ห้องสมุดร่วมสมัย สร้างแบรนด์ใหม่ให้ ‘เมืองสร้างสรรค์’

912 views
6 mins
July 22, 2022

เมืองชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกมีแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง โดยอาศัยรากฐานความมั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การผลักดันเมืองไปสู่การเป็น “เมืองสร้างสรรค์” (Creative City) จึงเป็นแนวคิดยอดนิยมของนักพัฒนาเมือง เพราะแนวคิดนี้ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่าง คน (People) กับ สถานที่ (Place) ทำให้เมืองเต็มไปด้วยกิจกรรม ถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกิดการแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่เพิ่มทั้งมูลค่าและคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมอีกด้วย

การผลักดันอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จำเป็นต้องอาศัยทุนของเมือง ทั้งด้าน “วัฒนธรรม” อันเป็นวิถีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปแต่ละแห่ง “ผู้คน” ที่ทำงานสร้างสรรค์และผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ และ “สภาพแวดล้อมของเมือง” ที่เอื้อต่อการลงทุน การผลิตและการค้า รวมทั้ง “พื้นที่” คุณภาพเพื่อใช้ประกอบกิจกรรมสร้างสรรค์

เมืองที่ต้องการพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ จึงมีแนวโน้มที่จะลงทุนกับโครงการขนาดใหญ่เพื่อทำให้ย่านใจกลางเมืองมีชีวิตชีวาขึ้น เช่น การสร้างทางเท้าขนาดใหญ่ จัตุรัส สวนสาธารณะ ศูนย์วัฒนธรรม ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ฯลฯ พื้นที่ทางวัฒนธรรมดังกล่าวรองรับกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงออกถึงตัวตนที่หลากหลาย เก็บเกี่ยวประสบการณ์และแรงบันดาลใจใหม่ๆ รวมทั้งแสวงหาความรู้ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ความสำเร็จในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางวัฒนธรรมจะสามารถกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดึงดูดแรงงานที่มีความรู้ และทำให้เมืองเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ดังเช่นกรณีของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการพัฒนาย่านต่างๆ ให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ เช่นการฟื้นฟูอาคารเก่าย่านบรูคลินซึ่งมีถนนเรียงด้วยอิฐแบบโบราณและอาคารโรงยาสูบเก่าให้เป็นร้านค้า ร้านอาหาร และแกลเลอรี การพัฒนาพื้นที่รกร้างและอันตรายย่านมีตแพ็คกิ้งให้เป็นสวนสาธารณะควบคู่ไปกับพัฒนาเขตประวัติศาสตร์และตลาด ฯลฯ ในวันนี้ นิวยอร์กกลายเป็นมหานครที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากทั่วโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้คนในเมือง

ห้องสมุดเป็นหนึ่งในสถาบันด้านการศึกษาและวัฒนธรรมที่เติบโตไปพร้อมการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ ในสมัยโบราณห้องสมุดเป็นสถานที่สะสมความรู้สำหรับชนชั้นสูง แต่เมื่อสังคมเคลื่อนตัวสู่อุตสาหกรรม ห้องสมุดได้ตอบสนองต่อค่านิยมประชาธิปไตย โดยสนับสนุนเสรีภาพทางปัญญา เผยแพร่สารสนเทศและความรู้ให้แก่ทุกคน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ เมืองแต่ละเมืองได้สร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้อันมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์ของผู้ใช้บริการและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง ตัวอย่างห้องสมุดร่วมสมัยที่กล่าวถึงในบทความนี้ หลายแห่งเป็นห้องสมุดที่ถูกออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลก ที่ไม่ได้ออกแบบตัวอาคารให้ตอบสนองการใช้งานในฐานะพื้นที่เก็บรักษาหนังสือเท่านั้น แต่ยังดึงจุดเด่นของห้องสมุดแต่ละแห่งให้ฉายชัด ส่งเสริมเอกลักษณ์แต่ละเมืองให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมที่ทำให้เมืองนั้น ‘สร้างสรรค์’ อีกด้วย

พื้นที่ทางวัฒนธรรม เปลี่ยนเมืองน่ากลัวให้เป็นย่านน่าอยู่

ในกรณี เมืองเมเดยิน ซึ่งใหญ่เป็นอันสองของประเทศโคลอมเบีย ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่มีอาชญากรรมสูงที่สุดติดอันดับโลก ต่อมามีการวางผังเมืองใหม่ให้บูรณาการทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวัฒนธรรม หนึ่งในโครงการสำคัญก็คือการสร้างอุทยานห้องสมุด 9 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยห้องสมุดแต่ละแห่งมีเนื้อหาและความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน เช่น ห้องสมุดลำดับที่ 5 ได้ชื่อว่าเป็น ‘บ้านแห่งการอ่านหนังสือสำหรับเด็ก’ ส่วนห้องสมุดลำดับที่ 6 เป็นศูนย์เอกสารเฉพาะทาง เช่น เอกสารด้านกีฬา ด้านสิ่งแวดล้อม และการบริหารการวางแผน อีกทั้งยังเป็นหอจดหมายเหตุเมือง ทำหน้าที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความทรงจำของชาวเมืองเมเดยิน

พื้นที่ห้องสมุดมีลักษณะเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสาน ทั้งพื้นที่การอ่าน โรงภาพยนตร์ โรงละคร หอจดหมายเหตุ ห้องจัดนิทรรศการ และสื่อสารสนเทศ ห้องสมุดได้ช่วยฟื้นฟูเมืองให้น่าอยู่และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม รวมทั้งกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ จนกระทั่งเมืองเมเดยินได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมมากมาย

‘Spain Library Park’ หนึ่งในเก้าอุทยานห้องสมุดของเมืองเมเดยิน
เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นบนภูเขารายล้อมด้วยชุมชนยากจน
Photo : EL EQUIPO MAZZANTI

สะพานเชื่อมระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ห้องสมุดในเมืองที่มีรากเหง้าอารยธรรมเก่าแก่ สามารถมีบทบาทในการให้บริการสารสนเทศด้านประวัติศาสตร์ในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจและทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ดังเช่นห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) ประเทศอียิปต์ ชื่อของห้องสมุดชวนให้หวนระลึกถึงความยิ่งใหญ่ของห้องสมุดที่เคยมีอยู่เมื่อครั้งก่อนคริสตกาล

ห้องสมุดแห่งใหม่ตั้งอยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ให้บริการหนังสือกว่า 8 ล้านรายการ มีห้องแล็บที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและอนุรักษ์เอกสารสารโบราณ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี รวมทั้งสื่อมัลติมีเดียหลากหลายรูปแบบ ผู้ที่หลงใหลเรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์มักไม่พลาดการมาท่องเที่ยวที่ห้องสมุด จุดไฮไลต์ก็คือบรรยากาศแปลกใหม่ในห้องอ่านหนังสือที่ยื่นลงไปใต้ทะเลลึก 32 เมตร

ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria)
ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria)

ห้องสมุดของเมืองบางแห่งตั้งอยู่ในอาคารสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่กว่าร้อยปี ดังเช่นอาคาร สตีเฟน เอ. ชวาร์ซมัน ของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก (New York Public Library) ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ด้านหน้าทางเข้ามีประติมากรรมรูปสิงโตงามสง่าผลงานศิลปินที่มีชื่อเสียง แม้ทุกรายละเอียดของอาคารห้องสมุดจะวิจิตรตระการตาดูน่าเกรงขาม แต่ห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กพยายามสร้างปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่ เช่นการจัดกิจกรรม ‘Library after Hours’ รองรับงานเทศกาลต่างๆ ทั้งการแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ และงานเลี้ยงรื่นเริง ผู้คนทั่วเมืองต่างหลั่งไหลกันเข้ามาร่วมสนุกพร้อมกับดื่มด่ำความงดงามของอาคารในยามค่ำคืน สลัดภาพห้องสมุดยุคเก่าที่เงียบขรึมและเต็มไปด้วยกฎระเบียบเคร่งครัด

The Stephen A. Schwarzman Building
อาคาร สตีเฟน เอ. ชวาร์ซมัน ของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก
Photo : ajay_suresh, CC BY 2.0, via Wikimedia Commons
อาคาร สตีเฟน เอ. ชวาร์ซมัน ของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก (New York Public Library)

จุดนัดพบสร้างสรรค์ สวรรค์ของการทำงานยุคใหม่

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ห้องสมุดประชาชนมีบทบาทในฐานะพื้นที่สาธารณะที่จัดกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของชุมชนเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างชัดเจน ทั้งกิจกรรมทางวัฒนธรรม กิจกรรมพบปะนักเขียน เวิร์กชอปเพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้าน รวมทั้งกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านการเป็นผู้ประกอบการและพัฒนาทักษะอาชีพ

ดังเช่นห้องสมุดประชาชนเมืองซอลต์เลก (Salt Lake City Public Library) สหรัฐอเมริกา ที่มีจุดเด่นด้านการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ห้องสมุดให้บริการพื้นที่สำหรับการพบปะพูดคุยทางธุรกิจ พร้อมทั้งให้บริการตอบคำถามเฉพาะทางสำหรับผู้ประกอบการ เช่น การก่อตั้งบริษัท การขออนุญาตต่างๆ และการเข้าถึงทรัพยากรทางธุรกิจที่มีอยู่ในเมือง

ส่วนห้องสมุดประชาชนนิวยอร์ก (New York Public Library) พยายามสนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงความรู้ที่ทันสมัยผ่านช่องทางใหม่ๆ และเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ดังที่มีการวิจัยผลกระทบทางสังคมพบว่า บทบาทของห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กมีผลต่อการเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ทั่วรัฐ

แลนด์มาร์กที่น่าจดจำของเมือง

การสร้างห้องสมุดแห่งใหม่ขึ้นในเมืองมักคำนึงถึงการเชื่อมต่อกับถนน พลาซ่า และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งการเข้าถึงที่สะดวกสำหรับคนเดินเท้า สถาปัตยกรรมของห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 มีการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับมาตรฐานการออกแบบห้องสมุดรุ่นก่อนๆ ห้องสมุดร่วมสมัยจึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่สวยงาม เป็นมิตร และพร้อมรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้คน

ห้องสมุดหลายแห่งมีสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงและกลายเป็นแบรนด์ที่น่าภูมิใจของเมือง ผลที่ตามมาคือผู้คนจากทั่วโลกหลั่งไหลมาเยี่ยมชมห้องสมุด และกระตุ้นให้พื้นที่โดยรอบมีความคึกคักตามไปด้วย ตัวอย่างอาคารห้องสมุดที่มีความโดดเด่น เช่น ห้องสมุดประชาชนแฮลิแฟกซ์ (Halifax Public Library) ประเทศแคนาดา ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกจากสแกนดิเนเวีย Schmidt Hammer Lassen Architects ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการออกแบบห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ยุคใหม่ อาคารมีรูปร่างเหมือนกล่องทรงยาววางซ้อนไขว้กัน แนวคิดการออกแบบเน้นการพัฒนาห้องสมุดให้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และวัฒนธรรมใจกลางชุมชน โดยเปิดกว้างให้ผู้คนหลากหลายกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม

Schmidt/Hammer/Lassen Architects
ห้องสมุดประชาชนแฮลิแฟกซ์ (Halifax Public Library)
Photo : Schmidt Hammer Lassen Architects

ส่วนห้องสมุดกลางซีแอตเทิล (Seattle Central Library) สหรัฐอเมริกา ซึ่งออกแบบโดยเร็ม คูลฮาส และโจชัว ปรินซ์-รามุส  อาคารห้องสมุดมีรูปทรงแปลกตาคล้ายหนังสือหลายเล่มวางซ้อนทับกัน จุดยืนในการออกแบบคือการสร้าง ‘ห้องสมุดแห่งยุคดิจิทัล’ ซึ่งผู้คนยังคงไม่ละทิ้งหนังสือกระดาษ ใจกลางห้องสมุดมี ‘Book Spiral’ ทางเดินลาดวนรอบอาคารซึ่งเชื่อมระหว่างชั้น 1 ถึงชั้น 4 ทำให้ผู้ใช้บริการเลือกอ่านหนังสือได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องขึ้นบันได

เมืองแต่ละเมืองได้สร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้อันมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์ของผู้ใช้บริการและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยสรุปแล้วห้องสมุดร่วมสมัยจึงเป็นสถาบันด้านการศึกษาและวัฒนธรรมที่มีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และบทบาทไปตามกาลเวลา ในบริบทของเมืองที่ต้องการเติบโตบนพื้นฐานของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ห้องสมุดสามารถเป็นหนึ่งในกลไกของการพัฒนาควบคู่ไปกับมิติด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะตัวอาคารที่โดดเด่น พื้นที่พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ พื้นที่กิจกรรมเพื่อทำให้เมืองแต่ละแห่งมีชีวิตชีวา รวมถึงการพื้นที่ที่บันทึกความทรงจำของเมือง ทำให้ภาพของ “เมืองสร้างสรรค์” ชัดเจนขึ้นทั้งในสายตาของผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว

ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล Seattle Central Library, สหรัฐอเมริกา
ห้องสมุดประชาชนซีแอตเทิล Seattle Central Library, สหรัฐอเมริกา

ที่มา

บทความ “ก่อร่าง สร้างย่าน สู่เมืองสร้างสรรค์ของเรา” จาก cea.or.th (Online

บทความ “วิถีเมือง “เชียงใหม่” ต้นแบบเมืองสร้างสรรค์ภาคเหนือ” จาก cea.or.th (Online)

บทความ “Bibliotheca Alexandrina” จาก wikipedia.org (Online)

บทความ “How the Creative Class Co-creates a City’s Brand Identity: A Qualitative Study” จาก SAGE Journals (Online)

บทความ “Library-Related Job Openings in and around New York State” จาก nysl.nysed.gov (Online)

บทความ “New York City’s Tourist Industry Is Poised To Rebound” จาก forbes.com (Online)

บทความ “The Role of Library Parks as Places of Learning and Culture in the Transformation of the Learning:  City of Medellín, Colombia” จาก academia.edu (Online)

บทความ “The Urban Library: Creative City Branding in Spaces for All” จาก springer.com (Online)

Cover Photo : Ran Ding on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก