จำได้ไหมว่าความคิดที่ผุดขึ้นหลังจากเห็นหนังสือแนะนำการพักผ่อนอย่างมีผลิตภาพหรือ Productive คืออะไร?
สำหรับผม “เดี๋ยวๆๆ ขนาดจะพักผ่อนยังต้อง Productive ด้วยเหรอ” หลังจากนั้นก็มีหนังสือฮาวทูแนะนำวิธีการพักผ่อนออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแบบพักผ่อนเพื่อ Productive และพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถึงที่สุดแล้วคำแนะนำการพักผ่อนทั้งสองแบบก็มีจุดบรรจบร่วมกันที่ความ Productive เมื่อคุณกลับไปทำงาน
การทำงานมากเกินไปกำลังเป็นปัญหาไปทั่วโลก ทั้งที่ไม่กี่ร้อยปีก่อนหน้ามันเป็นบาปที่ต้องหลีกเลี่ยง รัฐบาลหลายประเทศเริ่มออกกฎหมายไม่ให้นายจ้างตามตัวหรือติดต่อลูกจ้างเรื่องงานในวันหยุด ขณะที่กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ก็เผชิญการทำงานมากเกินไปจากแรงกดดันของสถานะทางเศรษฐกิจ
มีหนังสือจำนวนมากอีกเช่นกัน วิเคราะห์ให้เห็นกลไกน่าขนลุกของระบบทุนนิยมที่บีบคั้นให้มนุษย์เศรษฐกิจไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้ มันทำงานไปถึงระดับจิตสำนึก ขนาดว่าถ้าคุณขี้เกียจ ไม่ทำงาน นั่งเฉยๆ เหม่อมองท้องฟ้า และคิดเรื่อยเปื่อย คุณจะรู้สึกผิดโดยไม่ต้องมีใครเตือน
แต่ยิ่งมนุษย์จมลึกกับงานมากเท่าไหร่ ‘เกาะแห่งเวลาที่เสียไป’ (L’isola del tempo perso) ก็ยิ่งถึงกาลล่มสลายเร็วมากขึ้นเท่านั้น
ใครบ้างล่ะที่สามารถไปยังเกาะแห่งเวลาที่เสียไปได้ ส่วนใหญ่มักเป็นเด็ก นั่นเพราะเด็กหลงทางมากกว่าผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ก็มักไม่ยอมให้ชีวิตหลงทางเสียบ้าง พอหลงทางปุ๊บ พวกเธอและเขาจะลอยล่องมาที่เกาะแห่งนี้ ไม่ใช่แค่มนุษย์ ยังมีสัตว์เลี้ยง ข้าวของเครื่องใช้สารพัดที่เราทำหายบ่อยๆ
ปากกาด้ามนั้นฉันไปวางไว้ที่ไหน สมุดโน้ตล่ะ ฉันลืมร่มเมื่อไหร่กัน ฯลฯ ถ้าคุณหาของจุกจิกพวกนี้ไม่เจอ แสดงว่าคุณทำมันหลงทาง แล้วพวกมันก็ไปโผล่ที่เกาะแห่งเวลาที่เสียไป
รวมถึง ‘เวลา’ ด้วย
เกาะแห่งเวลาที่เสียไป ดำรงอยู่ได้จากเวลาที่มนุษย์ใช้ไปกับการขี้เกียจ ใจลอย เดินเรื่อยเปื่อย นอนกลิ้งไปมาบนที่นอน จิบชาอุ่นๆ โดยไม่ทำอะไร มองหมานอนหลับ นั่งคุยกับปลาทอง และอีกมากมาย
ในมุมกลับ เวลาประเภทที่เป็นภัยกับเกาะ ถูกเรียกว่า ‘เวลาดำ’
เวลาดำคือเวลาที่เราเอาแต่ทำงาน ทำงาน และทำงาน ชีวิตวุ่นวายตลอดเวลา ทำนั่นทำนี่ไม่รู้จบ ขนาดจะขี้เกียจนิดๆ หน่อยๆ ก็ทำไม่ได้ เวลาแบบนี้จะสันดาปเป็นเวลาดำ เป็นควันดำๆ พวยพุ่งบนเกาะ ถ้าสูดควันเหล่านี้มากเกินไป คุณจะกลายเป็นมนุษย์กินคน
ซิลวานา กันดอลฟี (Silvana Gandolfi) ผู้ปั้นแต่งเรื่องราวของเกาะแห่งนี้ออกมาเป็นวรรณกรรมเยาวชน เป็นคนที่มีจินตนาการเปี่ยมวิสัยทัศน์ ผมเชื่อว่าเธอกังวลรนร้อนใจว่าเกาะแห่งเวลาที่เสียไปจะเสียหายเกินกู้คืน จึงต้องบอกให้ชาวโลกรับรู้
หลังจากอ่านจบ ผมสำรวจชีวิตตนเองและได้เรียนรู้อย่างขมขื่นว่า ทุกวันนี้แม้แต่การขี้เกียจก็ยังต้องฝึกฝน โดยสภาพเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และจิตสำนึก ปิดล้อมเราไว้ทุกทางมิให้บรรลุถึงศักยภาพในการอยู่เฉยๆ
อาการคลั่งไคล้ Productive เป็นภาพสะท้อนของเวลาดำ และยังสะท้อนความรู้สึกไม่มั่นคงที่เรามีต่อชีวิต เราไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะยังมีงานทำหรือไม่ จะเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ จะมีค่าเทอมลูกหรือเปล่า บัญชีในธนาคารจะถูกแฮ็กไหม เราจึงโหมให้กับวันนี้เพื่อประคองความเปราะบางของวันพรุ่งนี้เอาไว้
คิดเล่นๆ ว่าเรามีคอร์สสอนทำโน่นนี่นั่นมากมาย แต่ไม่มีคอร์สสอนการขี้เกียจหรืออยู่เฉยๆ เลย ถ้ามีใครสักคนเปิดสอนจะเป็นยังไงนะ
เบลส ปาสคาล นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส กล่าวประโยคที่มีชื่อเสียงประโยคหนึ่งว่า “ปัญหาของมวลมนุษยชาติ เริ่มจากการที่มนุษย์ไม่มีความสามารถนั่งเงียบๆ ในห้องตามลำพัง”
ลองหาเวลาให้ตัวเองสัก 5 นาที นอนเหม่อมองเพดาน ปล่อยใจล่องลอยไปกับมวลอากาศ… ใช่ๆ ผมรู้ ชีวิตจริงไม่ได้โรแมนติกขนาดนั้น การอยู่เฉยๆ ทำตัวชิลล์ๆ ตามสบาย ไม่เร่งรีบ ถูกแต่งแต้มสีสันเกินจริง และฉกชิงความหมายไปมากโดยผู้มีอันจะกิน ก่อนจะใส่ชื่อให้มันว่าเป็นไลฟ์สไตล์อะไรสักอย่าง
และเพราะอย่างนั้น การฝึกขี้เกียจ ไม่ทำอะไรเลย จึงเป็นการแสดงออกของการช่วงชิงมันกลับมา พร้อมกับดื้อดึงต่อระบบอันหยาบคายนี้
ฝึกขี้เกียจกันเถอะ อย่าปล่อยให้เกาะแห่งเวลาที่เสียไปล่มสลาย