เชื่อว่าหลายคนมีคำถามคล้ายผมว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เกิดขึ้นกระจายไปในหลายจังหวัดในช่วงปี 2563 นั้นจะจบลงอย่างไร ถ้าไม่เจอกับการระบาดของโควิด-19 เสียก่อน
จะจบหรือไม่จบในรุ่นเราเป็นเรื่องเกินความพยายามจะตอบ แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือเป็นการเคลื่อนไหวที่เหนือความคาดหมาย คำถามที่ว่านักเรียน นิสิต นักศึกษาหายไปไหนจากการเมืองไทยเป็นสิ่งที่ถามกันมากว่า 4 ทศวรรษนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏอย่างท้าทาย แหลมคม และลงลึกในระดับโครงสร้างสังคม
การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีสโลแกนสั้นๆ แต่ทรงพลังว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’
สื่อนัยว่าโครงสร้างอันบิดเบี้ยวพิกลพิการที่ดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทยมาเนิ่นนานต้องจบในรุ่นของพวกเขา มรดกบาปต้องไม่ถูกส่งทอดต่อไปยังรุ่นลูก รุ่นหลานอีก
‘ให้มันจบที่รุ่นเรา: ขบวนการเยาวชนไทยในบริบทสังคมและการเมืองร่วมสมัย’ หนังสือที่รวบรวมเส้นเรื่อง ปัจจัยการก่อตัว แนวทางการเคลื่อนไหว ฯลฯ เปรียบได้กับการบันทึกประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ที่ค่อนข้างละเอียดครอบคลุม โดยนักวิชาการ 5 คน อนุสรณ์ อุณโณ, สามชาย ศรีสันต์, เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์, อสมา มังกรชัย และ ชัยพงษ์ สำเนียง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาในปี 2563 เป็นการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดนับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งยังกระจายไปทั่วประเทศ จากเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2563…
“มีการจัดการชุมนุมทางการเมือง 385 ครั้งใน 62 จังหวัดโดยกลุ่มต่างๆ 112 กลุ่ม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทยครั้งใหญ่”
ส่วนคำว่า ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ เกิดขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 เมื่อเพจของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ประกาศว่า
“ไม่ทนอีกต่อไป…”
“เวลาไหนกันที่เราจะออกมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก่อนที่มันจะสายเกินไป?”
“เวลาที่เพื่อนๆ ของคุณ ถูกจับไปทีละคนสองคน”
“เวลาที่พ่อแม่พี่น้องของคุณ อดอยากและแร้นแค้น”
“เวลาที่เขาปลูกฝังอำนาจนิยมบ้าๆ ลงในเวลาเรียนของลูกๆ คุณ”
“ถ้ารอให้ถึงเวลานั้น มันอาจจะสายเกินไป เรารอมากว่า 80 ปีแล้ว จะต้องรอไปอีกนานซักเท่าไหร่กัน”
“เวลานี้เราไม่ทนอีกแล้ว! 17:00น. เป็นต้นไป 18 กรกฎาคมนี้! มุ่งตรงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลุกขึ้นสู้กับต้นตอของปัญหา ถอนโคนเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน”
“อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของลูกหลานเราที่ต้องมาเรียกร้องความยุติธรรมไม่จบสิ้น ให้มันจบในรุ่นของเรา”
ส่วนแรกของหนังสือนำเสนอแนวคิดทางมานุษยวิทยาในการศึกษาเรื่อง ‘รุ่น’ ตามด้วยเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการชุมนุมของนักศึกษาในลักษณะแฟลชม็อบในรั้วมหาวิทยาลัย หนังสือวิเคราะห์ว่าเกิดจากเงื่อนไข 3 ประการ ข้อแรกคือ นักศึกษาในรุ่นนี้เติบโตขึ้นภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนและซึมซับรับรู้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงต่อเนื่อง สอง การจำกัดสิทธิเสรีภาพและการเข้าไปแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของพวกเขาเช่นกรณีการพยายามแบนเพลง ‘ประเทศกูมี’ เงื่อนไขสุดท้ายคือ การสืบทอดอำนาจทหารของรัฐธรรมนูญผ่านกลไกวุฒิสภา (และอื่นๆ) การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไร้ประสิทธิภาพ กรณียุบพรรคอนาคตใหม่ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก “พวกเขารู้สึกคับแค้นที่สิทธิเสียงของพวกเขาที่ได้มีโอกาสแสดงออกเป็นครั้งแรกได้ถูก ‘ปล้น’ ไปต่อหน้า” รุ่นเขาจึงชุมนุมประท้วงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เกิดความรู้สึกร่วมกันถึงความเป็น ‘รุ่น’ ที่เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน
ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจ ‘ลงถนน’ คือการอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชาและการจับกุมตัวแทนเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย 2 คนที่จังหวัดระยองขณะประยุทธ์ จันทร์โอชาลงพื้นที่
จากนั้นหนังสือบอกเล่าและวิเคราะห์การชุมนุมเคลื่อนไหวของเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค ในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งในแต่ละภูมิภาคต่างพบเจอแรงสนับสนุนและแรงต้านต่างกันไป
อนุสรณ์ อุณโณ อธิบายให้ผมฟังว่าการเคลื่อนไหวในภูมิภาคที่มีความเข้มข้นคือภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ต่อต้านส่วนกลางมาแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นกรณีครูบาศรีวิชัยหรือกบฏผู้มีบุญ อีกทั้งภาคเหนือก็มีกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชนที่เข้มแข็งคอยสนับสนุน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เป็นฐานที่มั่นของคนเสื้อแดง
แต่ภาคใต้มีความเคลื่อนไหวน้อยกว่าและไม่ค่อยรับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่เนื่องจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับส่วนกลางมาอย่างต่อเนื่องทำให้มีความเป็นอนุรักษนิยม อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์ย้ำว่าคนใต้ไม่ได้เกลียดชังเยาวชนเหล่านี้ แต่มีมุมมองในลักษณะว่าเป็นเด็กอ่อนประสบการณ์จึงถูกนักการเมืองหลอกใช้
ส่วนสามจังหวัดชายแดนใต้การเคลื่อนไหวก็ค่อนข้างจำกัดเช่นกัน เป็นผลจากการทับถมของปัญหาหลากหลาย ทั้งเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ กลุ่มผู้นำทางศาสนาที่ไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับการเมือง จิตสำนึกความเป็นมลายู-ปาตานี ถึงกระนั้น ในกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสันติภาพและการปกครองตนเองในพื้นที่ก็เกิดความตระหนักรู้ว่าเป้าหมายของตนไม่มีทางเป็นไปได้หากการเมืองระดับประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย
หนังสือเก็บรายละเอียดอย่างครบถ้วน ประหนึ่งว่าถ้าคุณอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในปี 2563 มันก็ให้คำตอบได้ดี เช่น กระบวนการที่พวกเขาจัดขบวนการชุมนุม การพูดคุยประสานงานระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาค รูปแบบองค์กรที่แตกต่างจากการชุมนุมในอดีต กิจกรรมอันหลากหลายในสถานที่ชุมนุม การใช้โซเชียลมีเดียเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการเคลื่อนไหวอย่างเห็นผล และการยื่นข้อเรียกร้องชนิด ‘ทะลุเพดาน’ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นต้น
มีคนสนับสนุนย่อมมีคนต่อต้าน ข้อเรียกร้องของนักศึกษาไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการพูดคุยเจรจา รัฐใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามและสลายการชุมนุม ดำเนินคดี ขณะที่กลุ่มขวาจัดก็เดินสายแจ้งความเยาวชนที่ออกมาชุมนุมจำนวนหนึ่งด้วยมาตรา 112
ผมไม่รู้ว่าผู้อ่านจะมีคำถามคล้ายๆ ผมหรือเปล่า ที่ว่าในการชุมนุมแต่ละครั้งไม่ได้มีแค่เยาวชน แต่มีคนหลากหลายวัยตั้งแต่วัยทำงานถึงผู้สูงอายุ ถ้าคำว่า ‘รุ่นเรา’ จำกัดขอบเขตเฉพาะเยาวชนก็ดูแปลกๆ อยู่ เพราะถ้าใช้อายุเป็นเกณฑ์ระบุความเป็น ‘รุ่น’ ย่อมมีคนตกรุ่นจำนวนมาก
แต่ไม่ได้มีเพียง ‘อายุ’ หรอกที่ทำให้ผู้คนต่างวัยรู้สึกเป็นคน ‘รุ่นเดียวกัน’ มันมีอีก 2 สิ่งที่ก่อรูปรุ่นขึ้นมา นั่นคือประสบการณ์ร่วมและอุดมการณ์ความคิด
‘อนุสรณ์อธิบายว่าเขาใช้แนวคิดเรื่องรุ่นใน 2 ความหมาย ความหมายที่หนึ่งคือคนหลายช่วงวัยที่เกาะเกี่ยวกันด้วยประสบการณ์ร่วมจนก่อให้เกิดสำนึกร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีการเกาะเกี่ยวกันด้วยความคิดด้วยซึ่งถูกผลิตโดยปัญญาชน รุ่นจึงไม่ได้หมายถึงคนช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่ง แต่หมายถึงคนหลากหลายช่วงวัยที่เกาะเกี่ยวด้วยประสบการณ์ร่วมกันและความคิด’ (อ้างอิงจากเว็บไซต์ประชาไท ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ และบางสิ่งที่ ‘จบ’ ไปแล้ว)
การตกหลุมหล่มความเหลื่อมล้ำ ถูกกดขี่บีฑาจากโครงสร้าง การถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การประจักษ์ในความอยุติธรรม การใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน เป็นต้น และความคิด ความฝันทางการเมืองที่ต้องการเห็นสังคมที่ดีกว่าเดิม หลอมรวมร้อยรัดผู้คนต่างวัย ต่างฐานะให้กลายเป็น ‘รุ่นเรา’ ที่มีความฝันเดียวกัน
ไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบที่รุ่นเราหรือไม่ เพราะกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้จบก็พยายามยื้อยุดเข็มนาฬิกาไม่ให้เดินไปข้างหน้า มันอาจจะต้องใช้เวลาสิบปี ยี่สิบปี หรือตลอดรุ่นคน สิ่งที่บอกได้คือ ‘ความคิด’ เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มีทางทำให้หายไปได้ มันจะดำรงอยู่และงอกงามแม้ว่าต้องหลบซ่อน
ถึงกระนั้น ใช่ว่าการต่อสู้ในปี 2563 จบสิ้นไปแล้ว เปล่าเลย มันยังคงดำรงอยู่ในหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าทุกความฝันของ ‘รุ่นเรา’ จะไม่ได้จบลงอย่างสมบูรณ์ตามที่หวัง…
ทว่า ก็มีบางสิ่งบางอย่างจบลงไปแล้วโดยไม่มีทางรื้อฟื้นขึ้นมาอีก