แม้จะมีคำกล่าวว่า ‘Don’t judge a book by its cover’ แต่เชื่อว่านักอ่านทั้งหลายต้องเคยซื้อหนังสือจากหน้าปกกันบ้าง และเชื่อว่าหลายเล่มบนชั้นหนังสือจะต้องเป็นฝีมือการออกแบบของ ‘Wrongdesign’ อย่างแน่นอน
ด้วยประสบการณ์ในวงการร่วม 20 ปี มีผลงานการออกแบบปกหนังสือกว่า 500 ปก ตั้งแต่หนังสือnon-fiction เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม เรื่องสั้น ไปจนถึงไลท์โนเวล ทำให้ ‘เบิ้ม’- กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล กลายเป็นนักออกแบบปกมือดีที่หลายสำนักพิมพ์อยากร่วมงานด้วย
แม้เบิ้มจะบอกว่าเขาไม่มีเอกลักษณ์ในการออกแบบเป็นของตัวเอง แต่หนังสือหลายเล่มที่เห็นว่าสวยบนชั้น พอพลิกดูชื่อคนออกแบบก็ไม่วายเป็น Wrongdesign เจ้าเดิม
“ในแง่หนึ่งสิ่งที่เราทำคือทำเพื่อขายของ เราไม่เคยปฏิเสธเรื่องนี้ เรากำลังออกแบบผลิตภัณฑ์บางอย่างให้คนสบายใจในการซื้อ ปกหนังสือกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อหนังสือจริง ช่วงหนึ่งปกหนังสือถูกมองว่ามีไว้ซัพพอร์ตเนื้อหา แต่ปัจจุบันปกหนังสือหลายเล่มทำงานแยกกับเนื้อหา มันเล่าเรื่องด้วยตัวมันเอง”
บ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง เรานั่งอยู่ในสตูดิโอออกแบบขนาดกะทัดรัดย่านประดิพัทธ์ ตรงข้ามเป็นเบิ้มกับชั้นหนังสือที่เรียงรายไปด้วยผลงานของเขาเกือบทุกเล่ม ซึ่งเบิ้มบอกว่าจำต้องขายไปบางส่วนเพราะเริ่มปวดหลังเวลาเก็บของ
จากนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร สู่การเป็นนักออกแบบปกระดับต้นๆ ของวงการ เบิ้มผ่านอะไรมาบ้าง การลองผิดลองถูกในวันนั้น สู่การเป็น Wrongdesign ในวันนี้ได้อย่างไร
บทสนทนาต่อไปนี้มีคำตอบ
อยากรู้ว่าเบิ้มเติบโตมากับบรรยากาศแบบไหน ถึงทำงานกับหนังสือมาได้นานขนาดนี้
บ้านเราเป็นข้าราชการ เราโตมากับปู่กับย่า แล้วปู่เป็นคนอ่านหนังสือ เขาก็เลยมีห้องสมุด พอมองย้อนกลับไป การที่บ้านในต่างจังหวัดมีห้องสมุดถือเป็นเรื่องหรูหรามาก ซึ่งหนังสือก็จะมีตั้งแต่คำศัพท์ non-fiction หนังสือแปล รามเกียรติ์ วรรณคดีไทย
เราชอบธรรมชาติของหนังสือ ในบรรดาทักษะฟัง ดู อ่าน เราว่าอ่านยากสุด เพราะมันต้องติดตั้งมาจากที่บ้าน การอ่านมันเรียกร้องทุกอย่างจากตัวเรา ต้องการทั้งเวลา สมาธิ หรือสเปซบางอย่าง เลยคิดว่าสกิลการอ่าน ถ้าว่ากันอย่างจริงจัง ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ การที่เราเติบโตมาในบ้านที่มีหนังสือทำให้เรามีสกิลการอ่าน
แต่ก่อนตอนเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียนปู่จะให้เราอ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง ระหว่างรอส่งเราขึ้นรถก็จะค่อยๆ นั่งอ่าน อ่านไม่ออกเขาก็จะบอกให้ เราว่าสิ่งนี้มันค่อยๆ ฝังอยู่ในตัวเราว่าเรากับการอ่านไม่ได้แปลกแยกกัน
ย้อนกลับไปสมัยมหาวิทยาลัย เบิ้มเรียนจบด้านดีไซน์มาหรือเปล่า
เราเหมือนเด็กม.ปลายทั่วไปที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะชอบอะไรขนาดนั้น เราก็แค่คิดว่าวาดรูปได้ดี เพราะได้คะแนนดีตอนม.ต้น พอตอนช่วงที่ต้องเลือกจริงๆ เราเลยสนใจเรื่องงานศิลปะ งานออกแบบ สุดท้ายสอบติดสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นรุ่นแรกเลย แต่พอเข้าไปเรียนจริงๆ ด้วยพื้นฐานที่ไม่ดีทำให้เราวาดสู้เพื่อนไม่ได้ วาดไม่ทันบ้าง เลยคิดว่าไม่เอาดีกว่า
ด้วยความที่ไม่ได้ใช้ความพยายามมากตอนสอบเข้า พอไม่ชอบก็เลยทิ้งไปเฉยๆ บอกที่บ้านว่าไม่เรียนแล้วนะ ไปเรียนคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพแทน ในรุ่นเรานิเทศฯ เป็นค่ากลางๆ ของเด็กที่จะเรียนเก่งมากก็ไม่ใช่ จะลูซเซอร์ก็ไม่เชิง
เราเลือกเรียนเอกโฆษณา เพราะคิดว่ามันใกล้เคียงกับสิ่งที่อยากทำ คือเป็นงานที่ได้ใช้ความคิด แล้วยุคเราอุตสาหกรรมโฆษณากำลังเฟื่องฟู เหมือนเด็กคณะอื่นๆ ก็ไหลมาทำงานนี้ เด็กสถาปัตย์อะตัวดีเลย (หัวเราะ)
แล้วมาเริ่มงานออกแบบช่วงไหน
ตอนเรียนจบมาจะไปสมัครงานก็เจอคู่แข่งเยอะ พอร์ตเราก็ดีไม่พอ เลยขอเงินที่บ้านไปเรียนโปรแกรมเพิ่ม เป็นโรงเรียนสอนซอฟต์แวร์บนห้างพาต้า เราแค่อยากไปเรียนพวกโปรแกรม adobe เพื่อที่เวลาไปใส่เรซูเม่จะได้มีเพิ่มสักหัวข้อหนึ่ง คิดแค่นั้นเอง
แล้วมาเริ่มงานกับนิตยสาร open ได้ยังไง
ต้องย้อนไปตอนปีสี่ คือช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปี 1-3 เราเรียนๆ เล่นๆ มาตลอด จนกระทั่งขึ้นปีสี่เป็นช่วงที่ทุกคนเริ่มมีความฝันอย่างชัดเจน บางคนพูดว่าพอจบแล้วจะไปทำงาน หรือบางคนจบแล้วจะไปเรียนต่อ พอได้ยินแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราเลยตัดสินใจไปสมัครเป็นสตาฟทำละครเวทีของคณะ ซึ่งปกติคนที่จะทำละครเวทีจะเป็นเด็กปีหนึ่งกับปีสอง ตอนนั้นต้องรวบรวมความกล้าประมาณหนึ่งเลยนะ เราแค่รู้สึกว่าเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง อยากพาตัวเองไปเจอเรื่องอื่นๆ ไปทำอะไรที่ไม่ชอบดูบ้าง
พอเรียนจบมันเป็นช่วงที่ทุกคนเจอกันทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ อย่างที่เล่าว่าเราไปเรียนคอมพิวเตอร์ ก็จะมีแฟ้มไว้ใส่ผลงานพวกทำนามบัตร ตัดสติกเกอร์ไรงี้ ตกเย็นวันนั้นก็ไปเจอเพื่อน มีคนนึงจบวารสารฯ ที่ทำละครเวทีมาด้วยกันก็ขอดูแฟ้มอันนั้น แล้วก็บอกว่าที่บริษัทจะรับสมัครกราฟิกฯ ลองไปสมัครไหม อาทิตย์ต่อมาเราก็ไปสัมภาษณ์
เวลาคนถามเรื่องนี้เราจะบอกว่ามันไม่ใช่เพราะพอร์ตเล่มนั้นเล่มเดียว แต่เป็นเพราะวันที่เราตัดสินใจเดินไปสมัครทำละครเวที ไม่งั้นเราจะไม่มีทางเจอเพื่อนคนนี้เลย
จากที่เล่ามาเหมือนเบิ้มจะมีสกิลที่พื้นฐานมากๆ แล้วเอาตัวรอดยังไงในบริษัท
ตอนเรียนที่โรงเรียนเราใช้วินโดว์ แต่พอในบริษัทเขาใช้ iMac ปุ่มก็คนละแบบ ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่หมดเลย พอเข้าไปทำงานคนเดียว ไม่มีใครให้เรียนรู้ ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง กราฟิกฯ คนก่อนเป็นฟรีแลนซ์ ดังนั้นเขาก็จะไม่ได้อยู่กับเรา ถ้ามีอะไรก็ต้องรอเขาเลิกงานแล้วโทรไปถาม ครอปรูปเรายังทำไม่เป็นเลย ต้องลากกรอบสีขาวๆ มาบังรูป เดือนนึงพี่ในทีมก็รู้แล้วว่าเราทำงานไม่ได้ แล้วกราฟิกฯ คืองานขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่นิตยสารจะไปส่งโรงพิมพ์ เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาอะไรก็จะเห็นชัดมากๆ
สิ้นเดือนพี่โญ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการนิตยสาร open และสำนักพิมพ์ openbooks) ก็เรียกเราไปคุย เขาเริ่มต้นคำถามว่ามีปัญหาอะไรรึเปล่า ซึ่งพอเขาไม่ได้เริ่มด้วยการตำหนิ หรือดุเรา เราเลยรู้สึกมีสเปซ อธิบายไปว่าที่เราเรียนมามันเป็นเครื่องวินโดว์ เราไม่เคยใช้เครื่องแมค และเราก็ไม่เคยเรียนกราฟิกฯ มาก่อน เราไม่รู้วันนั้นพี่โญคิดอะไรอยู่ แต่อย่างน้อยๆ เรารู้สึกว่าเราจริงใจกับการกลับไปทบทวนตัวเอง เขาก็อนุญาตให้เราเอางานกลับไปทำที่บ้านถ้าใช้คอมที่บ้านถนัดกว่า แต่เราบอกไปว่าถ้าปัญหาอยู่ที่นี่ ทำที่นี่ดีกว่า เราขอเวลาเขาหนึ่งเดือน ถ้าทำไม่ได้ เราจะลาออกเอง เราค่อนข้างเติบโตขึ้นมาก เพราะที่นั่นเป็นที่ทำงานที่ดี ทุกวันที่ไปทำงานเหมือนไปเรียนรู้ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องไปต่อสู้อะไร
แม้จะทำไม่เป็นเลย?
เรายอมรับว่าไม่เป็น พยายามแก้ไขเท่าที่ทำได้ อย่างน้อยๆ เราไม่ได้ทำตัวแย่กับคนอื่น มันห่วยแน่ๆ แต่ไม่ได้ทำตัวแย่ๆ ใส่ใคร เป็นภาระแน่ๆ แต่จะเป็นเด็กใหม่ที่ดี (หัวเราะ)
แล้วเดือนนึงหลังจากนั้นเราก็เอาจริงเอาจังกับงานมากขึ้น ใช้เวลากับการเรียนรู้มากขึ้น คนเลิกงานกลับบ้านหกโมง เราอยู่ถึงสามทุ่มทุกวันเลย เอางานเก่าๆ ของพี่ฟรีแลนซ์มานั่งเปิดดู สมัยนั้นมี search engine แล้ว แต่ข้อมูลยังไม่ดีเท่าตอนนี้แน่ๆ ดังนั้นจะทำอะไรต้องเปิดหนังสือสอนคอมดู เราไม่มีสกิล แต่เราชดเชยด้วยเวลา อย่างหนึ่งที่พี่โญแนะนำคือเราจะทำแค่โปรแกรมไม่ได้ เราต้องเข้าใจสิ่งที่ทำด้วย เราไปเอานิตยสารทุกเล่มที่เขาเคยทำมานั่งอ่าน นั่งพลิกดู เทียบกับไฟล์ เอาไม้บรรทัดมาวัดกระดาษ
ทำนานแค่ไหนถึงขยับไปทำพ็อกเกตบุ๊ก
คิดว่าเกือบๆ ครึ่งปี แล้วตอนนั้นพี่โญเขาเริ่มเห็นแล้วว่าพ็อกเกตบุ๊กน่าจะเป็น business model แบบใหม่ที่น่าจะซัพพอร์ตรายได้ให้บริษัท เพราะทำนิตยสารแล้วเหนื่อยมาก แม้ในยุคนั้นเองกับการหาโฆษณาสำหรับนิตยสาร open ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
จากนิตยสารมาสู่พ็อกเกตบุ๊กมีความแตกต่างกันไหม
เราว่ามันคนละเรื่องกันเลย เราชอบใช้คำว่ามันเป็นสัตว์คนละประเภท นิตยสารแข่งกับเวลา มันว่ากันรายเดือน และเป็น current issue ซะเยอะ งานที่ทำก็จะค่อนข้างเชื่อมโยงกับตัวซับเจ็กต์ สมมติในบทความสัมภาษณ์โคโยตี้ที่ทำงานกลางคืน เขามีรอยสักผีเสื้อ นักเขียนก็ตั้งชื่อว่า ‘ผีเสื้อกลางคืนโบยบิน’ ในเชิงการออกแบบกราฟิกเราต้องเชื่อมอะไรสักอย่างกับผีเสื้อ ดังนั้นแต่ละเล่มก็จะมีส่วนที่ต้องออกแบบเยอะมาก
แต่พ็อกเกตบุ๊กเราทำ textbook เป็นส่วนมาก แปลว่ามันจะเป็นงานในเชิงเลย์เอาท์ดีไซน์ ทั้งเล่มก็จะมีแค่ปกหน้าที่ออกแบบเยอะหน่อย
ประสบการณ์ออกแบบเล่มแรกของพี่เบิ้มเป็นไงบ้าง
น่าจะออกแบบให้พี่หนึ่งวรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นสารคดีสัตว์ป่าของ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ก็จะเรียบๆ ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก แต่พอทำหลายๆ เล่มก็จะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ
เราว่าพอ openbooks เป็นสำนักพิมพ์ใหม่ เราว่าเขาเลยทดลองทำอะไรที่ส่วนใหญ่ตลาดไม่ค่อยทำ มันเป็นเรื่องคล้ายๆ กันทั้งโลก คนทำงานสายสร้างสรรค์ที่มาใหม่จะมาพร้อมความสดใหม่ ไม่สนใจฟอร์ม ไม่แคร์กติกาที่ผู้เล่นในตลาดวางไว้ พอพี่โญเขามาทำหนังสือในเชิงความคิดสร้างสรรค์แบบนี้เลยทำให้เราได้เรียนรู้ ถ้าเราต้องไปทำสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เราคงถูกเฟรมความคิดอีกแบบหนึ่ง แต่พอเริ่มต้นงานออกแบบไปกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่ม ทุกอย่างมันเลยไปพร้อมๆ กัน ได้ลองผิดลองถูก ในเชิงงานออกแบบมันเลยดีกับเรามากๆ
ตอนนั้นปกหนังสือในตลาดหน้าตาเป็นยังไง
เราคิดว่าภาพรวมคือชื่อหนังสือต้องใหญ่ และมีคำนิยมจำนวนมากบนหน้าปก เราไปเดินร้านหนังสือเรื่อยๆ เลย เพราะอยากรู้ว่ามันมีรูปแบบไหน หน้าตาเป็นยังไง มันก็จะเห็นค่ากลางๆ ของงานออกแบบ โดยเฉพาะหนังสือหมวด non-fiction ซึ่งเราว่าหมวดนี้จะอธิบายเทรนด์บางอย่างของงานออกแบบในช่วงสมัยนั้น ขณะที่ปกวรรณกรรมยังมีความแตกต่างหลากหลาย เพราะพื้นที่คิดตีความเชิงออกแบบมันกว้างมาก
ที่มาของชื่อ Wrongdesign
ตอนนั้นเราทำงานไปได้สักสองสามปี สำนักพิมพ์มติชนติดต่อมา เราก็ดีใจได้ทำงานฟรีแลนซ์ แต่เอาเข้าจริงมันไม่เหมือนที่เคยทำมาเลย
การทำงานที่ openbooks เราเจอทุกวัน ได้พัฒนาความคิดทุกวัน มันจะรู้ชุดความคิดประมาณหนึ่งพออยู่ด้วยกันบ่อยๆ แต่พอเป็นฟรีแลนซ์ มันเป็นเรื่องใหม่หมด ฟอนต์ที่เขาจะชอบ สีที่เขาจะสนใจ ทำยังไงก็ยากมากที่จะถูกใจพี่บรรณาธิการ แล้วมันไม่มีอินเทอร์เน็ต ทุกครั้งของการส่งงานต้องนั่งรถจากออฟฟิศที่บางลำภูไปประชาชื่น ปรินต์ไปให้ดู ฟังคอมเมนต์แล้วกลับมาแก้ ทำไปเจ็ดแบบ แต่สุดท้ายเขาเลือกแบบแรก
แล้วเขาให้คิดนามปากกา เพราะไม่อยากให้พี่โญรู้ว่าใช้คนจาก openbooks ออกแบบ เราเลือกใช้ชื่อ Wrongdesign ก็คือประชดเลย ออกแบบยังไงก็ไม่ถูกใจ ออกแบบผิดนี่แหละ คิดว่าทำงานครั้งเดียวเลิก แต่ปรากฏว่าสองสามเดือนต่อมาเขาโทรมาอีก มีเล่มใหม่เข้ามาคุยกันหน่อย
เบิ้มอ่านหนังสือทั้งเล่มก่อนออกแบบปกไหม
อ่านหมดไม่ไหว อย่างแรกคือปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าทำงานกับหนังสือยังไงต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ คำอธิบายง่ายๆ คืองานออกแบบปกหนังสือคือการเปลี่ยนตัวอักษรเป็นภาพ เพราะฉะนั้นจะนึกภาพไม่ออกเลยถ้าไม่อ่านหนังสือ
ใช้คำว่าประสบการณ์กับชั่วโมงบินก็ได้ เราเป็นคนเรียนรู้งานออกแบบมาจากฝั่งนิตยสาร เพราะฉะนั้นเราจะเรียนรู้เรื่องการจับประเด็น เราไม่ได้อ่านหนังสือเหมือนคนทั่วไป คล้ายๆ กับนักดนตรีเวลาฟังเพลงคนอื่น จะฟังเสียงกลอง เสียงกีตาร์ อินโทรเข้าเมื่อไหร่ วนลูปมาเมื่อไหร่ เราอ่านหนังสือแบบนั้นเลย เราอ่านบทคัดย่อ อ่านคำนำ หาคีย์เวิร์ด
70-80% เรามักจะได้ออกแบบหนังสือ non-fiction หนังสือประเภทนี้มีประเด็นที่พูดค่อนข้างชัด ไม่อ้อมมาอ้อมไป ชื่อหนังสือก็จะเชื่อมโยงกับเนื้อหา แต่ถ้าเป็นวรรณกรรม เรื่องสั้น นิยาย ถ้าไม่อ่านจนจบหรืออ่านยาวๆ จะออกแบบไม่ได้เลย ฝั่ง non-fiction อ่านเอาเรื่อง แต่นิยายอ่านเอาอารมณ์ อ่านเอามู้ด บางทีคนเขียนอาจจะวางสิ่งสำคัญไว้พารากราฟสุดท้ายของเรื่อง ถ้าอ่านไม่เจอเราจะนึกไม่ออกเลยก็ได้
อาจจะเป็นความโชคดีหรือความถนัดที่สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จะอยากให้เราทำ non-fiction ให้ เราเลยไม่จำเป็นต้องอ่านหมดขนาดนั้นก็ได้
ถ้าได้ตัวคีย์ที่มาทำปกแล้ว เบิ้มขึ้นสเก็ตช์ยังไง
เราเป็นคนทำงานไม่มีสเก็ตช์ เราเปิดคอมทำงานเลย เราว่าเป็นข้อเสียนะ เราชอบมากเลยเวลาที่เห็นใครมีสเก็ตช์บุ๊ก รู้สึกว่ามีบันทึกทางความคิดบางอย่าง แต่เราไม่ได้โตมาในสายออกแบบ สิ่งที่เขาทำกัน เราก็ไม่เคยรู้ว่าเราต้องทำ หรือมันควรทำ
การสเก็ตช์ของเราคงเป็นการดึงเข้าดึงออก เราอาจจะไม่มีสเก็ตช์บุ๊ก แต่เรามีดราฟต์ดีไซน์ค่อนข้างมาก ถ้าเราเปิดไฟล์งานให้ดู รอบๆ อาร์ตบอร์ดจะเป็นองค์ประกอบที่เราไม่ได้ใช้หมดเลย ทั้งฟอนต์ สี แล้วทุกครั้งที่เราทำ เราจะ save as เสมอ เราไม่เคยทำงานแบบเซฟซ้ำ เราจะเซฟเป็นดราฟต์ 1 2 3 4
เราเรียนรู้ด้วยมั้งว่าความคิดที่มันไม่ถูกใช้ตอนนี้ ในอนาคตมันมีสิทธิ์วนกลับมาใช้ใหม่ได้
รู้สึกยังไงเวลาเห็นหนังสือที่เราออกแบบอยู่ในร้านหนังสือ
เหมือนคนทำงานเลย มันก็ดีใจ ภูมิใจ งานที่เราทำในจอมันถูกทำออกมาเป็นหนังสือที่จับต้องได้จริง แล้วมันจะมีโมเมนต์ที่ยืนดูเขาหยิบหนังสือ (หัวเราะ) มนุษย์มันทำงานด้วยกัน มนุษย์คนนั้นหยิบงานของมนุษย์คนนี้ มนุษย์คนนี้เลยรู้สึกว่าไม่เสียแรงเลยที่เราใช้เวลาทั้งเดือนในการหมกมุ่นกับมัน มันก็เติมเต็มความหมายของงานบางอย่าง เหมือนเรื่องเล่าที่เราเคยได้ยินมาในชีวิต บางทีงานที่เราทำมันอาจจะแค่งานชิ้นเดียว แต่มันอาจจะส่งต่อความคิดหรือพลังงาน เราเลยสนใจมากๆ ในแง่ความเป็นมนุษย์ของคนอ่านและคนทำ
ทำไมความเป็นมนุษย์จึงสำคัญในงานออกแบบ
เพราะสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ต้องเอาไปใช้งาน ฟังก์ชันของหนังสือมันไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยตั้งแต่ถูกคิดค้นขึ้นมา มันอยู่กับเรามาระดับร้อยปี มันมีความคุ้นเคยบางอย่างกับการใช้งานของมนุษย์ หนังสือเลยไม่ใช่แค่การเอาไปอ่านเป็นความรู้ บางคนใช้หนังสือในช่วงเวลาที่หาทางออก คลี่คลายปัญหาในใจ เราเลยสนใจความเป็นมนุษย์ในเวย์นี้ สุดท้ายแล้วมันคือคนคุยกัน แค่คุยผ่านหนังสือเอง
หลังๆ มานี้ปกหนังสือไทยสวยมาก มีนักออกแบบปกเก่งๆ หลายคน เบิ้มมองความเปลี่ยนแปลงนี้ยังไง
เราว่าอุตสาหกรรมมันเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง อย่างแรกเลยถ้าจะเข้าใจเรื่องงานออกแบบได้ ต้องเข้าใจเรื่องธุรกิจก่อน เป็นเพราะว่าธุรกิจมันโต มันมีเงินทุน พอมีเงินคนฝั่งนี้ก็จะสนใจลงทุนในงานออกแบบ เพราะงานออกแบบช่วยรีเทิร์นเป็นผลประกอบการที่ดี เราจะพูดถึงแค่งานออกแบบว่า เฮ้ย ปกมันสวยขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องบอกว่าตลาดหนังสือโตขึ้นด้วย สำนักพิมพ์เลือกหนังสือน่าสนใจ หนังสือดีมากขึ้น พอสิ่งเหล่านี้มันเข้มแข็งมากขึ้น พาร์ทงานออกแบบมันจะโตไปด้วย มันจะซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน
เราว่าโซเชียลมีเดียเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เราไม่เคยรู้สึกเลยว่ามันทำให้หนังสือเล่มมีปัญหา เรากลับรู้สึกด้วยซ้ำว่าโซเชียลมีเดียทำให้ตลาดโตขึ้น ดีไซน์ดีขึ้น สมัยก่อนหนังสือหนึ่งเล่มเมื่อออกมาแล้ว เราจะต้องส่งตัวอย่างหนังสือไปให้นิตยสาร ให้เขารีวิวท้ายเล่ม แล้วตอนรีวิวถ้าโชคดีเขาก็ลงสี่สี ถ้าแย่หน่อยก็เป็นปกขาวดำ แล้วภาพมันก็แค่สองนิ้ว โอกาสที่คนอ่านจะเห็นปกนี้ก่อนหนังสือจะขึ้นแผงคือน้อยมากๆ แต่พอเป็นโลกโซเชียลมีเดีย ก่อนที่หนังสือจะลงแผงอย่างน้อยสองอาทิตย์หรือเดือนนึง เราว่าคนอ่านมีโอกาสเห็นปกหนังสือแล้ว พอเห็นเขาก็เกิดความสนใจ เราเลยคิดว่าปกหนังสือมีผลกับสิ่งนี้ ทำให้เขาตัดสินใจเร็วขึ้น มีแรงจูงใจในการซื้อหนังสือเล่มนี้ สัดส่วนของงานออกแบบกราฟิกเลยมีผลต่อการเลือกหนังสือ ทำให้สำนักพิมพ์เห็นว่าต้องลงทุน ต้องให้ความสำคัญ พอมันสวย มันดีขึ้น มันเห็นแล้วว่ามีผลต่อธุรกิจเขา
สิ่งที่มีเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในเชิงโครงสร้างคือชื่อหนังสือเล็กได้ คำนิยมหายไป โปรยมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมีผลต่อคนออกแบบ ถ้าชุดความคิดว่าชื่อหนังสือต้องใหญ่ คนออกแบบก็จะเหลือพื้นที่น้อยมากสำหรับภาพ แต่พอมันเล็กลงได้ แปลว่าคนออกแบบก็คิดเรื่องงานวิชวลได้มากขึ้น
แล้วช่วงที่ตัวหนังสือใหญ่ เบิ้มทำตามเทรนด์นั้นมั้ย
เราคิดว่าเป็นส่วนใหญ่เลยทีไม่ทำตาม ตอนนั้นเราก็ต้องยืนยันสิ่งที่เราเชื่อนะ ต้องไปอธิบายด้วยเหตุและผล จะไปบอกเขาด้วยความรู้สึกไม่ได้ เราเรียนรู้จากแต่ละปีที่ทำงานกับสำนักพิมพ์ที่หลากหลายว่า มันต้องมีคำอธิบายในเชิงวิชาชีพ ไม่งั้นเขาจะไม่มีทางคล้อยตามหรือเปลี่ยนความคิด ไปบอกว่าสวยกว่าไม่ได้ สวยกว่าของเขา กับสวยกว่าของเรา มันคนละเรื่อง
เราต้องบอกว่าปกแบบนี้มันช่วยขยายฐานคนอ่านได้มากกว่า เพราะปกหนังสือหนึ่งเล่มกว่าที่คนอ่านจะเห็น เขาจะเห็นตั้งแต่ระยะ 1-2 เมตร และสิ่งที่เราเห็นกันในหน้าจอมีแค่คุณกับผม แต่ตอนอยู่ในร้านมันมีของสำนักพิมพ์อื่นวางอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นคนอ่านจะเห็นภาพรวม จะไม่ได้เห็นแค่ชื่อหนังสือที่เตะตา ชื่อที่วางไว้จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าส่วนข้างๆ ไม่ซัพพอร์ต เราต้องไปอธิบายเดินหน้าถอยหลังให้เขาดู
ปกหนังสือใหม่จะมีเวลาวางอยู่บนชั้นหนังสือแค่สองอาทิตย์ หลังจากนั้นเขาจะจัดเอาสันเข้า เพราะฉะนั้นต้องคิดด้วยว่าตอนที่คนอ่านเอียงคอ เขาจะเห็นอะไร
เราก็ค่อยๆ เอาสิ่งเหล่านี้ไปอธิบายให้เขาฟัง ซึ่งแน่นอนว่าแรกๆ มันไม่ง่าย พอใช้เวลา เปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นเป็นยอดขาย หนังสือขายได้เป็นปกติ ไม่มีปัญหา มายเซ็ตคนทำงานก็เริ่มเปลี่ยน
ในแง่หนึ่งสิ่งที่เราทำคือทำเพื่อขายของ เราไม่เคยปฏิเสธเรื่องนี้ เรากำลังออกแบบผลิตภัณฑ์บางอย่างให้คนสบายใจในการซื้อ ปกหนังสือกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อหนังสือจริง ในช่วงหนึ่งปกหนังสือถูกมองว่ามีไว้ซัพพอร์ตเนื้อหา แต่ปัจจุบันปกหนังสือหลายเล่มทำงานแยกกับเนื้อหา มันเล่าเรื่องด้วยตัวมันเอง
เราไม่เคยรู้เลยว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไหร่ แต่หันไปมองอีกที มีนักออกแบบปกดีๆ เก่งๆ เกิดขึ้นเยอะมาก แล้วไม่ใช่แค่ปกหนังสือ มันเป็นเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในการทำหนังสือ กระดาษ การเข้าเล่ม การพิมพ์ ทุกอย่างพอมันมั่นคงแข็งแรง ปกหนังสือเล่มหนึ่งมันเลยไม่ได้บอกแค่การทำงานของคนรุ่นใหม่ แต่บอกการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ด้วยตัวของมันเอง
โซเชียลมีเดียมีผลต่ออาชีพนักออกแบบปกยังไง
ทำให้งานไปได้ไกลกว่าตัวมัน ปกติงานหนังสือที่ทำมันจะอยู่แค่ในร้าน คนที่จะเห็นมันมันมีแค่จำนวนนึง แต่พองานถูกนำเสนอในออนไลน์ ทำให้คนที่อยู่นอกวงการอ่านมีโอกาสเห็นหนังสือหรืองานออกแบบนั้นๆ มากขึ้น อย่างน้อยๆ ใครสนใจจะทำอะไรมันต้องเห็นก่อน แล้วเขาจะค่อยๆ พาตัวเองไปเจอสิ่งนั้นได้
ที่สำคัญมันสร้างพื้นที่เฉพาะทาง ทำให้คนที่ชอบหนังสือ สนใจการอ่าน สามารถเกาะกลุ่ม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โปรโมชั่นต่างๆ ช่วยทำให้ ecosystem ของธุรกิจหนังสือเติบโตและคล่องตัวขึ้น
แล้วพอคนเห็นภาพเหล่านั้นผ่านโซเชียลมีเดีย เราว่าข้อความในเชิงการขายมันถูกย้ายจากปกหนังสือไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ เราไม่จำเป็นต้องเอาทุกอย่างที่อยากขายไว้ที่ปกหนังสือ
หลายคนจะไม่ค่อยชอบพูดถึงงานชิ้นแรกของตัวเอง ทำไมเบิ้มยังเก็บผลงานทุกเล่มที่ตัวเองออกแบบไว้ และบอกเล่าสิ่งเหล่านั้นเสมอเมื่อมีโอกาส
เป็นเพราะเราพอใจกับตัวเองในปัจจุบัน เราว่ามันเหมือนเสื้อผ้าเราสมัยวัยรุ่น เราทุกคนล้วนเคยแต่งตัวแย่ๆ แต่เพราะเราเคยมีชุดแบบนั้น ตัดผมแบบนั้น โตมาเราเลยมีชุดที่เราเลือกที่เรามั่นใจแล้ว
ใช้คำว่าเราสงบนิ่งกับสิ่งที่เราเป็นทั้งในเรื่องการงานและชีวิต เพราะฉะนั้นอะไรเราเคยผิดพลาด หรือไม่เคยรู้มาก่อนในอดีต เราไม่เคยรู้สึกว่ามันมีปัญหาอะไร ก็เพราะไม่รู้ในวันนั้น มันเลยรู้ในวันนี้ ก็เพราะทำผิดในวันนั้น วันถัดมาก็พยายามไม่ผิดซ้ำอีก เราเลยสบายใจหรือผ่อนคลายมากๆ ที่เราจะพูดถึงความล้มเหลว การถูกปฏิเสธงาน เราเข้าใจว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของงานที่เราทำ มันก็ค่อยๆ สั่งสม เรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อย ส่วนที่ดีมันก้มีอยู่เยอะแหละ มันถึงช่วยฟอร์มเป็นตัวเราในปัจจุบัน แต่ส่วนที่ไม่ดีเราว่ามีผลไม่มากก็น้อย
เราเติบโตทำงานมาในฝั่งผู้พ่ายแพ้ วันที่เอนท์ติดก็ถอยออกมา ไม่ยอมไปต่อ บริษัทที่ทำก็ปิดตัว มีโอกาสทำสำนักพิมพ์เองก็มีวันที่ปิดตัว พออยู่ฝั่งนี้เลยมีโอกาสให้เรียนรู้เรื่อยๆ เหมือนล้มไวก็ลุกไว เจ็บตัวไวก็ดูแลตัวเองไว ผิดพลาดไวก็ใจดีกับตัวเองเร็วขึ้น
ถ้าให้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ มีอะไรจะส่งต่อถึงคนที่อยากมาทำงานออกแบบปกมั้ย
เราไม่มีคำแนะนำใดๆ ให้เลยนอกจากใจดีกับตัวเองมากๆ โลกที่อยู่ตอนนี้มันไม่ง่ายเลย มันจะถูกเปรียบเทียบตลอดเวลา ตอนรุ่นเรากว่าจะมีอะไรมากระทบใจต้องตื่นออกข้างนอกก่อน แต่เดี๋ยวนี้แค่หยิบมือถือมาก็เจอสิ่งเหล่านี้ได้ทันทีแล้ว ยังไม่ทันลุกจากเตียงใจก็เหี่ยวแล้ว
ใจดีกับตัวเองเยอะๆ เพราะมันไม่ง่ายที่จะเป็นคนทำงานที่มั่นคงหรือเข้มแข็งได้ในยุคปัจจุบัน