Later : ทุกขลาภของ ‘คนเห็นผี’

1,555 views
5 mins
May 2, 2023

          (หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของนิยาย)

          เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งอ่าน ‘The Shining – โรงแรมนรก’ (สำนักพิมพ์ Beat) ต่อด้วย ‘Doctor Sleep – ลางนรก’ (แพรวสำนักพิมพ์) ผลงานนิยายขึ้นหิ้งของ ‘สตีเฟน คิง’ ตำนานนักเขียนสยองขวัญชาวอเมริกัน จบด้วยความสะใจ

          เล่มแรกเป็นเรื่องราวของเด็กชายแดนนี ทอร์แรนซ์ ผู้ค้นพบว่าตัวเอง ‘ส่องแสงได้’  พูดง่ายๆ คือ เห็นผี เห็นคนตาย มีญาณหยั่งรู้เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น การมีสัมผัสพิเศษนี่เองทำให้เขาและครอบครัวตกอยู่ในอันตราย มันดึงดูดเหล่าภูตผีปีศาจให้แห่แหนกันเข้ามาหลอกหลอนปั่นประสาทจนคลุ้มคลั่ง หวังสูบกินแสงในตัวเขาเพื่อเติมพลังชั่วร้ายให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์ โศกนาฏกรรมในโรงแรมบนหุบเขากลางฤดูหนาวคราวนั้นได้กลายเป็นบาดแผลฝังลึกในใจยากจะลบเลือน

          อีกเล่มเล่าถึงเหตุการณ์อีกสี่สิบปีถัดมาในวันที่แดนนีเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ พยายามลืมฝันร้ายในอดีตแล้วใช้ชีวิตเช่นคนปกติ แต่สุดท้ายเขาต้องเผชิญกับวิบากกรรมครั้งใหม่หลังได้รับ ‘โทรจิต’ ขอความช่วยเหลือจากเด็กหญิงคนหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปนับพันไมล์ แดนนีพบว่าไม่ได้มีแค่เขาคนเดียวที่ ‘ส่องแสงได้’ เด็กหญิงคนนี้ส่องแสงได้สว่างกว่าเขาหลายเท่า เธอกำลังถูกตามล่าจากเหล่าอสุรกายที่กระหายเลือดยิ่งกว่าครั้งก่อน

          หลังใช้เวลาเกือบสองเดือนกัดฟันอ่านนิยายเล่มหนากว่าแปดร้อยหน้าทั้งสองจนเล่มจบ พร้อมความรู้สึกสยดสยองเมื่อจินตนาการตามว่า ถ้าเราส่องแสงได้ มองเห็นผี หรือสามารถสื่อสารกับวิญญาณ ชีวิตคงอยู่ไม่สุข ยิ่งถ้ามีคนเลวๆ ที่มีพลังพิเศษเหมือนกันติดตามไล่ล่าหวังจะสูบกินพลังไปจากตัวเรา ต้องเรียกว่า — โคตรซวย

          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้อ่านนิยายเล่มใหม่ของสตีเฟน คิงที่เพิ่งวางแผงสดๆ ร้อนๆ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนเห็นผีอีกแล้ว! 

          นิยายเล่มล่าสุดมีชื่อว่า Later – และแล้วมันก็มา แปลโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร แพรวสำนักพิมพ์ ความหนาเพียงสามร้อยหน้าถ้าเทียบกับทั้งสองเล่มก่อนถือว่าบางมาก อ่านง่าย ไม่เหนื่อยเกินไปสำหรับมือใหม่หัดอ่านนิยายสตีเฟน คิง

          Later ยังมีพล็อตเรื่องหลักเป็น ‘เด็กเห็นผี’ เช่นเคย แต่แปลกใหม่และแตกต่างจากเล่มก่อนๆ คราวนี้เป็นเรื่องของเด็กชายวัยแปดขวบผู้มองเห็นวิญญาณของคนที่เพิ่งตายใหม่ๆ และสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนตายได้ ที่สำคัญคนตายจะพูดความจริงทุกประการเมื่อถูกถาม 

          จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีคนรับรู้ถึงความสามารถพิเศษนั้น และหวังใช้ประโยชน์จากมัน? 

          เจมี คองคลิน คือเด็กชายคนนั้น ลูกชายคนเดียวของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เทีย คองคลิน เจ้าของสำนักงานตัวแทนนักเขียนชื่อดังที่เพิ่งรับช่วงต่อจากพี่ชายผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ชีวิตสองแม่ลูกดูสงบสุขดี จนกระทั่งเจมีรู้ว่าตัวเองมองเห็นวิญญาณของคนตายได้ 

          ครั้งแรกเลยเขามองเห็นนักปั่นจักรยานถูกรถชนเสียชีวิตใกล้สวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ค ครั้งต่อมาเวลาเดินไปตามท้องถนน เขามักพบกับวิญญาณมากหน้า มีทั้งเด็ก หนุ่มสาว คนเฒ่าคนแก่ ราวกับเป็นผู้คนทั่วไปในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เหมือนกันก็คือคนตายทุกคนยังคงสวมใส่ชุดเดียวกับตอนเสียชีวิต แต่สภาพร่างกายขึ้นอยู่กับสาเหตุการตาย บางคนใบหน้าแหลกเละเพราะโดนรถชน บางคนศีรษะเป็นรูจากกระสุนที่ทะลุผ่านสมอง บางคนเนื้อตัวเปียกปอนจากเหตุจมน้ำตาย เจมีจะมองเห็นและพูดคุยกับคนตายได้เพียงแค่สามสี่วันเท่านั้น (อย่างมากก็หนึ่งสัปดาห์) ก่อนภาพและเสียงของคนเหล่านั้นจะค่อยๆ จางหายไป ไม่ต่างจากการหรี่เสียงเพลงของวิทยุในรถ

          “ใช่แล้ว ผมเห็นคนตาย เท่าที่ผมจำได้ผมเห็นคนตายมาตลอด แต่มันไม่เหมือนกับในหนังที่บรูซ วิลลิส แสดงหรอกนะ มันน่าสนใจ บางครั้งก็น่ากลัว (เช่นผู้ชายที่เซ็นทรัลพาร์ค คนนั้น) บางครั้งก็แสบทรวง แต่ส่วนใหญ่มันก็แค่ เห็นเฉยๆ” (หน้า 9)

          การสื่อสารกับวิญญาณทำให้เด็กชายล่วงรู้ความลับของคนตาย บางครั้งก็เป็นประโยชน์  เช่น ตอนที่วิญญาณของภรรยาของศาสตราจารย์มาร์ติน เบอร์เกตต์ เพื่อนสนิทของครอบครัวคองคลิน กระซิบบอกตำแหน่งแหวนแต่งงานที่หายไป หรือตอนที่สำนักงานตัวแทนนักเขียนของแม่ประสบภาวะถังแตก จวนเจียนล้มละลาย เคราะห์ซ้ำกรรมซัดนักเขียนเบสต์เซลเลอร์อย่าง เรจิส โทมัส ดันมาตายลงกะทันหันขณะที่ซีรีส์นิยายขายดีของเขาที่ยังเขียนไม่เสร็จ เทียจำใจแหกกฎตัวเองด้วยการวิงวอนให้ลูกชายช่วยสื่อสารกับคนตายเพื่อขอพล็อตนิยายเล่มสุดท้ายมาสานต่อให้จบ ตรงนั้นเองทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายตามมาอย่างคาดไม่ถึง

          “จงอย่าบอกใครเป็นอันขาดเรื่องที่ลูกเห็นคนตาย เจมส์ อย่าบอก เป็นอันขาด

          “ถึงยังไงพวกเขาก็ไม่เชื่อผมอยู่ดี แม่เองยังเคยไม่เชื่อเลย”

          “ฟังนะ มันเป็นเรื่องดีที่ผู้คนไม่เชื่อ แต่สักวันหนึ่งก็จะต้องมีใครบางคนที่อาจจะเชื่อ และมันอาจจะทำให้เกิดการบอกต่อแบบผิดๆ หรือไม่มันก็อาจจะทำให้ลูกตกอยู่ในอันตรายอย่างแท้จริง”

          “ผู้คนตายไปพร้อมกับความลับนะ เจมี และมักจะมีคนที่อยากรู้ความลับเหล่านั้นเสมอ แม่ไม่มีเจตนาจะทำให้ลูกกลัว แต่บางครั้งความกลัวก็เป็นบทเรียนเพียงอย่างเดียวที่ใช้ได้ผล” (หน้า 17)

Later : ทุกขลาภของ ‘คนเห็นผี’

          จุดหักเหที่ทำให้เรื่องราวทุกอย่างบานปลายเกิดขึ้นเมื่อ ลิซ ดัตตัน ตำรวจนักสืบหญิงแห่งกรมตำรวจนิวยอร์ก อดีตคนรักของเทีย ผู้มีส่วนร่วมรับรู้เหตุการณ์เหนือธรรมชาติของเจมี ได้ขอร้องแกมบังคับให้เขาช่วยสื่อสารกับเคนเนท เทอร์ริโอลต์ มือวางระเบิดโรคจิตที่เพิ่งยิงตัวตายหนีความผิดว่า ระเบิดลูกใหญ่ที่เตรียมก่อเหตุเป็นครั้งสุดท้ายถูกซุกซ่อนอยู่ที่ไหน 

          ลิซปรารถนาจะกอบกู้หน้าที่การงานอันตกต่ำของเธอกลับมา หลังถูกเพ่งเล็งด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นตำรวจมือสกปรก เจมีช่วยแฟนเก่าของแม่อย่างไม่เต็มใจนัก พวกเขาควานหาเทอร์ริโอลต์จนพบพร้อมคาดคั้นถึงที่ซ่อนระเบิด ก่อนตำรวจจะสามารถปลดชนวนระเบิดที่อาจคร่าชีวิตคนนับพันได้ในท้ายที่สุด 

          การเจอเคนเนท เทอร์ริโอลต์ ไม่เหมือนกับการพบกับคนตายคนอื่นๆ เด็กชายสัมผัสได้ถึงพลังงานชั่วร้ายน่าสะพรึงกลัวสิงสู่อยู่ภายในร่างของฆาตกรรายนี้ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือเทอร์ริโอลต์ตามตื๊อหลอกหลอนเขาถึงบ้านแบบไม่ยอมเลิกรา 

          ผมลุกขึ้นเดินไปปิดหน้าต่าง แล้วก็ต้องชะงักตัวแข็งทื่อ มืออยู่บนขอบหน้าต่าง เทอร์ริโอลต์ยืนอยู่บนฝั่งตรงข้ามใต้แสงสว่างเรืองรองของเสาไฟถนน เขาฉีกยิ้มกว้างจากหัวที่เละไปครึ่งหนึ่ง และกวักมือเรียก ไม่เคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับผมมาก่อน  ไม่มีคนตายคนไหนตามผมกลับบ้านต้อยๆ เหมือนเป็นหมาจร (หน้า 123) 

          ช่างเถอะ ผมคิด อีกสามหรือสี่วันเขาก็จะหายไปเหมือนที่พวกเขาทุกคนหายไป อย่างมากสุดก็หนึ่งอาทิตย์ และใช่ว่าเขาจะทำร้ายนายได้ซะเมื่อไหร่ (หน้า 123) 

          ความหวาดกลัวเกาะกุมจิตใจเด็กชายอย่างถึงที่สุด เจมีตัดสินใจเข้าร่วม ‘พิธีกรรมชู้ด’ ตามคำแนะนำของศาสตราจารย์มาร์ติน เบอร์เกตต์ เขาเผชิญหน้ากับเทอร์ริโอลต์อย่างกล้าหาญ กอดรัดมัน จ้องตามัน กำราบมัน ก่อนเอาชนะได้ในที่สุด ทว่าเด็กชายกลับทะนงตน เขาต้องการให้ผีตนนี้สยบยอมเป็นทาสรับใช้เหมือนลูกหมาเชื่องๆ ตัวหนึ่ง

          ผมปล่อยตัวเขา “ออกไปจากที่นี่ ไม่ว่านายจะเป็นอะไรก็ตาม และไปที่ไหนก็ตามที่นายต้องไป จงจำไว้ว่าถ้าฉันเรียก นายต้องมา” (หน้า 166)

          “ฉันต้องขอเพิ่มเติมคำเตือนเธอหน่อย ฉันไม่แคร์สีหน้ามั่นใจของเธอตอนที่บอกว่ามันถึงตาเธอหลอกหลอนมันบ้าง หรือตอนที่เธอบอกว่าถ้าผิวปากเรียก มันจะต้องมาหาเธอ บางทีมันอาจจะมา แต่ฉันขอเตือนเธอว่าอย่าทำแบบนั้น นักไต่เชือกก็ยังร่วงตกลงมาได้ในบางครั้ง คนฝึกสิงโตอาจถูกขย้ำโดยแมวที่พวกเขาเชื่อว่าเชื่องสุดๆ แล้ว ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง แม้กระทั่งหมาที่ดีที่สุดก็ยังอาจจะหันมาแว้งกัดเจ้านายได้ คำแนะนำของฉันก็คือ อย่ายุ่งกับสิ่งนี้ เจมี” (หน้า 175)

          ช่วงท้ายเรื่อง เจมีในวัยหนุ่มน้อยต้องกลับมาพบกับลิซ ดัตตันอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปหลายปี คราวนี้ไม่ใช่ในมาดตำรวจนักสืบหญิงแห่งกรมตำรวจนิวยอร์กอีกต่อไปแล้ว สถานการณ์เลวร้ายลงกว่านั้นเยอะ ลิซกลายเป็นคนตกงาน ติดยางอมแงม สารรูปกระเซอะกระเซิงราวกับเป็นคนละคน ที่แย่ไปกว่านั้นคือเธอจนตรอกและกำลังคิดวางแผนปล้นพ่อค้ายาเสพติดชื่อ ดอนนี บิ๊กส์

          ลิซใช้ปืนจี้ลักพาตัวเจมีขึ้นรถขับออกไปนอกเมือง จุดหมายคือคฤหาสถ์หรูของดอนนี บิ๊กส์ เธอจับตัวเขามัดไว้พร้อมบังคับให้บอกที่ซ่อนยาเสพติด แต่พ่อค้ายารายใหญ่ขัดขืน เธอจึงฆ่าปิดปากเพื่อให้เจมีถามความจริงจากปากคนตาย ช่างเลือดเย็นเหลือเกิน โค้งสุดท้ายของนิยายเล่มนี้จึงเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ใจหายใจคว่ำ ชวนให้ติดตามว่ามันจะลงเอยอย่างไร ก่อนจะพบกับความเซอร์ไพรส์เล็กๆ ในตอนจบ

          สิ่งที่ผมชอบในนิยายเล่มนี้คือ มันเป็นเรื่องแนว Coming of Age เล่าถึงการเติบโตของตัวละครหลักผ่านเหตุการณ์และช่วงเวลาที่มีความสำคัญมากๆ เช่นเดียวกับเจมีที่มีความคิดความอ่าน ทัศนคติ มุมมองต่อเหตุการณ์ที่เขาสื่อสารกับคนตายในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกันไป ตอนเป็นเด็กไร้เดียงสาก็แบบหนึ่ง เป็นวัยรุ่นคึกคะนองก็แบบหนึ่ง จนโตขึ้นเป็นหนุ่มน้อยวัย 22 ปี ก็จะมีท่าทีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง ครบถ้วนทุกอารมณ์ ตกใจกลัว ร้องไห้ฉี่ราด โกรธแค้น ห่ามห้าวคึกคะนอง กระทั่งสงบนิ่ง ผ่อนคลาย เข้าใจอะไรมากขึ้น จะเรียกว่าเป็น Coming of Age สไตล์คนเห็นผี ก็ไม่น่าจะเวอร์เกินไปนัก

          จากการอ่านนิยายเรื่องคนเห็นผีของสตีเฟน คิง ไม่ว่าจะเป็น ‘The Shining – โรงแรมนรก’ , ‘Doctor Sleep – ลางนรก’ จนถึง  ‘Later – และแล้วมันก็มา’ ตอกย้ำว่ามันฉิบหายวายป่วงแค่ไหนกับการมีญาณวิเศษ (เห็นผี/คนตาย) (สื่อสารกับผี/คนตายได้) มีแต่เรื่องน่าขนลุก สะดุ้งผวา ประสาทเสีย แม้บางครั้งจะใช้พลังพิเศษนั้นให้เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าควบคุมไม่อยู่มันก็ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงอย่างไม่น่าเชื่อ เรียกว่าเป็น ‘ทุกขลาภ’ อย่างแท้จริง 

          สตีเฟน คิงก็ยังคงเป็นสตีเฟน คิง นักเล่าเรื่องชั้นยอด พล็อตเยี่ยม เทคนิคชั้นเชิงแพรวพราว ภาษาลื่นไหล สนุก ลุ้นระทึก ถ้าได้เปิดอ่านแล้วรับรองว่าวางไม่ลง

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก