เดชรัต สุขกำเนิด ระเบิดไอเดีย ‘กองทุนพัฒนานิเวศการเรียนรู้’ กลไกหนุนปฏิรูปการศึกษา

2,520 views
20 mins
March 31, 2021

          หลายปีมานี้ แวดวงการศึกษาไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่อง ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ (Learning Ecosystem) อย่างแพร่หลาย ในฐานะกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาระบบการศึกษา ภายใต้ความเชื่อที่ว่า องค์ประกอบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ผู้เรียน ผู้สอน นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว สื่อการเรียนการสอน ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

          แน่นอนว่าการมีระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดี สอดคล้องกับยุคสมัย ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประชากรในสังคมนั้นๆ อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ แต่ขึ้นชื่อว่าระบบนิเวศ นอกจากองค์ประกอบที่หลากหลาย กลไกสำคัญที่ทำให้ระบบเคลื่อนไปได้ คือการปล่อยให้แต่ละองค์ประกอบได้ทำหน้าที่และมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างอิสระ  

          ในส่วนของประเทศไทย แม้จะมีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษามายาวนาน มีตัวละครหน้าใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ แต่อีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรายังมีประตูอีกหลายบานที่รอการปลดล็อค

          ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือหนึ่งในคนที่ออกมาให้ความเห็นในประเด็นการศึกษาอยู่เป็นระยะ ทั้งในฐานะนักวิชาการที่ตีแผ่โครงสร้างสังคมได้อย่างถึงแก่น ในฐานะอาจารย์ที่ชอบแบ่งปันเรื่องชวนคิดจากห้องเรียนสู่สาธารณะ และในฐานะของคุณพ่อที่คอยเป็นเพื่อนคู่คิดของลูกๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเบ่งบาน

          ไม่นานมานี้ เขาเสนอไอเดียเรื่อง ‘กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ’ พร้อมแจกแจงโมเดลแบบละเอียดยิบ หลักใหญ่ใจความคือการจัดสรรและบริหารงบประมาณด้านการศึกษา ให้สอดคล้องกับการพัฒนา ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ ในปัจจุบัน ภายใต้โจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนจากหลักสูตรที่เน้น ‘เนื้อหา’ ไปสู่หลักสูตรที่เน้น ‘สมรรถนะ’ ของผู้เรียน

          The KOMMON นัดหมายกับ ดร.เดชรัต เพื่อพูดคุยถึงประเด็นนี้โดยเฉพาะ ไล่ตั้งแต่คำถามที่ว่ากองทุนนี้มีความสำคัญอย่างไร เกิดขึ้นจากฐานคิดแบบไหน โมเดลและกลไกต่างๆ เป็นอย่างไร ไปจนถึงการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ อันเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเรื่องนี้

อยากทราบว่าไอเดียของ ‘กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ’ ที่คุณเคยเสนอไว้ เกิดขึ้นจากอะไร

          มาจาก 3 หลักใหญ่ๆ ข้อแรกคือความท้าทายจากการที่เราจะเปลี่ยนหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา ไปเป็นหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะ ซึ่งต้องเติมงบประมาณเรื่องการพัฒนาครู กับเครื่องมือการเรียนรู้ ทั้งเด็กและครูถึงจะไปด้วยกันได้ แต่ในความเป็นจริง ผมพบข้อมูลที่น่าแปลกใจและน่าตกใจว่า งบประมาณสำหรับการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและการพัฒนาครูของเราในช่วงหลายปีมานี้กลับลดลงอย่างมาก

          ข้อต่อมา ผมเห็นว่าการเติมงบประมาณที่ว่านี้ ไม่ควรถูกกำหนดหรือใช้ช่องทางเดิมเพียงอย่างเดียว ก็คือเติมผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ไปที่โรงเรียน แล้วไปถึงเด็ก ข้อเสนอของผมคือ งบส่วนหนึ่งยังแบ่งลงไปที่ช่องทางนี้เหมือนเดิม ผ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่ต้องมีอีกส่วนที่แยกออกมาเพื่อให้คนอื่นเอาไปบริหารจัดการ มีเป้าเดียวกันคือพัฒนาและต่อยอดการเรียนรู้ เพียงแต่เป็นช่องทางอิสระที่ไม่ต้องผ่านกระทรวงศึกษาฯ โดยตั้งเป็นกองทุนสำหรับการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้โดยเฉพาะ

          การที่ผมเสนอแบบนี้ เพราะอยากให้มีการเปลี่ยนมายด์เซ็ตในการทำงานของระบบราชการด้วย ที่มักจะคิดว่าเราต้องคุมเองหมด ถึงจะได้รับประโยชน์ที่สุด แต่ผมเชื่อว่าเราต้องแบ่ง ต้องกระจายออกไป จึงจะเห็นผลกว่า

          ข้อสุดท้าย เมื่อต้องให้คนอื่นมาบริหารจัดการ คำถามคือจะแบ่งให้ใครบ้าง ผมก็แบ่งออกมาเป็นสองส่วน ส่วนแรกเรียกว่า ‘supply side’ ส่วนที่สองเรียกว่า ‘demand side’

          supply side ครอบคลุมตั้งแต่คนที่ทำพิพิธภัณฑ์ ทำสื่อ ทำเกม ทำห้องสมุด ให้งบเขาไปบริหารจัดการเพื่อตอบโจทย์แก่ผู้ใช้ ส่วนที่เป็น demand side ก็คือครูและนักเรียน เป็นผู้ที่จะตัดสินใจเองว่าจะใช้เงินที่ได้รับมากับช่องทางไหน โดยกลไกที่เกิดขึ้นอาจมีทั้งสองแบบ

          แบบแรกคือผู้จัดบริการกระตุ้นการใช้บริการ (supply-induced demand) เช่น ผู้เรียนอาจยังไม่ทันคิดหรือมีไอเดียว่าต้องการอะไร แต่พอเห็น supply ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นเวิร์กชอป หรือสื่อการเรียนรู้ เขาก็สามารถเข้าร่วมได้ อีกด้านคือ ผู้ใช้บริการกระตุ้นให้เกิดบริการ (demand-induced supply) เช่น ผู้เรียนรู้สึกว่าเขาต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยที่ฝั่ง supply อาจยังไม่ได้คิด แต่พอเห็นว่ามี demand เกิดขึ้นก็ต้องทำ สุดท้ายทั้งสองด้านจะจูนเข้าหากัน

กองทุนนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะยังไง

          สัมพันธ์โดยตรงเลยครับ มันคือการเติมศักยภาพของครูและนักเรียน หลักสูตรฐานสมรรถนะคือการที่เราสลายกรอบเนื้อหา ไม่ใช่เนื้อหาไม่มีความสำคัญ โจทย์คือมันต้องสำคัญและหลากหลายกว่าเดิม เราไม่สามารถไปกำหนดว่าเนื้อหาต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เด็กบางคนอาจสนใจหรือเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อาหาร บางคนอาจสนใจเรื่องอักษรไทยก็ได้ มันไม่ควรมีตัวล็อคว่าเราควรเรียนอะไรแค่ไหนอีกต่อไป

          คำถามคือเมื่อมันไม่มีตัวล็อค เราจะทำยังไงให้ทั้งครูและเด็กยังไปต่อได้ มองแง่นี้ การมีตัวล็อคก็ดีตรงที่ว่า ถ้าคุณให้ผมสอนตาม 10 ข้อนี้ ผมก็จะสอนไปตามนี้ แต่พอตัวล็อคหายไป มันต้องมีตัวช่วยให้เขา ไม่อย่างนั้นจะตกอยู่ในสภาวะที่เหมือนจะดี แต่ไปต่อกันไม่ถูก

          การเปลี่ยนหลักสูตรมาเน้นที่ฐานสมรรถนะ แปลว่าบทบาทและศักยภาพของครูจะมีความสำคัญมาก เพราะครูจะทำหน้าที่ในการร่วมกับนักเรียนแต่ละคนในการออกแบบการเรียนรู้ และช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนให้สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่นักเรียนแต่ละคนและครูร่วมออกแบบไว้

          อีกหนึ่งตัวช่วยที่มีความสำคัญมากๆ สำหรับหลักสูตรใหม่ คือสื่อการเรียนรู้ ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละบุคคล หรือแต่ละกลุ่ม ซึ่งไม่ได้เรียนเนื้อหาเดียวกันเหมือนกันทั้งห้องอีกต่อไป นั่นแปลว่า เราจำเป็นต้องมีสื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายจำนวนมาก ที่ออกแบบตามความสนใจของผู้เรียน และตามระดับความยากง่ายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามสมรรถนะของผู้เรียนที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ เกม ละคร ซีรีส์ หรือแม้กระทั่งแหล่งเรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด co-learning space เป็นต้น หรือที่เรียกกันในภาษาสมัยใหม่ว่า เราต้องสร้าง ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ ขึ้นมาให้ได้

          แต่ปัญหาที่ผมเกริ่นไว้ก็คือ พอผมไปตรวจสอบงบประมาณสำหรับการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและการพัฒนาครูกลับพบว่า งบประมาณในการผลิตและพัฒนาการเรียนการสอน และงบประมาณการผลิตและพัฒนาครู กลับลดลงอย่างมาก จากประมาณ 28,000 ล้านบาท ในปี 2557 เหลือประมาณ 13,000 ล้านบาท ในปี 2561 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ข้อมูลจากบัญชีรายจ่ายการศึกษาแห่งชาติ หรือ National Education Account) ทั้งๆ ที่การพัฒนาสื่อการเรียนรู้และครูควรเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาสมัยใหม่

          ผมเกรงว่า ถ้างบประมาณทั้งสองด้านนี้ลดลง สวนทางกับความสำคัญที่ควรเพิ่มขึ้น การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะคงทำไม่สำเร็จ ผมจึงตั้งหลักว่า ในเบื้องต้น งบประมาณในการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ และครู ควรมีประมาณ 5% ของงบรายจ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด หรือกล่าวง่ายๆ คือแบ่งเงินเพียง 5 บาทจาก 100 บาท มาใช้ในการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และการพัฒนาครู

Photo: เฟซบุ๊ก Decharut Sukumnoed
Photo: เฟซบุ๊ก Decharut Sukumnoed

          ถ้าใช้ตัวเลข 5% แบบที่ผมตั้งเป็นตุ๊กตา และใช้ตัวเลขงบรายจ่ายเพื่อการศึกษาทั้งประเทศปัจจุบันประมาณ 800,000 ล้านบาทต่อปี นั่นแปลว่า งบประมาณในการผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้และครูควรจะมีประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี จากตัวเลขปัจจุบันคือ 13,000 ล้านบาทต่อปี

          งบประมาณ 40,000 ล้านบาทนี้ ควรแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกสำหรับ การศึกษาในระบบโรงเรียน-มหาวิทยาลัย 20,000 ล้านบาท ที่จะช่วยเติมเต็มการทำงานตามระบบที่มีอยู่ แต่ส่วนที่ผมอยากย้ำคือส่วนที่สอง ซึ่งเป็นงบประมาณสำหรับการพัฒนานอกระบบจำนวนเท่าๆ กัน คือ 20,000 ล้านบาท ซึ่งหากคำนวณคร่าวๆ แล้วจะตกประมาณ 1,000 บาท ต่อคนต่อปี คิดจากจำนวนประชากร 0-22 ปี ประมาณ 20 ล้านคน

          จะว่าไปงบประมาณส่วนที่ 2 นี้กระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานและกองทุนต่างๆ เช่น องค์การมหาชน อย่าง TK Park, อพวช., พิพิธภัณฑ์การเกษตร ฯลฯ กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สสส. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอื่นๆ เช่น ไทยพีบีเอส เป็นต้น แต่เงิน 20,000 ล้านบาทนี้จะเพิ่มการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและคุณครูให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และเปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีไอเดียมาร่วมพัฒนามากยิ่งขึ้น

          ดังนั้น การดำเนินงานในส่วนที่ 2 นี้ นอกจากจะใช้กลไกที่มีอยู่แล้วตามที่กล่าวมา ผมยังเสนอให้มีระบบการจัดสรรงบประมาณที่ก้อนใหญ่ขึ้น และเปิดกว้างในการใช้เงินมากขึ้น โดยผมตั้งชื่อเล่นๆ ว่า ‘กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ’

สมมติถ้ามีการตั้งกองทุนนี้ขึ้นมา สามารถนำไปใช้กับส่วนไหนได้บ้าง จัดสรรงบแต่ละส่วนอย่างไร

          ในตุ๊กตาที่ผมตั้งขึ้นมา กองทุนนี้จะแบ่งเงินออกเป็น 4 กอง คือ 

          1) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ลานเยาวชน Co-learning space (วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี)

          2) การพัฒนาสื่อเรียนรู้ เช่น หนังสือ ละคร เกม ภาพยนตร์ รวมถึงชุมชนการเรียนรู้ออนไลน์ (วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี)

          3) การจัด Workshop เรียนรู้ระยะสั้น/กลาง ในรูปแบบ/ประเด็นต่างๆ ที่สามารถเสริมหนุนการเรียนรู้ในฐานสมรรถนะได้ (วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี) และ

          4) การสร้างความเข้าใจงาน/อาชีพใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างสมรรถนะระยะยาวของนักเรียน โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจให้กับครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง (วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท/ปี)

          จะเห็นว่า จำนวนเงินที่กล่าวมา จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ผมขอเรียกว่าเป็นงบประมาณฝั่งผู้ให้บริการ หรือ Supply-side financing แต่ผมยังหวังให้กองทุนนี้มีระบบงบประมาณแบบ Demand-side financing หรือฝั่งผู้รับบริการด้วย ในที่นี้คือนักเรียนและครู เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเข้ารับการอบรมอะไรภายในวงเงินที่กำหนด (เช่น 1,000 บาท/ปี) โดยเงินจะถูกโอน/จ่ายให้กับผู้ให้บริการที่นักเรียนหรือครูเป็นผู้เลือก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเข้าร่วมเวิร์กชอป เพื่อการซื้อหรือสมัครสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ซึ่งจะเป็นงบประมาณที่ย้อนไปสู่ผู้พัฒนาสื่อและรูปแบบการเรียนรู้นั้นๆ อีกทีหนึ่ง

Photo: เฟซบุ๊ก Decharut Sukamnoed
Photo: เฟซบุ๊ก Decharut Sukamnoed

ถ้าดูจากงบ 4 ก้อนย่อยที่แบ่งออกมา สิ่งที่คุณตั้งไว้เป็นก้อนแรก คือการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ อยากทราบว่ามันสำคัญยังไง

          มีอีกข้อเสนอหนึ่งซึ่งผมเคยเขียนไว้เหมือนกัน คือเรื่อง negative land tax ไอเดียคือแทนที่เราจะเก็บภาษี land tax ตามปกติ แต่เปลี่ยนเป็นการเก็บแบบ negative แทน คือรัฐจ่ายให้เจ้าของที่ดิน จากการอนุญาตให้ใช้ที่ดินแปลงนั้นเพื่อสาธารณประโยชน์ได้

          สมมติผมมีบ้านเปล่าๆ อยู่หลังหนึ่ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร แทนที่ผมต้องโดนภาษีในราคาแพงๆ ผมก็ยกให้คนที่อยากเอาไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ แค่อนุญาตให้ใช้นะ ไม่ใช่การยกกรรมสิทธิ์ให้ แล้วผมก็ได้เงินจากรัฐบาล ถ้าอยากจะใช้เพื่อหารายได้ เช่น ทำเป็นร้านกาแฟหรือร้านขนม ก็ทำได้ แต่จำกัดพื้นที่ไว้ไม่เกิน 30% อีก 70% ให้เป็น public space นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องการใช้พื้นที่

แล้วแหล่งเรียนรู้แบบไหนที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

          ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่สนใจสิ่งที่เรียกว่า space มากกว่าคนรุ่นก่อนมาก เพราะเขาต้องการ space ที่ดี มีการออกแบบที่ดี แล้วเขาใช้ประโยชน์ได้

          จากที่เคยสัมผัสมา คนรุ่นใหม่ค่อนข้างเปิดกว้างกับ space รูปแบบใหม่ๆ ฉะนั้นผมเลยไม่ห่วงคนรุ่นใหม่เท่าไหร่ ที่ห่วงคือคนรุ่นเก่ามากกว่า จะมีคำถามทำนองว่า ทำไมต้องไปนั่งร้านกาแฟด้วย อยู่บ้านไม่ได้เหรอ ซึ่งผมเข้าใจคนถามนะ ในแง่ความเป็นห่วง แต่ถ้าพูดในมุมกลับ คนที่มีเงิน สามารถใช้จ่ายได้ ก็ใช้ไปเถอะ แต่กับคนที่ไม่มีเงิน เรายังต้องการ public space ที่ตอบโจทย์เขาในลักษณะเดียวกันอีกเยอะ

          ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่า space เป็นเรื่องใหญ่ แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนรุู้ แต่เป็นจุดที่สร้างเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต การลงทุนเรื่อง space จะมีความสำคัญมาก ธนาคารโลกเคยออกหนังสือชื่อ The Hidden Wealth of the City พูดถึงความมั่งคั่งที่ซ่อนเร้นในเมือง หัวใจก็คือเรื่องการจัดการกับ public space นี่แหละ

ทำไมถึงมองว่าคนรุ่นเก่าไม่สนใจเรื่อง space

          ที่คนรุ่นเก่าบางส่วนไม่สนใจเรื่อง space เพราะเขาสนใจเรื่องการ control หมายความว่า ตราบใดที่ผมสั่งคุณได้ ผมจะอยู่ตรงไหนก็ไม่สำคัญ space เลยไม่จำเป็นต้องมีการออกแบบให้ดีอะไรนัก แต่คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้สนใจเรื่องการ control เท่ากับการ connect การเชื่อมโยงกัน ถ้าเขาได้อยู่ space ที่ดี มีจังหวะเหมาะๆ ก็สามารถเกิดเพื่อนใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ได้

ดร. เดชรัต สุขกำเนิด

จากที่อธิบายมา หมายความว่างบส่วนหนึ่งจะถูกกระจายออกไปนอกระบบการศึกษา คำถามคือกลไกแบบนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แล้วฝ่ายบริหารซึ่งยึดโยงอยู่กับระบบราชการจะเข้าใจจุดนี้ไหม

          ก็ต้องกลับไปที่คำว่า ‘ระบบนิเวศ’ หรือ ecosystem ถามว่าคุณคุมอะไรได้บ้าง คุณคุมไม่ได้ เวลาเราใช้คำว่าระบบนิเวศ บางทีเราไม่ได้ใช้มันอย่างเข้าใจ โดยเฉพาะการคิดว่าเราต้องคุมทุกอย่างได้

          คำว่าระบบนิเวศคือการเปิดโอกาสให้มีพืชพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น มีน้ำ มีดิน มีโคลน แล้วสุดท้ายมันจะเกิดวิวัฒนาการ เกิดไอเดียใหม่ๆ การที่หน่วยราชการยังคิดว่าตัวเองต้องเป็นคนควบคุมทุกอย่าง ก็นับเป็นปัญหาหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน นั่นแปลว่าเขาไม่เข้าใจคำว่าระบบนิเวศเลย

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ จริงๆ แล้วมันหมายถึงอะไร

          ในมุมของผม ‘ระบบนิเวศ’ หมายความว่า ถ้าเรารู้สึกว่ามันยังขาดอะไรอยู่ เราเปิดโอกาสให้มันมีได้ไหม ไม่ใช่เข้าไปจัดการหรือควบคุม แต่เปิดโอกาส แล้วโอกาสนั้นจะวิวัฒน์ไปด้วยกันเอง นี่ถึงเป็นที่มาว่าทำไมผมถึงแบ่งงบเป็นสองฝั่ง ทั้งฝั่ง demand และ supply ก็เพื่อให้มันเกิดการตอบสนองกันตามธรรมชาติ

           ส่วนคำว่า ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ ต้องบอกว่ามันคือคำฮิตในปัจจุบันเลย ความหมายที่คนในแวดวงเข้าใจกันก็คือการเพิ่มความหลากหลายในการเรียนรู้ แต่ในมุมของผม ความหลากหลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ แต่หัวใจสำคัญอีกอย่างคือมันไม่ได้ควบคุมกัน ไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่ไปคุมต้นไม้เล็ก แน่นอนว่าต้นไม้ใหญ่มีอิทธิพลต่อต้นไม้เล็ก แต่ต้นไม้เล็ก หรือแม้กระทั่งเชื้อรา ก็มีอิทธิพลและมีประโยชน์ต่อต้นไม้ใหญ่เช่นกัน ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงระบบนิเวศ แปลว่าเราต้องเปิดโอกาสให้มันมีการเติบโต มีการวิวัฒน์เข้าหากัน

          อีกประเด็นที่สำคัญในระบบนิเวศคือ สมมติหน้านี้ใบไม้ร่วง เพราะน้ำน้อย แปลว่าของบางอย่างก็จำเป็นต้องลดลงบ้าง แต่ถ้าเราใช้วิธีสั่งการลงมาทุกอย่าง จะรู้ได้ยังไงว่าตอนไหนควรผลิใบหรือปลิดใบ

          ส่วนสุดท้ายที่คนยังพูดถึงกันน้อย คือระบบนิเวศมันไม่มีของเหลือ แต่เมื่อเอามาเทียบกับเรื่องการเรียนรู้ สังเกตว่ามีของที่ถูกห้ามเยอะไปหมด เพราะถูกมองว่าไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นระบบนิเวศจริงๆ มันต้องไม่มีของเหลือ อะไรก็ตามที่ผ่านระบบนิเวศจะมีคนเข้ามาใช้ประโยชน์เสมอ มีกิ้งกือ มีแร้ง มีไส้เดือน เข้ามาช่วยย่อย สร้างประโยชน์แก่ระบบต่อไป

พอจะยกตัวอย่างได้ไหม

          เรื่องบางเรื่อง หรือบางวิชาที่สอนแล้วไม่ได้ใช้ มันมีกลไกที่สะท้อนกลับมาไหมว่าควรจะปรับตัวยังไง

          ผมยกตัวอย่างง่ายๆ สักสองวิชา คือกระบี่กระบอง กับลูกเสือ คุณควรจะปรับไหม ปรับอย่างไร หรือคุณคิดแค่ว่าต้องทำเพราะมันคือการจรรโลงหรือสืบทอดบางอย่างเท่านั้น ผมไม่ปฏิเสธการสืบทอดนะ แต่การสืบทอดทุกอย่างจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันปรับตัวตามสิ่งแวดล้อม ทำไมแมลงสาบถึงยังไม่สูญพันธุ์ เพราะมันปรับตัว เช่นเดียวกับทุกอย่างที่ต้องปรับตัว แต่พอเราไม่เปิดโอกาส ไม่มีกลไก ก็เหมือนเราแช่แข็งมันไว้ ผลคือมันจะดำรงอยู่ภายใต้สภาวะที่ไม่โอเคเท่าไหร่

ถ้าประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ภาพความจริงกับภาพความฝันตรงกันหรือขัดแย้งกันแค่ไหน

          ก็ยังไม่ตรงกันหรอกครับ แค่คำว่าระบบนิเวศ เราก็ยังตีความไม่ครบถ้วน ส่วนใหญ่จะพูดในเซนส์ของความหลากหลายอย่างเดียว หรือบางคนอาจไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าถามผม เวลาพูดถึงระบบนิเวศการเรียนรู้ เราต้องคิดถึงหลายๆ องค์ประกอบอย่างที่บอกไป คิดแม้กระทั่งว่ามันไม่ควรมีอะไรที่เป็นของเหลือในระบบนิเวศ ทุกองค์ประกอบควรได้รับการตอบสนอง ซึ่งต้องใช้เวลา

เอาเข้าจริง อาจต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตของครูผู้สอนด้วย

          ใช่ครับ ทั้งหมดมันอยู่ที่คำว่าระบบนิเวศ หรือ ecosystem แต่เราจะเข้าใจคำนี้ได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจคำว่า learning กับ study หรือไม่ ถ้าเราเปลี่ยนมายด์เซ็ตจากคำว่า study เป็น learning เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ไม่ได้หมายความว่าครูมีความสำคัญน้อยลง แต่มีความสำคัญเปลี่ยนไป จากเดิมที่คุณเป็นคนบอกว่าต้องเรียนรู้แบบนี้ เปลี่ยนเป็นการช่วยจุดประกายให้เขาเกิดการเรียนรู้

จากที่คุณอธิบายมา หัวใจสำคัญน่าจะอยู่ที่การตีโจทย์คำว่า ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ ให้แตก แล้วทุกอย่างจะตามมาเอง

          ใช่ครับ ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพ มันเหมือนเวลาที่ผมต้องสอนลูก แล้วดันเป็นเรื่องที่ผมไม่รู้ ผมควรทำยังไงระหว่าง หนึ่ง ผมต้องไปเรียนเรื่องนี้มาก่อน ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ผมไม่เข้าใจเลย แล้วลูกก็ต้องรอว่าเมื่อไหร่ผมจะเข้าใจ กับสอง ผมเปิดโอกาส ให้งบประมาณเขาไปหน่อยนึง แล้วให้เขาเอาไปเรียนรู้จากแหล่งอื่นหรือคนอื่นที่รู้ดีกว่าผม เก่งกว่าผม ถามว่าผมจำเป็นต้องพึ่งทางแรกทางเดียวไหม เขาต้องรอคำตอบผมเท่านั้นรึเปล่า ไปเปิดยูทูบเอาได้มั้ย (หัวเราะ) ในความเป็นจริงคือเขาทำแบบนั้น

          เพื่อนผมที่สนใจเรื่องทำโฮมสคูล ชอบถามว่าผมสอนลูกเองหมดเลยเหรอ ผมบอกไม่ใช่ แทบไม่ได้สอนเลยด้วยซ้ำ สิ่งที่เราทำมากที่สุดและดีที่สุดสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่ คือการคุย ไม่ใช่สอน คุยว่าลูกได้เรียนรู้อะไรในแต่ละวัน การคุยคือการช่วยเติมประเด็น แต่เขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้น

           วันก่อนผมไปตีแบดกับลูก เขาบ่นว่าตบยังไงก็ไม่แรง ผมก็หาลิงก์ส่งไปให้เขาดู เป็นบทความที่บอกว่าเทคนิคการตบลูกให้แรงตามหลักฟิสิกส์คืออะไร (หัวเราะ) ผมไม่มีความรู้ด้วยซ้ำ แต่ผมช่วยเขาได้ ชวนเขาคุยต่อได้

ที่ยกตัวอย่างมา เป็นสเกลเล็กๆ ในครอบครัว แต่ในภาพกว้างของระบบการศึกษา เราจะสร้างสภาวะการเรียนรู้แบบนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

           จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3-4 ประการ ประการแรกคือเรื่องมายด์เซ็ตที่เราคุยกันไปแล้วว่ามันเปลี่ยนไหม

          สอง คืองบประมาณ ซึ่งโยงกับมายด์เซ็ตด้วยว่าจะจัดสรรอย่างไร ผมคำนวณไว้ว่า อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า ถ้าได้สัก 5% ของงบที่เราใช้ในการศึกษา ก็น่าจะเพียงพอ ไม่ได้ขอมากมาย ปัญหาคือจะผันมาได้ไหม

          สาม เมื่อผันงบมาแล้ว มันจะส่งเสริมหรือชักจูงกันได้ไหม ตรงนี้ต้องมีคนทำหน้าที่เหมือนตัวเร่งที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา หน่วยงานที่เข้ามาบริหารกองทุนจำเป็นจะต้องมีการบริหารที่ดี

          สี่ การบริหารที่ดีที่สุดคือการกระจายออกไป พูดถึงการกระจายก็มีหลายมิติ มิติหนึ่งที่คุยกันไปแล้ว คือแบ่งว่าจะเอางบก้อนนี้เอาไปใช้กับอะไรบ้าง เช่น ทำพิพิธภัณฑ์ ทำสื่อการเรียนรู้ ทำเวิร์กชอป ไปจนถึงการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ อีกมิติที่สำคัญ คือแบ่งตามพื้นที่ ซึ่งเป็นความท้าทายเหมือนกัน เพราะระบบนิเวศที่ดีคงไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ทุกอย่างรวมกันอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือที่ใดที่หนึ่ง สุดท้ายคุณก็ต้องอยู่ที่บ้านคุณ หมายความว่า ไม่ว่าบ้านคุณอยู่ที่ไหน คุณต้องเข้าถึงได้ ถ้ามองในแง่นี้ ภารกิจของกองทุนนี้ยังอีกไกล ต้องทำอะไรอีกเยอะ

คุณครูมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ในมุมของคุณ เราจะสามารถปลดล็อคมายด์เซ็ตและวิธีการสอนแบบเดิมๆ ของคุณครูได้อย่างไร

          ต้องไปดูว่าสิ่งที่ล็อคอยู่คืออะไร หนึ่งคือล็อคด้วยตัวหลักสูตร ที่บอกว่าต้องสอนเนื้อหาให้ครบถ้วน ถ้าเราเปลี่ยนไปเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะได้ จุดนี้จะปลดล็อคไปโดยปริยาย สอง ถามว่าเราจะเสริมหนุนครูได้ยังไง เพราะแม้ทุกวันนี้การหาข้อมูลต่างๆ จะสะดวก เสิร์ชอินเทอร์เน็ตได้ แต่การทำความเข้าใจข้อมูลมหาศาลเพื่อไปคุยกับนักเรียน มันไม่ง่าย ไม่ใช่ว่าโหลดมาแล้วใช้ได้เลย แต่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ถ้าเรามีตัวช่วยหรือเครื่องมือให้เขา มันจะง่ายขึ้น

ในฐานะที่คุณเป็นอาจารย์ด้วย คิดว่าหัวใจสำคัญของการเรียนการสอนยุคนี้คืออะไร

          สำหรับผม จุดสำคัญที่สุดคือการทำให้เกิด self-directed learning ถ้าเป็นวิชาที่ผมมีโอกาสรับผิดชอบหรือกำหนดการสอนอย่างเต็มที่ ผมจะให้เขาเขียนแผนงานโครงการของเขา แล้วสามารถบอกได้ว่าแผนงานโครงการของเขาจะสำเร็จได้อย่างไร ประเด็นคือเขาต้องไม่รู้สึกว่าเราเป็นผู้ประเมิน แต่รู้สึกว่าเราเป็นผู้ช่วยให้เขาบรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้

ดร. เดชรัต สุขกำเนิด

ถ้ากองทุนนี้เกิดขึ้นจริง อิมแพ็คของมันคืออะไร

          ประเด็นแรก ถ้าเราพูดถึงในห้องเรียน ทั้งครูและนักเรียนจะมีแหล่งหาข้อมูลเพิ่มขึ้น หวังว่าพิพิธภัณฑ์จะดีขึ้น มีเวิร์กชอปดีๆ เพิ่มขึ้น มีสื่อการเรียนการสอนที่ดีขึ้น เช่น หนังสือดีๆ ในปัจจุบัน หายาก ราคาแพง กองทุนจะเข้ามาเติมส่วนนี้ได้

          ประเด็นที่สอง ผมคิดว่ามันจะช่วยสร้างงานขึ้นมา เป็นงานในกลุ่มที่เรียกว่า learning economy หรือเศรษฐกิจฐานการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ co-working space ไปจนถึงคนทำคอนเทนต์ คนทำกราฟิก ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกว่า learning economy จะเป็นหัวใจสำคัญมากสำหรับประเทศไทยในอนาคต เพราะมันคือสิ่งที่ AI ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้โดยสมบูรณ์ ถ้าทำดีๆ เราสามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคได้เลย อย่างน้อยๆ ในกลุ่ม 5 ประเทศเพื่อนบ้าน พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา ยังไม่รวมฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่อาจยังบุกต่อไปได้ ถ้าเรามี learning economy ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน เราสามารถบุกไปได้มากขึ้น

          ประเด็นสุดท้าย คือกระบวนการที่เราจะเอางบประมาณก้อนนี้ไปทำประโยชน์แฝงอื่นๆ เช่น การอนุรักษ์อาคารเก่า หรือการสืบทอดวัฒนธรรมต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานสามารถใช้กองทุนนี้ในการทำให้งานของเขายังดำรงอยู่ได้

คำถามสุดท้าย อยากทราบว่าในฐานะคนเสนอไอเดีย คิดว่ากองทุนนี้จะเกิดขึ้นได้จริงภายใต้เงื่อนไขแบบไหน

          ถ้าตอนนี้เลย สารภาพว่ายังมองไม่เห็น ผมลุ้นกับการเลือกตั้งครั้งต่อไปมากกว่า แต่ผมก็ไม่ได้ห้ามนะ ถ้ารัฐบาลชุดนี้สนใจ แต่ผมคิดว่ารัฐบาลชุดนี้เขาน่าจะกังวลกับปัญหางบประมาณพอสมควร ปัญหาที่เขาเจอตอนนี้คืองบลงทุนมันน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด พูดง่ายๆ ว่าเป็นงบประจำเสียเยอะ แต่ถ้าเขาคิดแบบที่เราคุยกัน เขาก็ควรเอางบประจำส่วนหนึ่งมาเป็นงบลงทุน แล้วต้องไม่ลงทุนผ่านหน่วยงาน แต่ใช้การกระจายออกไป แต่ผมว่าเขาคงไม่ได้คิดแบบนั้น

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก