ทุกวันนี้มีประชากรทั่วโลกที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึง 795 ล้านคน มีเด็กกว่า 72 ล้านคนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน และมีผู้คนนับร้อยล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือหรือทรัพยากรความรู้ นอกจากนั้นยังมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกว่า 65 ล้านคนทั่วโลก ราว 28 ล้านคนเป็นเด็ก เฉลี่ยแล้วบุคคลหนึ่งประสบภาวะลี้ภัยเป็นระยะเวลา 17 ปี ในขณะที่ความช่วยเหลือด้านการศึกษาคิดแล้วมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศแทบจะไม่มีรากฐานของงานวรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ บางประเทศไม่มีห้องสมุดแม้แต่แห่งเดียว
สำหรับประชากรผู้ยากไร้ ห้องสมุดคือสิ่งกำหนดชะตากรรมในอนาคต หนังสือเป็นมากกว่าการถ่ายทอดความรู้หรือการเปิดมุมมองใหม่ๆ แต่มันเป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับการฝึกฝนทัศนะวิพากษ์วิจารณ์และการศึกษาเพื่อความเป็นประชาธิปไตย และท้ายที่สุดแล้วหนังสือยังเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
ห้องสมุดไร้พรมแดน Libraries Without Borders
ความไม่เท่าเทียมด้านการเรียนรู้และอุปสรรคในการเข้าถึงสารสนเทศ เป็นจุดเริ่มต้นที่มาของ Libraries Without Borders (LWB)[1] องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับนานาชาติ ซึ่งมุ่งที่จะก้าวข้ามนิยามดั้งเดิมของห้องสมุดและขยายกรอบงานห้องสมุดในการเข้าไปมีบทบาทและสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการศึกษา จนสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในค่ายผู้ลี้ภัยซึ่งผู้คนมีชีวิตอยู่อย่างไร้ความหวังและไม่เคยได้รับการศึกษาหรือแม้แต่เข้าถึงหนังสือเลยสักเล่มเป็นเวลาเกือบ 20 ปี
Libraries Without Borders หรือองค์กรห้องสมุดไร้พรมแดน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2007 เมื่อแพทริค วิล (Patrick Weil) นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเดินทางไปยังค่ายผู้อพยพลี้ภัยสงครามที่แอฟริกา เขาพบว่าที่นั่นได้จัดหาเต็นท์ อาหาร น้ำ และเสื้อผ้า ให้กับผู้ลี้ภัย แต่ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความงอกงามทางปัญญาเลย
ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ประเทศบุรุนดี มีผู้ประสบภัยที่อพยพมาจากคองโกกว่า 37,000 คน ครูคนหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยกล่าวว่า “เราหนีมาจากประเทศของเราเพราะที่นั่นไม่ปลอดภัย กฎหมายระบุไว้ว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา แต่เราไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา …วันพรุ่งนี้หรือวันข้างหน้าประเทศของเราคงจะสงบสุข แต่เด็กๆ เหล่านี้จะเอาความรู้อะไรกลับไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคองโกล่ะ?”
แพทริคเชื่อว่า “พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ต้องการเพียงมีอาหารให้กินอิ่มท้องวันละสามมื้อ หลายคนเผชิญกับความทุกข์ระทมจากความรู้สึกโดดเดี่ยว ความเป็นอื่น และความหดหู่ พวกเขาต้องการติดต่อกับโลกภายนอกเพื่อจะบอกให้ผู้อื่นรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ และพวกเขาต้องการมองเห็นเป้าหมายของชีวิตในอนาคต”
เมื่อแพทริคกลับมายังฝรั่งเศสเขาได้บอกเล่าประสบการณ์และความคิดของเขาให้สาธารณชนได้รับรู้ และตัดสินใจก่อตั้งองค์กร Libraries Without Borders ขึ้น พร้อมกับริเริ่มแคมเปญ The Urgency of Reading โดยมีการลงนามความร่วมมือกับนักเขียนและนักการศึกษาจำนวนมาก รวมถึงผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลอีก 8 คน ดำเนินการรณรงค์ขอรับบริจาคหนังสือมือสองจากชาวฝรั่งเศสเพื่อจัดส่งไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในที่ต่างๆ กิจกรรมนี้ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ในโกดังของ LWB มีหนังสือมากกว่า 4 แสนเล่ม ซึ่งได้รับการจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบพร้อมที่จะจัดส่งไปยังพื้นที่ที่ต้องการทั่วโลก
ในปี 2010 เกิดเหตุการณ์พิบัติภัยแผ่นดินไหวทำลายล้างกรุงปอร์โตแปรงซ์ ประเทศเฮติ ทำให้ผู้คนกว่า 1.5 ล้านคนต้องอาศัยตามท้องถนนและศูนย์พักพิงชั่วคราว ความช่วยเหลือที่ประชาคมนานาชาติมีต่อวิกฤตินี้มุ่งไปที่เรื่องความจำเป็นในการการอยู่รอด เช่น อาหาร น้ำดื่มที่สะอาด ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม การสุขาภิบาล บริการทางการแพทย์ และการควบคุมโรค
LWB ได้เข้าไปตั้งเต็นท์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่นกัน และเห็นว่าการศึกษาและวัฒนธรรมก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการช่วยลดความแปลกแยกและสิ้นหวัง เพื่อรักษาสุขภาวะของจิตใจและอารมณ์ จึงได้สร้างห้องสมุดชั่วคราวให้กับเด็กๆ โดยพยายามระดมจัดหาหนังสือภาษาฝรั่งเศสและภาษาครีโอลในจำนวนที่มากพอที่จะทำให้ครูสามารถเริ่มต้นสอนหนังสือได้อีกครั้ง แต่แล้วก็พบกับความจริงอันแสนเจ็บปวดว่า หนังสือส่วนใหญ่ที่ถูกจัดส่งมานั้นได้รับความเสียหายไปเป็นจำนวนมาก เพราะถูกโยนลงจากเครื่องบินท่ามกลางสายฝนกระหน่ำ
กล่องห้องสมุด Ideas box
ข่าวสารเกี่ยวกับอุปสรรคดังกล่าวไปถึงหูของฟิลิปเป้ สตาร์ก (Philippe Starck) มัณฑนากรชาวฝรั่งเศสซึ่งออกแบบเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ในครัวให้กับเเบรนด์ดัง เขาจึงรับอาสาออกแบบกล่องห้องสมุดแบบป้องกันฝนให้กับ LWB โดยไม่คิดมูลค่า โดยมีหลัก 6 ข้อในการออกแบบคือ ต้องเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและมีเทคโนโลยีที่สามารถย่อหรือขยายส่วนได้ มีสื่อเนื้อหาสาระที่ปรับให้เหมาะกับชุมชนซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ขนย้ายและติดตั้งง่าย ดำเนินงานได้ง่ายเพียงแค่อบรมเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่แล้วไปพัฒนาต่อ ใช้พลังงานต่ำ และมีต้นทุนไม่แพง
กล่องห้องสมุดนี้มีชื่อว่า ‘Ideas box’ 1 ชุดมีจำนวน 4 กล่อง แต่ละใบถูกจำแนกด้วยสีต่างกันตามฟังก์ชันการใช้งาน มีขนาดตรงตามมาตรฐานบรรจุภัณฑ์สำหรับขนส่งสินค้าทั่วไป ใช้เวลาในการติดตั้งเพียง 20 นาที เมื่อทุกอย่างถูกคลี่ออกจะกลายเป็นห้องสมุดเคลื่อนที่ ในพื้นที่ประมาณ 100 ตารางเมตร ประกอบด้วยโต๊ะซึ่งมีจุดชาร์จไฟผ่านช่องเสียบ USB เก้าอี้พับ 24 ตัว แท็บเล็ต 15 เครื่องและคอมพิวเตอร์ 4 เครื่องซึ่งสามารถเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เครื่องอ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-reader) 50 เครื่องซึ่งมีอีบุ๊คกว่า 5,000 รายการ หนังสือจำนวน 300 เล่ม โทรทัศน์พร้อมเครื่องฉายและภาพยนตร์กว่า 100 เรื่อง วิดีโอเกมและบอร์ดเกม กล้องความละเอียดสูง 5 ตัวสำหรับกิจกรรมทำหนังและสิ่งพิมพ์ อุปกรณ์ GPS 3 เครื่องสำหรับเรียนรู้เรื่องแผนที่ และวัสดุทำหรับทำงานประดิษฐ์และศิลปะ
Ideas Box บรรจุเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและระบบแบตเตอรี่ เพื่อให้สร้างพลังงานใช้เองได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงไฟฟ้าจากภายนอก เนื้อหาสาระการเรียนรู้จะถูกปรับไปตามภาษาของผู้ใช้บริการ ความต้องการ และวัฒนธรรมของชุมชน ดังนั้น แม้ว่ากล่องแต่ละใบจะมีรูปแบบโครงสร้างตามมาตรฐานเดียวกัน แต่ในแต่ละโครงการก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถแปรผันไปตามบริบทและวัตถุประสงค์ได้ ห้องสมุด Ideas Box เพียง 1 ชุดมีความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เทียบเท่ากับห้องสมุดขนาดเล็กแห่งหนึ่งของเมือง สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้นับพันคน
ต้นทุนของ Ideas box 1 ชุดมีราคาประมาณ 50,000 ยูโร สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เข้ามาสนับสนุนส่วนหนึ่ง และได้รับการสนับสนุนจากเอกชนหรือมูลนิธิต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง โดย LWB วางเป้าหมายว่าจะสร้าง Ideas Box ให้ได้มากกว่า 1,000 ชุดภายในปี 2022
ห้องสมุด Ideas Box เพื่อโลกที่เท่าเทียม
Ideas box ชุดแรกถูกนำเข้าไปติดตั้งในค่ายผู้อพยพลี้ภัยที่บุรุนดี เพื่อสร้างการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ชุมชนสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกและช่วยพัฒนาการศึกษา อุปกรณ์การเรียนรู้ของห้องสมุด Ideas Box มีส่วนอย่างสำคัญในการสอนเรื่องดิจิทัล และใช้จัดหลักสูตรอบรมอาชีพและการเรียนรู้ด้วยตนเองสำหรับผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังนำไปใช้ในกิจกรรมถ่ายภาพ ผลิตวีดิทัศน์ งานศิลปะ งานเขียนและบล็อก ซึ่งทำให้บรรยากาศการสรรค์สร้างวัฒนธรรมของชุมชนฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
Ideas box เป็นเครื่องมือสำคัญที่ LWB ใช้ในการทำงานส่งเสริมการศึกษาและอ่านออกเขียนได้ในหลายพื้นที่ เช่น ค่ายผู้อพยพลี้ภัยในเลบานอนและจอร์แดนซึ่งมีผู้ลี้ภัยสงครามจากซีเรีย ชุมชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินในออสเตรเลีย แม้แต่ในเขตเมืองของประเทศพัฒนาแล้วซึ่งมีชุมชนของผู้ที่มีรายได้น้อย เช่นที่เมืองกาเลส์ ประเทศฝรั่งเศส และชุมชนมอร์ริส ไฮตส์ (Morris Heights)[2] เขตบร็องซ์ ในกรุงนิวยอร์ก นอกจากนี้มีการทดลองนำ Ideas box ไปใช้กับกลุ่มผู้ย้ายถิ่นหรือผู้ที่ขาดโอกาสทางสังคมในอังกฤษ เนื่องจากมีรายงานวิจัยพบว่าเด็กกว่า 1 ใน 4 มีความสามารถในการอ่านต่ำกว่าเกณฑ์ และประมาณ 1 ใน 3 ไม่เคยมีหนังสือเป็นของตัวเอง
“มีงานศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบทางสังคมระยะยาวอันเกิดจากห้องสมุดคือการลดความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ห้องสมุดกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ที่ซึ่งผู้คนสามารถเรียนรู้ได้อย่างอิสระและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ห้องสมุดยังช่วยทลายอุปสรรคทางสังคม เป็นสถานที่ซึ่งพวกเขาจะได้พบปะผู้คนที่มาจากหลากหลายภูมิหลัง เราได้ยินเรื่องราวนับไม่ถ้วนจากผู้ยากไร้และชนกลุ่มน้อย ถึงหนทางที่ห้องสมุดช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นจากความยากจน เมื่อสารสนเทศกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่า ห้องสมุดก็ยิ่งทวีบทบาทในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและประชาธิปไตย” แพทริคกล่าว
ห้องสมุดทุกหนทุกแห่ง การเรียนรู้ที่ใดก็ได้
จุดแข็งของ Ideas Box คือความเป็นที่สุดทั้งในแง่ความสะดวกด้านการเคลื่อนย้าย ความอเนกประสงค์ และการปรับรูปแบบได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เมื่อปี 2017 LWB ลงนามกับกระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศโคลอมเบีย เพื่อเข้าไปติดตั้ง Ideas Box อย่างน้อย 20 ชุด ในพื้นที่ซึ่งสงครามกลางเมืองอันยาวนานกว่า 50 ปีเพิ่งสงบลง นับเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังที่แสดงถึงบทบาทของวัฒนธรรม สารสนเทศ และห้องสมุด ในการสร้างประชาธิปไตย สายใยทางสังคม และความศรัทธาระหว่างชุมชน
เบื้องหลังความคิดที่น่าสนใจของ LWB คือความเชื่อที่ว่าห้องสมุดมิได้เป็นแหล่งทรัพยากรหนังสืออีกต่อไป สิ่งสำคัญประการแรกสุดของห้องสมุดแห่งศตวรรษที่ 21 คือเป็นสถานที่สำหรับการเข้าถึงสารสนเทศและการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างความรู้ การสร้างนวัตกรรมทางสังคม และเป็นสถานที่ซึ่งผู้คนมาพบปะกันเพื่อออกแบบอนาคตและสร้างทางออกสำหรับความท้าทายที่พวกเขาเผชิญ
กระบวนการทำงานของ LWB มิได้มุ่งให้เกิดเพียงกายภาพของห้องสมุด แต่ยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมบรรณารักษ์ การขนส่งหนังสือ การจัดอบรมนักเขียน การสนับสนุนสำนักพิมพ์ในท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายห้องสมุด เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพที่จะริเริ่มก่อตั้งห้องสมุดด้วยตนเอง และเกิดวัฏจักรในการขับเคลื่อนวงการหนังสือให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
LWB เห็นว่าห้องสมุดควรถูกสร้างสรรค์ขึ้นในทุกหนทุกแห่งที่สังคมต้องการ ไม่ว่าบนท้องถนน ในสวน ในโรงเรียน เรือนจำ โรงพยาบาล โรงงาน หรือมหาวิทยาลัย ทั้งบนอินเทอร์เน็ตและออฟไลน์ เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ห้องสมุดไม่เพียงจะต้องปรับปรุงการให้บริการแต่จะต้องเปลี่ยนชุดความคิด และพิจารณาบทบาทและพันธกิจของตนใหม่
LWB เรียกบรรณารักษ์ว่า ‘ผู้ประกอบการทางสังคม’ (social entrepreneur) เพื่อเน้นให้เห็นบทบาทที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมและการสร้างนวัตกรรมซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของบรรณารักษ์ พร้อมกับมีโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบรรณารักษ์ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนรู้เสมือน ‘วิทยาลัยห้องสมุดไร้พรมแดน’ (Bibliothèques Sans Frontières Campus) เพื่อให้บรรณารักษ์สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็นและเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้หรือประสบการณ์การทำงานระหว่างกัน (ในระยะแรกรองรับเฉพาะบรรณารักษ์ผู้ใช้งานภาษาฝรั่งเศส และทยอยเพิ่มเนื้อหาภาษาอังกฤษ)
ผลกระทบทางสังคม
หากพิจารณา Ideas Box ไปให้ไกลกว่าความเป็นห้องสมุด จะเห็นว่าโครงการนี้มีส่วนเสริมสร้างสำนึกรู้คุณค่าตนเอง และช่วยพัฒนากำลังใจและพลังสร้างสรรค์ ส่งเสริมการรวมตัวและการทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากความเสี่ยงต่อการกระทำทารุณและการตักตวงผลประโยชน์ รวมทั้งสร้างสวัสดิภาพให้กับกลุ่มคนชายขอบ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ทุพพลภาพ เด็กและผู้หญิง ห้องสมุด Ideas Box หลายแห่งกลายเป็นศูนย์กลางสร้างชุมชนใหม่และการแบ่งปันสารสนเทศ เป็นพื้นที่ที่ผู้ปกครองฝากบุตรหลานไว้ได้อย่างปลอดภัยในช่วงกลางวัน
จากการเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น นักเรียนที่เข้าชั้นเรียนภาษาฝรั่งเศสและคณิตศาสตร์ในโครงการ Ideas Box มีพัฒนาการด้านวิชาการดีกว่านักเรียนที่เข้าชั้นเรียนของโรงเรียนทั่วไปถึงร้อยละ 23 ครูที่เข้าร่วมโครงการระบุว่าทัศนคติของนักเรียนเปลี่ยนไป กล่าวคือ มีชีวิตชีวา มีแรงจูงใจและมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่ได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ ก็ได้รับการเสริมสร้างพลังเชิงบวก พวกเขามารวมตัวกันนับพันคนที่ Ideas Box เพื่อสร้างสัมพันธ์กับโลกและสร้างชีวิตใหม่อีกครั้ง
รายงานผลกระทบ (impact report) จากการดำเนินโครงการในชุมชนรายได้น้อยในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า Ideas Box ได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้สำหรับเด็ก ช่วยให้ผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงเครื่องมือพัฒนาวิชาชีพได้อย่างสะดวกสบาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่พบปะสาธารณะที่ปลอดภัยไร้กำแพงด้านอายุ เชื้อชาติ หรือเพศ
ก้าวต่อไปในอนาคต
ทุกวันนี้ LWB ทำงานอยู่ในพื้นที่มากกว่า 50 ประเทศ ครอบคลุมแทบทุกทวีป มีอาสาสมัครทั่วโลกนับพันคน จัดส่งหนังสือไปยังผู้ขาดโอกาสหลายหมื่นเล่มต่อปี รวมถึงการอบรมให้ความรู้แก่บรรณารักษ์ในท้องถิ่น มีผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงมากกว่า 5 ล้านคน โครงการกล่องห้องสมุด Ideas box ได้รับรางวัลชนะเลิศ World Innovation Summit for Education หรือ WISE Awards ปี 2016 ในฐานะโครงการนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสามารถสร้างทางออกให้กับความท้าทายด้านการศึกษาในปัจจุบัน
แพทริคกล่าวถึงการพัฒนาต่อยอดโครงการในระยะถัดไปว่า “เราต้องการพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ได้ 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ทุกเมืองในสหรัฐอเมริกามีห้องสมุดประชาชน สิ่งจำเป็นส่วนใหญ่มีการลงทุนไว้หมดแล้ว การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่เพียงหาวิธีการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อแสวงหาความรู้ อาจจัดสรรพื้นที่ใหม่และจัดหาบุคลากรที่มีความสามารถมาดำเนินงาน
“โดยทั่วไปแล้วกิจกรรมห้องสมุดใช้เงินลงทุนน้อยกว่ากิจกรรมอื่นๆ มาก แต่องค์กรระหว่างประเทศกลับไม่ค่อยให้การสนับสนุนเงินทุนด้านนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้คนสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อห้องสมุด ผมจึงอยากจะบอกว่า หากต้องการสร้างโอกาสและความเท่าเทียม เครื่องมือหลักก็คือห้องสมุด”
เจเรมี ลาชาล (Jérémy Lachal) ผู้อำนวยการ Libraries without Borders กล่าวว่า “หลายปีมานี้ผู้คนพากันบอกว่าห้องสมุดไม่มีประโยชน์อีกต่อไปแล้ว เพราะอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีแพร่หลายไปทุกหนทุกแห่ง แต่พวกเรากลับเห็นตรงข้าม เราคิดว่าไม่มีช่วงเวลาไหนที่ห้องสมุดจะมีความจำเป็นมากเท่านี้อีกแล้ว ห้องสมุดเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมและเป็นเครื่องมือให้กับผู้คนเพื่อป้องกันความเสี่ยง ช่วยสร้างองค์ความรู้ของสังคมและปัญญารวมหมู่ รวมถึงสนับสนุนให้ค้นพบหนทางแก้ปัญหา
“สิ่งที่ชัดเจนคือบทบาทของห้องสมุดกำลังเปลี่ยนไปในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ห้องสมุดไม่ได้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมทรัพยากรหนังสืออีกต่อไป แต่เป็นสถานที่ซึ่งนำเสนอบริการหลากหลายที่มีส่วนช่วยในการพัฒนามนุษย์ เป็นห้องทดลองนวัตกรรมทางสังคม เป็นพื้นที่การทำงานร่วมกัน และเป็นพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งผู้คนมีอิสระที่จะวาดอนาคตของตนเอง”
“ก่อนที่ Ideas Box จะปรากฏตัว พวกเราตั้งใจจะออกแบบหาทางออกที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อตอบโจย์ด้านวิกฤติมนุษยธรรม แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าเราได้กล่องเครื่องมือที่ถูกออกแบบและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการหรือบริบทใดก็ได้ทั่วโลกมาเป็นทางออก เราจึงหวังว่าวันพรุ่งนี้ Ideas Box จะเบ่งบานเพิ่มจำนวนขึ้นและมีส่วนในการรังสรรค์ห้องสมุดแห่งศตวรรษที่ 21 ขึ้นใหม่ โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”
เชิงอรรถ
[1] ชื่อภาษาฝรั่งเศส คือ Bibliothèques Sans Frontières หรือ BSF ในบทความนี้ใช้ชื่อที่เรียกในภาษาอังกฤษ ยกเว้นชื่อเฉพาะบางโครงการ
[2] พื้นที่ซึ่งถูกประกาศว่าเป็นเขตยากจนที่สุดในสหรัฐอเมริกา ประชากรร้อยละ 40 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งระดับความยากจน และมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 25
ที่มา
เว็บไซต์ Librarieswithoutborder .org
บทความ All hail the pop-up library ใน https://www.researchinformation.info/analysis-opinion/all-hail-pop-library
หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความ 2 ชิ้น ได้แก่ “Libraries Without Borders ห้องสมุดไร้พรมแดน เพื่อมนุษยชาติ โอกาส และความเท่าเทียม” เผยแพร่ครั้งแรก ตุลาคม 2559 เผยแพร่ซ้ำ กันยายน 2561 พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ โหล (2560) และ “Ideas Box การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ ณ ที่ใดก็ได้!” เผยแพร่ครั้งแรก กันยายน 2561
Cover Photo by Andrew Ebrahim on Unsplash