Learning Commons พื้นที่เรียนรู้ไร้กำแพง

3,075 views
10 mins
February 25, 2021

          ห้องสมุดถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ 2,600 ปีก่อนคริสตศักราช จากยุคของศิลาจารึก ม้วนบันทึกแผ่นหนัง มาจนถึงหนังสือ ห้องสมุดมีบทบาทจัดเก็บความรู้ที่ถูกบันทึกไว้และเป็นสถานที่ให้บริการทรัพยากรเหล่านั้น ปัจจุบันเมื่อสารสนเทศเปลี่ยนเป็นดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมีความแพร่หลาย การเข้าถึงความรู้จึงไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ทางกายภาพอีกต่อไป เกิดโครงการที่น่าจับตามองมากมาย เช่น โครงการกูเท็นเบิร์ก (Project Gutenberg) ซึ่งรวบรวมและเผยแพร่สิ่งพิมพ์ดิจิทัลนับแสนรายการแก่สาธารณชน ส่วนกูเกิลก็มีโครงการสแกนหนังสือกว่า 30 ล้านเล่มเพื่อจัดทำเป็นห้องสมุดดิจิทัล

          ห้องสมุดได้ปฏิวัติตัวเองด้วยการทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทางออนไลน์ ลดบทบาทการเป็นโกดังหนังสือ และเพิ่มบทบาทที่เชื่อมโยงกับผู้เรียนและการสร้างความรู้ ตัวอย่างเช่น โรงเรียน Cushing Academy รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ต้องการที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับ “การเรียนรู้แบบร่วมมือและการร่วมสร้างความรู้” จึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงห้องสมุดจนกระทั่งกลายเป็นห้องสมุดไร้หนังสือ โดยให้บริการฐานข้อมูลทรัพยากรดิจิทัลนับล้านรายการ และสร้างมุมกาแฟแทนที่โต๊ะยืมคืนหนังสือ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการแสวงหาความรู้ของนักเรียนและการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ห้องสมุด

จากห้องสมุดสู่ Learning Commons

          หนังสือยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเรียน แต่เทคโนโลยีดิจิทัลก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้กว้างขวางขึ้น นับแต่นี้ต่อไปนักเรียนและครูไม่ต้องการเข้าถึงห้องสมุดแบบธรรมดาๆ แต่พวกเขาอยากได้พื้นที่เพื่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและเปิดโอกาสสำหรับการร่วมสร้างสรรค์โดยอาศัยทรัพยากรที่หลากหลาย ดังนั้นแทนที่ห้องสมุดจะดำรงสถานะเป็นหอจดหมายเหตุ ถึงเวลาที่ห้องสมุดควรเปลี่ยนเป็น learning commons

          การออกแบบและปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียน Francis W. Parker ในชิคาโก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ห้องสมุดให้ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนในปัจจุบัน จากห้องสมุดแบบเดิมที่เต็มไปด้วยชั้นหนังสือและมีที่นั่งแบบเป็นคอก ไปสู่การส่งเสริมการเรียนรู้และการสื่อสารระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น ห้องสมุดได้สร้างพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น สามารถโยกย้ายเก้าอี้ โต๊ะ และชั้นหนังสือ เพื่อให้มีพื้นที่กว้างพอสำหรับการทำโครงงานเป็นกลุ่ม รวมทั้งออกแบบโต๊ะและสันตู้หนังสือให้เป็นกระดานไวท์บอร์ด เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แบบร่วมมือและการแบ่งปันความรู้

ศูนย์การเรียนรู้โปร่งใส

          ในการปรับรื้อการออกแบบห้องสมุดโรงเรียนมัธยม Westlake ที่รัฐเท็กซัส แคโรลิน ฟูต (Carolyn Foote) บรรณารักษ์ของที่นี่ คาดหวังให้ห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่ปราศจากสิ่งขวางกั้น เป็นที่ซึ่งปัจเจกสามารถร่วมเรียนรู้กับผู้อื่น

          “ฉันต้องการให้ห้องสมุดเป็นเหมือนแคมป์ไฟที่นักเรียนมารวมตัวกัน เป็นพื้นที่ที่พวกเข้าสามารถทำงานร่วมกันในกลุ่มเล็กๆ เป็นพื้นที่โปร่งใสซึ่งสามารถมองผ่านกระจกเข้าไปเห็นการเรียนรู้ในโรงเรียน เป็นพื้นที่ไร้อุปสรรคในการใช้งาน และออกแบบให้สะท้อนถึงนวัตกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในโรงเรียน”

          นอกจากนี้ เธอยังต้องการสร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับชุมชนโรงเรียน ที่สนับสนุนให้ครูและนักเรียนร่วมมือ สื่อสาร และแบ่งปัน ห้องสมุด Westlake จึงออกแบบให้ผนังทำจากกระจกเพื่อสื่อถึงความโปร่งใสอย่างแท้จริง ส่วนพื้นที่ด้านนอกเป็น “บาร์น้ำผลไม้” ที่ผสมผสานแนวคิดระหว่าง Apple Genius Bar และร้านกาแฟสตาร์บัค

ขยายกายภาพห้องสมุดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

          มีข้อถกเถียงบ่อยครั้งถึงอนาคตของห้องสมุด ว่าควรเลือกหนังสือกระดาษหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ควรเลือกพื้นที่กายภาพหรือพื้นที่เสมือน แต่แทนที่จะกังวลว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่สิ่งที่เคยมีอยู่ ห้องสมุดหลายแห่งมองว่านี่คือโอกาสนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้ห้องสมุดดีขึ้น อาทิเช่น ห้องสมุดโรงเรียน Sunshine Coast ประเทศออสเตรเลีย สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนโดยผสมผสานระหว่างกระดาษ หนังสือ กระดานไวท์บอร์ด ไอแพด และเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เพื่อให้เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ไปพร้อมกับความรู้และเทคโนโลยี 

          ห้องสมุดแห่งใหม่ของมูลนิธิ Stephen Perse ประเทศอังกฤษ ได้รับการกล่าวถึงว่าแวดล้อมไปด้วยแนวคิด learning commons ซึ่งผนวกโลกกายภาพและโลกดิจิทัลอย่างชาญฉลาด พื้นที่ห้องสมุดมีความสวยงาม มีหนังสือไว้ให้บริการ ขณะเดียวกันก็มีเฟอร์นิเจอร์ที่จัดวางอย่างยืดหยุ่นและสิ่งแวดล้อมแบบเปิด รวมทั้งมีเนื้อหาดิจิทัลซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนเล่นและค้นคว้าอย่างลึกซึ้งในหัวข้อที่อาจไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนั้นมาก่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกว่า “จุดมุ่งหมายสำคัญของสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้แห่งใหม่นี้ คือสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียนอย่างเสรี โดยไม่ให้มีอุปสรรคทางกายภาพ”

ห้องสมุดในอนาคต

          เมื่ออุปกรณ์การสื่อสารที่ทันสมัยทำให้นักเรียนทุกคนสามารถมีห้องสมุดอยู่ในมือ บทบาทของห้องสมุดกายภาพก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น มิใช่เพียงสถานที่สำหรับจัดเก็บทรัพยากร แต่เป็นพื้นที่สร้างความหมายให้กับสารสนเทศ

          ห้องสมุดศตวรรษที่ 21 ซึ่งให้บริการพื้นที่ใช้งานร่วมกัน (common space) จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ดีที่สุดซึ่งประกอบด้วยพื้นที่กายภาพและดิจิทัล เป็นห้องสมุดที่สนับสนุนการค้นคว้า การสร้างสรรค์ และการร่วมมือระหว่างนักเรียน ครู และชุมชนที่กว้างขึ้น สุดท้ายแล้วห้องสมุดจะยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนเพื่อสร้างความรู้และความหมายใหม่ให้กับโลกที่อยู่รอบตัวพวกเขา

วิตตร้า ห้องเรียนไร้ผนัง โรงเรียนไร้ห้องเรียน

          องค์กรการศึกษาวิตตร้า (Vittra) เกิดขึ้นมาจากการปฏิรูปการศึกษาของสวีเดนตั้งแต่ปี 1992 โดยอนุญาตให้มีการเปิดโรงเรียนเอกชนซึ่งมีอิสระในการบริหารจัดการทั้งด้านสิ่งปลูกสร้าง วิธีการสอน และครู ในขณะที่ยังคงได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเช่นเดียวกับโรงเรียนทั่วไป แต่ไม่ให้เรียกเก็บค่าเทอมเพิ่ม 

          วิตตร้ามีบทบาทขับเคลื่อนโรงเรียนจำนวน 27 แห่ง ด้วยแนวทางการศึกษาแบบใหม่ เน้นบูรณาการการเรียนรู้กับเทคโนโลยีอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงการนำอุปกรณ์สมัยใหม่มาใช้อย่างผิวเผิน โรงเรียนของวิตตร้าไม่มีการให้เกรด นักเรียนแต่ละคนมีหลักสูตรเป็นของตัวเองและต้องมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวเพื่อการเรียนรู้ มี “วิตตร้าบุ๊ค” เป็นสื่อให้นักเรียนเข้าถึงสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรและรับคำติชมในการทำงาน สิ่งที่สร้างความแตกตื่นให้วงการการศึกษาคือโรงเรียนแห่งใหม่ล่าสุดของวิตตร้าในสต็อคโฮล์ม (Vittra Telefonplan) ไม่มีห้องเรียน

          วิตตร้าให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ กับการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาการศึกษา จึงไม่ได้จัดห้องเรียนแบบที่นำโต๊ะเก้าอี้มาวางเรียงแถวไว้ในห้องสี่เหลี่ยม แต่ใช้ learning commons เป็นเครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิดใหม่ เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ซึ่งนักเรียนสามารถทำงานร่วมกันหรือทำงานคนเดียวก็ได้ นักเรียนถูกสอนเป็นกลุ่มให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการตามหลักการของโรงเรียน แต่ละกลุ่มจะเรียกชื่ออุปมาเป็น “ตาน้ำ” “การแสดงออก” “ถ้ำ” “แคมป์ไฟ” และ “ห้องทดลอง” โดยครูจะเข็นรถเคลื่อนที่ซึ่งบรรจุสื่อการเรียนรู้ไปหากลุ่มนักเรียนเพื่อสอนหัวข้อที่นักเรียนสนใจ

          พื้นที่การเรียนรู้ได้รับการออกแบบอย่างละเอียดรอบคอบ มีกระบวนการศึกษาธรรมชาติการเรียนรู้และความต้องการของนักเรียน เกิดเป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย สร้างสรรค์ และเอื้อต่อสถานการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย

           วิตตร้าเป็นกรณีศึกษาที่น่าทึ่งเกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ เพื่อเตรียมพร้อมนักเรียนสำหรับการมีชีวิตในสังคมสมัยใหม่ และเพื่อขยายโลกการเรียนรู้ของนักเรียนให้กว้างขึ้น

          Ante Runnquist หนึ่งในทีมงานวิจัยและพัฒนาของวิตตร้ากล่าวว่า “สิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ของโรงเรียนทั่วไปยังคงเหมือนกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ฉันคิดว่าเรามาถึงจุดที่ต้องเปลี่ยน และสิ่งที่เป็นตัวเร่งก็คือเทคโนโลยี”

          เธออธิบายว่า ในบริบทเช่นนี้ห้องเรียนไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป นักเรียนยุคใหม่ต้องการพื้นที่การเรียนรู้แบบอเนกประสงค์และมีความยืดหยุ่น เพราะการเรียนรู้แบบร่วมมือไม่สามารถเกิดขึ้นในห้องเรียนที่ทุกอย่างถูกกำหนดไว้ตายตัว สิ่งสำคัญคือครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้กุมความรู้ไว้ในมือ เป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทางในการเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเฟ้นหาครูที่มีความรู้เป็นอย่างดีด้านการบูรณาการเทคโนโลยีทันสมัยและเชื่อมั่นในห้องเรียนที่กลับหัวกลับหางเช่นนี้

Vittra School Telefonplan
Design: Rosan Bosch Studio Photo: Laura Stamer

7 สิ่งควรรู้ เกี่ยวกับ Learning commons

1. คืออะไร

           learning commons บางครั้งเรียกว่า information commons มาจากการผสมผสานระหว่างห้องสมุดกับศูนย์คอมพิวเตอร์ กลายเป็นพื้นที่ให้บริการด้านการเรียนรู้ การวิจัย การทำโครงงาน รวมทั้งการพบปะ มักออกแบบให้ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายง่าย เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมที่อาจไม่ได้วางแผนไว้ก่อน และมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้คำปรึกษาตามความต้องการของผู้ใช้บริการ เงื่อนไขความสำเร็จของ learning commons ไม่ได้อยู่ที่ความสะดวกสบายหรือความทันสมัยของเทคโนโลยี แต่อยู่ที่การสนับสนุนให้เกิดปฏิสัมพันธ์และการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม

2. มีลักษณะอย่างไร

           learning commons ให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยืดหยุ่น เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้บริการและประเภทงานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ สามารถตั้งอยู่ในห้องสมุด ห้องแล็บ หรือสถานที่ที่นักเรียนมารวมตัวกัน อาจประกอบด้วยห้องประชุม ศูนย์การเขียน มุมติวหนังสือ เคาน์เตอร์ให้คำปรึกษา และมีจุดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มอยู่ใกล้ๆ ภายในพื้นที่ควรมีการจัดแสดงผลงานของนักเรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และจุดประกายความสร้างสรรค์ให้กับนักเรียนคนอื่นๆ

3. มีใครทำบ้าง

           โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากนำแนวคิด learning commons ไปประยุกต์ใช้ และได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ศูนย์การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย Dayton’s Ryan C. Harris เน้นการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้และออกแบบโดยคำนึงถึงนักศึกษาที่มีความพิการทางร่างกาย ส่วนห้องสมุด D. H. Hill มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา เน้นพื้นที่เรียนรู้ให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีชีวิตชีวา มีบริการให้ยืมไอแพด คอมพิวเตอร์พกพา หรือแม้กระทั่งวิดีโอเกม เพราะเชื่อว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับเกมและเพิ่มโอกาสการจ้างงานในธุรกิจเกมให้แก่ผู้เรียนจบ

4. มีความสำคัญอย่างไร

           learning commons เป็นการหลอมรวมบทบาทของห้องสมุด ห้องแล็บ เลานจ์ และห้องประชุม เพื่อให้คนมารวมตัวกันในที่เดียว การสนทนาแบบเผชิญหน้ากันช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนไอเดียนอกห้องเรียน ช่วยเติมเต็มการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนแบบดั้งเดิมไปสู่การเรียนรู้แบบร่วมมือและการทำงานเป็นทีม นอกเหนือจากนี้ learning commons ยังเป็นพื้นที่อุดมคติที่ลงตัวระหว่างการพบปะในโลกเสมือนและการพบปะแบบเผชิญหน้า

5. จุดอ่อนและข้อพึงระวังคืออะไร

           ข้อเสียอันดับต้นๆ ของ learning commons คือเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะการออกแบบอาคารและการบำรุงรักษาพื้นที่เป็นงานใหญ่สำหรับองค์กรและอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ learning commons ไม่ได้มีโมเดลตายตัว ในด้านหนึ่งความยืดหยุ่นคือโอกาสสำหรับสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็เหมือนการเสี่ยงดวงเลือกการบริการให้เหมาะกับบริบทด้านผู้คนและวัฒนธรรม อนึ่ง แม้ว่าจะมีการออกแบบพื้นที่และการให้บริการไว้อย่างดี แต่ก็จำเป็นต้องเอาใจใส่กับบริเวณที่ผู้คนหนาแน่นในบางช่วงเวลา ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องปรับการทำงานและมองหาพื้นที่ว่างซึ่งอาจมีน้อยเต็มทีเพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกระทันหัน

6. มีทิศทางอย่างไรต่อไป

           learning commons ควรมีลักษณะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้เรียนและความท้าทายทางเทคโนโลยี จำเป็นต้องบูรณาการพื้นที่กายภาพกับโลกเสมือนเพื่อให้ผู้คนยังมีปฏิสัมพันธ์กันจริงๆ รวมทั้งเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ เช่น มีแอพพลิเคชั่นสำหรับจองทรัพยากรและพื้นที่ นำเทคโนโลยีสามมิติมาใช้เพื่อการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ฯลฯ นอกจากนี้ การขยายเครือข่ายความร่วมมือข้ามศาสตร์จะช่วยอำนวยความสะดวก ก่อให้เกิดบริการใหม่ๆ และขยายโอกาสสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ

7. เกี่ยวข้องกับการสอนอย่างไร

          learning commons เหมาะสำหรับห้องเรียนที่เน้นประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติ เป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงนักเรียนเข้ากับการเรียนรู้โดยตรง มีความยืดหยุ่นเอื้อให้นักเรียนทำโครงงานที่ได้รับมอบหมายทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม มีบรรยากาศเชิญชวนให้นักเรียนทำงานของตนด้วยความคิดใหม่ๆ รวมถึงการต่อยอดสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสู่การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น


ที่มา

www.edutopia.org/blog/21st-century-libraries-learning-commons-beth-holland

net.educause.edu/ir/library/pdf/ELI7071.pdf

www.archdaily.com/202358/vittra-telefonplan-rosan-bosch

Cover Photo: Marywood University


เผยแพร่ครั้งแรก ตุลาคม 2560
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ กล่อง (2561)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก