เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในแวดวงสิ่งพิมพ์ ความรุ่งเรืองหนึ่งที่นักอ่านรุ่นหลังอาจนึกไม่ถึง คือบรรดาหนังสือสูตรอาหาร ตำราว่าด้วย ‘ปากะศิลป์การครัว’ และนิตยสารอาหารที่กินพื้นที่ส่วนหนึ่งของแผงได้อย่างองอาจ
และถ้าได้ลองสำรวจปากคำของนักอ่านรุ่นเก๋า เชื่อว่าส่วนหนึ่งจะต้องนึกถึงนิตยสาร ครัว และตำราอาหารจากสำนักพิมพ์ แสงแดด มาเป็นอันดับต้น ด้วย ‘วิธีคิด’ และ ‘วิธีทำงาน’ อย่างนิตยสารครัว เป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่เปลี่ยนหน้าที่ของตำราอาหารให้ต่างไปจากที่เคย โดยมี นิดดา หงษ์วิวัฒน์ หรือ ป้านิดดา ของเหล่านักอ่านขาประจำ และคู่ชีวิต ศาสตราจารย์ ดร.ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ เป็นสองสามีภรรยาผู้ก่อตั้งนิตยสารที่ว่าด้วยความสุขในทุกครัวเรือนเล่มนี้
นิตยสารที่ว่านี้ ไม่ใช่นิตยสารหน้าปกมินิมอลสีขาวสะอาดสำหรับวางประดับร้านกาแฟ แต่เป็นนิตยสารที่มีภาพเมนูสามัญอยู่บนปก เช่น ขนมจีนน้ำพริก ขันโตกล้านนา หรือ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยในห่อใบตอง ภายในอัดแน่นไปด้วยสูตรอาหารตำรับชาวบ้าน วิถีการหาอยู่หากินเฉพาะถิ่น รวมไปถึงร้านเด็ดรสมือดีจากชุมชนต่างๆ
นิตยสารครัวและสำนักพิมพ์แสงแดด ก่อตั้งโดย นิดดา หงษ์วิวัฒน์ ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำนิตยสาร M&C แม่และเด็ก สำนักพิมพ์ เมืองโบราณ และ สำนักพิมพ์ ปลาตะเพียน และสื่ออีกหลายต่อหลายชื่อ ร่วมกับแรงสนับสนุนจากคู่ชีวิต ศาสตราจารย์ ดร.ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ อดีตอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ซึ่งวางมือจากงานวิชาการมาลงแรงกับโลกของนิตยสารและสิ่งพิมพ์ด้านอาหารในภายหลังเพื่อเป็นการบันทึกการเปลี่ยนผ่านของตำราอาหาร จากยุคหน้ากระดาษสู่ยุคหน้าจอ ก็คงไม่มีอะไรจะเหมาะไปกว่าการบันทึกสุ้มเสียงของผู้ก่อตั้งทั้งสองท่านนี้
หนังสืออาหาร ตำราอาหาร ในยุคก่อนที่จะเริ่มทำสำนักพิมพ์แสงแดด
ในยุคที่ตำราอาหารถือเป็นหนังสือยอดนิยมที่สร้างเงินและสร้างเกียรติได้อย่างยิ่งยวด การเกิดขึ้นของสำนักพิมพ์แสงแดดและนิตยสารครัว กลายเป็นหมุดหมายหนึ่งที่พลิกเรื่องอาหารจากตำราที่ระลึกประจำวังให้กลายเป็นหนังสือลำลองติดบ้านได้ในเวลาไม่นาน
ทวีทอง: ก่อนหน้านี้ หนังสืออาหารจะมาจากในรั้วในวัง เสร็จแล้วมาตอนหลังความนิยมมันก็ออกมาสู่ประชาชน ครอบครัวที่มีฐานะหน่อยก็จะพิมพ์สูตรอาหารที่แม่เขาเคยทำ เคยบันทึกเอาไว้ ตำราอาหารสมัยเก่าจะถูกพิมพ์ออกมาแจกจ่ายในงานศพบ้าง วันเกิดบ้าง ตอนหลังมาก็เริ่มมีสำนักพิมพ์มารวบรวมเป็นเล่มไว้
ถ้าถามว่าก่อนหน้านี้มันมีนิตยสารอาหาร มีตำราอาหารมาก่อนไหม มันก็มี เพียงแต่ว่ามันเป็นแบบเก่า มันมีฟังก์ชันบางอย่างของมัน ที่เราเริ่มทำ หรือก่อนหน้าที่เราทำประมาณ 5-6 ปี หนังสือตำราอาหารแบบใหม่มันกำลังได้รับความนิยม
นิดดา: สมัยก่อนจะมีพวกปากะศิลป์ เป็นหนังสืออาหารทั่วไปที่เป็นตำราโบราณ แล้วก็มี แม่บ้าน แล้วต่อมาก็มี แม่บ้านทันสมัย ที่เน้นเรื่องสูตรอาหารหรือความรู้เรื่องคหกรรมอีก
บรรยากาศตอนนั้น หนังสือส่วนใหญ่จะเป็นทาง non-fiction อื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร อาหารยังไม่โดดเด่นป้าเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์เมืองโบราณก่อน แล้วป้าเป็นนักทำบันทึก ป้าเห็นว่าเขาเป็นโบราณคดี มันเลยจำกัดมากเลย ตอนหลังป้าเลยขออนุญาตเปิดสำนักพิมพ์ปลาตะเพียนขึ้นมา เพื่อจะได้มีอิสระในการทำหนังสือ ได้ทำหนังสือเด็ก ทำอะไรอื่นๆ เพื่อจะหาตลาด
เสร็จแล้วป้าก็จับมือ อาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ ทำหนังสือเรื่องแป้งสาลีและขนม พอออกไปแล้วมันดี เรารู้แล้วว่าผลตอบรับดีกว่าอย่างอื่น ทำอยู่ที่นั่น 6 ปี แล้วก็ท้องแฝด ตอนท้องไม่ได้ทำงานเลยลาออกมา พอคลอดเขาเสร็จก็มาเปิดสำนักพิมพ์แสงแดดเลย
รุ่งอรุณของแสงแดด
นักอ่านรุ่นใหญ่หลายคนอาจประหลาดใจ หากได้รู้ว่าป้านิดดาใช้เวลาอยู่ในห้องครัวน้อยกว่าการอยู่ที่โต๊ะบรรณาธิการ ผิดกับภาพลักษณ์ของหนังสือที่ให้น้ำหนักเรื่องการปรุงอาหารเป็นสำคัญ แต่ป้านิดดามองว่าสิ่งสำคัญในการทำหนังสืออาหารไม่ใช่การทำอาหารเก่ง แต่ต้องเข้าใจอาหาร และเข้าใจการบริหารธุรกิจหนังสือต่างหาก
นิดดา: ตอนแรกทำหลายอย่าง ทำพ็อกเกตบุ๊กด้วย แต่หลังๆ มาทำหนังสืออาหารเป็นหลัก เพราะอย่างที่บอกว่าป้าเป็นคนทำสถิติทุกอย่าง เลยรู้ว่าเทรนด์หนังสืออาหารมาก่อน ในเมื่อมันขายดี ทำไมไม่ขยายล่ะ (หัวเราะ) เราก็ขยายตำราอาหาร แล้วเราเน้นคุณภาพด้วย เพราะหนังสืออาหารมันเป็นความสุข ถ้าเป็นขาวดำ ทำอาหารมันจะดูอร่อยได้ยังไง เราก็ใช้กระดาษดีๆ และทำปกแข็ง เพราะคนจะเปิดบ่อย ตั้งแต่นั้นมาหนังสือเราก็สวยขึ้นเลย
จนกระทั่งมาถึงปี 2535 เราเห็นนิตยสารหญิงของเพื่อนเขาเปิด เขาใช้เงินทุนสูงมากเลย หลายสิบล้าน ป้าไม่เชื่อว่าทำไมจะแพงขนาดนั้น ป้าก็เอาละ เรามีข้อมูลเยอะทั้งสูตรทั้งรูป ก็เอามาเรียบเรียงใหม่แล้วเปิดเป็นนิตยสารครัว คนก็ไม่เชื่อว่าทำไมถึงชื่อว่า ครัว เขาคิดว่าหรือมันเป็นภาษาฝรั่งเศสไหม แบบครัวซองต์หรือเปล่า ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าเป็นภาษาไทยแท้
เนื่องจากว่าเราใช้ข้อมูลเก่า เพราะฉะนั้นเราขอแจกฟรีก่อน 6 เดือน แต่เราขอโฆษณานะ มีโฆษณาเข้ามา แล้วให้บริษัทใหญ่ๆ มารับหนังสือของเราฟรี คุณจ่ายแต่ค่าไปรษณีย์ให้สมาชิกของคุณ
6 เดือนผ่านไป ประกาศเปิดตัวเลย เปิดนิตยสารครัวอย่างยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่แบบไหนรู้ไหม (หัวเราะ) เวลาเขาจัดงานเปิดตัวเมื่อก่อนเนี่ยมันต้องเป็นแกรนด์ปาร์ตี้ เป็นบอลรูม ป้าว่าเสียเงินโดยใช่เหตุ ป้ากับป้าศรีสมรเอาดอกไม้มาจัด วางโต๊ะ แล้วแถลงข่าวถ่ายรูปกันเอง ส่งไปตามสื่อต่างๆ ครัวก็เกิดตั้งแต่ตอนนั้นมา
คิดอย่างครัว
นอกจากภาพอาหารที่ดูเย้ายวนราวกับจะได้กลิ่นออกมาจากหน้ากระดาษ กระดูกสันหลังอย่างหนึ่งของนิตยสารครัวคือ ข้อมูลที่แม่นยำและมีชีวิต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการทำงานหนัก การลงพื้นที่ และการรักษามาตรฐานตามแบบฉบับของครัว
นิดดา: พอเราเปิดครัวขึ้นมา เวลาเราค้นอะไรเกี่ยวกับอาหารต่างๆ มันย้ากยาก มันต้องไปอ้างอิงของฝรั่ง เราเลยตั้งใจเลยว่าจะทำหนังสือให้เป็นแหล่งอ้างอิง เราตั้งใจค้นคว้า จนมีคนว่า โง้โง่นะสำนักพิมพ์นี้ แค่บทความเรื่องมะละกอ ต้องลงพื้นที่ต้องไปเก็บข้อมูล ไปค้นว่ามะละกอเข้าเมืองไทยมาจากไหนได้อย่างไร เขาบอกว่าแค่เอามะละกอมาถ่ายรูปก็จบแล้ว แต่ทุกครั้งที่เราลงพื้นที่ เราจะได้อะไรใหม่ๆ กลับมาเสมอ
ทวีทอง: คือ ต้องเสริมอย่างนี้ เนื่องจากตอนนั้นจะมีนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผู้หญิง เรื่องความงาม เรื่องแฟชั่นเยอะ นิตยสารพวกนี้เขาไม่ค่อยลงพื้นที่หรอก เพราะเนื้อหาของเขาเป็นเนื้อหาในสตูดิโอ ยุคสมัยนั้นถ้าใครทำนิตยสารแล้วต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล คนก็ยังมองไม่ออก
นิดดา: เราบอกลูกน้องว่าการลงพื้นที่ ใช้คนเยอะ ใช้เงินเยอะ เพราะฉะนั้นที่เราตั้งใจเก็บงานนี้ เราจะไม่ได้จบที่งานนี้ ทุกคนจะต้องแตกงานให้ได้ว่าระหว่างทางเราจะเก็บอะไรได้อีกบ้าง อย่างตอนที่เราลงพื้นที่ในหมู่บ้านยี่สาร (อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม) เราไปทำเรื่องอื่น แต่เราเก็บข้อมูลเรื่องอาหารไทยริมทะเลจนได้หนังสืออีกเล่มหนึ่งเลย เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่ของเราจึงต้องเป็นการลงพื้นที่ที่ลึก แต่ได้มาก
เราอยากทำให้ครัวเป็นนิตยสารที่ทิ้งไม่ลง สมาชิกหลายคนทุกวันนี้เขาเก็บตั้งแต่เล่มหนึ่งจนถึงเล่มสุดท้าย เขาบอกว่าอ่านเมื่อไรก็ได้ เพราะเราไม่ได้ทำหนังสือแบบสักแต่ว่าทำ แล้วหลายครั้งหนังสือครัวกลายเป็นข้อมูลอ้างอิงได้จริงๆ ซึ่งเป็นจุดยืนในการทำงานของเราตั้งแต่ต้น ตอนหลังมาน้ำหนักเรื่องเนื้อหาจะอยู่ที่อาจารย์ทวีทองแทน
ทวีทอง: ตอนนั้นผมลาออกจากมหิดลมาได้หนึ่งปี แล้วก็มาช่วยเขาทำงานดู ทีนี้ความที่ตัวเองเป็นคนที่ต้องทำงานแบบลงพื้นที่เก็บข้อมูล เราเลยเห็นว่าเรื่องพวกนี้มันมีมิติในด้านสังคมวัฒนธรรมอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นตอนมาช่วงป้านิดดา เราก็รู้สึกว่า ถ้าเราจะทำให้มันน่าสนใจ มันน่าจะต้องมองอาหารในเชิงวัฒนธรรม
เรามองว่าอาหารมันไม่ใช่แค่สูตรอาหาร แต่ต้องไปถึงพื้นฐานด้านวัฒนธรรม อันนี้เป็นจุดตั้งต้นที่เราแตกเนื้อหาออกไป แต่เราไม่ได้ทิ้งเรื่องสูตรอาหารหรอก สิ่งที่เราต้องการคือการทำให้สูตรอาหารมันมีสีสัน มีความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งมันได้รับการต้อนรับค่อนข้างดี เป็นกำลังใจที่ทำให้เราทำต่อมาเรื่อยๆ
ที่เราลงพื้นที่เนี่ย ชุมชนเขาก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะเรามาทำนิตยสาร มาวิเคราะห์ระบบอาหารในชุมชน แล้วเอาเรื่องราวพวกนี้มาเขียน แต่พอถึงระดับหนึ่งแล้วเราทำแค่รายงานอย่างเดียวมันไม่พอ เราต้องวิเคราะห์ว่าความเป็นมาของที่นี่เป็นอย่างไรบ้าง ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นชุมชนของเขา ต้องไปให้ถึงว่าเขาเกี่ยวโยงกับข้างนอกอย่างไร ซึ่งทำให้แม้กับคนในชุมชนเองก็ตื่นเต้นกับสิ่งที่เราเขียน
นิดดา: ตัวป้าเองรู้สึกว่า ครัวทำให้ป้าได้สัมผัสแผ่นดินจริงๆ สิ่งที่ป้าไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ว่ามันเกิดขึ้นมาก่อน เราก็เป็นตัวแทนประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่รู้เหมือนกัน แต่เราได้เจออะไรสนุกๆ เยอะ
ทำอย่างครัว
ไม่ว่าจะเพิ่มเติมเนื้อหาอื่นใดเข้ามา นิตยสารครัวและสำนักพิมพ์แสงแดดยังมั่นคงอยู่เสมอว่าหัวใจหลักของหนังสืออาหารย่อมอยู่ที่สูตรอาหาร การทดลองสูตรอาหารและระบุปริมาณวัตถุดิบเครื่องปรุงให้เป็นมาตรฐานสากลจึงเป็นพันธะสัญญาหลักที่ฝังอยู่ในทุกงานมาจนถึงปัจจุบัน
นิดดา: ส่วนมากที่เราได้ตำรามาเยอะ เราก็ได้มาจากชาวบ้านที่เขามีฝีมือ ซึ่งเราเรียกว่าเขาเป็น spontaneous (โดยธรรมชาติ) ในการทำอาหาร เขาก็จะหยิบหนึ่ง หยุมหนึ่ง ไปตามความถนัดของเขา เราไม่อยากเห็นคนอ่านบ่นว่าตำราอาหารพอเอามาทำแล้วไม่เห็นทำได้เลย เราต้องคิดก่อนว่า เอ๊ะ สูตรที่ชาวบ้านทำได้ เราจะทำได้เหมือนกันไหม คนอ่านจะทำได้เหมือนกันไหม เราเลยเปิดห้องแล็บครัวขึ้นมา
ทวีทอง: ซึ่งแน่นอน เราไปเรียนรู้จากสิ่งที่ฝรั่งเขาทำมา (หัวเราะ) ตอนนั้นต้องบอกเลยว่าอาจารย์เองก็ดูแมกกาซีนอาหารของฝรั่งเยอะมากเลย มาดูว่าเขาทำกันอย่างไร และสิ่งหนึ่งที่เราเอามาใช้คือคอนเซปต์ที่เรียกว่าเป็นการทดสอบอาหาร คือทุกสูตรต้องผ่านการทดสอบจากสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น test kitchen ก่อน นี่จะเป็นส่วนที่ทำให้หนังสือเรามีเครดิต
นิดดา: หนังสือของเรา ทำสูตรไหนก็ต้องได้เป๊ะตามนั้น (ยิ้ม)
ทวีทอง: แล้วอีกอย่างหนึ่งที่เราดูจากนิตยสารต่างประเทศ คือเรื่อง restaurant review ที่คนเขียนต้องเป็น food critic แล้วต้องวิจารณ์จริงๆ เขาทำได้เพราะว่าสำนักพิมพ์สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
เรามาดูว่าถ้าเราจะทำอย่างนั้น เราทำได้ไหม เราก็ทำไม่ได้อีก เราอยากให้มีสิ่งเหล่านี้แต่ทุนเรามีไม่เพียงพอ แล้วเราจะทำยังไงให้มันฉีกออกมาดี เลยมีความคิดว่า เราลงชุมชนอยู่แล้ว ดังนั้นทำไมเราถึงไม่แนะนำร้านเด่นๆ ในชุมชนล่ะ เวลาเราลงท้องถิ่น นอกจากการไปหาเรื่องราว สารคดีต่างๆ แล้ว เราต้องไปหาร้านอาหารด้วย
ร้านอาหารที่เราไปหาคือร้านชาวบ้านๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านใหญ่ แต่สำคัญว่าต้องอร่อย รสมือต้องดี และสอง เราต้องตอบให้ได้ว่าทำไมถึงอร่อย
พอเราไปถามเขาเรื่องนี้ ชาวบ้านเขามีความสุข กระตือรือร้นที่จะตอบเราว่าเขาทำอย่างไร เรารู้สึกว่าในระดับพื้นที่มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ศิลปินนักทำอาหาร’ มันทำให้เราฉีกตัวเองออกมาทำเรื่องพวกนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่มาของคอลัมน์ที่ชื่อว่า รสมือท้องถิ่น
นิดดา: ปรากฏว่าเราเลยกลายเป็นที่เชื่อถือของสื่ออื่นๆ ได้ เพราะเราลงไปถึงพื้นที่จริงๆ สื่อโทรทัศน์หลายที่พูดเลยว่าไม่ต้องลงพื้นที่เอง ไปดูในนิตยสารครัวก่อน หลายร้านโด่งดังร่ำรวยจนถึงทุกวันนี้ จะบอกว่าเราเป็นแหล่งอ้างอิงก็ได้ แต่จริงๆ เราอยากเชิดชูภูมิปัญญาของชุมชนมากกว่า เพราะศิลปินนักทำอาหารจริงๆ อยู่ในชุมชนทุกที่
บันทึกไว้อย่างครัว
แม้จะเป็นที่รู้จักในแง่ของผู้ผลิตตำราอาหาร แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองได้ลงแรงทำและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง คือการเรียบเรียงและบันทึกเรื่องพื้นฐานให้กลายเป็นสารานุกรมฉบับย่อมๆ หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นสารานุกรมผัก ผลไม้ ดอกไม้ ผีเสื้อ เรื่อยไปจนถึงหนังสือภาพนก สัตว์ป่า เครื่องเบญจรงค์ หรือกระทั่งจิตรกรรมฝาผนัง
การตีพิมพ์สารานุกรมภาพสี่สีในยุคสมัยที่มีกล้องแอนะล็อกเป็นเครื่องมือหลัก นับเป็นภาระงานที่ใช้แรง ใช้เวลา และใช้เงิน แต่เมื่อโอกาสเอื้ออำนวย สำนักพิมพ์แสงแดดและสื่ออื่นในเครือไม่เคยรีรอที่จะลงมือทำ
ทวีทอง: เรามีพื้นเพเป็นคนเขียนหนังสือ เป็นคนอ่านหนังสือ เป็นคนเก็บหนังสือ แล้วก็ทำงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือมาก่อน พอเราลงพื้นที่มาก เราเห็นว่าเรามีข้อมูลอยู่มาก เราก็ต้องหาทางที่จะใช้ประโยชน์ คือค้นคว้าเพิ่มเติมแล้วพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม
อย่างชุดสารานุกรม เรามีสารานุกรมวัฒนธรรมไทยเป็นแรงบันดาลใจ อันนั้นมันเป็นงานที่มีคุณค่ามาก แต่คงต้องใช้เวลาทำนาน เรามาคิดว่าเราจะทำอะไรดีนะที่มันดีๆ แบบนี้ ตามกำลังทรัพย์และกำลังคนของเรา ตอนนั้นออกมาแล้วมันขายไม่ค่อยได้หรอก แต่ดีใจนะที่ได้ยินว่าสมัยนี้ หนังสือพวกนี้เริ่มมีคนเห็นคุณค่ามากขึ้น
นิดดา: อย่างสารานุกรมผักนี่ ผักที่เรารู้จักก็จะเป็นผักเศรษฐกิจ ผักกาด คะน้า แต่จริงๆ แล้วผักมันมีมากกว่านั้น แล้วมันมีคุณค่าทุกตัว เรารู้สึกว่าผักเหล่านี้น่าทำ ส่วนสารานุกรมสัตว์นี่เรารู้สึกว่าโลกมันถูกทำลายไปเรื่อยๆ กลัวว่าเด็กจะไม่ได้สัมผัสผีเสื้อว่ามันหลากหลายพันธุ์ นกมันมีอะไรบ้าง สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในป่ามันเป็นอย่างไร
ทวีทอง: นอกจากสารานุกรมผักแล้ว เราก็ยังอยากจะทำดิกชันนารีอาหาร แต่เป็นดิกชันนารีอาหารในเชิงวัฒนธรรม เพราะเราเห็นว่าต่างประเทศเขามีดิกชันนารีอาหาร อยากทำมากเลย เคยพยายามจัดแจงให้คนมาทำ ปลุกปล้ำกันอยู่พักใหญ่ มีอีกหลายอย่างที่เราอยากทำ สารานุกรมปลา สารานุกรมเรือ แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันเป็นงานที่ยาก แล้วมันดิ้นได้ด้วย
แสงแดดไม่ลาลับ
แม้จะยังมีโครงการที่หมายมั่นปั้นมือไว้อีกหลายอย่าง แต่เมื่อยุคสมัยของดิจิทัลมาถึง สำนักพิมพ์แสงแดด นิตยสารครัว และสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ ในเครือย่อมได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับนิตยสารและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ทั่วโลก
ทวีทอง: คืออินเทอร์เน็ตเนี่ย ข้อมูลมันเยอะมาก ข้อมูลหลายอย่างมันมีอยู่ในอินเทอร์เน็ต รวมทั้งสูตรอาหารด้วย ที่จริงเราก็เห็นปรากฏการณ์ที่มันเป็นดิสรัปชันอย่างนี้มาไม่ต่ำกว่า 3-4 ปีก่อนที่เราจะปิด เราพยายามคิดว่าเราจะต้องปรับอย่างไร แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เพราะเราไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไร ช่วงจังหวะนั้น นิตยสารอื่นๆ ทยอยปิดตัวไปบ้างแล้ว เคยมีคนถามว่านิตยสารครัวจะปิดไหม เราบอกว่าไม่ปิดหร้อก… อย่างนี้ (หัวเราะ)
ธุรกิจสำนักพิมพ์เนี่ย จริงๆ แล้วมันไม่ง่ายเพราะเราต้องลงทุน โรงพิมพ์ก็ต้องได้เงินจากเราตามดีล แต่รายได้ที่เราได้จากการขายมันมาจากร้านหนังสือ ปีหนึ่งเช็คมาไม่กี่ครั้ง
ช่วงที่เริ่มเปลี่ยนผ่าน รุ่นลูกก็เข้ามาอยู่ในช่วงนั้นพอดี ความคิดเรื่องแมกกาซีนดีไซน์ใหม่ๆ ก็เข้ามา เราเห็นแล้วว่าต้องเปลี่ยน คือยังเข้มข้นเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนลุค เปลี่ยนเนื้อหา เปลี่ยนรูปแบบใหม่หมดเลย ตอนนั้นมีทั้งคนชมคนติ คนชมบอกว่า โห ทันสมัยเลย แต่คนรุ่นเก่าไม่เอาก็มี
เรายืนยันทำครัวโฉมใหม่จนครบ 1 ปี หลังจากนั้นก็รู้แล้วว่าอย่าไปฝืนมัน เลยเกิดนิตยสารครัวฉบับสุดท้ายขึ้นมา
นิดดา: นิตยสารเนี่ยต้นทุนมันเยอะมาก ดังนั้นมันจึงไม่ได้เกิดกับแค่นิตยสารเราที่เดียว แต่เกิดเป็นปรากฏการณ์เลย ร้านหนังสือเริ่มไม่สั่งหนังสือ เริ่มปิดตัว สำนักพิมพ์เล็กๆ เริ่มอยู่ไม่ไหว บางร้านเรายกหนี้ให้เลยเพราะเห็นใจกัน เราเห็นยอดขายที่มันตกลง ก็รู้สึกว่าเราจะไม่ฝืน เพราะถ้าเราฝืน เราแบกสายส่ง เราแบกทีมงานไว้เยอะแยะ ก็เลยคิดว่าเราต้องหยุดเลือดไหล เพื่อให้ชีวิตทุกคนอยู่ได้
ทวีทอง: ความคิดที่จะหยุดไปเลยนี่ไม่มีนะ มีแต่ว่าเราจะต้องเปลี่ยนไปในรูปแบบไหนก็เท่านั้น
จากครัว สู่ KRUA.CO
ปัจจุบันนิตยสารครัวยุติการตีพิมพ์รายเดือนแล้วผันตัวมาอยู่บนโลกออนไลน์ในชื่อเว็บไซต์ KRUA.CO (ครัวดอทโค) ภายใต้การดูแลของผู้บริหารในรุ่นลูกคือ น่าน หงษ์วิวัฒน์ หรือ เชฟน่าน, วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ เรื่องราวของสูตรอาหาร วัตถุดิบ ไปจนถึงเหล่าศิลปินนักทำอาหาร จึงถูกนำเสนอใหม่ในรูปแบบวิดีโอ บทความออนไลน์ พอดแคสต์ และสื่อสารพัดรูปแบบ โดยยังรักษาจิตวิญญาณอย่างครัวเอาไว้เข้มข้นในรหัสพันธุกรรม
ในขณะที่ผู้ก่อตั้งรุ่นพ่อแม่ทั้งสองคน เมื่อรามือจากตำแหน่งผู้บริหารแล้ว ก็ถือโอกาสเข้ามาเรียนรู้โลกของสื่อดิจิทัล และผลิตผลงานในฐานะ online content creator ไปตามความสุขใจ
ทวีทอง: ช่วงเปลี่ยนผ่านมันไม่ง่ายเลยสำหรับรุ่นพ่อแม่ แล้วก็ไม่ง่ายสำหรับรุ่นลูกด้วย เพราะทุกคนเติบโตมาพร้อมกับนิตยสาร เติบโตมาพร้อมกับวิธีคิดเหมือนกันกับเรา เพราะฉะนั้นพอรุ่นลูกเขาบอกว่าต้อง go online เราก็ต้องเปลี่ยนผ่านการตัดสินใจไปให้เขาด้วย จะคิดว่าพ่อแม่ยังเป็นใหญ่อยู่ไม่ได้ ช่วงหลังมานี่ เราก็เห็นความจำเป็นว่าต้องเล่น Facebook เป็น ต้องไลฟ์เป็น ของป้านิดเขามีทีมมาช่วยทำ แต่ของผม ผมเป็นแอดมินเอง
นิดดา: ตอนนี้ก็มีอินฟลูเอนเซอร์ มียูทูบเบอร์มาพูดเรื่องอาหารมากมาย แล้วเราก็ไม่ได้อยู่ในวัยที่ตามทัน เราคงไม่สามารถคอมเมนต์ตรงนี้ได้แล้ว
ทวีทอง: 20 กว่าปีที่ผ่านมาทำงานแมกกาซีนนี่ เราก็สั่งสมทักษะการเขียนมาระดับหนึ่งเหมือนกัน พอถึงจุดหนึ่งที่เราไม่ได้ทำงานบริหารแล้ว สิ่งนี้มันก็ยังอยู่ที่ตัวเรา พอลูกทำออนไลน์เราก็ไปช่วยเขียนให้ การเขียนมันเป็นตัวเรา มันเป็นแรงบันดาลใจของชีวิต ถ้าเราหยุดไป เหมือนกับเราหยุดสปิริตของเราไป อาศัยว่าตอนนี้เรามี KRUA.CO เราก็ส่งออกไปทางนี้
นิดดา: ส่วนเจตนาของป้า คิดแค่อยากจะเผยแพร่ความรู้ของป้าเพื่อช่วยคนได้อย่างไร เวลามีคนมาให้ดงให้ดาวอะไร ป้าก็จะบอกเลยว่าป้าไม่รับดาว ป้าขอรับบุญอย่างเดียว ของป้าคนตามแสนกว่าคนเลยนะ (หัวเราะ)