เรียนรู้สร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้

2,884 views
15 mins
January 7, 2021

          ทฤษฎีการทบทวีของความรู้ (Knowledge Doubling Curve) ของบัคมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ (Buckminster Fuller) สถาปนิกและนักนวัตกรรมระบุว่า นับจนถึงปี 1900 ความรู้ของมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ ศตวรรษ จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ 25 ปี ปัจจุบันอัตราการเพิ่มขึ้นของความรู้และศาสตร์ใหม่ๆ ยิ่งถี่กระชั้นขึ้นเรื่อยๆ จนกล่าวได้ว่าในยุค internet of things ความรู้จะทวีคูณในทุกๆ 12 ชั่วโมงเลยทีเดียว

          ในขณะที่ช่วง 100 ปีที่ผ่านมาระบบการศึกษาทั่วโลกปรับตัวอย่างช้าๆ ยังคงเป็นภาพห้องเรียนที่มีครู (ซึ่งมีความรู้อยู่จำกัด) เป็นผู้คอยบอกความรู้ให้แก่นักเรียน การเรียนรู้แบบซึมซับข้อมูล (passive learning) ไม่สามารถตอบโจทย์เยาวชนที่จะดำรงชีวิตอีกหลายสิบปี ความหวังจึงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การศึกษา ให้เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (active learning)  กิจกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว แต่ยึดหลักอยู่ที่การสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายให้กับผู้เรียน อาทิ การเรียนรู้จากโครงงานหรือกรณีศึกษา การลงมือปฏิบัติ การถกเถียงอภิปราย บทบาทสมมุติ การทำกิจกรรมทางสังคม ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจตนเอง เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งรอบตัว มีทักษะที่เหมาะสำหรับอนาคต สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ท้าทาย รวมทั้งการคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม

“ME & MyCity” บทบาทสมมุติ เรียนรู้อาชีพ

          ปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาในประเทศฟินแลนด์คือ นักเรียนไม่มีความสุขและขาดแรงจูงใจในการเรียน เพราะการเรียนแบบรายวิชาขาดความเชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม จึงมีการระดมสมองร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนับร้อยองค์กร เพื่อวิเคราะห์ถึงทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของคนรุ่นใหม่ สำนักสารสนเทศเศรษฐกิจ (Economic Information Office) ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาสร้างเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ทำให้นักเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจถึงกลไกทางเศรษฐกิจ โดยยังคงสามารถอ้างอิงเนื้อหาสาระวิชากับหลักสูตรแห่งชาติได้

          “Me & MyCity” เป็นบทเรียนแบบบูรณาการ 10 หัวข้อ ที่เกิดขึ้นในเมืองจำลองขนาด 500 ตารางเมตร ซึ่งสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างง่ายๆ สะดวกในการติดตั้งและเคลื่อนย้าย ภายในเมืองจำลองมีสถานประกอบการมากมาย เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงไฟฟ้า โรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำการไปรษณีย์ ห้องแล็บชีววิทยา ฯลฯ

          นักเรียน ป.6 (อายุระหว่าง 12-13 ปี) ที่เข้ามาเยี่ยมชม MyCity จะได้เรียนรู้เต็มวันทั้งด้านทฤษฎี และทดลองสวมบทบาทสมมุติเพื่อเรียนรู้การให้บริการ การสื่อสารกับลูกค้า รวมทั้งทำความรู้จักสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยบรรยากาศสร้างสรรค์และมีแรงจูงใจ แต่ละบูธได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยจากสถานประกอบการ รวมทั้งมีการวางระบบธนาคารเสมือน เพื่ออัพเดทข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ แบบเรียลไทม์ เช่น การซื้อ การขาย และการจ่ายเงินเดือน

          นอกเหนือจากคุณค่าทางวิชาการ Me & MyCity ยังกระตุ้นให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจด้านอาชีพ ได้ค้นหาแนวทางที่ตนเองชื่นชอบหรือมีความถนัด ปัจจุบันเด็กนักเรียน ป.6 จำนวนครึ่งหนึ่งของฟินแลนด์สามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ดังกล่าว หรือประมาณ 30,000 คนต่อปี ในอีก 2 ปีข้างหน้า Me & MyCity มีเป้าหมายที่จะเข้าถึงนักเรียน ป.6 ให้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยสร้างเมืองจำลองเพิ่มเป็น 4 ชุด เคลื่อนที่ออกไปจัดกิจกรรมยังภูมิภาคต่างๆ ส่วนในระดับนโยบาย ฟินแลนด์มีเป้าหมายที่จะวางรากฐานเรื่องอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

Me & MyCity: learning concept

“SummerTrek” ค่ายปลูกสำนึกเยาวชนพลเมือง

          ระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน 3 เดือนของสหรัฐอเมริกา ช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างเด็กด้อยโอกาสและเด็กทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในช่วงปิดเทอมนั้นยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนซึ่งอยู่ในโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรหรือมาจากครอบครัวยากจน

          องค์กรนวัตกรรมการมีส่วนร่วมของพลเมือง (Innovation in Civic Participation – ICP) ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรมและกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเป็นพลเมืองแก่เยาวชน จึงได้จัดค่าย SummerTrek เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำสิ่งที่แตกต่างออกไปจากชีวิตการเรียนเดิมๆ พร้อมกับพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับอนาคต ตามหลักการ “4C” คือ การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการร่วมมือ (critical thinking, creative thinking, communication and collaboration)

          SummerTrek เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้โครงการเป็นฐาน (project-based) และมีการค้นคว้าเป็นฐาน (inquiry-based) โดยให้นักเรียนสวมบทบาท “นักเดินป่า” และแสวงหาวิธีช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้กับชุมชน ในประเด็นที่พวกเขาสนใจตามทักษะความถนัดที่มีอยู่

           กิจกรรมใช้ระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณรุ่นละ 15-25 คน จะได้เลือกหัวข้อที่ท้าทาย เช่น การข่มเหงรังแก การเปลี่ยนผ่านจากการเรียนในระดับประถมเป็นมัธยม การสร้างสวนผักในชุมชน ฯลฯ กระบวนกรจะตั้งคำถามเพื่อให้เยาวชนเกิดความมั่นใจในตัวเองและตระหนักในประเด็นทางสังคม การออกแบบการเรียนรู้เน้นการบูรณาการระหว่างกิจกรรม เช่น งานศิลปะ การประดิษฐ์คิดค้น และการทัศนศึกษา กับทักษะทางวิชาการทั้งการศึกษาค้นคว้า การทำงานเป็นทีม และการพูดในที่สาธารณะ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สำคัญ ประสบการณ์เหล่านี้นักเรียนไม่สามารถพบได้ในห้องเรียนปกติ ซึ่งผู้เรียนจะถูกมองเป็นภาชนะว่างเปล่าที่รอรับความรู้จากครู

          กิจกรรมของเยาวชนประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ การสืบค้นข้อมูล การเตรียมการและการวางแผน การลงมือปฏิบัติ การสะท้อนบทเรียน และการนำเสนอสู่สาธารณะ ระหว่างหนทางการเรียนรู้ดังกล่าวนักเรียนจะซึมซับสำนึกในความเป็นพลเมืองไปโดยปริยาย รวมทั้งเกิดผลลัพธ์ที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม ทั้งในระดับโรงเรียน ชุมชน หรือสังคมในวงกว้าง การเรียนรู้ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาทางสังคมช่วยให้เยาวชนมีทักษะสำหรับอนาคตพร้อมกับเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของพลเมือง

 “เมืองจำลองเกรนจ์ตัน” บ่มเพาะทักษะผู้ประกอบการตั้งแต่วัยเยาว์

          รัฐบาลอังกฤษกำลังพัฒนายุทธศาสตร์การศึกษาที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ชีวิตของเด็กอายุ 14-19 ปี หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาด้านอาชีพ ประเด็นที่น่าตั้งคำถามก็คือยุทธศาสตร์นี้ควรจะเริ่มตอนอายุ 14 หรือไม่ เมื่อตลาดแรงงานมีเสียงสะท้อนออกมาว่า เด็กรุ่นใหม่ขาดความคิดริเริ่ม ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง และไร้ความรับผิดชอบ ทำไมโรงเรียนจึงไม่ปลูกฝังเรื่องดังกล่าวเสียตั้งแต่ในช่วงวัยเริ่มเรียน

          โรงเรียนประถมศึกษาเกรนจ์ได้พัฒนาวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมเรื่องการเป็นผู้ประกอบการและจัดกิจกรรมซึ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทักษะกับประสบการณ์ โดยสร้างเมืองจำลอง “เกรนจ์ตัน” ขึ้นในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดประสบการณ์ชีวิตที่กว้างขึ้น มีโอกาสนำทักษะที่ได้จากห้องเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งเกิดความเข้าใจเรื่องการเป็นพลเมือง

เกรนจ์ตันถูกออกแบบให้เด็กๆ ต้องใช้ทักษะและการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา รู้จักวางกลยุทธ์ และสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างแคล่องแคล่ว เพื่อทำให้กิจการของพวกเขาเจริญก้าวหน้า

          เมืองจำลองบริหารโดยสภานักเรียน สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งผู้แทนของแต่ละห้องเรียน ส่วนประธานสภามาจากการเลือกตั้งโดยนักเรียนทุกคนจะออกเสียงเลือกหนึ่งในผู้ลงสมัครทั้ง 4 คน

ในเมืองเกรนจ์ตันมีกิจการที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น

          ร้านขายของ เน้นจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ บริหารจัดการโดยนักเรียนทุกขั้นตอน ทั้งกระบวนการจัดหาสินค้า ควบคุมสต็อก การตลาด และการขาย คณะทำงานจะได้รับเงินกู้จากโรงเรียนเป็นเงิน 250 ปอนด์เพื่อค้าขายให้เกิดกำไร โดยจะต้องไม่ตัดราคาร้านค้าในชุมชน

          ห้องสมุด ดูแลโดยยุวบรรณารักษ์ ที่นั่นเด็กๆ จะได้รับการอบรมทักษะคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้ในการจัดการห้องสมุดและสต็อกหนังสือ รวมทั้งการอ่านและบันทึกเสียงเพื่อจัดทำหนังสือเสียง

          คณะสำรวจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่า วอมเบิ้ล (Wormbles – เป็นชื่อของตัวละครหุ่นที่โด่งดังของอังกฤษ) มีหน้าที่คอยเอาใจใส่คุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกโรงเรียน เช่น การจัดการขยะ และปลูกผักผลไม้เพื่อเทศกาลเก็บเกี่ยวประจำปี

          โรงอาหาร มีเด็กๆ ทำหน้าที่เป็นพนักงานต้อนรับในช่วงพักกลางวัน

          คาเฟ่ภาษา ร้านอาหารนี้มีหนังสือการ์ตูน รายการโทรทัศน์ และเพลง ซึ่งทั้งหมดเป็นภาษาฝรั่งเศส นักเรียนที่ต้องการสั่งอาหาร เครื่องดื่ม และบริการใดภายในร้านจะต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น เด็กทุกคนจึงต้องฝึกฝนภาษาฝรั่งเศสพื้นฐาน ส่วนเด็กๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลกิจการของร้านจะได้รับการฝึกฝนเรื่องสุขอนามัยด้านอาหาร การตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ และแน่นอนว่าจะต้องฝึกฝนการใช้ภาษาฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน

          พิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของโรงเรียนซึ่งเชื่อมสัมพันธ์กับชุมชน เปิดให้บริการแก่นักเรียนรวมทั้งประชาชนทั่วไป วัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยงานประดิษฐ์ ภาพถ่าย และการนำเสนอในรูปแบบมัลติมีเดีย คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการขอยืมหรือการรับบริจาควัตถุจัดแสดง ติดกับพิพิธภัณฑ์มีร้านขายของที่ระลึกจากฝีมือของเด็กๆ

          มีเดียเซ็นเตอร์ เป็นสถานที่ตั้งของสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และสำนักพิมพ์ รายการวิทยุของโรงเรียนออกอากาศไปยังชุมชนสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งอาจเป็นรายการแสดงดนตรี รายการข่าว หรือรายการสนทนา นักเรียนกลุ่มที่สนใจการจัดรายการวิทยุจะได้เรียนรู้เทคนิคการตัดต่อเสียงอย่างมืออาชีพ ส่วนกลุ่มที่เลือกทำรายการโทรทัศน์จะได้เรียนรู้การเขียนบทและถ่ายทำสารคดี รวมทั้งเทคนิคและการใช้งานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แล้วจัดทำเป็นแผ่นซีดีเผยแพร่ พวกเขาสามารถรับงานผลิตคลิปวิดีโอและงานบันทึกภาพกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน มีเดียเซ็นเตอร์ยังตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ทุกภาคการศึกษา ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนรู้ทักษะการเขียนและการเป็นบรรณาธิการ รวมทั้งการดัดแปลงสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางดิจิทัล

          นักเรียนแต่ละกลุ่มได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาซึ่งมีความร่วมมือกับโรงเรียน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สถานีโทรทัศน์และวิทยุบีบีซี หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ร้านค้า ASDA พิพิธภัณฑ์อีราวอช และบริษัทบัตรเครดิต EGG

          บางครั้งครูทั้งโรงเรียนต้องยอมยกเลิกชั้นเรียนในบ่ายวันศุกร์เพื่อให้เด็กทุกคนได้ไปเมืองจำลอง ที่ซึ่งนักเรียนทุกระดับชั้นสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมพัฒนาตนเองหลากหลายรูปแบบ เป็นต้นว่านักเรียน ป.1 อาจจะถ่ายภาพเรื่องราวที่พวกเขาสนใจ ในขณะที่นักเรียนป.4 เตรียมรายงานทางวิทยุและหนังสือพิมพ์ นักเรียน ป.3 อาจจะเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสในคาเฟ่ ส่วนนักเรียนชั้น ป.6 ก็ง่วนอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพื่อเตรียมนิทรรศการประวัติศาสตร์  

วิดีโอเมืองจำลองเกรนจ์ตัน

“ห้องเรียนแห่งอนาคต” เรียนรู้ปัญหา ค้นพบตนเอง

          ในปี 2017 มูลนิธิยุวชนออสเตรเลีย (Foundation of Young Australians) นำเสนอรายงานที่น่าสนใจว่า ชาวออสเตรเลียรุ่นใหม่มากกว่า 2 ใน 3 กำลังทุ่มเทให้กับการศึกษาเพื่อเส้นทางอาชีพที่กำลังจะตายในอีก 20 ปีข้างหน้า อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ ปรากฏการณ์นี้เป็นตัวอย่างชัดเจนที่กระตุ้นเตือนว่า การศึกษาต้องช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถรับมือกับโลกยุคใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการพัฒนาทักษะจำเป็นสำหรับโลกการทำงาน ให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการปรับตัวและเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ สามารถประสบความสำเร็จและมีความสุขในการดำรงชีวิตในอนาคต

          ในประเทศไทย โครงการเด่นของภาคเอกชนที่ให้ความสนใจต่อการพัฒนาการศึกษา เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอนาคตเด็กไทยทั้งในด้านอาชีพการงานและการใช้ชีวิต ดังเช่น โครงการซัมซุงสร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต มีจุดประสงค์ที่จะสร้างต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายให้เด็กสามารถค้นพบศักยภาพตัวเอง และการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียน เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เพื่อการค้นพบตนเองนั้นจะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย และสร้างผลกระทบให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างแท้จริง

          ด้วยเหตุนี้ โครงการจึงเน้นการจัดการเรียนรู้ซึ่งจะนำไปสู่การค้นพบตัวเองของเด็ก โดยมีองค์ประกอบสำคัญได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ จากการศึกษาแบบเดิมที่เด็กเป็นผู้รับความรู้ ไปสู่การเปิดกว้างให้นักเรียนมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้ทำงานรวมกลุ่ม สามารถสร้างสรรค์และนำเสนอผลงาน โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษามิใช่ผู้สอน กำหนดหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning) ฝึกให้เด็กตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว ค้นหาคำตอบ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการสืบค้นข้อมูล ผลิตสื่อ และเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน นอกจากนั้นยังพัฒนาครูด้วยการปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน จากการเป็นผู้บรรยาย กลายเป็นผู้สนับสนุนและเรียนรู้ร่วมกับเด็ก และมีการเตรียมความพร้อมเด็กให้ทดลองการเรียนวิธีใหม่ซึ่งผู้เรียนจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สุดท้ายคือการวัดและประเมินผล เปลี่ยนจากการที่ครูเป็นผู้ประเมิน มาเป็นการให้เด็กมีส่วนร่วมในการประเมินตนเอง

          นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการกว่า 40 โรงเรียนมาจากพื้นฐานที่หลากหลาย ทั้งเด็กในเมืองใหญ่ เด็กชนบท เด็กชายขอบ รวมถึงเด็กชาติพันธุ์ พวกเขาได้รับการสนับสนุนให้เริ่มตั้งคำถามกับปัญหารอบตัว และลองแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง โดยการค้นหาข้อมูลพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต รู้จักการวิเคราะห์กลั่นกรองความคิด การสำรวจชุมชนและสัมภาษณ์ชาวบ้านโดยใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไปจนถึงการสร้างสรรค์สื่อดิจิทัลเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ นักเรียนมีโอกาสได้พัฒนาทักษะในการคิด ทักษะในการสื่อสารและทำงานเป็นทีม ทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี รวมทั้งทักษะชีวิตและการทำงาน ซึ่งประกอบกันเป็นทักษะที่จำเป็นของศตวรรษที่ 21

          จากการวิจัยและติดตามผลโครงการซึ่งริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 พบว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ปัญหาที่อยู่รอบตัว การลงมือทำโครงการแก้ปัญหาชุมชนในประเด็นที่เด็กสนใจ จะนำไปสู่การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญ การจัดการเรียนรู้แนวใหม่นี้ส่งผลให้เด็กส่วนใหญ่ค้นพบศักยภาพ ความสามารถ และความสนใจของตัวเอง เด็กมีทักษะทางสังคมและมีความรับผิดชอบต่อตนเองสูงขึ้น เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ

          กัณจนา อักษรดิษฐ์ ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย สะท้อนถึงผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการว่า “เรานำเด็กที่ครอบครัวมีปัญหา เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา พ่อแม่หย่าร้าง ขาดผู้เลี้ยงดู หรือต้องสูญเสียพ่อแม่จนทำให้มีนิสัยก้าวร้าว มาเรียนรู้ด้วยกันและช่วยกันแก้ปัญหาในห้องเรียน จากเด็กที่ไม่กล้าคิดไม่กล้าแสดงออก ก็กล้าพูด กล้าถกเถียง กล้าแสดงเหตุผล จากคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต กลายเป็นคนที่อยากได้รับทุนเรียนต่อ อยากช่วยเหลือครอบครัว อยากช่วยเหลือชุมชน”

          โรงเรียนเทิงวิทยาคม ไม่เพียงเป็น 1 ใน 25 โรงเรียนนำร่องในการสร้างต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต แต่ยังได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปนำเสนอผลงานการวิจัยและการอนุรักษ์แม่น้ำอิงที่ประเทศเกาหลีใต้ในที่ประชุม Asia Pacific Youth Parliament for Water (APYPW) อีกด้วย

รายการกบนอกกะลา ตอน ห้องเรียนแห่งอนาคตของเด็กไทย 2/4 (โรงเรียนเทิงวิทยาคม)

ที่มา

Wise Qatar Foundation www.wise-qatar.org

UNESCO www.unesco.org

Samsung Smart Learning Center www.samsungslc.org


เผยแพร่ครั้งแรก มีนาคม 2561
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ กล่อง (2561)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก