ห้องสมุดมิติใหม่

1,256 views
4 mins
January 1, 2021

          วัตถุประสงค์หลักของห้องสมุดคือการเป็นแหล่งสารสนเทศและความรู้เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ของผู้ใช้บริการเมื่อครั้งอดีตความรู้อาจจะอยู่ในหนังสือเป็นหลัก แต่ปัจจุบันแหล่งที่มาของความรู้มีหลายช่องทางมากขึ้น รวมทั้งความต้องการของผู้ใช้บริการก็มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ห้องสมุดหลายแห่งจึงได้ปรับตัวให้เข้ากับโลกความรู้สมัยใหม่ เกิดเป็นห้องสมุดที่มีกายภาพสวยงามน่าใช้บริการ ผสมผสานกับกิจกรรมเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีประสบการณ์ตรงกับความรู้ นำเสนอเนื้อหาเฉพาะด้านที่ผู้ใช้บริการสนใจ มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและให้บริการสารสนเทศแบบดิจิทัล รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมการให้บริการในเชิงรุกเพื่อให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น

          กรณีตัวอย่างห้องสมุดดังต่อไปนี้ คือมิติใหม่ของห้องสมุดที่มีเอกลักษณ์และความแตกต่างเฉพาะตัว โดยไม่ได้ละทิ้งวัตถุประสงค์หลักของความเป็นห้องสมุด

รูปลักษณ์โฉมใหม่และการออกแบบการใช้พื้นที่

          ห้องสมุดหลายแห่งได้ปรับปรุงกายภาพของห้องสมุดให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่มีบรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น บ้างก็ออกแบบให้มีสีสันและดูมีชีวิตชีวา ดังเช่นห้องสมุดที่ใช้แนวคิดห้องสมุดมีชีวิต ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา(KKC) เป็นตัวอย่างของห้องสมุดที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นสะดุดตาทั้งภายในและภายนอก อาคารดูคล้ายหนังสือขนาดยักษ์ซ้อนกัน 4 เล่ม พื้นที่ที่ให้บริการแบ่งออกเป็น 9 โซน ตามฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ทั้งพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ ชมภาพยนตร์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองแปดริ้ว หรือทำกิจกรรมต่างๆ รวมแล้วมีพื้นที่ถึง 6,000 ตารางเมตร เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกและมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย ปัจจุบันทดลองเปิดให้บริการ 2 ชั้น

การคำนึงถึงผู้อ่านที่หลากหลาย เจาะกลุ่มผู้ใช้ เข้าใจพฤติกรรม

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ห้วยขวาง

          การปลูกฝังการอ่านที่ยั่งยืนคือการเริ่มต้นส่งเสริมการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ห้องสมุดทั่วไปอาจไม่สามารถตอบสนองความอยากอ่านของเด็กได้ เพราะเด็กมีความสนใจเรื่องราวที่แตกต่างไปจากผู้ใหญ่ ปัจจุบันห้องสมุดหลายแห่งจึงได้จัดพื้นที่การอ่านและหนังสือสำหรับเด็กไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีห้องสมุดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ อาทิ ห้องสมุดการ์ตูน ที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ห้วยขวาง ของกรุงเทพมหานครซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือที่นำพาเด็กไปอยู่ในโลกแห่งจิตนาการ แม้ว่าผู้ใหญ่บางคนจะมองว่าการ์ตูนเป็นหนังสือที่ไร้สาระ แต่จริงๆ แล้วสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ ได้ ภายในห้องสมุดมีหนังสือการ์ตูนให้บริการกว่า 7,000 เล่ม มีห้องฉายภาพยนตร์แอนิเมชั่น ห้องอ่านนิทาน มุมหนังสือการ์ตูน 3 มิติ และมีพื้นที่จัดกิจกรรม อาทิ การวาดภาพระบายสีการ์ตูน

การเชื่อมโยงความรู้กับวิถีชีวิต

          อีกบทบาทหนึ่งของห้องสมุดนอกเหนือจากการส่งเสริมการอ่าน คือการกระตุ้นให้เกิดการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการได้ลงมือปฏิบัติจากประสบการณ์จริง ดังเช่นโครงการ ศูนย์ความรู้กินได้ โดยความร่วมมือระหว่าง กศน. และ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ดำเนินการปรับปรุงห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งพื้นที่การใช้งาน สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และเนื้อหาสาระ เกิดเป็นโมเดลใหม่ที่เป็นตัวอย่างของการแปลงความรู้ในหนังสือให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างหรือการพัฒนาอาชีพของชาวบ้าน ซึ่งนับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านการทำมาหากินจะถูกจัดชุดบรรจุในกล่องความรู้กินได้เพื่อหมุนเวียนไปตามชุมชนต่างๆ ได้สะดวก เช่น เรื่องเกษตรอินทรีย์ การถักไหมพรม การเลี้ยงปลาดุก การแปรรูปธัญพืชเพื่อสุขภาพ  ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอความรู้ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น นิทรรศการ เวิร์คช็อป การเสวนา การทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพและภูมิปัญญา เป็นต้น

การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

บรรยากาศที่ทันสมัยของห้องสมุดนิด้า

          ห้องสมุดจำนวนมากได้ปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การเข้าถึงความรู้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการสืบค้นหรือการยืมคืนออนไลน์ การให้บริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การจัดหาอีบุ๊คหรืออุปกรณ์การอ่านใหม่ๆ เช่นแท็บเล็ต ฯลฯ ตัวอย่างห้องสมุดที่ได้รับการกล่าวถึงว่ามีความไฮเทคระดับอาเซียนก็คือ ห้องสมุดนิด้า หรือ สำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่พัฒนาเป็น E-Library อย่างเต็มตัว มีการจัดหาอีบุ๊คเพื่อเป็นทรัพยากรในการเรียนการสอนและหาความรู้ของนักศึกษาด้วยการลงทุนค่าลิขสิทธิ์ราว 10 ล้านบาทต่อปี โดยสามารถสั่งซื้อเข้าห้องสมุดอย่างรวดเร็วภายใน 30 นาที

การตอบสนองความต้องการเฉพาะที่หลากหลาย

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เชียงใหม่

          ในอนาคตห้องสมุดเฉพาะทางซึ่งทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ที่สนใจและเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศมากขึ้น เพราะถึงแม้ว่าปัจเจกบุคคลจะสามารถแสวงหาความรู้ทั่วไปได้ด้วยตนเอง แต่การเข้าถึงความรู้เฉพาะทางด้วยตนเองยังมีต้นทุนค่อนข้างสูง เช่น หนังสือเกี่ยวกับการออกแบบบางเล่มมีมูลค่าหลายหมื่นบาท ดังนั้น ห้องสมุดในลักษณะนี้จึงเริ่มปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบสิบปีที่ผ่านมา อาทิ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) แหล่งค้นคว้าด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ปัจจุบัน TCDC เปิดให้บริการแล้วทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น ห้องสมุดเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม หรือ KU Eco Library ซึ่งเน้นจุดประกายความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการออกแบบห้องสมุดจากเศษวัสดุเหลือใช้ ห้องสมุดการท่องเที่ยว ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งรวมหนังสือด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นต้น

ห้องสมุดเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม หรือ KU Eco Library

เผยแพร่ครั้งแรก กันยายน 2558
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ เต็มสิบ (2558)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก