การเขียนโค้ดดิ้งไม่ใช่ความรู้ระดับสูงที่สอนในมหาวิทยาลัยอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แต่เป็นศาสตร์ที่สามารถออกแบบให้ง่ายและสนุก สำหรับเริ่มต้นเรียนรู้ได้ตั้งแต่ปฐมวัย ในประเทศเดนมาร์กมีการคิดค้นหุ่นยนต์จิ๋วขนาดใกล้เคียงกับกล่องนม ที่ช่วยให้เด็กๆ อายุตั้งแต่ 4-10 ขวบ เรียนรู้วิทยาการคำนวณซึ่งเป็นพื้นฐานทักษะดิจิทัล โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องคอมพิวเตอร์หรือหน้าจออุปกรณ์ใดๆ
สื่อการเรียนรู้นี้คล้ายเกมกระดาน ประกอบด้วย หุ่นยนต์ชื่อ ‘KUBO’ ที่มีขนาด 85 ×55 มิลลิเมตร แผนที่จำลองถนนหนทางในเมือง และการ์ดคำสั่งต่างๆ เช่น ตรงไป เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา วนซ้ำ เริ่มคำสั่ง จบคำสั่ง และตัวเลข ฯลฯ หากเด็กอยากให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปทางไหน ก็จะต้องป้อนคำสั่งโดยนำการ์ดมาเรียงต่อกันเป็นแถว จากนั้นเปิดหุ่นยนต์ให้จดจำคำสั่งนั้น มันก็จะสามารถโลดแล่นไปบนแผนที่ตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้
หากพบว่าหุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปผิดทางก็สามารถแก้ไขได้ทันที โดยการเรียงการ์ดคำสั่งใหม่ นี่จึงเป็นการเล่นสนุกที่ไม่ได้มุ่งไปสู่ความสมบูรณ์แบบหรือชัยชนะใดๆ แต่เปิดโอกาสสำหรับการลองผิดลองถูก เพื่อหาทางออกที่สร้างสรรค์กว่าเดิม
แผนที่สามารถถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้มีเรื่องราวที่ไม่จำเจ โดยสามารถดาวน์โหลดและออกแบบแผนที่ในเว็บไซต์ เช่น เส้นทางไปงานปาร์ตี้ เส้นทางล่าสัตว์ประหลาด เส้นทางผจญภัยของซูเปอร์ฮีโร่ เส้นทางตามหาขุมสมบัติ หรือแม้กระทั่งใช้หุ่นยนต์เป็นสื่อบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง
นวัตกรรมนี้ เป็นผลงานของเดเนียล ลินเดอการ์ด (Daniel Lindegaard) ผู้เรียนรู้การเขียนโค้ดดิ้งเองตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เขาได้ออกแบบหุ่นยนต์ที่สนับสนุนการเรียนรู้โค้ดดิ้งเป็นโปรเจกต์ระดับปริญญาโทเมื่อปี 2015 ต่อมาได้นำมาพัฒนาจนเกิดเป็น KUBO ซึ่งมีการนำไปใช้ในโรงเรียนหลายแห่งทั้งที่เดนมาร์กและสวีเดน และมีเด็กๆ กว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่ได้เรียนรู้โค้ดดิ้งกับหุ่นยนต์ตัวนี้
ปัจจุบัน การเรียนโค้ดดิ้งโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์หรือ Unplugged Coding เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับว่า สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กระดับปฐมวัย เนื่องจากการเรียนรู้ของเด็กในวัยนี้อิงอยู่กับประสาทสัมผัสและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่อยู่รอบตัว รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สื่อที่สามารถนำมาใช้ เช่น บัตรคำ ปริศนา เกมกระดาน หรืออาจจะประยุกต์กับการเล่นกลางแจ้ง ทักษะที่เด็กๆ จะได้รับ เช่น การแยกย่อยปัญหา การจดจำรูปแบบ การคิดเชิงนามธรรม และการทำงานตามลำดับขั้นตอน (Algorithm)
ครูหรือผู้ปกครองที่สนใจการสอนโค้ดดิ้งโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ สามารถศึกษารายละเอียดเบื้องต้นจากแพลตฟอร์ม Coding Thailand ซึ่งจะลิงก์ไปยังเนื้อหาและคู่มือของ code.org นอกจากนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กำลังออกแบบคู่มือการสอนโค้ดดิ้งแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียน ป.1-3 ให้ครูนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม
ที่มา
เว็บไซต์ KUBO Education (Online)
บทความ “Kubo Robotics” จาก hundred.org (Online)
บทความ ““ครูกัลยา” ชูนโยบาย Coding For All คือ ทางรอดสู้ทุกวิกฤต ผนึกกำลังเดินหน้านโยบาย เร่งกระจายสู่ทุกภาคส่วน” จาก moe360.blog (Online)
บทความ “CS Unplugged เรียน Coding โดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์” จาก starfishlabz.com (Online)