จักรวาลแฟนฟิกชัน โลกในฝันของแฟนคลับกับการสร้างสรรค์งานเขียนผ่านจินตนาการคู่ขนาน

2,677 views
7 mins
October 26, 2022

          เมื่อหนังจบ ซีรีส์จบ หนังสือจบ แต่อารมณ์ดื่มด่ำกับเรื่องราวของตัวละครที่โลดแล่นในโลกจินตนาการยังไม่จบ  ผู้ชมหรือผู้อ่านหลายคนยังรู้สึก ‘อิน’ จนถอนตัวกลับออกมาสู่โลกแห่งความจริงไม่ได้ บางคนเลือกที่จะระบายความรู้สึกผ่านการพูดคุยกับแฟนานุแฟนที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน บ้างก็ผันตัวกลายมาเป็นแฟนคลับของนักแสดงที่รับบทตัวละครที่ตนเองหลงรัก ดังที่แฟนคลับในยุคปัจจุบันเรียกกันอย่างแพร่หลายว่า ‘เข้าด้อม’ (ย่อมาจาก Fandom ที่เกิดจากการรวมกันของคำว่า Fan กับ Kingdom ) แฟนๆ อีกจำนวนหนึ่งเลือกใช้วิธีการเติมเต็มความรู้สึกด้วยการผลิตงานเขียนที่ต่อยอดจินตนาการจากผลงานชิ้นเดิม เป็นการต่อชีวิตของตัวละครให้ยังคงอยู่กับเรื่องราวที่ถูกเหล่าแฟนๆ ประกอบขึ้นมาใหม่ และนี่ก็เป็นที่มาของงานเขียนประเภท ‘แฟนฟิกชัน’ (Fan Fiction) ที่มีประวัติอันแสนยาวนานย้อนกลับไปตั้งแต่ยุควรรณกรรมคลาสสิก

          ทุกวันนี้นักวิชาการรวมถึงนักอ่านหลายคนยังมองว่า ‘จักรวาลแฟนฟิกชัน’ เป็นโลกสีเทาๆ ของเหล่าแฟนคลับ เพราะถึงแม้ว่างานเขียนประเภทนี้จะสร้างผลงานดีๆ ให้กับโลกตัวหนังสือไม่ใช่น้อย แต่ก็เคยก่อให้เกิดประเด็นทางศีลธรรมและกฎหมายต่อตัวศิลปินและผลงานต้นฉบับอยู่หลายครั้ง ทำให้เราไม่อาจตัดสินได้อย่างชัดเจนว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการเขียนแฟนฟิกชันนั้น ‘ดำหรือขาว’ กันแน่

          อย่างไรก็ตาม หลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเผยแพร่งานเขียนประเภทแฟนฟิกชันก่อเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก นักเขียนที่สร้างผลงานเขียนยอดนิยมหลายคนก็เริ่มต้นอาชีพบนเส้นทางน้ำหมึกด้วยการลงเรื่องราวไว้ในแพลตฟอร์มเหล่านี้ เมื่อมีเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม และพัฒนางานเขียนของตนจนถึงมาตรฐานที่ตีพิมพ์ได้ ก็ผันตัวมาเป็นนักเขียนมืออาชีพเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

          หากมองในมุมนี้ การเขียนแฟนฟิกชันก็คงจะมีอรรถประโยชน์ไม่น้อยในฐานะเครื่องมือปั้นนักเขียนหน้าใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือระบายความรู้สึกของเหล่าแฟนๆ เท่านั้น งานวิจัยเชิงวิชาการชิ้นหนึ่งของซีซิเลีย อารากอน (Cecilia Aragon) และ เคที่ เดวิส (Katie Davis) สองโปรเฟสเซอร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันยืนยันว่า แพลตฟอร์มและชุมชนแฟนฟิกชันมีกระบวนการ ‘เรียนรู้’ ที่ซับซ้อนและลึกซึ้งยิ่งกว่าระบบพี่สอนน้อง หรือการให้โอกาสนักเขียนฝึกฝนด้วยตนเองจนเกิดความเชี่ยวชาญ คือระบบที่เรียกได้ว่าเป็น ‘Informal Learning Community’ หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบ ‘Mentoring System’ ที่น่าสนใจ และควรค่าแก่การถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้กับการวางระบบการเรียนรู้ในบริบทอื่นๆ ได้เช่นกัน

The Greater Good เป็นผลงานที่เกิดจากแฟนคลับผู้คลั่งไคล้ในจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์
ถูกทำออกมาช่วงที่โลกเวทมนตร์กำลังส่งไม้ต่อให้กับเรื่องสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (Fantastic Beasts and Where to Find Them)
ภายหลังที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2 ได้จบลงไปแล้ว

พัฒนาการของจักรวาลแฟนฟิกชัน

          นักวิจัยทางภาษาและวัฒนธรรมหลายท่าน รวมถึงนักอ่านมักจะเรียกแฟนฟิกชันว่า ‘จักรวาลคู่ขนาน’ ของงานเขียนฉบับดั้งเดิม เพราะแฟนฟิกชันเป็นการเขียนต่อยอดจากต้นเรื่องไปในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สานต่อความสัมพันธ์ของตัวละครที่ไปไม่ถึงฝั่งฝันให้สมหวัง เปลี่ยนมุมมองของเรื่องด้วยการมองผ่านเลนส์ของ ‘ตัวร้าย’ หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนบริบทให้ตัวละครอยู่ในยุคสมัย วัฒนธรรม หรือสถานที่ที่แตกต่างออกไปจากเดิม นักอ่านหลายคนชอบอ่านงานเขียนประเภทนี้ เพราะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่แปลกใหม่จากตัวละครดำเนินเรื่องที่รู้จักและคุ้นเคยกันดี

          ถึงแม้ว่าการเขียนแฟนฟิกชันจะถูกบันทึกอย่างเป็นทางการว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยแฟนนิยายวิทยาศาสตร์ในปี 1930s บ้างก็ว่าหากยึดตามหลักฐานเชิงประจักษ์ แฟนฟิกชันแบบมีที่มาที่ไปชัดเจนมาจากกลุ่มแฟนๆ ของ Star Trek ในช่วงปี 1960s แต่นักวิชาการสายวรรณกรรมหลายท่านกลับคิดว่า ลักษณะการเขียนแบบแฟนฟิกชันนั้นเกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้ว งานเขียนคลาสสิกของวิลเลียม เชคสเปียร์ หรือเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ ต่างก็ถูกแฟนๆ นำมาเขียนต่อยอดอยู่หลายครั้ง ยิ่งงานเขียนของ เจน ออสเตน หรือ เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ยิ่งถูกนำมาต่อยอดด้วยการเขียนแฟนฟิกชันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ต่างจากหนังสือชุด ‘เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์’ และ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ที่แฟนๆ ต่างนำตัวละครมาใช้ แต่เขียนเส้นเรื่องใหม่ จินตนาการใหม่ตามการตีความของตัวเอง

          จากงานเขียนต่อยอดเรื่องราวในหนังสือ การ์ตูน เกมคอมพิวเตอร์ และสื่อภาพเคลื่อนไหวแบบภาพยนตร์และซีรีส์ ในปัจจุบันการเขียนแฟนฟิกชันก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ตัวละครในสื่อเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบการเขียนที่อ้างอิงศิลปินที่มีตัวตนจริงๆ อีกด้วย (Real Person Fiction) ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในด้อมเกาหลี (K-POP) หรือด้อมจีน (C-ENT) ที่คาแรกเตอร์ตัวละครในงานเขียนเหล่านั้นล้วนถอดออกมาจากคาแรกเตอร์ของศิลปินตัวจริงเสียงจริง

          ในยุคที่นิยายวายกำลังเฟื่องฟู แฟนฟิกชันแบบวายที่เขียนจับคู่ศิลปินในวง อย่าง GOT7, NCT หรือแม้กระทั่งจับคู่ศิลปินที่มีงานแสดงร่วมกัน เช่น หวังอี้ป๋อ และเซียวจ้าน ก็กลายมาเป็นรูปแบบงานเขียนที่หาได้ทั่วไปตามแพลตฟอร์มแฟนฟิกชันและนิยายออนไลน์ แฮชแท็กคู่ (เช่น #MarkMin #BoZhan หรือ #TaeNy) กลายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับแพลตฟอร์ม แฟนฟิกชันเหล่านี้เป็น ‘วัฒนธรรมกระแสนิยม’ (Pop Culture) ที่ประชากรแฟนด้อมทั้งหลายให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งในฐานะนักอ่านและนักเขียน และยังก่อให้เกิด ‘ขนบ’ ในการเขียนหลายประการด้วย

          การสร้างจักรวาลใหม่เพื่อดำเนินเรื่องเป็นหนึ่งใน ‘ขนบ’ ที่เกิดขึ้น คำว่า Alternative Universe (AU) กลายมาเป็นคำที่นักเขียนแฟนฟิกชันนิยมใช้ เพื่อรักษาตัวละครจากผลงานชิ้นหลักเอาไว้ แล้วดัดแปลงเส้นเรื่องใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เขียน เช่น ย้ายตัวละครจากซีรีส์จีนโบราณย้อนยุคมาเขียนในบริบทปัจจุบัน เปลี่ยนอาชีพหรือช่วงวัยของตัวละครใหม่ นำตัวละครจากคนละเรื่องข้ามจักรวาลมาพบกัน หรือแม้กระทั่งจินตนาการถึงโลกใหม่ๆ ที่สามารถรังสรรค์เนื้อหาให้แตกต่าง และเป็นที่นิยมในกลุ่มแฟนๆ

แฟนฟิกชัน ในด้อมนักเขียน มีกระบวนการเรียนรู้
‘เพียงรักดั่งกมล’ งานเขียนแฟนฟิกชันที่ต่อยอดมาจากคาแรกเตอร์ของศิลปินชาวจีน
Photo: pycn_

‘ไรเตอร์’ เจิดจรัสไม่ได้ ถ้าไม่มีแพลตฟอร์ม และชุมชนคนชอบเขียน

          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมการเขียนแฟนฟิกชันงอกงามได้ขนาดนี้ คือการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มสำหรับลงงานเขียนออนไลน์ต่างๆ ในโลกของนักเขียนแฟนฟิกชัน แพลตฟอร์มในระดับนานาชาติที่เป็นที่รู้จักมีอยู่หลายแห่ง แต่ละแห่งมีจุดเด่น และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป บางแห่งมีลักษณะของการเป็น ‘ชุมชน’ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนนักเขียน หรือชุมชนแฟนคลับ เช่น

  1. Fanfiction.net ที่นี่เป็นแหล่งลงผลงานแฟนฟิกชันโดยเฉพาะที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1998 เป็นคลังแฟนฟิกชันขนาดใหญ่ ที่เก็บรวบรวมผลงานกว่า 40 ภาษา หน้าตาของเว็บไซต์เรียบง่าย ใช้งานสะดวก เพียงสมัครล็อกอินก็ใช้งานได้เลยทันที แต่ผลงานที่ลงที่นี่ไม่มีระบบการเซนเซอร์ หรือกลั่นกรองระดับความรุนแรงของเนื้อหา
  2. Archive of Our Own (AO3) เป็นแพลตฟอร์มรุ่นน้องของ Fanfiction.net แต่เป็นที่นิยมในกลุ่มแฟนด้อม เพราะมีระบบที่ช่วยให้การค้นหาสะดวกสบาย สามารถแสดงผลได้หลากหลายรูปแบบทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน และสามารถแปลงงานเขียนเป็นไฟล์ pdf ได้ด้วย AO3 อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากนักอ่านทั่วโลก ในปัจจุบัน แพลตฟอร์มนี้มีผลงานกว่า 7 ล้านชิ้น ไม่ใช่เพียงแฟนฟิกชันเท่านั้นแต่ยังรวมถึงงานแฟนอาร์ต วิดิโอ และผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย และมีสมาชิกถึงกว่า 3.4 ล้านคน แต่งานเขียนที่ลงในเว็บไซต์นี้ โดยส่วนมากเป็นแฟนฟิกชันเกี่ยวกับศิลปิน
  3. Wattpad มีลักษณะพิเศษ คือนอกจากจะเป็นพื้นที่ลงงานเขียนแล้ว ยังมีความเป็น ‘ชุมชน’ หรือ ‘สื่อสังคมออนไลน์’ ค่อนข้างสูง มีประชากรนักอ่านนักเขียนรวมกันถึงกว่า 90 ล้านคน มีสมาชิกที่พร้อมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแฟนฟิกชัน หรือบทความในรูปแบบอื่นๆ ที่ลงในแพลตฟอร์มอยู่เสมอ Wattpad ให้บริการทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่สบายตา ใช้งานง่าย และมีผลงานลักษณะอื่นๆ นอกจากแฟนฟิกชันลงในแพลตฟอร์มอีกด้วย  อีกทั้งยังพยายามกระตุ้นบรรยากาศของแพลตฟอร์มให้คึกคักด้วยการมอบรางวัลงานเขียนยอดเยี่ยมประเภทต่างๆ อยู่เป็นประจำ
  4. Tumblr ให้บริการหลายรูปแบบ ทั้งการลงภาพแฟนอาร์ต งานเขียนอื่นๆ รวมถึงพื้นที่ในการลงแฟนฟิกชันด้วย มีลักษณะที่เป็นกึ่งกลางระหว่าง AO3 กับ Wattpad ถึงแม้ว่าจะไม่มีงานเขียนแฟนฟิกชันมากเท่า AO3 แต่ก็มีลักษณะความเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนนักอ่าน หรือสมาชิกในแฟนด้อม จึงเป็นสถานที่ที่นักเขียนนิยมใช้เพื่อประชาสัมพันธ์งานเขียนของตัวเอง และใช้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนๆ แฟนคลับ
  5. Asian Fanfics เป็นสถานที่สำหรับแฟนฟิกชันสายเอเชียโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ การ์ตูน วงดนตรี ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ มี Interface ที่ใช้งานง่าย และสามารถเชื่อมโยงฟิกชันกับวิดิโอคลิปที่เกี่ยวกับแฟนด้อมของตนเองได้

          นอกจากนี้แพลตฟอร์มสัญชาติไทยก็เป็นที่รู้จักกันดีของชาวด้อมในประเทศ เช่น Joylada และ ReadAwrite ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ที่ให้พื้นที่สำหรับแฟนฟิกชันโดยเฉพาะ มีทั้งระบบติดเหรียญให้นักเขียนเก็บรายได้เป็นรายตอน และระบบโดเนทเพื่อให้นักอ่านสนับสนุนนักเขียนแฟนฟิกชันตามความพอใจ เมื่อได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริม การเขียนแฟนฟิกชันจึงกลายมาเป็นรูปแบบงานเขียนที่ ‘Popular’ ในกลุ่มนักอ่านออนไลน์

แฟนฟิกชัน ในด้อมนักเขียน มีกระบวนการเรียนรู้

เขียนแฟนฟิกชันไม่ไร้สาระ งานวิจัยเผย 7 คุณลักษณะของระบบการเรียนรู้

          ซีซิเลีย อารากอน และเคที่ เดวิส จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้เก็บข้อมูลเชิงลึกทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ และคุณภาพจากนักเขียนแฟนฟิกชันผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม fanfiction.net และ FIMfiction.net เพื่อวิจัยและนำเสนอผลการศึกษาในหนังสือ Writers in the Secret Garden: Fanfiction, Youth, and New Forms of Mentoring ทั้งคู่พบว่าในโลกของแฟนฟิกชันที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่สถานที่บอกรักศิลปินของเหล่าแฟนๆ กลับมีรูปแบบของ ‘Informal Learning’ แทรกอยู่ในนั้น โดยทั้งคู่เรียกรูปแบบการเรียนรู้แบบนี้ว่า ‘Distributed Mentoring’

          โปรเฟสเซอร์ทั้งสองท่านพบว่า การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในจักรวาลของแฟนฟิกชันนั้นมีความซับซ้อนและลึกซึ้งกว่า ‘พี่สอนน้อง’ หรือ ‘ฝึกฝนด้วยตนเอง’แต่เป็นลักษณะของความสัมพันธ์โยงใยแบบแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน นักเขียนคนหนึ่งอาจจะเป็นเมนเทอร์ในเรื่องหนึ่ง (การวางพล็อตเรื่อง) แต่ก็อาจจะเป็นผู้ได้รับคำแนะนำในอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ (การวางลักษณะตัวละคร) เพราะนักเขียนแต่ละคนมีจุดแข็งที่แตกต่างกันไป

          ลักษณะของกระบวนการ ‘Mentoring’ ที่เกิดขึ้นในสังคมแฟนฟิกชัน แบ่งได้ออกเป็น 7 แบบ ได้แก่

  1. Abundance เสียงสะท้อนที่เพียงพอ แฟนฟิกชันมักจะมีเสียงตอบรับเป็นจำนวนมาก จากคอมเมนต์ของเหล่าแฟนคลับใน ‘ด้อม’ ทำให้มองเห็นแนวโน้ม ทิศทาง ว่าเรื่องที่ตนเองเขียนเป็นอย่างไร ยิ่งเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับแฟนด้อม ยิ่งมีแฟนคลับจำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลกที่พร้อมจะสะท้อนความคิดเห็นให้กับผู้เขียนเมื่อเทียบกับนิยายออนไลน์แบบออริจินัล โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเหมือนโซเชียลมีเดียอย่าง Wattpad หรือ Tumblr
  2. Aggregation เสียงสะท้อนทั่วสารทิศ ผู้เขียนสามารถรับฟีดแบ็กหรือคำแนะนำได้จากหลายช่องทาง ทั้งข้อความส่วนตัว เว็บบอร์ด การรีวิว หรือชุมชนนักเขียน เมื่อรวบรวมเสียงสะท้อน คำแนะนำ หรือข้อคิดเห็นเหล่านั้น ผู้เขียนสามารถวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของงานเขียนตัวเองได้
  3. Accretion มีการเสริมเพิ่มความรู้ เมื่อเกิดชุมชนนักเขียนแฟนฟิกชันขึ้น บางแพลตฟอร์มก็เกิดการสร้างองค์ความรู้ ถอดบทเรียนในกลุ่มนักเขียนเอง เช่น ที่ FIMfiction.net มีเว็บบอร์ดที่นักเขียนมักจะตั้งโพสต์สอบถามเกี่ยวกับเทคนิคในการเขียน หรือแม้กระทั่งไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ซีซีเลีย และเคที่ยังพบว่ากลุ่มชุมชนนักเขียนในแพลตฟอร์มยังก่อตั้ง ‘Writing School’ ขนาดเล็ก เช่น การทำ Rubric ในการเขียนนิยาย หรือการทำ Map of Evil (แผนผังตัวละคร) แลกเปลี่ยนความรู้กันในชุมชนนักเขียน
  4. Acceleration เร่งวันดอกไม้บาน วันที่ศิลปินค้นพบแนวทางของตนเองในการนำเสนองานศิลป์ มักจะถูกเรียกว่าวันที่ดอกไม้บานการพบคอมเมนต์ในเชิงวิพากษ์ การค้นพบความคลาดเคลื่อนของข้อมูลในการเขียน หรือแม้กระทั่งข้อโต้แย้งจากบรรดาผู้อ่านและนักรีวิว จะนำมาซึ่งการถกเถียงเพื่อหาข้อสรุป ทำให้นักเขียนเข้าใจ ตกผลึก อย่างลึกซึ้ง ยิ่งนักคอมเมนต์ทั้งหลายเข้ามาช่วยกันถกประเด็น ปะทะความคิดมากเท่าไหร่ นักเขียนยิ่งสามารถนำข้อคิดที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดผลงานของตนเองได้มากขึ้นเท่านั้น
  5. Availability คอมเมนต์คงอยู่ยาวนานผ่านกาลเวลา แฟนฟิกชันที่ถูกโพสต์ลงไปในแพลตฟอร์มจะคงอยู่อย่างยาวนาน ก่อให้เกิดกระบวนการ Mentoring อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่นักเขียนยังไม่ลบเรื่องของตัวเอง และนักอ่านยังไม่ลบคอมเมนต์
  6. Asynchronicity เสียงสะท้อนข้ามพื้นที่ ข้ามเวลา การเขียนแฟนฟิกชันเกี่ยวกับ ‘ด้อม’ ใหญ่ ที่รู้จักกันดีทั่วโลก ย่อมดึงดูดนักอ่านมาจากหลากหลายพื้นที่ หลากหลายไทม์โซน ทำให้ผู้เขียนได้รับเสียงสะท้อนอย่างต่อเนื่อง จากคนที่มีภูมิหลังที่หลากหลาย
  7. Affect ความรักในสิ่งเดียวกัน สร้างความมุ่งมั่นให้ไปต่อ นักเขียนได้รับกำลังใจในเชิงบวกจากคนที่รัก ชอบ ในสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือตัวศิลปิน ทำให้เกิดความรู้สึกสนิทสนมเหมือนเป็นเครือญาติ (Kinship) เกิดความรู้สึกผูกพันซึ่งกันและกัน อีกทั้งเสียงเรียกร้องให้นักเขียนออกผลงานใหม่มาเรื่อยๆ ก็เป็นเหมือนแรงผลักดันให้พัฒนาฝีมือแบบไม่หยุดยั้ง

          คุณลักษณะทั้ง 7 แบบ แห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้กันและส่งเสริมกันและกัน เมื่อได้รับเสียงสะท้อนที่มีประโยชน์จากนักอ่านแล้ว นักเขียนก็อาจจะทำหน้าที่เป็นนักอ่านและรีวิวผลงานของนักเขียนอื่นๆ ในชุมชนแฟนฟิกชันต่อไป จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกว่า ‘การสอน’ แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ซีซิเลียและเคที่จึงกล่าวว่ารูปแบบการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการแบบนี้ อาจจะสามารถนำไปใช้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในบริบทอื่นๆ ได้

จากโลกของแฟนฟิกชัน สู่จักรวาลแห่งงานเขียน

          หลักฐานเชิงประจักษ์ใกล้ตัวนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันทั้งสอง บ่งชี้ว่ามีคนที่ได้ประโยชน์และเจริญงอกงามจากระบบ ‘Informal Learning’ ในโลกของแฟนฟิกชันจริงๆ หนึ่งในนั้นคือทีมวิจัยที่ชื่อ ‘รูบี้ เดวิส’ ซึ่งเริ่มเขียนแฟนฟิกชันตั้งแต่ปี 2010 เมื่อมีอายุได้เพียง 13 ปี ในตอนนั้น รูบี้เป็นเด็กออทิสติกที่ไม่ชอบเข้าสังคม แต่ชอบใช้เวลาเขียนแฟนฟิกชันในโลกของตัวเอง ในปัจจุบัน รูบี้เป็นนักเขียนที่มีฝีมือในชุมชนแฟนฟิกชัน มีความมั่นใจในตัวเอง เป็นนักวิจัย และเป็นรุ่นพี่ปีสุดท้ายที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา รูบี้ได้ค้นพบอัตลักษณ์ของตนเองผ่านโลกแฟนฟิกชัน เรียนรู้ทักษะการเขียน ทักษะเชิงวิพากษ์ แล้วเติบโตขึ้นมาอย่างงดงาม

          นักเขียนที่สร้างผลงานมีชื่อเสียงหลายคน ก็เริ่มต้นชีวิตบนเส้นทางน้ำหมึกจากการเขียนแฟนฟิกชัน เช่น เม็ก คาบอท (Meg Cabot) ที่เขียนนิยายชวนฝันเรื่อง The Princess Diaries ก็เริ่มต้นจากการเขียนแฟนฟิกชันเรื่อง The Star Wars หรือ อี แอล เจมส์ (E L James) ที่เขียนเรื่อง Fifty Shades of Gray นิยายรักชวนลุ่มหลงแนวอิโรติกที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ไตรภาคชื่อดัง ก็เริ่มเขียนเรื่องนี้ในฐานะแฟนฟิกชันของ Twilight ส่วน คาสซานดร้า แคลร์ (Cassandra Clare) เจ้าของผลงาน Mortal Instrumentals Series ที่กำลังโด่งดัง ก็เป็นนักเขียนแฟนฟิกชันของ The Lord of the Rings ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแฟนด้อมมาก่อน หนังสือเรื่อง Bridget Jones’s Diary ของ เฮเลน ฟิลดิ้ง (Helen Fielding) ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ ก็จัดว่าเป็นแฟนฟิกชันในจักรวาลยุคปัจจุบันของวรรณกรรมคลาสสิก Pride and Prejudice ของเจน ออสเตน (Jane Austen) ที่มีพล็อตเรื่องแบบพ่อแง่แม่งอน เมื่อบวกกับการเติมแต่งรสชาติด้วยเรื่องราวความรักที่เติบโตงอกงามบนความหยิ่งทระนงและอคติของพระนาง ก็โดนใจนักอ่านหลายช่วงวัยจนกลายมาเป็นต้นแบบของแฟนฟิกชันอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ปรากฏโฉมอยู่บนแผงหนังสือและหน้าจอ

          ดังนั้น…จึงปฏิเสธไม่ได้ ว่าการเขียนแฟนฟิกชัน ได้ให้โอกาสหลายอย่างกับนักหัดเขียน ดังที่หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์งานวิจัยของซีซิเลียและเคที่ได้กล่าวไว้ว่า

           “…ว่ากันว่านักเขียนทุกคนต้องฝึกเขียนให้เกิน 1 ล้านคำ ถึงจะเครื่องติด แฟนฟิกชันก็ช่วยพาให้ฉันไปถึงตรงนั้น คำแนะนำที่ได้จากคนอ่าน หรือจากการที่ได้อ่านงานของคนอื่นทำให้ฉันพัฒนาตัวเองได้ในหลายๆ ทาง”

แฟนฟิกชัน ในด้อมนักเขียน มีกระบวนการเรียนรู้
นิยาย Fifty Shades of Gray แฟนฟิกชันของ Twilight

จักรวาลแฟนฟิกชันคือกระบี่…จอมยุทธที่ดีต้องใช้ให้ถูกทาง 

          ทุกวันนี้หลายคนก็ยังมองว่าโลกของแฟนฟิกชันคือโลกสีเทาของเหล่าแฟนคลับ บางครั้งนักเขียนคึกคะนองก็เผลอสร้างความเสื่อมเสียให้กับศิลปิน งานเขียนบางชิ้นผลิตซ้ำความรุนแรง ‘Romanticize’ อาชญากรรม การข่มขืน การเหยียดเพศ บ้างก็เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นคือประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ เมื่อนักเขียนแฟนฟิกชันบางคนตีพิมพ์ หรือรวมเล่มอีบุ๊กหารายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน หากเป็นแบบนี้…จะถือว่าละเมิดนักเขียนผลงานต้นฉบับ หรือศิลปินเจ้าของคาแรกเตอร์ทั้งหลายหรือไม่ ผลประโยชน์ที่ตกอยู่กับนักเขียนคือรายได้อันชอบธรรมหรือเปล่า ยังไม่มีคำตอบที่สามารถฟันธงชี้ชัดได้

          มองในอีกมุมหนึ่ง แฟนฟิกชันก็คือผลิตผลจากความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้ต่างไปจากงานในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น ซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือนิยาย ทั้งผู้เขียนและผู้เสพผลงานควรตระหนักรู้ว่าตัวเองอยู่จุดไหนและใช้วิจารณญาณให้เต็มที่ ในเมื่องานวิจัยได้บ่งชี้ว่าในชุมชนแฟนฟิกชั่นยังมีทั้งสาระและโอกาสในการพัฒนาทักษะการเขียน นักเขียนนักอ่านจะลองเปิดใจ มองการเขียนแฟนฟิกชั่นในมุมใหม่ดีหรือไม่ หากว่าการเขียนแฟนฟิกชันคือกระบี่ วิจารณญาณก็คือเพลงยุทธที่คอยกำกับ ว่าควรใช้กระบี่อย่างไรถึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและยุทธภพ


ที่มา

บทความ “10 famous authors who write fanfiction” จาก dailydot.com (Online)

บทความ  BEST FAN FICTION APPS AND SITES จาก bookriot.com (Online

บทความ “Functional Character in Fan Fiction: A Case Study of The Lord of the Rings’ Alternative Universe Fan Fiction For Every Evil” จาก researchgate.net (Online)

บทความ “Pride and Prejudice: A History of Onscreen Fan Fiction” จาก denofgeek.com (Online)

บทความ “STUDYING FANDOM ONLINE: A CASE STUDY OF TWICE AND STRAY KIDS FANDOM ON FAN FICTION PRACTICES OF @ESKALOKAL AND @GABENERTWICE ON TWITTER จาก researchgate.net (Online)

บทความ “The “secret garden” of the internet: How fanfiction transforms lives” จาก cfiesler.medium.com (Online)

Cover Photo: David Iskander on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก