย์สุวิธิดาว่า แล้วประเทศไทยอยู่ตรงจุดไหนของการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะประเทศไทยเองก็มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายและโครงสร้างเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้สักพักแล้ว อาจารย์ตอบว่า “อยู่ตรงจุดเริ่มต้น”
ประเทศไทยกับการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในช่วงหลายปีมานี้ ประเทศไทยมีความพยายามยกระดับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในประเทศ จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ขึ้นมาแทนพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนให้เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ ได้แก่
– การเรียนรู้ตลอดชีวิต มีลักษณะเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของบุคคล
– การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง มีลักษณะเป็นการเรียนรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ
– การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ มีลักษณะเป็นการเรียนตามระบบการศึกษานอกโรงเรียนที่นำมาเทียบโอนคุณวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานได้
สาเหตุที่อาจารย์สุวิธิดามองว่าการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตของไทยยังคงอยู่ ณ จุดเริ่มต้น คือเพิ่งเริ่มมีนโยบาย และสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ยังมีความแตกต่างจากฉบับเดิมไม่มากนัก ภาครัฐยังแบ่งการศึกษาออกเป็น ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยเช่นเดิม ในส่วนเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตก็ถูกผูกติดกับการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ทั้งที่ควรมีขอบเขตที่กว้างและยืดหยุ่นกว่านี้ ส่วนบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนแม้จะรู้ว่ากระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นสำคัญอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ในรายละเอียดว่าต้องดำเนินการอย่างไร
“มีหลายครั้งที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตถูกอ้างถึงเพื่อสร้างกิจกรรม แต่กลับไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจริงๆแล้วผลลัพธ์สุดท้ายอยากเห็นคนไทยเป็นแบบไหน แล้วเราค่อยมาวางกิจกรรม วางบทบาทหน้าที่ของภาครัฐภาคเอกชนว่าจะร่วมมือกันอย่างไร หรือแม้แต่โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) หรือที่เราเรียกกันว่า ระบบนิเวศการเรียนรู้ ว่ามันควรจะเป็นอย่างไร ที่จะทำให้คนคนหนึ่งสามารถเติบโตแล้วก็กลายเป็นคนที่มีประโยชน์ เป็นคนที่มีคุณภาพในสังคมได้ ที่กล่าวมานี้คือแนวคิดที่ภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชน ต้องหาวิธีแปลงให้ออกมาเป็นรูปธรรมที่สามารถกระตุ้นคนได้จริง เพื่อเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) หรือ กระบวนทัศน์ (Paradigm) ให้ได้”
การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับสถาบันการศึกษา
อีกภาคส่วนที่เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ตั้งแต่จำนวนนิสิต-นักศึกษาลดน้อยลง และมีงานวิจัยสนับสนุนชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายของมหาวิทยาลัยจึงขยายมาครอบคลุมประชากรวัยทำงาน และกลุ่มประชากรอื่นๆ ด้วย สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งเข้าร่วมระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ทำหน้าที่ในการรับฝากหน่วยกิตของผู้เรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อไปเรียนในหลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร หลักสูตร Non-Degree หรือหลักสูตรการฝึกอบรม ก็จะสามารถนำหน่วยกิตมาเก็บสะสมไว้ได้ในธนาคารกลางแห่งนี้ เพื่อเทียบโอนหรือรับประกาศนียบัตรความเชี่ยวชาญ หรือปริญญาบัตรได้
อุปสรรค หรือความท้าทายเรื่อง Credit Bank ในมหาวิทยาลัย อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การควบคุมรักษาคุณภาพของการเรียนการสอน และการกระจายบทบาทหน้าที่ตามจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละสถาบัน
“สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำอยู่ คือทำตามความคิดของตัวเองว่าควรจะเป็นแบบไหน กระทรวงฯ ให้โจทย์มากว้างๆ ไม่เจาะจงรายละเอียด ในอนาคตคิดว่าปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือเรื่องของการรักษาคุณภาพให้ได้…ณ ตอนนี้ ทุกคนก็ทำเพราะว่าเร่งหาลูกค้า เป็นหลักสูตรทั้งที่ก่อและไม่ก่อให้เกิดรายได้ แล้วทุกคนก็จะไปเชื่อมกันที่ National Credit Bank ก็มีเรื่องของ Learning Outcomes เรื่องของการวัดผลประเมินผลที่จะต้องเข้ามา ในวันข้างหน้าจะไม่ใช่แค่เทียบโอนแค่เพียงเครดิต แต่จะต้องเทียบโอนประสบการณ์ด้วย ยังมีรายละเอียดอีกเยอะ ถ้าจะทำให้ครบก็ต้องมีทั้งความรู้และประสบการณ์ แต่ ณ วันนี้เราใช้แค่เพียงความรู้ เรายังไม่ถึงขั้นที่จะต้องใช้ประสบการณ์ ต้องคอยติดตาม”
อีกโจทย์หนึ่งคือจะทำอย่างไรให้แต่ละมหาวิทยาลัยไม่ดำเนินการแบบซ้อนทับ รู้ว่าตนมีจุดแข็งและกลุ่มเป้าหมายแบบไหน เพื่อร่วมรับใช้สังคมได้อย่างทั่วถึง
“ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาก็เล่นเรื่องแตกต่างกันออกไป สถาบันที่ใกล้ชิดกับชุมชน อย่างวิทยาลัยชุมชน ก็อาจจะมีหลักสูตรให้เลือกหลากหลาย มีทั้งแบบฟรีและไม่ฟรี มีงบประมาณของรัฐเข้ามาสนับสนุน…เวลาพูดถึงมหาวิทยาลัย จะต้องดูตามประเภทของมหาวิทยาลัยด้วย คือไม่ควรมาแข่งกัน แต่ควรทำหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ให้เต็มที่…เราทำทุกเรื่องไม่ได้ เช่น เราก็อยากทำกับกลุ่มเด็กที่พลาด ขาด ด้อยโอกาส แม้ว่าจะไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย แต่ว่าพอเข้าไปทำจริงๆ แล้ว ก็จะพบว่ามีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่เขาใกล้ชิดกว่า เราอาจจะไปฝึกให้เขาอีกที ไม่ต้องลงไปทำเอง การให้พื้นที่ได้ทำเองจะดีที่สุด เพราะเราไม่สามารถช่วยเหลือได้ตลอด มันไม่ยั่งยืน ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้พื้นที่ได้ลองทำ เห็นปัญหา จะเป็นการดีที่สุด”
ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย ทำให้ Lifelong Learning เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างไร
ระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่มีความสำคัญต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต จำเป็นต้องมีภาครัฐเข้าไปขับเคลื่อน เช่น การจัดทำห้องสมุดที่มีทรัพยากรเพียงพอ การจัดให้มีสวนสาธารณะ พื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ใกล้บ้าน รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ขณะที่ในภาพรวมทั้งประเทศนั้นยังไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตามอาจารย์สุวิธิดามองว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตของสังคมไทยไม่จำเป็นต้องเหมือนสิงคโปร์หรือประเทศอื่นๆ เราควรจะต้องเริ่มวิเคราะห์จากคนไทย สังคมไทย และบริบทไทยอย่างจริงจัง แล้วจึงพัฒนาแนวทางและกระบวนการในลำดับถัดไป
“ประเทศไทยควรเน้นย้ำเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ ระบบ (System) และ กรอบความคิด (Mindset) โดยทางหนึ่งก็รณรงค์ให้คนไทยตระหนักในเรื่องของการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ขณะเดียวกันก็สร้างระบบในสังคมเข้ามาสนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล (Digital Learning Platform) แต่ต้องมีโครงสร้างบางอย่างหรือระบบบางอย่างในระดับพื้นที่ ระดับองค์กร หรือระดับสังคม
การขับเคลื่อนเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากท้ายที่สุดแล้วเราไม่สามารถจัดการศึกษาให้คนได้ตลอดชีวิต แล้วใช่ว่าทุกประเทศจะมีทรัพยากรหรือว่างบประมาณที่จะสามารถดูแลการศึกษาของคนทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายได้ ดังนั้นเราต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ หรือ พื้นที่เรียนรู้ (Learning space) ที่ตอบความต้องการของสังคมได้จริง และต้องปลูกฝังว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นมีประโยชน์กับสังคม สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นต้องเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทั้งบุคคลและสังคม ไม่เช่นนั้นสังคมไทยก็จะไม่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างที่เราต้องการ ภายในปี 2570”