“ผมยิงได้แล้ว 5 ประตู แต่หวังว่าคงจะยิงได้มากกว่านี้อีกในอนาคต”
ลิโอเนล เมสซี (Lionel Messi) นักเตะแชมป์โลกชาวอาร์เจนตินาในวัย 35 ปี เคยพูดประโยคข้างต้นไว้ด้วยสีหน้าปีติยินดีปนเขินอาย หลังจากเหมาไปคนเดียว 5 ประตูเมื่อเขาอายุยังน้อย และยังเป็น เด็กชายลีโอขี้อายที่เรียนและเล่นให้กับทีมเยาวชนของโรงเรียนลา มาเซีย (La Masia) ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นโรงเรียน หรือศูนย์ฝึกนักกีฬาเยาวชนแห่งแคว้นกาตาลุนยา (Catalunya) ของสโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา (FC Barcelona) ที่ผลิตนักเตะและกุนซือชื่อดังแห่งวงการลูกหนังออกมานับไม่ถ้วน
เมสซีเข้าเรียนที่ ลา มาเซีย ตอนอายุได้ 13 ปี เด็กตัวเล็กจากเมืองโรซาริโอ ประเทศอาร์เจนตินาเซ็นสัญญากับสโมสรบาร์เซโลนาซึ่งตกลงจะจ่ายค่ารักษาฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่บกพร่องให้ทุกเดือน และฝึกซ้อมอย่างแข็งขัน
เขาทำประตูได้ทั้งหมด 89 ประตูใน 97 แมตช์กับทีมเยาวชน และหลังจากใช้เวลา 4 ปีฝึกวิชาที่ ลา มาเซีย ปี 2009 เมสซีเริ่มเป็นที่รู้จักและได้ทำลายสถิติสารพัดจนทั้งโลกต่างขนานนามว่า เขาคือนักเตะจากต่างดาว รวมทั้งเป็นเจ้าของรางวัลบาลงดอร์ (Ballon d’Or) หรือรางวัลลูกบอลทองคำที่มอบให้นักเตะที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกถึง 8 ครั้ง
ในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ที่เพิ่งปิดฉากไปไม่นาน บาร์เซโลนาส่งนักเตะไปเล่นในทีมชาติต่างๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากเมสซีแล้ว ศิษย์จาก ลา มาเซีย คนอื่นๆ เช่น อันซู ฟาติ (Ansu Fati) จอร์ดี อัลบา (Jordi Alba) ทาเคฟุซะ คุโบะ (Takefusa Kubo) ก็ได้เข้าร่วมทีมชาติของตัวเอง ถือเป็นความสำเร็จของ ลา มาเซีย ที่ผลิตนักเตะเยาวชนจนเติบโตสู่การแข่งขันชิงถ้วยระดับโลก ไม่นับรวมยอดกุนซืออย่าง เปป กวาร์ดิโอลา (Pep Guardiola) แห่งแมนเชสเตอร์ซิตี (Manchester City FC) หรือ ชาบี เอร์นานเดซ (Xavier Hernández) นักเตะผู้เข้าชิงรางวัลบาลงดอร์และกุนซือของบาร์เซโลนาในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็ถือเป็นผลผลิตจาก ลา มาเซีย ด้วยเช่นเดียวกัน
หากเข้าไปในเว็บไซต์ของสโมสรบาร์เซโลนา เราจะเห็นโลโก้ ‘Made in La Masia’ บนภาพนักเตะในสโมสร บ่งบอกว่าเขาจบการศึกษาจากที่นี่ และได้ฝึกฝนต่อกับทีมฟุตบอลบาร์เซโลนา จนประสบความสำเร็จในฐานะนักเตะมืออาชีพ
ลา มาเซีย เป็นศูนย์ฝึกที่มีแนวคิด Accompaniment หรือการพาเด็กนักเรียนเดินไปด้วยกันตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน สอนเยาวชนทั้งในด้านการกีฬา วิชาการ และการจัดการชีวิตส่วนตัว หรือกล่าวโดยสรุป ก็คือการฝึกฝนให้เด็ก ‘ใช้ชีวิต’ ให้เป็น คอนเซปต์ของหลักสูตรยังผนวกเรื่องการสานสัมพันธ์ในสโมสรและการวางรากฐานให้ผู้เรียนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างราบรื่น ไปจนถึงชีวิตหลังเกษียณของนักเรียนผู้เลือกค้าแข้งอย่างจริงจัง
“ผมมาจากเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรอยู่ 30,000 คน ผมคิดว่าผมพอจะเล่นฟุตบอลได้ พอได้มาเรียนที่ ลา มาเซีย ผมก็รู้ว่าผมต้องเรียนรู้เติมเพิ่มอีกมาก และได้รู้ว่าตัวเองอยากจะเติบโตไปเป็นคนแบบไหนจากระยะเวลา 7 ปีที่ผมใช้ชีวิตเรียนที่นั่น” ฮูลิโอ ดิอัซ (Julio Díaz) นักเตะชาวสเปน ศิษย์คนหนึ่งของ ลา มาเซีย กล่าวไว้
ฟุตบอลคือชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเติบโตไปเป็นเมสซี
ฟุตบอลไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่นักเรียนทุกคนที่นี่ล้วนเตะฟุตบอลกันเป็นชีวิตจิตใจ และเล่นฟุตบอลเพื่อชีวิตอย่างแน่นอน เพราะมีตัวอย่างของรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จให้เห็นก่อนหน้ามาแล้วหลายรุ่น
ลา มาเซีย จึงเป็นศูนย์ฝึกที่วางกฎระเบียบเคร่งครัดและเป็นแบบแผนอย่างมาก ฟุตบอลถือเป็นกีฬาระดับโลกและเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ลาลีกา (LaLiga) ก็เป็นลีกใหญ่ในสเปนที่มีบาร์เซโลนาเป็นหนึ่งในทีมตัวเต็งที่ชาวกาตาลันต่างคาดหวังไว้สูง มีโอกาสต่อยอดเป็นนักเตะระดับโลกได้อย่าง เมสซี เซสก์ ฟาเบรกาส (Cesc Fàbregas) อันเดรส อิเนียสตา (Andrés Iniesta) และอื่นๆ อีกมากมาย
นักเตะที่ต้องการเป็นมืออาชีพจึงต้องมีวินัยและฝึกซ้อมตามตารางที่วางไว้ตั้งแต่ยังตัวจิ๋ว ซึ่งหลักสูตรส่วนใหญ่ของ ลา มาเซีย จะเป็นการเรียนหนังสือและการเทรนนิง
“หลายคนคิดว่านักเตะพวกนี้มาเข้าโรงเรียนเพื่อเล่นฟุตบอลอย่างเดียวโดยไม่ต้องเรียนหนังสือ ซึ่งเราก็เตรียมหลักสูตรด้านการกีฬาให้พวกเขาพร้อม แต่ก็ต้องเตรียมอนาคตอีกรูปแบบหนึ่งไว้ด้วย ถ้ากีฬามันไปไม่รอด” การ์ลัส ฟุลเกรา (Carles Folguera) ผู้อำนวยการแห่งศูนย์ศึกษาลา มาเซีย กล่าว
ช่องยูทูปของสโมสรบาร์เซโลนาเคยปล่อยตารางเวลาการเรียนของเด็กในหนึ่งวันไว้ว่า เด็กๆ ต้องตื่นนอนตอน 8 โมงเช้าเพื่อเรียนหนังสือถึงบ่าย 2 โมง มีเวลาพักผ่อนกินข้าวกลางวัน 1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นต้องเรียนหนังสือต่อถึง 5 โมงเย็น หลังจากนั้นเป็นเวลาของลูกกลมๆ ในสนาม พวกเขาต้องเทรนนิงจนถึง 2 ทุ่ม แล้วค่อยพักผ่อนตามอัธยาศัยและเข้านอนตอน 4 ทุ่มครึ่ง (ในยุคก่อนเริ่มตั้งแต่ 7:30 น.)
“ผมไม่ได้โกหกเลยนะ การเรียนนี่เป็นสิ่งที่สุดท้ายที่เราอยากจะทำเลย แต่ถ้าเราไม่ทำคะแนนให้ดี โคชก็จะไม่ให้เราลงเล่นในแมตช์นัดวันเสาร์” ฮูลิโอ ดิอัซ เจ้าเดิมกล่าว
เวลาในการเรียนหนังสือเยอะจนเด็กหลายคนร้องโอดโอย รวมถึงเมสซีด้วย ที่เจ้าตัวเคยบอกว่าเขาไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ และทำได้ดีในวิชาพลศึกษามากกว่า แต่โรงเรียนเชื่อว่าการบ่มเพาะเด็กสักคนให้ไปสู่เส้นทางที่มีการแข่งขันสูงนั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงและมิติทางสังคมและวัฒนธรรมของการใช้ชีวิตให้เป็น
ฟุตบอลไม่ใช่การวิ่งบนสนามสีเขียวอย่างเอาเป็นเอาตาย ยิงประตู แล้วเดินเข้าอุโมงค์ไปเมื่อเกมจบ ดังนั้นความรู้และทักษะในการเล่นฟุตบอลเพียงอย่างเดียวไม่มีทางเพียงพอ
และความรู้ที่มีให้กับนักเตะเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอเช่นกัน
ลา มาเซีย ณ ปัจจุบันจึงผนวกหลักสูตรวิชาการเข้ากับการกีฬา คลี่มันออกมาในเชิงทฤษฎี และสอนสิ่งเหล่านี้ให้กับครอบครัวของนักเตะ โคช และทีมแพทย์เพื่อการพัฒนาที่ควบคู่กันไป เช่น ศูนย์ฝึกได้มีการเซ็นสัญญาร่วมกับสหพันธ์ฟุตบอลแห่งสเปน (Spanish Football Federation) เพื่อป้องกันไม่ให้นักเตะเยาวชนที่ถูกคัดเลือกไปเป็นทีมชาติต้องขาดพร่องด้านทฤษฎีทางวิชาการ และมีคุณครูที่พร้อมวิดีโอคอลช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนไม่ทันตามวาระโอกาสอยู่เสมอ
ศูนย์บริการเพื่อครอบครัวและสิ่งแวดล้อม หรือ The Family and Environment Care Service (SAFE) จึงมีหน้าที่สอน และสรรหาเครื่องมือสำหรับพ่อแม่ในการสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับลูก เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเกมที่เต็มไปด้วยแรงกดดันมหาศาล มีการจัดประชุมกลุ่มพ่อแม่เพื่อถกเถียงเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กทั้งด้านวิชาการและทักษะฝีมือ
ความกลัว ความฝัน ความประหม่า ความกดดัน ประเด็นเหล่านี้จะอยู่ในวงสนทนาร่วมกับการดูแลด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โภชนาการ เวลานอน เวลาตื่น หรือการจัดการเวลาอื่นๆ ในชีวิตของนักเตะ ทุกคนจะได้รับการดูแลด้านโภชนาการและการควบคุมอาหารอย่างจริงจัง
แม้ว่า ลา มาเซีย จะปิดตัวลงในปี 2011 เพราะสถานการณ์ด้านการเงิน และต้องการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย แต่ปัจจุบันก็ได้ย้ายไปในพื้นที่ใหม่ นั่นคือศูนย์ศึกษา La Masia Residence – Oriol Tort Education Center พร้อมทรัพยากรที่ครบครัน ทั้งตึกเรียนทันสมัย 5 ชั้นที่รองรับเยาวชนได้กว่า 83 คน ศูนย์คอมพิวเตอร์ ห้องเรียนรู้ ห้องสมุด พร้อมแล็ปท็อปให้นักเรียนทุกคน และแน่นอนว่ามีสนามฟุตบอลไว้รออยู่แล้ว
เมื่อนักเตะรุ่นเยาว์อายุได้ 16 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะต้องเริ่มฟิตร่างกายและบริบทชีวิตเพื่อแข่งในลีกมืออาชีพ พวกเขาจะต้องเข้าร่วมเวิร์กชอปด้านการสื่อสาร เช่น การพูดในที่สาธารณะ การโต้ตอบกับสื่อมวลชนเมื่อมีงานแถลงข่าว การสัมภาษณ์หลังจบเกม และการจัดการความสัมพันธ์กับสื่อเบื้องต้น
นอกจากนั้น ‘ชีวิต’ ที่ว่าก็คือเรื่องเงินๆ ทองๆ ด้วยเช่นกัน พวกเขาต้องเรียนรู้ที่จะจัดการเรื่องเงิน การตลาด และการโฆษณา ซึ่งเป็นหลักสำคัญ 3 ด้านในการสร้างแบรนด์หรือตัวตนของตัวเองไปพร้อมๆ กับการเล่นฟุตบอลในสโมสร
“เรามีความสุขเสมอที่ได้เจอเด็กที่จบไปแล้วกลับมาเทรนกับเราอีกครั้ง ผมอยากให้พวกเขาสนุกกับสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะนั่นคือความหมายของกีฬา ถ้าพวกเขาทำงานหนัก ยอมเสียสละ ทุ่มเทเต็มกำลัง พวกเขาก็จะเข้าใจว่าความฝันที่หวังไว้จะเป็นจริงได้” ลีโอเนล เมสซี กล่าว
นักกีฬาของเราจะโดดเด่นแต่ไม่โดดเดี่ยว
ลา มาเซีย แปลว่า โรงนา ในภาษากาตาลัน เพราะศูนย์ฝึกในยุคนั้นมีลักษณะเป็นตึกหินยุคโบราณที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก่อนที่จะได้รับขนานนามว่าเป็นศูนย์ฝึกกีฬาระดับโลก เป็นต้นแบบด้านแผนการเงิน และการคืนผลประโยชน์ทางสังคมให้กับเด็กในท้องถิ่นผ่านการศึกษาอย่างทุกวันนี้ ที่นี่ก็ไม่ได้โดดเด่นนัก ระบบฟุตบอลเยาวชนที่มีก็ไม่ได้ฉายแววจะเป็นศูนย์บ่มเพาะระดับโลกได้ จนกระทั่งบาร์เซโลนาได้ลิ้มรสชัยชนะจากศึกประวัติศาสตร์ที่ชนะถ้วยยูโรเปียนคัพที่เวมบลีในปี 1992
“ชัยชนะครั้งนั้นทำให้วัฒนธรรมและวิธีคิดของสโมสรเปลี่ยนไป พวกเขาชนะถ้วยยูโรเปียนคัพ แต่เป็นการชนะด้วยวิธีการเล่นแบบเฉพาะตัวของผู้เล่นที่มาจาก ลา มาเซีย มันเป็นการเล่นที่มีเอกลักษณ์ และทำให้เราแตกต่างจากสโมสรอื่นๆ” คาร์ลอส ฮิวโก การ์เซีย บายอน (Carlos Hugo Garcia Bayon) อดีตผู้ช่วยโคชทีมบาร์ซา บี กล่าว
ลา มาเซีย เปล่งประกายได้อย่างแท้จริงในช่วงปี 2003-2019 ที่นักเตะหลายคนรวมทั้ง เมสซี อิเนียสตา และฟาเบรกาส เฉิดฉายอยู่ในสนาม บาร์เซโลนาได้เข้าชิงแทบจะทุกลีกในปี 2019 และในปี 2010 เมสซี อินเนียสตา และชาบี คือผลผลิตจาก ลา มาเซีย ที่ได้เข้าชิงรางวัลบัลลงดอร์พร้อมกันทั้งสามคนในปีเดียวกัน แถมในปี 2012 ยังมีเกมที่บาร์เซโลนากวาดชัยชนะจากทีมเลบันเต (Levante UD) ด้วยฝีเท้าของผู้เล่นทั้ง 11 คน ที่มาจากโรงเรียนลา มาเซีย
ลา มาเซีย เองก็ไม่ใช่โรงเรียนที่เพอร์เฟกต์หมดจด อย่างที่เมสซีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ ว่าวัฒนธรรมความคิดของเยาวชนเองก็ปรับเปลี่ยนไปตามปรัชญาของศูนย์ฝึกฯ ที่มุ่งให้นักเตะเห็นความสำคัญของการไปต่อกับทีมในระยะยาว และหลังจากยุคสมัยของกุนซือเปป กวาร์ดิโอลา ลา มาเซีย ก็เหมือนจะดิ่งลงเหว เพราะมีการเปลี่ยนประธานสโมสร
บาร์เซโลนาลงทุนกับนักเตะต่างชาติดาวรุ่งค่อนข้างมาก จนทำให้ขาดการบ่มเพาะเยาวชนในท้องที่ ปรัชญาถูกบิดไปมากจน ลา มาเซีย ผลิตนักเตะที่เป็นเพชรมากพอที่จะเข้าทีมชุดใหญ่ไม่ทัน เหตุผลหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ในแง่มุมทางเศรษฐกิจ การปลุกปั้นนักเตะเองนั้นเป็นการรวบรัดตัดตอน เพื่อให้ไม่ต้องจ่ายค่าตัวนักบอลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แต่นั่นก็หมายความว่าการบริหารงานและปรัชญาภายในก็ต้องเข้มแข็งทันยุคสมัย
“เราเห็นว่ามีผู้เล่นสำคัญๆ ที่ออกจากสถาบันไปเล่นให้กับทีมอื่น น่าแปลกใจที่พวกเขาออกจากสโมสรยักษ์ใหญ่ไปเล่นให้กับทีมเล็ก เพราะมองเห็นโอกาสมากกว่า พวกเขายังเด็กมากและไม่ต้องการรอคอย มีทีมในประเทศอังกฤษและเยอรมันที่เด็กมีโอกาสได้ลงเล่นกับทีมชุดใหญ่ (First Team) ตั้งแต่อายุ 16 ปี”
ระหว่างทางอาจมีนักเรียนที่ต้องยอมแพ้ เพราะความสามารถยังไม่ถึงระดับที่จะไปต่อได้ สำหรับฟุตบอลมันมากกว่าการซ้ำชั้น เด็กๆ จึงต้องแบกความกดดันอันมหาศาลเอาไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ชัยชนะนั้นสำคัญ แต่เกมฟุตบอลย่อมมีแพ้มีชนะ ดังนั้นวิธีการที่จะได้รับชัยชนะ และวิธีการจัดการกับความพ่ายแพ้ที่ต้องเกิดขึ้นในสักวันก็สำคัญไม่แพ้กัน ลา มาเซีย จึงพยายามให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ (Human Sensory) และระหว่างเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้เด็กๆ ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้อย่างสงบ และไม่กดดันให้ตัวเองต้องชนะอยู่ตลอดเวลา นักเตะทุกคนได้ปรึกษาทีมดูแลนักกีฬาอย่างเต็มรูปแบบ (Comprehensive Athlete Care Service) โดยต้องเข้ารับการสัมภาษณ์กับนักจิตวิทยาร่วมกับครอบครัว และในระหว่างการฝึกฝนสามารถขอความสนับสนุนด้านจิตวิทยาได้เสมอ
ในทุกๆ ปี นักเรียนจะได้ศึกษาเรื่องสภาวะทางอารมณ์ (Emotional Education) เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อใจ ความสัมพันธ์ และความรับผิดชอบ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันประหนึ่งครอบครัว พวกเขาจะได้มองเห็นว่าตัวเองไต่ไปตามเส้นทางในฐานะนักกีฬาอาชีพ หรือในฐานะปัจเจกบุคคลได้อย่างไร ที่สำคัญคือหลักสูตรนี้ยังมีไว้เพื่อโคช ที่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมและทัศนคติของนักเตะ ทำความเข้าใจพวกเขาให้ดีขึ้นอีกด้วย
“บรรยากาศในห้องแต่งตัวก็ดี มีแต่ความมั่นใจเต็มเปี่ยม เราสามารถช่วยเหลือกันไม่ใช่แค่ในฐานะเพื่อนร่วมทีม แต่ในฐานะเพื่อนด้วย คุณจะเห็นได้จากในสนามว่าถ้าทีมเราเจอปัญหาเข้า เราจะร่วมกันต่อสู้เพื่อชัยชนะ” เคราร์ด ปิเก (Gerard Piqué) อดีตกองหลังที่เป็นหนึ่งในลูกรักของ ลา มาเซีย กล่าว
“คำถามคือเราจะยิงได้กี่ประตูมากกว่า ผมจะชอบพนันกับเมสซีว่าใครจะยิงประตูได้มากกว่ากันในแต่ละเกม ปิเก และฟาเบรกาสเองก็จะชอบขัดขากันเองเพื่อแข่งกันด้วย มันเป็นวิธีที่ทำให้เราเล่นเกมได้อย่างมีไฟ” วิคเตอร์ วาซเกซ (Víctor Vázquez) อดีตผู้เล่นของบาร์เซโลนากล่าว
เมสซีเป็นหนึ่งในนักเตะที่รับปรัชญานี้มาอย่างชัดเจน เพราะเขามีแรงขับที่จะต้องชนะทุกอย่างในจักรวาลของฟุตบอล และเชื่อมั่นว่าความเป็นทีมเวิร์กนี่แหละที่เป็นกุญแจสำคัญ
“พ่อแม่ให้สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดของพวกเขากับเรา นั่นก็คือลูกของเขา ในช่วงอายุที่เปราะบาง ดังนั้นมันจึงสำคัญที่เราจะสอนให้เขารู้จักถึงคุณค่าของความพยายามและการนอบน้อม ทักษะอย่างเดียวไปไม่รอด คุณต้องมีความถ่อมตัวและเป็นคนธรรมดาสามัญ ที่จุดหนึ่งครอบครัวจะยืดอกได้อย่างภาคภูมิ” การ์ลัส ฟุลเกราเล่า
ไม่มีเด็กคนไหนที่จะ “ล้ำหน้า” หรือมีผู้ใหญ่คนไหนที่ถูกทิ้ง
No Child Offside เป็นแนวคิดที่อยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิบาร์เซโลนา ซึ่งเล่นกับความหมายที่ว่า จะไม่ปล่อยเด็กคนไหนให้ล้ำหน้า
สโมสรบาร์เซโลนาตั้งมูลนิธิพร้อมโปรแกรมช่วยเหลือเด็กๆ ที่ค่อนข้างละเอียดและแข็งแรง สร้างกฎเกณฑ์ในการคุ้มครองและรักษาสิทธิของเยาวชนมากมายหลายสิบข้อ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการคุ้มครองเด็กในทุกๆ สภาพแวดล้อม การป้องกันเด็กไม่ให้ถูกคุกคาม หรือการเปิดเผยเอกสารเพื่อความโปร่งใสและความชอบธรรมในการทำงานกับเด็กๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานักบอลหญิง มีโปรแกรมเพื่อนหญิงพลังหญิงมากมาย และยังมีโครงการที่น่าสนใจให้ประชากรกลุ่มชายขอบ เช่น มีการเปิดรับเยาวชนที่เป็นผู้ลี้ภัยใน กาตาลุนยา กรีซ อิตาลี และเลบานอน เพื่อฝึกฝนและปรับสภาวะด้านอารมณ์ของพวกเขาให้ดีขึ้นเพราะผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่สองยังคงคุกรุ่น
การทำงานด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน (Community Action) ที่มูลนิธิบาร์เซโลนาเดินเครื่องมีทั้งโครงการฝึกทักษะฟุตบอลให้กับทัณฑสถานหญิงเพื่อช่วยหาแนวทางอาชีพ ค้นหาศักยภาพ และสูบลมพลังในฐานะผู้หญิงให้ไปต่อได้ในอนาคต หรือร่วมมือกับศูนย์ความยุติธรรมเพื่อเยาวชน (Juvenile Justice Center) 3 แห่งเพื่อสอนให้ผู้ต้องขังเยาวชนจัดการกับทักษะทางสังคมได้ดีขึ้น และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาให้ร่วมออกแบบและร่วมมือกับโปรเจกต์นี้ไปด้วยกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่น่ายินดีคือมีผู้เข้าร่วมถึงร้อยละ 88 ที่มีพัฒนาการการควบคุมตนเองและเคารพผู้อื่นมากขึ้น
ลา มาเซีย เองก็เป็นศูนย์ฝึกในสโมสรที่โดดเด่นในการจัดให้นักเรียนได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนกับประชาชนกลุ่มเปราะบาง เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาทางอารมณ์ของนักเตะ โดยมีแคมเปญ The Masía Solidaria Project ที่ร่วมมือกับมูลนิธิฯ เช่น การไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคทางประสาทร้ายแรง เพื่อฝึกให้มีอารมณ์ร่วมทางสังคม เห็นโลกแห่งความเป็นจริง ไม่นิ่งนอนใจต่อความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในสังคม และมีความคิดเชิงวิพากษ์ที่สามารถสะท้อนสถานการณ์ในสังคมได้
“Mes Que Un Club” เป็นมากกว่าสโมสร
“ลา มาเซีย ไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียนสอนฟุตบอล แต่ยังเป็นโรงเรียนที่สอนคุณค่า โรงเรียนแห่งชีวิต” ชาบี อดีตนักเตะผู้เข้าชิงตำแหน่งบาลงดอร์ และกุนซือของทีมบาร์เซโลนาในปัจจุบันกล่าว
“การแขวนสตั๊ด” เป็นอีกหนึ่งในเส้นทางที่นักเตะทุกคนรู้ดีว่าวันหนึ่งก็ต้องมาถึง ลา มาเซีย จึงสอดแทรกหลักสูตรนี้เข้าไปในการเรียนการสอนด้วยเพื่อฝึกให้เด็กเข้าใจว่าต้องจัดการวางแผนการเกษียณอายุอย่างไรได้บ้าง มีนักเตะมืออาชีพที่จะมาร่วมสอนให้พวกลองเรียนรู้ที่จะยอมรับสถานการณ์ และเริ่มชีวิตใหม่ของตัวเองนอกสนามหญ้าสีเขียว วางลูกกลมๆ ไว้และมองมันด้วยความภาคภูมิใจ
นอกจากการทำงานกับตัวเยาวชนเอง สโมสรมีการช่วยวางแผนอาชีพและโปรแกรมในการทำงานร่วมกันกับสโมสรต่อไป และทำงานกับอุตสาหกรรมแรงงานภายนอก เพื่อให้ความรู้ว่าการทำงานกับนักเตะที่เกษียณแล้วเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไรบ้าง
“ผมเป็นผมได้ทุกวันนี้ก็เพราะ ลา มาเซีย”
ครั้งหนึ่ง ลิโอเนล เมสซี เคยกล่าวไว้ แม้ว่าในตอนนี้เขาจะไม่ได้เล่นกับทีมบาร์เซโลนาอีกต่อไปแล้ว และก่อนหน้านี้ เมสซีก็เคยลั่นไว้ว่าเขาคงจะเล่นกับทีมต่อไปเรื่อยๆ และจะออกเมื่่อทีมเตะเขาออกเท่านั้น เมสซีจึงเป็นหนึ่งในผลผลิตจาก ลา มาเซีย ที่โลกยอมรับว่าเขาเป็นผู้เล่นระดับโลกที่มี Mentality หรือความคิดที่น่าเคารพนับถือ ถ่อมตน รักการแข่งขันเข้าไส้ และเห็นว่าสโมสรเป็นทุกอย่าง ฟุตบอลไม่ได้เป็นเพียงแค่เกม แต่คือความพยายามกับครอบครัวเพื่อชัยชนะ
การเคารพ พยายาม นอบน้อม ทีมเวิร์ก และความทะเยอทะยาน คือปรัชญาหลักของทีมบาร์เซโลนาและเป็นสิ่งที่ ลา มาเซีย สอนและบอกกับเด็กๆ ที่ได้เข้ามาเรียนว่าทุกคนได้รับโอกาสเพื่อจะก้าวไปเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพหากคุณฝึกซ้อมหนัก และใจแข็งมากพอที่จะผ่านความหฤโหดของวงการค้าแข้งที่มีทั้งการเมือง คู่แข่งทักษะที่เป็นเลิศ ความคาดหวังของประชาชน การบริหารความกดดันทั้งในและนอกสนาม
“Mes Que Un Club” ปรัชญาของทีมบาร์เซโลนาแปลได้ว่า “เป็นมากกว่าสโมสร” และที่เหนือไปกว่าศูนย์ฝึกและทีม ชาวกาตาลันในท้องที่ต่างรับรู้ถึงคุณค่านี้เป็นอย่างดี เพราะมันเปรียบเสมือนตัวแทนของสถาบันที่สะท้อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษา และรูปแบบการปกครองที่เป็นอิสระชัดเจนจากประเทศสเปนของแคว้นกาตาลุนยา
ลา มาเซีย ต้องเจอกับบททดสอบอีกมากและการปรับตัวเพื่อวางรากฐานของนักเตะที่เล่นในแคว้นกาตาลุนยาอย่างทรงภาคภูมิ ประสบการณ์ที่ผ่านมามีทั้งยุคทองของการเจียระไนเพชรและยุคล่มสลาย ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นมาใหม่อย่างทุกวันนี้ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่จะยังคงอยู่คือ นักเตะจิ๋วทั่วโลกที่ฝันอยากจะเป็นเมสซีหรือนักเตะในดวงใจคนไหนก็ตาม ได้เห็นตัวอย่างของโรงเรียนที่พวกเขาสามารถมีโอกาสเติบโตไปเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ
หลายคนอาจจะมีโอกาสได้หลุดพ้นออกจากวิถีชีวิตที่ยากลำบากโดยไม่ลืมว่ามันอาจจะมีวันที่พวกเขาต้องร้องไห้หนักเหมือนที่เมสซีเคยร้องไห้ทุกวันหลังจากที่ห่างบ้านมาอยู่ที่โรงเรียนตอนเด็กๆ ยิ้มและหัวเราะหนักเมื่อได้ลงเล่น ได้คว้าแชมป์ และอาจจะต้องกลับมาร้องไห้อีกรอบ
แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาจะได้เดินทาง ฝ่าอุปสรรค สร้างคุณค่าของตัวตนในฐานะนักฟุตบอล ลูกชาย ลูกสาว พ่อ แม่ หรือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความสุขเพราะกีฬาฟุตบอล
ที่มา
บทความ “Barcelona’s Generation ’87: When Messi, Cesc and Pique killed the competition at La Masia” จาก fourfourtwo.com (Online)
บทความ “La Masia: A Hollow Shell Of A Formerly Great Institution” จาก historyofsoccer.info (Online)
บทความ “La Masia” จาก fcbarcelona.com (Online)
บทความ “Lionel Messi at Barcelona: From La Masia days to wanting to leave, looking back at two epic decades” จาก scroll.in (Online)
บทความ “The Catalan Way to Grow Players on Home Soil” จาก nytimes.com (Online)
บทความ “The match that changed football” จาก edition.cnn.com (Online)
บทความ “What is La Masia? Barcelona’s famous youth academy & the star players it produced” จาก goal.com (Online)
Cover Photo : FC Barcelona