*ที่ฉัน นั้นได้รัก กับคนที่ดีเช่นเธอ
ถึงแม้ จะสั้นนัก กับเวลาที่เราได้เจอ
_______________________
ต่อจากนี้ คนดี หากเธอเหงาเมื่อไหร่
โปรดอ่านจดหมายนี้
ที่แนบความรัก ไว้แทนกำลังใจ
บทเพลง ‘จดหมาย’ ผลงานเก่าของ บอย โกสิยพงษ์ จากอัลบั้ม Song From Different #3 (2004) ถูกเปิดซ้ำหลายครั้ง ด้วยความระลึกถึงเสียงเปียโนและเครื่องเป่าคลออยู่หลังเสียงทุ้มนุ่มของ ‘นภ พรชำนิ’ หลังข้าพเจ้าจบการอ่านวรรณกรรมที่มีชื่อ ประตูแคบ (La Porte étroite) จากนักประพันธ์ฝรั่งเศส อ็องเดร ฌีด (André Gide)
นวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติที่ผู้เขียนย้อนไปสำรวจชีวิตตัวเองในวัยเยาว์ ช่วงต้นทศวรรษ 1900 ที่ศาสนามีอิทธิพลต่อความคิดผู้คนในยุโรปสูง ยิ่งกับบางตัวละครที่ลุ่มหลงในคุณธรรมเพราะคุณธรรม และมุ่งมาดปรารถนาที่จะรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า โดยไม่ได้นึกถึงความสุขส่วนตนจนชีวิตก็ประสบโศกนาฏกรรมในแบบที่กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ (ทั้งที่น่าจะคิดแก้ไขได้)
เรื่องราวเริ่มจากความรักที่เป็นสารตั้งต้นของนวนิยายทั่วโลก ตัวละครแรกที่อ็องเดร ฌีด นำพาให้รู้จักคือ เฌโรม ชายหนุ่มที่เกิดในครอบครัวมีฐานะ พ่อเป็นนายแพทย์ หลังเสียชีวิต เขาย้ายไปพำนักที่ปารีส ก่อนช่วงหน้าร้อนทุกปีที่บ้านจะไปอาศัยอยู่ที่บ้านเครือญาติที่เมืองเลออาฟร์ เมืองท่าสำคัญทางทิศเหนือของประเทศ ที่นั่นเป็นจุดที่เฌโรมได้พบลูกพี่ลูกน้องสองสาว อย่างอาลิซา ที่อายุมากกว่าเฌโรมสองปี และฌูลิแยตที่อายุน้อยกว่าเขาหนึ่งปี
“อาลิซาเป็นดั่งไข่มุกซึ่งพระคริสตธรรมคัมภีร์เอ่ยถึง ข้าพเจ้าก็คือบุคคลผู้ขายทุกสิ่งเพื่อให้ได้ไข่มุกเม็ดนั้น” (น.27) เฌโรมกล่าวเปรียบเปรยถึงญาติผู้พี่ที่กลายเป็นรักแรกในชีวิต
แต่กับอีกคน “ฌูลิแยตผันตัวมาเป็นผู้นำสารระหว่างพี่สาวของเธอกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเล่าเรื่องรักของเราให้เธอฟังยืดยาวไม่รู้จักจบ เธอเองก็ดูไม่เหนื่อยหน่ายจะฟัง สิ่งใดที่ไม่กล้าเอ่ยแก่อาลิซา ข้าพเจ้าจะนำมาบอกฌูลิแยต” (น.42)
กล่าวได้ว่าเรื่องราวอาจจะเริ่มจากความรักสดใสในวัยแรกรุ่น ก่อนจะเป็นเรื่องรักใคร่น่าชวนหัว ที่หาทางออกให้หัวใจได้ยาก และค่อยๆ ยากไปอีกเมื่อนักประพันธ์เองก็ยอมรับว่านวนิยายชิ้นนี้แทบแยกไม่ออกจากชีวิตส่วนตัวของเขา เป้าประสงค์บางอย่างจึงโน้มนำไปที่การชำระความผิดบาปทางความรู้สึกตัวเอง ที่หลงรักผู้หญิงสองคนในเวลาพร้อมๆ กัน ขณะอีกด้านก็วิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อทางคริสต์ศาสนา โดยมีสัญลักษณ์ ‘ประตูแคบ’ ที่ตัวละครศิษยาภิบาลโวติเย หยิบพระวจนะพระคริสต์มาเป็นบทภาวนาเมื่อตอนต้นเรื่อง ที่ว่า
“ท่านทั้งหลายจงเพียรเข้าประตูแคบ เพราะว่าประตูใหญ่และทางกว้างขวางนำไปถึงความพินาศ และคนที่เข้าทางนั้นมีมาก เพราะว่าประตูซึ่งนำไปถึงชีวิตนั้นก็คับทางก็แคบ ผู้ที่หาพบก็มีน้อย” (น.23)
เช่นเดียวกับวรรณกรรมหลายชิ้นของโลก ทั้ง รักของผู้ยากไร้ (ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี), คุณพ่อขายาว (จีน เว็บสเตอร์) หรือ จดหมายถึง D. (อ็องเดร กอร์ซ) อีกตัวละครหลักของนวนิยาย ประตูแคบ เห็นจะเป็น ‘จดหมาย’ ที่เป็นตัวส่งสารให้กับเรื่องรักของทั้งเฌโรมและอาลิซา บางครั้งจดหมายเป็นตัวเชื่อมบอกข่าวและกล่าวถึงความสัมพันธ์ให้รู้ว่าคนสองคนยังพันผูกไม่ห่างกันไปไหน แต่ขณะเดียวกันจดหมายนี้เองกลับเป็นการสื่อถึงการไม่อยากพบหน้า และหลายครั้งความเศร้าสร้อยก็มาพร้อมกับจดหมายที่ถูกสื่อสารทางเดียวโดยไม่ถูกตอบรับกลับมา แต่โดยหลักจดหมายที่ตอบโต้กันก็มักเกิดในช่วงที่เฌโรมต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารและประจำการที่เมืองน็องซี่
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แม้ ประตูแคบ จะบอกเล่าเรื่องราวความโรแมนติกของชาย-หญิง ที่เริ่มจากรักต้องห้ามในสายเลือด แต่สิ่งนั้นดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่อาลิซาพบในชีวิตชู้ของมารดา ที่ทำให้อาลิซาหันมาพึ่งศาสนาเพื่อเยียวยาใจ
บทสนทนาระหว่างกัน และความเรียงเรื่องรักในจดหมายก็มักมีเรื่องพระเจ้าหรือสรวงสวรรค์เข้ามานำทางเสมอ แม้ในส่วนลึกอาลิซาก็มีความต้องการความรักความใคร่เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม โดยเฉพาะกับเฌโรม ที่เฝ้าฝันถึงการหมั้นหมายครองคู่ แต่ถึงที่สุด ฌีดกลับสร้างตัวละคร อาลิซา ให้เป็นคนที่แยกชีวิตตัวเองไม่ออกจากคำสอนของศาสนา ราวกับว่าถูกกับดักแห่งคุณธรรมครอบงำตัวเอง และนี่คงเป็นอีกส่วนสำคัญของนวนิยายที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอย่างตรงไปตรงมา ผ่านพันธกิจชีวิตของอาลิซา หญิงสาวผู้ไม่อาจพบพานความสุขจากความรักในสองสิ่งพร้อมกันเอาเสียเลย
“ต่อให้ข้าพระองค์ร้องหาพระองค์ด้วยศรัทธาร้อนแรงอย่างเด็กๆ ตลอดจนด้วยเสียงของอภิมนุษย์ชั้นทวยเทพก็เถิด ข้าพระองค์ทราบดี ทั้งหมดนี้มิได้มาจากเฌโรม แต่มาจากพระองค์ แต่เหตุใดเล่า พระองค์จึงทรงนำภาพเฌโรมมาวางคั่นกลางระหว่างพระองค์กับข้าพระองค์อยู่ทุกหนแห่ง” (อนุทินของอาลิซา น.170)
และก็เป็นจดหมายนี่เองที่ปิดกั้นเฌโรม ผู้ชายที่ติดตามถามหาความรักครั้งนี้อยู่เสมอๆ และเขาเองก็มักจะถูกผลักไสออกไป เพียงเพราะอยากเข้าไปเปิดประตูหัวใจของอาลิซา และหวังใจอย่างยิ่งว่าสักวันหนึ่งความคิดของเธอจะแปรเปลี่ยน
“จดหมายของเราสองในครั้งก่อน ได้ทำลายการพบกันระหว่างเราในช่วงฤดูใบไม้ร่วงฉันใด ความทรงจำว่าเมื่อวานเธอยังอยู่ที่นี่ ก็ได้ทำให้จดหมายของฉันในวันนี้คลายมนตร์ขลังลงฉันนั้น ความตื่นเต้นยินดีซึ่งฉันรู้สึกยามที่เขียนถึงเธอนั้นกลายเป็นอะไรแล้วก็ไม่รู้” (น.127)
ดังเช่นสิ่งที่เฌโรมสะท้อนความคิดไว้ในช่วงแรกของนวนิยาย อันเป็นการพูดถึงประตูแคบแบบทีเล่นทีจริง ที่จากวันนั้นอีกหลายปี เขาจึงได้เข้าใจสิ่งที่ประสบในเหตุแห่งรักมากยิ่งขึ้น
“ข้าพเจ้าก็เห็นภาพประตูแคบบานนั้นซึ่งต้องเพียรเข้าไป ในความฝันซึ่งข้าพเจ้าดำดิ่งลงไป ข้าพเจ้านึกภาพประตูนั้นเสมือนเครื่องรีดโลหะธาตุให้เป็นแผ่นอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าต้องพยายามสอดตัวเข้าไปในเครื่องนั้น ให้รู้สึกเจ็บปวดอย่างผิดประหลาด แต่สิ่งที่ระคนมาด้วย คือการได้ลิ้มรสล่วงหน้าซึ่งความสุขอันเหลือล้นจากสรวงสวรรค์ แล้วประตูนั้นก็กลับกลายอีกครั้งเป็นประตูห้องนอนของอาลิซา การจะเข้าไปนั้น ข้าพเจ้าต้องลีบตัวให้เล็กลง ขับสิ่งใดๆ ที่ยังเป็นความเห็นแก่ตนออกไปจากตัวให้จนสิ้น” (น.24)
นอกจากการเคร่งจารีต สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนจากวิวัฒนาการของตัวละคร ที่ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกันจนพบทางแยก เริ่มจากเฌโรมพบว่า ภาพถ่ายขนาดใหญ่รูปงานศิลปะของจิตรกรซัซโซจากอิตาลีหายไปจากห้องนอนของอาลิซา และหนังสือวรรณกรรมที่เคยอ่านด้วยกัน ถูกแทนที่ด้วยหนังสือธรรมะ เพราะไม่อยากให้จิตใจว่อกแว่กจากศีลธรรม หนำซ้ำอาลิซาก็ตีค่างาน ‘นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่’ ในน้ำเสียงประชดประชัน ไม่เว้นแม้แต่ แบลส ปาสกาล (1623-1662) นักปรัชญาคริสเตียนที่เคยเสนอว่า “หากมนุษย์ปราศจากพระเจ้าก็มีทุกข์มหันต์ หากมนุษย์มีพระเจ้าก็มีสุขอนันต์” (เชิงอรรถผู้แปล)
“สำนวนโวหารสวิงสวาย มีมากจนอ่านแล้วอึ้งไปเลย อีกทั้งยังพยายามมากเหลือเกิน เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อพิสูจน์ขี้ปะติ๋ว บางครั้งฉันนึกกังขาว่าลีลาน้ำเสียงของปาสกาลที่ชวนให้สะเทือนใจ นั้นจะเป็นผลมาจากความเคลือบแคลงเสียมากกว่าความศรัทธา ศรัทธาอันสมบูรณ์ย่อมไม่ร้องไห้ฟูมฟายและเสียงก็มิต้องสั่นเครือ” (น.135)
หากมองไปในเชิงวิพากษ์ศาสนา ‘พิริยะดิศ มานิตย์’ ผู้แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ให้ข้อมูลถึงฌีดว่า เกิดในครอบครัวโปรเตสแตนต์ที่เคร่งพระคัมภีร์สูง จึงเติบโตมาด้วยกรอบของศีลธรรมอย่างสุดโต่ง กระทั่งการได้พบกับนักเขียนไอริชอย่าง ‘ออสการ์ ไวลด์’ และเดินทางร่วมกันไปที่แอฟริกาเหนือ สถานที่ที่เขาพ้นจากกรงศาสนา มีความอิสระมากขึ้น จึงปลดปล่อยตัวเองให้พบความสุขทางโลกอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะการหาซื้อบริการทางเพศจากเด็กในท้องถิ่น ตั้งแต่นั้นปมขัดแย้งสำคัญที่ทำให้ ‘ฌีด’ นึกขึ้นได้คือศาสนาเป็นตัวถ่วงให้ชีวิตมนุษย์ไม่อาจมีชีวิตปกติสุขได้ตามที่คำสอนเอ่ยอ้าง ทั้งการยกตัวอย่าง ตัวละครอาลิซา เธอเลือกเข้าประตูแคบ ก็เพื่อหวังให้เฌโรม คนรักเข้าไปอยู่กับเธอด้วย รวมถึงความคิดสุดโต่งของเธอโดยเฉพาะการปฏิบัติตามหลักธรรม ที่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าเธอมีความสุขหรือได้อะไรทดแทนในสิ่งนั้นหรือไม่ วิธีคิดแบบนี้อาจเป็นบาปแห่งความจองหองก็ว่าได้
“พระเจ้าผู้หวงแหน ผู้ริบเอาสมบัติของข้าพระองค์ไปแล้ว ฉะนั้น โปรดเข้ายึดครองหัวใจของข้าพระองค์ด้วยเถิด เพราะอารมณ์ร้อนแรงใดๆ ต่างทอดทิ้งหัวใจดวงนี้เสียแล้ว และไม่มีสิ่งใดให้มันสนใจได้อีก ฉะนั้นโปรดช่วยข้าพระองค์ชนะสิ่งที่หลงเหลืออันน่าเศร้าจากชีวิตของข้าพระองค์เองด้วยเถิด ข้าพระองค์อยากหนีไปที่ไหนก็ได้ ที่ซึ่งข้าพระองค์จะไม่พบสิ่งอื่นใดอีกนอกจากพระองค์” (อนุทินของอาลิซา น.179)
ในภาพรวม หากพูดถึงวรรณกรรมฝรั่งเศสแนวสัจนิยมที่ฉายภาพความเป็นมนุษย์ วิเคราะห์ไปถึงแก่นแท้ของตัวละคร โดยใช้เรื่องราวดราม่านำทาง คงจะหลีกหนีไม่พ้นนักเขียนยิ่งใหญ่อย่าง ‘บัลซัค’ (1799-1850) งานปรัชญาผสมผสานจินตนาการก็คงนึกถึง ‘อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี’ (1900-1944) งานของ ‘กุสตาฟ โฟลแบรต์’ (1821-1880) ก็เป็นงานเชิงสัจนิยมที่เจาะลึกลงไปในระดับบุคคล ทั้งมีความเป็นธรรมชาติตามธรรมเนียมของผู้คน หรือแม้แต่ ‘วิกตอร์ อูโก’ (1802-1885) นักเขียนเชิงโรแมนติกการเมือง ที่วางเป้าหมายทางวรรณกรรมไว้สูง
ส่วนวรรณกรรมของ ‘อ็องเดร ฌีด’ จะมีลักษณะฉีกออกไป มีลักษณะสมจริงแต่มีความนอกคอกหรือขบถจากธรรมเนียมปฏิบัติ ทั้งมีลักษณะความเป็นมนุษยนิยม ความเป็นปัจเจกสูง ทั้งวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับที่ปรากฏในเรื่อง ‘ประตูแคบ’ นี้ และแน่นอนว่าคงปรากฏในทั้งเล่ม ‘มโนธรรมกลับด้าน’ (L’Immoraliste) และ ‘เพลงรำลึกบาป’ (La Symphonie Pastorale) ผลงานของฌีดที่จัดพิมพ์ฉบับแปลงานจากภาษาฝรั่งเศส โดยสำนักพิมพ์ อ่าน ๑๐๑ อีกด้วย
*หากคิดถึงเมื่อไร จำไว้ว่าฉันยังอยู่
จะห่างกันเพียงไหน
ฉันจะอยู่ใกล้ แค่เธอเปิดอ่านดู
หากได้อ่าน ประตูแคบ จนจบก็จะเห็นว่า นักเขียนพยายามใช้สัญญะกับเรื่องประตู ทางเข้า ทางออก ทางที่นำไปสู่ความมืดหรือทางสว่าง แต่ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าเป็น ‘กิเลสตัณหา’ ในยุคที่ศาสนาพยายามจะครอบงำจิตใจมนุษย์ แต่กับชีวิตปัจจุบันที่ศาสนาดูไกลห่างจากความคิดความเชื่อผู้คนกว่าเดิม ประตูแคบ อาจอยู่ในสถานะนิยายรักที่ไม่สมหวังดังใจ ที่สุดแล้วนวนิยายเล่มนี้ก็ไม่ได้มีจุดจบที่คู่รักมีชีวิตสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับที่ปรากฏในเรื่องรักสกุลโรแมนติกทั่วไป
แต่กับชีวิตคนรักหนุ่มสาว ‘ประตูแคบ’ บางทีมันเป็นเพียงเรื่องความรักพื้นๆ ของคนทั่วไป ผมคิดถึงคุณ แล้วเพียงเพราะอยากถามต่อว่า รักของคุณมีจริงหรือไม่? เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้านึกถึงเพลง จดหมาย จากปลายปากกา บอย โกสิยพงษ์ ก็ทำให้เข้าใจสัจธรรมในชีวิต ที่เรื่องรักของบางคนไม่สมหวัง ด้วยเหตุในชีวิตหลายอย่าง
“เธอผู้ซึ่งฉันยังคงเรียกว่าน้องชาย แต่ฉันก็รักเกินกว่าฐานะที่เป็นน้องอย่างหาขอบเขตมิได้ กี่ครั้งกี่หนแล้วที่ฉันตะโกนชื่อของเธอด้วยต้นบีช ทุกเย็นช่วงตะวันลับฟ้า ฉันจะออกมาทางประตูสวนผักบานเล็ก แล้วลงมาตามทางเดินซึ่งมีเพียงแสงสลัว เธอคงจะตอบฉันทันที ปรากฏตัวอยู่ตรงนั้น หลังคันดินที่เต็มไปด้วยก้อนหินกรวดอากาศ ซึ่งสายตาของฉันไม่รีรอที่จะเลี้ยวลัดจนเห็นเธอ หรือมิเช่นนั้น ฉันก็คงมองเห็นเธอแต่ไกล นั่งรอฉันอยู่บนม้านั่ง หัวใจของฉันคงไม่สะดุ้ง ตรงกันข้ามทีเดียว ฉันประหลาดใจที่ไม่พบเธอ” (น.176)
เช่นกันกับสิ่งที่อาลิซาทิ้งอนุทินไว้ให้เฌโรม บางสิ่งบางอย่างส่งทอดความทรงจำให้กับคนที่เขาและเธอเคยรักใคร่ ผ่านข้อความที่สลักเสลาไว้ให้กับห้วงเวลานั้น บางวาบคิดแม้เป็นบุคคลไม่นับถือศาสนา เราอาจพูดเรื่องนรกหรือสรวงสวรรค์แบบที่เคยเห็นผ่านตามา แต่สิ่งสำคัญของการพบกัน ในเรื่องรักแม้พบปาฏิหาริย์เพียงสักครั้ง โดยทำตามเจตจำนงหัวใจ ที่ไม่ว่าชีวิตจะร้ายดียังไง สรวงสวรรค์อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญของการไปถึง เพราะหากสุดท้ายในโลกหลังความตายเราจะไม่ได้พบเจอกันในที่ตรงนั้นอีก