กฎหมายห้องสมุด กลไกช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของห้องสมุดประชาชน

579 views
10 mins
January 10, 2024

          ห้องสมุด ถือเป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน การศึกษา รวมถึงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างผู้คนและองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ แต่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ดีของประชาชนทุกคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้ห้องสมุดต่างๆ ในประเทศมีทรัพยากรเพียงพอในการรักษาคุณภาพในการให้บริการ?

          ในงานสัมมนาว่าด้วยห้องสมุดประชาชนโดยยูเนสโก (UNESCO) เมื่อปี 1953 มีข้อเสนอว่า มาตรการทางกฎหมาย เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจในการบริหารงาน และมีหลักประกันว่าห้องสมุดจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินที่เหมาะสม

          ผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี มีหลายประเทศที่บังคับใช้กฎหมายห้องสมุด และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ลองมาดูกันว่าประเทศต่างๆ ที่บทความนี้หยิบยกมากล่าวถึง ได้รับประโยชน์จากกฎหมายเหล่านั้นอย่างไรบ้าง

หลักการและความสำคัญของกฎหมายห้องสมุด

          กฎหมายในประเทศต่างๆ มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ แต่โดยหลักการมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดตั้ง การบริหาร การดำเนินงาน รวมถึงการควบคุมดูแล

          ผลการศึกษาในรายงานเรื่อง Public library legislation: a comparative study (1971) โดย แฟรงค์ เอ็ม การ์ดเนอร์ (Frank M. Gardner) ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการนิติบัญญัติของสมาคมห้องสมุดอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายห้องสมุดควรครอบคลุมประเด็นที่สำคัญ อาทิ การดำเนินการของหน่วยงานระดับชาติและระดับท้องถิ่น การจัดหาทุน การจัดการ การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ การกำหนดมาตรฐานการให้บริการประชาชน และควรมีความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีกด้วย

          กฎหมายห้องสมุดโดยส่วนมากมักให้ความสำคัญต่อสิทธิในการเข้าถึง กล่าวคือ มุ่งเน้นให้บริการแก่ทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เพศ อายุ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม และจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม

สำรวจกฎหมายห้องสมุดในต่างประเทศ

          ในปัจจุบัน มีประมาณ 60 ประเทศ ที่ใช้กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุด นับเป็นจำนวนกว่า 250 ฉบับ บทความนี้ขอยกตัวอย่างความเป็นมา การดำเนินงาน และผลที่เกิดขึ้นตามมา ของกฎหมายห้องสมุดใน 4 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น

สหรัฐอเมริกา

          ห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่เมืองปีเตอร์โบโร รัฐนิวแฮมป์เชียร์ (Peterborough, New Hampshire) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากการเก็บภาษี  หลังจากนั้นบอสตัน และเมืองอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งก็เริ่มใช้นโยบายเดียวกัน

          ต่อมาบรรณารักษ์ทั่วสหรัฐอเมริกาจัดประชุมร่วมกันที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ในปี 1876 เพื่อก่อตั้งสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association: ALA) ขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการห้องสมุดเป็นอย่างยิ่ง ภายในปี 1887 มีห้องสมุดประชาชนทั้งหมด 649 แห่ง ใน 20 รัฐของสหรัฐอเมริกา

          จนกระทั่ง ปี 1956 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการให้บริการห้องสมุด (Library Service Act 1956) ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight DEisenhower) พระราชบัญญัติดังกล่าวส่งเสริมให้รัฐต่างๆ ขยายบริการห้องสมุดประชาชนไปสู่ชนบทอย่างทั่วถึง โดยการจัดสรรเงินทุนจากรัฐบาลกลาง กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นกฎหมายระดับชาติฉบับแรกที่ว่าด้วยเรื่องห้องสมุด และเป็นจุดเริ่มต้นของการให้หลักประกันว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้ห้องสมุดอยู่ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ

          สมาคมห้องสมุดอเมริกัน มีส่วนอย่างมากต่อการผลักดันกฎหมายนี้ ตัวอย่างผลลัพธ์ที่เกิดจากพระราชบัญญัติฯ คือ การจัดทำรถหนังสือเคลื่อนที่ 288 คัน เพิ่มพนักงานประมาณ 800 คน ให้กับหน่วยงานห้องสมุดของรัฐ และจัดทำระบบในห้องสมุดประชาชนหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูงในการก่อสร้างอาคารกลายเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัว

          ปี 1964 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการบริการห้องสมุดและการก่อสร้าง (Library Services and Construction Act 1964 หรือที่เรียกว่า LSCA) โดยระบุให้เพิ่มเงินทุนช่วยเหลือกิจการห้องสมุดในชนบทให้ทัดเทียมกับในเมือง และจัดสรรเงินทุนอีกจำนวนหนึ่งสำหรับการก่อสร้างหรือขยายอาคาร กฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปสังคม Great Society โดยประธานาธิบดี ลินดอน บี.จอห์นสัน (Lyndon Baines Johnson) เพื่อขจัดความยากจนและส่งเสริมความเท่าเทียม

          ต่อมา พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 1996 เป็นพระราชบัญญัติบริการและเทคโนโลยีห้องสมุด (Library Services and Technology Act 1996: LSTA) โดยให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ประเด็นหลักในพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแบ่งปันข้อมูลทั้งระหว่างห้องสมุดด้วยกันเอง และระหว่างบริการชุมชนประเภทอื่นๆ รวมถึงการพัฒนาโปรแกรมเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรทุกประเภทโดยไม่มีข้อจำกัด

          ในแต่ละปีงบประมาณ รัฐบาลกลางจะจัดสรรเงินทุนผ่านโครงการทุนสนับสนุนของสถาบันพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด (Institute of Museum and Library Services: IMLS) หน่วยงานอิสระของรัฐซึ่งทำหน้าที่จัดการและแจกจ่ายกองทุน เงินสนับสนุนจะถูกแบ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการจัดทำโครงการต่างๆ โดยมีเป้าหมายคือ ส่งเสริมบริการที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการทุกด้านของชุมชน

          เงินทุนของรัฐภายใต้กรอบการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ ช่วยเพิ่มจำนวนห้องสมุด ขยายขอบเขตการเข้าถึงหนังสืออย่างต่อเนื่อง ปี 2020 มีห้องสมุดประชาชนประมาณ 17,454 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา หลายแห่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเรียนรู้ และมีบทบาทเป็นองค์กรชุมชนที่สำคัญ

          ตลอดระยะเวลายาวนานหลายทศวรรษ กฎหมายห้องสมุดได้ผ่านกระบวนการพัฒนา ดำเนินการ ปรับปรุงแก้ไข และเพิ่มเติมส่วนที่ขาดหาย จนในที่สุดก็ค่อยๆ สร้างระบบบริหารจัดการที่สมบูรณ์ ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาห้องสมุดมากที่สุดในโลก

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Lara Swimmer

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Lara Swimmer
กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Lara Swimmer

บรรยากาศภายในห้องสมุดประชาชนมิสซูลา รัฐมอนแทนา สหรัฐอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จในการบูรณาการแหล่งเรียนรู้หลายแห่งไว้ในห้องสมุด

อังกฤษ

          ห้องสมุดที่เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปในอังกฤษช่วงแรกจัดตั้งโดยผู้ใจบุญ เช่น บรรดาพ่อค้าที่ร่ำรวย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้แก่นักวิชาการและนักบวช มีการเปิดบริการแบบเก็บค่าสมาชิกและค่าธรรมเนียม ต่อมาพัฒนาการเริ่มเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นเมื่อมีการจัดทำพระราชบัญญัติห้องสมุดประชาชน ปี 1850 (Public Libraries Act of 1850) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของชนชั้นแรงงานให้สามารถเข้าถึงความรู้ พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ กำหนดให้เมืองที่มีประชากรมากกว่า 10,000 คน ต้องจัดหาสถานที่ แสงสว่าง และเชื้อเพลิงเพื่อจัดตั้งห้องสมุด รวมถึงงบประมาณค่าจ้างบรรณารักษ์

          ผลจากกฎหมายทำให้เริ่มมีการจัดตั้งห้องสมุดประชาชนในอังกฤษมากขึ้น เฉพาะปี 1887 มีห้องสมุดใหม่ถึง 77 แห่ง และภายในปี 1914 ประชากรอังกฤษกว่า 62% อาศัยอยู่ในเขตที่มีห้องสมุด ต่อมา รัฐได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอีกหลายครั้ง จนกระทั่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 คือ พระราชบัญญัติห้องสมุดประชาชนและพิพิธภัณฑ์ ปี 1964 (The Public Libraries and Museums Act 1964)

          พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวระบุให้รัฐมนตรี ปัจจุบันคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา (Department for Culture, Media and Sport: DCMS) มีหน้าที่ควบคุมดูแลและปรับปรุงบริการห้องสมุดประชาชนซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานระดับท้องถิ่นให้ดีขึ้น พร้อมทั้งให้อำนาจในการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา กฎหมายยังกำหนดให้หน่วยงานท้องถิ่นมีหน้าที่จัดหาห้องสมุดที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ ให้ทุนสนับสนุน ประเมินความต้องการของชุมชน และออกแบบบริการให้ตรงกับความต้องการเหล่านั้น

          ฝ่ายห้องสมุด กระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และการกีฬา เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมและปรับปรุงบริการ ร่วมวางกลยุทธ์ ออกแบบนโยบาย รวมทั้งกิจกรรม ประสานหาแหล่งทุน ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ ‘คิดถึงห้องสมุดก่อน’ ที่เน้นให้รัฐบาลทั้งระดับส่วนกลางและท้องถิ่น ส่งเสริมการให้บริการชุมชน

          นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดบทบาทของห้องสมุดประชาชน รวมถึงหน้าที่ของห้องสมุดโรงเรียนต่อการส่งเสริมการอ่าน เป็นที่มาของ The reading framework คู่มือให้คำแนะนำด้านการส่งเสริมด้านการอ่าน ยังไม่นับรวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น Arts Council England, Libraries Connected และ British Library

          แม้ว่าห้องสมุดประชาชนจะได้รับเงินทุนหลักผ่านรัฐบาลท้องถิ่น แต่ก็ยังมีโอกาสได้รับเงินผ่านโครงการทุนต่างๆ เช่น กองทุนปรับปรุงห้องสมุด กองทุนรับมือกับความเหงาและปัญหาสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของ โควิด-19 ผ่านการอ่าน เป็นต้น

          ตัวเลขล่าสุดจากองค์กรการกุศลแห่งหนึ่ง ระบุว่ามีห้องสมุดสาธารณะ 2,581 แห่งทั่วอังกฤษ นอกจากนี้ ผลการศึกษาจาก University of East Anglia ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในห้องสมุดสร้างผลตอบแทนมหาศาลแก่เงินต้นทุนและชุมชน โดยในแต่ละปีสร้างรายได้อย่างน้อย 3.4 พันล้านปอนด์

          ตัวอย่างเหล่านี้ เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของกฎหมายห้องสมุดในสหราชอาณาจักร ซึ่งส่งผลให้แผนดำเนินงานส่งเสริม พัฒนา และผลักดันให้ห้องสมุดกลายเป็นส่วนสำคัญของชุมชน

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
โครงการส่งเสริมทักษะการอ่านที่เทศมณฑลซัฟฟอล์ก (Suffolk) โดยห้องสมุดจะให้การสนับสนุนทรัพยากร และออกแบบกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแก่โรงเรียน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสภาเมือง
ห้องสมุดประชาชน โรงเรียน และองค์กร National Literacy Trust 
Photo: National Literacy Trust

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
รถห้องสมุดเคลื่อนที่ของห้องสมุดเคมบริดจ์เชียร์ (Cambridgeshire Library) ซึ่งแต่ละเดือนจะตระเวนไปยัง 388 สถานที่ ใน 98 หมู่บ้าน ผลวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ระบุว่า บริการดังกล่าวสร้างมูลค่าต่อผู้ใช้มากกว่า 300,000 ปอนด์ต่อปี
Photo: Cambridgeshire Libraries

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Cambridgeshire Libraries

ฟินแลนด์

          ห้องสมุดในประเทศฟินแลนด์เกิดขึ้นจากการริเริ่มของภาคเอกชนในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ต่อมาช่วงปลายศตวรรษ การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งเริ่มให้การสนับสนุนและรับผิดชอบด้านการบริหารและการเงินของห้องสมุดในพื้นที่ หลังจากฟินแลนด์ได้รับเอกราช พระราชบัญญัติห้องสมุดประชาชนฉบับแรก เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 1928 (Public Library Act 1928) กฎหมายระบุว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และห้องสมุดควรส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงสร้างพลเมืองที่กระตือรือร้น เป็นประชาธิปไตย และมีเสรีภาพในการแสดงออก

          กฎหมายห้องสมุดของฟินแลนด์มีการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ พระราชบัญญัติห้องสมุดฉบับแก้ไขในปี 1996 เป็นต้นมา ระบุถึงการจัดสรรเงินจากรัฐบาลกลางให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อเป็นทุนในการให้บริการห้องสมุดในทุกเขตเทศบาล รวมถึงระบุบทบาทสำคัญ ตลอดจนคุณสมบัติของพนักงาน

          พระราชบัญญัติห้องสมุดฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้ในปี 2017 การปรับแก้ไขครั้งนี้ คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของเทศบาล จากการรวมตัวของเทศบาลขนาดเล็ก การย้ายถิ่นฐาน ทำให้ห้องสมุดต้องจัดกิจกรรมและบริการที่หลากหลาย ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ในทุกกลุ่มอายุ มีการสร้างทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของพลเมือง สามารถใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม การประชุม ทำงาน และการเรียนรู้

          ห้องสมุดประชาชนของประเทศฟินแลนด์ ขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลกระจายให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งนำเงินทุนไปบริหารจัดการห้องสมุดประชาชนในกำกับดูแลของตน โดยมีงบประมาณถึง 368 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และไม่มีการตัดงบประมาณลง โดยปี 2022 ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลลงทุนในห้องสมุดจะอยู่ที่ประมาณ 60.1 ยูโร ต่อประชากร 1 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป

          ห้องสมุดประชาชนเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในฟินแลนด์ ประชาชนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ใช้บริการห้องสมุดอย่างน้อยเดือนละครั้ง และ 20 เปอร์เซ็นต์ใช้บริการทุกสัปดาห์

          ชาวฟินแลนด์เชื่อว่าห้องสมุดเป็นรากฐานของการศึกษาและประชาธิปไตยในอุดมคติ แนวคิดหลักมาจากคำว่า Sivistys (อ่านว่า ซี-วิส-ตุส) ในภาษาฟินนิช รากศัพท์หมายถึงความดีงามหรือความบริสุทธิ์ แต่เมื่อนำมาใช้ในบริบทต่างๆ ก็อาจหมายความรวมถึง การศึกษา การแสวงหาความรู้ ความมีอารยะ ปัญญา และการรู้แจ้ง  อีกแนวคิดที่เชื่อว่าทุกคนต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในด้านการศึกษาและการพัฒนาตัวเอง มาจากคำศัพท์ในภาษาเยอรมันว่า belo จากรากฐานความคิดดังกล่าว รัฐจึงทุ่มเททรัพยากรและความสามารถให้ชาวฟินแลนด์ทุกคน รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในฟินแลนด์ ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Jussi Hellsten

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Jussi Hellsten

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Aleksi Poutanen

ญี่ปุ่น

          ในอดีต ห้องสมุดญี่ปุ่นคือพื้นที่ส่วนตัวของบรรดาขุนนางและราชวงศ์ ส่วนห้องสมุดประชาชนแห่งแรกที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1872 คือ เทอิโคะกุ โทโชะคัง (Teikoku Toshokan) ในช่วงนั้นมีห้องสมุดเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้งาน ต่อมาเริ่มมีการรวมกลุ่มของบรรณารักษ์ที่นำไปสู่การก่อตั้ง สมาคมห้องสมุดญี่ปุ่น ในปี 1892 ซึ่งมีสมาชิกเริ่มต้น 23 คน และเพิ่มเป็นมากกว่า 2,300 คน ในปี 1957

          กฎหมายห้องสมุดฉบับแรก ประกาศใช้ในปี 1899 โดยให้อำนาจเมืองและหมู่บ้านในการจัดตั้งห้องสมุด อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวมีไว้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น ดังนั้น เนื้อหาการอ่านจึงถูกควบคุม โดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสังคมนิยม รัฐบาลกลางมีอำนาจควบคุมห้องสมุดประชาชนของจังหวัดและท้องถิ่น และมีการเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าเช่าหนังสือ

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
ห้องสมุดจากพื้นที่ของขุนนางและราชวงศ์ญี่ปุ่น ปัจจุบันกลายเป็นห้องสมุดนานาชาติวรรณกรรมเด็ก
Photo: Kakidai, CC BY-SA 4.0 ,via Wikimedia Commons

          ต่อมาในช่วงสงคราม ห้องสมุดประจำจังหวัดส่วนใหญ่ถูกทำลายจากระเบิด บ้างกลายเป็นสำนักงาน และบางแห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดเงินทุน ห้องสมุดถึง 14 แห่งจากทั้งหมด 27 แห่งในกรุงโตเกียวถูกทำลาย จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าหนังสือกว่าครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่นเสียหายจากสงคราม

          ภายหลังสงคราม แนวคิดเรื่องกิจการห้องสมุดสมัยใหม่แบบอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ญี่ปุ่น กฎหมายห้องสมุดได้รับการพัฒนาและประกาศใช้ในปี 1950 โดยมีการระบุบทบัญญัติห้ามเก็บค่าธรรมเนียม กำหนดบทบาทและคุณวุฒิการศึกษาที่จำเป็นของบรรณารักษ์และผู้ช่วยบรรณารักษ์

          ห้องสมุดเป็นสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนด้านภาษี โดยต้องมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ หน่วยงานปกครองท้องถิ่นจังหวัดแต่ละแห่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดตั้งและดำเนินการด้วยตนเอง กฎหมายนี้ทำให้ห้องสมุดประชาชนในญี่ปุ่นมีแนวคิดของความเป็นสถาบันประชาธิปไตย

          แม้ว่าในปี 1954 สมาคมห้องสมุดญี่ปุ่น ได้ตีพิมพ์บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของห้องสมุด (Library Bill of Right) ซึ่งประกาศให้ประชาชนเข้าถึงหนังสือได้ฟรีและมีเสรีภาพ แต่ปริมาณการให้บริการในขณะนั้นยังค่อนข้างต่ำ สถิติปี 1958 แสดงให้เห็นว่าห้องสมุดประชาชนจำนวน 723 แห่งในญี่ปุ่น มีจำนวนหนังสือให้ยืมโดยเฉลี่ยเพียง 1,257 เล่ม ต่อปี ต่อแห่ง หลายแห่งไม่มีบริการให้ยืมหนังสือเสียด้วยซ้ำ  ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มาใช้บริการที่นั่งทำงานเท่านั้น

          กระทั่งปี 1963 สมาคมห้องสมุดญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะกรรมการและตีพิมพ์รายงานการจัดการห้องสมุดสาธารณะในเมืองขนาดกลางถึงขนาดเล็ก (The Management of Public Libraries in Medium and Small Cities) คณะกรรมการเสนอว่าควรมีห้องสมุด 1 แห่ง สำหรับประชาชน 50,000 คน และทุกแห่งควรเพิ่มหนังสือในคอลเลกชันประมาณ 5,000 เล่มต่อปี รายงานฉบับนี้ประกาศว่าบทบาททางสังคมของห้องสมุดประชาชนคือการรับประกันเสรีภาพทางปัญญา และจัดหาทรัพยากรต่างๆ ให้กับชุมชนอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ รายงานฉบับนี้ กลายเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาห้องสมุดประชาชนญี่ปุ่นตั้งแต่กลางทศวรรษ ที่ 1960 เป็นต้นไป

          ในปี 1970 สมาคมห้องสมุดแห่งญี่ปุ่นได้ตีพิมพ์หนังสือ ‘The Citizens’ Library’ เพื่อเน้นย้ำถึงบริการที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การหมุนเวียนทรัพยากร การใช้หนังสือ บริการจองหนังสือ และการยืมหนังสือระหว่างห้องสมุด 2. บริการสำหรับเด็ก และ 3.บริการสำหรับชุมชน ห้องสมุดหลายแห่งใช้แนวทางจากเอกสารนี้เพื่อพัฒนานโยบายของตน

          กฎหมายห้องสมุดญี่ปุ่นมีการปรับปรุงอยู่เสมอ หลักสูตรด้านบรรณารักษ์และห้องสมุดต้องปรับปรุงมาตรการผลผลิตบุคลากรให้สอดรับกับกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน ปัจจุบันห้องสมุดประชาชนในญี่ปุ่นหนึ่งแห่งจะมีหนังสือประมาณ 110,000 เล่ม ส่วนใหญ่ใช้ระบบสืบค้นข้อมูล (OPAC) ให้บริการการจองหนังสือทางเว็บไซต์ อีเมล อีกทั้งทางโทรศัพท์มือถือ ห้องสมุดประชาชนในญี่ปุ่นยังเป็นที่แรกที่นำเทคโนโลยีการตรวจสอบหลอดเลือดดำบนฝ่ามือแบบไร้สัมผัสมาใช้แทนบัตรสมาชิก นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์วรรณกรรมท้องถิ่นและเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัลเพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย หลายแห่งมีทางเดินอักษรเบรลล์และป้ายเพลงเพื่อนำทางผู้พิการทางสายตา ตลอดจนบริการอ่านหนังสือและบริการยืมจดหมาย เพื่อให้ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศได้อย่างไม่มีข้อจำกัด หลายแห่งจับมือกับภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมบริหารงานเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น รวมร้านหนังสือเข้ากับห้องสมุด

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
ห้องสมุดมะสึบาระ (Matsubara Civic Library)
Photo: Kai Nakamura

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Kai Nakamura

กฎหมายห้องสมุดเครื่องมือจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อมาตรฐานบริการที่เท่าเทียม
Photo: Kai Nakamura

          จากตัวอย่างกฎหมายห้องสมุดทั้ง 4 ประเทศ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการพัฒนาห้องสมุดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น ต้องมีการวางรากฐานกฎหมายที่เข้มแข็ง มีพัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม และครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ มิติทางการเมือง ที่ให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับชาติและท้องถิ่น มิติทางเศรษฐกิจ ที่ต้องกำหนดแหล่งทุนสนับสนุนให้ห้องสมุดอยู่ได้อย่างยั่งยืน และมิติการให้บริการ ที่ต้องมีความหลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อพัฒนามาตรฐานการให้บริการและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับห้องสมุดประชาชน ให้สมกับเป็นพื้นที่เรียนรู้หลักของประชาชนในประเทศ


ที่มา

บทความ “Brief Information on Libraries in Japan” จาก jla.or.jp (Online)

บทความ “Comparative Research on Library Law in China, the United States, Korea and Japan”จาก scrip.org (Online)

บทความ “England’s public libraries generate value every year” จาก uea.ac.uk (Online)

บทความ “Finland spends six times as much as Germany on public libraries” จาก naple.eu (Online)

บทความ “Guaranteeing Access to Knowledge: The Role of Libraries” จาก wipo.int (Online)

บทความ “Library legislation – Various components and importance” จาก blog.harkawal.in (Online)

บทความ “Prefectural Libraries in Postwar Japan” จาก projectivecities.aaschool.ac.uk (Online)

บทความ “Public libraries, arts and cultural policy in the UK” จาก researchgate.net (Online)

บทความ “Public library legislation: a comparative study” จาก unesdoc.unesco.org (Online)

บทความ “Report under the Public Libraries and Museums Act 1964 for 2022/23” จาก gov.uk (Online)

บทความ “Suffolk Libraries launches new schools programme and literacy vision” จาก suffolklibraries.co.uk (Online)

บทความ “The Development of Public Libraries in Japan After World War II” จาก origin-archive.ifla.org (Online)

บทความ “The History and Current Challenges of Libraries in Japan” จาก aquila.usm.edu (Online)

บทความ “ห้องสมุดฟินแลนด์ สะท้อนฐานคิดการศึกษาและประชาธิปไตย” จาก thekommon.co (Online)

วิทยานิพนธ์ “กฎหมายห้องสมุด” จาก cuir.car.chula.ac.th (Online)

เว็บไซต์ Department for Culture, Media & Sport (Online)

เว็บไซต์ Libraries.fi (Online)

เว็บไซต์ Ministry of Education and Culture (Online)

Cover Photo: Laura Dove

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก