LAB25 แผนพัฒนาห้องสมุดสิงคโปร์ ตั้งเป้าพัฒนาคนเพื่อสร้างเศรษฐกิจอนาคต

436 views
8 mins
May 13, 2024

          สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีแผนกำหนดทิศทางดำเนินงานของห้องสมุดอย่างชัดเจน แผนบริหารจัดการห้องสมุดหรือ Master Plan แต่ละฉบับมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม แผนฉบับปัจจุบันคือ LAB25 (The Libraries and Archives Blueprint 2021-2025) มีเป้าหมายหลักคือกำหนดแนวทางการทำงาน และเพิ่มเติมรูปแบบบริการห้องสมุดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว บทความนี้จะพาไปติดตามดูว่า Master Plan ฉบับก่อนหน้านำมาซึ่งผลลัพธ์อะไร และ LAB25 จะทำให้ห้องสมุดเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพาประชาชนให้เข้าถึงความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ผลลัพธ์ที่ดีมาจากแผนบริหารจัดการห้องสมุดที่ชัดเจน

          วิสัยทัศน์ของคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (National Library Board: NLB) คือการ “สร้างนักอ่านตลอดชีวิต ชุมชนแห่งการเรียนรู้ และประเทศที่ทรงปัญญา” (Readers for Life, Learning Communities, and a Knowledgeable Nation) การจะบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายแบบนี้ เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการห้องสมุดคงมาตรฐานระดับโลก (World Class Library System) ได้ คือ Master Plan ที่กำหนดทิศทางในการทำงานอย่างชัดเจน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงห้องสมุด รวมถึงสังคมรอบข้างอย่างเป็นรูปธรรม ภาพรวมของ Master Plan ฉบับก่อนหน้าและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงดังนี้

LAB25 แผนพัฒนาห้องสมุดสิงคโปร์ ปรับโฉมการเรียนรู้เพื่ออนาคต
Photo: National Library Board

ช่วงที่ 1 Library 2000: พัฒนาโครงข่ายพื้นฐานของห้องสมุด

          เป้าหมายของ Master Plan ฉบับ Library 2000 หรือช่วงปี 1995-2000 คือการพัฒนาโครงข่ายพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และทรัพยากรของห้องสมุด ผลลัพธ์จากแผนฉบับนั้นทำให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดใน 3 ระดับ คือ ระดับภูมิภาค (Regional) ระดับชุมชน (Community) และระดับย่าน (Neighbourhood) รวมถึงห้องสมุดโรงเรียนด้วย นอกเหนือจากการพัฒนาทางกายภาพแล้ว NLB ยังส่งเสริมการรวบรวม อนุรักษ์ และฟื้นฟู มรดกวัฒนธรรมของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นชุมชนและสังคมสิงคโปร์

          กลยุทธ์สำคัญในแผนฉบับนี้ คือการพัฒนาเทคโนโลยีในห้องสมุดให้ทันสมัย ห้องสมุดในสิงคโปร์จึงเป็นแห่งแรกๆ ที่ใช้ระบบ RFID กับอุปกรณ์ยืมคืนหนังสือด้วยตนเอง พร้อมทั้งแปลงเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในคอลเลกชันให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลจากผู้ใช้งานออนไลน์มาตั้งแต่ก่อนปี 2000 

          ส่วนในด้านการพัฒนาสังคมนั้น NLB พัฒนาเครือข่าย Friends of the Library และระบบอาสาสมัครเพื่อให้ชุมชนเข้ามาร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และพัฒนาห้องสมุด ระบบอาสาสมัครที่เข้มแข็ง ทำให้ชุมชนต่างๆ และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ให้บริการ สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม และกระตุ้นความรู้สึกภาคภูมิใจในฐานะประชาชนของสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี

ช่วงที่ 2 Library 2010: เข้าสู่ยุค IT and Digital Transformation

          ระหว่างปี 2000–2010 คือ ช่วงที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ  พฤติกรรมผู้ใช้ที่เปลี่ยนไป และความก้าวหน้าของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ทำให้ NLB ปรับกลยุทธ์ใหม่ ทั้งการให้บริการแบบออนไซต์และออนไลน์ โดยริเริ่มใช้ e-reading station รวมถึง mobile application ที่ผู้ใช้สามารถจัดการข้อมูลสมาชิกได้ด้วยตนเอง และยังริเริ่มนำข้อมูลผู้ใช้งานห้องสมุดมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบบริการใหม่ๆ ก้าวเข้าสู่ความเป็นระบบบริการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data driven) อย่างเต็มตัว

          ในช่วงนี้ บริการ OneSearch ถือกำเนิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถค้นหาหนังสือและเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างสะดวกสบาย คลังข้อมูลดิจิทัลของ NLB มีทั้งหนังสือ นิตยสาร หนังสือเสียง ภาพยนตร์ รูปภาพ แผนที่ และสื่ออื่นๆ หลากหลายรูปแบบ ให้บริการทั้งในภาษาอังกฤษ มลายู จีน และทมิฬ เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ห้องสมุดเพิ่มช่องทางการให้บริการและก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม

บริการ OneSearch

ช่วงที่ 3 Library 2020: มุ่งสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้

          ระหว่างปี 2016-2020 เป็นช่วงที่แผนให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ จึงเกิดโครงการและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน และเพิ่มอัตราการรู้หนังสือในเยาวชนเป็นจำนวนมาก เช่น โครงการ Early READ สำหรับเด็กเล็กวัย 0-6 ปี โครงการ kidsREAD โครงการพิเศษสำหรับเด็กวัย 4-8 ปี ที่มาจากครอบครัวรายได้ต่ำ และโครงการ READ@School สำหรับส่งเสริมการอ่านในนักเรียนอายุ 7-17 ปี เรียกได้ว่ามีโครงการสำหรับเยาวชนตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนไปจนถึงวัยรุ่น

          นอกจากนี้ NLB ยังคงสนับสนุนให้แทรกประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ลงไปในโครงการและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ฟอร์ดเก่าให้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สิงคโปร์ เพราะเป็นสถานที่ที่สหราชอาณาจักรประกาศล่าถอยออกจากพื้นที่ และสิงคโปร์ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ในวาระการเปิดพื้นที่ ปี 2017 NLB ได้รับบริจาคเอกสาร หนังสือ เกี่ยวกับญี่ปุ่นเข้าคอลเลกชันถึงกว่า 400 ชิ้น

LAB25: เสริมความเข้มแข็งห้องสมุด จุดประกายการเรียนรู้สู่อนาคต 

          Master Plan ฉบับก่อนหน้าทำให้เกิดการพัฒนารูปแบบบริการห้องสมุดในความดูแลของ NLB อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายพื้นฐาน หรือการเปลี่ยนผ่านสู่บริการดิจิทัล แผนฉบับปัจจุบัน ‘LAB25’ คือ แผนระยะ 5 ปี เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2021-2025 เพื่อเป็นแกนในการบริหารจัดการและพัฒนาห้องสมุดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย NLB เชิญชวนพันธมิตร ทั้งรูปแบบของภาคธุรกิจ และชุมชน ให้มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การระดมสมอง จัดทำโฟกัสกรุ๊ปตั้งแต่ปี 2020 เพื่อวางทิศทางว่าแผนฉบับนี้จะผลักดันการดำเนินงานของห้องสมุดไปในทิศทางไหน จนในที่สุดก็สรุปออกเป็น 4 กลยุทธ์หลักๆ ที่สนองตอบความต้องการของผู้ใช้ห้องสมุดในปัจจุบัน 

          จากเป้าหมายในปีก่อนหน้าที่ NLB มุ่งสร้าง ‘นักอ่านตลอดชีวิต ชุมชนแห่งการเรียนรู้ และประเทศที่ทรงปัญญา’ LAB25 มีเป้าหมายเพิ่มขึ้น คือ สร้างเศรษฐกิจสำหรับอนาคต ประเทศชาติที่ชาญฉลาด และ สังคมสิงคโปร์ที่เข้มแข็ง (Future Economy, Smart Nation, Strong Singaporean Society) หัวใจสำคัญของแผนคือ การเชิญชวนเครือข่ายและพันธมิตรมาร่วมทดลอง สร้างสรรค์ ออกแบบ และให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของสังคม LAB25 ไม่ได้มีแค่แนวทางบริหารจัดการห้องสมุดเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดโครงการ และบริการใหม่ๆ ที่ผู้ใช้งานห้องสมุดสามารถเข้ามาเลือกใช้ได้อย่างสะดวกสบาย

กลยุทธ์ที่ 1 ชุมทางแห่งการเรียนรู้: Learning Marketplace

          ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากอิทธิพลของเทคโนโลยีใหม่ สิ่งที่สังคมต้องการคือการ Upskill และ Reskill เพื่อให้แรงงานในตลาดมีทักษะที่อุตสาหกรรมต้องการ NLB ส่งเสริมให้ห้องสมุดทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเป็นจุดเชื่อมระหว่างผู้เรียน และผู้สอน และระดมองค์กรพันธมิตรที่สามารถถ่ายทอดความรู้หลากหลายประเภทเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา โดยใน 5 ปีนี้ NLB จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไปเรื่อยๆ เริ่มด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม ช่องทางสื่อสารที่ใช้ ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ให้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Learning Superstore) เอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ต่างๆ รวมถึงพัฒนาระบบแนะนำโปรแกรมการเรียนรู้แบบเฉพาะตัว (Personalized Learning) และสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงผู้เรียนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน

          LearnX เป็นแพลตฟอร์มที่ NLB เรียกว่า Learning Pathways รวบรวมทรัพยากรการเรียนรู้จาก NLB และเครือข่าย โดยผู้เรียนสามารถกำหนดโปรแกรมการเรียนรู้เองได้ว่าจะเรียนอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร โดยแพลตฟอร์มจะแบ่งหัวข้อการเรียนรู้เอาไว้ 8 ด้านกว้างๆ คือ ดิจิทัล อาชีพ ความยั่งยืน การอ่าน วิทยาศาสตร์ สิงคโปร์ สุขภาวะ และ ศิลปะ 

          ไฮไลต์สำคัญของแพลตฟอร์ม LearnX คือ ชุมชนการเรียนรู้ หรือ LearnX Communities ชุมชนออนไลน์ที่เชื่อมโยงกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้ายคลึงกันเอาไว้ด้วยกัน แนวคิดที่เป็นแกนกลางของ LearnX Communities คือ peer-to-peer learning และ ระบบอาสาสมัคร เปิดโอกาสให้มาร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของแต่ละกลุ่ม หลายกิจกรรมเกิดขึ้นโดยสมาชิกของชุมชนเหล่านี้ ซึ่งก็คือสมาชิกของห้องสมุดในความดูแลของ NLB นั่นเอง

วิดีโอ LearnX Communities

          ผลงานของชุมชนการเรียนรู้หลายชิ้นสามารถนำมาใช้งานและเติมสีสันให้กับห้องสมุด เช่น ชุมชนแชตบอต สร้างแชตบอตแบบอินเทอร์แอคทีฟให้กับห้องสมุด หรือชุมชนหนังสือทำมือ Zzzink! Club ก็ร่วมกันจัดนิทรรศการที่ library@orchard เพื่อกระตุ้นความสนใจ และเชิญชวนให้ผู้ชมหันมาลองอ่านหนังสือทำมือกันมากขึ้น          

          นอกจากพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในโลกออนไลน์แล้ว NLB ยังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพให้ตอบรับกับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ โดยไม่จำกัดแค่การสร้างห้องสมุดเท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนา Node, Hub และ Grab-n-Go ซึ่งเป็นรูปแบบการให้บริการขนาดย่อส่วนของห้องสมุดที่ส่งเสริมการเข้าถึงหนังสือ โดยหลักการคือทำให้หนังสือแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ที่ผู้คนดำเนินชีวิตประจำวัน รูปแบบการบริการอาจจะเป็นห้องหนังสือเล็กๆ มุมหนังสือ มุมนิทรรศการ หรือมุมยืมคืนหนังสือ ที่กระจายอยู่ในหลากหลายพื้นที่ทั่วทั้งสิงคโปร์ ทั้งในห้างสรรพสินค้า แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ต่างๆ บางแห่งอยู่ในรูปแบบป๊อปอัป หรือจัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจสำหรับบางช่วงเวลา

LAB25 แผนพัฒนาห้องสมุดสิงคโปร์ ปรับโฉมการเรียนรู้เพื่ออนาคต
Photo: National Library Board

          ยกตัวอย่างเช่น The Garfield X Mr.Kiasu Library มุมหนังสือแบบป๊อปอัป จัดขึ้นในระหว่างเดือนตุลาคม 2023-มีนาคม 2024 ที่เซนเตอร์พอยต์ โดยจำลองมุมหนังสือเป็นห้องพักของมิสเตอร์เกียซู ตัวการ์ตูนสิงคโปร์ที่เชิญแมวการ์ฟิลด์ตัวการ์ตูนสากลมาลิ้มลองอาหารท้องถิ่นสิงคโปร์อย่างลักซา (Laksa)

          Comics Library เป็นห้องสมุดเล็กๆ ที่ให้บริการแบบ self-service เต็มรูปแบบ มีหนังสือการ์ตูนเล่มดังในยุค 50s-60s มุมนั่งอ่าน และเครื่องยืมคืนหนังสืออัตโนมัติ ซึ่งมีแนวโน้มว่า NLB จะเพิ่มหนังสือที่นี่เป็นกว่าหนึ่งหมื่นเล่มภายในปี 2024

          ยังมี Node อื่นๆ อีกหลายแห่งตามแหล่งชุมชนทั่วไป ทั้งพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี หรือพื้นที่วัฒนธรรมต่างๆ โดยคอลเลกชันหนังสือ เนื้อหา รูปแบบบริการ และการจัดแสดงในแต่ละ Node นั้นก็จะแตกต่างกันไปตามแต่สถานที่ตั้ง

LAB25 แผนพัฒนาห้องสมุดสิงคโปร์ ปรับโฉมการเรียนรู้เพื่ออนาคต
Photo: National Library Board

LAB25 แผนพัฒนาห้องสมุดสิงคโปร์ ปรับโฉมการเรียนรู้เพื่ออนาคต
Photo: National Library Board

กลยุทธ์ที่ 2 สร้างประชากรที่ฉลาดรู้เรื่องข้อมูล: Informed Citizenry

          เพราะทุกวันนี้ มีข้อมูลข่าวสารมากมายไหลเวียนอยู่ในโลกของการสื่อสาร บ้างก็เป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ บ้างก็เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน กลยุทธ์นี้เน้นการบ่มเพาะให้ประชาชนรู้จักคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากสื่อแขนงต่างๆ มีความฉลาดรู้ในด้านการเสพข้อมูล มีช่องทางเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพจากผู้นำความคิด คอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพื่อให้ทันโลก ทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยดำเนินการผ่านช่องทางที่มีอยู่แล้วคือโครงการส่งเสริมการอ่านทั้งหลาย และ S.U.R.E. โครงการของ NLB ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ

          Read to be SURE เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแผน LAB 25 เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์ต่างๆ ที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต โดยรวบรวมเนื้อหาที่สำคัญทั้งบทความ วิดีโอ มาเรียบเรียง จัดระเบียบการนำเสนอแบบเข้าใจง่าย ข้อมูลเหล่านี้มาจากหลากหลายมุมมอง ไม่เอนเอียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลอย่างครอบคลุมและเป็นกลาง โดยประเด็นที่นำเสนอ เป็นประเด็นร้อนในแต่ละช่วงเวลา เช่น Metaverse, Generative AI, ความยั่งยืน, สงครามรัสเซีย-ยูเครน, ชีวิตหลังเกษียณ เป็นต้น

โครงการ Read to be SURE

กลยุทธ์ที่ 3 สร้างนักเล่าเรื่องเมืองสิงคโปร์: Singapore Storytellers

          กลยุทธ์ที่แผนพัฒนาห้องสมุดหลายฉบับให้ความสำคัญเสมอมา คือการสร้างสำนึกในถิ่นที่อยู่ให้กับประชาชน ด้วยการเน้นความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของความเป็นสิงคโปร์ โดยบทบาทของ NLB คือ รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับสิงคโปร์ เก็บรักษาและนำเสนอในรูปแบบดิจิทัล ส่งเสริมให้มีการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิด นักเล่าเรื่อง หรือ storyteller ที่สามารถนำเรื่องราวเหล่านี้ไปถ่ายทอดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่อินเทอร์แอคทีฟ หรือนิทรรศการต่างๆ 

          Curiocity คือเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นตามกลยุทธ์ Singapore Storytellers เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมผ่านการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่สำคัญต่างๆ ในสิงคโปร์ ด้วยสื่อดิจิทัล (Digital storytelling) ทั้งในรูปแบบของ Digital Stories และ Story Maps โดยใช้ทรัพยากรจากห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และแหล่งมรดกวัฒนธรรมต่างๆ ในรูปแบบภาพถ่าย แผนที่ เรื่องราวจากบทสัมภาษณ์ ฯลฯ 

          นอกจากนี้ โครงการ Singapore Storytellers ได้นำเสนอวิดีโอซีรีส์ที่สะท้อนวิถีวัฒนธรรมของสิงคโปร์ถึง 3 ชุด พร้อมเล่าเรื่องราวของผู้คน อาหาร และวิถีชีวิต เช่น From Book to Cook เป็นรายการทำอาหารตามตำรับสิงคโปร์ที่พบในเอกสารโบราณจากหอสมุดแห่งชาติ แต่ละตอนผู้ดำเนินรายการ (ซึ่งเป็นบรรณารักษ์) และแขกรับเชิญ จะทำอาหารจากตำรับเก่าแก่เหล่านั้น อีกสองรายการคือ การ์ตูนสำหรับเด็ก Time Travelling Trio ที่เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครเด็ก 3 คน ซาร่า รีน่า และโรกาว่า ที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์สิงคโปร์จากบรรณารักษ์ และ Stories from BiblioAsia เป็นการรวมเรื่องราวประเด็นเฉพาะในประวัติศาสตร์สิงคโปร์ที่ได้มาจากบทความของหอสมุดแห่งชาติ

วิดีโอตัวอย่างรายการ From Book to Cook

กลยุทธ์ที่ 4 สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงความรู้: Equalizer 

          เป็นกลยุทธ์ที่มุ่งหมายเติมเต็มช่องว่างในการเข้าถึงการเรียนรู้ในสังคม โดยไม่ทอดทิ้งกลุ่มที่เปราะบางเอาไว้ เป้าหมายคือการส่งเสริมให้เยาวชนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ในปัจจุบันได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการเสริมทักษะดิจิทัลให้กับกลุ่มที่ขาด ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้าน AI, Cloud, และ VR 

          หนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือ Punggol Regional Library ซึ่งเป็นตัวแทนของห้องสมุดที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นต้นแบบพื้นที่เรียนรู้ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าใช้งานอย่างแท้จริง แนวคิดของการให้บริการที่นี่คือคำว่า ‘Inclusion’ หรือรองรับผู้ใช้งานทุกกลุ่มแบบไม่แบ่งแยก เพราะที่นี่มีทรัพยากรสำหรับเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะบกพร่องทางร่างกาย รูปแบบบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีภาวะบกพร่องทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นทางลาด อุปกรณ์พิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตา มาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้งานจริง นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพแล้ว Punggol Regional Library ยังมีกิจกรรมพิเศษสำหรับผู้พิการ เช่น กิจกรรมอาสาสมัคร เพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถแสดงความสามารถ แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ สร้างสรรค์และแบ่งปันร่วมกันผู้อื่นในสังคมได้

          นอกจากบริการพิเศษสำหรับผู้พิการ รูปแบบบริการของ Punggol Regional Library ยังมุ่งเน้นสร้างเสริมประสบการณ์ด้วยเทคโนโลยี เชื่อมโยงประสบการณ์ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ มีการจัดแสดงเทคโนโลยีอิมเมอร์ซีฟ (Immersive Technology) ทั้ง AR, VR และ XR อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่สะท้อนถึงความเป็นสิงคโปร์ด้วย 

          ทั้ง 4 กลยุทธ์นี้ ล้วนเป็นไปเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี และเดินหน้าเชิงรุกเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่ออนาคต เติมความพร้อมให้ห้องสมุดได้ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ สร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ โดยทุกกลยุทธ์จะดำเนินการภายใต้แนวคิดหลักของ LAB25 คือ การไม่ผูกขาดการจัดการความรู้โดยห้องสมุดเท่านั้น แต่จะพยายามดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการ เติมความรู้ และร่วมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะในรูปแบบอาสาสมัคร การบริจาค แลกเปลี่ยนความรู้ หรือแม้กระทั่งมาร่วมระดมสมองกับ NLB Lab เพื่อออกแบบนวัตกรรม เพื่อให้แน่ใจว่าห้องสมุดจะเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ผลักดันประเทศให้ก้าวหน้าตามวิสัยทัศน์ต่อไป

วิดีโอ LAB25


ที่มา

บทความ “The Big Read: Are public libraries dying? Not in Singapore – far from it” จาก channelnewsasia.com (Online)

บทความ “THE NLB SINGAPORE’S ‘BLUEPRINT’ APPROACH TO A VUCA LANDSCAPE” จาก ndl.go.jp (Online)

บทความ “LAB25 (Libraries and Archives Blueprint 2025)” (Online)

บทความ “National Library Board Singapore: World-Class Service through Innovation and People Centricity” (Online)

Cover Photo: National Library Board

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก