เห็นแล้วไม่จำ ทำแล้วไม่ลืม

433 views
6 mins
September 30, 2022

          ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูมาหลายสิบปี จึงคุ้นหูนักหนากับประโยคที่ว่า “Learning by Doing” ค่าที่ว่าการเรียนรู้ในรูปแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจความเป็นตัวของตัวเอง ได้พัฒนาการทางด้านสติปัญญา ได้คิดและเข้าใจความเป็นเหตุผล ทั้งยังเกิดความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ อันหลากหลายได้อีกด้วย ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน รูปแบบการสอนเรียกได้ว่าเปิดกว้างขึ้นมากๆ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านตำรา ด้วยการเขียน จดตามที่ผู้สอนบอก หากการเรียนรู้กลับเกิดจากการบูรณาการได้หลากรูปแบบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกสนานไปกับการเรียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในปรัชญา ทฤษฎี หลักการ แนวคิดในการสอนที่จะทำให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง นั่นคือการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning นั่นเอง

ที่มาที่ไปของการเรียนไปทำไป

          จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) นักปรัชญาชาวอเมริกัน เชื่อว่า “การเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำ” เพราะมนุษย์จะต้องปรับตัวเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมต่างๆ แนวคิดของการจัดการศึกษาจึงต้องเน้นฝึกให้มนุษย์แก้ปัญหา โดยใช้ประสบการณ์ที่มนุษย์พบหรือเผชิญ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ นอกจากการเรียนแบบการลงมือทำที่พูดถึงไปแล้วนั้น ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ผลกับผู้เรียนไม่แพ้กัน นั่นก็คือ เรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Activity-Based Learning) ซึ่งการเรียนในรูปแบบดังกล่าว จะยึดหลักการให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือที่เรารู้จักกันว่า “Child Centered”

          การเรียนรู้ในสองลักษณะนี้ ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังในการศึกษาของไทย และยังมักจะถูกอธิบายให้เข้าใจอย่างสั้นๆ ที่ผู้เขียนแอบนึกขันอยู่ในใจเพราะว่ามันช่างตรงกับความเป็นจริงเสียเหลือเกิน คือ สอนแต่น้อย ให้เรียนมากๆ Teach Less Learn More

          แต่ในความสอนน้อยนั้น ผู้สอนต้องจัดลำดับเนื้อหาทุกขั้นตอนให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทุกคนในกลุ่มเป็นผู้ปฏิบัติ ผู้สอนเป็นเพียงโค้ชหรือเทรนเนอร์ กิจกรรมที่คิดขึ้นมาใช้นี้ต้องมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้เนื้อหานั้นๆ มีจุดมุ่งหมาย สนุกและน่าสนใจ ไม่ซ้ำซากจำเจ จนก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย ดังนั้น ผู้สอนจึงสามารถเรียกได้ว่าเป็น “นักออกแบบกิจกรรม” หรือ Activity Designer มืออาชีพที่สามารถ “มองเห็นภาพกิจกรรม” ได้ทันทีก็ไม่ผิดนัก

ความรู้เหมือนดาบ…ยิ่งใช้ยิ่งคม

          จากพีระมิดแห่งการเรียนรู้ ของ Edgar Del จะเห็นว่า การเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การเรียนรู้เชิงรับ (Passive Learning) เช่น การอ่าน การท่องจำ การฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว ผู้เรียนไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรม ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ 20% และ การเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning/ Practice Doing) เช่น การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ ทำจริง ทดลองทำ ได้ผลมากถึง 75% เกิดจากลองทำและได้เจอปัญหา เข้าใจขั้นตอนลงมือทำ ขณะที่ Teach Other การสอนผู้อื่น หลังจากที่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีต่างๆ สามารถรวบรวม ประมวลความรู้ จัดทำบทเรียน หรือบทสรุปเพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่น การเรียนรู้เช่นนี้ได้ผลสูงถึง 90% ซึ่งยากที่เด็กจะลืม

เห็นแล้วไม่จำ ทำแล้วไม่ลืม
The Learning Pyramid Methods ของ Edgar Del
ที่มา: arlo.co

“Blind Dialogue” บทสนทนาที่ไม่อาจจะคาดเดา

          สำหรับเนื้อหาวิชาของบทเรียนภาษาไทยที่ผู้เขียนสอนนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการพูดในงานอุตสาหกรรมบริการ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ลงเรียนล้วนเป็นนักศึกษาสาขาที่ในสายงานอุตสาหกรรมบริการทั้งสิ้น เช่น การจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร การจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นต้น ดังนั้น การฝึกให้นักศึกษาได้พูดสนทนากับแขกผู้เข้ามารับบริการให้ถูกต้องและเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การเรียนรู้เกี่ยวกับการพูดในเชิงหลักการทฤษฎีเป็นสิ่งจำเป็น นักศึกษาจึงควรได้ศึกษาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการพูดในงานอุตสาหกรรมก่อน เช่น วัตถุประสงค์ของการพูดในงานอาชีพ ลักษณะของการพูดที่ดีของผู้พูดในสายงานอุตสาหกรรมบริการ เมื่อศึกษาหลักการได้เข้าใจชัดเจน จึงเริ่มทำกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องมีบทบาทในการแสวงหาความรู้ มีปฏิสัมพันธ์ มีการร่วมอภิปรายจำลองสถานการณ์ การฝึกปฏิบัติ และนำเสนอร่วมกัน กิจกรรมที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมานั้น คือ กิจกรรม “Blind Dialogue”

          เริ่มต้นของการทำกิจกรรม นักศึกษาจะถูกแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คนและต้องมีจำนวนกลุ่มเป็นคู่ เช่น 6 กลุ่มหรือ 8 กลุ่ม หลังจากนั้น ผู้สอนจะสร้างสถานการณ์สมมุติขึ้น และให้ตัวแทนออกมาจับสลาก ซึ่งในสถานการณ์นั้น ผู้สอนจะเขียนสถานการณ์ให้เป็นคู่กันอยู่แล้ว เช่น เจ้าของโรงแรม ผู้จะมาใช้บริการในโรงแรม เจ้าของร้านอาหาร ผู้ที่พาครอบครัวมารับประทานอาหารที่ร้าน เจ้าของร้านสปา ผู้ต้องการมาใช้บริการสปา เป็นต้น ดังนั้น ภายในระยะเวลา 20 นาทีที่ให้เตรียมตัว เตรียมเนื้อหาที่จะพูด นักศึกษาก็จะต้องมีการตระเตรียมข้อมูลและซักซ้อมการพูดที่เหมาะสม โดยที่แต่ละกลุ่มก็จะไม่รู้เลยว่า จะได้จับคู่ทำกิจกรรมหน้าห้องกับกลุ่มไหน และจะต้องพบกับการตอบคำถามในรูปแบบใด จึงเป็นที่มาของกิจกรรมที่ชื่อว่า “Blind Dialogue”

          ความสนุกของกิจกรรมนี้ อยู่ที่เมื่อถึงเวลาต้องออกมาแสดงบทบาทสมมติ นักศึกษาจะไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนเลยว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะโต้ตอบกับเราอย่างไร เช่น สถานการณ์ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ขณะที่นักศึกษาต้องออกมาสวมบทบาทเป็นบริกรหนุ่มหน้าใส

  • นักศึกษาที่รับบทเป็นบริกร: สวัสดีครับ ไม่ทราบว่าคุณพี่จะรับอาหารอะไรบ้างครับ ทางร้านเรามีเมนูพิเศษมากมายเลยนะครับ
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นผู้มาใช้บริการ: มีอะไรบ้างคะ ลองบอกพี่มาสักเมนูสองเมนู
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นบริกร: เมนูเด็ดของร้านเราคือ ต้มแซ่บปลากระบอก ปลาหมึกนึ่งมะนาว กับหอยลายผัดน้ำพริกเผาครับ
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นผู้มาใช้บริการ: งั้น พี่ขอต้มแซ่บปลากระบอก กับ…(ยังพูดไม่จบนักศึกษาที่เล่นบทเป็นลูกชายวัย 4 ขวบก็แผดเสียงร้องขึ้นมาว่า…)
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นเด็ก 4 ขวบ: หนูจะกินปลาวาฬฬฬฬฬฬ…
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นบริกร: เอิ่ม…(เลิ่กลั่ก)…ครับต้มแซ่บปลากระบอก กับอะไรอีกนะครับ
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นเด็ก 4 ขวบ: หนูจะกินปลาวาฬๆๆๆๆ (ทำท่าจะลงไปชักดิ้นชักงอกับพื้นร้าน)
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นบริกร: สำหรับคุณน้องเดี๋ยวพี่จะลองเข้าไปดูในครัวนะครับ ว่าวันนี้จับปลาวาฬได้หรือเปล่า

          สำหรับการแก้ปัญหาแบบนี้ ทำเอาทั้งครู ทั้งศิษย์ ก็ขำกันไปเลยสิคะ หรืออีกสถานการณ์ในโรงแรมแห่งหนึ่ง มีหนุ่มสาวเข้ามาสอบถามราคาห้องพัก

  • นักศึกษาที่รับบทเป็นพนักงานต้อนรับ: สวัสดีค่ะ ไม่ทราบว่าท่านจองห้องกับทางเรามาหรือยังคะ
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นแขกผู้ชาย: ยังเลยครับ ไม่ทราบว่ามีห้องแบบสวีทไหมครับ
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นพนักงานต้อนรับ: มีค่ะ เป็นห้องขนาดใหญ่ และมีส่วนพื้นที่ครัวในห้องพักด้วยค่ะ
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นแขกผู้หญิง: ห้องอยู่ชั้นไหนคะ ไม่ชอบอยู่ชั้นสูงๆ ค่ะ อยากได้ชั้นเตี้ยๆ
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นพนักงานต้อนรับ: ห้องสวีทจะอยู่ชั้น 26 ขึ้นไปค่ะ ถึงแม้ว่าจะสูงไปสักหน่อย แต่วิวรอบห้องก็สวยงามนะคะ มองออกไปจะเห็นเกาะต่างๆ และห้องจะอยู่ด้านทิศตะวันตก นั่งชมพระอาทิตย์ตกดินได้เลยค่ะ
  • นักศึกษาที่รับบทเป็นแขกผู้หญิง: ว้าว โอเคค่ะ เอาห้องนี้เลยค่ะ (หันไปทางแฟนหนุ่ม) นะคะคุณพี่นะ

          เหตุการณ์ดังกล่าวจบลงด้วยดีถึงแม้ลูกค้าจะไม่ได้ห้องชั้นล่าง แต่ก็ดูมีความสุขกับข้อเสนอของทางโรงแรม

          การทดลองปฏิบัติในการสนทนากับลูกค้าจำลองจริงๆ จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่า ศิลปะการพูดที่ดีไม่ได้มุ่งเน้นแค่การสื่อสารให้เข้าใจแค่นั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการใส่ใจลูกค้า การนำเสนอความน่าสนใจของงานบริการ การสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธาไม่ว่าจะในส่วนที่เป็นข้อมูลหรือบุคลิกภาพของตัวผู้พูดเอง การลดความขัดแย้งระหว่างสถานประกอบการกับลูกค้า รวมไปถึงการพูดกับลูกค้าด้วย “ปิยวาจา” อันไพเราะน่าฟัง

          จึงจัดได้ว่า กิจกรรม “Blind Dialogue” ช่วยทำให้นักศึกษาสามารถช่วยกันสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดการสร้างสรรค์ทางปัญญา (Constructivism) ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาวิชา นอกจากนี้ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ หรือสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในตนเอง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงผ่านสื่อหรือกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีความหมายและนำไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหลังจากที่ได้เรียนบทนี้จบไปแล้ว นักศึกษาหลายคนยังจดจำการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะเป็นเพียงสถานการณ์จำลอง และหลายต่อหลายครั้งที่เมื่อนักศึกษาออกมานำเสนอบทบาทสมมุติ ทั้งผู้สอนและผู้เรียนต่างก็ได้สนุกสนานไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของแต่ละกลุ่ม

          การเรียนรู้ในบทนี้จึงเกิดไปพร้อมๆ กับเสียงหัวเราะอย่างครื้นเครง ช่วงเวลาเรียนกลับดูหดสั้นเกินไปจนอยากจะขยายเวลาให้ยืดยาวมากกว่านี้ ภาษาไทย ใครว่าน่าเบื่อ

ผล(ลัพธ์)ของการเรียนแบบลองดูลองทำ

          สำหรับประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง คือการที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการกระทำของตนเอง ได้ลองผิดลองถูกเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่มีกับตัวผู้เรียนโดยตรง เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์แบบที่การเรียนผ่านสไลด์หรือผ่านตัวหนังสือไม่สามารถหยิบยื่นให้ได้ อีกหนึ่งประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การได้สร้างความมั่นใจจากการลงมือทำสิ่งต่างๆ โดยความมั่นใจนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในระยะยาวของตัวผู้เรียนเองไม่ว่าจะเป็นการเรียนในปัจจุบันขณะ หรือการเรียนรู้ต่อสิ่งอื่นในอนาคต

          เพราะฉะนั้นประโยคที่ว่า “เห็นแล้วลืม ได้ยินแล้วจำได้ ได้ทำแล้วเข้าใจ” จึงยังคงเป็นวิธีที่สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ออกมาได้อย่างดีเยี่ยมจนน่าอัศจรรย์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก