บรรณารักษ์และบทบาทในการสนับสนุนการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมสู่ชุมชน

672 views
4 mins
June 9, 2023

          บรรณารักษ์ ตำแหน่งที่หลายคนอาจมองว่ามีหน้าที่เพียงดูแลหนังสือ และคอยให้บริการสารสนเทศกับ ผู้มาใช้บริการอยู่ภายในห้องสมุดเท่านั้น แต่สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล บรรณารักษ์เองก็เป็นผู้ส่งมอบความรู้และกระจายความรู้ให้กับสังคมได้โดยตรงเช่นกัน

          จุดเริ่มต้นของการนำทักษะในวิชาชีพบรรณารักษ์ผสานกับความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่อสู่ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มในปี พ.ศ. 2563 คณะทำงานพันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคมร่วมกันจัด “โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม How to ทิ้ง” สำหรับนักเรียนโรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม โดยมีจุดมุ่งหมายในการให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ และการนำเอาสิ่งของเหลือใช้มาผ่านกระบวนการใช้ซ้ำเพื่อลดปริมาณขยะ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล กับหน่วยงาน โรงเรียนและชุมชนโดยรอบ โดยกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ ประกอบไปด้วย ฐานกิจกรรม จำนวน 6 ฐาน ได้แก่ กิจกรรมพาขยะกลับถัง กิจกรรม ECO-BRICKS อัดขยะพลาสติกใส่ขวด ทำอิฐก่อสร้าง กิจกรรมทิ้งให้ลงถัง กิจกรรมปริศนาอักษรไขว้ด้านการจัดการขยะ กิจกรรม RECYCLE BINGO และกิจกรรมรักษ์โลกด้วยมือเรา

          ความสำเร็จในการจัดกิจกรรม “How to ทิ้ง” รวมกับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมทางการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม ประกอบกับความต้องการให้เกิดผลผลิตที่มาจากการนำความรู้ในการคัดแยกขยะและนำกลับมาใช้ใหม่เกิดขึ้นจริง โดยยึดหลักทำได้ง่าย ใช้ได้จริง ถูกนำมาตกผลึกกลายเป็น “สมุดคัดเขียนเพื่อการเรียนรู้ ก-ฮ” ด้วยการนำกระดาษสมุดที่เหลือใช้มาสร้างสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบสมุดคัดเขียน เสริมสร้างจินตนาการ พร้อมกับการปลูกฝังแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าให้กับเยาวชน

          หอสมุดฯ มีกระดาษที่ถูกนำมาใช้ในงานเอกสารต่างๆ แบบครั้งเดียวทิ้งจำนวนมาก เมื่อใช้เสร็จกระดาษหลายแผ่นจะจบลงด้วยการถูกทำลายทิ้งอย่างน่าเสียดาย กระบวนการผลิตสมุดคัดเขียนฯ จึงเริ่มต้นจากที่ทีมงานผู้จัดกิจกรรมสำรวจกระดาษเหลือใช้ประเภทต่างๆ ในหอสมุดฯ รวมถึงขอความร่วมมือไปยังห้องสมุดเครือข่ายเพื่อขอรับบริจาค และนำกระดาษเหล่านั้น มาชุบชีวิต มอบหน้าที่ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          ในปี พ.ศ. 2565 หอสมุดฯ  ได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ของนักเรียนด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ในชื่อกิจกรรม “สมุดทำมือเพื่อเรา เพื่อโลก EP.1 และ EP.2”

          กิจกรรมสมุดทำมือเพื่อเรา เพื่อโลก EP.1 นั้น จัดขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนาหอสมุดและคลังความรู้ฯ เป็นกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมหามงคล จำนวน 40 คน พร้อมกับคุณครู 2 ท่าน โดยมีบรรณารักษ์ประจำสถานีการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมเคลื่อนที่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และให้เด็กๆ ร่วมกันทำสมุดทำมือด้วยตนเอง และได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์ โรงเรียนต้นแบบส่งตัวแทนเข้าร่วมในฐานะพี่เลี้ยงผู้ช่วยจัดกิจกรรม

          ในส่วนการทำสมุดทำมือ นักเรียนทุกคนจะได้สมุดทำมือคนละ 2 เล่ม เพื่อนำมาทำการเข้าเล่มและวาดลวดลายเติมสีสัน รวมทั้งตกแต่งสมุดทำมือด้วยเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ถุงหรือกล่องขนม เมื่อทำสำเร็จแล้ว สมุดทำมือเล่มที่ 1 นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเก็บไว้ใช้เอง ในฐานะผลงานจากการเรียนรู้ที่จะมีส่วนในการรักโลกด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ส่วนเล่มที่ 2 จะร่วมบริจาคให้กับทีมงานผู้จัดกิจกรรมเพื่อนำไปส่งมอบให้โรงเรียนประถมขนาดเล็กในเขตจังหวัดนครปฐมที่ยังขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนต่อไป

          จากกิจกรรมในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ทีมงานผู้จัดกิจกรรมได้นำเอาข้อเสนอแนะและอุปสรรคต่างๆ ที่พบ รวมทั้งผลจากการประเมินผลงานทั้ง 80 เล่มของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมมาพัฒนาปรับปรุงแก้ไข เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการเย็บเข้าเล่มสมุดทำมือให้ง่ายต่อการใช้งาน และการเพิ่มเติมเนื้อหาของสมุดฝึกคัดเขียน ทำให้ในปัจจุบันมีถึง 4 รูปแบบ ครอบคลุมทั้งเรื่อง ตัวอักษร ก-ฮ ตัวอักษรภาษาอังกฤษ A-Z และตัวเลขไทยและอารบิก

          กิจกรรมสมุดทำมือเพื่อเรา เพื่อโลก EP.2 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2565 ในงาน “เปิดโลกคลังความรู้เพื่อประชาชน” ซึ่งหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ศาลายา ภายในงานมีทั้งการเสวนาวิชาการส่งต่อองค์ความรู้เพื่อประชาชนผู้สนใจ และกิจกรรมสนุกๆ เพื่อแนะนำจุดเด่นและเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับบริการต่างๆ ในหอสมุดฯ โดยในส่วนของกิจกรรมสมุดทำมือเพื่อเรา เพื่อโลก มีประชาชนทั่วไปสนใจเข้าร่วมจัดทำและขอรับสมุดทำมือไปให้บุตรหลานเป็นจำนวนมาก

          เมื่อสิ้นสุดกิจกรรม สมุดทำมือคัดเขียนเพื่อการเรียนรู้จำนวนกว่า 2,400 เล่มถูกส่งมอบให้กับโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก 12 แห่งในจังหวัดนครปฐมที่แจ้งความจำนงขอรับสมุดทำมือ

          เนื่องด้วยโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งมีงบประมาณและบุคลากรที่จำกัด อีกทั้งคุณครูผู้สอนมีภาระการสอนและงานอื่นๆ อีกมาก จนการพัฒนาปรับปรุงสื่อการเรียนการสอนเพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะของนักเรียนเป็นไปได้ค่อนข้างลำบาก ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้จึงจำเป็นต้องใช้สมุดคัดเขียนหรือแบบฝึกหัดแบบเดิมๆ ที่โรงเรียนจัดหาให้เป็นสื่อการเรียนรู้ ในจุดนี้ สมุดคัดเขียนที่ทางทีมงานพัฒนาขึ้น จะเข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการอ่านเขียนเรียนรู้ตัวหนังสือ ตัวเลข และคำศัพท์ต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การเป็นเยาวชนที่รักและสนใจการอ่านหนังสือได้ในอนาคต

          ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ประการ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น หลายองค์กรมีการพิจารณานำ SDGs มาเป็นกรอบหรือแนวทางในการดำเนินงานขององค์กร ร่วมเดินตามเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนรุ่นถัดไป สร้างความสงบสุขและมั่งคั่งให้ทุกคนบนโลกอย่างเท่าเทียม

          ห้องสมุดเองก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่สามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ได้ แน่นอนว่าเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ทุกคนมองเห็นความเกี่ยวข้องกับงานห้องสมุดเป็นอันดับแรก เนื่องจากมีความสอดคล้องกับหน้าที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการรู้หนังสือ สามารถอ่านออกเขียนได้ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลหรือองค์ความรู้ต่างๆ ของห้องสมุด

          นอกจากเป้าหมายที่ 4 ที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดโดยตรงแล้ว เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมาย 13 การแก้ปัญหาและปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ล้วนมีเป้าหมายย่อยที่เกี่ยวกับการศึกษา การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเพื่อนำไปสู่การบริโภคแบบยั่งยืน และลดการเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามลำดับ ซึ่งห้องสมุดหรือตัวบรรณารักษ์เองสามารถมีบทบาทในการผลักดันสังคมสู่การบรรลุ SDGs ในเป้าหมายอื่นๆ เหล่านี้ได้เช่นกัน

          แม้พันธกิจหลักของห้องสมุดคือ การรวบรวมและเก็บรักษาเพื่อให้บริการสารสนเทศ ทว่าบรรณารักษ์ในยุคปัจจุบันไม่ใช่เพียงผู้พิทักษ์หนังสือ และไม่สามารถรอคอยให้ผู้ใช้มารับบริการที่ห้องสมุดเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

          โครงการสมุดทำมือนี้ จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่า บรรณารักษ์สามารถมีบทบาทในการเป็นผู้ส่งมอบและกระจายความรู้ได้โดยตรง ดังเช่นการนำเอาความรู้ทางด้านต่างๆ เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ การนำขยะสิ่งของเหลือใช้กลับเข้าไปหมุนเวียนใช้ใหม่ ไปถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้ ทั้งยังสามารถเป็นนักจัดกิจกรรม ผู้ริเริ่มและดำเนินกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ส่งต่อผลผลิตทางความรู้เหล่านั้นไปยังภาคส่วนอื่นๆ ที่ยังขาดแคลน เพิ่มโอกาสและช่วยพัฒนาทักษะการรู้หนังสือของเด็ก เริ่มปลูกสร้างพื้นฐานการมีนิสัยรักการอ่านได้ตั้งแต่ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสพัฒนาทักษะการอ่านเขียนได้มากขึ้นตั้งแต่ยังไม่เข้าใจความสำคัญและมหัศจรรย์ของโลกหนังสือและการเรียนรู้

วิธีทำสมุดคัดเขียนเรียน ก – ฮ สำหรับเด็กเล็ก


ที่มา

Cover Photo: Mahidol University Library and Knowledge Center

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก