ห้องสมุดเป็นจุดหมายการท่องเที่ยว

612 views
10 mins
August 2, 2021

          เป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษที่ห้องสมุดประสบกับปัญหาทางสองแพร่ง เนื่องจากบทบาทในฐานะแหล่งเก็บรักษาหนังสือและสื่อสารสนเทศเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้นั้น เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลที่รุกคืบเข้ามาแทนที่จนมีผลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต Wi-Fi อีบุ๊ค และเว็บไซต์แอมะซอน

          โลอิดา การ์เซีย-ฟีโบ (Loida Garcia Febo) นายกสมาคมห้องสมุดอเมริกัน บอกว่า ห้องสมุดพยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้วยการกำหนดบทบาทใหม่ให้ชัดเจนขึ้น และใช้เวลาไปไม่น้อยเพื่อให้ได้เงินทุนมาสร้างสิ่งซึ่งเรียกว่าเป็น… “การริเริ่มโครงการใหม่อันน่าอัศจรรย์ ซึ่งในท้ายที่สุดได้กลายเป็นปรากฏการณ์ให้เราได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน”

          ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีห้องสมุดใหม่หลายสิบแห่งเกิดขึ้นทั่วโลก หน้าตาของมันดูไม่เหมือนกับภาพของห้องสมุดซึ่งเป็นคลังหนังสือดังที่เห็นกันคุ้นเคยมาเมื่อในอดีตอีกต่อไป

          ห้องสมุดจำนวนมากก้าวหน้าไปไกล มีสิ่งอำนวยความสะดวกแปลกใหม่ เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเดินออกจากบ้านมาเข้าห้องสมุด บางแห่งถึงกับเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นให้แวะเข้ามาเยี่ยมชม ทุกวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นห้องสมุดมีสวนพักผ่อนบนหลังคา มีระเบียงไว้หย่อนใจชมทิวทัศน์ มีพื้นที่สำหรับการเล่นหรือแสดง ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องเล่นเกม ศูนย์รวมวัยรุ่น ห้องจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ ภัตตาคารหรือร้านอาหาร มีแม้กระทั่งระฆังใบยักษ์ที่จะส่งเสียงดังกังวานก้องโถงห้องสมุดทุกครั้งเมื่อมีคุณแม่ให้กำเนิดทารกตัวน้อยออกมาลืมตาดูโลกเป็นสมาชิกใหม่ในเมืองแห่งนั้น1

          ห้องสมุดหลายแห่งมีพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งสอดคล้องกับผู้ประกอบการอิสระที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป็นแค่สถานที่ทางเลือกนอกเหนือจากร้านกาแฟหรือ Co-working Space ทั่วไป เพราะห้องสมุดบางแห่งยังจัดห้องประชุมไว้เฉพาะสำหรับให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ได้พบปะกับลูกค้าที่มีศักยภาพด้วย บรรณารักษ์หัวการค้าบางคนยังมีความสามารถในการให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเงิน หรือจัดอบรมให้ความรู้เพิ่มทักษะจำเป็นในการประกอบธุรกิจอีกด้วย

          ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่สาธารณะซึ่งมอบบริการที่ไม่สามารถหาได้ที่บ้าน ถ้าหากยี่สิบปีที่แล้วคือการให้บริการอ่านและยืมคืนหนังสือ ห้วงเวลาปัจจุบันก็คือการนำเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาแพงเกินกว่าจะซื้อหาไว้ใช้มาให้บริการ อาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติ เครื่องตัดเลเซอร์ สตูดิโอผลิตสื่อภาพและเสียง หรือมิเช่นนั้นผู้ใช้บริการก็เข้ามาเพื่อทดลองใช้งานอุปกรณ์บางอย่าง ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจซื้อของจริง ถ้าหากราคาไม่สูงจนเกินไป

          ความต้องการพบปะสังสรรค์กันของผู้คนที่มีเป้าประสงค์แตกต่างหลากหลาย มีส่วนอย่างมากที่ทำให้การออกแบบก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น ห้องสมุดยุคใหม่หลายแห่งถึงกับว่าจ้างสถาปนิกชั้นนำระดับโลกมาสร้างสรรค์ผลงานออกแบบที่ใครได้เห็นแล้วต้องตกตะลึงอ้าปากค้าง

          ห้องสมุดใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนภาพจำที่ผู้คนเคยมีต่อห้องสมุดแบบเดิม ผ่านสื่อโซเชียลที่กลายเป็นไวรัลจนดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม หนังสือจึงไม่ใช่จุดขายของห้องสมุดยุคใหม่อีกต่อไป แต่กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ของการออกแบบอาคารและการตกแต่งภายใน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกสารพัด ซึ่งได้เข้ามาบดบังรัศมีแทนที่หนังสือไปแล้ว

          ต่อไปนี้คือตัวอย่างห้องสมุดสุดสร้างสรรค์ซึ่งถูกกล่าวขานในหมู่นักท่องเที่ยว ก่อนที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด อย่างไรก็ดี คาดหวังกันว่าหลังจากวิกฤตไวรัสระบาดผ่านพ้นไป บรรยากาศท่องเที่ยวเยี่ยมชมห้องสมุดจะหวนกลับมาอีกครั้ง

ห้องสมุดกลางเฮลซิงกิ ‘โอดิ’ (Helsinki Central Library Oodi) เฮลซิงกิ, ฟินแลนด์

          เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ประเทศฟินแลนด์ฉลองเอกราชครบรอบ 101 ปีที่เป็นอิสระจากรัสเซีย หนึ่งวันก่อนหน้านั้นชาวฟินแลนด์ได้รับของขวัญวันครบรอบนี้ด้วยห้องสมุดกลางแห่งใหม่ในกรุงเฮลซิงกิ ชื่อว่า ‘โอดิ’ (Oodi)

          รัฐบาลท้องถิ่นของเมืองเฮลซิงกิจัดสรรงบประมาณจำนวน 68 ล้านยูโร ขณะที่รัฐบาลกลางสมทบให้อีกกว่า 30 ล้านยูโร สร้างสรรค์อาคารห้องสมุดตั้งอยู่ ณ จุดตรงกันข้ามกับรัฐสภาแห่งชาติพอดี โดยมีบริษัท เอแอลเอ อาร์คิเตกทส์ (ALA Architects) เป็นผู้ออกแบบอาคาร ชนะคู่แข่งที่เข้ามาเสนองานที่จำนวนถึง 543 ราย

          พื้นที่รองรับปริมาณหนังสือสำหรับให้บริการอ่านหรือยืมคืน มีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่รวม 185,000 ตารางฟุต หรือราว 17,000 ตารางเมตร โดยมีหุ่นยนต์ช่วยในเรื่องการขนส่งภายใน ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมกลุ่มซึ่งออกแบบไว้สำหรับการประชุม พบปะ และการทำเวิร์คช็อปหรือลงมือปฏิบัติ

          ชั้นบนสุดเรียกว่า “สวรรค์หนังสือ” (book heaven) ทั่วบริเวณตกแต่งด้วยไม้กระถาง ผู้ใช้บริการสามารถนั่งเหยียดแขนขาได้ตามสบายบนพื้นพรมขนสัตว์คุณภาพสูงชนิดพิเศษ พื้นที่ชั้นสอง สำหรับจัดกิจกรรมเวิร์คช็อป มีอุปกรณ์อย่างเช่น จักรเย็บผ้า เครื่องพิมพ์และเครื่องสแกน เครื่องตัดเลเซอร์ และพื้นที่สำหรับงานเชื่อมโลหะด้วยเครื่องบัดกรี นอกจากนั้นยังสำรองพื้นที่สำหรับจัดตลาดนัดและเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและใหม่ได้มีโอกาสพบปะกับคู่ค้าหรือลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นห้องสมุดยังจัดโต๊ะหรือเคาน์เตอร์กลางไว้สำหรับเป็นศูนย์รวมข้อมูลกิจการของบริษัทร้านค้าต่างๆ ให้กับผู้เยี่ยมชมที่สนใจ

          เดือนมีนาคม 2562 มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมห้องสมุดโอดิแตะหลัก 1 ล้านคน แอนนา มาเรีย โซอินวารา (Anna-Maria Soininvaara) ผู้อำนวยการห้องสมุดโอดิบอกว่า มีนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลก กลุ่มหลักมาจากประเทศในยุโรป รองลงมาคือจีน ญี่ปุ่น และอเมริกา โดยทั่วไปผู้มาเยี่ยมชมอยากเห็นและทดลองใช้พื้นที่เมกเกอร์สเปซ และมักจะถามว่าหนังสืออยู่ที่ไหน เพราะบนชั้นหนังสือจะมีที่ว่างเหลืออยู่ครึ่งหนึ่งเสมอ เนื่องจากมีคนหยิบยืมออกไปอ่าน

ห้องสมุดกลางเฮลซิงกิ ‘โอดิ’ (Helsinki Central Library Oodi) เฮลซิงกิ, ฟินแลนด์

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรม (Museum of Literature) ดับลิน, ไอร์แลนด์

          ที่สวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์คในเมืองดับลิน มีอาคารทรงจอร์เจียนขนาดใหญ่สามตึก อาคารหลังหนึ่งออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ ริชาร์ด แคสเซล (Richard Cassels) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ริชาร์ด แคสเซิล (Richard Castle) ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ด้านหลังของอาคารดังกล่าวเป็นสวนสไตล์วิกตอเรียนที่เปิดให้ผู้คนได้ค้นหาความลับมากมายในโอเอซิสกลางเมืองหลวงแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือต้นสตรอเบอรี่อายุกว่า 200 ปี

          พื้นที่และอาคารนี้เดิมเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยดับลิน (University College Dublin) ซึ่งเคยเป็นสถานศึกษาของนักเขียนชาวไอริชที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายคน วันที่ 20 กันยายน 2562 ตึกเหล่านี้เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก ในชื่อ “พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมไอร์แลนด์ (Museum of Literature Ireland หรือ MoLI)”

          ภายในพิพิธภัณฑ์จะได้พบกับโรงละครเก่าที่เจมส์ จอยซ์ (James Joyce)2 ใช้เป็นสถานที่เริ่มลงมือเขียนเนื้อหาบทหนึ่งในหนังสือเรื่อง “ภาพชีวิตวัยเยาว์ของศิลปิน” (A Portrait of the Artist as a Young Man) และจัดแสดงหนังสือเรื่อง “ยูลิสซีส” (Ulysses) ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เตียงนอนของเจอราร์ด แมนลีย์ ฮ็อปกินส์ (Gerard Manley Hopkins)2 ที่ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จดหมายส่วนตัวหลายฉบับของเจมส์ จอยซ์ ก็ถูกนำออกมาจากแหล่งเก็บสะสมเพื่อใช้ในการจัดแสดงที่นี่ด้วย

           พิพิธภัณฑ์มีห้องอ่านหนังสือและห้องสมุดเพื่อการวิจัยซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่เจมส์ จอยซ์ บริเวณสวนยังจัดที่นั่งไว้สำหรับให้ทำงานท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติอีกด้วย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ไซมอน โอคอนเนอร์ (Simon O’Conner) กล่าวว่า พวกเขาต้องใช้ความมุ่งมั่นพยายามอย่างสูงในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนทั่วไป เพื่อที่จะนำสถานที่เก่าแก่ในดับลินอย่างเช่นบ้านและสวนที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ มาปรับปรุงใหม่และเปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ และเขาตื่นเต้นอย่างมากที่พิพิธภัณฑ์ได้มีสถานีวิทยุเป็นของตัวเอง เพื่อออกอากาศเรื่องราวสาระต่างๆ เกี่ยวกับวรรณกรรรมและพิพิธภัณฑ์ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

          “นักวิชาการ นักดนตรี นักเขียน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในเมือง สามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชม (ฟัง) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ตลอดเวลา ที่นี่คือสิ่งที่มีลมหายใจและมีชีวิตชีวา”

พิพิธภัณฑ์วรรณกรรม (Museum of Literature) ดับลิน, ไอร์แลนด์

ห้องสมุดกลางคัลการี (Calgary New Central Library)  คัลการี, แคนาดา

          ความแปลกใหม่ของห้องสมุดกลางแห่งใหม่ในเมืองคัลการี คือถูกออกแบบให้สร้างคร่อมทางรถไฟรางเบาซึ่งมีอยู่แล้วก่อนหน้า ลักษณะอาคารชั้นล่างบริเวณโถงต้อนรับจากทางเข้าจึงมีรูปทรงเป็นสะพานโค้งเพื่อให้ขบวนรถไฟลอดผ่านได้ และห้องสมุดได้จัดเก้าอี้เอาไว้ในโซน “ห้องนั่งเล่น” สำหรับให้ผู้ใช้บริการนั่งชมขบวนรถไฟวิ่งแล่นผ่านไปมาตลอดทั้งวัน

          ห้องสมุดกลางแห่งใหม่เปิดให้บริการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นการก่อสร้างใหม่บนพื้นที่ของห้องสมุดกลางแห่งเดิมซึ่งมีขนาดเล็กเกินไปจนไม่อาจรองรับความต้องการใช้งาน เนื่องจากจำนวนประชากรเมืองคัลการีเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ห้องสมุดกลางแห่งเดิมเปิดให้บริการ ขณะที่ห้องสมุดกลางแห่งใหม่มีพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 60

          ประสบการณ์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับมีตั้งแต่ “ความสนุก” ไปจนถึง “ความจริงจัง” ผ่านเส้นทางที่เดินเวียนขึ้นไปตามบันไดแต่ละชั้น ที่ชั้นล่างมีร้านกาแฟสองแห่ง ศูนย์เยาวชน พื้นที่สำหรับเด็ก และโรงหนังขนาด 320 ที่นั่ง ส่วนชั้นบนสุดเป็นห้องอ่านหนังสือขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นพื้นที่ห้องสมุดแบบดั้งเดิม พื้น ผนัง และเพดาน ทำด้วยไม้แผ่นจากธรรมชาติ เคท ธอมป์สัน (Kate Thompson) รองประธานด้านการพัฒนาในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาห้องสมุดแห่งใหม่ บอกว่า “ห้องนี้เงียบสงัดอยู่เสมอแม้ว่าจะไม่มีป้ายติดผนังขอให้งดใช้เสียง ใครที่ก้าวเข้ามาจะรู้สึกราวกับว่าทุกคนกำลังจดจ่ออยู่กับการอ่านและศึกษาค้นคว้าภายในโอเอซิสที่ทำด้วยไม้”

          คัลการีเป็นหนึ่งในหลายเมืองของแคนาดาที่กำลังจะมีห้องสมุดขนาดใหญ่เกิดใหม่ (new super-library) อาทิเช่นที่เมืองออตตาวา รัฐบาลท้องถิ่นใช้งบประมาณ 192.9 ล้านเหรียญในการก่อสร้างห้องสมุดแห่งใหม่และมีกำหนดเปิดในปี 2567 ซึ่งจะกลายเป็นจุดไฮไลต์แห่งใหม่ในการชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำออตตาวา พื้นที่ส่วนหนึ่งในห้องสมุดแห่งนี้ยังใช้สำหรับการจัดนิทรรศการของหอจดหมายเหตุแห่งชาติแคนาดาอีกด้วย ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เมืองเอดมันตัน มลรัฐแอลเบอร์ตา ก็มีแผนเปิดตัวห้องสมุดมิลเนอร์แห่งใหม่ (new Milner Library) จุดขายของที่นี่คือโต๊ะจอสัมผัสขนาด 65 นิ้วตรงล็อบบี้ทางเข้า เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกชิ้นใหม่สำหรับให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลป์ดิจิทัล เล่นเกม หรือตอบแบบสอบถาม

ห้องสมุดกลางคัลการี (Calgary New Central Library)  คัลการี, แคนาดา

หอสมุดแห่งชาติกาตาร์ (Qatar National Library) โดฮา, กาตาร์

          หอสมุดแห่งชาติกาตาร์ ออกแบบโดยสถาปนิกชาวดัตช์ เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) และเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนเมษายน 2561 ว่ากันว่าพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความเคารพต่อการศึกษาเรียนรู้

          เมื่อเดินผ่านทางเข้าห้องสมุดเข้ามาภายใน จะพบกับหนังสือที่เรียงรายอยู่บนชั้นวางจำนวนเกือบหนึ่งล้านเล่ม ในจำนวนนี้เป็นหนังสือเด็ก 137,000 เล่มและหนังสือสำหรับวัยรุ่น 35,000 เล่ม ดร.โซฮาอีร์ วัสตาวี (Sohair Wastawy) กรรมการบริหารห้องสมุด บอกว่า “สถาปนิกออกแบบและสร้างทางเข้าห้องสมุดให้มีความลาดเอียงเป็นเนิน เวลาที่เราเดินเข้ามาจึงดูเหมือนกับว่ากองหนังสือเหล่านี้กำลังค่อยๆ โผล่ขึ้นมาจากพื้น ซึ่งมีความหมายว่าห้องสมุดคือแหล่งที่หยิบยื่นหนังสือมาให้กับผู้คนที่กำลังแสวงหาความรู้”

          เพดานกระจกความสูง 72 ฟุต เปิดให้แสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาเต็มที่ เพราะความรู้เปรียบเหมือนแสงสว่าง ดังนั้นแสงสว่างจึงจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ หอสมุดแห่งชาติกาตาร์ยังมีส่วนที่เรียกว่า “ห้องสมุดมรดกสำคัญ” (The Heritage Library) มีห้องเก็บรักษาวัตถุเก่าแก่ที่มีความสำคัญของประเทศและภูมิภาคอาหรับ จำนวน  11 ห้อง ทุกห้องอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 20 ฟุต หากมองดูเผินๆ ก็เหมือนแหล่งขุดค้นโบราณคดี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความหมายว่ามรดกล้ำค่าเหล่านี้เป็นรากฐานของชาติและรากฐานของแผ่นดิน

          ทุกเดือน วง ‘กาตาร์ฟิลฮาร์โมนิกออร์เคสตรา’ (Qatar Philharmonic Orchestra) จะจัดแสดงดนตรีให้สาธารณะรับชมรับฟัง นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งในกว่า 90 กิจกรรมที่ห้องสมุดจัดเป็นประจำทุกเดือนโดยผู้เข้าร่วมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด กิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันหนึ่งคือการถักนิตติ้ง บรรดาผู้หญิงจะเข้ามาที่ห้องสมุดทุกวันพฤหัสและรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันกว่าสี่ชั่วโมง นอกจากนั้นยังมีห้องปฏิบัติการสอนเขียนเพลง การผลิตสื่อสำหรับเผยแพร่ออกอากาศ และพื้นที่เล่นสำหรับเด็กๆ ทุกช่วงวัย

          “โดยทั่วไป ชาวกาตาร์ไม่ค่อยมีพื้นที่ชุมชนในลักษณะแบบนี้ มีแค่เพียงร้านกาแฟหรือร้านค้าไว้พบปะกัน แต่ตอนนี้ห้องสมุดกลายเป็นสถานที่ที่คนทั้งครอบครัวสามารถเข้ามาทำกิจกรรมได้ตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย” ดร.โซฮาอีร์ กล่าว

หอสมุดแห่งชาติกาตาร์ (Qatar National Library) โดฮา, กาตาร์

ห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่ (Tianjin Binhai Library) เทียนจิน, จีน

          ห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่ สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ใหม่ในย่านปินไห่ เป็นแผนพัฒนาที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2552 โดยการรวมพื้นที่สามเขตของเมืองเทียนจิน ซึ่งเป็นเมืองท่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน

          ห้องสมุดเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2560 เพียบพร้อมทุกสิ่งที่ห้องสมุดจำเป็นต้องมี ไม่ว่าจะเป็นห้องอ่านหนังสือ พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ ชั้นหนังสือและคลังจัดเก็บทรัพยากรทุกประเภท แต่ทว่าผู้เข้าเยี่ยมชมส่วนใหญ่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมาใช้บริการของห้องสมุด พวกเขาเดินทางมาจากทั่วโลกเพื่อที่จะมาชมสถาปัตยกรรมอันน่าอัศจรรย์ที่สร้างสรรค์โดยบริษัท MVRDV ของเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับสถาปนิกท้องถิ่นชาวจีนจากหน่วยงานที่ชื่อ “สถาบันออกแบบและวางแผนเมืองเทียนจิน”

          สัปดาห์แรกที่เปิดบริการมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมห้องสมุดเฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 คน ผู้คนต่อคิวเป็นแถวยาวเหยียดล้นออกไปถึงถนนเพื่อรอเข้ามาในห้องสมุด

           ห้องสมุดมีพื้นที่ใช้สอย 363,000 ตารางฟุต (ประมาณ 33,700 ตารางเมตร) จากทางเข้าเป็นห้องโถงรับรองขนาดใหญ่ ทั่วทั้งห้องถูกทาเป็นสีขาวตั้งแต่พื้นไปตลอดจนเพดาน ตรงกลางโถงมีห้องออดิทอเรียมทรงกลมที่เรียกชื่อเล่นว่า ‘นัยน์ตา’ หรือ ดิอาย (the eye) เป็นสิ่งดึงดูดสายตา ผนังโดยรอบห้องโถงกลางเป็นชั้นหนังสือที่มีความสูงจากพื้นจรดเพดาน ออกแบบให้มีความคดโค้งเหมือนลูกคลื่น ชั้นหนังสือที่อยู่ในระดับซึ่งคนสามารถหยิบดูได้จะมีหนังสือจริงๆ ให้เลือกหยิบและเปิดอ่าน แต่ชั้นหนังสือที่อยู่สูงเกินมือเอื้อมถึงไปจนสุดเพดานจะทำเป็นแผ่นอะลูมิเนียมพ่นสีเลียนแบบให้ดูเหมือนสันหนังสือ เมื่อมองเผินๆ จึงดูเหมือนกับมีหนังสืออัดแน่นอยู่เต็มชั้นรายรอบห้อง

          พื้นที่ส่วนนี้เองที่กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับถ่ายเซลฟี่หรือโพสต์ลงอินสตาแกรม ในขณะที่โซนห้องสมุดแบบที่เห็นกันทั่วไปนั้นจะอยู่ในห้องถัดไปจากบริเวณโถงกลาง ส่วนอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีผู้คนแวะเวียนไปชมกันมากคือชั้นดาดฟ้า ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบอาคารห้องสมุด

ห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่ (Tianjin Binhai Library) เทียนจิน, จีน

ห้องสมุดกลางออสติน (Central Library in Austin) ออสติน, เท็กซัส, สหรัฐอเมริกา

          ห้องสมุดกลางในเมืองออสตินเปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ด้วยความเชื่อแบบชาวเท็กซัสคือ ‘ยิ่งใหญ่ยิ่งดี’ เป็นอาคาร 6 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 200,000 ตารางฟุต (ประมาณ 18,500 ตารางเมตร) มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของห้องสมุดกลางแห่งเดิมซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปไม่ถึงครึ่งไมล์

          ห้องสมุดกลางออสตินตั้งอยู่ใกล้กับ โชแอลครีก (Shoal Creek) และทะเลสาบเลดี้เบิร์ด (Lady Bird Lake) ซึ่งมีธรรมชาติอันสวยงาม ทำให้ห้องสมุดมีจุดดึงดูดผู้ใช้และผู้เยี่ยมชมในเรื่องของทัศนียภาพภายนอก สถาปนิกออกแบบให้มีระเบียงเชื่อมกับห้องอ่านหนังสือทั่วทั้งอาคาร เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเดินออกไปสัมผัสใกล้ชิดกับความงามของธรรมชาติได้ตลอดเวลา

          โลอิดา การ์เซีย-ฟีโบ (Loida Garcia Febo) นายกสมาคมห้องสมุดอเมริกัน ซึ่งได้เข้าไปเยี่ยมชมห้องสมุดแห่งนี้บอกว่า “การออกแบบของที่นี่ให้ความรู้สึกสงบ ชุมชนจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการได้เข้าถึงห้องสมุดแบบนี้ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งช่วยให้ผู้คนสามารถหลีกเร้นออกจากความสับสนวุ่นวาย”

          ภายในห้องสมุดกลางออสตินยังมี “ห้องสมุดเมล็ดพันธุ์” ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเบิกเอาออกไปเพาะปลูกเองได้ที่บ้าน อีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีความโดดเด่นคือที่นี่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เอาไว้ใช้เองเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในอาคาร อีกทั้งยังเก็บกักน้ำฝนบรรจุถังเอาไว้ถึง 373,000 แกลลอน หรือประมาณ 1.4 ล้านลิตร ไว้สำหรับใช้กับห้องน้ำและรดน้ำต้นไม้หรือสนามหญ้า

          ยังมีพื้นที่แปลกๆ อยู่บนชั้น 5 ที่เรียกว่า “สวนสัตว์เปิดเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นพื้นที่อิสระให้ผู้ใช้ห้องสมุดได้ทดลองใช้หรือเล่นอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมี (หรือมีราคาสูงจนไม่สามารถจะซื้อหาและเป็นเจ้าของ) แต่ห้องสมุดนำมาสาธิตหรือจัดแสดง โดยให้ทดลองใช้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปบนแท็บเล็ต การทดสอบหลอดไฟ Wifi อัจฉริยะ การสร้างโมเดลด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ และการบันทึกเพลงที่ห้องสตูดิโอ

ห้องสมุดกลางออสติน (Central Library in Austin) ออสติน, เท็กซัส, สหรัฐอเมริกา

ไดค์มัน บยอร์วิกา (Deichman Bjørvika) หรือห้องสมุดประชาชนออสโล (Oslo’s public library) ออสโล, นอร์เวย์

          ห้องสมุดไดค์มันสาขาหลักแห่งใหม่ (new main branch of Deichman) หรือห้องสมุดประชาชนออสโล เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2563 ตั้งอยู่บนเวิ้งน้ำบยอร์วิกา ย่านทำเลทองของกรุงออสโลซึ่งองค์กรบริหารเมืองหรือเทศบาลวางแผนพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมตามแผนการฟื้นฟู Fjord City4 โดยห้องสมุดถูกกำหนดบทบาทให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมือง คือเป็นทั้งศูนย์รวบรวมประวัติศาสตร์ ความรู้และคุณค่าของเมือง และศูนย์กลางความบันเทิง

          ห้องสมุดถูกออกแบบให้ผู้คนสามารถมองเห็นยอดสูงเหนือหลังคาอาคารได้จากกลางเมืองของกรุงออสโล และจากสถานีรถไฟ ห้องสมุดมีทางเข้า 3 ด้านผ่านประตูขนาดมหึมา คือทางทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ เพื่อต้อนรับผู้เยี่ยมเยือนจากทุกสารทิศ ถ้ามองออกมาจากภายในห้องสมุดจะมองเห็นทิวทัศน์อันน่าตื่นตาของกรุงออสโล อาทิ ฟยอร์ด (fjord)5 ความเขียวขจีของเมือง และเนินเขาสลับซับซ้อนเป็นลอน

          ตัวอาคารห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ถูกครอบไว้ด้วยโครงสร้างยื่นยาว (cantilever) มีหน้าตาคล้ายกับกองหนังสือที่วางซ้อนทับกัน พื้นที่ภายในเปิดโล่ง สามารถรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย มีการใช้ลูกเล่นต่างๆ ผ่านช่องรับแสงรูปทรงเรขาคณิตและการเล่นระดับ สร้างความรู้สึกเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามาสำรวจอาณาบริเวณใหม่ๆ เพดานและผนังอาคารภายนอก (façade) ออกแบบอย่างพิถีพิถันด้วยวัสดุที่คงทน ให้ความรู้สึกมั่นคงถาวร

          ภายในห้องสมุดประกอบด้วยหอประชุม Deichman Hall ความจุ 200 ที่นั่ง อยู่ที่ชั้นใต้ดิน สำหรับจัดกิจกรรมเสวนา ประชาพิจารณ์ โต้วาที และมีโรงภาพยนตร์อยู่ในบริเวณเดียวกัน ถัดไปที่ชั้นหนึ่งมีร้านกาแฟ ภัตตาคาร ที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ชั้นสองเป็นพื้นที่สำหรับเด็ก บรรยากาศอบอุ่นสบาย มีโซนอ่านหนังสือ โซนเวิร์คช็อปสำหรับงานประดิษฐ์ และโซนสันทนาการเรียนรู้ผ่านการเล่น ชั้นสามเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ มีโซนเวิร์คช็อป และเมกเกอร์สเปซ ซึ่งมีอุปกรณ์ให้ใช้หลากหลายเช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ คอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบงานกราฟิก และจักรเย็บผ้า นอกจากนั้นยังมีพื้นที่หย่อนใจ เช่น ห้องมินิเธียเตอร์และห้องบันทึกเสียง ชั้นสี่และห้าเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ ติวสอบ หรือประชุมกลุ่มย่อย โดยบนชั้นห้าถูกออกแบบเป็นผนังกระจกเพื่อให้สามารถชมทิวทัศน์อ่าวออสโลได้แบบพาโนรามา

          ไดค์มัน บยอร์วิกา มีห้องเก็บรักษา ‘ต้นฉบับลับ’ ซึ่งจะไม่เปิดจนกว่าจะถึงปี 2657 หรืออีกเกือบหนึ่งร้อยปีข้างหน้า นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งของ “โครงการห้องสมุดอนาคต” ที่ก่อตั้งขึ้นโดยศิลปินชื่อ แคธี แพเทอร์สัน (Katie Paterson) โดยกำหนดว่านับตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2657 นักเขียนยอดนิยมหนึ่งคนจะสร้างสรรค์และเขียนต้นฉบับที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองไว้บนกระดาษที่ผลิตขึ้นเอง (โครงการนี้มีแปลงป่าปลูกต้นไม้จำนวน 1,000 ต้นเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตกระดาษไว้ใช้เอง) เป็นกิจกรรมที่จะจัดต่อเนื่องทุกๆ ปีจนครบ 100 ปี สุดท้ายจึงจะนำต้นฉบับทุกชิ้นออกมาอ่านและเผยแพร่ต่อสาธารณะ

          ก่อนวิกฤตโควิด-19 ผู้บริหารเมืองออสโลเคยคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้ามาห้องสมุดเพื่อใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับความบันเทิงมากกว่าการอ่าน เช่น ห้องฉายภาพยนตร์ โซนเกม (สมาชิกห้องสมุดได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และ Wifi แรงๆ สำหรับต่อสู้กับทีมอื่นที่เล่นเกมอยู่ข้างนอก ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นให้เดินเข้ามาใช้งานในห้องสมุด)

          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแผนการณ์ต่างๆ จะคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากไวรัสแพร่ระบาด แต่ก็คาดกันว่าหลังผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปแล้ว จะมีผู้มาเยี่ยมชมและใช้บริการที่ห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา ถึงปีละกว่า 2 ล้านคน 

ไดค์มัน บยอร์วิกา (Deichman Bjørvika) หรือห้องสมุดประชาชนออสโล (Oslo’s public library) ออสโล, นอร์เวย์

เชิงอรรถ

[1] หมายถึงระฆังยักษ์ที่บริเวณห้องโถงต้อนรับของห้องสมุด DOKK1 เมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นจุดดึงดูดความสนใจของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ ในขณะเดียวกันก็มีความหมายที่ลึกซึ้งให้ตีความ เพราะราวกับจะบอกกับผู้คนว่าห้องสมุดนั้นมีความผูกพันใกล้ชิดกับชีวิตใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้น หรืออาจชี้ให้เห็นว่าห้องสมุดนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่จะอยู่ร่วมเคียงคู่ไปกับครรลองของชีวิตทุกคนในเมือง

[2] นักเขียนชาวไอริช เกิดที่เมืองดับลิน แต่จากบ้านเกิดไปอาศัยอยู่ที่ปารีสตั้งแต่วัยหนุ่ม เพราะต้องการหลีกหนีจากปัญหาสังคมและเรื่องศาสนา งานเขียนที่สำคัญได้แก่ “ยูลิสซีส” (Ulysses, ค.ศ.1922)  “ภาพชีวิตวัยเยาว์ของศิลปิน” (A Portrait of the Artist as a Young Man, ค.ศ.1916) และ “มโนสำนึกของฟินเนกัน” (Finnegans Wake, ค.ศ.1939)

[3] กวีและพระนิกายเยซูอิต ซึ่งว่ากันว่าเป็นเกย์

[4] เมืองออสโลได้ริเริ่มแผนการฟื้นฟูเมือง Fjord City ในปี ค.ศ. 2000 เป้าหมายคือการเชื่อมโยงบริเวณใจกลางเมืองกับพื้นที่ริมอ่าวซึ่งแต่เดิมถูกตัดขาดออกจากกันด้วยถนนและเขตอุตสาหกรรม โดยบริเวณริมอ่าวฟยอร์ดของกรุงออสโลจะถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและสันทนาการที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม กลุ่มอาคารซึ่งจะทยอยสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ ได้แก่ โรงละคร Oslo Opera House เปิดใช้งานแล้วเมื่อปี 2551 ห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา เปิดใช้ปี 2563  ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Munch Museum แห่งใหม่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564

[5] พื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลที่เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็งจนเว้าแหว่ง มีลักษณะแคบและยาว เป็นอ่าวเล็กๆ ที่เว้าลึกเข้าไปในฝั่งระหว่างแผ่นดินสูงชันหรือระหว่างหน้าผาสูงชันตามเชิงเขา สามารถพบได้ในหลายประเทศ เช่น อะแลสกา (สหรัฐอเมริกา) บริติชโคลัมเบีย (แคนาดา) ชิลี กรีนแลนด์ (เดนมาร์ก) ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สก็อตแลนด์ (สหราชอาณาจักร)


ที่มา

“Where Libraries are the Tourist Attractions”, The New York Times [Online]

อัปเดตเรื่องห้องสมุดไดค์มัน จากเรื่อง “ห้องสมุด Deichman Bjørvika ประภาคารความรู้แห่งเมืองออสโล” (ตุลาคม 2563) [ออนไลน์]

Cover Photo by Jaakko Kemppainen on Unsplash


เผยแพร่ครั้งแรก  ธันวาคม 2562
ปรับปรุงแก้ไขใหม่ในปี 2564 สำหรับเว็บไซต์ The KOMMON

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก