ห้องสมุดยุคใหม่สไตล์ดัตช์ ‘Less Collection, More Connection’

3,622 views
12 mins
July 6, 2021

          อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครรู้ว่าห้องสมุดในอนาคตจะเป็นอย่างไรกันแน่ จะต้องเผชิญกับอะไร และจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร สิ่งที่ทำได้และควรจะทำก็คือการแสวงหาคำตอบว่า ‘ห้องสมุดที่ดี’ เป็นอย่างไร แล้ววางกลยุทธ์ในการไปสู่เป้าหมายนั้น

          มีนักคิดและบรรณารักษ์จำนวนหนึ่งได้เสนอวิสัยทัศน์ใหม่เกี่ยวกับห้องสมุดในอนาคตว่า ห้องสมุดจะไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของ ‘พื้นที่การอ่าน’ หรือ ‘การยืมคืนหนังสือ’ อีกต่อไป แต่ควรจะมีลักษณะเป็นชุมชนเพื่อการสร้างสรรค์และแบ่งปันความรู้ เป็นสถานที่เหมาะสำหรับการพบปะสนทนา รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคม ด้วยการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการสร้างความรู้

          วิลเลม เดอ โกนิ่ง จิตรกรที่มีชื่อเสียงชาวดัตช์ ได้กล่าววลีอันกินใจไว้ว่า “ฉันจะต้องเปลี่ยนเพื่อให้อยู่เหมือนเดิม” หมายความว่า มนุษย์ไม่ควรมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ท่ามกลางบริบทของโลกใบนี้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นบรรณารักษ์ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดและหาคำตอบใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงการปรับปรุงบริการห้องสมุดให้ทันสมัย แต่เป็นการสร้างห้องสมุดรูปแบบใหม่ขึ้นมา

          ร็อบ เบราซีลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาออกแบบสร้างสรรค์แนวคิดใหม่แก่ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ อธิบายถึงการทำงานของห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 ว่า ห้องสมุดควรส่งเสริมการพัฒนาสติปัญญา ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการแสวงหาความรู้เท่านั้น แต่ต้องเป็นการจัดการความรู้ ความเข้าใจ และปัญญา ดังเช่นโมเดล DIKW (Data, Information, Knowledge, Wisdom)1

โมเดล DIKW (Data, Information, Knowledge, Wisdom)
โมเดล DIKW (Data, Information, Knowledge, Wisdom)

          “เราต้องคิดถึงบทบาทที่มีต่อสังคมในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งสนับสนุนทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่าน การเขียน ทักษะดิจิทัลและอื่นๆ การเป็นสมาชิกของชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เราต้องคิดว่าจะดึงผู้คนให้มีส่วนร่วมกับห้องสมุดได้อย่างไร จะสร้างความเป็นชุมชนได้อย่างไร จะทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่ห่วงใยต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างไร”

          ร็อบมองเห็นว่ามีปรากฏการณ์อย่างน้อย 3 เรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากศตวรรษที่ผ่านมา และการปรับปรุงห้องสมุดควรปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

          เรื่องแรก ห้องสมุดถูกออกแบบและสร้างขึ้นในช่วงเวลาของความขาดแคลนสื่อทรัพยากรและข้อมูล แต่ปัจจุบันห้องสมุดไม่ได้ผูกขาดการเข้าถึงข้อมูลอีกต่อไป กลายเป็นยุคที่มีหนังสือและข้อมูลล้นเกิน บางอย่างก็ไม่มีประโยชน์ บางอย่างมีประโยชน์แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เท่ากับว่าการมีข้อมูลมากขึ้นไม่ได้ทำให้ผู้คนฉลาดขึ้น ภารกิจที่สำคัญของห้องสมุดจึงเป็นมากกว่าการทำให้คนเข้าถึงความรู้ได้สะดวกขึ้น แต่ต้องทำให้ข้อมูลนั้นมีประโยชน์ สร้างภูมิปัญญา และสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้ง

          เรื่องที่สอง ห้องสมุดมักมองผู้ใช้บริการเป็นผู้บริโภคซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อยืมหนังสือ แต่ทุกวันนี้สังคมกำลังเปลี่ยนจากการบริโภคไปสู่การคิดค้นร่วมกัน ผู้คนทั่วโลกสามารถสร้างเนื้อหาของตัวเองในโลกออนไลน์ ห้องสมุดก็สามารถเรียนรู้และใช้แนวคิดนี้ โดยการมองว่าผู้คนคือผู้ร่วมสร้างสรรค์ห้องสมุด และความรู้ของพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุด ไม่ใช่การมองพวกเขาเป็นเพียงลูกค้าหรือผู้เข้ามาใช้บริการ

          เรื่องสุดท้าย ความต้องการสินค้าและบริการของผู้คนในปัจจุบันไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันหรือเป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั้งหมด เช่น หลายคนใช้สมาร์ทโฟนยี่ห้อเดียวกัน แต่ว่าแต่ละคนต่างเลือกใช้งานแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์แตกต่างกันไปตามรสนิยมและพฤติกรรมเฉพาะ ที่ผ่านมาห้องสมุดถูกออกแบบโดยกำหนดไว้ล่วงหน้าว่า ผู้คนจะต้องเข้ามาทำอะไรบ้าง ในรูปแบบที่เหมือนๆ กัน และออกกฎแบบเดียวกันที่คนทุกคนต้องยอมรับ แต่วันนี้คนทั้งโลกเป็นเสมือนบรรณารักษ์ ที่สามารถเลือก สั่งซื้อ หรือจัดเก็บข้อมูลด้วยตนเอง เสมือนดังเช่นผู้ใช้แอปพลิเคชันพินเทอเรสต์ (Pinterest)

          เมื่อเป็นดังนี้แล้ว เราจะเริ่มต้นปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องสมุดแบบเดิมให้ก้าวทันโลกของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร?

          เลส วัตสัน บรรณาธิการและผู้เขียนหนังสือ Better Library and Learning Space: Projects, Trends and Ideas บอกว่า “การชักชวนให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับห้องสมุด เริ่มต้นจากการสนทนาที่ดี” ดังนั้นห้องสมุดจึงควรสร้างความสัมพันธ์ใหม่ เลิกมองผู้ใช้บริการว่าเป็นเพียงผู้บริโภค แต่เป็นผู้ที่สามารถผลิตและปรับเปลี่ยนข้อมูลความรู้และเรื่องราวต่างๆ โดยจัดหาเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ เช่น การตั้งคำถามที่ท้าทายต่อสมมติฐานของผู้คน มากกว่าการรอรับคำตอบจากพวกเขา

          ลอรี พัทนัม เพื่อนร่วมงานของร็อบกล่าวว่า “วันนี้เราต้องการผู้คนที่เข้าใจความซับซ้อน เราต้องการนักคิดที่มีวิจารณญาณ ผู้คนที่สามารถมองเห็นทางเลือกและชื่นชมมุมมองที่แตกต่างกัน เราต้องการผู้คนที่รู้จักตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ เราต้องการคำถามที่ดีมากกว่าคำตอบง่ายๆ เพราะคำตอบจะไม่ง่ายอีกต่อไป”

          แม้แต่ร็อบเองก็เห็นว่า “จากนี้ไปห้องสมุดจะเป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการมากขึ้น เป็นสถานที่ที่ทุกคนทำสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ แม้แต่จะสร้างสรรค์ห้องสมุดให้เป็นแบบที่ตนเองต้องการก็ทำได้ ห้องสมุดจึงควรปรับบทบาทเป็นผู้ประสานงานและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเรียนรู้ เกิดปัญญารวมหมู่หรือความฉลาดร่วมของสังคม”

          จากกรอบคิดดังกล่าว ร็อบและเพื่อนร่วมกันเปิดบริษัทที่ปรึกษาชื่อ ‘กระทรวงจินตนาการ’ และได้เข้าไปร่วมให้คำปรึกษาในการปรับปรุงพัฒนาอาคารเก่า 2 แห่งให้กลายเป็นห้องสมุดและพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ตามแนวคิดใหม่ ได้แก่ โรงงานช็อคโกเเลต เมืองเกาด้า และอาคารตลาดขายข้าวสาลี เมืองสกีดาม

          โรงงานช็อคโกแลต เมืองเกาด้า (Chocoladefabriek, Gouda) เป็นอาคารเก่าตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ทั้งเมืองมีห้องสมุดหลัก 1 แห่งและห้องสมุดสาขา 4 แห่ง ประชากรประมาณ 65,000 คน เทศบาลเมืองตัดสินใจตัดงบประมาณห้องสมุดลงถึง 40% ซึ่งทำให้ห้องสมุดแทบไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ร็อบจึงเสนอให้ปิดห้องสมุดทุกแห่ง แล้วใช้งบประมาณเท่าที่มีอยู่ไปสร้างศูนย์บริการชั้นดีเพื่อใช้สำหรับศึกษาและเป็นต้นแบบให้ผู้คนสามารถกลับไปสร้างห้องสมุดได้เองที่บ้าน โดยตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี เมืองเกาด้าจะต้องมีห้องสมุด 20,000 แห่ง

          โรงงานเก่าถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบ การออกแบบชั้นหนังสือให้สูงและแคบ ทำให้พื้นที่สำหรับชั้นหนังสือเหลือเพียง 30% เท่านั้น จากเดิมที่ห้องสมุดส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์จะมีสัดส่วนของชั้นหนังสือถึง 80% ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่ว่างที่เพิ่มขึ้นนำไปสร้างสรรค์กิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมได้หลากหลายแบบ เช่น จัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กตามแนวคิดของการ์ดเนอร์2 ทำห้องโสตทัศนศึกษา สร้างห้องทำงานของบรรณารักษ์รุ่นจิ๋ว จัดเวิร์คช็อปด้านศิลปะและออกแบบสิ่งพิมพ์ เวิร์คช็อปการผลิตสื่อดิจิทัล สำนักพิมพ์ และร้านอาหาร ทั้งหมดอยู่ร่วมกันแบบไม่มีผนังกั้น ทีมงานของร็อบยังได้เจาะพื้นอาคารเพื่อทำบันไดขนาดใหญ่เชื่อมระหว่างชั้น ซึ่งปรากฏว่ากลายเป็นบริเวณที่เด็กๆ ชื่นชอบ

          “เราคิดว่าห้องสมุดทุกแห่งควรมีเอกลักษณ์ เราจึงออกแบบห้องสมุดให้เป็นเหมือนโรงงาน เราใช้ลังไม้ในการจัดแสดงหนังสือ นำตู้คอนเทนเนอร์มาเป็นห้องทำงาน หลายคนไม่รู้ว่าที่นี่เคยเป็นโรงงานช็อคโกแลตจริงๆ ซึ่งเลิกกิจการไปตั้งแต่ยุค 70 เรานำประวัติศาสตร์กลับมาสู่ตึกนี้อีกครั้ง โดยให้ดีไซเนอร์ออกแบบกราฟิกขนาด 1,500 ตารางเมตร เล่าประวัติและกระบวนการผลิตช็อคโกแลตไว้บนพื้นทางเดินของห้องสมุด” ร็อบกล่าว

          ห้องสมุดโรงงานช็อคโกแลตกลายเป็นสถานที่พบปะยอดนิยมของผู้คนในเมือง ความสำเร็จของห้องสมุดได้รับการการันตีด้วยรางวัลห้องสมุดดีที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ประจำปี ค.ศ. 2015/2016

คลิปวิดีโอ ห้องสมุดโรงงานช็อคโกแลต Bibliotheek Gouda

          เดอ โคเรนบอร์ส (De Korenbeurs) หรือตลาดซื้อขายข้าวสาลี ในเมืองสกีดาม (Schiedam) เป็นอาคารสวยคลาสสิกที่ออกแบบโดย ยาน ไกดิชี สถาปนิกชาวอิตาเลียน-ดัตช์ เมื่อ ค.ศ. 1792 ปัจจุบันถูกปรับปรุงเป็นห้องสมุดประชาชนที่มีเอกลักษณ์ คือมีต้นไม้และสวนอยู่ภายในอาคาร ซึ่งสะท้อนถึงความเจริญงอกงามสอดคล้องกับปรัชญาของห้องสมุด และดตรงกับที่ซิเซโร นักปรัชญาชาวโรมันเคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าคุณมีสวนในห้องสมุด คุณก็มีทุกอย่างที่คุณต้องการ”

          ตู้หนังสือของห้องสมุดแห่งนี้ทำมาจากกระดาษแข็งซึ่งช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ตกแต่งด้วยโคมไฟระย้าซึ่งดัดแปลงมาจากแก้วเหล้ายิน สัมพันธ์กับความเป็นมาของอาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตลาดธัญพืชของอุตสาหกรรมเหล้ายินในท้องถิ่น ที่นี่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ว่างสำหรับใช้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีชีวิตชีวาใจกลางเมืองประวัติศาสตร์ มีกิจกรรมหลากหลายทั้งการทำสมาธิ การอ่าน การฟังเพลง หรือพบปะสนทนาสนทนา

คลิปวิดีโอ แนะนำ เดอ โคเรนบอร์ส (De Korenbeurs)

          ห้องสมุดทั้งสองแห่งเป็นตัวอย่างของการปรับวิธีคิดเรื่องบทบาทห้องสมุด การออกแบบกระบวนการที่เน้นการมีส่วนร่วม และการใช้งานใหม่ โดยดัดแปลงอาคารเก่าที่เคยใช้งานแบบอื่น แล้วนำมาปรับให้เข้ากับผู้ใช้และบริบทของชุมชนโดยรอบ ยึดโยงกับรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ ผ่านการตีความใหม่ จนกลายเป็นห้องสมุดที่ใช้เชื่อมความสัมพันธ์และการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันของชุมชน

          นอกจากห้องสมุด 2 แห่งข้างต้นแล้ว ยังมีตัวอย่างห้องสมุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ปรับบทบาทและภาพลักษณ์แบบเดิม ด้วยกรอบแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน คือการให้ความสำคัญกับการสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของคน ทำหน้าที่เชื่อมต่อความทรงจำกับอดีต และกระตุ้นให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ ที่โดดเด่นน่าสนใจ ได้แก่ ห้องสมุด DOK Library Concept Center และห้องสมุด Noord Oost Brabantse Bibliotheken

          DOK Library Concept Center ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเดลฟท์ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ของเนเธอร์แลนด์ มีประชากรประมาณ 100,000 คน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 ในพื้นที่ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ง่าย ห้องสมุดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนเพลงและภาพยนตร์ (Discotake in Dutch) ส่วนห้องสมุด (Openbare Bibliotheek) และส่วนศิลปะ (Kunstcentrum)

          โครงสร้างอาคารดัดแปลงมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต เน้นการออกแบบให้โปร่งโล่งเปิดพื้นที่ให้แสงจากด้านต่างๆ เข้าถึงผู้ใช้บริการ แต่ละห้องมีสีสันและการตกแต่งที่แตกต่างกันออกไป สิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม อาทิ โซฟา ห้องประชุม สัญญาณอินเทอร์เน็ต ปลั๊กไฟ โซนเกม มุมกาแฟ ด้วยแนวคิดว่า ถ้าห้องสมุดสามารถทำให้คนมีความสุข ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ก็จะใช้เวลาอยู่ในห้องสมุดนานขึ้น เมื่อนั้นห้องสมุดก็จะยังมีอนาคตต่อไปได้

          DOK Library Concept Center เป็นห้องสมุดที่ล้ำสมัยในช่วงที่เปิดใหม่ ไม่ใช่เพียงเรื่องกายภาพและการให้บริการที่ทันสมัย แต่เป็นเพราะการพลิกแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของห้องสมุดที่ควรจะมีต่อผู้คนชาวเมืองเดลฟท์ โดยให้ความสำคัญกับความสร้างสรรค์ นวัตกรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการสื่อสารที่มีคุณภาพ ห้องสมุดพยายามที่จะเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจที่เชื่อมโยงคุณค่าอดีตกับอนาคต รวบรวมเรื่องเล่าความทรงจำและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โครงการเด่นที่ตอบโจทย์ดังกล่าวคือ Delft Cultural Heritage Browser และ DOK-Agora

DelftAug_jcb3662
_JCB5916
สีสันและแสงช่วยกระตุ้นบรรยากาศการอ่านที่แตกต่างกันออกไป เช่น ห้องกวีสีแดง ห้องวรรณกรรมเยาวชนสีน้ำเงิน
Photo: DOK Delft

          Delft Cultural Heritage Browser เป็นการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย TU Delft เพื่ออธิบายเรื่องราวที่ปรากฏในหลักฐานจดหมายเหตุ และร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยี Street Map เพื่อจัดทำแผนที่จดหมายเหตุดิจิทัล อีกทั้งยังร่วมกับพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในเมืองเดลฟท์เพื่อสร้างแอปพลิเคชันจดหมายเหตุเมือง ห้องสมุดได้รวบรวมเอกสาร รูปภาพ โปสการ์ด ภาพยนตร์ เทปเสียง แล้วดัดแปลงให้เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนหลายหมื่นรายการ ในระยะแรกไฟล์เหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เพียงอย่างเดียว ต่อมาห้องสมุดได้นำ Microsoft Surface Table ซึ่งเป็นโต๊ะที่มีหน้าจอแบบสัมผัสมาใช้ในการนำเสนอเนื้อหา โดยตั้งไว้ใกล้ทางเข้าห้องสมุดในจุดที่ผู้ใช้บริการมองเห็นได้อย่างสะดุดตา ผลปรากฏว่าโต๊ะตัวนี้แทบไม่เคยว่าง รูปภาพที่อยู่ในฐานข้อมูลมีอัตราการเปิดดูจากโต๊ะอัจฉริยะสูงกว่าการใช้งานผ่านเว็บไซต์เสียอีก

คลิปวิดีโอแนะนำการใช้งาน Cultural Heritage Browser

          DOK-Agora เป็นหนึ่งในโครงการที่ใหญ่ที่สุดว่าด้วยการตีแผ่เรื่องเล่าและความทรงจำ (story publisher) ของเมืองเดลฟท์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์การสื่อสารผ่านเรื่องเล่าและการสนทนา โดยห้องสมุดจัดทำตู้บันทึกและอัพโหลดวิดีโอสำหรับบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในอดีตด้วยตนเอง นอกจากนั้นยังมีสตูดิโอเคลื่อนที่สำหรับการผลิตสารคดี โดยตระเวนไปเยี่ยมเยียนโรงเรียนมัธยม เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองหัดทำวิดีโอเรื่องเล่าของตนเอง ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการเขียนสคริปต์ การทำสตอรีบอร์ด ทักษะด้านมัลติมีเดีย นอกเหนือไปจากการบันทึกเรื่องเล่าจากความทรงจำ

          เรื่องราวที่ถูกเก็บบันทึกไว้จะได้รับการเผยแพร่ในหลายหลายช่องทาง ไฮไลท์คือการนำเสนอผ่านกำแพงขนาด 33×10 ฟุตที่มีจอภาพนับสิบจอ ส่วนช่องทางอื่นๆ ได้แก่ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย บางครั้งก็นำมาเป็นวิดีโอประกอบนิทรรศการหรืองานเสวนา ผู้ที่มาใช้บริการในห้องสมุดจะได้รับรู้เรื่องราวความทรงจำที่ถูกแบ่งปัน ก่อให้เกิดสำนึกและความเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม

          ห้องสมุด Noord Oost Brabantse Bibliotheken ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วยห้องสมุดสาขา 14 แห่ง ให้บริการประชากรราว 2 แสนคน ผู้บริหารและบรรณารักษ์เชื่อว่าห้องสมุดในอนาคตควรจะมีหนังสือน้อยลงแล้วให้คุณค่ากับความสัมพันธ์เพิ่มขึ้น (less collection, more connection) เพราะหนังสือเป็นความรู้ทุติยภูมิ ในขณะที่ผู้คนและชุมชนเป็นขุมทรัพย์ของความรู้และและประสบการณ์อันประเมินค่ามิได้ จึงควรสร้างโอกาสที่จะสัมผัสและสัมพันธ์กับชีวิตของชุมชนให้มากขึ้น ห้องสมุดได้ริเริ่ม 2 โครงการเพื่อตอบโจทย์ตามความเชื่อดังกล่าว คือโครงการ The Stalwart Readers และ Wisdom in times of crisis

          The Stalwart Readers เป็นชมรมหนังสือที่แตกต่างไปจากขนบของชมรมนักอ่านทั่วไป ซึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันจะอ่านหนังสือเรื่องเดียวกันในเวลาเดียวกัน แต่เป็นโครงการที่หนอนหนังสือมาร่วมกันเพื่ออ่านงานประเภท non-fiction ซึ่งเลือกมาจากรายชื่อหนังสือที่บรรณารักษ์ได้คัดสรรไว้คนละหนึ่งเล่มต่อสัปดาห์ โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2012 มีสมาชิก 40 คน อายุระหว่าง 30-70 ปี ระยะเวลาดำเนินงานแต่ละรอบประมาณ 1 ปี รวมแล้วสมาชิกแต่ละคนจะได้อ่านหนังสือประมาณ 40 เล่ม เป้าหมายของโครงการคือสร้างนวัตกรรมที่ดึงดูดให้คนสนใจหนังสือ เกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความคิดจากการอ่าน และสร้างความผูกพันระหว่างผู้ใช้บริการกับห้องสมุด

          รายชื่อหนังสือจัดทำโดยบรรณารักษ์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญหนังสือประเภท non-fiction และมีนิสัยเป็นนักอ่านตัวยง คืออ่านหนังสืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 เล่ม หลักการเลือกหนังสือเน้นเรื่องที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้อ่าน เกิดความคิดใหม่ มีแรงบันดาลใจในชีวิต และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมศตวรรษที่ 21

          ภายใต้โครงการนี้ห้องสมุดได้สร้างชุมชนนักอ่านในโลกออนไลน์ในรูปแบบเว็บบล็อก โดยนำเสนอเนื้อหาโดยสังเขปเกี่ยวกับหนังสือแต่ละเล่มที่อยู่ในรายชื่อ คัดลอกเนื้อหาบางตอนที่น่าสนใจ และบรรยายถึงคุณค่าที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้เข้ามาอยู่ในโครงการ ปัจจุบันรายชื่อหนังสือของเหล่านักอ่านมีถึงกว่า 2,000 เล่ม

          The Stalwart Readers เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรมห้องสมุดแห่งชาติ ของเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี 2013

          Wisdom in times of crisis เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2013 ในช่วงที่สหภาพยุโรปประสบกับปัญหาหนี้สาธารณะซึ่งส่งผลกระทบให้ชาวดัตช์จำนวนหนึ่งทั้งวัยหนุ่มสาวไปจนถึงวัยสูงอายุต้องตกงาน ทำให้ห้องสมุด Noord Oost Brabantse Bibliotheken มองเห็นโอกาสในการเป็นที่พึ่งทางปัญญายามวิกฤติ และเป็นพื้นที่เยียวยาทางจิตใจ ห้องสมุดใช้จุดแข็งในการแนะนำหนังสือที่มีมุมมองเชิงบวกหรือแนวคิดใหม่ในการฝ่าอุปสรรค รวมถึงหนังสือที่เน้นอารมณ์ขัน ขณะเดียวกันก็จัดวงสนทนาที่ดึงภูมิปัญญาจากหนังสือและภูมิปัญญาจากผู้อ่านมาผสานกัน เพราะเล็งเห็นว่าผู้ที่ตกงานต่างก็เต็มไปด้วยเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของชีวิตที่อยากสะท้อนให้ผู้อื่นรับฟัง โดยบรรณารักษ์เป็นผู้จัดทำรายชื่อหนังสือที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการสนทนา

          โครงการนี้เปิดรับผู้เข้าร่วมเพียงครั้งละไม่เกิน 15 คน เพื่อให้กระบวนการสนทนาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพบปะกันที่ห้องสมุดทุก 3 สัปดาห์เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์ตามหัวข้อที่ห้องสมุดได้กำหนดขึ้น สมาชิกโครงการต่างก็ประทับใจในกิจกรรมนี้ เนื่องจากได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยได้อ่านหรือได้รับฟังมาก่อน และสะท้อนสิ่งที่ได้รับจากโครงการว่า เขาเคารพผู้อื่นมากขึ้น ได้เรียนรู้ที่จะมีความอ่อนโยน มีความอดทนมากขึ้น มีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างขึ้น และได้อ่านหนังสือมากขึ้น

          ความสำเร็จของห้องสมุดยุคใหม่ในเนเธอร์แลนด์ ส่วนหนึ่งมาจากบรรณารักษ์ที่มีบทบาทอันเสมือนเป็นหัวใจของชุมชนนักอ่าน เป็นสะพานเชื่อมคนกับหนังสือ เป็นนักล่าข้อมูลและคอยให้คำแนะนำการใช้สื่อ (media guide) ช่วยให้คนได้ค้นหาข้อมูลอย่างไม่มีอุปสรรคขวางกั้น เป็นผู้เชื่อมประสานอาณาจักรของข้อมูลกับความต้องการของผู้ใช้บริการ เป็นผู้ชี้แนะการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ และไม่ลืมที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเชื่อมโยงผู้คนให้มีปฏิสัมพันธ์กัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเกิดแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต

          กรณีศึกษาห้องสมุดของประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์สำหรับห้องสมุด ทว่า การผจญภัยของห้องสมุดในอนาคตเพิ่งจะเริ่มต้น และกำลังอยู่ในภาวะที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ แต่สิ่งซึ่งชัดเจนนั้นคือเรายังต้องทดลองปฏิบัติด้วยแนวคิดและวิธีการใหม่ จึงจะพบว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดีในการพัฒนาห้องสมุดสำหรับศตวรรษที่ 21


เชิงอรรถ

[1] มีผู้ขยายโมเดลนี้ให้ซับซ้อนขึ้น โดยเพิ่ม ‘ความเข้าใจเชิงลึก’ หรือ Insight เป็นอีกขั้นหนึ่งของกระบวนการจัดการความรู้ (ดูรูป)

[2] โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้คิดค้นทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence)


ที่มา

เอกสารประกอบการบรรยายและวีดิทัศน์การบรรยาย เรื่อง “ฉันจะต้องเปลี่ยนเพื่อให้อยู่เหมือนเดิม …สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์สำหรับห้องสมุดในอนาคต” (I have to change to stay the same…. Creative Learning Environment for Future Libraries) โดย ร็อบ เบราซีลส์ (Rob Bruijnzeels) ในงานประชุมวิชาการ TK Forum 2017

บทความเรื่อง “Community building for public libraries in the 21st century: examples from The Netherlands” เขียนโดย Marina Polderman MSc, Hans van Duijnhoven, Fransje School MA, prof. dr. Frank Huysmans [Online]

หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความ 2 ชิ้น ได้แก่ “สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์สำหรับห้องสมุดในอนาคต” เผยแพร่ครั้งแรก เมษายน 2560 เผยแพร่ซ้ำ สิงหาคม 2561 พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ กล่อง (2561) และ “เก็บตกแนวคิดห้องสมุดมีชีวิตสไตล์ดัตช์” เผยแพร่ครั้งแรก มิถุนายน 2558 เผยแพร่ซ้ำ สิงหาคม 2561 พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ คิดทันโลก (2558)

Cover Photo: Pulles & Pulles

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก