ในยุคสมัยที่ทุกคนกลายเป็นพลเมืองโลกที่ตื่นตัวเรื่อง สิทธิ หน้าที่ และความเท่าเทียม เข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย ทั้งทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมพื้นถิ่น โอกาสของการเรียนรู้จึงมีอยู่ในทุกที่ ทุกวัน และแทบจะตลอดเวลา อย่างที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในกรอบของห้องเรียน หรือหลักสูตรของสถานศึกษาอีกต่อไป แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิต ชุมชนใกล้เคียง พื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน
ปัจจัยสำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างยั่งยืน คือ การสร้างชุมชนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ใกล้บ้าน (Learning Neighborhood) ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้เพื่อคนทุกวัย และทำให้การเรียนรู้เข้าถึงทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียม
The KOMMON ชวนไปลงพื้นที่สำรวจย่านแห่งการเรียนรู้ใกล้บ้านคุณ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน ก็สามารถผลักดันและเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด บางครั้งความรู้อาจล่องลอยอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เคยเข้าใจ
Chiang Dao Classroom – ห้องเรียน (รู้) ธรรมชาติบนยอดเขาเชียงดาว
เพราะว่าเกิดและเติบโตที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรอย่าง มล จิราวรรณ คำซาว จึงมีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่นี้ดีไม่แพ้ใคร บวกกับความเชื่อที่ว่า ‘เราต่างเรียนรู้จากธรรมชาติได้แบบที่ไม่ต้องเบียดเบียนเขา’ ทำให้มลก่อตั้งกลุ่ม Chiang Dao Classroom ขึ้นมาเพื่อเชื่อมการเรียนรู้ที่เข้าใจและใส่ใจในความงามของธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
แน่นอนว่ามลไม่ได้ทำสิ่งนี้ลำพัง แต่ยังชักชวน เพื่อน พี่น้องที่มีความเชื่อและความชอบที่คล้ายกันมาร่วมลงแรงด้วย จะว่าไปก็คล้ายการจัดทริปพาคน (นอก) มาเที่ยวเชียงดาว แต่เป็นการเที่ยวไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย เพราะตลอดโปรแกรมเราจะได้เรียนรู้ความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศกับมนุษย์ ผ่านการเดินป่า เก็บเห็ด เก็บผักมาปรุงอาหาร ได้ใกล้ชิดธรรมชาติและคนในพื้นที่ผ่านการลิ้มรสอาหารพื้นบ้านจากวัตถุดิบปลอดภัยที่ปรุงโดยเกษตรกรท้องถิ่น เรียนรู้คุณค่าของป่าที่ให้กับการเกษตร อาหารการกิน เพื่อปลูกฝังให้คนที่เข้ามาเชียงดาว ได้สัมผัสถึงความงามและความหมายของธรรมชาติที่มีต่อพวกเรา เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโลกใบใหม่ที่เราจะได้เรียนรู้ผ่านสัมผัสทั้ง 6 ของเราเอง
กิจกรรมจะเปลี่ยนไปในแต่ละรอบตามชื่อตอนของรอบนั้นๆ ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อเดือนที่แล้วคือ ‘Chiang Dao Classroom ตอน Magic World of Fungi ฟังไจป่า ฟังใจฉัน ฟังใจเรา’ พาเข้าป่าฤดูฝนไปรู้จักโลกของเห็ดสารพัด นำทีมโดย ถิ่นนิยม มาลาดาราดาษ และ แพรี่พายสมายลี่แคมป์ กลุ่มกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งมลนิยามว่าคือ ดรีมทีม นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากชุมชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน ที่ทั้งเอื้อเฟื้อสถานที่ ให้ความรู้ และอำนวยความสะดวกให้กับชาวทริปด้วย
ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเมืองมากเกินไปหน่อย ลองร่วมเรียนรู้กับห้องเรียนนี้สักครั้งก็ดีนะ หรือจะกดติดตามไว้ก่อนก็ได้ ที่เฟซบุ๊ก #chiangdaoclassroom หรือ Mon Jirawan
พังงาแห่งความสุข – สถาบันพัฒนาการเรียนรู้ที่อยากให้ทุกคนเป็นพลเมืองตื่นรู้
ถ้ายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับจังหวัดพังงานัก ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าจุดเด่นของที่นี่ คือ ความเป็นเมืองที่พร้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์พื้นถิ่น อาหารการกิน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ (มอแกลน) ถึงกับมีสโลแกนประจำเกาะที่ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนตั้งว่า “พักเกาะยาวหนึ่งคืน อายุยืนหนึ่งปี” จนกระทั่งเกิดภัยพิบัติเมื่อปี 2547 ชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ต้องเผชิญปัญหาที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติ จากจุดนั้นทำให้พวกเขาฉุกคิดถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ และปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้
พอได้รู้จักตัวเองมากพอ ก็ต่อยอดด้วยการพาคนนอกเข้ามาเรียนรู้ในท้องถิ่น ที่นี่จึงกลายเป็นชุมชนนำร่องที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ และก่อตั้ง สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข ขึ้นมา จากความร่วมมือของสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พังงาแห่งความสุข ต้องการสื่อสารออกไปให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้ และเรียกร้องต่อสู้ให้กับทรัพยากรทางธรรมชาติผ่านการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ โดยเปิด 6 หลักสูตรอบรมที่มีวิทยากรชุมชนจากแต่ละพื้นที่เป็นผู้สอน คือ
- หลักสูตรเกาะยาวน้อย เรียนรู้เรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติ จากกำนันประจำตำบล
- หลักสูตรโคกเจริญ นำเอาภูมิปัญญาและองค์ความรู้ต่างๆ ที่สืบต่อกันมาจาก คนเฒ่า คนแก่ในชุมชนมาพัฒนาเป็นหลักสูตรการสอนเรื่องอาหารปลอดภัย
- หลักสูตรรมณีย์ ก่อตั้งกองทุนชุมชนเพื่อดูแลคนในพื้นที่ และเปิดให้คนนอกเข้ามาเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเอง
- หลักสูตรบ้านน้ำเค็ม การวางแผน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้วยชุมชน การเรียนรู้จากประสบการณ์ของชาวบ้าน ก่อนได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการภัยพิบัติด้วยชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
- หลักสูตรมอแกลนทับตะวัน เรียนรู้วิถีชีวิตของคนพื้นถิ่น และเข้าใจพหุวัฒนธรรม เพื่อส่งต่อความรู้ความเข้าใจออกไปสู่สังคม
- หลักสูตรรวมคนสร้างเมือง ต้นแบบการพัฒนาและบริหารเมืองอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้คนจากที่อื่นนำไปปรับใช้กับท้องถิ่นของตัวเอง
โดยใครก็ตามที่สนใจสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ Thammasat Gen Next Academy (ธรรมศาสตร์ตลาดวิชา) และกด Register (ลงทะเบียน) เพื่อรับการอบรมในหลักสูตรที่สนใจได้เลย หรือเฟซบุ๊ก สถาบันพัฒนาการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข
Love Kadeejeen-Khlongsan มูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน, กรุงเทพฯ – บอกรักถิ่นที่อยู่ด้วยการพัฒนา
ชุมชนกุฎีจีนหรือกะดีจีน-คลองสาน อีกย่านในกรุงเทพฯ ที่น่าลงไปเรียนรู้ นอกจากจะมีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว ยังรวมเอาความแตกต่างหลากหลายของผู้คนจาก 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ (พุทธ คริสต์ อิสลาม และมหายาน) เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ไปจนถึงอาหารการกินของย่านนี้ไม่เหมือนย่านไหนๆ
ย่านกะดีจีน-คลองสาน มีทั้งสิ่งซึ่งทรงคุณค่ามากมายให้อนุรักษ์ และมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องแก้ เมื่อเมืองขยายและการมาถึงของธุรกิจใหญ่ เช่น การเดินทาง เศรษฐกิจ การเรียนรู้ การอยู่อาศัย การปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่นี่ถูกคัดเลือกจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และภาคผังเมืองจุฬาฯ ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วยกระบวนวิธีใหม่ ย่านนี้จึงทั้งส่งและเสริมการเรียนรู้ในทุกด้าน และเปิดออกให้คนภายนอกได้เข้ามารู้จัก
และจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ตั้งแต่เครือข่ายภายในย่านเอง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ทำให้ที่นี่มีกิจกรรมหลากหลายเพื่อเชื่อมย่าน เชื่อมการเรียนรู้ เชื่อมเศรษฐกิจชุมชน เช่น กิจกรรมมหาลัยในย่าน เปิดให้ใครก็ตามที่สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขับเคลื่อนการพัฒนาย่าน จากประสบการณ์และพื้นที่จริง หรือ เทศกาล Art in Soi ที่จัดต่อเนื่องกันมาถึงครั้งที่ 7 แล้ว โดยภายในงานรวมกิจกรรมต่างๆ เอาไว้มากมายทั้งเสวนาสาธารณะ ดนตรีจากศิลปินในย่าน เวิร์กชอปจำกัดขยะ รวมถึงชวนเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารผ่านการกินที่สืบต่อจากบรรพบุรุษ ทั้งขนมฝรั่งกุฎีจีน ลุดตี่ (หรือกรอกจิ้มคั่ว) ข้าวหมกสามสี สลัดแขกตำรับชาวกุฎีขาว ซึ่งแต่ละกิจกรรมที่ว่านี้จะสลับเปลี่ยนเวียนไปแต่ละเดือน กะดีจีน-คลองสาน จึงนับเป็นอีกหนึ่งย่านที่มีสารพัดการเรียนรู้แบบครบจบในตัว และน่าไปเยือนสัก (หลายๆ) ครั้งจริงๆ
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก Love Kadeejeen-Khlongsan
กลุ่มรักษ์เขาชะเมา – โรงเรียนโรงเล่น, ระยอง – ให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในใจของเด็กทุกคน
ปิดท้ายด้วยพื้นที่การเรียนรู้จากจังหวัดระยอง ที่มีจุดเริ่มต้นจากการกลับบ้านเกิดมาทำร้านเช่าหนังสือของ แฟ๊บ บุปผาทิพย์ แช่มนิล โดยมีเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยอย่าง อี๊ด มลฑา เข้มพิมพ์ ตามมาร่วมทำด้วย จากร้านหนังสือที่ชักชวนเด็กๆ (ซึ่งเป็นลูกค้าของที่ร้าน) มาทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ไปๆ มาๆ ป้าแฟ๊บของเด็กๆ ตัดสินใจก่อตั้งกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ขึ้นมาเพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้พื้นฐานชุมชน โดยมีอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เป็นพื้นที่การเรียนรู้แรกของกลุ่ม เมื่อพื้นที่ที่มีอยู่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ เพราะเป็นทั้งผืนป่าดงดิบ แหล่งกำเนิดน้ำตก หน้าผา ถ้ำ ลำธาร เต็มไปด้วยสัตว์ป่าและพืชพรรณ กิจกรรมของกลุ่มจึงเข้มข้นขึ้นตาม ตั้งแต่การชมธรรมชาติ เก็บขยะ ปลูกต้นไม้ ลบรอยขีดเขียนในถ้ำ สำรวจสายน้ำ ไปจนถึงการอุ้มกวางที่ถูกยิงออกมาจากป่า
จากนั้นพวกเขาได้ขยับขยายเป็น ‘โรงเรียน โรงเล่น’ บ้านดินหนึ่งหลังที่ใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของเด็กเยาวชน พร้อมแตกแขนงกิจกรรมออกไปในรูปแบบต่างๆ เช่น วาดรูประบายสี ทำขนม ทำภาพพิมพ์จากใบไม้ กระทั่งพาออกสำรวจพื้นที่ภายในชุมชน สำรวจหินทรายและสิ่งมีชีวิตในชายหาด โดยวิทยากรและอาสาสมัครของกลุ่มไม่ใช่ใครอื่น แต่คือชาวบ้านรวมถึงเด็กๆ ที่เติบโตขึ้นมาจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม และกลายเป็นพี่เลี้ยงของเด็กรุ่นต่อไปนั่นเอง ที่นี่จึงนับเป็นทั้งโรงเรียนและสนามเด็กเล่นประจำชุมชนที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก กลุ่มรักษ์เขาชะเมา – โรงเรียนโรงเล่น
ที่มา
บทความ “กะดีจีน-คลองสาน พื้นที่แห่งความหวังของอนาคตท่ามกลางความหลากหลายและโอกาส” จาก workpointtoday.com (Online)
บทความ “ชุมชนเคลื่อน เมืองขยับด้วยโยบายเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ : จาก Bangkok Brand ถึง Made in Bangkok” จาก theurbanis.com (Online)
บทความ “รักษ์เขาชะเมา: ห้องเรียนกว้าง สร้าง ‘พลเมืองที่รู้ร้อนรู้หนาว’ มากว่า 26 ปี” จาก leadershipforfuture.com (Online)
เฟซบุ๊ก Mon Jirawan (Online)
วิดีโอ “พังงาแห่งความสุข : ความสุขร่วมสร้างของคนพังงา” youtube.com (Online)
เว็บไซต์ สถาบันการเรียนรู้พังงาแห่งความสุข (Online)
Cover Photo : กลุ่มรักษ์เขาชะเมา – โรงเรียนโรงเล่น