พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

1,140 views
11 mins
January 3, 2024

          ริมแผ่นน้ำสีเงินของทะเลสาบสงขลา กลุ่มอาคารที่ถูกอนุรักษ์เป็นอย่างดีกระจายตัวอยู่บนถนนสายหลักในย่านเมืองเก่า ถนนนครนอก นครใน และนางงาม บ้างถูกดัดแปลงมาเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก บ้างก็เป็นแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ หรือพื้นที่สำหรับประกอบกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ นักท่องเที่ยวเดินถ่ายภาพกับอาคารทรงชิโน-โปรตุกีส และสตรีทอาร์ตที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวสงขลาในอดีต เยาวชนในชุดนักเรียนหลายคนแวะเวียนไปชมนิทรรศการตามแหล่งเรียนรู้ ย่านเมืองเก่าดูคึกคัก มีชีวิตชีวา

          นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษที่ผู้เขียนได้หวนกลับมาเยือนเมืองสงขลาอีกครั้ง ความทรงจำเกี่ยวกับย่านเมืองเก่าค่อนข้างรางเลือน จำได้เพียงว่าบรรยากาศในภาพรวมก็เหมือนเมืองอื่นทั่วไปที่ผู้คนเข้าเมืองมาเพื่อค้าขาย และทำกิจธุระสำคัญ กลับมาครั้งนี้ตัวเมืองสะท้อนความเป็นเบ้าหลอมวัฒนธรรมได้ชัดเจนขึ้น อาคารบ้านเรือน ถนนหนทางต่างๆ ได้รับการอนุรักษ์ในทิศทางเดียวกัน

          ส่วนสิ่งที่เสริมเพิ่มเข้ามาจากในอดีต คือกลิ่นอายของความสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ ที่แทรกอยู่ในบรรยากาศเมืองเก่า ‘สร้างสรรค์’ ที่หมายถึง การมีส่วนร่วมและลงมือทำ แทบทุกตรอกซอกซอยมีพื้นที่ให้ผู้มาเยือนหรือคนท้องถิ่นใช้เวลาซึมซับเรียนรู้ตัวตนของเมือง และทำกิจกรรมตามความสนใจ ไม่ใช่แค่ชม ชิม ชอป แล้วก็กลับออกไป

          ที่น่าประทับใจคือพื้นที่เหล่านี้เป็นผลงานร่วมของคนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้แต่ดั้งเดิม คนสงขลารุ่นใหม่ที่ย้ายกลับมาทำงานที่บ้านเกิด คนต่างถิ่นที่เดินทางมาตั้งรกรากนานหลายปี หรือแม้กระทั่งคนภายนอกที่มองเห็นศักยภาพของย่านเมืองเก่า ความแตกต่างเหล่านั้นกลับผสมกลมกลืนไม่ต่างจากวัฒนธรรม จีน พุทธ และอิสลามที่ประสานเป็นหนึ่ง สำหรับผู้เขียนแล้ว หากเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน ‘จิตวิญญาณของสงขลา’ เปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

‘จิตวิญญาณ’ การเรียนรู้และสร้างสรรค์ จากความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับย่านเมืองเก่า

          หากคุณเคยอ่านบทความสายสถาปัตยกรรม มรดกวัฒนธรรม หรือการท่องเที่ยว คงจะเคยเห็นคำว่า ‘Spirit of Place’ หรือ ‘จิตวิญญาณของสถานที่’ ผ่านหูผ่านตามาบ้าง

          Spirit of Place มาจากคำว่า Genius Loci ในภาษาละติน เดิมใช้อธิบายถึงเทพเจ้าที่ปกป้องคุ้มครองสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สมัยโรมัน แต่ปัจจุบันคำนี้ถูกใช้อธิบายถึงองค์ประกอบที่หลอมรวมเป็นสถานที่แต่ละแห่ง ทั้งสิ่งที่จับต้องได้ (อาคารสถานที่ ภูมิทัศน์ วัตถุ) หรือจับต้องไม่ได้ (เรื่องราว ความทรงจำ ความรู้ คุณค่า)

          คริสเตียน นอร์เบิร์ก-ชูลซ์ (Christian Norberg-Schulz) สถาปนิก นักเขียน และนักการศึกษากล่าวไว้ว่า หากเราต้องการจะเข้าใจจิตวิญญาณของสถานที่ แค่ศึกษาลักษณะทางกายภาพคงยังไม่พอ เราต้องศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘คน’ กับ ‘พื้นที่’ ด้วย (People and Place) ผู้เขียนจึงเดินลัดเลาะตามถนนเส้นหลักเพื่อสำรวจมุมมองของผู้คนที่มีต่อเมือง เพื่อทำความเข้าใจจิตวิญญาณของย่านเมืองเก่าสงขลาให้มากขึ้น

          “สิบกว่าปีมานี้ เมืองเป็นมิตรมากขึ้น” นี่คือความคิดเห็นของผู้คนส่วนมากที่ได้พบปะพูดคุย

          เดิมทีแล้ว ย่านเมืองเก่าสงขลาในตำบลบ่อยาง เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วไป มีร้านอาหาร ร้านค้า ตลาด เจ้าของอาคารพาณิชย์คือคหบดีท้องถิ่น แต่เมื่อลูกหลานชาวสงขลาเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพ ย่านริมทะเลสาบสงขลาก็เริ่มเงียบเหงา กลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวประมงที่เช่าอาคารบริเวณนั้นแทน

          เมื่อเมืองเก่าสงขลาถูกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 หน่วยงานภาคการศึกษาก็เริ่มเข้ามาศึกษาวิจัยและดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสถาปัตยกรรมและการพัฒนาชุมชน ในขณะเดียวกันส่วนท้องถิ่นก็เข้ามาร่วมพัฒนาดูแลพื้นที่ การดำเนินงานของส่วนท้องถิ่นผนวกกับภาคการศึกษา เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคม แรกเริ่มเดิมทีก็มีแค่สภากาแฟพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือวงเสวนาวิชาการแบบง่ายๆ ต่อมาจึงเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน

          เมื่อมีแรงกระเพื่อมจากการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว และกระแสหวนหาวันวานจากคนในเมืองใหญ่ เมืองเก่าสงขลาก็เริ่มติดลมบน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ถูกพูดถึงมากขึ้น

          จากจุดนี้ เมืองเก่าสงขลาก็กลายเป็นเวทีของนักกิจกรรมกลุ่มต่างๆ เจ้าของอาคารเก่าแก่หลายแห่งทยอยเปิดพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ พื้นที่ใช้สอยใน 3 ถนนสายหลักมีจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลานกิจกรรมสาธารณะ แหล่งเรียนรู้ ห้องสมุด หรือพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ ลูกหลานชาวสงขลาทยอยกลับมาสานต่ออาชีพในบ้านเกิด พร้อมสร้างอาชีพใหม่ๆ โครงการใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน ‘ผู้ใหญ่’ ก็ยังเดินหน้าส่งต่อความรู้ด้านวัฒนธรรมให้ลูกหลาน หน่วยงานภายนอกเดินหน้าสนับสนุนและสร้างความร่วมมือกับคนในพื้นที่

          เพราะ ‘คน’ มีความพร้อมที่จะร่วมสร้างสรรค์ เมืองเก่าแห่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิต และเป็นลานปฏิสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง

โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น

          หากพูดถึงอาคารที่ใช้สอยที่กลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สารพัดประโยชน์สำหรับกิจกรรมสาธารณะในย่านเมืองเก่า คงจะมองข้าม โรงสีแดง หรือ หับ โห้ หิ้น ไปไม่ได้

          โรงสีแดงเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่บนถนนนครนอก ติดกับฝั่งทะเลสาบสงขลา ในอดีตบริเวณนี้เป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า ส่วนในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ คุณรังษี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม

          คุณรังษี มอบพื้นที่โรงสีแดงให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตทั้งสำหรับผู้มาเยือนและสำหรับคนในพื้นที่ แขกจากต่างพื้นที่จะได้ชมนิทรรศการที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ส่วนชาวสงขลาเองนั้นก็สามารถร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นได้ตามโอกาส บางวันมีเสียงเพลงลีลาศดังเจื้อยแจ้วออกมาจากลานโล่งในโรงสี นี่คือกิจกรรมสำหรับคนในพื้นที่ซึ่งดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

          อาจารย์ก้อย – วุฒิชัย เพชรสุวรรณ คือตัวแทนของภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมที่มาพูดคุยกับเรา เขาเล่าที่มาที่ไปของการพัฒนาเมืองให้เราฟังอย่างละเอียดลออ เพราะผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของเมืองสงขลามาทุกยุคสมัย

          “ผมชอบทำงานเกี่ยวกับภาพเก่า และเคยทำงานกับคุณเอนก นาวิกมูล ก็เลยใช้วิธีที่ผมถนัดมาสื่อสารความรู้” ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคติชนวิทยา อาจารย์ก้อยเริ่มทำงานถ่ายทอดความรู้เชิงประวัติศาสตร์ด้วยใจรักมาตั้งแต่ก่อนภาคีคนรักเมืองสงขลาจะเกิดขึ้นและขยับขยายมาตั้งอยู่ที่โรงสีแดงแห่งนี้เสียด้วยซ้ำ เขาเคยจัดวงเสวนาวิชาการ หรือบรรยายเรื่องเล่าจากภาพเก่าบนเวทีกลางถนนมาแล้ว และทุกวันนี้ก็เป็นกำลังสำคัญของภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม

          นอกจากงานถ่ายทอดความรู้ พันธกิจสำคัญของภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคมคือการผลักดัน ‘โครงการสงขลาสู่มรดกโลก’ อาจารย์ก้อยเล่าถึงความพยายามของทีมงาน ตั้งแต่ติดต่อผู้เชี่ยวชาญมาประเมินพื้นที่ ทำเวิร์กชอปเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของย่านเมืองเก่า และเตรียมเอกสารเพื่อยื่นให้กับคณะกรรมการมรดกโลก แม้ว่าเส้นทางจะยังอีกยาวไกล แต่นั่นคือเป้าหมายหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเป็นมรดกโลกคือการแสดงให้เห็นว่า ซิงกอร่า หรือสงขลา ในอดีต คือเมืองท่าที่มีความสำคัญไม่แพ้เมืองอื่นๆ เช่นเมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง

          สำหรับอาจารย์ก้อย ย่านเมืองเก่าก็เป็นเหมือนกับเครื่องมือและทรัพยากรให้คนแต่ละกลุ่มแสดงออกซึ่งความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ทั้งคนในพื้นที่ นอกพื้นที่ หลากหลายช่วงวัยและความสนใจ ทุกวันนี้ ‘คนรุ่นเก่า’ กำลังพยายามส่งต่อมรดกในมือให้กับคนรุ่นใหม่อย่างเต็มกำลังเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการสละแรงกาย แรงใจ ความสามารถ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมือ

          “แต่คนรุ่นผมก็ใช้วิธีแบบ ‘ลีลาเก่า’ นั่นแหละ ถึงวันหนึ่งก็ต้องปล่อยมือ ก็ต้องรอดูว่า ‘ลีลาใหม่’ ของคนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร” อาจารย์ก้อยทิ้งท้ายเอาไว้

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
วุฒิชัย เพชรสุวรรณ

ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย

          จากโรงสีแดงเดินตรงไปจนถึงท้ายถนน จะมองเห็นอาคารชั้นเดียวมุงกระเบื้องโบราณตั้งอยู่ริมทะเลสาบ ด้านหลังมีลานโล่ง ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น มองเห็นเรือประมงจอดอยู่ลิบๆ ที่นี่คือ ‘ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิวิชาหนังสือ และคุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย เจ้าของสถานที่ซึ่งมอบอาคารโกดังข้าวเก่าให้ใช้ดัดแปลงเป็นห้องสมุดประจำเมืองในโครงการพัฒนาระบบหนังสือต้นแบบ

          ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย รวบรวมหนังสือที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองสงขลาเพื่อให้ประชาชนเข้ามาค้นคว้าข้อมูล และยังมีที่ว่างกว้างขวางสำหรับจัดกิจกรรมหรือพบปะพูดคุย ฟังก์ชันหลักของห้องสมุดไม่ใช่การรวบรวมหนังสือจำนวนมากให้สืบค้น แต่เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้ประโยชน์หลากหลาย เรียกได้ว่าเป็นคอนเซปต์ที่ทันสมัย แม้จะตั้งอยู่ในอาคารย้อนยุค บรรยากาศของที่นี่สงบเงียบ เปิดกว้างให้ผู้มาเยือนสามารถเลือกหยิบหนังสือมานั่งอ่านหรือนั่งทำงานส่วนตัวได้โดยเสรี

          ผู้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการห้องสมุดคือ อาจารย์มกุฏ อรฤดี ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อและเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ เขาแวะเวียนมาเยือนเมืองสงขลาอยู่บ่อยครั้งเพื่อร่วมประชุม ประสานความร่วมมือ และเสนอแนวคิดในการพัฒนาห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

          ใบเตย – วัลย์วดี นวลละออง คือผู้ดูแลห้องสมุดแห่งนี้ บรรณารักษ์สาวชาวสงขลาโดยกำเนิดเล่าให้เราฟังถึงแนวโน้มการใช้งานห้องสมุดที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

          “ที่นี่มีคนเข้ามาตลอดค่ะ ทั้งนักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว ถ้าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเขาก็จะมาแวะชมอาคารสถานที่ ส่วนนักเรียนนักศึกษาก็มาเพื่อทำรายงาน ทำการบ้าน พูดคุยกัน เดี๋ยวนี้รายงานของเด็กๆ โดยส่วนมากก็จะอยู่ในรูปคลิปวิดีโอ หลายๆ กลุ่มเขาก็มาใช้พื้นที่ถ่ายทำกันที่นี่”

          นับว่าพฤติกรรมการใช้งานก็ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ใบเตยเสริมอีกว่าแม้หนังสือที่นี่จะมีไม่มากมายเหมือนห้องสมุดใหญ่ๆ แต่ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ก็มีส่วนในการส่งเสริมให้ชาวสงขลาใกล้ชิดการอ่านเข้ามาอีกนิด

          “หนังสือในห้องสมุดมีทั้งที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงขลาและวรรณกรรม กลุ่มวัยรุ่นเขาจะชอบอ่านประเภทบทกวี หรือถ้าเขาอยากอ่านอะไรเป็นพิเศษก็จะแนะนำมา ถ้าเข้ากรอบของห้องสมุดเราก็จะเสนอไปให้กับทางมูลนิธิฯ”

          หากเล่าถึงห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย คงไม่สามารถละเลยไม่เอ่ยถึง ‘เสาหนังสือ’ ได้ เพราะกองวรรณกรรมนานาชาติที่ก่อเรียงเป็นตั้งสูงโอบล้อมเสาอาคารกลางห้องโถงคือจุดดึงดูดสายตาผู้คนที่ผ่านไปมา วัตถุประสงค์หลักของการสร้างเสาหนังสือคือการปกป้องโครงสร้างอันเปราะบางของเสาอาคาร แต่ผลพลอยได้คือผู้มาเยือนให้ความสนใจ ถ่ายภาพ และเข้ามาสำรวจดูว่าหนังสือตั้งสูงเหล่านี้มีอะไรบ้าง

          “ห้องสมุดมีแผนจะเปลี่ยนหนังสือที่เสาหนังสือปีละครั้ง เอาหนังสือใหม่มาจัดเรียงและเอาหนังสือที่อยู่ในเสาออกมาให้บริการผู้อ่านที่สนใจต่อไป”

          แต่นับจากวันที่ห้องสมุดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2565 จนถึงวันนี้ เสาหนังสือถูกปรับเปลี่ยนไปถึง 2 ครั้ง เสาต้นแรกสูงระเพดาน ต้นที่สองก่อเพียงครึ่งเดียวเพื่อให้นักอ่านมีโอกาสได้หยิบหนังสือจากในเสาออกมาอ่านตามความสนใจ แล้วนำหนังสือเล่มใหม่ไปวางทดแทน เสาต้นล่าสุดมีผีเสื้อหนังสือห้อยลงมาจากเพดานเติมความน่ารักสดใสให้กับอาคารสีเอิร์ธโทน และยังมีเสาต้นเล็กๆ เพิ่มขึ้นอีกต้นบนโต๊ะที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้ทดลองก่อเสาหนังสือด้วยตนเอง

          ในสายตาของใบเตย ห้องสมุดแห่งนี้มีความเป็นมิตรต่อประชาชนและพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนต่างวัยเข้ามาทำกิจกรรม และมีส่วนร่วมกับห้องสมุดได้ในหลากหลายรูปแบบ นั่งทำงาน ใช้เวลากับครอบครัว ในบางโอกาส นักวิชาการและคนในวงการหนังสือที่ใช้ชีวิตในเมืองสงขลาก็แวะเวียนมาใช้พื้นที่จัดงานเสวนา

          สำหรับคนที่อยู่กับหนังสือมาตลอดอย่างใบเตย ความคาดหวังของเธอที่มีต่อห้องสมุดและย่านเมืองเก่าสงขลาก็แสนจะเรียบง่าย

          “อยากเห็นคนในพื้นที่รักการอ่านและรักหนังสือมากขึ้นค่ะ ต้องเริ่มจากการปลูกฝังให้คุ้นเคยกับหนังสือ” นั่นคือครอบครัวต้องทำให้การอ่านเป็นเรื่องปกติ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อมองเห็นผู้ปกครองพาลูกน้อยมานั่งอ่านหนังสือหรือเล่านิทานที่ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย ใบเตยก็รู้สึกว่าน่าจะเดินมาถูกทางแล้ว

          เมื่อห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย จัดงานฉลองครบรอบ 1 ปี ไปในเดือนสิงหาคม 2566 ในช่วงเช้ามีการเสวนากำหนดปฏิทินกิจกรรมของห้องสมุด โดยโจทย์ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมที่จัด ‘โดยชุมชน’ภายใต้การสนับสนุนของห้องสมุด เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

          ในช่วงบ่ายวันนั้นเอง ห้องสมุดจัดงานเวิร์กชอปทำปกหนังสือ เรื่อง ‘ผีเสื้อและดอกไม้’ สอนโดยเจ้าของร้านซ่อมหนังสือเล็กๆ ร้านเดียวในย่านเมืองเก่าที่เปิดร้านต้อนรับผู้คนมานานหลายปี ผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ห้องสมุดอยากให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
วัลย์วดี นวลละออง

ร้านซ่อมหนังสือ และสมุดทำมือ

          ห้องแถวเล็กๆ บนถนนยะลา คือร้านซ่อมหนังสือร้านเดียวในย่านเมืองเก่าสงขลา หลังประตูบานเฟี้ยมที่เปิดกว้างคือชั้นไม้ที่เต็มไปด้วยหนังสือ สมุด อีกทั้งของที่ระลึกแนวแฮนด์เมดหลากหลายรูปแบบ  ห่างออกไปอีกนิดคือโต๊ะทำงานของ ชาญชัย ยงรติกุล เจ้าของร้านที่กำลังง่วนอยู่กับงานของตนเอง เราเดินเข้าไปทักทาย และพบว่าเรื่องราวของเขาก็น่าสนใจไม่ต่างจากหนังสือแนวผจญภัยเรื่องหนึ่ง

          “ผมทำงานอยู่คนเดียว บางทีออกไปทำธุระ หรือเข้าห้องน้ำก็ต้องปิด” เจ้าของร้านบอกกับเราว่าโชคดีที่ได้เจอ เพราะโดยปกติแล้วจะตามหาตัวยากอยู่สักหน่อย อาจต้องนัดล่วงหน้าก่อน

          ร้านเล็กๆ แห่งนี้รับซ่อมหนังสือ เปลี่ยนสมุดปกอ่อนให้เป็นปกแข็ง ขายสมุดบันทึกทำมือ และหนังสือวรรณกรรมและบทกวี การตกแต่งของร้านและเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ดูเก๋ไก๋ให้อารมณ์ย้อนยุค ทำให้คนที่เดินผ่านไปมารู้สึกสะดุดตาจนต้องแวะพูดคุยอยู่เนืองๆ  “เขาคงจะรู้สึกแปลกตา ร้านแบบนี้หายากแล้ว ก็เลยแวะมาดู มาชวนพูดคุย” พี่ชาญชัยเล่าให้เราฟัง

          “จุดเริ่มต้นของผมคือ เป็นคนชอบเขียนบันทึก เขียนหนังสือ ส่วนร้านซ่อมหนังสือ สมุดทำมือ กาแฟ หรือเวิร์กชอปอื่นๆ ก็เกิดขึ้นเพื่อซัพพอร์ตสิ่งที่ผมอยากทำ แค่เขียนหนังสือหรือทำสำนักพิมพ์อย่างเดียว ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้คงไม่ไหว”

          ‘บาย หินสีครีม’ คือนามปากกาของพี่ชาญชัย เขากับเพื่อนๆ นักเขียนร่วมกันก่อตั้งสำนักพิมพ์ทุ่งดอกไม้ เคยทำนิตยสารท้องถิ่นและยังคัดสรรผลงานเพื่อตีพิมพ์อยู่เรื่อยๆ ทั้งบทกวีและวรรณกรรม

          “งานชิ้นแรกของผมออกสู่สายตาประชาชนตอนปี 51 ก่อนหน้านั้นเขียนบันทึกเก็บเอาไว้เอง พอถึงจุดหนึ่งก็อยากจะเล่าเรื่องให้คนอื่นอ่านบ้าง”

          พี่ชาญชัยบอกว่า เขาหลงรักการออกเดินทางผจญภัยเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ เก็บเกี่ยวฉาก บรรยากาศ เรื่องเล่าของผู้คน จดบันทึกเอาไว้ และถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นผ่านงานเขียน ส่วนเวิร์กชอปประเภทย้อมผ้าสีธรรมชาติ สีใบไม้ สีก้อนอิฐ นั้นเกิดขึ้นเพื่อหารายได้มา ‘ขับเคลื่อนฝัน’

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

          พี่ชาญชัยเคยช่วยครอบครัวดูแลธุรกิจด้านการท่องเที่ยวที่หาดใหญ่ เมื่อค้นพบว่าไม่ใช่งานที่ตรงกับนิสัยรักสันโดษ เขาจึงเริ่มออกเดินทางค้นหาพื้นที่ลงหลักปักฐาน ในที่สุดก็ตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองสงขลามายาวนานกว่า 9 ปี ตั้งแต่ก่อนย่านเมืองเก่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้

          “สักประมาณ ทุ่ม – สองทุ่ม เขาก็ปิดประตูเข้านอน เงียบกันหมดแล้ว เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้เปิดหน้าร้าน ปิดประตูทำงานอยู่ข้างใน พออยู่มาได้สัก 4-5 ปี ย่านเป็นมิตรขึ้น ลงตัวขึ้น ก็เลยเริ่มเปิดหน้าร้าน มีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้น”

          หลังจากนั้นพี่ชาญชัยก็เริ่มร่วมมือกับภาคีต่างๆ ของเมือง เช่น จัดเวิร์กชอปงานฝีมือในแบบที่เขาถนัดให้กับ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ ของอดีตบรรณาธิการแพรวเยาวชน คุณเอ๋ อริยา ไพฑูรย์ ที่เคยตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่า (แต่ปัจจุบันย้ายไปตั้งอยู่ที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่แล้ว)

          เมื่อพูดถึงตัวเมืองสงขลา พี่ชาญชัยบอกว่า “สงขลามีจุดแข็งอย่างหนึ่งคือ เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต มีเรื่องราวที่เข้มข้น รากเดิมที่เขามีอยู่ยังมีชีวิต อย่างร้านอาหาร ร้านขนม ยังดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง”

          หากเป็นไปได้พี่ชาญชัยก็อยากให้พื้นที่ค่อยๆ พัฒนาและเติบโตไปทีละนิด รักษาเอกลักษณ์ของเมืองเอาไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงจนเกินไป ส่วนตัวพี่ชาญชัยเองก็คงไม่ทิ้งเมืองสงขลาไปที่ไหนอีก เพราะสงขลาทุกวันนี้ก็ตอบโจทย์ชีวิตทุกข้อของเขาแล้ว

          “ทุกวันนี้พอใจในตัวเองแล้ว ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ความฝันก็ขยับได้ เราทำงานหนังสือ ความสุขของเราก็คือการได้เขียนหนังสือ เป้าหมายก็ไม่มีอะไรมาก แค่ได้สื่อสารออกมา ตรงนั้นมันคือหัวใจ ส่วนความต้องการด้านอื่นๆ อย่างด้านวัตถุ เราไม่ได้หวังอะไร”

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
ชาญชัย ยงรติกุล

โนราบ้าน168

          ความหนาหนักของประตูไม้บ้านเลขที่ 168 ถนนนครใน ทำให้รู้สึกลังเลว่าจะกดกริ่ง เพื่อขอเข้าไปสำรวจด้านในดีหรือไม่ จนกระทั่งคุณลุงท่าทางใจดีคนหนึ่งเดินมาเปิดประตู เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปข้างใน ถึงได้รู้ว่าเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เป็นหลักฐานชั้นดีว่า คนสงขลาทุกรุ่นพร้อมที่จะเปลี่ยนให้เมืองเก่าให้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิต ส่งต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่อผู้มาเยือนจริงๆ

          โนราบ้าน168 อยู่ในความอนุเคราะห์ของ มูลนิธิศิครินทร์เพื่อการพัฒนา คุณธีรพจน์ จรูญศรี ประธานมูลนิธิ เป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งพื้นที่และค่าใช้จ่ายในการดูแลอาคาร เพื่อให้บ้านหลังนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับ ‘โนรา’ สิ่งที่ดึงดูดสายตาในห้องโถงด้านหน้าคือถ้วยลูกปัดหลากสีในแบบที่ใช้ตกแต่งชุดของนักแสดง รวมถึงเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงเพลง

          “ตรงนี้คือพื้นที่เวิร์กชอป ถ้ามีคนมาดูงาน อย่างเช่นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ก็สามารถทดลองทำเครื่องแต่งกาย ทำเครื่องประดับจากลูกปัดพวกนี้ได้”

          นอกจากกิจกรรมฝึกร้อยลูกปัดชุดโนรา เวิร์กชอปในบ้านหลังนี้ ยังมีคลาสสอนดนตรี และอื่นๆ ตามแต่จะติดต่อประสานขอมา ทุกอย่างจัดให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

          เมื่อพูดคุยไปเรื่อยๆ ถึงได้รู้ว่า ‘คุณลุง’ คนนี้ ไม่ได้เป็นเพียงคนเฝ้าบ้านหรือคนนำชมสถานที่ธรรมดา แต่ท่านคือ ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการเเสดง (โนรา) ปี 2564

          คุณธีรพจน์และอาจารย์ธรรมนิตย์ เคยร่วมกันผลักดันการเผยแพร่ศิลปะการแสดงโนราออกสู่สายตาต่างประเทศ เมื่อเกิดความรู้สึกคุ้นเคยและไว้วางใจกัน จึงเป็นที่มาของการเชิญศิลปินแห่งชาติท่านนี้ให้มาพักอาศัย และทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้มาเยือน ซึ่งมีตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว หรือผู้สนใจทั่วไป

          “อาจารย์ไม่ใช่คนที่นี่ รู้สึกดีใจที่ถึงแม้จะเกษียณแล้ว แต่ก็ยังได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้เป็นสาธารณประโยชน์ คนที่แสดงโนราได้มีเยอะแล้ว เราเองถนัดที่จะสอนมากกว่า” อาจารย์ธรรมนิตย์เล่าเรื่องราวของตนเองให้ฟังพร้อมกับพาผู้เขียนเดินลึกเข้าไปในตัวบ้าน

          “หน้าบ้านหลังนี้แคบแต่ลึก บางทีคนเดินผ่านไปมาก็ไม่รู้ว่าข้างในมีอะไร อาจจะมองข้ามได้”

          บ้านหลังนี้ก่อสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน ตัวอาคารยาว แคบ แต่ลึก มีลานคอร์ทยาร์ดเปิดโล่งตรงกลางบ้าน มีบ่อน้ำสำหรับใช้บริโภคตั้งอยู่กลางลานโล่งไร้หลังคา ลึกเข้าไปจนสุดตัวบ้านมีลานสนามหญ้ากว้างขวางไว้สำหรับแสดงโนรา มองมาจากด้านหน้าอาคารที่ตกแต่งสวยงวามได้รับการดูแลเป็นอย่างดีออกจะคล้ายกับแกลเลอรี่ หรือโรงแรมบูทีคเสียมากกว่า

          “คนสงขลารักบ้านเกิดกันหลายคน มีบ้านเก่าอีกหลายหลังที่เจ้าของยกให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อถ่ายทอดความรู้ หรือใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ” น้ำเสียงของอาจารย์เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจก่อนที่ผู้เขียนจะเอ่ยคำลา

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์

ร้านหนังสือ dot.b

          ก่อนย่างเท้าเข้าไปในร้าน dot.b ผู้เขียนคาดว่าคงจะได้ยินเรื่องราวของคนรักหนังสือและแพสชันของเขา คล้ายๆ กับการเดินทางไปเยือนร้านหนังสืออิสระร้านอื่นๆ แต่เมื่อได้คุยกับ โก้ – ธีระพล วานิชชัง กลับรู้สึกว่าเรื่องราวที่โดดเด่นของเขา คือเรื่องของ ‘ชีวิตคนธรรมดาในเมืองสงขลา’

          อาคารคูหาเดียวรวมฟังก์ชันร้านหนังสืออิสระ ร้านกาแฟ และพื้นที่จัดงานอีเวนต์เอาไว้อย่างครบครัน ในวันที่เราเดินทางไปเยือน dot.b มีผู้คนเดินเข้าออกร้านหนังสือ แวะเวียนมาสั่งเครื่องดื่ม และมีชมรมคนรักหนังมาตระเตรียมพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการ โดยมีเจ้าของร้าน ผู้ช่วย และแมวฝูงหนึ่งคอยต้อนรับ

          “บ้านผมอยู่ในอำเภอเมืองสงขลาแต่ไม่ได้อยู่ในย่านเมืองเก่า ผมใช้ชีวิต เรียนและทำงานอยู่ในหาดใหญ่มากกว่า พอที่หาดใหญ่หมดสัญญาเช่า แล้วเราก็รู้จักเจ้าของที่นี่ เลยได้โอกาสกลับมาใช้ชีวิตในย่านเมืองเก่าเมื่อ 4-5 ปีก่อน เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คนรุ่นใหม่หลายๆ คนเริ่มกลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด

          หลังจากกลับมาอยู่สงขลาช่วงแรกๆ เคยมาช่วยคุณเอ๋ อริยา ไพฑูรย์ ดูแลกิจกรรมของร้านหนังสือเล็กๆ เมื่อคุณเอ๋ย้ายร้านขึ้นไปที่เชียงใหม่ ก็คิดว่าย่านเมืองเก่าน่าจะมีร้านหนังสืออิสระสักร้านหนึ่ง ไหนๆ ที่ร้านกาแฟ dot ก็มีหนังสือให้อ่านฟรีอยู่แล้ว เลยขยายกิจการทำร้านหนังสือไปด้วย ถือว่า 2 ร้านเป็นร้านเดียวกัน”

          นั่นคือที่มาของร้านหนังสือ dot.b ซึ่งชื่อนี้มีความหมายสองนัย จะบอกว่าเป็นร้าน dot ในเวอร์ชัน b หรือจะบอกว่าตัว b มาจากคำว่า book ก็ได้ทั้งคู่

ร้านหนังสือ dot.b
ร้านหนังสือ dot.b
ร้านหนังสือ dot.b

          ด้วยความที่ห้องแถวแต่ละคูหายาวเป็นพิเศษดังสถาปัตยกรรมจีนทั่วไป ทั้งร้านหนังสือ dot.b และร้านกาแฟ dot จึงตั้งอยู่ในตัวอาคารเดียวกัน โดยหันหน้าไปทางคนละถนน (ร้านหนังสือหันหน้าไปทางถนนนครใน แต่ร้านกาแฟหันหน้าไปทางถนนนครนอก)

          ชั้นสองของร้านหนังสือเป็นห้องโล่ง เปิดไว้ให้คนที่สนใจมาจัดกิจกรรม นิทรรศการแรกของร้าน คือผลงานภาพวาดของ อาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ ซึ่งยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหน นิทรรศการนี้จึงถือเป็นงานเปิดตัวร้าน และเป็นการสาธิตให้เห็นว่าจะใช้พื้นที่ว่างนั้นได้อย่างไร

          ในระหว่างงาน PAKK TAii DESIGN WEEK 2023 พื้นที่ชั้นสองของร้านเป็นโซนจัดนิทรรศการและกิจกรรม ‘ห้องสมุดมนุษย์’ (Human Library) ผู้คนในวงการสร้างหนัง ทั้งผู้กำกับ นักพากย์ ทีมงาน DS Young Filmmaker ผลัดกันทำหน้าที่เป็นหนังสือมนุษย์ให้อ่านวันละรอบ เรียกได้ว่าพื้นที่ชั้นสองของ dot.b ถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า เพราะทีมงานใช้พื้นที่เป็นฐานทัพระดมไอเดียช่วงจัดเตรียมงานด้วย

          ร้านกาแฟของโก้ดูมีความพิเศษ ริมฝาผนังมีชั้นหนังสือขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยนวนิยาย หนังสือ non-fiction และการ์ตูน อีกฝั่งเป็นบาร์กาแฟ ที่เจ้าตัวจะคอยถามลูกค้าว่า ต้องการกาแฟรสชาติแบบไหน แล้วแนะนำเมล็ดกาแฟที่สรรหามาจากทั่วประเทศ (และนอกประเทศ) มาให้ลอง บนผนังเต็มไปด้วยซองเมล็ดกาแฟจากที่ต่างๆ เรียงรายหลากสีสัน

          ระหว่างจิบกาแฟดริป ผู้เขียนก็ชวนคุยถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองในฐานะคนในพื้นที่ โก้ตอบว่า “10 ปี ที่ผ่านมาก็เปลี่ยนโฉมไปเยอะ เดี๋ยวนี้มีความเป็นเมืองมากขึ้น ธุรกิจที่เปิดใหม่ก็มีความสร้างสรรค์ ลูกหลานคนเมืองสงขลาที่กลับบ้านมาก็มีส่วนในการเอาไอเดียใหม่ๆ กลับมาด้วย”

          แล้วโก้ก็เล่าให้ฟังถึงความหลากหลายของกิจการในย่านเมืองเก่า ไม่ว่าจะเป็นร้านเครื่องหอมที่สร้าง ‘กลิ่น’ เฉพาะถิ่นที่ออกแบบจากอัตลักษณ์เมืองสงขลา หรือร้านกาแฟ คาเฟ่ต่างๆ ที่ใส่ไอเดียมากกว่าความเป็นร้านกาแฟลงไป มีทั้งเวิร์กชอปตามความสนใจที่หลากหลาย  

          ในสายตาของโก้ ย่านเมืองเก่าจึงเป็นพื้นที่ที่ถูกพัฒนาโดยคนทุกรุ่น ในหลากหลายรูปแบบ กลุ่มหนึ่งต้องการอนุรักษ์ในฐานะเมืองเก่า อีกกลุ่มหนึ่งอยากพัฒนาให้เกิดความเจริญใหม่ๆ และยังมีกลุ่มที่พยายามต่อยอดฐานรากทางวัฒนธรรมให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์โดยยังคงรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งโก้ กล่าวว่าบางที…อาจจะต้องเกิดการพูดคุย ประสานกันระหว่างกลุ่ม เพื่อให้แนวทางพัฒนาพื้นที่สอดประสานกลมกลืนกันมากยิ่งขึ้น

          ส่วนเป้าหมายส่วนตัวของโก้นั้น “ผมแค่ต้องการให้ร้านทั้งสองดำเนินไปได้เรื่อยๆ ก็พอ เป็นส่วนหนึ่งของเมือง ทำหน้าที่ของมัน มีลูกค้าร้านกาแฟ มีคนมาซื้อหนังสือ มีคนมาใช้พื้นที่จัดอีเวนต์” และที่จะขาดไม่ได้คือ การได้ทำในสิ่งที่รัก…นั่นคือการฉายหนัง

          “ผมสนใจการฉายหนังมาตั้งที่ตอนเปิดร้านที่หาดใหญ่แล้ว พอย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ยังร่วมกับพี่เอ๋ ปกรณ์ จาก a.e.y.space ทีมฉายหนังบางทีก็เป็นทีมเดียวกับที่หาดใหญ่ ฉายที่นั่นวันธรรมดา แล้วก็มาฉายต่อที่นี่วันเสาร์ อาทิตย์”

          โก้เองจึงเป็นหนึ่งในกลุ่ม ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มาร่วมเติมความสร้างสรรค์ให้กับย่าน ด้วยความสนใจและประสบการณ์ที่พกพากลับมาจากการออกไปชีวิตต่างพื้นที่อยู่ช่วงหนึ่ง จนในวันนี้เมืองเก่าสงขลามีกิจกรรมที่หลากหลาย น่าสนใจ ไม่แพ้เมืองใหญ่หลายแห่ง

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
ธีระพล วานิชชัง

a.e.y.space

          สถานที่สำคัญที่คงจะละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ a.e.y.space พื้นที่สร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่ดูแลโดย เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ลูกหลานครอบครัวคนจีนที่ประกอบธุรกิจประมงและตั้งรกรากอยู่ในสงขลามาเนิ่นนาน หลังจากเดินทางออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในกรุงเทพฯ และบินข้ามฟ้าไปศึกษาต่อถึงสหรัฐอเมริกา วันหนึ่งเอ๋ก็คิดว่า ได้เวลากลับมาลงมือทำอะไรบางอย่างกับบ้านเกิดของตัวเอง

          “ช่วงนั้นพี่โก๋ นพดล ขาวสำอางค์ สามีของ คุณเหมียว เกล้ามาศ ยิบอินซอยเริ่มมองหาบ้านเก่าในย่านตัวเมืองสงขลาเพื่อจะรีโนเวท ตัวผมเองตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะทำ แต่พอได้พูดคุยกันก็เลยเกิดแนวคิดขึ้นมาว่าจะทำอาร์ตสเปซ”

          ในมุมมองของเอ๋ สงขลาเคยเจริญถึงขีดสุด ธุรกิจรุ่งเรืองประสบความสำเร็จจนสามารถส่งลูกหลานออกไปเรียนและทำงานนอกพื้นที่ได้ ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้ย่านเมืองเก่าเงียบเหงา ซบเซา เป็นระยะเวลายาวนาน รอคอยให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาฟื้นย่านให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

          หากกล่าวถึงผู้บุกเบิกการคืนลมหายใจให้กับย่าน ก็ต้องกล่าวว่า a.e.y.space เป็นหนึ่งในนั้น

          “ด้วยความที่ตัวเองก็ชื่นชอบการเดินแกลเลอรี หรือพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว เลยนำเอาไอเดียมาใช้ ต้องขอบคุณพี่โก๋ ที่มีเครือข่ายศิลปินกว้างขวางและช่วยแนะนำเราได้ ช่วงแรกๆ ก็กลัวว่าเราจะเป็นตัวประหลาดของชุมชนหรือเปล่า เขาจะเข้าใจคอนเซปต์เราหรือเปล่า ว่าความตั้งใจคือให้คนเข้ามาดูศิลปะแบบไม่เสียเงิน งานที่จัดแสดงในช่วงแรกๆ จึงเน้นไม่เก็บตังค์ แต่ประโยชน์ที่เราได้คือ ได้เครือข่ายเพิ่มมากขึ้น”

          เอ๋บอกว่าเขาไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงผู้คนแบบรวดเร็วเห็นผลทันใจ  แต่เลือกใช้วิธีแบบค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรกๆ จึงจัดงานเพียงปีละ 2-3 ครั้ง เท่านั้น ก่อนที่จะค่อยๆ ขยับเข้าหาชุมชน และแสดงออกให้รู้ว่า ตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเช่นกัน

          “ยากนะ การทำงานกับชุมชน เราต้องคิดว่าเราจะพูดอะไร พูดกับใคร หรือรวมใครเอาไว้ในแผนการของเราบ้าง”

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
Photo: a.e.y.space

          จากการจัดแสดงภาพถ่ายสู่การนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ด้านอื่นๆ ทั้งงานเขียน ดนตรี และการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินในพำนักได้มาพักพิง บ่มเพาะแรงบันดาลใจ และแสดงผลงานออกไปสู่สายตาสาธารณชนพร้อมกับนำเสนอความเป็นตัวตนของสงขลาให้เป็นที่รู้จัก

          จากการลงมือทำในพื้นที่เล็กๆ ของตัวเอง เอ๋ ริเริ่มโปรเจกต์ทดลองหลากหลายรูปแบบ จนในที่สุด พื้นที่สร้างสรรค์ของเขาก็ขยายขอบเขตไปสู่ ‘ย่าน’ พร้อมกับการสนับสนุนของหน่วยงานภายนอก

          “Portrait of Songkhla เป็นนิทรรศการจัดแสดงภาพถ่ายจากบ้านคน ว่าด้วยเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองเก่า เช่น ร้านค้าเก่า ร้านถ่ายรูปเก่า ทั้งหมดเป็นภาพส่วนตัวที่ทำให้เห็นความเป็นเมืองในแบบของมัน มุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราขอรูปเก่าๆ ของคนในชุมชนมาจัดแสดง ค่อยๆ ทำให้คนรู้สึกคุ้นเคย และมีส่วนร่วมในการแสดงนิทรรศการ การทำงานครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่า คนที่ถ่ายรูปแบบทั่วๆ ไป ไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพก็สามารถเป็นศิลปินได้นะ ภาพถ่ายมันบอกถึงความเป็นเมืองในต่างรูปแบบและวาระ มีความเป็นศิลปะในตัวอยู่แล้ว”

          งานครั้งนั้นทำให้เอ๋ได้มีโอกาสร่วมงานกับหลายภาคส่วน จนเครือข่ายการทำงานเริ่มเข้มแข็ง ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอ๋เป็นเหมือน ‘ลูกพี่’ ของคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสานฝันในบ้านเกิด คอยรวบรวมพลังจากคนกลุ่มนั้นให้มาเติมเต็มพื้นที่

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
ตัวอย่างผลงานจากนิทรรศการ Portrait of Songkhla ที่รวบรวมภาพถ่ายของสมาชิกครอบครัวเมืองเก่าสงขลา กว่า 76 ครอบครัว ให้มาอยู่บนภาพผืนใหญ่แผ่นเดียวกันผ่านเทคนิค Photo montage จัดแสดงอยู่บริเวณหัวมุมถนนหนองจิก-นางงาม

          “โชคดีที่ได้ร่วมมือกับน้องๆ รุ่นใหม่ แต่ละคนมาจากต่างแบ็กกราวนด์กัน ต่อให้ผมเป็นเจ้าของ a.e.y.space ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของไอเดียทั้งหมด กิจกรรมที่จัดก็แล้วแต่ว่าเครือข่ายจะมีไอเดียแบบไหน”

          ด้วยตระหนักว่าสงขลาขาดพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดีย เขาเลยยกให้พื้นที่แห่งนี้ ให้เป็นพื้นที่รวมพลและทำกิจกรรม ผ่านมาแล้ว 10 ปี ย่านเมืองเก่าสงขลาเริ่มมีพื้นที่ชุมนุมของเหล่านักสร้างสรรค์มากขึ้น เอ๋ก็คิดว่าน่าจะขยับขยายไปทำอะไรที่ช่วยขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม

          แม้จะบอกว่างานท่วมท้น จนบางทีก็รู้สึกเหนื่อย แต่แววตาของเอ๋กลับไม่ได้ฉายความรู้สึกอ่อนล้า เรามองเห็นประกายของความรู้สึกสนุกสนานพลุ่งพล่านอยู่ในนั้น เขายังมีแผนการในอนาคตอีกมากมายที่พร้อมจะลงมือทำไปพร้อมกับเครือข่าย

          แม้ว่างานที่ทำจะขยายสเกลขึ้นเรื่อยๆ จากในพื้นที่เล็กๆ ของ a.e.y.space สู่งานในระดับย่าน และงานที่เป็นหน้าเป็นตาของเมือง แต่เอ๋ก็คิดว่า เขายังคงเป็นคนเดิม ณ จุดเริ่มต้น ที่เปลี่ยนไปอาจจะเป็นเครือข่ายที่แน่นแฟ้นขึ้น และ know-how จากการทำงานกับผู้คนมากหน้าหลายตา

          “ผมมองว่า ผมก็เป็นฟันแค่ฟันเฟืองตัวเล็กๆ นะ ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่ทำงานเพื่อส่วนรวม อย่างภาคีคนรักเมืองสงขลาฯ หรือกลุ่มศิลปะต่างๆ ที่ทำงานไปพร้อมกับเรา” เอ๋ออกตัว

          “ตัวเราไม่ต้องใหญ่ขึ้นหรอก แค่ทำงานที่ใหญ่ขึ้นก็พอ”

พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
ปกรณ์ รุจิระวิไล
พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
บรรยากาศการตกแต่งพื้นที่ของงาน PAKK TAii DESIGN WEEK 2023
พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา
พื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตในย่านเมืองเก่าสงขลา

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก